ระเบิด (คำถาม) ที่ตามมา

 

1347955770_nuclear-waste-sign

ศรีฉัตรา ไชยวงค์วิลาน

 

จากเหตุการณ์ระเบิดของเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ทั้งสามในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุคุชิมะ-ไดอิจิ ประเทศญี่ปุ่นอันเกิดจากระบบหล่อเย็นที่ขัดข้องจากแผ่นดินไหวเมื่อปี 2011 ทำให้เกิดการถกเถียงและทบทวนกันถึงอนาคตของพลังงานนิวเคลียร์ทั้งในมุมมองของการผลิตไฟฟ้า มุมมองด้านเศรษฐกิจและการลงทุน รวมถึงนโยบายพลังงานนิวเคลียร์ของแต่ละประเทศ

ตามสถิติที่ผ่านมา ระบบพลังงานนิวเคลียร์ในประเทศญี่ปุ่น (ที่มีภูมิประเทศตั้งอยู่บนวงแหวนแห่งไฟและได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวไม่มากก็น้อยตลอดทั้งปี) ได้ถูกจัดว่าเป็นตัวอย่างของระบบที่มีมาตรฐานความปลอดภัยสูงในระดับโลกมานานหลายทศวรรษ ญี่ปุ่นได้ใช้พลังงานนิวเคลียร์ (อันได้รับการกล่าวถึงว่าเป็นพลังงานสะอาด) เป็นสัดส่วนของพลังงานส่วนใหญ่ที่ใช้ผลิตไฟฟ้า และมีจุดแข็งของนโยบายการพัฒนาและสร้างองค์ความรู้ของระบบโรงงานนิวเคลียร์ตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทานนับแต่การออกแบบโรงงาน การก่อสร้าง การผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์ ระบบการปฏิบัติงาน การบำรุงรักษา และการพัฒนากำลังคน

จึงไม่แปลกที่อุบัติเหตุของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุคุชิมะ-ไดอิจิ ในครั้งนี้ได้ก่อให้เกิดคำถามต่างๆ แก่ญี่ปุ่นมากมาย อาทิ

ทำไมหน่วยงานที่รับผิดชอบของญี่ปุ่นจึงออกมาปฏิบัติการได้ช้าเมื่อเทียบกับความเสียหายที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว?

การก่อสร้างของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ได้ถูกออกแบบมาเพื่อทนต่อการเกิดแผ่นดินไหวที่ 9 ริกเตอร์ หรือมากกว่านั้นหรือไม่?

ใบอนุญาตโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ (Licensing) ได้ถูกจัดทำบนพื้นฐานข้อมูลจากการวิเคราะห์ความปลอดภัยภายใต้เหตุการณ์ที่เลวร้ายที่สุดแล้วหรือยัง?

 

แหล่งพลังงานสะอาดที่กำลังเติบโต

ความตระหนักถึงภาวะโลกร้อนได้ก่อให้เกิดกระแสความต้องการพลังงานสะอาดเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ส่งผลให้พลังงานนิวเคลียร์เป็นแหล่งพลังงานทดแทนที่เป็นที่จับตามองมากในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา โดยจะเห็นได้ว่า ในปี 2010 ทั่วโลกมีเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์มากกว่า 56 ตัวที่อยู่ระหว่างการติดตั้ง โดยเฉพาะในพื้นที่แถบเอเชียแปซิฟิก อันรวมถึงประเทศจีน อินเดีย ไต้หวัน ที่มีสัดส่วนของกำลังการผลิตจากเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์มากกว่าครึ่งหนึ่งของกำลังการผลิตทั้งหมด

ส่วนในประเทศอื่นๆ แม้กระทั่งประเทศที่ร่ำรวยทรัพยากรพลังงานในแถบตะวันออกกลาง และกลุ่มประเทศที่เติบโตอย่างรวดเร็วทั้งในเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วในทวีปอเมริกาและยุโรป ต่างมุ่งเน้นไปยังแผนการเพิ่มหรือสร้างกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์ นั่นหมายความว่าหน่วยงานยักษ์ใหญ่ในวงการนิวเคลียร์ ได้แก่  Areva, Hitachi-GE, Toshiba-Westinghouse ต่างก็เล็งเห็นถึงช่องทางธุรกิจจากปัจจัยนี้

 

ผลกระทบที่เกิดขึ้น

ถึงแม้เรายังไม่สามารถคาดการณ์ผลกระทบระยะยาวของการพัฒนาพลังงานนิวเคลียร์ได้ แต่จะมีผลกระทบฉับพลันในระยะสั้น ดังนี้

มาตรฐานความปลอดภัย (Safety Standard): โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่อยู่ในระหว่างการปฏิบัติงานทั่วโลก ไม่ว่าจะตั้งในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงจากแผ่นดินไหวหรือไม่ก็ตาม จำเป็นจะต้องได้รับการทบทวนเกี่ยวกับมาตรฐานความปลอดภัยโดยครอบคลุมถึงปัจจัยเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น ในการนี้ ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) จะเป็นหน่วยงานหลักในการทำหน้าที่จัดระบบมาตรฐานความปลอดภัยต่อไป

ต้นทุนด้านประกันภัย (Insurance Cost): ไม่ว่าในอนาคตจะมีสถานการณ์ใดๆ เกิดขึ้นกับระบบพลังงานนิวเคลียร์ก็ตาม ค่าประกันภัยอันเกี่ยวเนื่องกับพลังงานนิวเคลียร์จะยังมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้น และจะส่งผลไปยังราคาไฟฟ้าต่อไป

แผนพลังงานนิวเคลียร์ของประเทศ (Country’s Nuclear Plan): ผลกระทบต่อนโยบายการพัฒนาพลังงานนิวเคลียร์อย่างชัดเจนในบางประเทศ ยกตัวอย่างเช่น เยอรมนีได้พิจารณาระงับแผนการใช้พลังงานนิวเคลียร์ ในขณะที่ประเทศอื่นๆ ก็มีท่าทีที่พร้อมจะทบทวนต่อนโยบายพลังงานนิวเคลียร์ของตน

การรับรู้ของสาธารณะ (Public Perception): มุมมองสาธารณะต่อพลังงานนิวเคลียร์มีแนวโน้มที่จะมีภาพลักษณ์ที่แย่ลง จากความเข้าใจว่าเป็นพลังงานสะอาดที่ไม่สร้างมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อมกลับเป็นสิ่งที่อันตรายและจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อชีวิตและสุขภาพ นั่นหมายความว่ารัฐบาลทั่วโลกจะต้องเร่งสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับกระบวนการทำงานของการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์ มาตรฐานความปลอดภัย รวมไปถึงกระบวนการจัดการของเสียจากเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์

เทคโนโลยีพลังงานทดแทน (Alternate Energy Technologies): วิกฤติอุบัติภัยจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในครั้งนี้ ได้สร้างโอกาสไปยังเทคโนโลยีในพลังงานทางเลือกอื่นๆ เช่น เทคโนโลยีพลังงานน้ำ (Hydro Energy) เทคโนโลยีถ่านหินสะอาด (Clean Coal Technology) เทคโนโลยีการกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture and Storage: CCS) เทคโนโลยีการการผสมผสานระหว่าง Coal Gasification กับ Gas Fired Combined Cycle Plant เข้าด้วยกัน (IGCC: Integrated Gasification Combined Cycle) เทคโนโลยีโรงไฟฟ้าพลังงานร้อนร่วม(Combined Cycle Power Plant) เป็นต้น

ผู้เขียนและเรียบเรียงบทความชิ้นนี้ เชื่อว่าพวกเราส่วนมากในที่นี้ ต่างก็เป็นสักขีพยานมาแล้วในการกลับมาของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์นับแต่อุบัติเหตุนิวเคลียร์เกาะทรีไมล์ (Three Mile Island) ในปี 1979 และอุบัติภัยเชอร์โนบิล (Chernobyl Disaster) ในปี 1986 ดังนั้น ในระยะยาวแล้วเหตุการณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุคุชิมะ-ไดอิจิ จึงถือว่าเป็นเพียงหนึ่งในเหตุการณ์อุบัติเหตุร้ายแรงของนิวเคลียร์ที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ เพราะไม่ว่าอย่างไรก็ตาม ความต้องการพลังงานที่มีไม่จำกัดของมนุษย์จะทำให้พลังงานนิวเคลียร์กลับมามีบทบาทต่อไป และนิวเคลียร์จะไม่มีทางหายไปจากระบบพลังงานของโลกที่กำลังป่วยนี้แน่นอน

 

*อ้างอิงจากบทความ  Will the Fukushima Crisis Put a Question Mark on the Resurgence of Nuclear Power? โดย Ravi Krishnaswamy, Vice President, Energy & Power Systems Practice, Asia Pacific, Frost & Sullivan.

 

ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร Horizon ฉบับที่ 11

Author

WAY

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า