นายแพทย์โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์
ผมเคยฟังคำบรรยายของ สตีเวน โคเวย์ (Steven Covey) เจ้าของแนวคิดอุปนิสัย 7 ประการเพื่อการพัฒนาตนเองให้เป็นคนมีประสิทธิภาพ หรือที่มักเรียกกันติดปากเป็นภาษาอังกฤษว่า Seven Habits เป็นเทปบรรยายที่คุณสตีเวนใช้ในหลักสูตรการฝึกอบรมเพื่อสร้างอุปนิสัยง่ายๆ ที่แกบอกว่าไม่เพียงแต่ทำให้ผู้ฝึกเป็นคนที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้นเท่านั้น แต่ยังเป็นคนที่มีความสุขมากขึ้นด้วย
ที่สำคัญ แกอ้างว่าการฝึกอุปนิสัยดังกล่าวใช้ได้กับทุกคนและจำเป็นสำหรับทุกคน เรียกว่าใช้ได้ดีตั้งแต่แม่บ้านยันแม่ทัพ ทั้งสำหรับลูกน้องและเจ้านาย
มีคนวิเคราะห์แนวคิดและเทคนิคแบบ How to เกี่ยวกับการบริหารที่เผยแพร่โดยกูรูต่างๆ ว่าในระยะหลังมานี้มีแนวโน้มเปลี่ยนไปจากเดิมที่เน้นเทคนิคที่จะทำให้ผู้บริหารไปจัดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของลูกน้อง มาเป็นเทคนิคที่ผู้บริหารต้องฝึกหัดขัดเกลาตนเองเหมือนกับที่ทุกๆ คนต้องฝึกฝนตนเอง
ผมคิดว่างานของคุณสตีเวน โคเวย์ เข้ากับแนวทางหลังนี้เป็นอย่างดี
ในเทปฝึกอบรมที่ว่านั้น คุณสตีเวนเริ่มต้นการฝึกอบรมด้วยการเชิญชวนให้ผู้เข้ารับการอบรมคิดตรึกตรองตามที่เขาพูดอย่างสงบ และให้จินตนาการตามไปด้วย
คุณสตีเวนบอกให้ทุกคนในห้องหลับตาและสร้างภาพในใจให้เห็นว่าตนเองกำลังไปอยู่ในสถานที่แห่งหนึ่ง ซึ่งไม่แน่ใจว่าเป็นที่ไหนกันแน่ เมื่อเดินเข้าไปใกล้และเห็นชัดเจนขึ้นก็พบว่าเรากำลังอยู่ที่งานศพแห่งหนึ่ง มีผู้คนมากมายมาร่วมในงาน ซึ่งก็เป็นคนที่เรารู้จักมากมาย เมื่อเดินไปที่ด้านหน้าของพิธี เราจึงได้รู้ว่า ที่แท้ผู้ตายที่ญาติๆ จัดงานศพนี้ให้นั้นก็คือตัวเราเอง
เราตายไปแล้ว… และเราได้กลายเป็นวิญญาณมาที่งานศพของเราเอง
ขณะที่เรากำลังสับสนอยู่ ผู้ประกอบพิธีก็ได้ประกาศเชิญชวนญาติมิตรของผู้ตายให้ร่วมกันไว้อาลัยแก่ผู้ตาย และได้เชิญบุคคลสามคนขึ้นมากล่าวคำไว้อาลัยและเกียรติประวัติของผู้ตาย ซึ่งก็คือตัวเราเอง
คนทั้งสามที่ได้รับเชิญขึ้นมากล่าวได้แก่ คู่สมรสของเรา เพื่อนบ้านของเรา และเพื่อนร่วมงานที่ทำงานใกล้ชิดกับเรา
คุณสตีเวนตั้งคำถามให้ผู้เข้ารับการอบรมคิดว่า เราอยากจะได้ยินคนทั้งสามกล่าวถึงเราอย่างไร และด้วยโจทย์ที่ว่าคือ ‘คุณอยากให้ผู้คนจดจำคุณไว้อย่างไร’ นี้เอง คุณสตีเวนเชิญชวนให้ผู้เข้าร่วมการอบรมใช้เวลาช่วงหนึ่งเขียนคำกล่าวไว้อาลัยและเกียรติประวัติของตัวเราเอง ที่เราคิดว่าอยากจะได้ยินในงานศพของเรา
คุณสตีเวนใช้วิธีการดังกล่าวเพื่อตอกย้ำอุปนิสัยการคิดอย่างหนึ่งที่แกเรียกว่า Begin with the End in Mind หรือเรียกว่าให้เรามีภาพเป้าหมายสุดท้ายไว้กำกับการใช้ชีวิตของเรา ไม่ใช่ปล่อยเวลาให้สูญเปล่าหรือไปทำเรื่องเลวๆ เพราะลืมคิดไปว่าเรื่องเลวๆ นั้นจะถูกจดจำเป็นเกียรติประวัติหรือประวัติอันไร้เกียรติของเราไปชั่วลูกชั่วหลาน
ผมคิดว่าเทคนิคที่คุณสตีเวน โคเวย์ใช้นี้อาจไม่ต่างจาก ‘มรณสติ’ ที่ทางพุทธศาสนาใช้เพื่อให้ดำเนินชีวิตอยู่บนความไม่ประมาท
ผมเคยจัดการอบรมปฏิบัติการเรื่องการตายอย่างสันติให้กับบุคลากรทางการแพทย์ ก็เห็นได้ชัดว่าเมื่อเรามีประสบการณ์ที่ต้องเผชิญหน้ากับความตาย ทัศนะต่อชีวิตของเราก็มักเปลี่ยนไป เรื่องเหลวไหลและสิ่งสมมุติที่เราเคยติดยึดทั้งหลายดูจะถูกลอกถูกล่อนออกไปได้ง่ายๆ ทำให้เราเห็นสิ่งที่เป็นสาระสำคัญของชีวิตได้ชัดเจนยิ่งกว่าในเวลาปกติ
เหมือนคนที่มีประสบการณ์เฉียดตายทั้งหลาย เมื่อกลับมามีชีวิตอยู่ก็มักเปลี่ยนแปลงไป เพราะเห็นคุณค่าและความเปราะบางของชีวิต
การฝึกอบรมของคุณสตีเวน โคเวย์ ที่สมมุติให้เราเผชิญกับความตายจึงเป็นทั้งการลอกนิสัยเก่าๆ ของเราให้ล่อนออกไป พร้อมๆ กับการสร้างอุปนิสัยใหม่ที่ดำเนินชีวิตอย่างตรึกตรองมีเป้าหมายไปด้วยในตัว
หรือเรียกว่าแก้ไขนิสัยเก่าๆ ด้วยการสร้างอุปนิสัยใหม่
แต่หากเป็นนิสัยที่ฝังลึกมากก็อาจเป็นการยากที่จะแก้ไข
มีคนเคยบอกกับผมเกี่ยวกับเรื่องนิสัย (แต่ผมก็ไม่เคยได้มีโอกาสค้นคว้าให้แน่ใจ) ว่า ถ้าเราทำอะไรบ่อยๆ และทำติดต่อกันไปนานๆ สิ่งที่เราทำจนเคยชินนั้นก็จะกลายเป็นนิสัย ซึ่งการแก้นิสัยนับว่าเป็นเรื่องที่ยาก บางครั้งก็ต้องอาศัยประสบการณ์ที่กระชากความคิด เช่น การเผชิญกับความตายอย่างที่คุณสตีเวนใช้ในการอบรมของเขานั่นล่ะ จึงอาจพอจะแก้ไขได้บ้าง
ถ้าเป็นความเคยชินที่สะสมลึกลงไปอีก เป็นนิสัยที่ทำมานานมากๆ และบ่อยมากด้วย ก็จะกลายเป็นสันดานไป สันดานที่ว่านี้ก็ยิ่งแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้ยากยิ่งขึ้นไปกว่านิสัยธรรมดา แม้แต่การเผชิญกับประสบการณ์เฉียดตาย สันดานก็มักจะไม่หายไปไหน
ต้องตายไปจริงๆ แล้วไปเกิดใหม่ ก็พอจะช่วยได้บ้าง
คนที่อธิบายให้ผมฟังนั้นยังบอกอีกว่า ถ้าเป็นความเคยชินที่ลึกและฝังแน่นลงไปอีกจนกลายเป็นอำนาจที่สั่งสมไว้ในจิตสันดานนั้น ในทางพุทธเขาเรียกว่า วาสนา
วาสนาที่ว่านี้เป็นเสมือนสิ่งที่ลิขิตไว้ในพื้นภูมิของจิตอย่างถาวร
พวกนี้อย่าว่าแต่ประสบการณ์เฉียดตายเลย แม้แต่ตายจริงๆ แล้วไปเกิดชาติใหม่ พฤติกรรมเดิมก็จะตามติดตัวไปไม่ว่าชาติหน้าหรือชาติไหนๆ จะละเสียซึ่งวาสนาได้ก็มีแต่ต้องบรรลุธรรมเท่านั้นครับ
และแม้แต่อัครสาวกหรือพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายที่บรรลุธรรมแล้วก็ยังละวาสนาได้แต่เฉพาะวาสนาในเบื้องต่ำ คือ หีนะวาสนา และวาสนาในเบื้องกลาง หรือมัชฌิมะวาสนาเท่านั้น มีแต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้นที่ทรงละกิเลสและวาสนาทั้งสิ้นได้
โดยสรุปว่า สำหรับปุถุชนอย่างเราคงจะแก้ไขได้เฉพาะนิสัยเท่านั้น คือถ้ามีความเคยชินหรือพฤติกรรมที่เป็นนิสัยบางอย่างที่เราเห็นว่าไม่ดีก็อาจได้รับการแก้ไขได้ด้วยการสร้างอุปนิสัยใหม่ที่ดี และนิสัยก็มีทั้งที่ดีและที่เลว นิสัยดีๆ ก็รักษาไว้ ส่วนนิสัยที่เลวก็ยังมีหนทางแก้ไข
ผมไม่แน่ใจว่าความเคยชินหรือพฤติกรรมบางอย่าง เช่น การชอบทำตาขวางใส่ผู้สื่อข่าว การพูดจาด่ากราดทางโทรทัศน์อย่างขาดสติ การโกหกได้ทุกวัน วันนี้พูดอย่าง พรุ่งนี้ว่าไม่ใช่ หรือการใช้วาจาสามหาวไปถึงขั้นหยาบคายต่อสาธารณะ เหล่านี้จะเป็นนิสัย สันดานหรือเป็นวาสนา จึงไม่แน่ใจว่าจะแก้ไขได้หรือไม่
แต่ผมค่อนข้างแน่ใจว่าพฤติกรรมเลวๆ บางอย่าง เช่น การชอบใช้ความรุนแรงในการปราบปรามผู้ชุมนุม การใช้สื่อของรัฐในการปลุกระดมให้เกิดความรุนแรง การจัดตั้งมวลชนที่มีอาวุธพร้อมมือให้มาปะทะและทำร้ายผู้ที่ชุมนุมกันอย่างสันติ การเรียกผู้ที่ต่อต้านขัดขืนตนว่าเป็นกบฏ การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อใช้อำนาจปราบปรามประชาชนที่มีความคิดเห็นแตกต่าง เหล่านี้คงจะไม่ใช่นิสัยธรรมดา
แต่เป็นสันดานที่เขามีชื่อเรียกโดยเฉพาะว่า สันดานทรราช
เราคงไม่มีโอกาสรู้ว่าผู้ปกครองเลวๆ เหล่านี้เมื่อตายไปและเกิดชาติใหม่ สันดานทรราชนี้จะหมดไปหรือไม่ เพราะเราคงภาวนาให้ไม่ต้องไปเกิดร่วมชาติกับทรราชเหล่านี้อีก จะได้ไม่ต้องรับรู้ความเลวร้ายอะไรอย่างที่เป็นอยู่ในชาตินี้อีก
ส่วนชาติปัจจุบันที่ยังต้องรับรู้ความชั่วร้ายเหล่านี้อยู่ ก็จะคอยดูว่า ในงานศพของเขา ผู้คนจะกล่าวถึงการจากไปของเขาเป็นคำไว้อาลัยหรือคำสาปแช่ง
*****************************
(หมายเหตุ : ตีิพิมพ์ในคอลัมน์คิดสลับขั้ว กันยายน 2551)