ด้านมืดของอีเมล

gmail-1

 

กำลังจะครบรอบ 10 ปีที่ Gmail เปิดให้บริการแก่ผู้ใช้ทั่วโลก แม้ช่วงแรกจะจำกัดจำนวนผู้ใช้ ด้วยกติกาว่าผู้ที่จะสมัครบริการอีเมลใหม่นี้ต้องได้รับเชิญ (invite) จากผู้ที่ใช้งาน Gmail อยู่แล้วเท่านั้น ด้วยปริมาณเนื้อที่จัดเก็บข้อมูล 1 กิกะไบต์ ซึ่งถือว่าใหญ่กว่าปริมาณที่ผู้ให้บริการอีเมลสุดฮิตในตอนนั้นอย่าง Hotmail และ Yahoo ชนิดไม่เห็นฝุ่น ทำให้ทุกคนอยากจะเป็นเจ้าของบัญชีผู้ใช้ (account) Gmail กันโดยถ้วนหน้า

ปัจจุบันทุกคนคงหมดกังวลกับปัญหาอีเมลเต็ม เพราะเนื้อที่จัดเก็บขยับขยายไปถึง 15 กิกะไบต์ แถมยังมี Cloud Drive ให้เลือกจัดเก็บข้อมูลกันอย่างจุใจ สถิติผู้ใช้ Gmail ทั่วโลกอยู่ที่ราว 425 ล้านบัญชี ทั้งในนามผู้ใช้ สถานศึกษา บริษัท ห้างร้าน เอ็นจีโอ หรือหน่วยงานราชการ

กูเกิลเปิดบริการ Gmail เมื่อเดือนเมษายน ปี 2004 แลร์รี เพจ หนึ่งในผู้ก่อตั้งกูเกิลปฏิเสธว่าบริษัทไม่ได้ต้องการจะควบรวมระหว่างประวัติการค้นหาและท่องเว็บกับแอคเคาทน์ของผู้ใช้ Gmail รายนั้นๆ แต่ละปีกูเกิลเสียค่าใช้จ่ายในการเก็บข้อมูลผู้ใช้เอาไว้ ด้วยเรตราคา 2 ดอลลาร์สหรัฐต่อกิกะไบต์

ในทางปฏิบัติ กูเกิลกลับได้สิทธิ์ที่จะเข้าถึงข้อมูลทุกอย่างในอีเมลของผู้ใช้นับล้านๆ ราย ตั้งแต่จดหมายส่วนตัว ข้อมูลการรักษาพยาบาล หลักฐานการเงินการลงทุนที่มีการส่งต่อและรับ จะถูกสอดส่องและติดตาม โดยเฉพาะ ‘คีย์เวิร์ด’ สำคัญๆ ซึ่งมักจะย้อนกลับมาในรูปของแถบโฆษณาประชาสัมพันธ์ที่ตรงกับสิ่งที่ผู้ใช้งานมีปฏิสัมพันธ์อยู่ ณ ขณะนั้น

ไม่เฉพาะเจ้าของบัญชี Gmail เท่านั้นที่ถูกละเมิดความเป็นส่วนตัว เพราะกูเกิลได้พัฒนาเทคโนโลยี (underlying technology) ที่สามารถรวบรวมและประเมินข้อมูลซับซ้อนของใครก็ได้ที่เข้ามาข้องเกี่ยวกับระบบของ Gmail

การเคลื่อนไหวต่อต้านการกระทำของกูเกิลมีจากหลากหลายกลุ่ม อย่างที่ศูนย์ข้อมูลสิทธิความเป็นส่วนตัวอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Privacy Information Center: EPIC) ชี้ว่ากูเกิลไม่ได้สอดส่องเฉพาะบัญชีผู้ใช้ Gmail เท่านั้น แต่ยังสามารถเข้าถึงข้อมูลของใครก็ได้ที่ส่งและรับอีเมลจากผู้มีบัญชี Gmail

เราคุ้นเคยกับการใช้งานเสิร์ชเอนจินอย่างกูเกิลเป็นปกติในชีวิตประจำวันจนแทบขาดไม่ได้ไปแล้ว ยังไม่นับการใช้งาน Google Maps ค้นหาสถานที่และเส้นทางก่อนเดินทางเพื่อประหยัดเวลา หรือแม้แต่สมาร์ทโฟนของหลายคนก็ยังเลือกใช้ระบบปฏิบัติการ Android ที่กูเกิลซื้อไปเมื่อปี 2005 ทว่าการแสวงหาผลประโยชน์จากข้อมูลและความเป็นส่วนตัวของเรา ยังไม่มีกฎหมายคุ้มครองสิทธิด้านนี้อย่างเป็นรูปธรรม สิ่งที่ผู้บริโภคอย่างเราจะทำได้ คงเป็นการป้องกันและเตือนตัวเองไว้เสมอว่า ไม่มีสิ่งใดในโลกออนไลน์ที่เป็นความลับ

เอริค ชมิดต์ อดีตผู้บริหารกูเกิล ยอมรับว่าวิสัยทัศน์ขององค์กรเรื่องความเป็นส่วนตัวบนโลกออนไลน์นั้นเป็นเรื่องยากมากๆ ที่จะมีได้ เขาให้สัมภาษณ์สถานี CNBC ไว้เมื่อปี 2009 ว่า

“ถ้าคุณมีอะไรที่ไม่อยากให้คนอื่นรับรู้ คุณก็ไม่ควรเข้ามาที่นี่ตั้งแต่แรก”

 

ที่มา: alternet.org

สนับสนุนโดย

 

Author

อภิรดา มีเดช
อดีตภูมิสถาปนิกที่สนิทสนมกับตัวหนังสือมากกว่าต้นไม้ สารพัดขนแมวที่ติดอยู่บนเสื้อสีดำเป็นเครื่องหมายแสดงความจิตใจดี เป็นเครื่องประดับแสดงความเป็นทาสแมว สนใจด้านสิ่งแวดล้อม การศึกษา ประวัติศาสตร์ การเมือง รวมถึงการวิพากษ์สังคมและบุคคลอย่างตรงไปตรงมา
(กองบรรณาธิการ WAY ถึงปี 2559)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า