ที่ประเทศอังกฤษ มีผู้หญิงที่ใช้สิทธิ์ลาคลอดตามกฎหมายมากถึง 50,000 คน ถูกบีบให้ออกจากงานเดิมหรือเปลี่ยนให้ไปทำตำแหน่งอื่น เพราะถูกหัวหน้างานหรือผู้บังคับบัญชากีดกัน
ทั้งที่่รัฐบาลอังกฤษออกกฎหมายแรงงานฉบับใหม่ ว่า นายจ้างจะต้องจ่ายค่าปรับถึง 1,200 ปอนด์ ถ้ากีดกันหรือเลือกปฏิบัติแก่สตรีที่กลับมาทำงานหลังใช้สิทธิ์ลาคลอด ซึ่งสามารถใช้สิทธิ์ลาได้เต็มที่ 52 สัปดาห์
แต่ในความเป็นจริง ผู้หญิงที่กลับเข้าไปทำงานหลังครบกำหนดลาคลอด บอกว่า ไม่สามารถกลับไปทำงานเดิมได้ และถูกบังคับให้เปลี่ยนไปทำในตำแหน่งที่รับผิดชอบน้อยกว่า และมีไม่น้อยถึงขั้นถูกเลิกจ้าง ส่วนบางคนที่ได้กลับไปทำงานในตำแหน่งเดิม บอกว่าโอกาสเลื่อนขั้นนั้นยากมากขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่ช่องว่างระหว่างรายได้ของผู้ชายและผู้หญิงในภายหลัง
Yvette Cooper รัฐมนตรีคนแรกของอังกฤษจากพรรคแรงงาน ที่ใช้สิทธิลาคลอดระหว่างการทำงาน อธิบายว่าเธอเองรู้ซึ่งความยากลำบากที่ต้องเผชิญหลังลาคลอด เป็นอย่างดี
“เมื่อฉันมีลูกคนที่ 3 ผู้บังคับบัญชาของฉันทั้งข่มขู่เรื่องไม่ให้ลาคลอด ตลอดเวลาที่ลาพักเขาก็ไม่พูดคุยสื่อสาร และพยายามเปลี่ยนงานและตารางการทำงาน” เธอยังย้ำอีกว่า มันไม่ต่างอะไรกับการกีดกันทางเพศ
“ทั้งๆ ที่เรื่องงาน ควรเป็นสิ่งสุดท้ายที่เราควรจะนึกถึงในช่วง 2-3 สัปดาห์สุดท้ายก่อนคลอด หรือเดือนแรกที่อดตาหลับขับตานอนมากที่สุด”
Cooperให้คำมั่นว่า พรรคแรงงานจะผลักดันให้มีบทลงโทษขั้นรุนแรงแก่นายจ้างที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายการจ้างงาน เช่นเดียวกับการหาทางกระจายและเพิ่มศูนย์รับเลี้ยงเด็กที่ราคาย่อมเยาและยืดหยุ่นสำหรับเวิร์คกิ้งวูแมนทั้งหลาย
ทั้งนี้ บริษัทกฎหมาย the legal firm Slater & Gordon สำรวจและสอบถาม แม่จำนวน 1,000 คน พบว่า มากกว่า 25 เปอร์เซ็นต์ บอกว่าพวกเธอไม่มั่นใจถึงสิทธิของตัวเอง และ ไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นบ้าง โดยเฉพาะการปฏิบัติจากนายจ้างเมื่อกลับไปทำงาน
เกือบครึ่งบอกว่า ตำแหน่งหน้าที่ที่เคยทำก่อนลาคลอด เปลี่ยนไป โดย 1 ใน 20 คนยอมรับว่า งานแตกต่างอย่างสิ้นเชิงเมื่อเทียบกับก่อนคลอด และ มากกว่า 25 เปอร์เซ็นต์ ถูกปฏิเสธเมื่อขอปรับชั่วโมงการทำงานให้ยืดหยุ่นมากขึ้น
Cooper ย้ำว่า ช่วง 2-3 เดือนแรกของลูก คือ เวลาสำคัญที่สุดที่แม่กับลูกจะได้ใช้ร่วมกัน แต่แม่รุ่นใหม่กลับมีน้อยลงเรื่อยๆ
“การที่ความเป็นแม่ถูกเลือกปฏิบัติถือเป็นเรื่องน่าอับอายที่สังคมยังไม่เคยรับรู้”
ตัวเลขจาก the legal firm Slater & Gordon เผยอีกว่า ผู้หญิงมากถึง 50,000 คน ไม่มีงานกลับไปให้ทำ นั่นเพราะนายจ้างคิดว่า ไม่จำเป็นต้องดูแลหรือให้ความใส่ใจกับพนักงานหญิงที่มีลูกเล็กอย่างจริงจัง
“หลายคนพบว่างานตัวเองเปลี่ยนไปโดยไม่รู้ตัวหรือไม่มีการบอกกล่าวก่อน หลายคนไม่ได้รับการขึ้นค่าจ้าง ครึ่งหนึ่งบอกว่างานที่กลับไปท แย่ลงเรื่อยๆ รัฐต้องทำอะไรสักอย่าง ต่อการกีดกันความเป็นแม่เหล่านี้ และจัดการขั้นรุนแรงกับบรรดานายจ้างที่ไม่ยอมทำตามกฎ” cooper ย้ำ
***************************************
ที่มา : independent.co.uk