โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์
บารมี เพื่อนผมคนที่ชอบมีปัญหากับอะไรๆ ไปทั่ว จนตั้งชื่อตัวเองเวลามาโพสต์ในเฟซบุ๊คว่า บารมี ชอบมีปัญหา แกมาโพสข้อความไว้เมื่อตอนน้ำท่วม เป็นบทสนทนาทำนองว่า
“เฮ้ย…เมี่อวาน เหนื่อยแทบตาย”
“ไปทำอะไรมาเหรอ”
“ขนของหนีน้ำว่ะ”
“อ้าว! แกอยู่คอนโดชั้นเจ็ดไม่ใช่หรือวะ”
“ก็ฟังข่าวจาก ศปภ. อ่ะ เขาประกาศว่าน้ำจะท่วมแล้ว ให้ยกของไปไว้ชั้นสอง”
เรื่องนี้ฟังดูเผินๆ อาจเป็นแค่เรื่องขำๆ ของคนซื่อปนเซ่อ เป็นเรื่องของความไม่มีเหตุผล แต่เอาเข้าจริงๆ เรื่องตลกส่วนใหญ่มักจะเกี่ยวข้องกับเรื่องการใช้เหตุผลหรือที่ภาษาวิชาการเรียกกันว่า ‘ตรรกศาสตร์’ มากกว่าอย่างอื่น
คือเรื่องขำขันนั้นมักเป็นการเล่นกับตรรกะแบบที่เราคิดไม่ถึง
อาจารย์วีระ สมบูรณ์ เคยมาพูดคุยแลกเปลี่ยนในงานประชุมที่ผมจัดขึ้นครั้งหนึ่ง แกพูดเรื่องตรรกศาสตร์ และยกตัวอย่างคำถามประเภท “อะไรเอ่ย…?” ที่เด็กๆ ชอบถามกันนี่แหละ ว่าเป็นตัวอย่างของตรรกะแบบคาดไม่ถึงได้อย่างชัดเจน
อย่างเช่น ถามว่า “อะไรเอ่ย ไม่มีกระดูก แต่ลุกได้ตั้งได้”
เฉลย: ขน ขนลุกขนตั้ง (อย่าคิดมาก อันนี้เป็นเรื่องของเด็กๆ เขาถามกัน)
เรื่องขำๆ บางเรื่องอาจมีความย้อนแย้งเชิงตรรกะก็ได้ เหมือนที่เคยได้ยินคนเล่ากันว่า หนุ่มสาวคู่รักพากันไปเที่ยวชมธรรมชาติ หลังจากเดินคุยกันไปในสวนจนหมดเรื่องสนทนา ท่ามกลางแสงจันทร์ยามค่ำคืนและดวงดาวระยิบระยับเต็มท้องฟ้า ทั้งคู่จึงหยุดยืนชมความงามของธรรมชาติ
เสียงพูดคุยเงียบหายไปพักใหญ่ ฝ่ายหญิงเห็นฝ่ายชายมองทอดสายตาออกไปเหมือนใช้ความคิด จึงถามเชิงออดอ้อนไปว่า “นี่เธอ คิดอะไรอยู่เหรอ…”
ฝ่ายชายก็ตอบแบบโรแมนติกไปว่า “ก็คิดเหมือนที่เธอคิดอยู่นั่นแหละ”
เท่านั้นเอง ฝ่ายหญิงก็โกรธเป็นฟืนเป็นไฟ แล้วต่อว่าฝ่ายชายทันทีว่า “ตาผีบ้า คนอะไร คิดลามกอนาจาร”
เรื่องนี้เรียกว่า มีความแยบคาย คือ ทั้ง ‘แยบยล’ และ ‘หยาบคาย’ ไปด้วยกัน
คำถามประเภท ‘อะไรเอ่ย’ หรือเรื่องขำๆ ที่ว่านี้จึงไม่ใช่เรื่องไร้สาระหาเหตุผลไม่ได้ เอาเข้าจริงๆ มันเป็นการเล่นกับตรรกะด้วยการหักมุมไปหาความเป็นเหตุเป็นผลอีกด้านหนึ่ง ซึ่งเป็นเหตุผลที่เราเข็มขัดสั้นเองต่างหาก
ตรรกศาสตร์แบบคาดไม่ถึงนี้จึงกลายเป็นเรื่องขบขัน คือต้อง ‘ขบ’ สักนิดจึงจะรู้ว่า ‘ขัน’
การนำเหตุผลแบบยอกย้อนหรือคาดไม่ถึงมาใช้แต่งเป็นเรื่องเล่า หรือปริศนาท้าทายสติปัญญานั้นมีอยู่ในทุกวัฒนธรรม ทั้งแขก จีน ฝรั่ง นิทานปัญหาคำทายของแขกที่เรารู้จักกันดีก็คือ นิทานเวตาล ที่เวตาลเล่าเรื่องปริศนาชักชวนให้พระวิกรมาทิตย์คิดตาม และด้วยตรรกะที่ดูจะไร้เหตุผลที่ปรากฏในเรื่องทำให้พระวิกรมาทิตย์อดไม่ได้ ต้องทำผิดกติกาด้วยการเอ่ยปากโต้แย้ง จนเป็นผลให้เวตาลบินกลับไปเกาะอยู่บนต้นไม้ที่เดิม ไม่สามารถเดินทางต่อไปได้
ส่วนฝรั่งก็มี Riddle มากมายที่ไม่ต่างอะไรไปจากคำถามแบบอะไรเอ่ยของเรา ยิ่งคนจีนนั้นเล่าก็มีการเล่น ‘ผะหมี’ หรือ ‘พะหมี’ ที่แข่งขันกันเป็นล่ำเป็นสัน คนจีนในเมืองไทยสมัยก่อนมีการจัดแข่งขันกันแบบเอาจริงเอาจัง มีการชิงแชมป์ระดับประเทศที่จังหวัดชลบุรี อันถือว่าเป็นเมืองหลวงแห่งการพะหมีกันทุกปี
ปัจจุบันการเล่นปริศนาแบบจีนนี้แพร่หลายกลายเป็นการพะหมีแบบไทยที่มีให้เล่นตามเว็ปไซต์ต่างๆ มีทั้งปริศนาภาพ ปริศนาคำพ้องเสียง พ้องความ ปริศนาคำผัน ปริศนาสุภาษิต
ถ้าพิจารณาจากตรรกศาสตร์ หลายเรื่องที่เป็นปริศนาคำทายพวกนี้อาจถือว่าเป็นการใช้เหตุผลแบบชายโครงถลอก คือเอาสีข้างเข้าถู ตอบแบบข้างๆ คูๆ ฟังดูแม้จะกวนปราสาทแต่ก็ต้องยอมรับว่าฉลาดคิด
เรียกว่าทายกันพอขำๆ หรือเล่ากันสนุกๆ จะไปซีเรียสตรวจสอบในเชิงตรรกศาสตร์ก็จะบ้าเกินไป เพราะส่วนใหญ่มันจะเป็นเรื่องเชาว์ปัญญาแบบศรีธนญชัยมากกว่าอย่างอื่น
อย่างเรื่องขนของหนีน้ำที่คุณบารมี ชอบมีปัญหา นำมาโพสต์ในเฟซบุ๊คของแก แต่เรื่องอีกหลายเรื่องในเฟซบุ๊คที่ผมอ่านเจอระยะหลังนี้ มันมีตรรกะแบบข้างๆ คูๆ ที่อ่านดูแล้วขำไม่ค่อยออกครับ ผมซึ่งปกติไม่ค่อยชอบมีปัญหากับใคร ก็เริ่มมีอาการคล้ายกับคุณบารมี คือ ชอบมีปัญหา ขึ้นมาบ้าง
ปัญหาที่ว่าก็คือตรรกะต่างๆ ที่ผู้คนใช้โต้แย้งกัน เผอิญได้สดับรับฟังหรือที่ตั้งใจเข้าไปอ่านของเขาก็ดี มันทำให้ผมมีปัญหา และสงสัยว่า เด็กไทยแม้ว่าจะเรียนหนักที่สุดประเทศหนึ่งของโลก แต่การใช้เหตุผลของคนไทยใน พ.ศ. นี้ดูจะยอกย้อน กำกวม ปั่นป่วน และสับสนจนน่าฉงนงงงวย
โดยเฉพาะเหตุผลทางการเมืองที่ใช้อ้างและโต้แย้งกันในหน้าสื่อ ไม่ว่าจะเป็นสื่อกระแสหลัก หรือสื่อทางสังคมออนไลน์
ไม่นับเหตุผลที่ไม่ใช่ ‘การเมือง’ เช่น คำตอบปรนัย 3-4 ข้อที่ดาราไทยใช้เป็นเหตุผลของการไปแก้ผ้าให้เขาถ่ายรูปนู้ด คือ ข้อ ก. เพราะต้องหาเงินไปรักษาแม่ที่ป่วยหนัก ข. เพราะประชดแฟนหนุ่มที่ทิ้งชั้นไป ค. จริงๆ แล้วไม่ได้แก้ แต่ช่างภาพเอารูปไปรีทัช และข้อสุดท้าย ถูกทั้ง ก. ข. และ ค.
การใช้เหตุผลทางการเมืองมันดูซับซ้อนและสับสนกว่านี้มาก สับสนจนผมเองก็ไม่รู้ว่าด้วยเหตุผลกลใดคนไทยเราจึงได้ใช้เหตุผลเช่นนี้
ตัวอย่างเช่น ถ้ามีใครสักคนโผล่เข้าไปโพสต์ในกระทู้การเมือง แล้วไปคอมเมนต์ว่าพรรคการเมืองที่เป็นรัฐบาลว่าทำงานไม่ดี ก็จะมีคนมาตอกใส่หน้าว่า “แล้วทำไมมรึงไม่ไปลงเลือกตั้ง แล้วมาเป็นรัฐบาลซะเอง…เกรียนเอ๊ย”
ถ้าเป็นนักวิชาการ หรือเอ็นจีโอออกมาเสนอความเห็นที่ขัดแย้ง วิจารณ์วิธีการแก้ปัญหาต่างๆ ของกลไกรัฐ ก็จะมีการโต้ตอบด้วยข้อความ เช่น “แมร่งเก่งเจงๆ น่าจะส่งไปแก้ปัญหาสามจังหวัดชายแดนใต้”
หรือการให้เหตุผลแบบ “ก็ทีพวกมึงยังเลวได้ พอกูเลวบ้างก็อย่ามาว่า” อะไรทำนองนี้
บางครั้งไม่ใช่เรื่องของการใช้เหตุผล แต่เป็นการพาลไปด่ารูปร่างหน้าตา การแต่งกาย พื้นเพด้านเชื้อชาติ ศาสนา เอาอัตลักษณ์ทางเพศมาด่าว่า เป็นตุ๊ด เป็นแต๋ว ด่าพระด่าเจ้า ด่าชาวบ้านร้านช่องที่มีความเห็นต่างกันเป็นสัตว์เลื้อยคลานประเภทต่างๆ ทั้งไอ้เหี้ย อีห่า ด่าพวกเสื้อสีต่างกันหรือต่างพรรคกันว่าเป็นสัตว์เข้าสภา เป็นแมลงสาบ เป็นควาย
ทั้งควายเหลือง ควายแดง และควายสลิ่ม
ทั้งควายที่เป็นทีฆสระ คือสระเสียงยาว และรัสสระ คือสระเสียงสั้น
บางคนถึงกับเอาทั้งหมดที่ว่ามาผสมกัน ด่าผ่านเว็ปแคมด้วยถ้อยคำสัมผัสนอกสัมผัสใน ด่าแบบไม่หายใจหายคอ ด่าตั้งแต่บุพการี ไล่ไปหลายชั่วโคตร แถมโหลดขึ้นยูทูบ ลิงค์มาเฟซบุ๊คให้ทุกคนได้เห็นได้ฟังกันหายคันหูไปเลย
ที่สรรพสัตว์ออกมายั้วเยี้ยเพ่นพานกันอย่างมากมายนี้ อาจเป็นเพราะสื่อทางสังคมที่แพร่หลายอยู่ทุกวันนี้ได้ปฏิวัติการสื่อสาร จากเดิมที่คนสร้างสื่อมีเพียงหยิบมือเดียว คนส่วนใหญ่เป็นเพียงคนเสพสื่อ พอเปลี่ยนมาเป็นยุคดิจิตอล มีสื่อสังคมออนไลน์ที่ใครๆ ก็เป็นสื่อ คิดอะไรก็สื่อ และแสดงออกสู่สาธารณะได้
และแสดงออกได้อย่างรวดเร็ว ทันที ทันใด และทันใจ แบบที่บางทีก็ไม่ทันคิด
ที่ร้ายกว่านั้นยังมีการเอาภาพมาตัดต่อ เอาข้อความมาบางส่วน แต่งภาษามาเร้าอารมณ์ และเอาข่าวลือมาผสมกับความเห็น คอมเมนต์กันแบบไม่ต้องเปิดเผยตัวตน เอามันเข้าว่า ด่าเสร็จก็หายหัว
การถกเถียงกันด้วยปัญญาจึงถอยร่นไปอยู่หลังฉาก การใช้เหตุผลแบบกากๆ กลับมีอยู่เกลื่อนกล่น
จากเรื่องขำๆ เขียนไปเขียนมาขำไม่ออก แต่ที่เขียนนี่ก็แค่อยากเห็นคุณภาพของการโต้แย้งทางการเมืองเรื่องของความเห็นที่อาจแตกต่างกันได้ เป็นไปบนพื้นฐานของตรรกะและเหตุผล
ไม่งั้น ไปๆ มาๆ วันหนึ่งข้างหน้า เราอาจต้องใช้สัตววิทยามาศึกษาวัฒนธรรมการเมืองไทย
*********************************
(หมา่ยเหตุ : ตีพิมพ์ครั้งแรกในคอลัมน์คิดสลับขั้ว มกราคม 2555)