สำรวจความหมายความกตัญญูผ่านตำนานทิ้งคนแก่ในสังคมญี่ปุ่น

หากมองประเทศไทยในปัจจุบันที่กำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ​ เพราะจำนวนประชากรสูงวัยเพิ่มขึ้นอย่างมาก ในฐานะลูกหลาน เราควรจัดวางตัวเองแบบไหน พาคนเฒ่าคนแก่ไปฝากเลี้ยงในสถานเลี้ยงคนชรา​ ซึ่งครอบครัวต้องมีรายจ่าย​ หรือปล่อยพวกท่านทิ้งไว้ในบ้านเพียงลำพังกับเบี้ยยังชีพคนชราเดือนละ​ 600-1,000 บาท

อย่างไรแน่คือความหมายของสังคมทิ้งคนแก่

รศ.ดร.อรรถยา​ สุวรรณ​ระดา​ อาจารย์ประจำภาควิชาภาษาญี่ปุ่น​ คณะอักษรศาสตร์​ จุฬา​ลงกรณ์​มหาวิทยาลัย ​พาเราไปสำรวจคติความเชื่อของสังคมญี่ปุ่นโบราณผ่านตำนานพื้นบ้านเรื่องนิทานทิ้งคนแก่​ ซึ่ง​แม้เป็นเรื่องแต่ง​ แต่ใช่ว่าเรื่องแต่งนั้นจะไม่สะท้อนความจริงที่เกิดขึ้น เพราะส่วนหนึ่งมันคือความจริงที่เราอาจต้องทบทวนและสำรวจตัวเองบนความหมายของคำว่ากตัญญู

รศ.ดร.อรรถยา​ สุวรรณ​ระดา​

ต้นธาร​สี่แบบตำนานทิ้งคนแก่

“ตำนานทิ้งคนแก่ของญี่ปุ่นมีกี่แบบ กี่สาย มีจริงหรือเปล่า” อรรถยาเปิดตำนานด้วยการพาย้อนกลับต้นธารของตำนานเก่าแก่ของคนญี่ปุ่นที่เรียกว่า อุบะซุเตะ (Ubasute) โดย ‘อุบะ’ หมายถึงหญิงแก่ ‘ซุเตะ’ แปลว่าทิ้ง ซึ่งเล่ามาตั้งแต่สมัยโบราณ ถูกบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรครั้งแรกในสมัยเฮอัน ประมาณคริสต์ศตวรรษที่ 8-9 โดยปรากฏอยู่ในวรรณกรรมชุด ยะมะโตะ โมะโนะงะตะริ (Yamato Monogatari) เขียนขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ 10 สมัยเฮอัน

นักวิชาการญี่ปุ่นได้จัดแบ่งเนื้อเรื่องซึ่งแตกออกไปหลายสายนี้เป็นสี่ประเภทใหญ่ๆ ตามเนื้อหา แต่หากใช้ที่มาเป็นเกณฑ์ สายตำนานจะแบ่งได้สามกลุ่มคือจีน อินเดีย ญี่ปุ่น

แบบที่ 1 เล่าถึงเด็กหนุ่มคนหนึ่ง เป็นคนมีความกตัญญูมาก ตรงข้ามกับพ่อของเขา เมื่อพ่อของเขาเห็นว่าทำไมปู่ถึงอายุยืน อยู่แล้วเป็นภาระให้ลูกหลาน พ่อของเด็กหนุ่มจึงจะเอาปู่ของเด็กหนุ่มไปทิ้ง โดยสร้างรถลากขึ้นมา แล้วชวนเด็กหนุ่มให้เอาปู่ไปทิ้งด้วยกัน เด็กหนุ่มไม่เห็นด้วย เมื่อเอาปู่ไปทิ้ง เด็กหนุ่มเอารถที่ลากปู่คันนั้นกลับมา ทำให้ผู้เป็นพ่อนึกสงสัยและไม่พอใจ เนื่องจากคิดว่ารถคันนี้เป็นรถอัปมงคล เด็กหนุ่มตอบว่า วันนี้เขาได้เรียนรู้แล้วว่า หากพ่อแม่แก่ก็ต้องเอาพ่อไปทิ้ง เขาจึงเก็บรถนี้ไว้เผื่อวันใดที่พ่อแก่จะได้เอาพ่อไปทิ้งในป่า ผู้เป็นพ่อเกิดความกลัว จึงรีบไปนำปู่กลับมา เด็กหนุ่มคนนี้จึงได้รับการสรรเสริญว่าเป็นเด็กหนุ่มที่มีความกตัญญูและเฉลียวฉลาดที่สามารถช่วยชีวิตของปู่ตัวเองไว้ได้ ทั้งยังทำให้พ่อของตัวเองกลับใจ

“ซึ่งเราสามารถเดาได้ว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องเล่าจากประเทศจีน เนื่องจากเส้นเรื่องเน้นที่ตัวละครชายเป็นหลัก เนื่องจากประเทศจีนให้ความสำคัญกับผู้ชายมากกว่าผู้หญิง แล้วเรื่องนี้ก็เข้ามาสู่ญี่ปุ่น ก่อนที่จะนำมาเล่าสู่กันฟัง”

แบบที่ 2 พูดถึงเมืองที่มีธรรมเนียมบังคับให้ต้องทิ้งคนแก่ โดยมีเมืองหนึ่งตั้งกฎระเบียบไว้ว่า หากมีคนแก่อายุ 70 จะต้องนำไปทิ้ง หากเก็บไว้ทางการก็จะมาจับตัว เสนาบดีคนหนึ่งมีแม่แก่ชราทว่าเป็นคนกตัญญู จึงแอบซ่อนแม่ไว้ในห้องใต้ดินโดยไม่ให้ทางการรู้ จนอยู่มาวันหนึ่ง ประเทศเพื่อนบ้านที่จะเข้ามารุกรานประเทศนี้มีความกังวลว่าประเทศนี้จะมีคนเก่งหรือผู้ที่มีปัญญาหรือเปล่า จึงทำการทดสอบเชาวน์ปัญญามาโดยส่งม้าสองตัวที่มีลักษณะเหมือนกันเข้ามา เป็นม้าแม่ลูก ให้จำแนกว่าตัวไหนเป็นแม่ ตัวไหนเป็นลูก พระราชาก็ถามเหล่าขุนนาง แต่ไม่มีใครรู้ เสนาบดีผู้นี้จึงขอกลับไปบ้านเพื่อถามแม่ เนื่องจากแม่เป็นผู้ใหญ่กว่า มีภูมิปัญญา อาจจะเคยได้ยินได้ฟังเรื่องเหล่านี้มาบ้าง

แม่จึงบอกว่า ให้เอาหญ้าไปวางไว้ตรงหน้าม้าสองตัว ตัวที่เข้ามากินก่อนคือตัวลูก ส่วนตัวที่รอให้ลูกกินอิ่มก็คือตัวแม่ เสนาบดีจึงนำคำตอบนี้ไปบอกพระราชา แล้วพบว่ามีม้าตัวหนึ่งเข้ามากินหญ้าก่อนจริงๆ ก็ส่งคำตอบให้กับประเทศเพื่อนบ้านไป ประเทศเพื่อนบ้านส่งคำถามที่ 2 มาอีก โดยส่งไม้ที่เหลากลึงเสมอกันมา แล้วถามว่าส่วนไหนเป็นโคนไม้ ส่วนไหนเป็นปลายไม้ พระราชาถามเสนาบดี เสนาบดีขอกลับบ้านไปคิดอีกครั้ง จนพระราชาเริ่มเกิดความสงสัยว่าทำไมทุกครั้งเสนาบดีต้องเดินทางกลับบ้านไปคิด

ครั้งนี้แม่ของเสนาบดีบอกว่า ให้นำไปลอยน้ำ ส่วนที่จมคือส่วนโคน และส่วนที่ลอยคือส่วนปลายไม้ เมื่อตอบได้ ประเทศเพื่อนบ้านก็ส่งคำถามมาใหม่ โดยส่งช้างมาให้ชั่งน้ำหนัก เสนาบดีกลับไปถามแม่ แม่ก็บอกให้เอาช้างลงเรือ แล้วนำไปลอยในแม่น้ำ เพื่อดูว่าเรือจมลงถึงขีดไหน ทำสัญลักษณ์ในส่วนที่เรือจมแล้วนำช้างออก ก่อนจะนำก้อนหินมาใส่ในเรือให้จมลงให้ถึงขีด แล้วนำก้อนหินเหล่านั้นมาชั่งรวมกัน นั่นจึงเป็นน้ำหนักของช้าง

เมื่อตอบคำถามได้หมด ประเทศเพื่อนบ้านเห็นว่ามีผู้มีปัญญาที่สามารถตอบคำถามได้ทั้งหมด จึงเปลี่ยนจากการรุกรานมาเป็นมิตร ครั้นพระราชาจะปูนบำเหน็จให้เสนาบดี เสนาบดีกลับบอกว่าคำตอบเหล่านี้เขาไม่ได้เป็นคนคิดเอง แต่ถามแม่ที่ตนซ่อนไว้ในห้องใต้ดิน เพราะอายุ 70 ปีแล้ว ต้องถูกทางการจับไปปล่อย

“พระราชาเห็นว่าจริงๆ แล้วคนแก่ก็มีประโยชน์ต่อประเทศ จึงเลิกธรรมเนียมการทิ้งคนแก่ และเรียกคนแก่ที่เคยปล่อยเกาะกลับมาเลี้ยงดู เรื่องนี้เป็นพุทธชาดกจากอินเดีย ผ่านประเทศจีน แล้วเข้าสู่ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเนื้อเรื่องจะมีความคล้ายกับ มโหสถชาดก โดยเรื่องนี้เมื่อญี่ปุ่นนำมาเล่าก็ได้เปลี่ยนแปลงรายละเอียดต่างๆ ตั้งชื่อสถานที่ ชื่อคน ให้เป็นเรื่องของญี่ปุ่น

“ตำนานนี้ปรากฏครั้งแรกใน มะกุระโนะโซฌิ (Makura no Soshi) วรรณกรรมในสมัยเฮอันที่เล่าถึงเรื่องนี้ เป็นการเล่าถึงตำนานของเทพอะริโดฌิ ซึ่งเป็นเทพสูงอายุที่มีปัญญา และลูกที่ไม่ได้เอาพ่อแม่ไปทิ้งแต่ซ่อนไว้ จากนั้นมีเมืองข้างๆ มาทดสอบ เมื่อลูกไปถามพ่อแม่ก็ได้คำตอบมา ตาแก่ยายแก่ในเรื่องเมื่อตายแล้วก็มาเป็นเทพอะริโดฌิ วรรณกรรมเรื่องนี้จึงเป็นเหมือนกับเล่าประวัติความเป็นมาของเทพอะริโดฌิ แต่ในการเล่าก็จะมีรายละเอียดที่แตกต่างกันออกไป”

แบบที่ 3 คือการแบกขึ้นหลัง เป็นเรื่องของหญิงแก่ที่ถูกลูกสะใภ้หรือหลานสะใภ้ให้ร้าย ซึ่งจะมีความสัมพันธ์ในครอบครัวเข้ามาเกี่ยวข้อง เรื่องนี้เล่าถึงชายคนหนึ่งที่พ่อแม่เสียชีวิตตั้งแต่เด็ก จึงถูกเลี้ยงดูโดยป้าคนหนึ่ง เมื่อเติบโตขึ้น ชายคนนี้มีภรรยา ทว่าภรรยารังเกียจป้าของสามี จึงใส่ร้ายป้าให้สามีฟัง ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างป้ากับหลานเปลี่ยนไป

วันหนึ่ง ฝ่ายภรรยาจึงยุแยงให้พาป้าไปทิ้ง ซึ่งสามีก็คล้อยตาม โดยหลอกป้าว่าจะพาไปฟังเทศน์บนภูเขา หลังจากแบกป้าไปทิ้งจนกลับมาถึงบ้าน เขาเห็นพระจันทร์แล้วนึกถึงบุญคุณที่ป้าเลี้ยงดูมา วรรณกรรมเรื่องนี้เล่าว่าแสงจันทร์ได้ส่องไปถึงข้างในจิตใจ จึงรู้สึกถึงความผิดชอบชั่วดี สุดท้ายจึงไปเอาตัวป้ากลับมา เรื่องเล่านี้มีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร แต่เมื่อถูกเล่าตามท้องถิ่นของญี่ปุ่นจะมีการเปลี่ยนแปลงรายละเอียด เช่น มีเทพมาช่วยเหลือให้กลายเป็นมหาเศรษฐี แล้วลูกสะใภ้มีอันเป็นไป เป็นต้น โดยตำนานสายนี้ เป็นตำนานของเมืองฌินะโนะ (Shinano)

“นี่เป็นตำนานของญี่ปุ่น เป็นเรื่องที่ถูกเล่าในต้นศตวรรษที่ 10 สายนี้เป็นสายที่ถูกเล่าในวรรณกรรมเป็นสายแรก และมีการสรุปข้อคิดสอนใจด้วยว่า ไม่ควรเชื่อฟังคำภรรยาจนเห็นผิดเป็นชอบ ซึ่งสะท้อนปัญหาแม่สามีกับลูกสะใภ้ซึ่งมีมาทุกยุคทุกสมัย จุดเด่นของเรื่องนี้คือการนำแสงจันทร์มาสะท้อนสภาพจิตใจ กระตุ้นให้รู้สึกผิดชอบชั่วดี การนำพระจันทร์มาทำหน้าที่ต่างๆ เป็นลักษณะที่จะพบในวรรณกรรมญี่ปุ่น”

อรรถยาเสริมว่า ตำนานเรื่องนี้ถูกเล่าถึงค่อนข้างมากในวรรณกรรมหรือกลอนยุคหลังของญี่ปุ่นนับตั้งแต่สมัยเฮอันเมื่อ 1,000 ปีมาแล้ว ก็จะมีบันทึก ซะระฌินะ นิกกิ (Sarashina Nikki) ซึ่งพูดถึงตำนานทิ้งคนแก่ เพราะว่าเงียบเหงาอยู่คนเดียว ไม่มีลูกหลานมาเยี่ยมเหมือนในตำนาน

แบบที่ 4 พบในนิทานสำหรับเด็กของญี่ปุ่น เกี่ยวกับตำนานหญิงแก่หักกิ่งไม้ ซึ่งเป็นการผสมระหว่างเรื่องเล่าของอินเดียที่เจ้าเมืองไม่ชอบคนแก่ และออกกฎหมายให้เอาคนแก่ไปทิ้ง คล้ายกับเรื่องเล่าของเมืองชินาโนะ โดยมีเศรษฐีผู้หนึ่งเป็นคนกตัญญูและมีแม่แก่ชรา เขาไม่อยากให้แม่ถูกเจ้าหน้าที่นำไปปล่อยเกาะ เขาคิดว่า หากเป็นดังนั้น นำไปปล่อยเองยังดีเสียกว่า จึงหลอกแม่ว่าจะพาไปชมพระจันทร์บนภูเขา จากนั้นจึงแบกแม่ไป ระหว่างทางแม่ก็หักกิ่งไม้เอาไว้ เมื่อไปถึงปลายทาง เศรษฐีได้สารภาพความจริงกับแม่ ซึ่งแม่รู้เรื่องนี้อยู่แล้ว จึงบอกกับเศรษฐีว่า ขากลับให้เดินไปตามทางที่แม่หักกิ่งไม้ไว้จะได้ไม่หลงทาง ลูกชายได้ฟังก็ซาบซึ้งมาก เมื่อกลับมาบ้านได้เหม่อมองดูพระจันทร์ ในที่สุดเขาก็ไปพาแม่กลับมา

“โดยเรื่องเล่านิทานสำหรับเด็กจะจบลงเพียงแค่นี้ แต่หากมีต่อก็จะคล้ายเรื่องของอินเดียที่เอาแม่ซ่อนไว้ แล้วมีเมืองข้างๆ มาทดสอบปัญญา สายนี้จะเน้นในเรื่องของความเมตตากรุณาของแม่ สะท้อนความรักความผูกพันของแม่ลูกในสังคมญี่ปุ่น ซึ่งจะแตกต่างจากของจีนที่เน้นความกตัญญูของลูกที่มีต่อพ่อ การรวมเอาสองเรื่องนี้เอาไว้ก็เป็นการแสดงให้เห็นถึงคุณค่าของคนแก่ในญี่ปุ่น ทางด้านเมตตาและปัญญา”

ปัจจัยในการทิ้งคนแก่

จากสังคมญี่ปุ่นยุคโบราณที่ตำนานเรื่องแต่งได้แสดงให้เห็นถึงเรื่องเล่าเกี่ยวกับการทิ้งคนแก่โดยมีสาเหตุมาจากหลายปัจจัย ทั้งในส่วนของกฎระเบียบของเมือง ความเชื่อที่ว่าคนแก่ไร้ประโยชน์ ไปจนถึงสภาวะอดอยาก

อรรถยาบอกเล่าว่า ในสมัยกลางของญี่ปุ่น ราวคริสต์ศตวรรษที่ 12-16  ไม่มีนโยบายในการช่วยเหลือคนแก่ เนื่องจากเป็นช่วงสงคราม ข้าวยากหมากแพง รัฐจึงช่วยเหลืออะไรมากไม่ได้ มีเพียงการช่วยเหลือเป็นครั้งคราวโดยไม่ได้ออกมาเป็นกฎ ในสมัยเอโดะเองก็ไม่มีระบบช่วยเหลือคนแก่เช่นกัน

นอกจากนี้อรรถยายังกล่าวอีกว่า แม้ไม่มีบันทึกในประวัติศาสตร์ว่ามีเรื่องราวการทิ้งคนแก่ในสังคมญี่ปุ่นโบราณอยู่จริง แต่จากการที่ถูกเล่าขานมาอย่างยาวนาน และปรากฏอยู่ในวรรณกรรมเป็นลายลักษณ์อักษร ทำให้นักวิชาการส่วนหนึ่งเชื่อว่าเรื่องราวเหล่านี้น่าจะมีจริง

“เพราะบันทึกประวัติศาสตร์ขึ้นอยู่กับผู้ปกครอง เรื่องเล่านี้อาจทำให้ภาพลักษณ์ของผู้ปกครองดูไม่ดี จึงถูกลบทิ้งไป แล้วมาปรากฏในลักษณะของวรรณกรรมแทน ซึ่งเป็นที่รู้กันว่า วรรณกรรมก็เป็นหนึ่งในเครื่องมือสะท้อนสังคมของยุคนั้นๆ รวมทั้งมีชื่อของสถานที่ที่มีอยู่จริงในญี่ปุ่น ในการทิ้งคนแก่ อาจจะเชื่อว่าไม่ได้ทิ้งร่างที่มีชีวิต แต่เป็นการทิ้งศพ แล้วเชิญวิญญาณกลับมา มันจึงกลายเป็นตำนานทิ้งคนแก่ของญี่ปุ่น

“นอกจากนี้ญี่ปุ่นยังเผชิญกับสภาวะอดอยากหลายครั้ง ซึ่งมีบันทึกอยู่ในศตวรรษที่  8-19  รวมแล้วประมาณ 500 ครั้ง เช่นในปี ค.ศ. 567 มีความอดอยากมากจนถึงขั้นกินมนุษย์ด้วยกัน ภาวะอดอยากเหล่านี้ทำให้เชื่อว่าการทิ้งพ่อแม่ก็น่าจะมีอยู่ด้วย ซึ่งอาจจะเกิดในบางพื้นที่หรือบางชุมชน”

ไม่เพียงแต่ในญี่ปุ่นเท่านั้น การทอดทิ้งคนแก่ยังปรากฏนอกสังคมญี่ปุ่น เช่น ไซบีเรีย หรือแอฟริกาใต้ก็มีการทิ้งคนแก่จริงๆ และจากการสำรวจชาวเอสกิโมทางตอนเหนือของอลาสก้าในปี 1960 พบว่ามีการฆ่าทารกและธรรมเนียมการทิ้งคนแก่เช่นกัน เนื่องจากอากาศที่หนาวเย็นทำให้หาค่อนข้างลำบาก คนแก่ก็มองตัวเองเป็นภาระ การเอาคนแก่ไปทิ้งก็เหมือนเป็นการทำให้พวกเขาไม่ต้องรู้สึกผิด

 

ผู้สูงอายุในสังคมญี่ปุ่นปัจจุบัน

แม้ในปัจจุบันเทคโนโลยีทางการเกษตรก้าวหน้า ไม่ต้องพึ่งพาดินฟ้าอากาศเหมือนเช่นในอดีต จนสภาวะอดอยากหมดไป แต่ด้วยปัจจัยของสังคมเมืองที่พัฒนาเปลี่ยนแปลง คนหนุ่มสาวที่ไปทำงานในเมืองจึงทิ้งคนแก่ไว้ที่บ้าน

จากการสำรวจพบว่า คนแก่ในญี่ปุ่นมีอัตราการฆ่าตัวตายสูง สถิติบ่งบอกว่า คนแก่ที่ฆ่าตัวตายจำนวน 60 เปอร์เซ็นต์เป็นคนแก่ที่อยู่ในครอบครัวที่มีสามรุ่น แต่มีเพียง 5 เปอร์เซ็นต์จากจำนวนคนแก่ที่ฆ่าตัวตายเท่านั้นที่อยู่คนเดียว เนื่องจากเมื่อคนแก่อยู่กับลูกหลาน แล้วเห็นท่าทีของลูกหลานเปลี่ยนไป ทำให้คิดว่าตัวเองเป็นภาระ เป็นสาเหตุให้ฆ่าตัวตาย ดังนั้นคนแก่ที่อยู่กับลูกหลานอาจจะไม่ได้มีความสุขอย่างที่คนส่วนใหญ่คิด

“ในแง่หนึ่งก็น่าสนใจว่าตำนานการทิ้งคนแก่เป็นการกระตุ้นให้คนกลับมาเห็นความสำคัญของคนแก่ โดยใช้ร่วมกับปัจจัยอื่นๆ ตำนานเหล่านี้จะถูกเล่าให้ฟังกันตั้งแต่เด็ก ทำให้มันฝังอยู่ในหัวใจของพวกเขา

“คุณค่าของตำนานทิ้งคนแก่จากทั้งสี่เรื่องก็คือ จากจีนนั้นจะเน้นเรื่องความกตัญญู ส่วนเรื่องของญี่ปุ่นที่มีพระจันทร์มาเกี่ยวข้องก็จะเน้นเกี่ยวกับความรู้สึกผิดชอบชั่วดีในใจ และสะท้อนปัญหาความสัมพันธ์ในครอบครัว ส่วนเรื่องคนแก่จากอินเดียจะเป็นการแสดงให้เห็นถึงคุณค่าของคนแก่ว่าเป็นผู้มีปัญญาความรู้และมีประโยชน์ ส่วนตำนานหักกิ่งไม้ก็จะทำให้ซาบซึ้งถึงความรักความเมตตาของคนแก่ที่มีต่อลูกหลาน เรื่องตำนานเหล่านี้เอื้อให้กับคนแก่ทั้งแบบที่ยังช่วยเหลือตัวเองได้และแบบที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ทำให้เรารู้สึกผิดชอบชั่วดี ที่จะเลี้ยงดูคนแก่ ดังนั้นตำนานทิ้งคนแก่ แม้จะใช้ชื่อว่า ‘ตำนานทิ้งคนแก่’ แต่บทบาทหน้าที่ของมันก็คือเพื่อไม่ให้ทอดทิ้งคนแก่นั่นเอง”

อรรถยาทิ้งท้ายไว้อย่างน่าสนใจในบริบทร่วมกันของความเป็นสังคมตะวันออก ซึ่งยึดถือเรื่องความกตัญญูรู้คุณเป็นหลัก หากประเด็นน่าใคร่ครวญในการนำเสนอภาพคนแก่ในสังคมญี่ปุ่นปัจจุบัน คือสาเหตุการฆ่าตัวตายของคนแก่ ไม่ได้มาจากสภาวะอยู่อย่างโดดเดี่ยวของการถูกทิ้งเพียงอย่างเดียว

ตรงกันข้ามเลยทีเดียว การอยู่กับบุตรหลานที่ทำให้คนแก่มองตัวเองในฐานะที่กลายเป็นอื่นไปแล้วต่างหาก คือสาเหตุแท้จริงของการถูกทิ้ง

Author

นิธิ นิธิวีรกุล
เส้นทางงานเขียนสวนทางกับขนบทั่วไป ผลิตงานวรรณกรรมตั้งแต่เรียนชั้นมัธยม มีผลงานรวมเรื่องสั้นและนวนิยายหลายเล่ม ก่อนพาตนเองข้ามพรมแดนมาสู่งานจับประเด็น เรียบเรียง รายงานสถานการณ์ทางความรู้และข้อเท็จจริงในสนามออนไลน์ เป็นหนึ่งในกองบรรณาธิการที่สาธิตให้เห็นว่า ข้ออ้างรออารมณ์ในการทำงานเป็นสิ่งงมงาย

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า