เมื่อสังคมออนไลน์กลายเป็นที่จัดเก็บเอกสาร ภาพถ่าย ปฏิทิน และบันทึกข้อความต่างๆ ในชีวิต เมื่อผู้เป็นเจ้าของเสียชีวิตลง ก็กลายเป็นปัญหาขึ้นมาว่าจะทำอย่างไรให้ข้อมูลเหล่านั้นไม่สูญหายหรือถูกปิดตายด้วยพาสเวิร์ดที่มีผู้ตายรู้เพียงคนเดียว
ก่อนหน้านี้มีการเสนอแนวคิดพินัยกรรมออนไลน์โดยนักวิชาการ นักกฎหมาย หรือแม้แต่รัฐบาลสหรัฐ พวกเขาแนะนำว่าผู้ใช้งานสื่อออนไลน์เหล่านี้ควรจะทำพินัยกรรมระบุสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลไว้ก่อนตาย เพื่อที่ผู้รับมอบอำนาจจะได้จัดการตามความมุ่งหมายแทนที่จะปล่อยให้ข้อมูลนั้นตายไปพร้อมๆ เจ้าของ
กูเกิลนำแนวคิดดังกล่าวมาใช้งานจริงด้วยวิธีที่แสนเรียบง่าย โดยเรียกเครื่องมือดังกล่าวว่า ‘ตัวช่วยจัดการบัญชีที่ไม่ใช้งานแล้ว’ (Inactive Account Manager) เพียงผู้ใช้บัญชีตั้งเวลาเอาไว้ว่าหากไม่ได้ใช้งานติดต่อกันนานเท่าใด เช่น 3 เดือน 6 เดือน หรือ 9 เดือน เครื่องมือนี้จึงจะเริ่มทำงาน
ก่อนถึงเวลาที่กำหนดไว้ 1 เดือน กูเกิลจะส่งอีเมลและ SMS แจ้งเตือนผู้ใช้งาน หากพ้นกำหนดแล้วยังไม่ได้รับการตอบกลับ กูเกิลจะส่งอีเมลไปให้กับบัญชี ‘ผู้ใช้น่าเชื่อถือ’ ซึ่งเราเลือกเอาไว้ไม่เกิน 10 คน และให้ลิงค์ในการแบ่งปันข้อมูลตามขอบเขตที่เรากำหนด หรือเราอาจจะกำหนดให้ลบข้อมูลทั้งหมดโดยไม่แบ่งปันเลยก็ได้
อย่างไรก็ตามข้อมูลดังกล่าวต้องเชื่อมต่อกับบัญชีของกูเกิลเท่านั้น เช่น บทความในบล็อกเกอร์ รูปภาพในพิคาซา วิดีโอในยูทูป ไฟล์เอกสารในกูเกิลไดรฟ์ เป็นต้น
ที่มา: theatlantic.com