ซอมบี้ (zombie) สิ่งมีชีวิต (อย่างน้อยก็กล้ามเนื้อบางส่วน) ครึ่งเป็นครึ่งตายสุดป็อปปูลาร์ที่ทั้งชื่อและภาพโลดแล่นให้เห็นอยู่ในอุตสาหกรรมบันเทิงมานาน ได้รับอิทธิพลมาจากเรื่องเล่าต่างๆ นานาที่เอื้อต่อการหยิบจับมาปรุงแต่งจนเกิดพล็อตเรื่องมากมาย
ว่ากันว่า คำว่า ‘ซอมบี้’ เริ่มแพร่หลายจากภาพยนตร์เรื่อง Night of the Living Dead ในปี 1968 ของ จอร์จ แอนดรูว์ โรเมโร (George A. Romero) ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากนิยายเรื่อง I Am Legend ที่เขียนขึ้นในปี 1954 โดย ริชาร์ด แมธเทอสัน (Richard Matheson)
แต่หลายครั้งเหล่าคนใคร่รู้มักย้อนกลับไปมองหาเรื่องเล่าต้นกำเนิดเกี่ยวกับซอมบี้ ซึ่งหนีไม่พ้นเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับลัทธิวูดู (Voodoo) โดยมีหนังสือภาษาอังกฤษเล่มแรกที่พูดถึงความเชื่อและเรื่องราวซอมบี้ ผ่านการทำพิธีกรรม ปลุกเสกศพให้คืนชีพด้วยมนตร์ดำของวิลเลียม ซีบรูค (William Seabrook) นักหนังสือพิมพ์ชาวอเมริกันผู้หลงใหลเรื่องราวลี้ลับชวนขนหัวลุก
น้ำหมึกจากปลายปากกาของซีบรูคจรดลงบนหน้ากระดาษ ซึ่งต่อมารู้จักกันในชื่อหนังสือ The Magic Island (1929) ที่ตั้งใจบันทึกเรื่องราวและพิธีกรรมของชาวเฮติ และนานาอารยธรรมในดินแดนที่ถูกแปะป้ายว่าไร้ซึ่งความศิวิไลซ์ที่เขาเดินทางไปสืบเสาะ จนได้พบเจอกับซอมบี้
เรื่องเล่าซอมบี้ ในบันทึกของคนขาว
แรกเริ่มเรื่องราวของซอมบี้ถูกเล่าผ่านแว่นของคนขาวที่มีต่อคติความเชื่อของชาวพื้นถิ่นในดินแดนอาณานิคมซึ่งถูกแปะป้ายความป่าเถื่อน ไร้ความศิวิไลซ์ ก่อนจะกลายเป็น ‘ผีนำเข้า’ สู่หลายประเทศและสร้างความบันเทิงผ่านสื่อต่างๆ
“ซอมบี้ พวกเขาเล่าว่ามันคือซากศพไร้วิญญาณของมนุษย์ แม้ว่ายังอยู่ในความตาย แต่กลับถูกนำขึ้นมาจากหลุมฝังศพ และปลุกเสกขึ้นมาด้วยเวทมนตร์ที่ทำให้เกิดกลไกคล้ายคลึงกับการมีชีวิต ซอมบี้คือร่างกายที่ตายแล้ว แต่ถูกทำให้เดิน กระทำ และเคลื่อนไหว ราวกับว่ายังมีชีวิต ผู้คนที่มีพลังอำนาจในการปลุกซอมบี้จะไปที่หลุมฝังศพ ที่มีศพฝังใหม่ๆ ขุดร่างขึ้นมาก่อนที่มันจะเน่าเปื่อย แล้วปลุกเสกให้มันเคลื่อนไหว และใช้งานมันเยี่ยงคนรับใช้หรือทาส บางครั้งก็ใช้มันไปกระทำสิ่งที่ผิด แต่บ่อยครั้งกว่าคือใช้มันทำงานในไร่ โดยให้ทำงานหนัก ทุบตีมันเยี่ยงปีศาจโง่ๆ หากมันเกียจคร้าน”
ข้อความบรรยายเชื้อเชิญให้รู้จักกับศพคืนชีพปรากฏอยู่ในบันทึกของซีบรูค ที่พยายามรวบรวมเรื่องราวที่เขาพบเจอในเฮติ เพื่อยืนยันการมีอยู่จริงของซอมบี้ เขาหลงใหลเรื่องราวลึกลับนี้เป็นอย่างมาก และมีความเชื่อที่ว่าคนที่อยู่ในวัฒนธรรมดั้งเดิมแบบคนป่าจะมีความสัมพันธ์กับโลกธรรมชาติ ซื่อตรงกับความปรารถนาพื้นฐานของมนุษย์ มากกว่าคนขาวที่มีความศิวิไลซ์มากเกินไป
ชาวเฮติที่เชื่อในเวทมนตร์คาถาและศรัทธาในลัทธิวูดู มีคติความเชื่อว่าผู้ที่สามารถปลุกศพไร้วิญญาณให้คืนชีพขึ้นมาได้ และควบคุมซอมบี้ให้ทำตามความต้องการได้ คือหมอผี ดังนั้นซอมบี้จึงเสมือนเป็นบริวารของหมอผี
ซีบรูคยืนยันความน่าเชื่อถือของเรื่องเล่าเกี่ยวกับซอมบี้ด้วยการกล่าวถึงประมวลกฎหมายอาญามาตรา 249 ของเฮติ ที่ระบุว่า
“ให้ถือว่าเป็นการฆาตกรรมโดยเจตนา หากมีการใช้สารใดๆ กับบุคคลที่อาจก่อให้เกิดการตายปลอมๆ หรือทำให้เกิดอาการหมดสติเซื่องซึมเป็นระยะเวลานาน หากมีการใช้สารต่างๆ กระทำการดังกล่าวจนบุคคลผู้นั้นถูกฝังลงในหลุมศพแล้ว ให้ถือว่าการกระทำนั้นเป็นการฆาตกรรม ไม่ว่าผลที่ตามมาจะเป็นเช่นใดก็ตาม”
เขาย้ำว่าการมีอยู่ของกฎหมายนี้ เป็นหลักฐานที่ทำให้ความเชื่อเรื่องการมีอยู่ของซอมบี้หนักแน่นกว่าเรื่องเล่าแบบปากต่อปากของตำนานคติชาวบ้าน
ซอมบิ-ซอมบี้-ผี-สิ่งลี้ลับ?
นอกจากเรื่องราวจากปลายปากกาของซีบรูคที่เป็นต้นทางของการเปิดโลกซอมบี้ไปสู่สังคมอเมริกัน กระทั่งโด่งดังไปทั่วโลก เรื่องราวของซอมบี้ยังเคยปรากฏอยู่ในบันทึกของนักเขียนและนักหนังสือพิมพ์คนขาวอีกหนึ่งคนก่อนหน้านี้คือ แพทริค ลาฟคาดิโอ เฮิร์น (Patrick Lafcadio Hearn)
ในปี 1887 เฮิร์นถูกจ้างจากนิตยสารฮาร์เปอร์ส (Harper’s) ให้เดินทางไปยังหมู่เกาะเวสต์อินดีส (West Indies) เพื่อเขียนงานส่งกลับมาตีพิมพ์ เฮิร์นได้ไปอาศัยอยู่บนเกาะมาร์ตีนิก (Martinique) ด้วยความที่เขามีความสนใจส่วนตัวเกี่ยวกับเรื่องลึกลับมนตร์ดำ ผลงานเขียนของเขาจึงมักเป็นเรื่องเกี่ยวกับไสยศาสตร์ของกลุ่มคนแอฟริกัน-อเมริกัน และเขายังกล่าวเสมอว่า ตัวเองไม่เลื่อมใสในภาวะสมัยใหม่ และมองว่าภาวะนี้มันทำลายโลกในอดีตที่เต็มไปด้วยความพิสดารน่าหลงใหล
ระหว่างที่เฮิร์นอยู่บนเกาะ เขาได้เขียนบันทึกเรื่องเล่าเกี่ยวกับความเชื่อเรื่องไสยศาสตร์ของชาวพื้นถิ่นที่บอกไว้ว่า ผู้คนที่อาศัยอยู่บนเกาะต่างหวาดกลัวผีแม้ในเวลากลางวัน หากมีใครไปเดินเตร็ดเตร่คนเดียวจะต้องพบกับ ‘ซอมบิ’ (zombi)
เขาไม่รู้แน่ชัดว่าซอมบิที่ว่ามันคืออะไร และดูจะเป็นคำที่เต็มไปด้วยความลึกลับ เขาแปลมันลงในหนังสือของเขาว่า ‘ghost’ หรือ ‘ผี’ แม้จะรู้ดีว่ามันยังไม่ใช่ความหมายที่แท้จริง
“ซอมบิ! คำนี้ลึกลับ แม้กระทั่งกับผู้ที่กล่าวมันออกมา คำอธิบายจากผู้ที่กล่าวคำนี้มักไม่ชัดเจนแจ่มแจ้ง แต่ดูเหมือนว่าคำนี้จะหมายถึงความคิดดำมืดที่นิยามไม่ได้ จินตนาการในจิตใจของผู้คนจากเชื้อชาติอื่น และยุคสมัยอื่นที่เก่าแก่จนไม่สามารถพูดถึงได้”
เฮิร์นเป็นบุคคลแรกๆ ที่จดบันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับซอมบิ แต่ด้วยความที่ยังไม่สามารถอธิบายนิยามได้แน่ชัด จึงไม่อาจสร้างการรับรู้ในวงกว้างเท่ากับการนิยามของซีบรูคใน 40 ปีให้หลัง และแทนที่คำว่า ‘ซอมบิ’ ด้วยคำว่า ‘ซอมบี้’ จนกลายเป็นผีโกอินเตอร์
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าซีบรูคและเฮิร์นจะยอมรับว่า ทั้งคู่เป็นผู้หลงใหลไสยศาสตร์มนตร์ดำของชาวพื้นเมือง พยายามละทิ้งอัตลักษณ์ความเป็นคนขาวในโลกสมัยใหม่ ปลดปล่อยตัวเองไปกับพิธีกรรมไสยศาสตร์ และวิพากษ์การแทรงแซงความเชื่อเกี่ยวกับเรื่องลี้ลับของคนขาวส่วนใหญ่ แต่ทั้งคู่ก็มีทีท่าแสดงออกซึ่งความเหนือกว่าของกลุ่มคนขาวในตะวันตกที่ไม่เห็นด้วยกับภาวะสมัยใหม่เช่นกัน โดยเป็นทีท่าของการโหยหาอดีตแบบอาณานิคม (colonial melancholy)
ซอมบี้ สัญลักษณ์ประชดประชันในสมการทุนนิยม
ซอมบี้กลายเป็นสัญญะของความสูญเสีย ไม่ว่าจะเป็นจิตวิญญาณหรืออิสระ เกิดการอุปมาเปรียบแรงงานทาสเป็นซอมบี้ที่ถูกเอารัดเอาเปรียบจากคนขาว เป็นแรงงานที่คอยรับใช้คนขาว ไร้อิสรภาพ ตามประวัติศาสตร์ของการค้าทาส
ในยุคหลังสมัยใหม่เองก็คงไม่ต่างกัน การทำงานหนักภายใต้โลกที่หมุนไปด้วยแรงขับเคลื่อนของนิยมทุน ตอบสนองผลกำไรในอุตสาหกรรมต่างๆ โดยอาศัยฟันเฟืองแรงงานสร้างความเจริญก้าวหน้าให้แก่นายทุน มนุษย์ต้องทำงานราวกับขายวิญญาณและความอิสระ ทั้งหมดทั้งมวลสามารถจำลองให้อยู่ในร่างซอมบี้ไร้วิญญาณที่ถูกปลุกขึ้นมาให้มีชีวิตเพื่อทำงานในทุกวัน กลายเป็นสัญลักษณ์แห่งการเสียดเย้ยโลกยุคปัจจุบันได้เป็นอย่างดี
การ์ตูนญี่ปุ่นเรื่อง zom 100 bucket list of the dead (ซอม 100 สิ่งที่อยากทำก่อนจะกลายเป็นซอมบี้) ที่เล่าเรื่องราวชีวิตของ เท็นโด อากิระ พนักงานออฟฟิศที่โดนบริษัทใช้แรงงานเกินมนุษย์มนา จนพลังล้นหลามของวัยหนุ่มต้องเหือดแห้ง ทำงานจนชีวิตตัวเองดูราวกับเป็นซอมบี้มากขึ้นทุกวัน
กระทั่งวันหนึ่งเมื่อซอมบี้บุกทั่วทั้งเมือง สิ่งแรกที่เขาคิดได้หลังจากซอมบี้บุกคือ “ดีใจชะมัด ที่วันนี้ได้หยุดงานสักที!” และนั่งลิสต์สิ่งที่เขาอยากทำก่อนที่ตัวเองจะกลายเป็นซอมบี้
น่าฉงนใจที่ลิสต์ของอากิระเต็มไปด้วยความเรียบง่าย ในลักษณะที่ชวนตั้งคำถามว่า การทำงานมันทำให้ความธรรมดาในชีวิตหายไปขนาดนี้เลยหรือ ทั้งการทำความสะอาดห้อง หรือการปั่นจักรยานฝ่าฝูงซอมบี้ออกไปซื้อเบียร์ มานั่งดื่มสานฝันการดื่มเบียร์ในวันหยุด
หรือหากมองให้เชื่อมโยงเทียบเคียงกับบันทึกต้นกำเนิดซอมบี้ของซีบรูค ก็คงจะบอกได้ว่ามนุษย์ทุกวันนี้ไม่ต่างอะไรจากซอมบี้ ที่พวกเขาเล่าว่ามันคือซากศพไร้วิญญาณ ซอมบี้ที่ถูกขุดขึ้นมาจากหลุมฝังศพก็คงเปรียบได้กับมนุษย์ที่ถูกปลุกขึ้นมาจากที่นอนหมอนมุ้ง ด้วยเสียงมนตร์ดำของนาฬิกาปลุก ทุนนิยมกลายเป็นกลไกที่ทำให้ทุกอย่างต้องเคลื่อนไหว โดยมีนายทุน หัวหน้า (หรืออะไรก็ตามที่ใกล้เคียง) เป็นเหมือนหมอผีตามบันทึกของซีบรูคที่มีพลังอำนาจในการควบคุมบัญชา
นอกจากการ์ตูนที่ยกตัวอย่างมา ยังมีภาพยนตร์หรือซีรีส์ที่ผลิตออกมาอีกจำนวนมาก แม้ว่าจะมีพล็อตคล้ายกันด้วยเส้นเรื่องการเอาชีวิตรอดของตัวเอก ซึ่งบ่อยครั้งมักถูกเชื่อมโยง เปรียบเทียบ ประชดประชันทุนนิยม ผู้มีอำนาจ มิติทางสังคมอื่นๆ
ในอีกด้านหนึ่งที่เป็นมิติของการเสียดเย้ยและประชดประชันโลกสมัยใหม่ ที่หากไม่มองว่าตัวเราเป็นซอมบี้ ก็อาจจะอุปมาว่าทุนนิยมเองก็เป็นซอมบี้ที่มาฉีกทึ้งร่างกายและจิตวิญญาณเราได้เช่นกัน
งานเขียนชิ้นหนึ่งที่มีชื่อเสียงอย่าง Zombie Capitalism: Global Crisis and the Relevance of Marx เมื่อปี 2009 โดย คริส ฮาร์แมน (Chris Harman) วิเคราะห์ว่าระบอบทุนนิยมสามารถอุปมาได้กับพฤติกรรมซอมบี้ 4 ด้าน คือ ความหิวกระหาย อุดมการณ์ ความเป็นอมตะ และความน่ากลัว
ความหิวกระหายนับเป็นแรงขับหนึ่งเดียวที่ทำให้ซอมบี้ว้าวุ่น และเป็นความหิวกระหายที่ไม่จำกัด กินเท่าไหร่ก็ไม่พอ ไม่ต่างจากระบอบทุนนิยมที่ต้องการบริโภคอย่างไม่สิ้นสุด สะสมทุนไม่หยุดหย่อน
ในส่วนของอุดมการณ์ แม้ซอมบี้จะสูญเสียความสามารถด้านอื่นๆ แต่อุดมการณ์ที่ยังถูกตรึงไว้อย่างแน่นเหนียวคือการกินเนื้อหนัง ฮาร์แมนเปรียบเทียบการยึดติดอุดมการณ์เพียงหนึ่งเดียวของธนาคารและสถาบันทางการเงินที่ใช้นโยบายและกลยุทธ์ต่างๆ ในการจัดการกับเศรษฐกิจ โดยไม่สนใจพื้นหลังในเชิงประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ภูมิศาสตร์ หรือปัจจัยเฉพาะในอีกหลายด้าน
ส่วนลักษณะความเป็นอมตะและความน่ากลัว คงเป็นที่ประจักษ์อยู่แล้วว่าทุนนิยมอยู่ยั้งยืนยงในโลกสมัยใหม่ และแฝงไปด้วยความน่ากลัวจากการขูดรีดในแทบจะทุกมุมของชีวิตมากเพียงใด
ดูเหมือนว่าเราแทบจะไม่เคยเบื่อหน่ายกับเรื่องเล่าของซอมบี้ การก่อกำเนิดซอมบี้ วิธีการปราบ การป้องกันตัว หรือกระทั่งการปรับตัวที่จะอยู่ในเมืองที่เต็มไปด้วยฝูงซอมบี้ ซึ่งถูกนำมาเล่าด้วยพล็อตต่างๆ กันไป จนกลายเป็นผีที่ป็อปปูลาร์ เช่นเดียวกับความหมายของซอมบี้ที่เดินทางผ่านกาลเวลา จากศพที่ถูกปลุกจากหลุมตามความเชื่อลัทธิวูดู จากความไม่ศิวิไลซ์ในสายตาคนขาว และจากความโหยหาอดีตแบบอาณานิคม สู่การเป็นสัญลักกษณ์อุปมาอุปไมยในโลกทุนนิยม
ที่มา:
- ชนกพร ชูติกมลธรรม. (2565). ประวัติศาสตร์ซอมบี้ จากศพคืนชีพด้วยมนตร์ดำ สู่สัญลักษณ์แห่งการวิพากษ์ทุนนิยม. กรุงเทพฯ: สยามปริทัศน์.
- Zombie Studies | ฐานข้อมูลคำศัพท์ทางมานุษยวิทยา
- วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต ซอมบี้ไทย สังคมไทย และการเมืองไทย