นวนิยายทั้ง 6 เล่ม มีจุดตั้งต้นจากกติกาเชิงบังคับ ว่านักเขียนทั้ง 6 คน จะต้องพาตัวเองลงพื้นที่ เพื่อศึกษาเรียนรู้ชีวิตเล็กๆ ในชุมชนต่างๆ นักเขียนสามารถเลือกพื้นที่ชุมชนได้มากกว่า 1 แห่ง เพื่อประสานข้อมูลกับจินตนาการออกมาเป็นนวนิยาย
การลงพื้นที่เก็บข้อมูลเพื่อเก็บเกี่ยววัตถุดิบจากประสบการณ์ตรง ผนวกเข้ากับจินตนาการ ความคิดสร้างสรรค์ทักษะความชำนาญในการเล่าเรื่อง สังเคราะห์ประเด็นความคิด แต่ปลายทางของเนื้อหาในนวนิยายนั้น สำนักพิมพ์ได้ให้อิสระแก่นักเขียนอย่างเต็มความหมาย
โดยนักเขียนทั้ง 6 คนที่ได้รับเงินทุนสนับสนุนในการลงพื้นที่ จะต้องกลับมาเขียนต้นฉบับในระยะเวลาที่กำหนด ก่อนส่งต้นฉบับให้บรรณาธิการประเมินผลงาน บรรณาธิการท่านนั้นคือ เวียง-วชิระ บัวสนธ์
ในกรณีที่นักเขียนไม่สามารถทำงานตามกติกาได้ แน่ล่ะว่า ย่อมมีรายจ่ายบางประการที่เขาต้องชำระ ไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ตามแต่
กล่าวในมุมผู้ผลิตงานทางศิลปะวรรณกรรม เราอาจพูดได้ว่า นี่คือรูปแบบกระบวนการทำงานที่ใกล้เคียงอุดมคติที่สุดหนทางหนึ่ง นักเขียนมีหลักประกันระหว่างการทำงาน มีกรอบเวลา มีข้อตกลงเยี่ยงคนทำงานมืออาชีพ หลังจากส่งต้นฉบับให้บรรณาธิการ ซึ่งเป็นกระบวนการแลกเปลี่ยน ปรับแก้ในเชิงรายละเอียดของนวนิยาย จากนั้นนักเขียนแต่ละคนจะมีเวลาไม่เกิน 2 เดือนในการปรับแก้ อันเป็นข้อตกลงอันละเมิดมิได้ ระหว่างบรรณาธิการและนักเขียน
หากไล่เรียงชื่อนักเขียนแต่ละคนที่เข้าร่วมโครงการ ไม่ว่าจะเป็น‘บิ๊กเนม’ไล่มาจนถึง‘ดาวรุ่ง’ทุกคนต่างก็ต้องรับผิดชอบผลงานปลายทางของตนเองอย่างเสมอหน้ากัน
นักเขียน 6 คนประกอบด้วย แดนอรัญ แสงทอง, มาโนช พรหมสิงห์, ปริทรรศ หุตางกูร, เรวัตร์ พันธุ์พิพัฒน์, จเด็จ กำจรเดช และวีรพงษ์ สุนทรฉัตราวัฒน์
ว่ากันว่า แดนอรัญ แสงทอง นักเขียนบิ๊กเนมผู้ได้รับอิสริยาภรณ์ในลำดับชั้น Chevalier du Arts et Lettre ปี พ.ศ. 2551จากรัฐบาลฝรั่งเศส เลือกที่จะลงพื้นที่ไปยังภาคเหนือ และปฏิเสธโรงแรมหรูระดับ 5 ดาว เขาพึงใจกับการพักค้างอ้างแรมที่วัดแห่งหนึ่งทางภาคเหนือ
นี่คือภาพสาธิตคร่าวๆ ถึงเบื้องหลังการทำงานของนักเขียน ซึ่งแต่ละคนก็เผชิญกับสถานการณ์เฉพาะหน้าต่างกัน
บัดนี้ นวนิยายทั้ง 6 เล่มได้สำเร็จเสร็จสิ้นกระบวนแล้ว จึงอยากเชิญชวนนักอ่านผู้สนใจวรรณกรรม ต้อนรับนวนิยายของนักเขียนบิ๊กเนม มือรางวัล และหน้าใหม่ ของนักเขียนทั้ง 6 คนนี้
นวนิยายทั้ง 6 เล่มนี้ มีดังนี้
01
อตีเตกาเล โดย แดนอรัญ แสงทอง
เรื่องราวเริ่มต้นด้วยการเดินทางไปยังจังหวัดเชียงใหม่ของนักวิจัยหนุ่มผู้รับงานมาจากกระทรวงวัฒนธรรม ทำงานวิจัยเป็นงานเฉพาะกิจ หัวข้อในการวิจัยของเขาก็คือ “การวิเคราะห์คุณค่าในเชิงสุนทรียภาพของจิตรกรรมฝาผนังในอุโบสถ วัดป่าศาลาปางสัก อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่” ภาพจิตรกรรมฝาผนังในอุโบสถได้นำไปสู่เรื่องราวตำนานเมืองเหนือ และเรื่องราวลี้ลับของภูตผีอันชวนหวาดแสยง ด้วยท่วงทำนองการเล่าเรื่องแบบถมึงตาใส่ผู้อ่าน ตามสำนวน ‘แดนอรัญ’ โดยแท้
บางส่วนจากอตีเตกาเล
โทรศัพท์มือถือของเขาใช้การไม่ได้โดยสิ้นเชิง ก่อนหน้านี้ไม่นานมันยังใช้การได้ดีเยี่ยม สัญญาณแจ่มชัด ก่อนหน้านี้ไม่นานที่สถานีรถไฟเชียงใหม่เขายังโทร.คุยกับนายเชตเพื่อนที่กรุงเทพฯอยู่เลย บอกกล่าวแก่นายเชตว่า “ถึงเชียงใหม่แล้วว่ะ สิ่งที่ฉันต้องบอกแกเป็นอย่างแรกก็คือเชียงใหม่ไม่มีทะเลว่ะ” นายเชตซึ่งทำงานประจำอยู่ในกองอนุรักษ์โบราณวัตถุและโบราณสถาน กระทรวงวัฒนธรรมไม่ได้ขันเขไปด้วยแม้แต่น้อย หากแต่กำชับกำชาอย่างเป็นงานเป็นการ “อย่าเถลไถล ถ่ายรูปมาก ๆ วาดภาพประกอบมาด้วยเยอะ ๆ และเขียนรายงานมาให้ละเอียด เออ ถึงเชียงใหม่แล้วเอ็งก็โทร.หานางสาวเสี้ยวจันทร์เขาซี เอ็งจะมาโทร.หาข้าทำไม”
02
สายรุ้งกลางซากผุกร่อน โดย มาโนช พรหมสิงห์
มาโนช พรหมสิงห์ นำเอาประวัติศาสตร์ ตำนาน นิทาน ปรัมปรา ที่งอกเงยบนดินแดนอิสานมารื้อและเล่าใหม่ ว่ากันตั้งแต่ตำนานการกำเนิดของมนุษย์ ชาติพันธุ์วรรณา กบฎเจ้าอนุวงศ์ ชนชั้นไพร่-ฟ้า และการปฏิวัติของหนุ่มสาวในราวป่า ทั้งหมดถูกหีบห่ออยู่ในฉากของเมืองยโสธรและอุบลราชธานี นี่คือนวนิยายที่เล่าเรื่องชนชั้นในสำนวน ‘หวานปฏิวัติ’
บางส่วนจาก สายรุ้งกลางซากผุกร่อน
ข้อยมีชื่อจริงว่า หลัก หรือสหายไผ่ ผู้มีพ่อแม่ชื่อพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย รากเหง้าของข้อยนะหรือโอยถ้าบ่แม่นแนวคิดมาร์กซ์-เลนินและเหมาเจ๋อตงแล้ว ถามว่าจะมีผู้ใด๋อีกฮึ ห่าฮากเลือดเอ๊ย ชีวิตข้อยก็ไม่ต่างจากทุ่งกุลาแห้งแล้งแปนเอิดเติด ไม่ต่างจากเลขศูนย์ ก็มันว่างเปล่า บ่มีอีหยัง บ่มีตัวตน
03
ลูกสาวแห่งขุนทะเล โดย ปริทรรศ หุตางกูร
นวนิยายเล่มใหม่ของนักเขียนผู้มีแนวทาง ‘เซอร์เรียลลิสต์’ ลูกสาวแห่งขุนทะเลจับตามองการกลับบ้านเกิดของนักโฆษณาสาว แล้วพบว่าบ้านเกิดของเธอกำลังเผชิญหายนะจากอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ งานใหญ่ที่เธอต้องสะสางจึงเริ่มต้น แม้เธอจะตระหนักว่าการต่อสู้ครั้งนี้ คู่ต่อสู้ของเธอตัวใหญ่เพียงใด
บางส่วนจาก ลูกสาวแห่งขุนทะเล
“ลองอ่านดูซิคะว่ากำลังจะเกิดอะไรขึ้นกับทะเลบ้านเรา รู้จักเชฟรอนไหม ไอ้บริษัทบ้าๆ ที่อาศัยช่องกฎหมายบ้าๆ มาแย่งทะเลที่สมบูรณ์ด้วยซีฟู้ดไปทำท่าเรือน้ำลึก มันจะพังกันหมดนะพี่ยาม เพราะมันต้องขุด เจาะ ทุบ ทิ้ง ทะเลพังหมดแน่ ต่อไปพี่จะไม่มีปลากิน พี่น้องประมงชายฝั่งจะทะลักมาเป็นยามแย่งอาชีพพี่ บ้านเมืองจะย่อยยับไม่น่าอยู่ด้วยมลพิษทั้งทางน้ำ อากาศ เสียง สุขภาพ ลองอ่านดูซิคะพี่ยาม ที่นี้จะเลือกช่วยพ่อแม่พี่น้องคนคอนบ้านเรา หรือช่วยไอ้บริษัทพวกนี้ ดิฉันเองก็เป็นอาจารย์ นักศึกษาเยาวชนไม่กี่คนตรงนี้เขาไม่ได้มามั่วๆ เรียกร้องอะไร แต่มาเตือนพ่อแม่พี่น้องทุกคนให้ได้รับรู้นะคะ”
04
สวนโลก โดย เรวัติ พันธุ์พิพัฒน์
เรื่องราวความสัมพันธ์เชิงลึกระหว่างคนกับธรรมชาติ ซึ่งธรรมชาติในที่นี้มิได้หมายความแต่ต้นไม้ใบหญ้า ท้องฟ้าหรือดวงดาว แต่เรวัติ พันธุ์พิพัฒน์ ยังขยายนิยามความหมายไปถึงความปรารถนา และด้านในของมนุษย์ ไม่จำกัดเพียงแต่ด้านสว่าง แต่ยังหมายถึงด้านมืดอีกด้วย นี่คือเรื่องราวที่สวยงามเรื่องราวหนึ่ง ด้วยภาษากวีและกลวิธีการเล่า
บางส่วนจาก สวนโลก
ฉันกับหินเหมือนเป็นหนึ่งเดียวกัน เบื้องหน้าเสียงเพรียกของสายน้ำสีแดงข้นของฤดูฝน โมงยามที่ไม่ได้ยินเสียงหัวเราะรื่นเริงของแม่กับลูก หุบเขาแห่งนี้ก็กลายเป็นคุกขังอันหม่นครึ้ม เหมือนว่าเมื่อวานนี้เอง ใช่, เหมือนว่าเมื่อวานนี้เองที่ฉันได้มองเห็นแม่กับลูกกำลังวักน้ำใส่กัน แม่กับลูกที่พากันเก็บกรวดหินสีสวยในลำห้วยขึ้นมาเพ่งพิศ และแม่กับลูกที่กำลังขับขานบางบทเพลงเคล้าคลอไปด้วยกัน
05
ประเทศมือสอง โดย จเด็จ กำจรเดช
เรื่องราวของชายหนุ่มผู้อาศัยอยู่ในเมืองแห่งอนาคต แต่ปัญหาที่คั่งค้างใจนำพาเขาลักลอบหนีออกจากเมืองแห่งนี้ กลับไปยังเมืองต้นยวน เมืองในปัจจุบันที่มีครอบครัวของเขาอาศัยอยู่ เรื่องราวถูกเล่าคู่ขนานระหว่างเมืองปัจจุบันและเมืองอนาคต นี่คือท่วงทำนองของนวนิยายแนววิทยาศาสตร์ ที่ตั้งคำถามกับผู้อ่านบนพื้นฐานของปรัชญาการมีชีวิต
บางส่วนจาก ประเทศมือสอง
แต่สำหรับหญิงสาวแห่งโคโลนี่14 พวกเธอมองสายฝนด้วยความหวังว่า ใครบางคนจะฝ่าฝนออกมาเที่ยวกัน นั่นเป็นแค่คำเรียกขาน โคโลนี่ 14 ในความหมายของฝ่ายปกครองในพุทธศตวรรษที่26 หรืออาณาจักรศรีวิชัยเมื่อหลายพันปีก่อน แต่ถ้าจะเรียกขานตามคำของคนพื้นถิ่นดั้งเดิม พวกเขายังพอใจเรียกมันว่าต้นยวน เรียกขานตามต้นไม้ซึ่งมีผึ้งสร้างอาณาจักรขึ้น
06
อนุสรณ์สถาน โดย วีรพงษ์ สุนทรฉัตราวัฒน์
อนุสรณ์สถานเล่าเรื่องราวของครอบครัวหนึ่งผ่านคืนที่ปาจิตต์เลือกรูปถ่ายหน้าศพให้แม่ ภาพถ่ายของครอบครัวนำเขาย้อนกลับไปเผชิญกับความสัมพันธ์ในอดีต ความสัมพันธ์ระหว่างคนในครอบครัว ความสัมพันธ์ระหว่างประวัติศาสตร์ครอบครัวกับประวัติศาสตร์ของชาติ เรื่องราวทั้งหมดห่มคลุมด้วยบรรยากาศของชีวิตและความตาย การจดจำและการลืมเลือน ความรักและความเกลียดชัง
บางส่วนจาก อนุสรณ์สถาน
อนาคตที่เหลือไม่มากทำให้เขาบอกตัวเองว่า ‘ฉันน่ะทำบาปทำกรรมมาเสียมากมาย’ พูดได้ไหมว่าตาของผม ชายชราอายุแปดสิบ เลือกเผยเล่าความทรงจำชุดนี้โดยไม่ต้องกังวลว่าจะต้องสอดรับกับปัจจุบัน เพราะเวลาของเขาเหลือน้อยแล้ว แต่อย่าลืมว่านี่คือการเล่าในสมุดบันทึกส่วนตัว ในไดอารี่ที่ไม่สมควรที่จะมีใครอื่นได้อ่าน แต่กระนั้นผมก็คิดไปถึงเช้ามืดวันนั้นที่ผมถามแม่ว่า คนรุ่นแม่ไม่กล้าเผยเล่าอดีตเพราะกลัวอะไร แม่บอกว่า “ก็ปัจจุบันล่ะเนาะ”
……………………………………………………….
หมายเหตุ : อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมของทั้ง 6 เล่มรวมทั้งวิธีการสั่งซื้อได้ที่ http://waymagazine.org/books/