ทำไม ‘ฟ้าต่ำแผ่นดินสูง’

นนทวัฒน์ นำเบญจพล 1

บทสัมภาษณ์ชิ้นนี้มีัขึ้นก่อนที่ ภาพยนตร์สารคดี ฟ้าต่ำแผ่นดินสูง (Boundary) จะถูกคณะอนุกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์สั่ง ‘ห้ามฉาย’ ในราชอาณาจักร และบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้อีกเช่นกันที่จะตอบคำว่าถามว่า “ทำไมฟ้าถึงต่ำ แผ่นดินจึงสูง”

เดือนกุมภาพันธ์ นนทวัฒน์ นำเบญจพล พาภาพยนตร์สารคดีของเขา ฟ้าต่ำแผ่นดินสูง (Boundary) เดินทางไปฉายครั้งแรกในเทศกาลหนังนานาชาติเบอร์ลินครั้งที่ 63 ก่อนหน้านี้ 2 ปี เขางุนงงกับสภาพ ‘คนละเรื่องเดียวกัน’ ของคนรอบข้าง ช่วงนั้นรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ คัดค้านการบริหารพื้นที่ปราสาทเขาพระวิหารของกัมพูชา พร้อมส่งสุวิทย์ คุณกิตติ ให้คัดค้านแผนที่โดยรอบ ต่อกรรมการมรดกโลกยูเนสโก ที่ประชุมอยู่ประเทศบราซิล

ย้อนกลับไปในเดือนมิถุนายน 2505 ศาลโลกมีมติด้วยคะแนน 9 ต่อ 4 เสียง ให้กัมพูชาเป็นเจ้าของปราสาทเขาพระวิหาร และให้เจ้าหน้าที่ของประเทศไทยถอนกำลังออกจากปราสาท และบริเวณใกล้เคียง พร้อมกับคืนวัตถุโบราณทั้งหมด ท่ามกลางความไม่พอใจของฝ่ายไทย เนื่องจากเห็นว่าการตัดสินดังกล่าวไม่ยุติธรรม เพราะศาลโลกพิจารณาตัดสินเพียงแผนที่ฉบับเดียวเท่านั้น รายละเอียดต่อจากนั้นเป็นการรอมชอมระหว่างรัฐบาลทั้งสองฝ่าย ในการร่วมพัฒนาพื้นที่ ‘ตรงนั้น’ จวบจนความขัดแย้งทางการเมืองไทยได้หยิบประเด็นเขาพระวิหารขึ้นมาอีกครั้ง

ฟ้าต่ำแผ่นดินสูงเริ่มจากตรงนี้

เรื่องของอ๊อด

จุดตั้งต้นคือเมื่อประมาณ 2 ปีที่แล้ว เกิดประเด็น ‘ทวงคืนเขาพระวิหาร’ ซึ่งคนรอบตัวผมก็จะมองต่างกัน มันทำให้ผมสนใจ ‘พรมแดน’ ตรงนี้ อะไรทำให้คนมองได้แตกต่างกันถึงเพียงนี้ ผมอยากจะรู้ว่าคนที่อยู่ในสถานการณ์ตรงนั้นจริงๆ คิดอย่างไรกับเหตุการณ์ ก็บังเอิญไปเจออ๊อด อ๊อดพูดเก่งและพูดรู้เรื่องดีน่ะครับ อ๊อดเป็นพลทหาร แต่ตอนที่เจอกันเขาปลดประจำการพอดี ผมไปเจออ๊อดที่กองถ่ายหนัง อ๊อดอยู่ในทีมอาร์ต หลังจากพูดคุยกัน ผมก็พบว่าอ๊อดเจอมาทุกเหตุการณ์เลย เขาอยู่ในสถานการณ์ความขัดแย้งในช่วงนั้นทุกเหตุการณ์

หลังจากอ๊อดจับใบแดงได้ อ๊อดเลือกให้ตัวเองไปอยู่ภาคใต้ ที่จังหวัดนราธิวาส อ๊อดเล่าให้ผมฟังว่าผู้คนแถวนั้นคิดอย่างไรกับทหาร ช่วงที่เกิดเหตุการณ์ม็อบแดงที่กรุงเทพฯ อ๊อดก็โชคดีถูกส่งมาปราบม็อบที่กรุงเทพฯ

อ๊อดไม่ได้ฆ่าใคร

อ๊อดไม่ได้ฆ่าใคร เพราะโชคดีที่เขาถูกปลดประจำการไปก่อน เหตุการณ์มี 2 ช่วงใช่มั้ยครับ ในวันที่ 10 เมษายน 2553 อ๊อดถูกส่งไปอยู่แถวหน้าประจัญกับม็อบเลย แต่อ๊อดไม่ได้ทำร้ายใคร อ๊อดเล่าให้ผมฟังว่าช่วงที่มีการสลายม็อบ เขาไม่อยากทำเลย เพราะคนที่ไปม็อบก็มาจากภาคอีสานเสียส่วนใหญ่ ซึ่งในหมู่บ้านของอ๊อดเองก็เชียร์เสื้อแดงกันทั้งหมู่บ้าน พวกเสื้อแดงก็ด่าทหาร ส่วนคนที่ไม่เห็นด้วยกับม็อบก็ด่าม็อบและเชียร์ทหาร แต่เอาเข้าจริงๆ แล้ว ผมมองว่ามันมีอะไรที่ซับซ้อน มันมีความเป็นมนุษย์อยู่ในนั้นอยู่ซึ่งประเมินอย่างผิวเผินไม่ได้

ตามอ๊อดกลับบ้าน

หลังจากปลดประจำการ ในช่วงสงกรานต์ อ๊อดกำลังกลับบ้านที่ศรีสะเกษ ผมก็เลยขอตามเขาไปด้วย หมู่บ้านของอ๊อดเป็นพื้นที่พรมแดนระหว่างไทยกับกัมพูชา ผมใช้วิธีให้อ๊อดเล่าเรื่องราว เล่าตั้งแต่ชีวิตวัยเด็ก พอจบเรื่องของอ๊อด บ้านของอ๊อดห่างจากพื้นที่ชายแดนประมาณ 70 กิโลเมตร ซึ่งหมู่บ้านของอ๊อดจะปลอดภัยจากการปะทะกันระหว่างทหารไทยกับทหารกัมพูชา

ผมก็เลยขับรถไปดู อยากรู้ว่าผู้คนที่อยู่ตรงนั้นเขาอยู่กันอย่างไร อพยพไปไหน ผมเก็บภาพผู้คนฝั่งไทย พูดคุยกับพวกเขา จนตัดออกมาเป็นหนัง แต่ผมพบว่าหนังเรื่องนี้ไม่มีมุมมองของคนฝั่งกัมพูชาเลย กลับกลายเป็นว่าชาวเขมรดูแย่มาก เพราะหนังเต็มไปด้วยความคิดเห็นของคนไทย ผมก็เลยคิดว่าเราต้องฟังคนในกัมพูชาด้วย ผมจึงตัดสินใจไปฝั่งกัมพูชา ช่วงนั้นเป็นช่วงปลายปี 2553 ซึ่งคนไทยไม่สามารถข้ามไปได้เลย

ผมใช้วิธีบินไปพนมเปญ แล้วพยายามหาคนนำทางให้พาผมเดินทางไปบริเวณชายแดนกัมพูชา-ไทยอีกทีหนึ่ง แต่พอเขารู้ว่าผมเป็นคนไทย ก็ไม่มีใครมากับผมเลย ทุกคนตื่นตระหนก สงสัยว่าผมเป็นสปายหรือเปล่า เพราะช่วงนั้นมีข่าวว่าคนไทย 2 คนโดนจับตัว

 

นนทวัฒน์ นำเบญจพล2

 

 

เปลี่ยนชื่อเป็นโธมัส

รอบแรกผมไปพนมเปญอย่างคว้าน้ำเหลว ไม่มีใครพาผมไปตรงชายแดน ผมกลับเมืองไทยพร้อมฟุตเทจชุดแรก ผมนำฟุตเทจที่ตัดต่อแล้วไปขอทุนที่ปูซาน ผมก็ได้รู้จักโปรดิวเซอร์คนหนึ่งที่นั่น ดาวี่เป็นคนเขมร แต่ไปเกิดและโตที่ฝรั่งเศส เป็นเขมรเก๋ๆ หลังจากคุยกัน เขาช่วยหาคอนเนคชั่นให้ ผมจึงไปพนมเปญอีกครั้ง แต่ก็ยังหาคนพาไปในพื้นที่ไม่ได้อยู่ดี เพราะอย่างที่บอกน่ะครับ ทั้งๆ ที่บริเวณเขาพระวิหารฝรั่ง ญี่ปุ่น ไปเที่ยวกันได้

เวลาผ่านไป ผมก็กลับไปที่ศรีสะเกษอีกครั้ง เผื่อว่าพื้นที่จะเปิดแล้ว ผมสามารถเข้าไปได้มากขึ้น ถึงผามออีแดง ตอนนั้นก็ดีใจมาก เห็นเขาพระวิหารไกลๆ เห็นผืนธงกัมพูชาอยู่ลิบๆ จนวันหนึ่งผมคิดว่าหนังคงไปถ่ายตรงนั้นไม่ได้แล้ว

จนวันหนึ่ง ดาวี่แนะนำให้ผมรู้จักชาวเขมรคนหนึ่ง บ้านเกิดอยู่ที่จังหวัดพระวิหาร ที่นั่นเขามีน้องชายอยู่ จึงแนะนำให้ผมรู้จักกับน้องชายของเขาอีกที เขาก็พาผมเดินทางไปตรงพื้นที่ชายแดน แต่มีข้อแม้ว่าช่วงที่เดินทางไปกันครั้งนี้ ผมจะไม่ได้เป็นคนไทย

ที่นั่น ผมเป็นคนไชนีส-อเมริกัน ก่อนเดินทาง เพื่อนชาวกัมพูชาคนนี้ของผมก็เขียนบทมาให้อ่าน ว่าผมเป็นเพื่อนของเขาที่นิวยอร์ค ผมชื่อ ‘โธมัส’ ไม่ใช่นนทวัฒน์ เรียนจบสาขาวิชานี้มาจากมหาวิทยาลัยนั้น  เหตุที่ผมเดินทางมาที่นี่ ก็เพื่อมาทำวิทยานิพนธ์ พูดง่ายๆ ก็คือพวกเรากุเรื่องขึ้นใหม่หมดเพื่อเดินทางไปถ่ายหนังต่อ

ความกลัวของโธมัส

หลังจากเปลี่ยนชื่อเป็นโธมัส ผมก็ตื่นเต้นเหมือนกัน เมื่อเดินทางไปถึงพื้นที่ตรงนั้น ก็จะมีทหารกัมพูชาถือกระเป๋าให้ ซึ่งพวกเขาอยากพูดอยู่แล้วว่าคนไทยทำอะไรไว้กับเขาบ้าง พวกเขาก็ด่าเมืองไทยเต็มไปหมด ผมเพิ่งรู้ว่ามีซุ้มทหารไทยในฝั่งกัมพูชาด้วย ซึ่งเขาก็คุยกันเล่นมุกกัน ผมก็เกือบเผลอขำไป แต่ต้องแอ๊บอเมริกัน ผมก็ถ่ายทำไป ให้เพื่อนชาวกัมพูชาเขาช่วยแปลเพื่อทำซับไตเติล ก็มีประโยคหนึ่ง ทหารเขมรถามว่า คนนี้ชาติไหน เพื่อนชาวเขมรก็บอกว่า อเมริกัน ทหารก็บอก อ้าวเหรอ หน้าเหมือนคนเขมรเลยนะ ก็สนุกดี แต่ยอมรับว่ากลัวครับ ผมไม่เคยไปโกหกปลอมตัวแบบนั้น คือมันเป็นครั้งแรกที่ผมรู้สึกว่าเป็นคนไทยแล้วอยากจะทำอะไร แต่ทำไม่ได้ แต่พอเราบอกว่าเราเป็นคนอื่นเป็นชาติอื่น ทุกอย่างมันดูดีไปหมดเลย

ชื่อหนัง ‘ฟ้าต่ำแผ่นดินสูง’

ชื่อหนังทำให้โรงหนังกังวลว่าจะเป็นปัญหาในภายหลังหรือเปล่า แต่ชื่อนี้มาจากเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่อง โทน ซึ่งเป็นเพลงรักที่บอกเล่าว่ารักไม่มีพรมแดน เป็นเพลงเมื่อ 30-40 ปีที่แล้ว ที่ผมชอบชื่อนี้ก็เพราะตอนที่ผมขึ้นไปถึงเขาพระวิหารแล้วผมมองลงมา เห็นขอบฟ้าต่ำกว่าพื้นดินที่ผมยืนอยู่ ชื่อภาษาอังกฤษคือ Boundary ผมพูดเรื่องเขตแดน แล้วชื่อ ฟ้าต่ำแผ่นดินสูง มันอธิบายความหมายของเขตแดนที่ย้อนแย้งกันดี

ในหนัง ผมจะพูดเรื่องชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่ สุดท้ายพวกเขานั่นแหละที่ซวย คนที่ทะเลาะกันจะอยู่บนที่สูงมากกว่า คนเหล่านั้นปลอดภัยดี แต่คนที่ได้รับผลกระทบก็คือคนที่อยู่ตรงนั้น คนที่มีชีวิตตรงนั้นจริงๆ ที่ตั้งชื่อ ฟ้าต่ำแผ่นดินสูง เพราะคนที่อยู่บนแผ่นดินที่สูงมองลงมาข้างล่างจะเข้าใจภาพมากขึ้น มันจะสมดุลขึ้น

อีกไม่กี่ปีเราจะเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนใช่มั้ยครับ ถ้าเรายังทะเลาะกันอยู่ ก็จะเป็นอาเซียนกันลำบาก ส่วนหนึ่งผมอยากให้หนังทำให้คนเข้าใจคนในพื้นที่มากขึ้น เพราะวัฒนธรรมบริเวณไทย-เขมรมันครอสกันหมดเลย คนไทยพูดเขมร คนเขมรก็พูดไทยได้

ความจริงของสารคดี

ผมรู้สึกว่า ข้อเท็จจริงหนึ่ง คนสามารถมองได้อย่างน้อย 2 ด้าน ฉะนั้นความจริงมันคืออะไร ถูกไหม ผมว่าสารคดีก็เหมือนกัน ผมก็ถ่ายจากสถานการณ์จริง ผมไม่รู้ว่าถ้าคนอื่นทำ ความจริงที่เขามองกับที่ผมมองจะเหมือนกันไหม ผมเคยอ่านข้อความหนึ่ง เขาบอกว่า สิ่งที่ได้ยินคือประสบการณ์ ไม่ใช่ข้อเท็จจริง สิ่งที่เห็นเป็นมุมมอง ไม่ใช่ความจริง

ที่ผมถ่ายมาไม่ได้มีการกำกับอะไร ผมว่าความเป็นภาพยนตร์สารคดีกับภาพยนตร์ที่เป็นเรื่องแต่งมันต่างกันตรงที่สารคดีจะถูกห่อหุ้มโดยสภาพแวดล้อม เราต้องอิมโพรไวส์ไปตามสภาพแวดล้อม แต่ฟิคชั่นเราต้องคอนโทรลสภาพแวดล้อม นั่นคือความแตกต่างของความจริงในงานทั้งสองประเภท

หมายเหตุ : จากคอลัมน์ Face of entertainment นิตยสาร Way ฉบับที่ 60

Author

วีรพงษ์ สุนทรฉัตราวัฒน์
1 ใน 3 คณะบรรณาธิการหนุ่มของ WAY

Photographer

อนุชิต นิ่มตลุง
อาชีพเก่าคือคนขายโปสการ์ดภาพถ่ายขาวดำยุคฟิล์ม จับกล้องดิจิตอลรับเงินเดือนประจำครั้งแรกที่นิตยสาร a day weekly เมื่อปี 2547 ถ่ายงานหลากหลายรูปแบบทั้งงานสตูดิโอ ภาพข่าว สารคดี มีความสามารถพิเศษสั่งตัวแบบได้ตั้งแต่พริตตี้ คนงานทุบหินแถวหิมาลัย ไล่ไปจนถึงงานที่ถูกใครต่อใครหยิบยืมไปใช้สอยบ่อยๆ อย่างภาพถ่ายนักวิชาการที่ไม่น่าจะถ่ายรูปขึ้น นอกจากทำงานให้ WAY อย่างยาวนาน ยังเป็นเจ้าของกิจการเครื่องหนัง Dog's vision อันลือลั่น

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า