ภาพ: ปริณดา โสธรบุญ
“ระบอบทักษิณคือ ความเคลื่อนไหวแรกที่จะออกจากโครงสร้างอำนาจเดิมของระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหลัง 14 ตุลาคม 2516” เกษียร เตชะพีระ คณะรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ หนึ่งในผู้นิยามคำว่า ‘ระบอบทักษิณ’ ตั้งแต่ปี 2546
“ความคิดเบื้องหลังทั้งหมดอย่างที่เรามีอยู่ทุกวันนี้ เป็นมรดกตกทอดจากเหตุการณ์ 14 ตุลา 16 เป็นระบอบประชาธิปไตยที่ถูกออกแบบมาให้มีความสามารถในการควบคุมพลังของมวลชนรากหญ้า ควบคุมไว้ในกรอบที่เป็นประชาธิปไตยโดยการเลือกตั้ง อาจเป็นการใช้อำนาจในระบอบที่ไม่อันตรายเกินไปต่ออำนาจหรือต่อผลประโยชน์ที่สำคัญของชนชั้นนำในสังคม”
พูดให้ชัด เป็นประชาธิปไตยซึ่งเกิดขึ้นหลังเผด็จการทหาร ซึ่งแรงเกินไปสำหรับชนชั้นซึ่งเกษียรเรียกว่าอีลิท
“ถ้าอย่างนั้นก็เอาแบบประชาธิปไตยที่อีลิทอยู่เป็นสุข มวลชนอยู่ในเงื่อนไขอำนาจที่ประกันว่าปัญหาบางอย่างที่เป็นปัญหามูลฐานที่กระทบผลประโยชน์อีลิท จะไม่ถูกยกขึ้นมา อย่างปัญหาเรื่องปฏิรูปที่ดิน ภาษีมรดก เป็นไปได้อย่างไรที่เรื่องพวกนี้ไม่ถูกพูดถึง นี่คือความสามารถพิเศษของประชาธิปไตยแบบนี้”
ระบอบทักษิณจึงเป็นตัวแทนความเคลื่อนไหวแรกที่ออกจากโครงสร้างอำนาจเดิม ซึ่งเกษียรไม่ได้เห็นดีเห็นงามด้วยทั้งหมด
“ในความรู้สึกผมการที่ทักษิณพาออกไปมันอาจฉิบหายก็ได้ เพราะเป็นกรอบโครงสร้างอำนาจที่แกเป็นใหญ่ที่สุด และเป็นผู้นำประชาธิปไตยคนเดียว คนอื่นๆ ไม่ค่อยมีเสรีภาพ ยกเว้นพวกเชียร์”
อาจารย์มองระบอบทักษิณในฐานะ ‘ระบอบ’ ไม่ใช่ตัวบุคคล อยากทราบว่าในปัจจุบัน ระบอบดังกล่าวมีสภาพต่างจากตอนสถาปนาใหม่ๆ ไหม
ทุกวันนี้ ถ้าถามว่ายังมีระบอบทักษิณอยู่ไหม ผมว่ายากมาก แต่ถ้าถามว่ามีอะไรที่เคยเป็นองค์ประกอบโครงสร้างอำนาจของเขา อะไรบ้างที่ต่างไป ผมรู้สึกว่าที่ต่างมีอยู่ 6 อย่าง
หนึ่ง องค์กรจัดตั้งในรูปที่เรารู้จักโดยทั่วไปอย่างพรรคการเมือง จากไทยรักไทย กลายเป็นพลังประชาชน และเพื่อไทย แต่ผมคิดว่าที่สำคัญกว่าความเป็นพรรคคือ เครือข่ายทักษิณ อำนาจของคุณทักษิณและคนที่เชียร์คุณทักษิณไม่ได้สังกัดพรรคทั้งหมด คุณทักษิณมีคนกระจายอยู่หลายวงการ ทั้งในวงการศาล ตำรวจ ทหาร
ดังนั้น เวลาคิดเกี่ยวกับเรื่องโครงสร้างอำนาจองค์กรจัดตั้งกลุ่มคุณทักษิณ ผมคิดเป็นเครือข่ายมากกว่า ซึ่งผมว่ามันอ่อนแอลง ถูกยุบลงไปครั้งแล้วครั้งเล่า แต่ละครั้งเสียผู้ปฏิบัติงานไปจำนวนมาก แม้ว่าคนกลุ่มนี้อาจยังทำงานนอกองค์กรการเมืองต่างๆ แต่มันก็อ่อนแอลง
ส่วนเครือข่าย ถ้าคุณคิดคร่าวๆ ในเครือข่ายตำรวจ ทหาร คนที่ดูเป็นฝ่ายทักษิณก็โดนเขี่ยออกจากการดำรงตำแหน่ง ซึ่งสัญญาณหนึ่งคือการที่พรรคพวกคุณทักษิณในกองทัพ ยกกันมาเข้าพรรคเพื่อไทย ให้พูดตรงๆ โคตรอีเดียดเลย
จุดที่คนเหล่าจะเป็นประโยชน์ต่อคุณทักษิณที่สุดคืออยู่ในกองทัพ เพราะสามารถใช้อิทธิพลคุมกำลังช่วยเหลือได้ การที่หลุดจากกองทัพเข้ามาเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทยแล้วลงเลือกตั้งนั้น เฮงซวยที่สุด เพราะพวกนี้ไม่น่าจะลงเลือกตั้งเป็น หาเสียงก็ไม่รู้จะเป็นหรือเปล่า เป็นนายพลมีแต่คนยกมือไหว้ ไม่ต้องสงสัยเลยว่า สถานการณ์อย่างนี้ แสดงว่าเครือข่ายคุณทักษิณเปลี้ยแล้ว
แสดงให้เห็นว่าอำนาจในการบำรุงรักษาเครือข่ายที่ผ่านมา ผ่านเงินผ่านอำนาจทางการเมืองที่แต่งตั้งคนเหล่านี้ไปดำรงตำแหน่งต่างๆ อำนาจเหล่านั้นค่อยๆ สูญสลายไป
สอง นโยบายประชานิยม ถูกบวกรวมเข้าไปในกระแสหลัก ตั้งแต่รัฐบาลคุณสุรยุทธ์เป็นต้นมา ทุกคนประชานิยมหมด คุณอาจบอกได้ว่า ประชานิยมกลายเป็นส่วนหนึ่งของความเป็นไทย นอกจากชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ หัวคะแนน การเลือกตั้ง ทุกวันนี้ประชานิยมกลายเป็นส่วนหนึ่งของความเป็นไทย ไม่ว่าคุณจะเปลี่ยนหน้ารัฐบาลไปกี่ชุด มันจะยังอยู่ แม้ไม่อยู่ในชื่อ 30 บาทรักษาทุกโรค ตอนนี้ไม่ต้องมีสักบาทก็รักษาได้ทุกโรคแล้ว
สาม นโยบายเศรษฐกิจแบบโลกาภิวัตน์เสรีนิยม คุณทักษิณทำไว้ในระดับหนึ่งก่อนที่จะพัง อะไรที่เป็นงานของรัฐก็ร่วมทุนกับฝรั่งทำ นี่ก็หยุดไป ด้านที่เปลี่ยนไปมาจากกระแสข้างนอก คือวิกฤติเศรษฐกิจระดับโลก มันทำให้แนวนโยบายซึ่งแต่ก่อนเราร้องว่า โลกาภิวัตน์…เยส เสรีนิยมใหม่…ทุกวันนี้ถูกตั้งคำถาม ดีจริงหรือเปล่า เพราะขนาดสหรัฐยังเศรษฐกิจล่ม เลยเป็นแนวนโยบายที่ถูกตั้งคำถามเยอะขึ้น กว้างขวางขึ้น
สี่ ทุนของกลุ่มคุณทักษิณที่โดนตัดรอน คงไม่หมด แต่อย่างน้อยๆ ก็หุ้นเทมาเส็กส์ 70,000 กว่าล้านนั่นไม่ได้ใช้ โดนริบไป 40,000 กว่าล้าน อีก 30,000 กว่าล้านยังต้องใช้ตัดสินอะไรอื่นอีก ไม่รู้จะเหลือถึงแกหรือเปล่า
ห้า การถูกโดดเดี่ยวจากอีลิท ในฐานะที่คุณทักษิณและพรรคพวกก็เป็นอีลิทไทยกลุ่มหนึ่ง แต่ตอนนี้กลับถูกโดดเดี่ยวจากอีลิทไทยโดยรวม อาจจะไม่เอาเพราะไม่ชอบ อันตราย ไม่อยากเข้าไปยุ่งด้วย แต่ตอนนี้ผมคิดว่าโดดเดี่ยวมาก โดยเฉพาะการเคลื่อนไหวของเสื้อแดง ผมรู้สึกได้ว่าอีลิทไทยมีเอกภาพในการไม่เอา รวมถึงคนชั้นกลางมองด้วยความหวาดระแวง
สุดท้าย คือการที่คุณทักษิณหันไปใช้โวหารประชาธิปไตยแบบซ้าย นี่เป็นของใหม่ที่แตกต่างไปจากเครือข่ายอำนาจคุณทักษิณแต่เดิม ซึ่งเคยพูดในเรื่องการลงทุนหรือการเลือกตั้ง แต่ตอนหลังมีคนเข้ามาช่วย อย่าง หมอเหวง โตจิราการ นึกออกไหม เริ่มไปเอาวาทกรรมฝ่ายซ้ายเมื่อพูดถึงประชาธิปไตย ตอนนี้พวกฝ่ายซ้ายขึ้นเวทีปราศรัยทั้งนั้น ร่วมต่อสู้ด้วยภารกิจเดียวกันกับนายทุนที่เคยรวยที่สุดในประเทศไทย มาฟังคุณทักษิณพูดตอนหลังแล้วตกใจ นึกว่าเสกสรรค์มาพูด
เราได้เรียนรู้อะไรบ้างจากสิ่งที่เรียกว่าระบอบทักษิณ
เอาในแง่ดีก่อน คงปฏิเสธไม่ได้ว่ารัฐบาลทักษิณทำให้เกิดความตื่นตัวเรื่องการเลือกตั้งและประชาธิปไตยอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน คงไม่ถึงที่สุด แต่ก็ในระดับหนึ่ง
คำว่า สองนคราประชาธิปไตย ของ อาจารย์เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ผมว่าสภาวะนี้เปลี่ยนไป คนชนบทไม่ได้เลือกรัฐบาลอย่างเดียว แต่ยังเดินเข้ามาล้มรัฐบาลด้วย คือพวกเสื้อแดง
นโยบายประชานิยม กองทุนหมู่บ้าน มันปลุกให้คนชนบทจำนวนหนึ่งเห็นถึงผลประโยชน์ได้เสียที่มีโดยตรงต่อรัฐบาลจากการเลือกตั้ง ฉะนั้น ถ้ามีใครคุกคามรัฐบาลจากการเลือกตั้ง จะมีคาราวานคนจนเข้ามา ดังนั้น สองนคราฯจึงไม่จริงแล้ว มันไม่ได้แยกกันแบบนั้นแล้ว
และที่บอกว่าคนเมืองเป็นฐานนโยบาย คนชนบทเป็นฐานการเลือกตั้งก็ไม่จริง คนชนบทก็เป็นฐานนโยบาย และจะมีชุดนโยบายที่แน่ชัดว่าต้องการแบบที่เอื้อประโยชน์ต่อพวกเขา ผลดีก็คือเราสามารถขยับประชาธิปไตยให้พ้นจากภาวะสองนคราประชาธิปไตยได้ในระดับหนึ่ง แล้วก็เหมือนกับมีอำนาจเคลื่อนขยับออกจากโครงสร้างอำนาจเดิม ด้านนี้ดี
ส่วนแง่ลบ ทั้งหมดนี้ทำโดยแนวโน้มที่เป็นประชาธิปไตยอำนาจนิยม คือไม่เสรีมากนัก คุณต้องไปอยู่ใต้รัฐบาลคุณทักษิณ แล้วคุณจะเข้าใจเลยว่ามันเป็นรัฐบาลที่แตะท่านไม่ได้ ถ้าแตะท่านปุ๊บ คุณโดนถล่มเลย ทั้งจากท่านโดยตรง จากเครือข่ายของท่าน หรือแม้แต่สื่อทั้งหลาย จะถูกปัดออกจากสถานีวิทยุในช่วงรายการที่จัด ตั้งคำถามกับสนามบินสุวรรณภูมิก็หลุดออกจากบางกอกโพสต์ นี่ผมว่าเป็นด้านลบซึ่งไม่ดีมาก
ด้านลบต่อเนื่องมาก็คือผลกระทบต่อเนื่องจากระบอบทักษิณมันทำให้อีลิทไทยแตกกันเละจนถึงจุดที่จะหาการรอมชอมกันไม่ได้ ผมไม่ได้ว่าการรอมชอมจะดีเสมอไป มันจะเฮงซวยก็ต่อเมื่อรอมชอมแล้วหันมากระทืบเรา แต่ในบางเงื่อนไขการรอมชอมของอีลิททำให้การปฏิรูปเกิดขึ้นได้ แต่ตอนนี้หาได้ยากมาก มีความระแวงกันสูง ยังมีอีลิทจำนวนหนึ่งไม่เชื่อว่าคุณทักษิณจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ มีอีลิทที่เชื่อจริงๆ ว่าคุณทักษิณต้องการระบอบประธานาธิบดี
กลับมาสู่การเมืองมวลชน 2 สีที่ยังไม่เข้าระบบ พอมันไม่เข้าระบบ ยังไม่กลายเป็นพรรคการเมืองมวลชนและเข้าสู่ระบบการเมืองรัฐบาลที่เปิดกว้างรับ มันก็ทำให้การเมืองขาดเสถียรภาพ เพิ่มปัจจัยความไม่แน่นอนในการเมืองไทยอย่างไม่เคยมีมาก่อน โดยเฉพาะในสายตาของนักลงทุนต่างชาติ เขาก็รู้อยู่ว่าคุณทักษิณรวบอำนาจ อำนาจนิยม แต่คุณทักษิณเป็นนายกฯที่สามารถให้คำมั่นสัญญาได้
เวลานักลงทุนจะขนเงินมาลงทุนในประเทศไทย มันต้องรู้ชัดว่าให้อะไรเขาได้ ให้อะไรไม่ได้ ถ้าเป็นคุณทักษิณจะตกปากรับคำว่า ชัวร์ป้าบ เพราะคุมไว้หมด คุณทักษิณรับปากไปก็สามารถให้เข้าแถวในสภาโหวตให้ได้ คือเครือข่ายแกกุมไว้หมด พวกนักลงทุนต่างชาติก็ชอบเพราะรับปากไปแล้วเกิดขึ้นจริง
ตั้งแต่คุณทักษิณไป มันไม่มีอะไรที่เกิดขึ้นได้ เพราะอำนาจที่แตกเป็นเสี่ยงๆ แล้วมันก็หลุดไปอยู่กับกระทรวงคนละกระทรวง หลุดไปอยู่กับอีลิทคนละกลุ่ม ใครจะเป็น ผบ.ตร. ยังไม่รู้เลย นายกฯตั้งไม่ได้ เรื่องมาบตาพุดก็คาราคาซัง สำหรับนักลงทุนต่างชาติมันไม่มีความแน่นอน หรือแม้แต่คดียึดทรัพย์คุณทักษิณตอนนี้มันมีความไม่แน่นอนขึ้นมาแล้ว
ประทานโทษ แล้วคำพิพากษาคุณทักษิณนี่เอาแน่ทุกประโยคเลยไหม ถ้าเอาแน่ ยังมีอีกหลายคนต้องโดนด้วย ถ้าคุณไปนั่งอ่านคำพิพากษา มันไม่ชัดเลยนะว่าคุณทักษิณผิดกฎหมายข้อไหน พูดได้ว่าแกฉลาดพอที่จะทำจนกระทั่งการคอรัปชั่นทางนโยบายไม่ผิดกฎหมายข้อไหนเลย แต่ถามว่าทำแล้วดูดีไหม ดูไม่ดี ทำแบบนั้นมันก็ดูเหมือนเพื่อประโยชน์ตัวเองชัดเจน
พวกนักลงทุนต่างชาติก็ว่า ถ้าคุณเอาอย่างนี้กับทักษิณ คนอื่นๆ ก็ตายสิ แล้วคุณจะเอาหรือเปล่า จะมาบอกว่า เราไม่ทำคุณหรอก เราทำทักษิณคนเดียว แล้วจะรู้ได้ยังไง ก็คุณไม่เหมือนทักษิณ ไม่ได้ผูกขาดรวบอำนาจไว้คนเดียว อ้าว แล้วเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ที่กำลังจะทำกับคุณหญิงกัลยา โสภณพณิช ล่ะ นึกออกไหมว่ามันเพิ่มปัจจัยความไม่แน่นอนขึ้นมาเยอะ
สรุปเลย ผมว่าเมื่อชั่งตรองกันแล้ว ภาวะปัจจุบันที่เรามีคงปฏิเสธยากว่าเป็นผลกระทบสืบเนื่องจากระบอบทักษิณ เพราะมันทำให้ระบอบประชาธิปไตยของเราดำรงอยู่โดยไม่มีอำนาจนำ คือไม่มีใครยอมนำ ไม่มีใครนำใครได้ มันมีกลุ่มคนในสังคมกลุ่มใหญ่พอสมควรที่ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายไหน อาทิ ถ้าพวกเพื่อไทยขึ้นเสื้อเหลืองก็ไม่ฟัง พวกมาร์คขึ้นเสื้อแดงก็ไม่ฟัง แล้วมันจะปกครองกันได้อย่างไร
เราควรทำความเข้าใจคำว่า ‘ชนชั้น’ ที่ถูกหยิบมาใช้ในชั่วโมงนี้อย่างไร
ผมคิดว่าการเปลี่ยนครั้งสำคัญในสมัยรัฐบาลทักษิณ คือความตื่นตัวในการเข้าสู่การเมืองในลักษณะของชนชั้นที่สูงขึ้น มีการพูดว่าพวกเหลืองคือชนชั้นกลางและชนชั้นสูง ที่รู้สึกว่าคุณทักษิณคุกคามผลประโยชน์ของเขา คุกคามอำนาจเขา ขณะที่คนเชียร์ทักษิณก็คือคนชั้นล่างหรือรากหญ้า ไม่เฉพาะในชนบทแต่ในเมืองด้วย อาจไม่ใช่พวกจนที่สุด แต่เป็นพวกที่กำลังจะเงยหน้าอ้าปาก แล้วขอบคุณคุณทักษิณเหลือเกินที่มีนโยบายต่างๆ ให้คว้าไว้ได้ ทำให้พวกเขาวิ่งแข่งในลู่โลกาภิวัตน์ได้ดีขึ้น ทำให้การแบ่งปีกทางการเมืองมีลักษณะของกลุ่มการต่อสู้ทางชนชั้นมากขึ้น ผมคิดว่าเราหนีไม่พ้น
ฉะนั้น จึงไม่ควรมานั่งปฏิเสธในเรื่องนี้ วิธีที่ดีที่สุดคือยอมรับความจริงและคิดว่าจะจัดการอย่างไร วิธีจัดการที่ดีคือ ทำให้กลายเป็นชนชั้นที่เป็นประชาธิปไตยเสีย คือให้เข้าสู่ระบบระเบียบการเมืองที่เป็นสถาบัน มีพรรคการเมืองของแต่ละฝ่าย เข้าสู่การเลือกตั้งในระบอบรัฐสภาและเข้าไปสู้กันเอาเอง ตัวระบอบรัฐสภา ตัวระบอบพรรคการเมืองนั้น จะช่วยทำให้ความสุดโต่งน้อยลง
อย่างพวกเหลืองนี่สุดโต่งได้เต็มที่ 70:30 ถ้ายังไม่เข้าสภาฯ แต่พอเวลาตั้งพรรคจะเข้าสภาฯแล้ว ไปบอกว่าเลือกแล้วผมจะทำให้เป็น 70:30 ดูซิจะมีใครเลือกเขาไหม มันจะได้กลุ่มที่แคบมากเลย พวกแดงก็เหมือนกัน เรียกร้องประชาธิปไตยเต็มที่ ถึงคอรัปชั่นก็ไม่เป็นไร แบบนี้ก็ได้คนแค่กลุ่มหนึ่ง
คือพอเข้าสู่การเมือง การเลือกตั้ง ตั้งพรรคเข้าสู่สภาฯ โดยตรรกะของการเมืองแบบนี้มันทำให้คุณต้องหาลูกค้า คุณต้องกว้างขึ้น คุณจะมุ่งแต่เฉพาะกลุ่มคุณไม่ได้ แล้วมันก็จะเป็นการ Moderating influence ทำให้แนวโน้มสุดโต่งค่อยๆ ลดทอนลง ค่อยๆ เบาลง คุณสังเกตดู กระทั่งพวกการเมืองใหม่ก็เบาลงกว่าสมัยก่อน เพราะรู้สึกแล้วว่าจะต้องจีบคนจำนวนมากเพื่อโหวตให้ตัว ถ้าทำแบบนี้จะได้ไม่ต้องลำบากเดือดร้อนเรื่องการเมืองท้องถนนมากเกินไป
ผมคิดว่าถ้าหาทางทำให้แดงกับเหลืองเป็นพรรคแล้วเข้าสู่วงการการเมืองแบบเปิด เราหนีการเมืองแบบชนชั้นไม่ได้ แต่ทำอย่างไรจะทำให้เกิดการต่อสู้ในระบอบประชาธิปไตยอย่างสันติ ไม่ใช่เอะอะก็ยึดทำเนียบ ปิดสนามบิน หรือเข้ามากรุงเทพฯที 7 วัน ก็เข้าใจนะครับว่าเป็นการใช้สิทธิ์ในระบอบประชาธิปไตย แต่ลองนึกภาพว่าแค่ฉี่คนละกอง วันหนึ่งน่าจะเป็นแสนกอง แล้วมีส้วมพอหรือเปล่า ผมว่าไม่เกิน 5 วัน ก็เข้าไม่ได้แล้ว นี่ยังไม่นับอึนะครับ ผมจินตนาการไม่ออกว่าถ้าพี่น้องมาชุมนุมกันสัก 7 วัน ผมจะเข้ามาทำงานที่ธรรมศาสตร์ได้อย่างไร
ความจริงถ้าเขาอยากเผด็จศึกเร็ว ผมจะแนะนำให้ ง่ายนิดเดียว แค่หาอาสาสมัครมาสักหมื่นคนแต่ต้องใจถึงหน่อย ไปล้อมทำเนียบแล้วอึกันคนละกอง แบบนี้ใครมันจะไปบริหารประเทศได้
——————————————–
หมายเหตุ: ตีพิมพ์ในนิตยสาร WAY ฉบับที่ 32 (มีนาคม 2010)