Face of entertainment : เพรงเทพ
แจ๊คซาวด์ผู้ผูกขาด ‘เสียง’ คอนเสิร์ต ดูเหมือนเศรษฐกิจของเมืองไทยจะชะลอและชะงักตัว ด้วยเหตุและปัจจัยทางการบ้านการเมืองที่คุกรุ่นอยู่ แต่อุตสาหกรรมบันเทิงและบริการกลับไม่ทรุดลงอย่างที่คิด วิ่งสวนทางกับโลกที่เครียดเพิ่มมากขึ้นทุกวัน
บริษัท แจ๊ค ซาวด์ ซิสเท็มส์ จำกัด ซึ่งกุมบังเหียนโดย แจ๊ค-เจษฎา พัฒนถาบุตร นั่งเป็นประธานบริษัทอยู่ การันตีได้ถึงการขยายตัว “คอนเสิร์ตมีมากมายตั้งแต่สเกลเล็กถึงใหญ่ งานด้านการบริการและการแสดงไม่มีหยุด สามารถหวังผลเรื่องรายได้ที่แน่นอน ซึ่งตอนนี้ไม่ได้หวังจำหน่ายเทป-ซีดี วงการดนตรีโดยเฉพาะคอนเสิร์ตหรือการแสดงสดจะมีความคึกคักมาก ต้องยอมรับว่า แม้ตอนนี้เศรษฐกิจจะไม่ดี แต่ยังมีคิววางไว้ทั้งปี ทำกันไม่ทันเลยทีเดียว” หนึ่งในตำนานของวงการเครื่องเสียงคอนเสิร์ตไทยเริ่มเปิดประเด็น
ในอุตสาหกรรมบันเทิงเมืองไทย รอบ 10 ปีที่ผ่านมา คอนเสิร์ตใหญ่ระดับอินเตอร์เนชั่นแนล นักร้องและวงดนตรีระดับโลกเข้ามาเปิดการแสดงสด ย่อมหนีไม่พ้นที่จะใช้บริการระบบเสียงจาก ‘แจ๊คซาวด์’ ไม่นับรวมคอนเสิร์ตระดับมโหฬารอีกมากมายของไทยด้วยเช่นกัน
เจษฎา หรือคนในวงการคอนเสิร์ตเรียกกันว่า ‘แจ๊ค’ เขาคือหนึ่งในผู้วางรากฐานของระบบเสียงในการแสดงคอนเสิร์ตในเมืองไทยให้เข้าสู่มาตรฐานระดับโลกอย่างแท้จริง โดยผ่านกระบวนการทำงานของ ‘แจ๊คซาวด์’
“เวลานี้เราพิสูจน์ตัวเองแล้วว่า มาอยู่ในมาตรฐานที่เป็นอินเตอร์-เนชั่นแนลหรือในระดับโลก หลังจากมีนิตยสาร โปร ออดิโอ เอเชีย เขาเขียนถึง ทำมาถึงตรงนี้เราโฟกัสอยู่ที่อุตสาหกรรมดนตรี ทางด้านเสียงเป็นแกนหลักตลอดมา”
ประสบการณ์เกือบ 20 ปีของ แจ๊คซาวด์ แต่ก่อนหน้านั้น แจ๊ค ก็คร่ำหวอดอยู่ในอุตสาหกรรมนี้มาตลอด ตั้งแต่เรียนจบคณะสถาปัตย์ จุฬาฯ เข้าทำงานในยุคบุกเบิกของวงการคอนเสิร์ตไทยที่เริ่มดำเนินตามรอยมาตรฐานการจัดคอนเสิร์ตแบบตะวันตก ร่วมหุ้นกับรุ่นพี่และเพื่อนฝูงในหลายบริษัทก่อนที่จะมีบริษัทของตัวเองขึ้นมา
“ก่อนหน้านี้จะเป็นฟรีแลนซ์ ซึ่งทำกับคนอื่น ถือเป็นประสบการณ์ที่สั่งสมมา ปัจจุบันแจ๊คซาวด์จะเป็นแกนหลัก เป็นเมเจอร์คอมปานีของธุรกิจตรงนี้ จริงๆ แล้วด้านดนตรีทางด้านการแสดงสดหัวใจของมันก็คือระบบเสียง เพราะระบบเสียงจะเสิร์ฟสเกลเล็กๆ ห้าร้อยคน จนกระทั่งเป็นหมื่นเป็นแสนให้ได้ โดยที่รักษามาตรฐานและคุณภาพของการบันเทิงในประเภทนั้นๆ”
ในสมัยที่ระบบเครื่องเสียงเพิ่งตั้งไข่ นักร้องนักดนตรีไม่มีสิทธิ์มีเสียงออกความเห็นเรื่องการใช้ระบบเสียง แล้วแต่ผู้จัดจะหามาให้ แต่ปัจจุบัน แจ๊คซาวด์ได้ทำให้เห็นว่า ถ้าคอนเสิร์ตมีระบบเสียงที่ได้มาตรฐานจะทำให้องค์รวมทุกอย่างดีไปด้วย
“ถ้าเน้นไปที่พวกนักดนตรีระดับโลก ซึ่งในการตัดสินใจว่า เล่นหรือไม่เล่น มีปัญหาอะไรอยู่ที่ระบบเสียงเพียงอย่างเดียวเลย อย่างอื่นเขาไม่สนใจ ตอนนี้นักดนตรีเมืองไทยหลายๆ วงเริ่มมีอาการนี้ออกมาแล้ว เราก็เห็นว่า ดีเหมือนกัน ศิลปินหลายคนที่พัฒนาขึ้นมาเขามองตรงเรื่องระบบเสียงเป็นอันดับแรกในการขึ้นแสดงสด อย่างตัวอย่างล่าสุด คอนเสิร์ตของ แดน-บีม ที่สยามพารากอน เขามีงบประมาณค่อนข้างจำกัด ทางเราก็อยากทำงานดนตรีที่พ็อพพิวลาร์อยู่ในขณะนี้ สุดท้ายตัวศิลปินเป็นคนผลักดันให้เลือกเครื่องเสียงของแจ๊คซาวด์ โดยขอให้ทางฝ่ายผลิตไปลดคอสต์โปรดักชั่นทางอื่นที่จะไม่ทำให้ภาพรวมเสีย เรื่องนี้ก็ดีใจมาก
“นักร้องนักดนตรีที่มีประสบการณ์ทางด้านแสดงสดจริงๆ ในภาคสนาม เขาออกทัวร์คอนเสิร์ตเยอะ เขาจะรู้ว่าปัจจัยอะไรบ้างที่ทำให้เขาเพอร์ฟอร์มแล้วออกมาดี แล้วเราก็ดีใจที่เด็กนักร้องรุ่นใหม่ๆ ศิลปินบับเบิลกัมเขาเข้าใจตรงนี้ ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีมาก”
ปัจจุบันแม้จะได้รับการยอมรับจากบรรดานักร้อง วงดนตรี และบริษัทจัดคอนเสิร์ตทั้งในและต่างประเทศแบบคล้ายผูกขาด แต่แจ๊คซาวด์ยังไม่พอใจ เพราะในหลายคอนเสิร์ต เขาถูกด่าในเรื่องระบบเสียงที่ต่ำกว่ามาตรฐาน ซึ่งไม่ได้เกิดจากเครื่องเสียงของบริษัทแต่เป็นกระบวนการประสานงานในด้านโปรดักชั่น ซึ่งทำให้ทุกอย่างออกมาไม่ดี และไม่สามารถควบคุมได้
“มีเครื่องเสียงและระบบเสียงที่ได้มาตรฐานระดับโลก แต่ปัญหาก็ยังไม่จบ เพราะตั้งแต่เราทำงานมา 20 กว่าปี ยังไม่มีใครลงทุนเรื่องฮาร์ดแวร์ที่ชัดเจนในเรื่องของโครงสร้างเวที เพราะเวทีของบ้านเรามาจากพื้นฐานนั่งร้านก่อสร้าง แม้พยายามพัฒนา แต่อย่างไรก็ตามความแข็งแรงไม่ได้อยู่ในระดับมาตรฐานสากล ปัญหาเหล่านี้มันมีมาอยู่เรื่อยๆ ซึ่งในส่วนนี้ไม่ใช่ปัญหาของเราเพราะเราทำเกี่ยวกับระบบเสียง แต่สิ่งนี้ทำให้งานของเราล่าช้าไปด้วย ในเวลาจัดการเรื่องเสียงก็ทำให้เวลาหดเหลือนิดเดียว กลายมาเป็นปัญหาของเราไปด้วย”
แจ๊คซาวด์จึงได้ตั้งบริษัทโปรดักชั่นขึ้นมารองรับในส่วนที่ไม่ได้มาตรฐานโลกทั้งหมด ซึ่งเป็นโจทย์ที่ท้าทายอย่างยิ่ง รวมถึงเพื่อให้มีเวลาในการจัดตั้งและวางเทคนิคของเครื่องเสียงให้ได้คุณภาพสมบูรณ์เต็มร้อย ไม่ต้องห่วงเรื่องเวลาที่เป็นข้อจำกัดอยู่ในปัจจุบัน
“นี่เป็นแนวคิดในการพัฒนาแนวทางโปรดักชั่นคอนเสิร์ต เป็นก้าวขยับที่สำคัญ แม้เราจะเข้าไปทำด้านโปรดักชั่นทั้งหมด แต่เข้าไปทำในสิ่งที่วงการคอนเสิร์ตในเมืองไทยยังขาด เราไม่ไปทำร้ายคนอื่นยังเป็นพันธมิตรกับผู้ประกอบการด้านโปรดักชั่นรายอื่นๆ เหมือนเดิม ไม่ใช่เข้ามาแล้วดันคนอื่นออกไป เพราะตลาดโตขึ้นเรื่อยๆ ต่อให้ขยายอย่างไรก็ไม่ทันตลาด”
แน่นอนจากจุดนี้ ดูเหมือนว่า แจ๊คซาวด์ ซึ่งผูกขาดทั้งด้านระบบเสียงในคอนเสิร์ตต่างประเทศอย่างไม่มีคู่แข่งแล้ว ยังมีการขยายเข้าจัดการในส่วนของโปรดักชั่นเองด้วย มีหลายๆ เสียงตั้งข้อสังเกตว่า เขาอาจก้าวขึ้นเป็นมาเฟียในวงการธุรกิจคอนเสิร์ต เขาย้ำว่า
“เราไม่ใช่มาเฟีย ต้องเรียกว่าผู้นำตลาด เพราะเอาเทคโนโลยีเข้ามาเติมเต็มส่วนที่ไม่มีในเมืองไทย ไม่ต้องกลัว”
คอนเสิร์ตของร็อบบี วิลเลียมส์ พ็อพสตาร์ชาวอังกฤษ ในกลางเดือนพฤศจิกายนที่จะถึงนี้ จะเป็นการท้าทายและเดิมพันครั้งสูงอีกหน สำหรับการตอกย้ำในพัฒนาการอีกก้าวของบริษัททางด้านเสียงอันดับหนึ่งของประเทศไทยและเอเชียแต่น่าเสียดายที่ ร็อบบี วิลเลียมส์ ยกเลิกคอนเสิร์ตครั้งนี้เสียแล้ว