เรื่อง : พีชศิลป์ ชนินทร์พงศธร / ศรีศักดิ์ พิกุลแก้ว
ภาพ: ชยพัทธ แก้วกมล
บรรพบุรุษหลอมผลิตความเป็นชาติผ่านแม่พิมพ์แห่งความ ‘ดีงาม’ ดั้งเดิม ทว่าเลขศักราชไม่เคยนับถอยหลัง
บ้านเมืองในสภาพที่ฆราวาสออกมาวิจารณ์พระ แม้หน่วยงานวัฒนธรรมยังเลิกบ่นเรื่องวัยรุ่นใส่สายเดี่ยวไปแล้ว เพราะมันสุดเชยและแสนธรรมดา
แนวคิด 2 ขั้วระหว่างมโนสำนึกส่วนรวมเพื่อรักษาเอกลักษณ์ กับเสรีภาพของปัจเจกเพื่อความก้าวหน้า ต่างโต้เถียงเพื่อต่อรองความอยู่รอด-ผิดถูกของมูลเหตุการณ์ที่ปรากฏในสังคม
รศ.ดร.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ บอกว่าโดยสัดส่วนรวมๆ ของมนุษย์หรือสังคมมันก็ผสมๆ กันไป ไม่มีหัวก้าวหน้า 100 เปอร์เซ็นต์ และไม่มีอนุรักษ์นิยม 100 เปอร์เซ็นต์
หมายความว่า ต้องทะเลาะกันอย่างนี้ตลอดชาติ หรือมีทิศทางอื่นให้มองออกไป
ในเชิงการเมือง ระหว่างการเมืองเก่ากับการเมืองใหม่แตกต่างกันอย่างไร
แบ่งเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรกคือพวกพรรค ‘การเมืองใหม่’ ซึ่งไม่มีอนาคตเลย ผมคิดว่ากลุ่มนี้หากจะจัดตามคำพูดอย่างคุณคือค่อนข้างอนุรักษ์นิยม ติดอนุรักษ์นิยมสูงมาก
กลุ่มที่ 2 ที่เราจะพูดถึงคือ กลุ่มที่กำลังอยากสร้างการเมืองระบบรัฐสภาให้ค่อนข้างคงที่แบบนี้ไปเรื่อยๆ กลุ่มนี้คือกลุ่มพวกประชาธิปัตย์
ส่วนกลุ่มพวกอื่นๆ ที่สนับสนุนประชาธิปัตย์ หรือนายทุน คือกลุ่มที่เป็นคนกลุ่มใหม่ในสังคมและอยากจะมีบทบาท มีสถานะในสังคม ถามว่ากลุ่มนี้หัวก้าวหน้าไหม ผมคิดว่าส่วนใหญ่ของคนกลุ่มนี้เขาอยากเห็นประชาธิปไตยที่ถ้ายืมคำพูดเขามาคือแบบเสมอภาค ไม่มี 2 มาตรฐาน แต่แน่นอน ในกลุ่มนี้ปีกหนึ่งเขาอาจจะสุดโต่งหน่อย อยากจะเปลี่ยนสังคมเลย
มีความคิดเห็นอย่างไรกับคำวิพากษ์ของคนในสังคม ต่อเหตุการณ์ระดับ ทอล์ค ออฟ เดอะ ทาวน์ ที่แบ่งขาวแบ่งดำอย่างชัดเจน ไล่มาตั้งแต่กรณีสาวซีวิค เรื่อยมาถึงสงกรานต์ จนดอกส้มสีทอง
ตั้งแต่สงกรานต์เรื่อยมาจนถึงดอกส้มสีทอง ผมคิดว่ามันเป็นกระแสเดียวกัน คือกระแสที่คนออกมาโจมตีทั้งหมดรู้สึกว่าวัฒนธรรมไทยกำลังถูกคุกคาม โดยคิดว่าคนไทยเปิดรับวัฒนธรรมต่างชาติมากเกินไป ไอ้กระแสตรงนี้มันก็ทำให้ตั้งแต่เรื่องเปลือยอกเรื่อยมา จนถึงคุณเรยาดอกส้มสีทองเกิดเป็นปัญหาขึ้น
ในขณะเดียวกัน ผมคิดว่ากระแสอีกด้านหนึ่งคือ มันก็ไม่ซีเรียสไม่ใช่เหรอ เพราะตัววัฒนธรรมผู้หญิงมันไม่ใช่สิ่งที่วัฒนธรรมไทยสร้างขึ้น วัฒนธรรมไทยที่หมายถึงผู้หญิงน่ารักดีงาม สงบเสงี่ยม เจียมตัว ซึ่งอันนี้มันไม่ใช่ แล้วสังคมไทยก็ไม่เรียนรู้ตรงนี้ คือไม่เข้าใจเลยว่าในชีวิตจริงเป็นอีกแบบหนึ่ง ผมหวังว่าการปะทะกันจะทำให้คนไทยเรียนรู้
ผมคิดว่าความเข้าใจมันมี 2 ระดับ ระดับหนึ่งคือ ความเข้าใจเรื่องผู้หญิงผู้ชายแบบที่ชนชั้นนำสร้าง ในขณะเดียวกันกับความเป็นจริงของความเป็นผู้หญิงผู้ชายในระดับชนชั้นล่างมันคนละเรื่องกัน เรามักไปยึดติดข้างบนโดยยึดว่ามันเป็นความจริงแท้ โดยไม่เข้าใจข้างล่าง เช่น เราเคยมีความเชื่อว่าผู้หญิงจะต้องกราบเท้าผัว ซึ่งในชนบทหรือในพื้นที่อื่นๆ ไม่มี มีเฉพาะชนชั้นสูง
ถ้าแบ่งหยาบๆ ว่าเรามีกลุ่มเเนวคิดอนุรักษ์นิยมกับหัวก้าวหน้าอยู่จริง อาจารย์มองว่า 2 พวกนี้จะอยู่ร่วมกันอย่างไร
ทางกลางๆ ที่สุดคือทำให้มันเป็นประชาธิปไตย ระบบประชาธิปไตยที่ใช้การเลือกตั้งเป็นบันไดก้าวแรกออกไปสู่การคิดถึงว่า แต่ละกลุ่มจะต่อรองกันอย่างไร มันจะทำให้ทั้ง 2 ฝ่ายเรียนรู้ มองเห็นซึ่งกันและกัน ซึ่งทำให้เราอยู่ร่วมกันได้
เราไม่ต้องรักกัน คนไทยที่บอกคนไทยรักกันมันไม่จริง ไม่ต้องไปพูดแล้ว ใช้ระบบประชาธิปไตยเปิดพื้นที่ตรงกลางให้ทุกฝ่ายได้เห็นข้อมูลของแต่ละฝ่าย
พอนึกออกไหม สมมติเราเป็นหนุ่ม เป็นจิ๊กโก๋ เราไม่รู้จักกัน คุณมาจากบ้านหนึ่ง ผมมาจากอีกบ้านหนึ่ง มันก็ต้องตีกัน แต่ถ้าเราเริ่มรู้จักกัน คุณเป็นลูกคนนั้น ผมเป็นลูกคนนี้ โอกาสตีกันมันก็น้อย
หากแนวคิดเก่าเกี่ยวกับความเป็นชนบทคือการมีน้ำใจ โอบอ้อมอารี ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ไม่คดโกง แล้วในปัจจุบัน มีแนวคิดก้าวหน้าเกิดขึ้นในสังคมชนบทรูปแบบไหนบ้าง
ผมคิดว่าครั้งหนึ่งคนชนบทรู้สึกว่าชะตาชีวิตของเขา การจะก้าวหน้าคือเลื่อนชนชั้นจากชาวนามาเป็นชนชั้นกลาง เป็นคนรวย ซึ่งโอกาสแทบจะไม่มี คนรุ่นผม พ่อแม่ก็หวังไว้อย่างเดียวว่า เออมึงเรียนให้ได้แล้วมึงหนีจากสังคมชาวนา
ถามว่าความก้าวหน้าคืออะไร ผมคิดว่าเขาก็อยากจะขยับตัวเองขึ้นมาเป็นชนชั้นกลาง ทำงานเฉพาะด้านตามทักษะ เช่น มีความสามารถในการที่จะเป็นเสมียนหรืออื่นๆ ถ้าทำร้านโชว์ห่วยก็เป็นร้านโชว์ห่วยที่มีขนาดใหญ่ขึ้น เป็นความก้าวหน้าเหมือนชนชั้นกลางทั่วๆ ไป
เดี๋ยวนี้คนชนบทเริ่มเดินทางมากขึ้น ในชนบทใกล้เมืองที่เดินทางไปเช้าเย็นกลับได้ ทั้งหมดมาทำงานในเมืองนะ ชีวิตเขาเปลี่ยนแล้ว ความก้าวหน้าของเขาก็เหมือนความก้าวหน้าในชีวิตชนชั้นกลาง แต่ชนชั้นกลางไม่เข้าใจเขา
จากประวัติศาสตร์ เราจะเห็นถึงร่องรอยการปะทะระหว่างแนวคิดอนุรักษ์นิยมกับก้าวหน้ามาโดยตลอด อะไรคือตะกอนของแนวคิดทั้ง 2 ขั้วที่ตกค้างมาสู่ยุคสมัยปัจจุบัน
ผมคิดว่าชนชั้นนำไทยเกือบทุกยุค เอายุคนี้ก็แล้วกัน มองไม่เห็นความเปลี่ยนแปลง พอมองไม่เห็นความเปลี่ยนแปลง ทำให้พวกเขาไม่สามารถจะไปกับระบบที่เอื้ออำนวยแก่คนกลุ่มใหม่
ดังนั้นหากเขาคิดถึงการปรับตัวได้เร็ว ผมคิดว่าสังคมไทยจะดูดซับคนกลุ่มใหม่เข้ามาร่วมโดยที่ไม่ขัดแย้ง
*********************
(หมายเหตุ : ตีพิมพ์ในคอลัมน์ 5Qs พฤษภาคม 2554)