เรื่อง อารยา คงแป้น
1
หลังจากเข้าไปนั่งคุยในห้องเย็นกับกองเซนเซอร์แบบพอหอมปากหอมคอ และหาทางลงด้วยการยอมหั่นบางช่วงบางตอนอันมีผลต่อความมั่นคงของชาติและกระทบต่อสัมพันธไมตรีอันดียิ่งกับประเทศเพื่อนบ้าน (ตามความปรารถนาดีของกองเซนเซอร์ว่า) ภาพยนตร์สารคดีของ นนทวัฒน์ นำเบญจพล ก็หลบพ้นล้อรถยนต์ของกองเซนเซอร์เหยียบให้ ‘แบน’
‘ฟ้าต่ำแผ่นดินสูง’ ภาพยนตร์สารคดีความยาวร่วม 2 ชั่วโมง ถ่ายทำด้วยกล้อง DSLR ตลอดทั้งเรื่อง ภาพจริงเสียงจริง ไม่มีเสียงบรรยายใดๆ มีแต่ตัวหนังสือโปรยปรายบอกเล่าเรื่องราว หนังเรื่องดังกล่าวเกิดจากความสงสัยในกระบวนประชาธิปไตยของประเทศ สงสัยในเรื่องราวทางการเมือง การแบ่งสีแบ่งฝ่าย จนถึงเรื่องข้อพิพาทในกรณีเขาพระวิหาร ที่นนทวัฒน์พาตัวเองไปคลุกคลีอยู่กับสถานที่จริง คนจริง และคำพูดจริง
ฉากเปิดคือบรรยากาศคอนเสิร์ตหน้าห้างสรรพสินค้าใจกลางเมือง ที่รุ่มรวยด้วยชนชั้นเก๋ตลอดทั้งปี และยังเป็นสถานที่ส่งความสุขล้นทะลักในช่วงส่งท้ายปลายปี ซึ่งทั้งหมดกดทับคราบความสูญเสียจากการล้อมปรามกลุ่มผู้ชุมนุมเสื้อแดง ที่ยังลอยวนอยู่ในอากาศ ความสุขและคราบเลือด ย้อนแย้งและเจ็บปวด
: ทหารไม่ชอบเสื้อแดง?
ระหว่างบทสนทนาของนนทวัฒน์และอ๊อด อดีตทหารเกณฑ์ที่ถูกส่งไปสลายการชุมชุนที่แยกราชประสงค์ คำพูดข้างต้น ถูกเผยออกมา ขณะเวลานั้นเขาต้องปราบม็อบเสื้อแดง แต่ทุกช่วงเวลาของชีวิตเขาคือคนศรีสะเกษ และลุงป้าน้าอากว่าค่อนหมู่บ้านอยู่ฝั่งสีแดง บางคนมาชุมนุมบางคนส่งแรงใจอยู่บ้าน แน่นอนอ๊อดไม่อยากทำร้ายใคร ไม่ว่าจะแดงหรือไม่แดง แต่หน้าที่คือก็คือหน้าที่
“ปืนยิงขึ้นบนฟ้าอย่างเดียว เพราะถ้ายิงลงพื้นตายกันหมดแน่ ผมก็ตาย”
: เรื่องของหมุดเขตแดน
หนังเริ่มต้นด้วยเรื่องราวชีวิตของอ๊อดในช่วงเป็นทหารผู้ประจันหน้ากับผู้ชุมนุมเสื้อแดงในวันที่ 10 เมษายน 2553 ชีวิตของอ๊อดพาสารคดีเรื่องนี้ไปสู่กรณีพิพาทเขาพระวิหาร นนทวัฒน์ลงพื้นที่เก็บข้อมูลเกี่ยวกับกรณีดังกล่าวจากทั้งประชาชนในพื้นที่ ที่ได้รับผลกระทบ จากชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน แต่การฟังเสียงจากฝั่งไทยอย่างเดียวคงเป็นเรื่องบาปสำหรับเขา นนทวัฒน์จึงลงทุนปลอมตัวเข้าไปถ่ายสารคดีในกัมพูชาซึ่งผลที่ได้มาน่าสนใจทีเดียว
ไทยบอกว่าเขมรย้ายหมุดเขตแดน เขมรก็คิดว่าไทยย้ายเช่นเดียวกัน
ไทยบอกว่าเขมรเจ้าเล่ห์ เขมรก็คิดเหมือนกัน
กระสุนเขมรข้ามมาฝั่งไทย กระสุนไทยก็ข้ามไปฝั่งเขมรเหมือนกัน
และระหว่างการสนทนาของทหารเขมร “ท่านฮุน เซ็นบอกว่าถ้าถูกยั่วยุจนทนไม่ไหว ให้แกล้งทำปืนลั่น” ทหารเขมรนอกเครื่องแบบคนหนึ่งกล่าวไว้…
2
ในช่วงเวลาที่ ‘ฟ้าต่ำแผ่นดินสูง’ เข้าฉายในโรงภาพยนตร์ ภาพยนตร์สารคดีไทยอีกเรื่องซึ่งเกิดจากความสงสัยความเป็นไปของสังคมไทยเหมือนกัน
เป็นภาพยนตร์สารคดีที่เป็นเอก รัตนเรือง บอกในทำนองว่าเกิดจากจุดเริ่มต้นของความงุนงงสับสนกับสิ่งที่เรียกว่าประชาธิปไตยในสังคมไทย
ทว่าตลอดวันที่ 24 มิถุนายน ซึ่งเป็นวันฉาย หนังกลับมีทีท่าว่าจะมีปัญหา
ภาพยนตร์สารคดี ‘ประชาธิปไทย’ โดย เป็นเอก รัตนเรือง และภาสกร ประมูลวงศ์ มีกำหนดฉายในวันที่ 24 มิถุนายน ฉายแค่ 2 รอบต่อวัน ก่อนเริ่มฉายรอบแรกมีข่าวลือหนาหู ว่ามีการถอดหนังเรื่องดังกล่าวออกจากโปรแกรมฉาย สร้างความงุนงงสงสัยให้คอหนังที่รอชม แต่จนแล้วจนรอด ไม่ทราบด้วยประการใด หนังเรื่องดังกล่าวก็ได้ฉายตามปกติ แต่ที่ไม่ปกติเห็นจะเป็นบรรยากาศและท่าทีของโรงภาพยนตร์ที่มีต่อหนังเรื่องนี้
: การแบนตัวเองของโรงหนัง
กระแสข่าวที่ว่าจะมีการถอดหนังประชาธิปไทยออกจากรอบการฉายถูกพูดถึงและได้รับการติดตามความเป็นไปทั้งจากในโลกออนไลน์และโลกจริง หนึ่งในนั้นคือ ธิดา ผลิตผลการพิมพ์ บรรณาธิการนิตยสารไบโอสโคป และผู้จัดจำหน่ายหนังเรื่องฟ้าต่ำแผ่นดินสูง ก็ไม่พลาดติดตามกระแสข่าวนี้เช่นเดียวกัน
‘ความกลัว’ คือสิ่งที่บรรณาธิการไบโอสโคปให้คำจำกัดความการลดรอบฉายหรือแม้กระทั่งการแบนตัวเองของโรงหนังกระแสหลัก อาจเพราะหนัง 2 เรื่อง ทั้ง ฟ้าต่ำแผ่นดินสูง และ ประชาธิปไทย มีความเปราะบางทางการเมือง จึงไม่แปลกหากโรงหนังจะขอบายเพื่อไม่ให้ตัวเองเจ็บตัว
“เท่าที่ทราบ ทางผู้บริหารระดับสูงของโรงเกิดความกังวลขึ้นมาว่าหนังมันมีความอ่อนไหวทางการเมือง ทำให้เกิดความคิดว่าจะจัดการกับหนังยังไงต่อไปดี แต่คงด้วยมันจวนตัวมาก ถอดออกไม่น่าจะเป็นผลดี ตอนนี้เลยออกมาในลักษณะพยายามลดรอบและลดโรง”
: หาทางลงให้การแบน
และด้วยเหตุผลของการเซนเซอร์และการแบนตั้งแต่เรื่องใหญ่ยันเรื่องหยุมหยิมของกองเซนเซอร์และการแบนตัวเองเพื่อหนีห่างจากหนังที่มีความเสี่ยงของโรงหนังทั่วไป จึงทำให้ธิดามีแนวคิดเกี่ยวกับการทำโรงหนังชุมชน ที่ไม่ต้องมีกฎเกณฑ์อะไรมากมาย
โรงหนังชุมชนคืออะไร
ในสังคมของการชมภาพยนตร์ ผู้คนยังถูกผูกติดอยู่กับรสนิยมและหนังกระแสเดิมๆ ซึ่งถึงแม้โรงภาพยนตร์มีมากมาย ระบบการฉายสุดล้ำ แต่ทางเลือกด้านความหลากหลายของภาพยนตร์กลับมีน้อยจนน่าอ่อนใจ
“ฉันเชื่อมาตลอดว่าวัฒนธรรมการดูหนังจะแข็งแรงได้ก็เมื่อคนดูซึมซับและยอมรับความหลากหลายของหนัง ไม่ถูกทำให้ผูกติดรสนิยม ทัศนคติ ฯลฯ ไว้กับหนังประเภทใดประเภทเดียวหรือแนวทางเดียว โรงหนังมีบทบาทสำคัญในด้านนี้ แต่โรงหนังในบ้านเรามี ‘ทางเลือก’ น้อยมาก”
โรงหนังชุมชนในความคิดของธิดา คือโรงหนังขนาดย่อมที่ฉายหนังทุกแนว กล้าหาญและเชื่อมโยงกับคนในชุมชนได้ เพื่อให้ทุกคนมีส่วนร่วม โรงหนังชุมชนจะเป็นสถานที่ฉายภาพยนตร์ในแบบที่โรงมัลติเพล็กซ์ไม่ทำและอาจจะทำไม่ได้
:ให้คะแนนฟ้าต่ำแผ่นดินสูง
ก็อย่างที่คอหนังหลายท่านรับรู้ ฟ้าต่ำแผ่นดินสูง ของผู้กำกับนนทวัฒน์ ได้รับการจัดจำหน่ายโดยนิตยสารไบโอสโคป และไหนๆ ได้ขอความรู้กับบรรณาธิการทั้งที ความรู้สึกนึกคิดต่อหนังเรื่องดังกล่าว ย่อมเป็นสิ่งที่น่าสนใจ
“ส่วนที่พี่อาจจะชอบน้อยไปหน่อย คือไม่ถึงขั้นไม่ชอบค่ะ ก็คือลีลาการเล่าเรื่องที่หากจะหน่วงช้าน้อยกว่านี้ ก็น่าจะลดความรู้สึกง่วงเหงาเบื่อหน่ายของคนดูในบางช่วงลงได้ ซึ่งเท่าที่ฟัง มันดูจะเป็นปัญหาสำหรับคนดูทั่วไปพอสมควร อย่างไรก็ตาม มองในอีกแง่ จังหวะเนิบช้าแบบที่เบิ้ล (นนทวัฒน์) ใช้มันก็เป็นแนวทางเฉพาะตัวของเขา และมันก็สอดรับกันดีอยู่กับสิ่งที่หนังจะเล่า
“ในส่วนที่ชอบมากและคิดว่าทำให้หนังมีความสำคัญมาก ก็คือการที่เบิ้ลเล่าด้วยมุมของคนที่ไม่รู้อะไร (ในปัญหาชายแดนไทยกัมพูชา) มาก่อนเลย เขาใช้ตัวเองเป็นตัวแทนคนดูเข้าไปค้นหา โดยวิธีค้นหาก็ไม่ใช่การค้นคว้าเชิงข้อมูล สัมภาษณ์ผู้รู้ ฯลฯ แต่เป็นการพาตัวเองเข้าไปสัมผัสข้อมูลปฐมภูมิซึ่งซ่อนอยู่ในวิถีชีวิตและผลกระทบที่ชาวบ้าน ณ ตรงนั้นได้รับ ทำให้หนังเต็มไปด้วย ‘เรื่องเล่าของคน’ ซึ่งในแง่หนึ่งก็ลดความเข้าถึงยากของการเป็น ‘หนังการเมือง’ ลง และในอีกแง่ ก็ทำให้เราได้เรียนรู้ว่า ในทุกความขัดแย้งที่ถูกยกเป็นเรื่องของชาติ อธิปไตย ฯลฯ จริงๆ แล้วไม่ควรมีอะไรที่สำคัญไปกว่าชีวิตของคน”
ความสงสัยเป็นบ่อเกิดของความรู้ การลงมือค้นหาเป็นทางนำไป การบอกเล่าคือการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ การฟังเป็นประตูไปสู่ทัศนคติที่แตกต่าง พื้นที่ตรงกลางที่จะรวมเอาทุกกระบวนการของความรู้นี้ต่างหากเปิดกว้างมากแค่ไหน
หรือจะเอาโซ่มาล่าม เอาปูนปลาสเตอร์มาอุดรูกุญแจโรงหนังกันต่อไป
***********************************
หมายเหตุ 1 : ภาพยนตร์สารคดี ฟ้าต่ำแผ่นดินสูง ฉายแล้ววันนี้ที่โรงภาพยนตร์เอสพลานาด รัชดา
หมายเหตุ 2 : ภาพยนตร์สารคดี ประชาธิป’ไทย ก็ฉายแล้ววันนี้เช่นกัน ที่โรงภาพยนตร์ พารากอนซินิเพล็กซ์ และเอสพลานาด รัชดา
หมายเหตุ 3 : ภาพประกอบจาก
https://www.facebook.com/boundarymovie?fref=ts
http://www.movie.in.th/documentary/paradoxocracy.html
และ ภาพจากเฟซบุ๊ค คุณธิดา ผลิตผลการพิมพ์