จดหมายถึง ‘เมนคนแรก’ คนที่ฉันไม่กล้าบอกหรอกว่า ฉันรู้จักเขาดีพอ

1.

คุณคะ,

ก๊อกๆ…

ใช่แล้วค่ะ ฉันเรียกคุณนั่นแหละค่ะ

ไม่เจอกันนานเลยนะคะ คุณเมนคนแรกในชีวิต

แฮร่…พูดแล้วก็เขินจังเลยค่ะ ถ้านับถึงปีนี้ ฉันมีคุณเป็นเมนคนแรกมา 10 ปีแล้วนะคะ

อะไรนะคะ คุณถามว่า ‘เมน’ คืออะไรอย่างนั้นเหรอ

โธ่! คุณคะ ถามอะไรรุงรังจัง ไปอยู่ไหนมาคะ คุณไม่ได้เข้าทวิตเตอร์ ไม่อ่านเฟซบุ๊ค หรือไม่ตามข่าวในอินสตาแกรมเลยเหรอ?

อ้อ…ลืมไป คุณปิดแอคเคาน์โซเชียลมีเดียพวกนั้นไปหมดแล้วนี่นา อันท้ายๆ ที่คุณน่าจะมีอยู่คือ เว่ยป๋อ (Weibo) – แอคเคาน์โซเชียลมีเดียของจีน แต่หลังจากคุณเจอดราม่าถล่มทลายเมื่อกลางปี 2016 ก็เหมือนคุณจะหายๆ ไป คงไม่ได้เข้าโซเชียลมีเดียเท่าไหร่ใช่ไหมคะ

อืม ขอเล่าหน่อยนะ…วันก่อน, ช่วงวันหยุดยาว ฉันนั่งรถไปปากช่องกับน้องคนหนึ่งล่ะ ระหว่างทางเราคุยกันเรื่องตัวตนในโซเซียลมีเดียของคนยุคนี้ จริงๆ เราคุยกันเรื่องโรงเรียนทางเลือกก่อน ก่อนจะต่อเนื่องไปถึงเรื่องการสร้างหนังสารคดี ต่อไปถึงคำถามเรื่องการจัดฉาก หรือ ‘เซ็ต’ อะไรบางอย่างในหนังสารคดี ว่าถ้าทำอย่างนี้แล้ว จะยังนับเป็น ‘สารคดี’ อยู่ไหม การเล่าเรื่องใหม่ทั้งหมดถือเป็น ‘เรื่องแต่ง’ หรือยังเป็น ‘ความจริง’ อยู่

แล้วเราเลยคุยไปถึงรุ่นพี่คนหนึ่งที่เรารู้จักผ่านโซเชียลมีเดียก่อนเจอตัวจริง เธอเป็นคนผลักดันการฉายหนังสารคดีในเมืองไทยค่ะ ตอนนั้นเองที่รุ่นน้องของฉันพูดขึ้นมาว่า

“นี่ ก่อนจะเจอตัวจริงพี่เขานะ แอบรู้สึกว่าพี่เขาเป็นคนขี้หงุดหงิดโวยวายกับทุกสิ่งบนโลก แต่ตัวจริงพี่เขาน่ารักมาก พูดเพราะ แถมยังใจดีสุดๆ ตัวจริงไม่เห็นเหมือนในโซเชียลมีเดียเลยเนอะ”

รุ่นน้องหันมาพยักพเยิดกับฉัน ฉันก็เลยผงกหัวเออออตามเธอไป

“จริงๆ เคยเจออย่างนี้อีกเคส” เธอยังคงเล่าต่อ “อาจารย์ (ตื๊ดๆ) ไงคะ ในโซเชียลมีเดียแกดูเป็นผู้ชายวัยกลางคนบ่นโลกและรมณ์บ่จอยตลอดเวลา ดูไม่น่าเข้าใกล้เลย” รุ่นน้องเว้นจังหวะ

“แต่คนนี้ เพราะเรารู้จักตัวจริงแกมาก่อน เราเลยรู้ว่า สิ่งที่เห็นในโซเชียลมีเดียไม่ใช่ตัวตนของแกหรอก ตัวจริงแกน่ารักและชอบช่วยเหลือคนอื่นจะตายไป”

อืม ‘ตัวตน’ คำนี้สะกิดใจฉันจัง มันวนเวียนและทำให้ฉันคิดถึงมันตลอดช่วงหยุดยาวแบบสลัดไม่หลุดเลยล่ะค่ะ

2.

คุณคะ,

สักประมาณสองเดือนที่แล้ว มีดราม่าในทวิตเตอร์ล่ะ คุณได้อ่านบ้างไหม

อ้อ ลืมไป คุณลบแอคเคาน์ไปแล้วนี่นา ถ้างั้น ขอเล่าย้อนดราม่าให้ฟังแล้วกันนะคะ ดราม่ามันมีอย่างนี้ล่ะ

เรื่องคือ Produce48 อันเป็นรายการเซอร์ไววัลโชว์ที่รวมเด็กสาวเกาหลีและญี่ปุ่น 96 คนมาแข่งกันเพื่อคัดเลือกสมาชิก 12 คนเดบิวต์เป็นไอดอล ได้เปิดตัวเพลงประจำรายการ แถมเปิดตัวเซ็นเตอร์เพลง (คล้ายๆ ตัวเด่นของเพลงน่ะค่ะ) จากทั้งฝั่งเด็กฝึกเกาหลี และเด็กฝึกญี่ปุ่นด้วย โดยเซ็นเตอร์ฝั่งเด็กฝึกญี่ปุ่นนั้นได้แก่ มิยาวากิ ซากุระ จากวง HKT48 ซึ่งเป็นคนที่สวยมากค่ะ แค่ออกสื่อวันแรกเธอก็ตกแฟนคลับหน้าใหม่ๆ ได้ตรึมเลย กระแสหวีดซากุระในทวิตเตอร์นั้นรุนแรงมาก

แต่อยู่ๆ ก็มีคนออกมาทวีตเตือนว่า ตัวจริงของซากุระไม่ได้น่ารักเลยนะ เธอเป็นคนเสแสร้งบ้างล่ะ สำออยบ้างล่ะ ถ้าจำไม่ผิด มีทวิตเตอร์ออกมาไล่เรียง ‘ตัวตน’ ของซากุระให้ฟังกันเป็นฉากๆ เลย

ถ้าพูดแบบไม่ตกเทรนด์ก็ต้องใช้คำว่า “ซากุระน่ะ ตัวจริง รว้ายยย รว้ายยย จะตายไป”

แต่เอาจริงๆ นะคะ คนเราน่ะ จะรู้จัก ‘ตัวจริง’ ของคนอื่นได้ดีขนาดไหนเชียวคะ

อืม…แต่เวลาที่มีดราม่าอะไรแรงๆ ติดเทรนด์ ก็ดูเหมือนจะมีคนออกตัวว่ารู้จริง โผล่มาให้เห็นไม่น้อยเชียวนะคะ ล่าสุดก็ช่วงดาราหนุ่มหน้าใสที่ดังจากซีรีส์แนววาย ที่แฟนเก่าออกมาบอกว่าท้อง ช่วงนั้นก็มีผู้รู้ออกมาเยอะแยะมากมาย แล้วเหมือนใครคนนั้นคนนี้ก็จะมีชุดความจริงของตัวเองเต็มไปหมด บางคนก็บอกว่า เคยรู้จัก เคยทำงานด้วย เคยเรียนที่เดียวกัน เคยติ่งมาด้วยกันก็ยังมี

คุณคะ, มุมที่เราเคยเห็นคนคนหนึ่ง เคยเห็นเขาผ่านจอหนัง ผ่านบทสัมภาษณ์ในนิตยสาร ผ่านคลิปยูทูบที่อัพโหลดโดยแฟนไซต์ ผ่านอินสตาแกรมไลฟ์ ผ่านคำบอกเล่าของชาวเน็ตในกล่องคอมเมนต์

หรือแม้กระทั่งเคยได้รู้จักเขาในช่วงเวลาหนึ่ง ในเสี้ยวหนึ่งของความยาวนานที่เรียกว่าชีวิต
แม้กระทั่งอย่างนั้น คุณคิดว่าเราสามารถพูดได้ไหมคะ ว่าเรา ‘รู้จัก’ เขาจริงๆ

เราสามารถตัดสินได้ไหมว่า ‘ตัวตน’ เขาเป็นคนอย่างไรผ่านเสี้ยวเวลา หรือฉากชีวิตเหล่านั้น

เพราะถ้าเราตัดสินได้ …อย่างนั้นแล้ว เราอาจตัดสินพี่ที่จัดฉายหนังสารคดีคนข้างบนนั้นจากเฟซบุ๊คของเธอได้ไหม และเราอาจตัดสินอาจารย์ (ตื๊ดๆ) ท่านนั้นว่าเป็นชายวัยกลางคนช่างบ่นโลกได้หรือเปล่า

แล้วเราตัดสินคุณ จากข่าวดราม่าในปี 2016 ได้ไหมคะ

ข่าวนั้นไง คดี sexual harassment หรือการคุกคามทางเพศ ที่มีผู้หญิงสามคนฟ้องคุณในเวลาไล่เลี่ยกัน

3.

คุณคะ ตอนที่คดีเกี่ยวกับกรณี sexual harassment ที่มีคนฟ้องคุณเกิดขึ้นกลางปี 2016 นั้น กล่องข้อความในโซเชียลมีเดียของฉันแทบแตกเลยล่ะค่ะ

มีผู้คนหลังไมค์มาหาฉันมากมาย เพื่อนสนิทที่ไม่แม้กระทั่งติดตามเคป๊อปยังสอบถาม อดีตเพื่อนร่วมงานถึงกับทักมา อ้อ คนที่เคยผิดใจกันจนไม่คุยกันนานแล้ว ก็ยังทักมาหาแน่ะ

…ทุกคนอยากรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น (แบบย่อ) ทุกคนอยากรู้ว่าคุณผิดจริงไหม ทุกคนอยากรู้ว่าฉันคิดยังไง …และทุกคนอยากให้ฉันตัดสิน

ก็แหม…คุณน่ะ เป็นเมนของฉันนี่คะ และพวกเขาคิดว่า ฉัน (ควร) ต้องรู้จักคุณดีค่ะ

4.

คุณคะ,

เมื่อต้นปีนี้เองค่ะ ในโลกสังคมออนไลน์ของไทย มีดราม่าเกี่ยวกับไอดอลสาวคนหนึ่งของวงที่มีตัวอักษรภาษาอังกฤษสามตัว และมีเลข 48 ห้อยท้าย เราเรียกกลุ่มแฟนคลับของวงนี้ว่า ‘โอตะ’ ค่ะ แล้วเราเรียก ‘เมน’ ของโอตะว่า ‘โอชิ’

ถ้าใช้คำแบบคนทั่วไปก็คงต้องใช้คำว่า ฉัน ‘ชอบ’ หรือ ‘เชียร์’ คนนี้

กลับมาที่เรื่องดราม่านะคะ…พอดราม่าร้อนแรง แน่นอนว่าย่อมต้องมีการปะทะของฟากความคิดเห็นที่แตกต่างกัน ทุกคนมีชุดข้อมูลของตัวเอง และจากข้อมูลเหล่านั้น นำมาซึ่งคำตัดสินส่วนตัว…ซึ่งหลายคนก็เผลอแสดงผ่านพับลิค

คำตัดสินที่เรามอบให้มนุษย์คนหนึ่ง – มนุษย์ที่เรารู้จักเขาในช่วงวัยหนึ่ง ในห้วงเวลาหนึ่ง ไม่ว่าผ่านชีวิตจริง ผ่านคำบอกเล่า หรือแม้กระทั่งผ่านอินสตาแกรมไลฟ์ของเขา – คุณว่ามันโอเคไหมคะ

มนุษย์เติบโต เปลี่ยนแปลง – ไม่ว่าจะดีขึ้นหรือถดถอย – และถึงที่สุดแล้ว ในห้วงเวลาหนึ่งขณะเดียวกัน เราอาจแสดงออกกับแต่ละคน และแต่ละสถานการณ์ อย่างแตกต่างกันด้วยซ้ำ

เราในเฟซบุ๊ค เราในทวิตเตอร์ หรือเราในอินสตาแกรม อาจไม่เหมือนกันเลย

เช่นนั้นแล้ว เราในสื่อ เราในข่าวดราม่า เราในคอมเมนต์ของชาวเน็ต สิ่งเหล่านี้มีเสี้ยวตัวตนของเราปะปนไปบ้างไหมคะ

‘คุณ’ ที่อยู่ในคอมเมนต์ของชาวเน็ตแห่งเว็บ Naver (ชุมชนออนไลน์ชื่อดังของเกาหลี) ล่ะคะ
มีตัวตนและเสี้ยวความจริงอยู่กี่มากน้อย?

5.

คุณคะ, คดีความของคุณจบลงแล้วด้วยชัยชนะของคุณใช่ไหมคะ

อืม…คุณชนะคดี แต่ดูเหมือนว่าเส้นทางในวงการบันเทิงของคุณจะจบลงอีกอย่าง

ยังไงดีล่ะ…ฉันไม่ใช่คนที่เข้าใจสังคมเกาหลีหรอกนะคะ แต่สังคมที่ฉันอยู่และเติบโตมา ก็มีวัฒนธรรมบางอย่างที่น่าจะคล้ายคลึงกัน

คนที่ (เคย) ถูกกล่าวหาว่าเกี่ยวข้องกับคดีคุกคามทางเพศ – ไม่มากก็น้อย มักถูกตัดสินอยู่ลึกๆ ว่าพวกเขาได้ร่วงหล่นจากมาตรฐานของความดีแล้ว

และในโลกของวงการบันเทิง ที่เรียกร้องหาความเหมาะสมและความดีงามบางอย่าง คนที่ร่วงหล่นลงจากมาตรฐานไปแล้ว ก็ยากที่จะป่ายปีนกลับขึ้นมาได้

คุณคะ สุดท้ายแล้วคุณชนะคดีความ…แต่นั่นแหละค่ะ โลกใบนี้ยังมีสิ่งที่อยู่เหนือการควบคุมอีกมาก
และยากแสนยาก – ที่เราจะควบคุมพฤติกรรมของชาวเน็ตได้ (และในวิถีสังคมประชาธิปไตย เราก็ไม่ควรควบคุมด้วย)

สิ่งเดียวในตอนนี้ที่ฉันควบคุมได้ คงเป็นการเขียนจดหมายฉบับนี้ขึ้น

จดหมายถึง ‘เมนคนแรก’ คนที่ฉันไม่กล้าบอกหรอกว่า ฉันรู้จักเขาดีพอ

แต่อย่างน้อยที่สุด …ปาร์ค ยู ชอน คะ… ถ้าชีวิตหยิบยื่นโอกาสให้อีกครั้ง

ฉันยังรอ และหวัง ที่จะได้พบคุณ – บนเวทีนะคะ

ปาร์ค ยู ชอน

อายุ 32 ปี (นับแบบสากล) สมาชิกรุ่นก่อตั้งของวงทงบังชินกิ (TVXQ!) ก่อนที่จะฟ้องร้องค่ายในประเด็นสัญญาไม่เป็นธรรม และออกมาทำงานภายใต้ชื่อ JYJ ร่วมกับอีกสองสมาชิก คือ คิม แจ จุง และ คิม จุน ซู

เมื่อกลางปี 2016 ปาร์ค ยู ชอน ถูกฟ้องร้องในคดีคุกคามทางเพศจากหญิงสาวสามคน คดีฟ้องร้องนี้ได้รับความสนใจจากสาธารณชนเกาหลีใต้อย่างยิ่ง หลังจากที่การฟ้องร้องและสืบสวนดำเนินไปปีกว่า ศาลได้ตัดสินว่าไม่พบเหตุว่าเขาผิดตามที่โดนฟ้องร้อง

อย่างไรก็ตามคำฟ้องร้องนั้นส่งผลกระทบต่องานในวงการบันเทิงของ ปาร์ค ยู ชอน จนถึงทุกวันนี้

Author

Tiktok
Tiktok เป็น fangirl ดำรงอยู่ด้วยปรัชญาชีวิตว่า 'เรื่องติ่งเราจริงจัง' เธอเคลมว่ามีเมนแค่วงเดียว คือ...เอ่อ 'วงการเกาหลี' Tiktok เคยออกหนังสือมาเล่มหนึ่ง (พิมพ์เอง) ชื่อ 'ซากุระ, ซาโยนาระ' ที่ร้านหนังสือแบรนด์ญี่ปุ่นจัดวางในชั้น 'ขายดี'

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า