เรื่องและภาพ นทีธร ทิพย์สุมาลัย
เพราะหนังสือที่ไม่ได้ถูกอ่าน ก็เหมือนกับคนที่ตายไปแล้ว การอ่านจึงเป็นหนทางเดียวในการคืนชีวิตให้หนังสือ – ข้อความทำนองนี้ปรากฏในบทความ ห้องสมุด: โลกที่ไร้เสียง ของ ธเนศ วงศ์ยานนาวา ทำให้เรานึกถึงเทศกาลซีไรต์ที่ใกล้จะเผยว่า หนังสือเล่มไหนที่ ‘ใช่’ ในสายตาคณะกรรมการปีนี้
ในวาระที่การประกาศรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน หรือ ‘รางวัลซีไรต์’ ประเทศไทย ประจำปี 2558 ใกล้เข้ามาทุกที เราจึงอยากร่วมเป็นส่วนหนึ่งของกระแสและสร้างบรรยากาศการอ่าน ด้วยการชวนนักวิชาการด้านวรรณกรรมและอาจารย์ประจำภาควิชาภาษาไทย มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร – อาทิตย์ ศรีจันทร์ มาคัดเลือกงานวรรณกรรมไทยที่น่าสนใจ
เบื้องต้นเราขอให้เขาเลือกวรรณกรรมไทย 5 เล่ม โดยมีข้อตกลงร่วมกันว่า หนังสือที่เลือก ควรเป็นหนังสือเล่มที่ ‘ไม่ได้ไปต่อ’ ในรอบการประกวดซีไรต์หนนี้ แต่เขาขอต่อรองว่า อยากพูดถึงวรรณกรรมไทยที่เขาอยากให้ ‘ถูกอ่าน’ โดยไม่จำกัดว่าเป็นนวนิยาย รวมเรื่องสั้น หรือบทกวี
แน่นอน – เราซื้อไอเดียนี้ของเขา
เรานัดกันที่ร้านกาแฟเวโลโดม เขาคือนักวิจารณ์ที่ดุดันตามสีผิว ไว้หนวดเคราจนดูเหมือนไม่ใช่อาจารย์สอนภาษาไทย เขาเดินเข้ามาภายในร้าน และสั่งเอสเพรสโซ
คราส
คราส โดย อติภพ ภัทรเดชไพศาล
“วรรณกรรมในปัจจุบันแม่งมีความพยายามเหลือเกินที่จะพูดเรื่องสังคมการเมือง ปัญหาก็คือวิธีการเล่าและการรักษาธีมของเรื่องไว้” อาทิตย์เริ่มที่ คราส ของ อติภพ ภัทรเดชไพศาล
“ด้วยการที่เขาเป็นนักดนตรี งานของเขาจึงมีเสียงเข้ามาประกอบ เพลงถูกนำมาใช้ในงานเขียนเล่มนี้ ผมได้อ่านงานก่อนหน้านี้ของอติภพ ไม่ว่าจะ เลือน, ประวัติศาสตร์ของความเงียบ ผมเห็นพัฒนาการบางอย่าง มันมีความซับซ้อนและน่าสนใจจนถึงเรื่องคราส ผมว่ามันเป็นป๊อป มันอ่านง่ายกว่าเรื่องก่อนๆ ของเขาเยอะเลย”
อาทิตย์อยากให้ คราส เข้ารอบซีไรต์เหมือนกัน แต่กลับไม่ได้เข้าไป
“งานโดยรวมของอติภพไม่ถูกจริตของซีไรต์ การจะเข้ารอบซีไรต์จะต้องเป็นหนังสือป๊อป แต่ในขณะเดียวกันคุณจะเห็นว่างานอย่าง คนแคระ ของวิภาส ศรีทอง ที่ได้ซีไรต์ ก็ไม่ได้ป๊อปเลยนะ ดาร์กมาก อ่านยาก ซึ่งตรงนั้นคงเป็นเรื่องของกรรมการแล้วล่ะว่าหยิบเล่มนี้ขึ้นมาด้วยเหตุผลใด มันน่าสนใจตรงที่ว่า คราส น่าจะเข้ารอบอย่างน้อยก็ long list แต่ผมไม่คิดว่าเขาจะเขียนเพื่อเข้าซีไรต์ ถ้าเขาจะเขียนอย่างนั้นก็คงต้องเขียนอีกแบบหนึ่ง”
สมิงพระราหู
สมิงพระราหู โดย อุรุดา โควินท์
ถ้าพูดถึงนักเขียนหญิงในเมืองไทยที่มีงานเขียนอย่างสม่ำเสมอ และที่สำคัญ งานทุกชิ้นมีคุณภาพ อาทิตย์พูดถึงคุณสมบัติของ อุรุดา โควินท์
“นักเขียนที่เป็นผู้หญิงในเมืองไทยที่มีคุณภาพ ไม่ว่าจะเป็น เงาจันทร์, นทธี ศศิวิมล, วีรพร นิติประภา แต่ถ้ามองกันที่ผลงานในระยะกว้าง อุรุดาออกผลงานสม่ำเสมอ เล่มที่ผมอยากพูดถึงคือ สมิงพระราหู สำบัดสำนวนของอุรุดาไม่ใช่สำบัดสำนวนของผู้ชาย เพราะว่างานเขียนวรรณกรรมไม่ว่าจะเขียนโดยผู้หญิงหรือผู้ชาย วิธีการเขียนวิธีการคิดจะเป็นแบบผู้ชายทั้งหมด แต่งานของอุรุดาแตกต่าง
“วิธีการเขียนของอุรุดาเป็นงานที่ละเอียดในขณะเดียวกันมันก็มีภาษาที่ดี กระชับ สั้น ห้วน ตัวเนื้อหาเป็นการมองโลกของผู้หญิงที่รู้สึกว่าแตกต่างไปจากผู้หญิงที่มีขนบเดิมๆ การเข้าหาผู้ชายก่อน จีบผู้ชาย จู่โจม การที่ผู้หญิงอยากจะสวยแต่ว่าความสวยนั้นไม่ได้สวยภายใต้ความต้องการของผู้หญิง มันเป็นงานของผู้หญิงที่รู้ว่าผู้ชายเป็นอย่างไร จัดการยังไง”
ฟ้าบ่กั้น
ฟ้าบ่กั้น โดย ลาว คำหอม
แม้จะเป็นรวมเรื่องสั้นที่เผยแพร่มาตั้งแต่ทศวรรษที่ 2501 แต่อาทิตย์ก็เลือกที่จะหยิบ ฟ้าบ่กั้น มาพูดถึง
“ฟ้าบ่กั้น นำเอาการพัฒนามาเสียดสี เย้ยหยัน การพัฒนาคือความเจริญในโลกสมัยใหม่ที่เราต่างต้องการ แต่อีกมุมหนึ่งก็ทำให้คนชายขอบตกเป็นเหยื่อ เนื้อหาของฟ้าบ่กั้น จะเห็นว่าอะไรก็ตามที่ชาวบ้าน โดยเฉพาะภาคอีสานที่ถูกลดทอนลงหรือว่าความเป็นอีสาน ถูกทำให้กลายเป็นอื่น หรือกลายเป็นส่วนเกินในสังคมเมือง ลาว คำหอม หยิบจุดนี้มาเล่นแบบกลับหัวกลับหางในลักษณะที่ว่าเราไม่ได้ตกเป็นเหยื่ออะไรนะ”
อาทิตย์มองว่า การหยิบงานชื่อดังของ ลาว คำหอม มาอ่านในห้วงเวลานี้ สามารถเยียวยาจิตใจได้
“ผมคิดว่าการอ่าน ฟ้าบ่กั้น ในช่วงเวลานี้ช่วยเยียวยาจิตใจบางอย่างได้ เราจะเห็นคนมีอำนาจกลายเป็นตัวตลก เช่น วิพากษ์เรื่องการพัฒนาอย่างเพลงผู้ใหญ่ลี คุณน่าจะเคยได้ยินคำว่าสุกรที่อยู่ในเพลง สุกรเป็นภาษาของชนชั้นสูง มันกำลังบอกว่าชาวบ้านแม่งโง่ว่ะ
“ชาวบ้านไม่รู้จักสุกรว่าคืออะไร ชาวบ้านกับชนชั้นสูงอยู่คนละชั้นกัน คือคุณไม่สามารถร่วมวงกับชนชั้นสูงได้ เพราะคุณเป็นตัวตลก ซึ่งชาวบ้านถูกทำให้เป็นแบบนั้นด้วยการพัฒนา พอการพัฒนาเข้ามาก็เปลี่ยนวิธีคิดของคน ฟ้าบ่กั้น วิพากษ์วิจารณ์พวกชนชั้นสูงและชนชั้นกลาง ผมมองว่ายังไม่มีวรรณกรรมเล่มไหนทำได้เท่าฟ้าบ่กั้น แม้กระทั่งตอนนี้นะ”
ยูโทเปียชำรุด
ยูโทเปียชำรุด โดย วิวัฒน์ เลิศวิวัฒน์วงศา
อาทิตย์ อธิบายว่า ความน่าสนใจใน ยูโทเปียชำรุด คือลักษณะของวรรณกรรมหลังสมัยใหม่ซึ่งเป็นวรรณกรรมที่มีการละเล่นกับภาษา
“วรรณกรรมไม่ใช่ภาษาที่เราใช้กันในชีวิตประจำวัน มันแตกต่างออกไป วรรณกรรมคือการทดสอบขีดความสามารถของภาษานั้นๆ มันทำให้รู้ว่าภาษาที่เราใช้ไปได้สุดแค่ไหน เหมือนคุณเรียนภาษาไทยคุณรู้สึกว่ามันเป็นภาษาพ่อภาษาแม่ใครก็พูดได้ แต่เมื่อคุณมาเจอวรรณกรรมที่เล่นกับภาษา…คุณจะตกใจ มันคือภาษาแบบไหน คุณจะประเมินค่าของมันและเน้นว่านี่คือวรรณกรรมที่ห่วย เพราะคุณอ่านไม่รู้เรื่องหรือไม่ แต่ผมคิดว่ามันมีประเด็นที่สามารถอธิบายได้ ในฐานะที่ผมเป็นนักวิชาการด้านวรรณกรรมนะ แต่ในเรื่องของคนอ่านจะชอบหรือไม่ชอบ ก็ขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละคน
“มนุษย์ตกอยู่ภายใต้อำนาจของภาษา ในขณะที่คุณกำลังคิด คุณก็คิดเป็นภาษา เพราะฉะนั้นคุณถูกควบคุมโดยอำนาจของภาษาตลอดเวลา คุณตกอยู่ภายใต้โครงสร้างของภาษา เพราะฉะนั้นคุณก็คิดได้เท่าที่เรามีภาษาใช้อยู่ เพราะฉะนั้นภาษากับอำนาจจึงสัมพันธ์กัน สำหรับภาษาในยูโทเปียชำรุด จะค่อนข้างอ่านยาก ผมว่าผู้เขียนตั้งใจให้เป็นแบบนั้น มันมีกลิ่นของภาพยนตร์ คนที่สนใจงานภาพยนตร์จะชอบอ่าน เพราะมีร่องรอยของผู้กำกับหลายๆ คนอยู่ในนั้น”
ไม่ปรากฏ
ไม่ปรากฏ โดย ภู กระดาษ
ในการประกวดซีไรต์ประเภทนวนิยายในปีนี้ นวนิยายเรื่อง เนรเทศ ของ ภู กระดาษ เข้ารอบ shortlist ซีไรต์ปี 2558 แต่อาทิตย์เลือกหยิบกวีนิพนธ์ของเขามาพูดถึง
“ไม่ปรากฏ น่าสนใจตรงรูปแบบที่นำเสนอ มันเป็นทั้งกวีนิพนธ์ มีร่องรอยของกลอนลำ ซึ่งเป็นวรรณคดีอีสาน และมีภาษาอีสานเยอะมาก ‘ผญา’ ก็เป็นภูมิปัญญาของอีสานที่ถูกนำมาใช้ในฐานะที่เป็นกวีนิพนธ์ร่วมสมัยได้ดีและกลมกลืนลงตัวมากๆ ผมคิดว่ามันเป็นกวีนิพนธ์ที่บันทึกภาพของยุคสมัยช่วงปี 2553 ที่กำลังจะหล่นไปจากประวัติศาสตร์ไทย ไม่มีใครจำเรื่องนี้แน่ๆ
“วรรณกรรมเป็นเครื่องมือในการต่อสู้ทางการเมือง สิ่งแรกที่จะต้องทำคือการสร้างเหยื่อให้ดูรู้สึกน่าสงสาร ทุกคนจะแย่งกันเป็นเหยื่อเพื่อการต่อสู้ แต่ว่า ไม่ปรากฏ ไม่ได้พูดว่าใครเป็นเหยื่อ แต่พูดว่าภายใต้โครงสร้างของสังคมแบบนี้ ทุกคนก็เป็นเหยื่อหมด แม้กระทั่งการตกเป็นเหยื่อของคนดี การเป็นเหยื่อของสิ่งที่มันปรากฏกับทุกคน ผมเลยคิดว่าเรื่องไม่ปรากฏ ก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจ ในแง่ของกวีนิพนธ์เองมันมีพัฒนาการในเรื่องของรูปแบบ แต่สุดท้ายกวีนิพนธ์ก็เหมือนเป็นลูกเมียน้อยของวงการวรรณกรรมไทย คนอ่านกันน้อย”