ในเดือนที่ผ่านมา นักภาษาศาสตร์ชาวอเมริกัน คาร์เมล โอ แชนเนสซี ได้นำเสนอผลงานวิจัยชิ้นใหม่ลงตีพิมพ์ในวารสารทางภาษา หลังจากที่เธอได้ลงไปศึกษาที่หมู่บ้านลาจามานู หมู่บ้านที่มีประชากรกว่า 700 คนในตอนเหนือของประเทศออสเตรเลีย ซึ่งเป็นสถานที่ที่พบเด็กพื้นเมืองผู้คิดค้นภาษาใหม่ขึ้นมา เรียกว่า ‘วอร์ลพิริ รัมปากุ’ แปลว่า ‘แสงสว่างแห่งวอร์ลพิริ’
เด็กๆ ใช้วิธีผสมภาษาวอร์ลพิริเข้ากับคำประเภทต่างๆ ของภาษาอังกฤษและภาษาคริโอล์ซึ่งเป็นภาษาท้องถิ่นภาษาหนึ่งของออสเตรเลีย โดยเป็นการเปลี่ยนแปลงรากฐานระบบคำช่วยในภาษาพูดที่ใช้มาตลอด 35 ปี
ส่วนความกังวลว่าภาษาใหม่นี้จะมีความทับซ้อนระหว่างภาษาหรือไม่ คาร์เมลได้อธิบายไว้ว่า
“ภาษาวอร์ลพิริ รัมปากุนั้นมีการยืมโครงสร้างของคำกริยาและคำนามจากภาษาวอร์ลพิริดั้งเดิมแต่มีการนำทั้ง 2 ส่วนมาประกอบเข้ากันในรูปแบบใหม่ วิธีการนี้คล้ายกับภาษาโปรตุเกส ภาษาฝรั่งเศส ภาษาสเปน ภาษาโรมาเนีย และภาษาละติน ที่มีการยืมคำศัพท์จากภาษาอื่นๆ”
สิ่งที่คาร์เมลพบคือ ชาวบ้านกว่า 300 คนพูดภาษาวอร์ลพิริ รัมปากุ ภาษาใหม่ดังกล่าวได้กลืนภาษาวอร์ลพิริแบบดั้งเดิมซึ่งเป็นภาษาที่พูดกันในกลุ่มคนกว่า 4,000 คนอย่างรวดเร็ว
คำถามคือ… ภาษานี้ออกเสียงอย่างไร คาร์เมลยกตัวอย่างประโยคขึ้นมาประโยคหนึ่ง “พวกเรามักเห็นไส้เดือนที่บ้านของฉัน (We also saw worms at my house)” ในภาษาวอร์ลพิริ รัมปากุนั้นออกเสียงว่า “Nganimpa-ng gen wi-m si-m worm mai aus-ria”
และคาร์เมลยังอธิบายเสริมอีกว่า ภาษาวอร์ลพิริ รัมปากุนั้นเป็นภาษาที่ “ไม่มีการกำหนดช่วงเวลาอนาคต” เช่นในภาษาอังกฤษ ‘I’m’ จะกล่าวถึง ‘ฉัน’ ในช่วงเวลาปัจจุบัน ซึ่งในภาษาวอร์ลพิริ รัมปากุจะมีการสร้างรูปแบบใหม่ขึ้น เช่น ‘yu-m’ ซึ่งหมายถึง ‘คุณ(you)’ และมีสถานะเป็นทั้งอดีตและปัจจุบัน แต่ไม่ได้มีการกำหนดถึงช่วงเวลาในอนาคต
ทำไมภาษาใหม่ถึงเกิดขึ้นทั้งๆ ที่ไม่มีความต้องการที่เด่นชัด เรื่องนี้ยังคงเป็นปริศนาอยู่ สมมุติฐานหนึ่งของคาร์เมลอธิบายสาเหตุว่าเพราะความเข้าใจภาษาของคนในหมู่บ้านมีเพิ่มมากขึ้น พวกเขาหลายๆ คนรู้จักทั้งภาษาวอร์ลพิริและภาษาอังกฤษ พวกเขาจึงคิดค้นภาษาที่ใช้สื่อสารและแสดงความคิดเห็นให้เหมาะสมกับสภาพสังคม
**********************************
(ที่มา : globalpost.com)