สังคมล้มเหลว

people72

เรื่อง: ประภาส ปิ่นตบแต่ง

 

เมื่อวันที่ 21 มีนาคมที่ผ่านมา ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยให้การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 เป็นโมฆะไปเรียบเรียบร้อยแล้ว คุณทักษิณและตัวแทนฝั่งพรรคเพื่อไทยก็ไม่ได้แสดงอาการแปลกใจอะไร จะเห็นแต่กลุ่มนิติราษฎร์และสมัชชาปกป้องประชาธิปไตย (สปป.) เท่านั้นกระมังที่แสดงการคัดค้านคำวินิจฉัยดังกล่าว

นอกจากเหตุการณ์ดังกล่าว องค์กรอิสระและศาลได้แสดงบทบาทในสถานการณ์ทางการเมืองอย่างเข้มข้นตลอดมา นับตั้งแต่ศาลแพ่งได้มีคำสั่งคุ้มครองการชุมนุมของ กปปส. ด้วยมาตรการห้าม ศรส. (ศูนย์รักษาความสงบ) ดำเนินการ 9 ประการต่อผู้ชุมนุม จนทำให้ดูราวกับว่า การดำเนินการใดๆ ทั้งหมดของ กปปส. ได้รับการคุ้มครอง

บทบาทของ ป.ป.ช. ในการฟันนายกรัฐมนตรีกรณีโครงการรับจำนำข้าว กรณี ป.ป.ช. ชี้มูลปฏิบัติหน้าที่ไม่ชอบ จงใจใช้อำนาจขัดรัฐธรรมนูญ ปมแก้รัฐธรรมนูญที่มา ส.ว. สั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ทันที ฯลฯ เหล่านี้สามารถกล่าวกันได้ว่า องค์กรอิสระกลายเป็นตัวแสดงทางการเมืองที่เปิดเผย และเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับ กปปส.

ไม่น่าแปลกที่ทั้งแกนนำและผู้ชุมนุม กปปส. ล้วนแสดงอาการยินดีปรีดาอย่างออกนอกหน้า “พี่น้องครับ เราใกล้ชนะแล้ว” เมื่อมีคำวินิจฉัยต่างๆ ออกมาทุกครั้ง

องค์กรอิสระและศาลก้าวเข้ามาสู่พรมแดนทางการเมือง หลังการปฏิรูปการเมือง 2540 ถ้าย้อนไปดูเจตนารมณ์ของสังคมในขณะนั้นก็คือ การพยายามสร้างสถาบันทางสังคมเพื่อให้มาช่วยตรวจสอบและกำกับการใช้อำนาจรัฐที่สืบเนื่องมาจากนักเลือกตั้งมักใช้อำนาจรัฐที่ฉ้อฉล การทุจริตคอรัปชั่น

การทำหน้าที่และบทบาทขององค์กรอิสระในการตรวจกำกับการใช้อำนาจรัฐไม่ได้เป็นเรื่องผิดปกติ แต่สิ่งที่ควรจะถกเถียงกันคือ องค์กรเหล่านี้ควรมีหลักการและเส้นแบ่งอะไรบ้างในการแสดงบทบาท

เส้นแบ่งและเกณฑ์ขั้นพื้นฐานสำคัญเรื่องหนึ่งคือ การทำตามกฎเกณฑ์ กติกาที่สร้างและยอมรับกัน และพื้นฐานที่สุดก็คือ ประชาธิปไตยต้องมีหลักนิติรัฐ การปกครองด้วยกฎหมาย เพื่อไม่ให้ผู้มีอำนาจสามารถใช้อำนาจตามอำเภอใจ ต้องอยู่ภายใต้กฎกติกาที่ยอมรับร่วมกัน ซึ่งในรูปธรรมก็คือ การยึดบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญอย่างเคร่งครัด แต่บทบาทที่ผ่านมา องค์กรเหล่านี้แสดงอาการล่อแหลมเป็นอย่างมาก

ดังกรณีการแสดงความเห็นว่า ประเทศไทยยังไม่มีความพร้อมในการดำเนินนโยบายโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม 2.2 ล้านล้านบาท ซึ่งในแง่เนื้อหาของนโยบายก็มีเรื่องที่ควรจะคัดค้านอยู่มากมาย แต่หน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญต้องอยู่ในกรอบว่า โครงการดังกล่าวนี้ดำเนินการเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือไม่

ไม่ใช่ออกมาแสดงท่าทีแบบสั่งสอนรัฐบาลเหมือนเราอยู่ในระบอบพ่อปกครองลูก ทำตนเป็นคนดี รู้ดี ว่าสังคมนี้ควรจะไปในทิศทางใด ควรจะทำอะไร องค์กรอิสระจึงยังมีท่าทีแสดงบทบาทด้วยวิธีคิดที่เหมือนอาการเมาค้างว่า สังคมเรายังอยู่ในอำนาจแบบขนบประเพณี

ความล้มเหลวที่เกิดขึ้นในสังคมไทย ณ ขณะนี้จึงไม่ใช่แค่รัฐบาลล้มเหลวเนื่องด้วยปฏิบัติหน้าที่อะไรไม่ได้ เข้าทำเนียบไม่ได้ ฯลฯ แต่สถาบันทางสังคมต่างๆ กำลังกลายเป็นศาลพระภูมิที่คนกราบไหว้บ้าง ไม่กราบไหว้บ้าง

ภาพขององค์กรอิสระที่กลุ่ม กปปส. เห็นว่าเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิวัตินกหวีด แต่ในสายตาของคนอีกจำนวนมากเช่นกัน สถาบันดังกล่าวนี้กำลังจำกลายเป็นซากปรักหักพังเหมือนหินหักที่อยู่โคนต้นโพธิ์ เพราะกรรมการผู้รักษากติกากลับแสดงอาการให้ผู้คนเห็นว่าเอนเอียง เข้าข้าง มีเจตนารมณ์ หรือตั้ง ‘ธง’ ที่มากกว่าเส้นแบ่งและเกณฑ์

การขยายเส้นแบ่งและเกณฑ์การวินิจฉัยให้กว้างออกไปโดยอ้างคุณธรรม ความดี ความเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ ความเชื่อมโยงกับสถาบันที่มีความดีงามในเชิงอุดมคติ ฐานคิดเช่นนี้กับจะยิ่งทำให้เกิดความล้มเหลวในสังคมขยายกว้างออกไปอีก

แต่ในสถานการณ์ทางการเมืองเช่นนี้ เรากลับเห็นการดำเนินการในทางตรงกันข้าม กล่าวคือ เมื่อมีการวินิจฉัยให้เลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมาเป็นโมฆะ องค์กรอิสระและ กปปส. กลับเดินหน้าแหกกติกากันต่อไป ดังการประกาศชัดเจนว่า จะขัดขวางการเลือกตั้งครั้งใหม่ที่จะมีขึ้นอีก

กปปส. และนักวิชาการในสังกัดยังแสดงอาการกระเหี้ยนกระหือรือที่จะดันให้เกิดรัฐบาลนอกกติกา ซึ่งจะยิ่งสร้างปัญหาการตีความมาตรา 3 และ 7 รวมทั้งความพยายามที่จะขยายอำนาจของวุฒิสมาชิกเพื่อให้ทำหน้าที่แทน ส.ส. เพื่อเสนอนายกฯ ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ฯลฯ

พรรคประชาธิปัตย์และคุณอภิสิทธิ์ ก็มีความเป็นไปได้สูงที่จะเดินตามเป็นลูกกระเป๋งของคุณสุเทพและ กปปส. ต่อไป กล่าวคือ ต่อสู้ทางการเมืองด้วยยุทธวิธี ‘ขอปฏิรูปให้มั่นใจว่าตนเองชนะเลือกตั้งเสียก่อนแล้วจึงจะลงเลือกตั้ง’

มองในแง่นี้ ประชาธิปัตย์ก็ได้ช่วยให้สถาบันพรรคการเมืองหรือการเมืองเชิงสถาบัน และกระบวนการเลือกตั้งล้มเหลวไปอีกสถาบันหนึ่ง และคงจะไม่เกินเลยว่า มี กกต. ช่วยทำให้ความล้มเหลวในกระบวนการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาเกิดขึ้นได้อย่างเป็นจริงอีกด้วย

ในแง่กระบวนการทางการเมือง ยุทธวิธีการเคลื่อนไหวของ กปปส. ก็เป็นเพียงการสืบทอดวัฒนธรรมการเคลื่อนไหวของพันธมิตรฯ กล่าวคือ อารยะขัดขืนหรือสันติวิธี กลายเป็นเพียงโวหารที่พร้อมจะยกระดับด้วยวิธีการอะไรก็ได้เพื่อการบรรลุจุดหมาย แม้แต่การกลายพันธุ์เป็นกองกำลังซ่อนอาวุธดังที่ปรากฏให้เห็นอยู่บ่อยๆ

เรื่องดังกล่าวนี้มีการพูดในเชิงเปรียบเทียบกันไว้แล้วว่า เหมือนวิธีการเผาบ้านจับหนู แม้จะจัดการกับสิ่งเลวร้ายที่อ้างถึงกัน แต่สุดท้ายแล้วจะทิ้งมรดกความเลวร้ายคือ ความไม่ยอมรับต่อสถาบันหลักๆ

กล่าวโดยสรุป สังคมไทยก้าวมาสู่ความล้มเหลวทั้งมิติด้านสถาบันทางการเมืองและสังคม และกระบวนการทางการเมือง ทั้งในระบบปกติและการเมืองแบบขบวนการเคลื่อนไหว เมื่อเป็นเช่นนี้ เส้นทางการเมืองในช่วงเทศกาลสงกรานต์ จึงจะเป็นเพียงการเคลื่อนสถานการณ์ไปสู่สังคมล้มเหลวที่สมบูรณ์เท่านั้น

ซึ่งสังคมเช่นนี้เดินต่อไปในระยะยาวไม่ได้หรอก

 

****************

ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร WAY 72 ฉบับเดือนเมษายน 2557

 

 

Author

อภิรดา มีเดช
อดีตภูมิสถาปนิกที่สนิทสนมกับตัวหนังสือมากกว่าต้นไม้ สารพัดขนแมวที่ติดอยู่บนเสื้อสีดำเป็นเครื่องหมายแสดงความจิตใจดี เป็นเครื่องประดับแสดงความเป็นทาสแมว สนใจด้านสิ่งแวดล้อม การศึกษา ประวัติศาสตร์ การเมือง รวมถึงการวิพากษ์สังคมและบุคคลอย่างตรงไปตรงมา
(กองบรรณาธิการ WAY ถึงปี 2559)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า