หลังจาก ฟิลลิป มอร์ริส (ไทยแลนด์) ลิมิเต็ด ยื่นฟ้องกระทรวงสาธารณสุขเพื่อให้เพิกถอนประกาศกระทรวงสาธารณสุขเรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการแสดงรูปภาพ ข้อความคำเตือนเกี่ยวกับพิษภัยและช่องทางติดต่อเพื่อการเลิกยาสูบในฉลากของซองบุหรี่ซิกาแรต พ.ศ. 2556 เพราะเป็นการออกประกาศที่เกินกว่าที่กฎหมายให้อำนาจ ทั้งยังเป็นการลิดรอนสิทธิในการใช้เครื่องหมายการค้า เป็นเหตุให้บริษัทซึ่งเป็นผู้นำเข้าและจำหน่ายบุหรี่ได้รับความเสียหาย
โดยเนื้อหาหลักๆ ของประกาศกระทรวงฉบับดังกล่าว จะมีการเพิ่มพื้นที่แจ้งเตือนอันตรายจากการสูบบุหรี่ จากเดิมร้อยละ 55 เป็นร้อยละ 85 และจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 2 ตุลาคมนี้ ซึ่งถ้าไทยทำสำเร็จจะกลายเป็นประเทศที่มีสัดส่วนคำเตือนบนซองบุหรี่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากออสเตรเลีย ที่มีสัดส่วนคำเตือนทั้งหน้า-หลังซองรวมกันร้อยละ 87
เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2556 ศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งให้ทุเลาการบังคับตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับดังกล่าวไว้เป็นการชั่วคราว ขณะที่ นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขอยู่ระหว่างรอคำสั่งศาลปกครองสูงสุด หลังจากที่ได้ยื่นอุทธรณ์กรณีฟิลลิป มอร์ริส (ไทยแลนด์) ลิมิเต็ด ไปเมื่อ 11 กันยายน ที่ผ่านมา
+ กฎหมายการค้า VS สุขภาพ
ปัญหาที่เกิดขึ้นในเมืองไทย คล้ายๆ จะเป็นประวัติศาสตร์ที่เกิดซ้ำรอยมาแล้วทั้งในออสเตรเลีย อุรุกวัย และแม้แต่ศรีลังกา
ฟิลลิป มอร์ริส เคยออกโรงฟ้องกระทรวงสาธารณสุข อุรุกวัย และออสเตรเลีย ที่ออกกฎหมายต้านการสูบบุหรี่ ด้วยการบังคับติดฉลากขนาดใหญ่เกินจำเป็นบนซองบุหรี่ ถือเป็นการกีดกันไม่ให้บริษัทแสดงเครื่องหมายการค้าได้อย่างมีประสิทธิผลก่อให้เกิดการสูญเสียส่วนแบ่งการตลาดอย่างมาก
ในปี 2010 อุรุกวัยกลายเป็นประเทศที่มีคำเตือนบนซองบุหรี่ใหญ่ที่สุดในโลก คือกินเนื้อที่ร้อยละ 80 ของซองทั้งด้านหน้าและหลัง
ปัจจุบัน ซองบุหรี่ที่ปรากฏคำเตือนและกราฟิกกินเนื้อที่บนซองมากที่สุดในโลก อยู่ที่ออสเตรเลีย ด้วยเนื้อที่ทั้งด้านหน้าและด้านหลังรวมกันเฉลี่ยถึงร้อยละ 87 พื้นที่ที่เหลือ ถูกกำหนดให้ใช้สีพื้นเป็นสีเขียวมะกอกเหมือนกันทุกยี่ห้อ ห้ามแสดงเครื่องหมายการค้า ขณะที่ขนาดและรูปทรงตัวอักษรแต่ละยี่ห้อก็ถูกจำกัด ทั้งนี้ เมื่อมองเผินๆ จะไม่ทราบเลยว่าบุหรี่ดังกล่าวมียี่ห้อใด
สิ่งหนึ่งที่อาจทำให้ประเด็นสุขภาพประชาชนไม่ได้รับการใส่ใจเท่าที่ควร ก็เพราะเม็ดเงินที่ไหลเวียนในธุรกิจผลิตและนำเข้ายาสูบอยู่ในหลักพันล้านบาทเป็นอย่างต่ำ กระบวนการระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐและเอกชนโดยใช้อนุญาโตตุลาการ (Investor-state Dispute Settlement: ISDS) จึงกระโดดออกมาปกป้องนักลงทุนว่าจะได้รับการคุ้มครองและความเป็นธรรมด้วยเช่นเดียวกัน
เพราะเปิดโอกาสให้นักลงทุนต่างชาติสามารถฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายหรือกระทั่งคว่ำนโยบายสาธารณะของประเทศนั้นๆ ได้ หากไปขัดขวางการดำเนินธุรกิจและหนทางทำกำไรของเอกชนเข้า ความเชื่อมั่นของนักลงทุนในประเทศจึงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สวนทางกับประสิทธิภาพการดูแลประชาชน หรือแม้แต่การบังคับใช้กฎหมายภายในประเทศที่ถูกมองว่าเป็นการกีดกันทางการค้าอย่างร้ายแรง
+ เหตุเกิดในสหภาพยุโรป
สมาชิกสภาแห่งสหภาพยุโรปจัดการพิจารณาร่างนโยบายควบคุมยาสูบสหภาพยุโรปฉบับใหม่ (Tobacco Products Directive) แทนฉบับเดิมที่ใช้มาตั้งแต่ปี 2001 เนื่องจากแผนการตลาดของบริษัทยาสูบมีการปรับรูปแบบอยู่ตลอดเวลา รวมทั้งแต่ละประเทศต่างนำแนวทางปฏิบัติในการควบคุมยาสูบภายใต้อนุสัญญาควบคุมยาสูบองค์การอนามัยโลกเข้ามาบรรจุในร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวด้วย อาทิ การพิมพ์ภาพคำเตือนขนาดใหญ่ การกำหนดให้ออกแบบซองบุหรี่แบบเรียบ ห้ามจำหน่ายบุหรี่มวนเล็ก หรือบุหรี่ที่เติมสารอื่นๆ เพื่อส่งเสริมการเสพ ได้แก่ เมนทอล หรือกลิ่นผลไม้
ที่ผ่านมา บริษัทผลิตและนำเข้ายาสูบต้องการให้ชะลอการลงมติกฎหมายฉบับนี้ ทำให้ร่างกฎหมายใหม่ซึ่งได้รับการเห็นชอบจากคณะกรรมาธิการตั้งแต่ 26 มิถุนายนที่ผ่านมา ต้องเลื่อนกำหนดการลงมติจากเดือนกันยายนออกไปก่อน
นอกจากนั้น มีการเปิดเผยว่า บริษัทผลิตและนำเข้ายาสูบยักษ์ใหญ่อย่างฟิลลิป มอร์ริส ว่าจ้างล็อบบี้ยิสต์ 161 คน ในการต่อต้านร่างนโยบายฉบับดังกล่าวกับสมาชิกสภาของสหภาพยุโรป จำนวน 233 คน ซึ่งถือเป็นร้อยละ 31 ของสมาชิกสภาแห่งสหภาพยุโรปทั้งหมดที่ทำการพิจารณาร่างนโยบายควบคุมยาสูบสหภาพยุโรปฉบับใหม่
+ คำเตือนที่ได้ผล
วารสารเวชศาสตร์ป้องกันในสหรัฐ ตีพิมพ์ผลทดสอบด้านการรับรู้คำเตือนบนซองบุหรี่ ในอาสาสมัครผู้สูบบุหรี่ 200 ราย โดยอาศัยเทคโนโลยีจับการเคลื่อนไหวลูกตาขณะผู้ทดสอบอ่านข้อความบนซองบุหรี่ จากนั้นจึงให้พวกเขาเขียนคำเตือนที่พอจำได้กลับมาเพื่อสรุปผล พบว่า ร้อยละ 83 สามารถจดจำคำเตือนดังกล่าวบนซองบุหรี่ได้ หากบนซองใช้กราฟิกเน้นคำเตือนด้วยอักษรตัวโตๆ มากกว่าภาพผลจากการสูบ
ดร.แอนดรูว์ สตราสเซอร์ ศาสตราจารย์ประจำคณะจิตเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเพนน์ซิลเวเนีย หัวหน้าทีมวิจัย เห็นว่าเมื่อกราฟิกและคำเตือนบนซองในปัจจุบันได้ผลดีขึ้น ต่อไปก็มีแนวโน้มจะพัฒนาให้ดีขึ้นได้
ข้อมูลจากมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ระบุสถิติประชาชนทั่วโลกเสียชีวิตจากยาสูบปีละ 6 ล้านคน หรือเฉลี่ยวันละ 16,438 คน ขณะที่คนไทยเสียชีวิตจากบุหรี่ปีละ 50,700 คน
ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ให้ข้อมูลผลกำไรสุทธิของบริษัท ฟิลลิป มอร์ริส ในปี 2012 อยู่ที่ 264,000 ล้านบาท งบทำกิจกรรมเพื่อสังคมของบริษัทอยู่ที่ 1,143 ล้านบาท หรือร้อยละ 0.4 ของกำไร ส่วนโรงงานยาสูบไทย มีกำไรสุทธิในปีเดียวกัน 6,800 ล้านบาท รายงานงบกิจกรรมเพื่อสังคม 427 ล้านบาท หรือร้อยละ 6.2 ของกำไรสุทธิ
+ สถานการณ์เมืองไทย
เมื่อ 16 กันยายน ที่ผ่านมา พญ.มากาเร็ต ชาน ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) ส่งจดหมายถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขไทย โดยแสดงความสนับสนุนการดำเนินงานของกระทรวงสาธารณสุขไทยอย่างเต็มที่
มากาเร็ตกล่าวว่า กฎหมายฉบับดังกล่าวสอดคล้องกับหลักการขององค์การอนามัยโลกที่มีวัตถุประสงค์เพื่อปกป้องและคุ้มครองสุขภาพผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ กรณีการเพิ่มขนาดกราฟิกและคำเตือนให้ใหญ่ขึ้นเป็นที่ยอมรับในทางวิชาการแล้วว่าช่วยลดจำนวนผู้สูบบุหรี่ลงได้
ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลกได้เตรียมหลักฐานด้านสุขภาพ เพื่อสนับสนุนการดำเนินการควบคุมการบริโภคยาสูบของประเทศไทย และสนับสนุนการออกกฎหมายในประเทศสมาชิกเพื่อปกป้องสุขภาพของประชาชนเป็นสำคัญ
ขณะรอผลคำสั่งศาลปกครองสูงสุดว่าจะออกมาทันกำหนดบังคับใช้ในวันที่ 2 ตุลาคมนี้หรือไม่ อย่างไรก็ดี นอกจากกรณีขยายพื้นที่คำเตือนบนซองบุหรี่แล้ว รัฐบาลไทยยังคงเดินหน้าในเรื่องการควบคุมการบริโภคยาสูบด้วยมาตรการอื่นๆ ควบคู่กันไปด้วย ขณะที่ประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับนี้ไม่ได้ห้ามการใส่เครื่องหมายการค้าหรือปิดกั้นการดำเนินธุรกิจ ซึ่งการออกประกาศของกระทรวงสาธารณสุข คำนึงถึงประโยชน์และสุขภาพของประชาชนเป็นอันดับแรก และได้รับการสนับสนุนจากเอ็นจีโอทั้งไทยและต่างประเทศที่เห็นประโยชน์ของการออกประกาศฉบับนี้