เรื่อง: โกวิท โพธิสาร และไอยดา สนศรี
ภาพ: อนุช ยนตมุติ
การชุมนุมในนามของ กปปส. ภายใต้การนำของสุเทพ เทือกสุบรรณ มีคำพูดอย่างหนึ่งของการชุมนุมที่สังคมให้ความสนใจ นั่นคือ “อารยะขัดขืน”
เมื่อพูดถึงอารยะขัดขืน ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และผู้ที่ศึกษาเรื่องสันติวิธี จึงเขียนจดหมายเปิดผนึกถึง สุเทพ เทือกสุบรรณ
ข้อความในจดหมายฉบับนี้ได้รับความสนใจจากสังคม นักวิชาการ และนักการเมืองในวงกว้าง (อ่านจดหมายฉบับดังกล่าวท้ายบทสัมภาษณ์)
จดหมายรักฉบับนี้นำเราไปพบผู้เขียน เพื่อสอบถามถึงเบื้องหลังความคิด และหาคำตอบต่อบางคำถามที่จดหมายไม่ได้เขียนเอาไว้
หมายเหตุ: สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2556
คิดอย่างไรต่อปฏิกิริยาหลากหลาย ทั้งเห็นด้วย ไม่เห็นด้วย ทั้งรับ ไม่รับ ที่มีต่อจดหมายของอาจารย์ถึงคุณสุเทพ เทือกสุบรรณ
โดยเจตนาอยากจะให้คุณสุเทพได้เห็นผ่านตา และผมก็คิดว่าจดหมายนี้ก็ไปแพร่หลายพอสมควรนะ มีคนได้เห็น ได้พูดถึง ได้คอมเมนท์กันทั่วพอสมควร และที่บอกว่าคุณสุเทพไม่ได้เห็นจดหมาย ไม่รู้ว่าถูกหรือเปล่า เพราะว่าเมื่อคืนนี้ (29 ธ.ค. 2556) ได้ยินว่ามีคนเอาจดหมายนี้ไปอ่านในที่ชุมนุมนะครับ Blue Sky ก็ออก จริงๆ คนที่อ่านคือ อาจารย์กิตติศักดิ์ ปรกติ ท่านก็โทรมาบอกผมว่า “เอาไปอ่านแล้วนะ”
เพราะฉะนั้นจดหมายก็คงถึงผู้รับแล้วมั้ง แต่ผมก็ไม่ทราบว่าท่านจะตอบหรือไม่ คือจดหมายไม่ได้มีวัตถุประสงค์ในการให้ตอบอะไรในความหมายนั้น แต่ในฐานะที่เป็นคนซึ่งทำการศึกษา เป็นนักเรียนเรื่องการไม่ใช่ความรุนแรง ก็เลยคิดว่า คนที่เลือกจะใช้สันติวิธีหรืออารยะขัดขืน ก็ควรจะใช้บนพื้นฐานของความรู้ความเข้าใจว่ามันคืออะไร มันมีที่มายังไง มันมีแนวปฏิบัติที่เขายอมรับกัน คืออะไร รวมทั้งมันมีข้อจำกัดอะไร และมันจะส่งผลอะไร คือของพวกนี้มันก็เป็นหน้าที่ที่จะต้องบอกให้ทราบ ผมก็เพียงแต่บอกให้ท่านทราบเท่านั้นครับ และคนที่เกี่ยวข้องควรจะได้รับรู้ ก็เท่านั้นครับ
เขียนจดหมายถึงคุณสุเทพแล้วจะเขียนจดหมายถึงคุณยิ่งลักษณ์ด้วยไหม
คงไม่ใช่เป็นการเขียนจดหมายถึงคุณยิ่งลักษณ์ หรือไม่เขียนอะไรแบบนี้นะครับ คือเหตุผลที่เขียนมันมีอยู่นะ แต่ว่าสิ่งที่ทำก็เพราะว่า เวลานี้สังคมไทยหลายๆ คนก็บอกว่า โอ๊ย มีปัญหานู้นนี้ อะไรแบบนี้ ผมกลับเห็นว่าสังคมไทยเป็นสังคมที่แสนมหัศจรรย์ เพราะว่าถ้าเหตุการณ์อย่างที่เกิดแบบนี้ มีมวลชนเข้าไปยึดกระทรวง ทบวง กรม ในประเทศอื่นๆ นี้ คุณคิดหรือว่ามันจะยังสงบอยู่อย่างนี้ได้ เรายังจะนั่งคุยกันอย่างนี้ได้ ผมคิดว่าไม่แล้วนะครับ
เหตุผลที่มันเป็นแบบนี้ ก็เพราะฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้ง ก็ยืนยัน หรืออย่างน้อยก็ประกาศว่าจะใช้สันติวิธี จะใช้แนวทางไม่จัดการกับปัญหาด้วยความรุนแรง ฝ่ายคุณสุเทพก็ประกาศเช่นนั้น ว่าท่านใช้อารยะขัดขืน ใช้สันติวิธี ผมจึงเขียนจดหมายไปหา คุณยิ่งลักษณ์ก็ประกาศว่ารัฐบาลจะทำเช่นนั้นเหมือนกัน และผมก็คิดว่าทั้ง 2 ฝ่ายนี้ คงไม่ได้แค่พูดครับ
เหตุผลสำคัญก็คือว่า ทั้ง 2 ฝ่ายนี้ มีปัจจัยที่ทำให้ควรต้องทำอย่างนี้ เช่น พรรคเพื่อไทย ก็คงจะต้องทำทุกอย่างที่จะไม่ให้สิ่งที่เกิดขึ้นต่อไปข้างหน้า เหมือนกับสิ่งที่เคยเกิดขึ้นกับรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ แปลว่าคงจะไม่ยอมส่งกำลังเข้าไปปราบปรามประชาชนที่ออกมาประท้วง ไม่เช่นนั้น พรรคเพื่อไทยก็จะเป็นพรรคประชาธิปัตย์ ไป เพราะฉะนั้นเหตุผลแบบนี้ ก็คงทำให้พรรคเพื่อไทย โดยเฉพาะท่านนายกฯ ไม่อยากจะทำเช่นนั้น
ที่อยากจะพูดกับท่านนายกฯ ก็คือว่า ผมว่าในสังคมไทยตอนนี้น่าสนใจนะครับ เพราะว่าเรามีคุณยิ่งลักษณ์เป็นนายกฯ และท่านก็ไม่ได้แสดงให้เห็นถึงอาการก้าวร้าวอะไร ไม่ได้ไปรุกล้ำ รุกรานใคร รวมทั้งมีท่าทีอ่อน มันอาจจะเป็นเงื่อนไขที่เหมาะมากสำหรับการจัดการกับความขัดแย้งหนักๆ แบบนี้ นึกในใจว่าถ้าเป็นท่านอื่นที่เป็นนายกรัฐมนตรีแล้วเห็นสถานการณ์แบบนี้ พูดจาอะไรบางอย่างออกมาเนี่ย ก็คงตีกันไปแล้วเยอะแยะ เพราะฉะนั้นอันนี้ก็ดี อาจจะเรียกว่าเป็นผู้นำอย่างอ่อนในสถานการณ์ความขัดแย้งที่เข้มข้น เลยเหมาะนะครับ
คิดอย่างไรต่อข้อเสนอเรื่องการทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญและยุบสภาจากหลายฝ่าย
ข้อเสนอนี้น่าสนใจ เพราะเขาไม่ได้แค่เสนอให้ยุบสภา เขาเสนอให้ทำประชามติเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญด้วยว่าจะแก้ไขอย่างไร
ผมคิดว่า ถ้าเราอธิบายความขัดแย้งตอนนี้ หลายคนก็บอกว่า โอ้ สองฝ่ายเนี่ย ทั้งฝ่ายคุณสุเทพ และฝ่ายผู้ประท้วง และฝ่ายรัฐบาลเอง นปช.เอง ต่างกันโดยสิ้นเชิง ผมเห็นตรงข้ามเลย ผมคิดว่าสองฝ่ายนี้เหมือนกันมากเลย และความเหมือนนี้น่าสนใจ เพราะมันเคยแตกต่างกันมานานแล้ว คือพรรคประชาธิปัตย์กลับต่าง แต่คุณสุเทพ พรรคเพื่อไทย และ นปช. กลับเหมือน
เหมือนตรงไหน? พรรคเพื่อไทยเข้ามาสู่อำนาจโดยการสัญญากับประชาชนว่าจะแก้รัฐธรรมนูญ ตอนนี้ทีมของคุณสุเทพผู้ประท้วงก็เรียกร้องอย่างเดียวกัน ตกลงตอนนี้สิ่งที่ทั้งฝ่ายประท้วงและฝ่ายรัฐบาลเหมือนกัน ก็คือขอแก้กฎในสังคมการเมืองไทย และคุณสุเทพก็มาพร้อมกับข้อเสนอ 5-6 ข้อ ซึ่ง 5-6 ข้อเหล่านั้นก็น่าสนใจมากนะครับ หลายเรื่องเป็นเรื่องซึ่งทั้งสองฝ่ายน่าจะแชร์กัน เช่น เรื่องความยุติธรรม ความเลื่อมล้ำอะไรทั้งหลายนี้ ซึ่งรัฐบาลเองก็รู้อยู่ เพราะฉะนั้นในแง่นี้มันมีลักษณะร่วมกันเยอะ
มันอาจจะถึงเวลาที่ต้องถามผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยที่แท้จริงว่า ถึงเวลาไหมที่จะต้องแก้กฎเกณฑ์ที่ควบคุมสังคมการเมืองแบบนี้ ไม่พอใจรัฐบาลซึ่งใช้เสียงข้างมากจนไม่มีข้อจำกัด ลองคิดอย่างนี้ว่า เอาไหม อะไรแบบนี้ หรือในที่สุดอาจจะต้องตั้งคำถามว่าต่อไปใครที่จะขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีนี้ เป็นได้ครั้งเดียวเลิกได้ไหม อะไรแบบนี้ ห้ามเป็นอีก ในต่างประเทศเขา ผู้นำประเทศ อย่างเช่น ประธานาธิบดี ในหลายประเทศขึ้นมา เขาให้อยู่ไม่เกิน 2 เทอม สหรัฐอเมริกาเขาก็ทำแบบเดียวกัน เราเอาเทอมเดียวก็พอ นี่ก็เป็นเรื่องของการแก้กฎเกณฑ์ในประเทศนี้
ความขัดแย้งที่เกิด ผมคิดว่ามันไม่ได้เกิดเพราะว่ามีกลุ่มคนอย่างโน้นอย่างนี้เท่านั้น แต่มันเป็นอาการของสังคมไทยซึ่งเปลี่ยนไปแล้ว เราจะคิดว่าคนไทยเหมือนเดิม รักสามัคคีกัน เห็นเหมือนกัน มันไม่ใช่ไง เราจึงจำเป็นจะต้องมีกฎเกณฑ์บางอย่างซึ่งสวมกอด โอบกอดคนซึ่งต่างกันจริงๆ ในเรื่องหลักการ ในเรื่องความเข้าใจได้เยอะพอสมควร เพราะฉะนั้นมันต้องช่วยกันหาครับ ในแง่นี้ผมเห็นว่ามันมีจุดร่วมกัน เพราะฉะนั้นการทำประชามติก็มีเหตุผล
หลายกลุ่มในสังคมไทยกำลังพยายามเสนอทางออก สำหรับอาจารย์ อะไรคือสิ่งสำคัญที่สุดที่ต้องทำในตอนนี้
ปัญหาตอนนี้ ผมว่าโจทย์ที่ต้องคิดก็คือในสังคมมันมีคนซึ่งมีความฝันสองอย่าง ความฝันสองอย่างนี้ไม่เหมือนกัน คนกลุ่มหนึ่งมีความฝันว่าอยากจะมีรัฐบาลซึ่งเข้มแข็ง มีเสถียรภาพ ทำอะไรก็ได้ดังใจ คนอีกกลุ่มหนึ่งก็คาดหวังว่าไม่อยากให้รัฐบาลมีอำนาจถึงขนาดนั้น แต่อยากจะมีระบบการควบคุมที่เข้มข้น ความฝันสองอันนี้ คำถามของผมคือ มันจะอยู่ด้วยกันยังไง? เป็นความฝันสองอันซึ่งตอนนี้ต้องกลับมาอยู่ในกล่องเดียวกัน มันเลยจะต้องหาวิธีสร้างสะพานเชื่อมให้ได้
อีกอย่างก็คือว่า ถ้าคนในสังคมไทยขณะนี้มีคุณค่า มีความเข้าใจที่ต่างกัน ในเรื่องที่ว่าอะไรคือการเมืองการปกครองที่ดี เราต้องหาวิธีสร้างสะพานเพื่อคุยเรื่องนี้ให้เห็นชัดเจน
มองกลุ่มต่างๆ ในสังคมตอนนี้อย่างไร?
คนตัดสินใจทำสิ่งเหล่านี้ คนตัดสินใจมาในที่ต่างๆ มันก็มีวิธีคิดหลายอย่าง คนเหล่านี้ไม่มีสติปัญญาและก็โดนลากโดนจูงมา คนเหล่านี้ถูกซื้อถูกหามา ก็มีคนจำนวนหนึ่งคิดอย่างนั้น ไม่ว่าจะเป็นกับใคร
ผมเลือกที่จะคิดอีกอย่างหนึ่ง ผมคิดว่าทุกคนที่เขามานี้ เขาเลือกแล้วที่จะมา และเขาก็มีเหตุผลของเขา ไม่ว่าจะเป็นอะไร และผมก็คิดว่าเราก็เคารพเหตุผลเหล่านั้นได้
ปัญหามันเลยกลายเป็นว่า ตกลงมันมีเหตุจริงๆ ที่เขาคิดว่าไม่พอใจกับสิ่งที่เป็นไปในทางการเมืองที่เป็นอยู่ในขณะนี้ นึกออกไหมครับ คนกลุ่มหนึ่งเลือกอย่างหนึ่ง เขาเลือกที่จะสนับสนุนรัฐบาล เขาก็ทำในสิ่งที่ควรจะทำ คือแสดงออกให้เห็น ถามว่าทำไมจึงทำ คำตอบเขาง่ายมาก ถ้ากลุ่มผู้ประท้วงปรากฏตัวแต่เพียงลำพัง สังคมก็จะเห็นว่า อ๋อ มีแต่ประชาชนเข้าข้างนี้ ไม่มีอีกข้างหนึ่ง
ข้อเท็จจริงก็คือว่า ในสังคมนี้มันเป็นสองเสียงอยู่แล้ว เสียงซึ่งสนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ และเสียงซึ่งสนับสนุนพรรคเพื่อไทย ในการเลือกตั้งคราวที่แล้ว เอาเข้าจริงก็พอๆ กัน 10 กว่าล้านทั้งคู่ ในสถานการณ์แบบนี้เรากำลังพูดถึงคนที่เห็นไปคนละทิศเลย เพราะฉะนั้นทุกคนก็เล่า ทั้งในครอบครัว ในที่ทำงาน ในบ้านในเรือนนี้ เห็นไปคนละอย่าง พ่อกับแม่กับลูก อะไรทั้งหลายทั้งปวง สามีกับภรรยา เพื่อนฝูง นึกออกไหม อันนี้ก็คือสถานการณ์ของสังคมไทยในวันนี้
เพราะฉะนั้นสำหรับผม อันนี้ก็เป็นการแสดงออกตามแบบที่ควรจะเป็นนะครับ เขาก็มาแล้วอยู่กับที่ แต่ขณะนี้มันมีกลุ่มคน อย่างเช่น คุณสุเทพและคณะซึ่งเดินไปในที่ต่างๆ มีการชุมนุมที่ราชดำเนิน สิ่งที่ต้องป้องกันก็คือ ต้องสร้างระยะห่าง อย่าให้สองฝ่ายนี้มาเจอกัน อันนี้ก็คือจะประคับประครอง หรือจะป้องกันไม่ให้ความขัดแย้งกลายเป็นความรุนแรงได้
สิ่งที่อยากให้ท่านผู้ชมเข้าใจอย่างหนึ่งก็คือว่า ข้อแรก…สังคมมนุษย์ ความขัดแย้งมันเป็นเรื่องธรรมชาติ ทำอย่างไรถึงจะอยู่กับความขัดแย้งแบบนี้ได้
อันที่สองคือ ถ้าเราเชื่อว่าสังคมเราเป็นสังคมประชาธิปไตย ผมไม่ได้หมายถึงว่ามีหรือไม่มีสภา แต่ผมหมายถึงว่าเรารู้สึกว่าสังคมเราเป็นประชาธิปไตย ประชาธิปไตยมันเป็นระบบของการอยู่กับคลื่นกับลมครับ มันไม่ได้เป็นระบบน้ำนิ่ง มันไม่ได้นิ่ง นึกออกไหม เราอยู่ในรัฐนาวาซึ่งจะต้องเวียนว่ายอยู่กับคลื่นลมเหล่านี้ แล้วก็ต้องรับสภาพแบบนี้ แล้วสังคมไทยมหัศจรรย์ เพราะมันอยู่กับคลื่นลมได้เก่งมากเลย มันมีปัจจัยเสี่ยไหม มันมี หน้าที่ของคนในสังคมคืออะไร ก็อย่าให้มันไปถึงจุดที่มันต้องใช้ความรุนแรงอีก เพราะเราใช้กันมาเยอะแล้ว เราก็มีบทเรียนมามากแล้ว
ขณะนี้เราอยู่ในสภาพรัฐล้มเหลวหรือยัง
รัฐมีหลายแบบ และก่อนที่จะล้มเหลว มันก็มีสิ่งที่เรียกว่ารัฐอ่อนแอ บางทีมันไม่ใช่ล้มเหลวเสมอไป ถามว่าล้มเหลวแปลว่าอะไร ล้มเหลวแปลว่า รัฐไม่สามารถจะ deliver สิ่งซึ่งรัฐถูกคาดหมายว่าจะ deliver ได้
เช่น หมายถึงว่า ไม่สามารถจะทำหน้าอย่างที่รัฐพึงกระทำ เช่น รัฐมีหน้าที่ในการดูแลประกันความปลอดภัยของประชาชน รัฐทำไม่ได้ รัฐมีหน้าที่ดูแลเรื่องกินเรื่องอยู่ เรื่องเจ็บเรื่องป่วย การควบคุมโรคระบาด รัฐทำไม่ได้ ของแบบนี้ก็แปลว่ามันเริ่มจะล้มเหลว พอล้มเหลวปัญหาที่ตามมาก็คือ มันจะกลายเป็นเงื่อนไขของนานาประเทศที่จะต้องบอกว่าเขาไม่อยากให้รัฐล้มเหลวนะ การแทรกแซงเพื่อแก้ปัญหารัฐล้มเหลวก็เกิดขึ้นในประเทศต่างๆ
ประเทศไทยไม่ใช่รัฐล้มเหลวหรอก ในความน่าสนในก็คือว่า สังคมมันไม่มีแต่รัฐ มันมีภาคสังคมด้วย เราอาจจะอยู่ในสภาพสังคมที่รัฐมัน weak แต่สังคมมันแข็ง สิ่งที่คุณเห็นคืออะไร คือสังคมซึ่งแข็งมากเลยเวลานี้ และสังคมที่ว่าแข็งมากนี้มีทั้งภาคประชาชน มีทั้งภาคธุรกิจ นึกออกไหมครับ แล้วภาคธุรกิจก็ โอ้โห ยังทำงานของตัวเองได้ ถึงแม้มันลดลง นักท่องเที่ยวมาน้อยลง การลงทุนมีปัญหา แต่เขาก็ประคับประคองสังคมไทยมามากมาย
ถ้าจะบอกว่าสังคมไทยไม่ล้มเหลว รัฐบาลมันอ่อนแอก็อ่อนไปแต่สังคมก็ยังอยู่ ที่คุณเห็นบนถนนเนี่ย ไอ้นี่มันอาการของสังคมแข็งเป็นบ้าเลยนะ ไม่ยอมรัฐเลยนะ ในแง่นี้ก็น่าสนใจมากๆ เลยนะครับ เพราะฉะนั้นมันไม่ใช่ประเด็นเรื่องรัฐล้มเหลวหรือไม่ล้มเหลวในขณะนี้ ในความเห็นของผมนะ ผมรู้สึกว่ามันสู้กันแบบนี้ น่าสนใจ และนักวิชาการจำนวนหนึ่งก็อาจจะไม่อยากให้รัฐแข็งจนเกินไป มีรัฐอ่อนหน่อยก็ดีเนอะ มันจะได้ไม่มารุกรานสิทธิเสรีภาพของคน
มีจดหมายถึงคุณสุเทพแล้ว ถึงคุณยิ่งลักษณ์แล้ว หากจะเขียนจดหมายถึงคนทั่วไป
ถ้าจะเขียนถึงประชาชนทั่วไป มันยากนะ คำว่าประชาชนมันเป็นนามธรรม คิดไม่ค่อยออกว่าจะเขียนถึงประชาชนทั่วไป จะเขียนยังไง คล้ายๆ ว่าต้องคิดเขียนเป็นคนๆ ไป สมมติเขียนถึงคุณแล้วกัน ในฐานะเป็นสื่อมวลชน อย่างนี้ผมคิดออก คิดถึงประชาชนแล้วมันเป็นนามธรรม คิดไม่ออก
ถ้าจะเขียนถึงสื่อมวลชน จะเขียนอย่างไร ผมก็อาจจะอยากเขียนอย่างนี้ ก็คือว่า ผมเห็นใจสื่อมวลชนในสถานการณ์ความขัดแย้งแบบนี้ ในสังคมซึ่งแบ่งขั้วแยกข้างแบบนี้ ในสังคมซึ่งแยกออกเป็นอย่างน้อยสองเสี่ยงแบบนี้ แต่เพราะสถานการณ์เป็นอย่างนี้ บทบาทของสื่อมวลชนก็เลยยิ่งสำคัญ
ถามว่าบทบาทของสื่อมวลชนต้องทำอะไร ที่ผมอยากเห็น ถ้าผมอยากเขียน ผมก็อยากเขียนและบอกสื่อมวลชนว่า ปัญหาของสังคมไทย ปัญหาความขัดแย้ง มันเป็นกับดัก เหมือนกับหนี้ในวิชาเศรษฐศาสตร์หรือวิชาเศรษฐศาสตร์การเมือง เขาพูดถึง “กับดักหนี้สิน” เคยได้ยินไหม “Dead Trap” ของเรามันอยู่ในกับดักที่ผมอยากจะเรียกว่า “กับดักความขัดแย้ง” กับดักความขัดแย้งแบบนี้ สิ่งที่มักจะเกิดก็คือว่า เราก็มองไม่เห็นว่า เหตุที่มันซับซ้อนซ่อนอยู่คืออะไร บางทีเราสื่อมวลชนทำข่าวหรือทำอะไรก็พยายามจะทำให้มันง่าย ผมก็พยายามจะบอกว่ามันไม่ง่าย มันยุ่งเนอะ ก็ทำให้เห็นว่ามันมีเหตุปัจจัยที่สลับซับซ้อน สื่อมวลชนก็คงมีหน้าที่ทำอย่างนี้แหละครับ ผมเข้าใจว่าสื่อมวลชนไม่ใช่นักวิชาการ แต่ก็ต้องทำให้เห็นว่าความขัดแย้งมันมีเงื่อนไขที่สลับซับซ้อนอยู่นะ นั่นข้อที่หนึ่ง
ข้อที่สองที่อยากเห็นสื่อมวลชนทำ ก็คือว่า อยากจะเห็นสื่อมวลชนให้ความสำคัญกับคนซึ่งจะตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงถ้ามันจะเกิด เหตุผลคือ บางทีข่าวที่เห็นหรือบอกว่า เออ คนพวกนี้ปะทะด้วยผลประโยชน์เหล่านี้ มันก็จริงล่ะครับ ไม่ได้หมายความว่ามันไม่มี แต่ว่าเหยื่อของมันคือผู้คนไง อย่างที่ผมเขียนในจดหมายถึงคุณสุเทพ และคนทุกคนที่มีชีวิตอยู่ เดินอยู่บนถนน ไม่ว่าจะอยู่ฝั่งไหน เขามีเนื้อมีหนังมีผู้คนที่รักที่ห่วงใยเขา อันนั้นต้องทำออกมาให้เห็นชัด เพราะอะไร เพราะว่า พอเป็นอย่างนี้ เราจะได้ไม่เห็นคนเป็นเบี้ย เราจะได้ไม่เห็นคนเป็นวัตถุ เราจะได้เห็นคนเป็นคน ผมคิดว่าหน้าที่ของสื่อมวลชนก็ต้องทำแบบนี้ด้วย
และประการสุดท้ายที่อยากเห็นจากสื่อมวนชล อย่ายอมจำนนกับปัญหา และพยายามแสวงหาทางเลือก โรคภัยอย่างหนึ่งของสังคมไทยตอนนี้ที่สื่อมวลชนต้องทำก็คือว่า มันมีแนวคิดยอมจำนนอยู่ว่า ความขัดแย้งมาถึงขั้นนี้ ในที่สุดต้องมีคนเสียชีวิตบาดเจ็บ ไม่อย่างนั้นเราจะทำอย่างอื่นไม่ได้ ไม่อย่างนั้มันจะก้าวข้ามไปไม่ได้ คล้ายๆ มันต้องสู้กับมายาคติพวกนี้ครับ วิธีสู้อันหนึ่งก็คือ ทำให้เห็นทางเลือกที่มีอยู่ และผมอยากเห็นสื่อมวลชนทำแบบนี้นะครับ ผมไม่รู้ว่าประชาชนหรือเปล่าแต่สื่อมวลชนทำแบบนี้คงมีประโยชน์
ปฏิเสธไม่ได้ว่า คุณทักษิณ ชินวัตร คือตัวละครสำคัญในความขัดแย้งทางการเมือง หากจะเขียนจดหมายถึงคุณทักษิณ อยากจะบอกอะไร?
ผมไม่อยากเขียนถึงคุณทักษิณน่ะ แต่ผมอยากโทรศัพท์ไปหาคุณประยุทธ์ ศิริพานิชย์ คุณประยุทธ์ท่านเป็น สส.พรรคเพื่อไทย ความสำคัญของคุณประยุทธ์มีหลายข้อ ผมไม่รู้จักท่านเป็นการส่วนตัว แต่ฟังคนอื่นเขาเล่าว่าท่านก็เป็นคนมีน้ำใจมากนะครับ ท่านก็เคยตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงตั้งแต่สมัย 6 ตุลา และท่านก็เป็นคนเสนอร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมสุดซอย เวลานี้ท่านไปบวช ผมคิดว่าธรรมะที่ท่านได้ สิ่งที่ท่านเห็นจากภาพสองภาพ ในฐานะที่ฆราวาส กับในฐานะที่เป็นพระภิกษุในพุทธศาสนานี้ อาจจะช่วยให้เราเข้าใจได้ว่า อะไรคือสิ่งที่นักการเมืองแต่ละคน ผู้เกี่ยวข้องกับปัญหาเหล่านี้ควรจะทำ
ทางออกประเทศไทย?
ปัญหาในสังคมไทยเวลานี้ ทางออกมันอาจจะคือสองเรื่องใหญ่ๆ เอาเป็นหลักการแล้วกันนะ อย่างที่หนึ่ง ได้พูดไปแล้ว ขอพูดซ้ำเพราะมันสำคัญ คือสู้กับแนวคิดยอมจำนน ที่ยอมจำนนหมายถึง ยอมจำนนต่อมายาคติเกี่ยวกับความรุนแรง ว่าเลือดไม่ตก ยางไม่ออก แก้ปัญหาไม่ได้ ต้องสู้กัน ถามว่าทำไมต้องสู้เรื่องนี้เหตุผลก็คือว่า เพราะเราเลือดตก ยางออกมาหลายหนแล้ว ชีวิตผมห้าสิบกว่านะ เห็นมา 3-4 หน ไม่เบื่อหรือ แล้วคิดจากฐานของคนที่เจ็บ คนที่ตาย พิการอีก อะไรอีก ไม่นับเลยนะ มันเยอะแล้ว พอแล้ว เราต้องสู้กับมันในความหมายนี้นะครับ ผมรู้ว่ามีคนจำนวนมากเชื่ออย่างนั้น แต่ว่ามันต้องสู้กันกับความคิดแบบนี้ เพราะว่าในข้อเท็จจริงของโลกนี้ ก็ไม่จำเป็นต้องเป็นแบบนี้ มันมีการต่อสู้ด้วยสันติวิธีแล้วชนะตั้งเยอะแยะในที่ต่างๆ
อย่างที่สองก็คือว่า คนถามผมว่าจะช่วยสังคมไทยยังไง ผมก็ตอบว่า คล้ายๆ มันมีหลายข้าง ก็ต้องช่วยทุกข้าง เพราะฉะนั้นที่คุณถามตอนต้นน่ะดี ก็คือ เราก็ช่วยคุณสุเทพใช่ไหม ต้องช่วยคุณยิ่งลักษณ์ด้วยนะ ต้องช่วย นปช.ที่รัชมังคลาด้วยนะ คล้ายๆ ต้องช่วยกันหมดเลย ถ้าเราคิดได้แบบนี้ ผมคิดว่า อันนั้นก็คือวิธีหนึ่งในการบอกว่า ตกลงทางข้างหน้าจะเคลื่อนอย่างไร.
////////////////////////////////////////////
จดหมายถึงคุณสุเทพ เทือกสุบรรณ จาก ชัยวัฒน์ สถาอานันท์
คุณสุเทพครับ,คุณสุเทพคงจำผมไม่ได้ แต่นานมากแล้ว คุณสุเทพกรุณาให้รถที่นั่งมารับผมจากธรรมศาสตร์ท่าพระจันทร์ไปละหมาดวันศุกร์ที่มัสยิดบางลำพูผมเขียนจดหมายฉบับนี้ด้วยความเป็นห่วงว่าความขัดแย้งที่กำลังดำเนินอยู่จะกลายสภาพเป็นความรุนแรง เช่นที่บ้านเมืองของเราเคยมีประสบการณ์มาแล้วในอดีต ทั้งที่ครั้งนี้ คุณสุเทพก็ดี นายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ก็ดี ได้แสดงท่าทีชัดว่าประสงค์จะเผชิญกับความขัดแย้งครั้งสำคัญนี้โดยหลีกเลี่ยงไม่ใช้ความรุนแรง
ผมขออนุญาตเรียนให้ความเห็นคุณสุเทพเรื่องการต่อสู้ด้วย”สันติวิธี”และ อารยะขัดขืน เพราะเชื่อว่าอาจช่วยให้คุณสุเทพต่อสู้เพื่ออนาคตของทุกฝ่ายในสังคมไทยได้กระจ่างชัดขึ้น
ข้อแรก ถ้าถามว่า การชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย การเป่านกหวีด การเรียกร้องให้ชะลอการเสียภาษี รวมถึงการ”เดินดาวกระจาย”ไปเข้ายึดครองอาคารสถานที่ของหน่วยราชการต่างๆเป็น”สันติวิธี”หรือไม่ ผมคงตอบว่า การชุมนุมประท้วงในที่สาธารณะเป็นการแสดงออกด้วยสันติวิธีที่แพร่หลายทั่วไป การเป่านกหวีดเป็นการใช้สันติวิธีเชิงสัญลักษณ์ การเรียกร้องให้ชะลอการเสียภาษีเป็นสันติวิธีแบบไม่ให้ความร่วมมือกับรัฐ ขณะที่การเข้ายึดครองอาคารสถานที่ราชการเป็นการแทรกแซงด้วยสันติวิธีเรื่องการเข้ายึดครองอาคารสถานที่เช่นนี้มีให้เห็นตั้งแต่สองพันปีก่อน เมื่อบิชอปชาวคริสต์ ปฏิเสธคำสั่งของรัฐบาลโรมันที่สั่งให้ยกส่วนหนึ่งของโบสถ์ในมิลานให้ชาวคริสต์นิกายอื่น ท่านบิชอปละเมิดกฏยึดครองโบสถ์ทำพิธีมิสซาในโบสถ์อยู่ 5 วัน นี่เกิดเมื่อปี ค.ศ.385 หรือ ชาวอเมริกันอินเดียนเป็นร้อยคนบุกยึดเกาะอัลกาตราสในอ่าวซาน ฟรานซิสโกซึ่งรัฐบาลอเมริกันใช้เป็นคุกมานาน เหตุเกิดเมื่อเดือนพฤศจิกายน 1969 พวกเขายึดเกาะนี้อยู่ถึง 2 ปี (15 คนสุดท้ายถูกเจ้าหน้าที่รัฐบาลกลางพาตัวออกไปเมื่อ มิถุนายน 1971) หรือที่รู้จักกันทั่วโลกก็คือการใช้สันติวิธีเข้ายึดครองพื้นที่ทางเศรษฐกิจ การเงินกลางเมืองใหญ่ของโลกอย่างนิวยอร์ค ลอนดอน และ เมลเบิร์น เมื่อปี 2011 สันติวิธีเหล่านี้ล้วนเป็นการกระทำที่ละเมิดกฎหมายในระดับต่างๆกัน แต่เรื่องนี้คุณสุเทพในฐานะนักกฎหมายคงทราบดีอยู่แล้ว
ข้อสอง “สันติวิธี”เป็นเครื่องมือในการต่อสู้ทางการเมือง คนใช้สันติวิธีต้องทำความเข้าใจการทำงานของเครื่องมือที่ตนใช้ว่าทำงานอย่างไร ส่งผลเช่นไร เช่นเมื่อคุณสุเทพประกาศว่าแนวทางการต่อสู้ที่ใช้เป็น”อารยะขัดขืน” ก็หมายความว่า ผู้ใช้ต้องพร้อมรับโทษทัณฑ์ที่จะต้องได้รับจากการใช้สันติวิธีละเมิดกฎหมาย เพราะพลังของอารยะขัดขืนไม่ได้อยู่ตรงการขัดขืนเท่านั้น แต่อยู่ที่การยอมรับบทลงโทษที่จะเกิดขึ้นกับ”คนดีๆ”ที่ขัดขืนกฎหมายหรือนโยบายของรัฐ การขัดขืนและการยอมรับผลของการขัดขืนเป็นไปเพื่อให้คนในสังคมที่แลเห็นฉุกคิดว่า กฎหมายหรือนโยบายที่พวกเขาขัดขืนเป็นสิ่งไม่ชอบ จึงเกิดความขัดแย้งลึกซึ้งในระดับมโนธรรมสำนึกของสังคม จนผลักดันให้นักการเมืองต้องแก้กฎหมายหรือยกเลิกนโยบายเหล่านั้น เช่นกรณีการต่อสู้เพื่อสิทธิของคนผิวดำในสหรัฐฯโดยสาธุคุณมาร์ติน ลูเธอร์ คิง เมื่อกลางศตวรรษที่แล้ว
ข้อสาม อารยะขัดขืนไม่ใช่สันติวิธีที่มีไว้เพื่อล้มรัฐบาล หรือเปลี่ยนระบอบการเมือง เพราะการยอมรับการลงโทษคือการยืนยันความชอบธรรมของผู้ลงโทษคือรัฐ-รัฐบาล ในแง่นี้ อารยะขัดขืน ทำงานเสริมระบอบประชาธิปไตยที่มีตัวแทนให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น เพราะเมื่อผู้ใช้อารยะขัดขืนเดินเข้าสู่ที่คุมขัง พร้อมๆกับที่มโนธรรมสำนึกในสังคมถูกปลุกให้ตื่นขึ้น ก็จะช่วยชี้ให้ผู้ออกกฎหมายในสภาได้ประจักษ์ว่า กฎหมายบางข้อหรือนโยบายบางอย่างของรัฐผิดพลาดไม่เป็นธรรม ทำให้พลเมืองดีต้องติดคุกติดตะราง และดังนั้นต้องแก้ไขหรือยกเลิกเสีย
ข้อสี่ สันติวิธีมีวิธีการต่างๆเป็นร้อยวิธี ถ้าวิธีการที่คุณสุเทพใช้ไม่ใช่อารยะขัดขืน แต่เป็นสันติวิธีหรือปฏิบัติการไร้ความรุนแรงรูปแบบอื่น ก็อาจทำได้และใช้สู้กับรัฐบาลก็ได้ อีกทั้งยังทำให้รัฐบาลล้มก็ได้ด้วย เช่นที่เกิดขึ้นกับประเทศต่างๆในละตินอเมริกา (เช่นชิลี เอลซัลวาดอร์ กัวเตมาลา และอื่นๆ)11 ประเทศระหว่างปี ค.ศ.1931-1961 แต่รัฐบาลที่ล้มลงด้วยพลังสันติวิธีของประชาชนที่รวมตัวกันต่อสู้เหล่านี้ ส่วนใหญ่เป็นรัฐบาลเผด็จการทหารหรือไม่ก็เป็นรัฐบาลพลเรือนที่มีทหารหนุนหลัง อันที่จริงมีผลการวิจัยพบว่าสันติวิธีใช้ได้ผลต่อรัฐบาลเผด็จการยิ่งกว่าจะนำมาใช้ต่อสู้กับรัฐบาลในระบบประชาธิปไตยซึ่งมีฐานความชอบธรรมมาจากการเลือกตั้ง
ข้อห้า มีคนถามผมว่า การต่อสู้แบบนี้เมื่อใดจึงจะหยุดเป็นสันติวิธี? ตรงนี้คงตอบได้ 2 ทาง ทางแรกคนที่สมาทานสันติวิธีจำนวนมากเชื่อว่า ไม่สามารถใช้สันติวิธีไปเพื่อเป้าหมายที่ไม่เป็นธรรมชนิดที่ไม่สร้างเสริมอิสระเสรีในสังคมการเมืองได้ พูดง่ายๆคือ การอดอาหารประท้วงเป็นสันติวิธีเมื่อคนอดใช้ประท้วงผู้เผด็จการหรือจักรวรรดินิยมให้ปลดปล่อยผู้คนของตนให้เป็นอิสระ แต่ถ้าผู้เผด็จการใช้วิธีอดอาหารประท้วงเพื่อเรียกร้องให้ตนอยู่ในตำแหน่งมีอำนาจต่อไป อย่างนี้ไม่ใช่สันติวิธี
ทางที่สอง ผมเองเห็นว่า ไม่ว่าเป้าหมายในการต่อสู้จะเป็นเช่นไร เพื่อสร้างประชาธิปไตย หรือเพื่อรักษาสถาบันการเมืองสำคัญในชาติ แต่วิธีการที่เรียกว่า”สันติวิธี”จะหมดความหมายเมื่อผู้นำการต่อสู้หรือผู้ใช้ไม่เห็นว่า ทุกชีวิตไม่ว่าหนุ่มสาว หรือแก่เฒ่าที่เสียสละตนเองเข้าท้าทายอำนาจรัฐล้วนแล้วแต่มีคุณค่าในตนเองทั้งนั้น พวกเขามีคนที่รักและเป็นห่วงเขา ทุกชีวิตเป็นเป้าหมายศักดิ์สิทธิ์ในตนเองและดังนั้นจึงไม่อาจถูกใช้เป็นเครื่องมือไปเพื่อบรรลุอะไรทั้งนั้น
ข้อสุดท้าย การใช้สันติวิธีสู้กับอำนาจรัฐมีความเสี่ยง ทั้งจากกฎหมายของรัฐและจากความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้น เพราะไม่ได้หมายความว่า เมื่อฝ่ายหนึ่งใช้สันติวิธีแล้วฝ่ายที่ตนต่อสู้ด้วยจะไม่ใช้ความรุนแรง ด้วยเหตุนี้ ทุกคนที่ก้าวออกมาต่อสู้เช่นนี้ต้องได้รับรู้ว่ากำลังเสี่ยงกับอะไรและทำไปเพื่ออะไร ในแง่นี้พวกเขาควรต้องเห็นรูปร่างหน้าตาของอนาคตที่เป็นไปได้จริงเพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจว่าจะต่อสู้หรือไม่อย่างไรด้วย
คนที่ตัดสินใจใช้สันติวิธี เลือกใช้วิธีนี้ด้วยเหตุผลหลากหลาย ส่วนใหญ่ก็เพราะเห็นว่าวิธีการนี้มีพลังเช่นที่สังคมไทยกำลังประจักษ์อยู่ แต่ที่สำคัญไม่แพ้ประสิทธิผลของสันติวิธีคือ ความเชื่อของคนที่ต่อสู้ด้วยวิธีนี้ว่า อนาคตที่ตนมุ่งสร้างนั้นสวยงาม เติบโตขึ้นบนเนื้อดินแห่งมิตรไมตรีไม่ใช่ความเป็นศัตรูที่ต้องประหัตประหารกันให้สิ้นไป
ชัยวัฒน์ สถาอานันท์, 28 พฤศจิกายน 2556
////////////////////////////////////////////
คล้อยหลังจากที่ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ เขียนจดหมายถึงสุเทพ เทือกสุบรรณ ในวันที่ 29 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ยุกติ มุกดาวิจิตร ได้เขียนจดหมายถึงชัยวัฒน์ อีกทอดหนึ่ง อ่านจดหมายถึงชัยวัฒน์ สถาอานันท์ จาก ยุกติ มุกดาวิจิตร ที่บล็อกกาซีน