โรงเรียน ปลากระป๋อง กับอนุสาวรีย์

KID SALUB KUA vol.10

 

เรื่อง :  นายแพทย์โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์

 

 

ผมคิดว่าระบบการศึกษาในปัจจุบันสร้างทุกข์ให้กับพ่อแม่และเด็กๆ ได้มากกว่าสถาบันทางสังคมอื่นๆ แม้ว่าโรงพยาบาลอาจเป็นคู่แข่งสำคัญของโรงเรียนในการสร้างความทุกข์ยากแก่ผู้ที่ต้องมารับบริการ แต่อย่างน้อย เด็กๆ ก็ไม่ต้องมาโรงพยาบาลทุกวันเหมือนกับที่ต้องไปโรงเรียน
นอกจากต้องทุกข์แทบทุกวันเป็นการประจำแล้ว ความหลากหลายของความทุกข์ที่โรงเรียนหรือระบบการศึกษาสร้างขึ้นนั้นก็ยังมีมากมายกว่ามาก มีตั้งแต่เรื่องทั่วๆ ไป อย่างเช่น ความทุกข์ยากจากค่าเล่าเรียน ค่าเครื่องแบบ ปัญหารถติดเวลาเปิดเทอม เด็กนักเรียนวัยรุ่นมั่วสุมหรือยกพวกตีกัน หรือว่าเครื่องแบบนักศึกษาที่คับติ้วและสั้นเต่อ ไปจนถึงครูลงโทษเด็กอย่างรุนแรงเกินเหตุ  ครูลวนลามเด็ก หรือแม้แต่บังคับให้เด็กและพ่อแม่บูชา (ซื้อ) จตุคามรามเทพในราคาแพง เป็นต้น

แต่ก็ยังมีความทุกข์ที่ผมคิดว่าน่าจะต้องทำความเข้าใจมากกว่าทุกข์ที่ว่ามาข้างต้น

ผมอยากเรียกว่า เป็นทุกข์ที่เกิดจากระบบอุตสาหกรรมความรู้

คือ ระบบโรงเรียนมันเหมือนกับระบบโรงงานอุตสาหกรรมการศึกษาที่มีลูกหลานของเราเป็นวัตถุดิบ โรงงานนี้ทำหน้าที่ปั๊มผลผลิตให้ออกมาเหมือนๆ กันไม่ต่างไปจากโรงงานปลากระป๋อง เด็กๆ จึงออกมาหน้าตา ท่าทางหรือความคิดเหมือนๆ กัน วาดรูปวิวทิวทัศน์ทีไรก็มีภูเขาสองลูก มีพระอาทิตย์อยู่กลาง กับต้นมะพร้าวและชายหาดเหมือนๆ กัน
ท่องอาขยานหรือท่องสูตรคูณก็ท่องแบบเสียงยานคางเหมือนๆ กันทั้งประเทศ

ใครที่ไม่ฟิตเข้ากับระบบที่เป็นอยู่ก็กลายเป็นคนผิดปกติ เด็กที่เรียนอ่อนกว่ามาตรฐานก็ถูกคัดออกหรือเรียนต่อไม่ได้ ส่วนเด็กที่มีความคิดหรือทำในเรื่องที่แปลกหรือแตกต่างก็ถูกปรับให้เข้าเกณฑ์ปกติด้วยข้อสอบมาตรฐาน

จะว่าไปก็เหมือนโรงงานปลากระป๋อง ปลาตัวไหนเล็กไม่ได้ขนาดก็ถูกคัดออกไปทำอาหารสัตว์ ส่วนตัวที่ใหญ่ก็ถูกตัดส่วนเกิน สับหัวสับท้ายให้พอเหมาะกับขนาดกระป๋องมาตรฐาน
แม้แต่วิชาศิลปะ เราก็สอนแบบอุตสาหกรรม

ตอนที่ลูกผมเริ่มเข้าเรียนชั้นประถมหนึ่ง ลูกชายหัวแก้วหัวแหวนของผมมักมีอาการไม่ค่อยชอบไปโรงเรียน แต่หลังจากคะยั้นคะยอหว่านล้อมจนแกยอมไปโรงเรียนได้สักระยะหนึ่ง แกก็มาขอกับแม่ว่า วันจันทร์ขอให้พาแกไปโรงเรียนตอนสิบโมงได้หรือเปล่า ครั้นสอบถามไปมาก็ได้ความว่า ที่แกไม่อยากไปเรียนเช้าก็เพราะชั่วโมงเช้านั้นเป็นชั่วโมงวิชาศิลปะ หรือที่แกเรียกว่า วิชาวาดเขียน
ผมยอมรับว่า ผมงงกับการที่ลูกชายไม่อยากเข้าเรียนวิชาวาดเขียนเป็นอย่างมาก เพราะก่อนหน้านั้นเมื่อครั้งเรียนชั้นอนุบาล แกชอบวิชาวาดเขียนมาก และวาดได้ดีจนได้รับเลือกเป็นตัวแทนชั้นเรียนให้วาดผลงานในหนังสือประจำปีของโรงเรียน

ผมตัดสินใจไปคุยกับครูวิชาวาดเขียนจึงได้รู้ว่า แต่เดิมทีเดียวครูท่านนี้สอนวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์มาก่อน แต่เนื่องจากโรงเรียนแห่งนี้ไม่เคยได้ถ้วยรางวัลจากการประกวดวาดภาพของเด็กเลย ครูใหญ่ก็เลยขอให้ครูท่านนี้ ซึ่งมีผลงานการสอนคณิตฯและวิทย์จนนักเรียนที่นี่ไปสอบแข่งขันชนะเลิศได้ถ้วยรางวัลจากเวทีต่างๆ มามากแล้ว มาสอนวิชาศิลปะ เพื่อให้โรงเรียนได้โล่หรือถ้วยรางวัลด้านศิลปะมาเป็นเกียรติประวัติของโรงเรียนบ้าง

คุณครูใช้วิธีการสอนที่มุ่งผลสัมฤทธิ์ตามนโยบายของครูใหญ่โดยตรง คือใช้โปสเตอร์ภาพวาดเด็กที่ชนะเลิศการประกวดศิลปินมิรินด้ามาเป็นแบบมาตรฐานให้นักเรียนทำตาม เช่น ภาพที่จะวาดต้องอยู่ตรงกลาง การวาดรูปต้องมีฉากหลัง ถ้าเป็นรูปในบ้านก็ต้องมีเฟอร์นิเจอร์ ถ้าเป็นนอกบ้านก็ต้องมีต้นไม้ดอกไม้ให้เต็มพื้นฉากหลัง และต้องระบายสีให้ทึบเต็ม ไม่ให้มีการเว้นช่องว่างไว้
เรียกว่ามีเกณฑ์การตัดสินเหมือนวิชาคณิตฯหรือวิทยาศาสตร์ ถ้าเด็กทำได้ถูกต้องตามแบบก็จะได้คะแนนดี ถ้าไม่ได้ก็ถือว่าทำผิด เมื่อทำผิดก็ไม่ได้คะแนน

ผมถามครูว่า มีเด็กที่ทำได้อย่างที่ครูต้องการมีอยู่สัก 10 เปอร์เซ็นต์ไหม ครูตอบอย่างรวดเร็วว่า “โอ๊ย ไม่ถึงหรอกค่ะคุณพ่อ มีสักห้าเปอร์เซ็นต์ก็ดีใจแล้ว”

ผมถามครูไปว่า วิธีที่ครูสอนจะทำให้เด็กๆ ที่เหลืออีก 95 เปอร์เซ็นต์กลายเป็นพวกที่ล้มเหลวทางศิลปะและเขาจะมีทัศนะที่เป็นลบ และจะไม่ชื่นชมดื่มด่ำในคุณค่าของงานศิลปะไปตลอดชีวิตหรือเปล่า

คุณครูคิดอยู่สักครู่ ก่อนที่จะพูดเชิงอุทานว่า “เอ๊ะ ถ้าอย่างนั้น ชั้นก็กำลังทำร้ายพวกเขาอยู่ซินะ” เป็นคำพูดที่ทำให้ผมคิดว่าคุ้มค่าที่ได้มาคุยกับคุณครู

ปัญหาของเรื่องที่เล่ามานี้ ส่วนหนึ่งคงอยู่ที่ครู แต่ผมคิดว่า ปัญหาที่ใหญ่กว่าอยู่ที่ระบบการศึกษาที่ผมอยากจะเรียกว่า ระบบอุตสาหกรรมความรู้

คือเป็นระบบขนาดใหญ่ที่เน้นการผลิตให้ได้ผลผลิตเหมือนๆ กันเป็นมาตรฐานเดียว และที่สำคัญเป็นระบบแพ้คัดออกที่ทำให้มีคนไม่กี่คนเป็นผู้ชนะ ในขณะที่คนส่วนใหญ่เป็นผู้พ่ายแพ้

หลายปีก่อน ผมกลับไปทำวิจัยที่บ้านเกิดและได้พบกับคุณครูเสงี่ยม พวงคำ ครูศิลปะที่ชอบเลี้ยงกล้วยไม้  คุณครูเสงี่ยมคุยกับผมเรื่องปัญหาการแนะแนวและบอกว่าเด็กสมัยนี้ไม่ค่อยรู้ว่าตนเองชอบอะไร เมื่อไม่รู้ว่าชอบอะไรก็เลือกเรียนตามๆ กัน ในขณะเดียวกัน ครูก็ไม่เห็นศักยภาพของนักเรียนแต่ละคน เพราะใช้มาตรฐานและการให้คุณค่าแบบเดียวอย่างตายตัว จึงมักทำลายปัจเจกภาพของนักเรียนไปโดยไม่รู้ตัว

ครูเสงี่ยมเล่าให้ผมฟังถึงนักเรียนคนหนึ่งที่ถูกระบบโรงเรียนทำให้ล้มเหลว เด็กนักเรียนคนนี้เรียนอ่อนและสอบตกเกือบทุกวิชา จนเป็นที่อิดหนาระอาใจของครูทุกๆ คน ความที่ตอบคำถามไม่ได้ทำให้แต่ละชั่วโมงต้องถูกลงโทษ ยิ่งเรียนอ่อนและถูกทำโทษก็ยิ่งไม่มีใจที่จะเรียน การเรียนก็ยิ่งแย่ลงไปอีก ทั้งวิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษาไทย หรือแม้แต่วิชาพละก็ไม่เคยได้คะแนนดี การบ้านก็ไม่ค่อยได้ส่ง ส่วนสมุดเรียนก็ดูจะใช้ขีดเขียนวาดการ์ตูนเล่นมากกว่าจะเป็นการจดงาน

เรียกว่า เป็นเด็กเหลวไหลไร้อนาคตในสายตาของคุณครูแทบทุกคน

หลังจากดิ้นรนเอาตัวรอดไปจนจบชั้นมัธยมต้นไปด้วยความโล่งใจของเหล่าคุณครู เขาก็ได้ไปศึกษาหาประสบการณ์ด้านศิลปะที่กรุงเทพฯ อยู่พักใหญ่

หลังจากกลับมาอยู่ที่บ้านเกิด ก็มาเปิดร้านรับทำป้ายและเขียนภาพมีรายได้พอประทังชีวิต จนกระทั่งทางจังหวัดต้องการสร้างอนุสาวรีย์พระยาสุรินทร์ภักดีฯ วีรบุรุษผู้สร้างเมืองสุรินทร์ขึ้น เขาจึงส่งแบบเข้าประกวดและชนะเลิศการคัดเลือกให้สร้างเป็นอนุสาวรีย์ที่ปัจจุบันประดิษฐานไว้ที่ปากทางเข้าเมืองสุรินทร์ เป็นรูปพระยาสุรินทร์ภักดีฯ ยืนอยู่ข้างพญาช้างสูงเด่นสง่างาม ให้ผู้คนได้ยกมือไหว้ในยามที่สัญจรผ่านไปมา

ครูเสงี่ยมบอกผมว่า ทุกครั้งที่ขับรถผ่านอนุสาวรีย์แห่งนี้กับเพื่อนครูและเห็นเพื่อนครูยกมือไหว้อนุสาวรีย์นี้ด้วยความเคารพ ก็มักจะบอกกับเพื่อนๆ ครูว่า ที่คุณครูยกมือไหว้นั้นเป็นผลงานของนักเรียนคนหนึ่ง ที่ชีวิตของเขาเคยถูกระบบการศึกษาตัดสินว่าล้มเหลว

 

*******************************

(หมายเหตุ : ตีืพิมพ์ กรกฎาคม 2550)

Author

ทิพย์พิมล เกียรติวาทีรัตนะ
หญิงแกร่งที่ทำงานทั้งหน้าบ้านและหลังบ้านให้กับ WAY ถ้าเป็นนักฟุตบอลนี่คือผู้เล่นผู้จัดการทีมที่มีประสบการณ์ในสายงานข่าว ทั้งคลุกคลี สัมภาษณ์ บันเทิง ไลฟ์สไตล์ นอกจากนี้การเป็นคุณแม่ซึ่งมีลูกสาวย่างเข้าวัยรุ่นยังช่วยส่งเสริมให้สามารถปั่นงานด้านเด็กและเยาวชนอย่างเชี่ยวชาญ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า