สมรภูมิครั้งใหม่ที่วูนเด็ดนี

เหตุการณ์สังหารหมู่ที่วูนเด็ดนี ปี 1890

แปลและเรียบเรียง: ณัฐกานต์ อมาตยกุล

 

 

สำหรับอินเดียนหรือชนพื้นเมืองอเมริกัน ม้าถือเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์และเป็นเหมือนเพื่อนยากของพวกเขา เมื่อมีแผนสร้างโรงฆ่าม้าบริเวณเขตสงวนของชนพื้นเมืองในไพน์ริดจ์ รัฐเซาธ์ดาโกตา จึงกลายเป็นประเด็นถกเถียงในวงกว้าง แต่สิ่งที่สร้างความไม่สบายใจกว่านั้น คือ การประกาศขายที่ดินบริเวณ ‘วูนเด็ดนี’ สถานที่สังหารหมู่ชนพื้นเมืองในปี 1890 ซึ่งฝ่ายชาวอินเดียนถูกกองทหารอเมริกันสังหารไปอย่างน้อย 150 คน

 

เจมส์ ชิพชินสกี ตั้งราคาที่ดิน 40 เอเคอร์ (ราว 100 ไร่) ในไพน์ริดจ์สูงถึง 3.9 ล้านดอลลาร์ แต่หลังจากที่สภาชนเผ่าได้ปรึกษาหารือกัน พวกเขายินดีจ่ายไม่เกิน 12,000 ดอลลาร์ ที่ดินดังกล่าวจึงถูกประกาศขายต่อให้กับผู้คนทั้งในสหรัฐและทั่วโลก โดยสุดท้ายอาจไปสิ้นสุดที่การประมูล

 

นอกจากประเด็นที่ดิน ยังมีโครงการก่อสร้างท่อส่งน้ำมันคีย์สโตน จากแคนาดาลงมายังสหรัฐ ที่นอกจากจะต้องตัดผ่าพื้นที่สงวนของชนพื้นเมือง ยังส่งผลกระทบโดยตรงต่อสิ่งแวดล้อม และการดำรงชีวิตของชนพื้นเมืองอย่างเลี่ยงไม่ได้

 

ทั้งสามประเด็น สะท้อนให้เห็นความขัดแย้ง ทั้งระหว่างชนเผ่าซูกับโลกภายนอก และระหว่างสมาชิกเผ่าด้วยกันเอง ซึ่งมีทั้งคนสนับสนุนการพัฒนาและผู้ที่ต่อต้านอย่างแข็งขัน

 

เขตสงวนอินเดียนขนาดใหญ่ เช่นของชาวเผ่าเชโรกีและเผ่านาวาโฮได้กลายสภาพไปเป็นแหล่งท่องเที่ยว มีนักท่องเที่ยวมาเยือน 45,000-60,000 คนต่อปี ขณะที่ไพน์ริดจ์ ชาวพื้นเมืองยังทัดทานไม่เปิดรับการท่องเที่ยว เป็นเหตุให้ชุมชนดังกล่าวมีรายได้น้อย อัตราการว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 80 อัตราเด็กเสียชีวิตแต่แรกเกิดคิดเป็น 3 เท่าของค่าเฉลี่ยทั่วประเทศ

 

อินเดียนบางคนเห็นว่าชนเผ่าต้องการการพัฒนาทางเศรษฐกิจ พวกเขาไม่สามารถปฏิเสธทุกสิ่งทุกอย่างได้ การอนุญาตให้มีโรงฆ่าม้ามูลค่า 25 ล้านดอลลาร์ในพื้นที่ ช่วยเพิ่มการจ้างงานขึ้นนับร้อยตำแหน่ง ขณะที่ฝ่ายต่อต้านมองว่าเป็นประเด็นอ่อนไหวอย่างมาก เนื่องจากม้ามีบทบาทสำคัญในการทำสงครามระหว่างชนเผ่าซูกับกองทหารในอดีต

 

วูนเด็ดนี

ในประเด็นที่ดินเขตสงวน สภาชนเผ่าปฏิเสธราคาที่ชิพชินสกีเสนอ เพราะมองว่าแท้จริงแล้วพื้นที่นี้เป็นของพวกเขาแต่ดั้งเดิม และหากผู้ใดตัดสินใจซื้อก็จะต้องพบปัญหาตามมา เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ตาบอด หากจะพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ต้องได้รับอนุญาต ทั้งยังเสี่ยงต่อการถูกต่อต้านจากชนพื้นเมือง การพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง เพราะลูกหลานชาวซูยังมองว่าสถานที่นี้คือจุดเกิดเหตุการณ์สังหารหมู่ในประวัติศาสตร์

 

ฝ่ายชิพชินสกีอ้างกรรมสิทธิ์เหนือที่ดินที่ครอบครัวเขาสืบทอดมาตั้งแต่ปี 1968 และมองว่าปัญหาเกิดจากความยึดติดของชนเผ่าที่ไม่คุ้นชินกับสิทธิครอบครองที่ดินที่อาจมีได้โดยบุคคลภายนอก เจ้าของที่ทิ้งท้ายว่าชาวอินเดียนหวังจะให้เขามอบที่ดินให้ฟรีๆ นั่นเพราะพวกนั้นยังอยู่ในดินแดนเพ้อฝัน ชิพชินสกีเคยเป็นเจ้าของสถานีค้าและพิพิธภัณฑ์ที่วูนเด็ดนีซึ่งถูกเผาทำลายไปในการปะทะกันเมื่อปี 1973

 

อย่างไรก็ตาม สมาชิกเผ่าบางคนมีความเห็นต่างออกไป และมองว่าสมควรสร้างพิพิธภัณฑ์ให้นักท่องเที่ยวเข้ามาศึกษา เปิดโอกาสให้ชนเผ่าขายสินค้าท้องถิ่นเพื่อหารายได้ และมีโอกาสเผยแพร่เรื่องราวให้กับผู้มาเยือนรับรู้มากกว่าการปิดกั้น

 

 

ที่มา: whitewolfpack.com

Author

อภิรดา มีเดช
อดีตภูมิสถาปนิกที่สนิทสนมกับตัวหนังสือมากกว่าต้นไม้ สารพัดขนแมวที่ติดอยู่บนเสื้อสีดำเป็นเครื่องหมายแสดงความจิตใจดี เป็นเครื่องประดับแสดงความเป็นทาสแมว สนใจด้านสิ่งแวดล้อม การศึกษา ประวัติศาสตร์ การเมือง รวมถึงการวิพากษ์สังคมและบุคคลอย่างตรงไปตรงมา
(กองบรรณาธิการ WAY ถึงปี 2559)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า