สารกันเสียเป็นเหตุ

Shampoo-2

 

สารเคมีถือเป็นสาเหตุอันดับสองที่ทำให้เกิดอาการแพ้และผิวหนังอักเสบจากการสัมผัสรองจากนิเกิล (Nickel) ซึ่งเป็นโลหะที่พบได้รอบตัวและในอาหารหลายชนิด ปัจจุบันผู้คนใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีสารกันเสียมากกว่าอดีต และสถิติการเป็นผื่นแพ้ผิวหนังอักเสบ (contact dermatitis) ก็เพิ่มขึ้น ผู้ใหญ่ 1 ใน 12 และเด็ก 1 ใน 5 ในสหราชอาณาจักรเกิดอาการผิวหนังอักเสบจากการสัมผัสสารเคมีที่มาในรูปสารกันเสียในผลิตภัณฑ์ดูแลผิวพรรณต่างๆ

สารกันเสียที่นิยมใช้ คือ MIT (Methylisothiazolinone) พบมากในแชมพู ครีมทาผิว เจลอาบน้ำ รวมทั้งเครื่องสำอางและผ้าเช็ดทำความสะอาดสำหรับเด็ก MIT เป็นสารกันเสียตัวเดียวกับที่ใช้ในสีทาบ้าน คุณสมบัติสำคัญคือการป้องกันการเจริญเติบโตของแบคทีเรียและยีสต์

ผลิตภัณฑ์ที่มี MIT เป็นส่วนประกอบ ที่รู้จักกันดี ได้แก่ โลชั่น Nivea และโฟมล้างหน้า Boots ผลิตภัณฑ์เหล่านี้มีสารเคมีอยู่ในระดับปลอดภัย เพราะสหภาพยุโรปออกระเบียบอนุญาตให้ใช้สารเหล่านี้ได้มากกว่าเดิม

ก่อนหน้านี้ผู้ผลิตจะใช้สาร MCI (Methylchloroisothiazolinone) ร่วมกับ MIT ในอัตราส่วน 3 ต่อ 1 แต่เมื่อพบว่า MCI ทำให้เกิดอาการแพ้ ผู้ผลิตบางรายจึงหันมาใช้ MIT แค่ตัวเดียว นั่นหมายความว่าสัดส่วนของ MIT ในผลิตภัณฑ์นั้นๆ ต้องเข้มข้นขึ้น บางครั้งพบความเข้มข้นสูงกว่าเดิม 25 เท่า ตั้งแต่มีการปรับสัดส่วน พบจำนวนผู้ป่วยด้วยอาการผิวหนังอักเสบเพิ่มขึ้น

เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา มีการนำเสนอผลงานวิจัยในงานประชุมสมาคมแพทย์โรคผิวหนังแห่งอังกฤษ ที่เมืองลิเวอร์พูล เพื่อเรียกร้องให้ทบทวนผลเสียที่มาจากสารเคมีในเครื่องสำอางเหล่านี้ อีกทั้งสมาคม European Society of Contact Dermatitis (ESCD) ได้ยื่นหนังสือไปยังคณะกรรมาธิการยุโรป ขอให้ตรวจสอบระดับความปลอดภัยของสารเคมีที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน

ผู้เชี่ยวชาญเห็นว่า อาการแพ้ที่พบในช่วงนี้ 2 ปีมานี้เกิดขึ้นมากกว่าที่เคยเกิดกับ Methyl­dibromo glutaronitrile ซึ่งเป็นสารกันเสียในเครื่องสำอางที่ถูกสั่งห้ามใช้ในปี 2005 หลังจากพบความเชื่อมโยงกับโรคผิวหนังอักเสบ

ดร.จอห์น แมกฟาดเดน แห่งสถาบันผิวหนังวิทยา เซนต์จอห์น (St. John’s Institute of Dermatology) ในกรุงลอนดอน กล่าวว่า “พวกเราอยู่ท่ามกลางอาการแพ้ที่เกิดจากสารกันเสียในระดับที่ไม่เคยพบเจอมาก่อน ผู้ป่วยจำนวนมากทรมานจากอาการผิวหนังอักเสบเฉียบพลัน ใบหน้าจะเป็นปื้นแดง เกิดอาการพอง ผมอยากให้อุตสาหกรรมเครื่องสำอางรีบแก้ไขก่อนที่สถานการณ์จะเลวร้ายไปกว่านี้”

 

ที่มา: telegraph.co.uk

สนับสนุนโดย

Author

อภิรดา มีเดช
อดีตภูมิสถาปนิกที่สนิทสนมกับตัวหนังสือมากกว่าต้นไม้ สารพัดขนแมวที่ติดอยู่บนเสื้อสีดำเป็นเครื่องหมายแสดงความจิตใจดี เป็นเครื่องประดับแสดงความเป็นทาสแมว สนใจด้านสิ่งแวดล้อม การศึกษา ประวัติศาสตร์ การเมือง รวมถึงการวิพากษ์สังคมและบุคคลอย่างตรงไปตรงมา
(กองบรรณาธิการ WAY ถึงปี 2559)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า