ปัจจัยที่อาจทำให้ความดันเลือดสูง อาจไม่ใช่แค่การสูบบุหรี่ ดื่มสุรา น้ำหนักเกิน หรือได้รับโซเดียมมากเกินไปเท่านั้น หลังจากนักวิจัยพบความเชื่อมโยงระหว่างความดันโลหิตกับการอยู่อาศัยใกล้อสังหาริมทรัพย์ที่ถูกยึด
รายงานเผยแพร่ในวารสารสมาคม American Heart Association ให้ข้อมูลว่า ผู้ป่วยความดันสูงที่อาศัยอยู่ใกล้บ้านหลุดจำนอง เป็นผู้ป่วยที่ควรเฝ้าระวังอาการอย่างใกล้ชิด
จากการสอบถามอาสาสมัคร 1,740 คน (ส่วนใหญ่เป็นคนขาว ร้อยละ 53 เป็นเพศหญิง) ระหว่างปี 1987-2008 ในศูนย์โรคหัวใจฟรามิงแฮม (Framingham Heart Study) รัฐแมสซาชูเซ็ตต์
นักวิจัยพบว่า หากจำนวนบ้านหรืออาคารที่ประกาศขายในรัศมี 100 เมตรจากบ้านของอาสาสมัครที่เข้าร่วมโครงการเพิ่มขึ้นแต่ละแห่ง จะเพิ่มความดันโลหิตในตัวอาสาสมัครขึ้นแห่งละ 1.71 มิลลิเมตรปรอท โดยความสัมพันธ์นี้ใช้ได้เฉพาะอสังหาริมทรัพย์ที่มีเจ้าของ ในกรณีที่อาคารดังกล่าวห่างจากบ้านของอาสาสมัครเกิน 100 เมตร จะส่งผลต่อความดันโลหิตน้อยมาก
มาเรียนา อาร์คายา หัวหน้าทีมวิจัยจากศูนย์ศึกษาประชากรและการพัฒนาของฮาร์วาร์ด (Harvard Center for Population and Development Studies) พบว่า ความดันโลหิตอาจเพิ่มสูงขึ้นได้ในกรณีที่ทราบว่าที่พักอาศัยของอาสาสมัครมีมูลค่าต่ำกว่าของเพื่อนบ้านที่ประกาศขาย
สถิติอสังหาริมทรัพย์หลุดจำนองและรอการขายในสหรัฐเพิ่มขึ้นระหว่างปี 2007-2010 โดยมีเจ้าของบ้านมากกว่า 6 ล้านรายต้องถูกยึดบ้านเนื่องจากประสบปัญหาด้านสินเชื่อกับธนาคาร
นอกจากประเด็นทำเลที่พักอาศัย นักวิทยาศาสตร์ในออสเตรียยังค้นพบอีกสาเหตุที่มีผลต่อความดัน นั่นคือ ฮอร์โมน FGF23 โดยปัจจัยที่จะทำให้ปริมาณฮอร์โมนตัวนี้สูงขึ้น มาจากปริมาณฟอสเฟต แคลเซียม รวมทั้งโซเดียม ที่บริโภคเข้าไปและสะสมอยู่ภายในร่างกาย
ทั้งนี้ ฟอสเฟตถือเป็นส่วนประกอบที่พบได้ในวัตถุดิบและอาหารหลายอย่างรอบๆ ตัวเรา อาทิ พาร์เมซานชีส น้ำอัดลม ผงฟู และอาหารแปรรูปส่วนใหญ่
ในสหรัฐมีผู้ป่วยด้วยความดันโลหิตสูงเกือบ 76 ล้านราย ซึ่งอาจเป็นอาการเริ่มต้นและมีความเสี่ยงที่นำไปสู่โรคหัวใจและอาการหัวใจวายได้
ปัจจัยที่ทำให้มีความดันโลหิตสูงขึ้น ได้แก่ พันธุกรรม วัย ภาวะทุพโภชนาการ การมีน้ำหนักตัวมากเกินไป การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมทั้งความเครียดและปัจจัยอื่นๆ ในชีวิตก็อาจส่งผลต่อความดันโลหิตได้เช่นกัน
ที่มา: consumeraffairs.com