ไฟดับ

cramp,ไฟดับ

 

โตมร ศุขปรีชา

 

 

เกิดความรู้สึกสมเพชเวทนาตัวเองขึ้นมาทุกครั้งที่กลับบ้านแล้วพบว่านาฬิกากะพริบ

ผมตั้งนาฬิกาปลุกเอาไว้ตามเวลา มันเป็นนาฬิกาดิจิตัลเรืองแสงแบบเสียบปลั๊กไฟ ถ้าเมื่อไหร่ไฟไม่เข้า นาฬิกาก็จะดับ แล้วเมื่อเสียบปลั๊กใหม่ มันก็จะกะพริบเป็นจังหวะสม่ำเสมอ

ทุกวันก่อนออกจากบ้าน ผมจะมองนาฬิกาเรือนนั้นเสมอว่าเป็นเวลาเท่าไหร่แล้ว ผมออกจากบ้านกี่โมง จะได้เป็นหมุดหมายของวันทั้งวัน

คอนโดมิเนียมที่ผมอาศัยอยู่ ตั้งอยู่ในซอยโชคชัยร่วมมิตร ใจกลางเมือง ใกล้ๆ กับย่านสุทธิสาร และการไฟฟ้านครหลวงที่รับผิดชอบพื้นที่นี้ ก็คือการไฟฟ้าบางเขน

ในระยะหลังๆ มานี้ เมื่อกลับบ้าน ผมมักพบว่านาฬิกากะพริบ และเวลาที่ตั้งไว้อย่างเที่ยงตรงก็เสียไป

เปล่าครับ-แค่ครั้งสองครั้งไม่ได้ทำให้ผมเดือดร้อนอะไร แต่บางครั้งใน 1 สัปดาห์ นาฬิกาจะเปลี่ยนไปกะพริบราว 4-5 วัน โดยเฉพาะในวันธรรมดา-ไม่ใช่วันเสาร์อาทิตย์

แปลง่ายๆ ได้ว่า…ไฟดับเกือบทุกวัน และรู้จัก ‘เลือก’ ดับเสียด้วย!

ยิ่งกว่านั้น ล่าสุด-นั่งทำงานอยู่ดีๆ ไฟก็ดับลงไม่มีปี่มีขลุ่ย สร้างความเสียหายที่ประเมินไม่ได้ เพราะผมไม่อาจกลับไปเขียนสิ่งที่หายวับไปให้เหมือนเดิมได้อีก และโง่เกินกว่าจะกู้ไฟล์คืน

ผมเคยคุยกับพี่ชายคนหนึ่งที่เป็นนักสร้างกังหันลมเพื่อผลิตกระแสไฟ พี่คนนี้ไม่ได้ทำงานเป็นวิศวกร ไม่ได้เรียนจบมาทางด้านการออกแบบไฟฟ้าหรืออะไรสูงส่งเทือกนั้น แต่เขาเป็น ‘นักคิด’ ประเภทเดียวกับปราชญ์ชาวบ้านหลายคนที่สร้างคุณูปการให้ประเทศ เขามีชื่อว่า บรรยง ขยันกิจ ทำงานอยู่กองอาคารสถานที่ มหาวิทยาลัยบูรพา ที่บางแสนนี่เอง

ปกติแล้ว เรามักจะสงสัยกันว่า ทำไมประเทศไทยไม่ใช้ไฟฟ้าจากกังหันลม ซึ่งน่าจะเป็นไฟฟ้าที่ถูก และไม่สร้างมลพิษ คำตอบที่พี่บรรยงบอกก็คือเพราะกังหันลมที่มีอยู่ในโลก ไม่ได้รับการออกแบบมาให้ใช้กับกระแสลมในเมืองไทยไงครับ กระแสลมที่แคลิฟอร์เนีย หรือที่ซีกโลกเหนือขึ้นไปกว่าเรานั้น จะมีความเร็วลมมากกว่า คืออยู่ที่ 10-12 เมตรต่อวินาทีขึ้นไป ขณะที่ลมบ้านเรา นอกจากจะไม่แรง (คืออยู่ที่ความเร็วประมาณ 5 เมตรต่อวินาที) แล้ว กระแสลมยังแปรปรวนอีกต่างหาก ทำให้กังหันลมจากต่างประเทศนำมาใช้ในเมืองไทยแล้วไม่ค่อยได้ผล แถมยังมีราคาแพงมากด้วย

แต่พูดได้ว่า พี่บรรยงเป็นคนแรกของโลก ที่ศึกษาเรื่องของกังหันลม จนสามารถสร้างกังหันลมผลิตไฟฟ้าใช้งานได้จริงที่ความเร็วลมต่ำได้ โดยไม่ได้ศึกษาในสถาบันใดทั้งสิ้น สิ่งที่พี่บรรยงทำก็คือการ ‘อ่าน’ ทั้งจากหนังสือ การไปขอความรู้จากผู้รู้อื่นๆ แล้วนำมาสังเคราะห์ต่อ รวมทั้งการคลิกอินเทอร์เน็ตด้วยวิธีการง่ายๆ นั่นก็คือเปิดเข้าไปในกูเกิล พิมพ์คำว่า windmill แล้วอ่านทุกบทความที่มี ซึ่งเท่ากับจำนวนนับหมื่นบทความ

เมื่อไหร่ว่างจากงาน อย่างเช่นตอนมื้อกลางวัน พี่บรรยงก็จะห่อข้าวไปนั่งกินที่ริมทะเลบางแสน ไม่ได้ไปเปล่าๆ เพื่อความโรแมนติก แต่ไปเพื่อวัดความเร็วลม แล้วเก็บข้อมูลวันต่อวัน!

ปกติแล้ว กังหันลมนำเข้าจะมีราคาสูงลิบลิ่ว อย่างน้อยๆ ก็ตัวละหลายแสนขึ้นไปถึงระดับล้าน แต่กังหันลมที่พี่บรรยงผลิตได้นั้นมีราคาต่ำ อยู่ที่ไม่กี่หมื่นบาทต่อตัว นั่นทำให้มีเจ้าของบริษัทนำเข้ากังหันหลายรายอยากนัดพี่บรรยงกินข้าว อยากชวนไปทำงานด้วย เสนอค่าตัวราคาลิบลิ่วให้เพื่อแลกกับการผลิตกังหัน
แต่พี่บรรยงปฏิเสธ สิ่งที่เขาทำคง ‘ช็อก’ ผู้คนเหล่านั้นอย่างรุนแรง เพราะเขาเอาข้อมูลทุกอย่างใส่ลงไปในเว็บไซต์ www.thaiwindmill.com ของตัวเองหมด บอกเล่าและปลุกเร้าผู้คนให้ลุกขึ้นมาทำกังหันเอง ถ้าทุกบ้านมีกังหันลมหลังละ 1 ตัว โดยดูให้เหมาะกับสภาพลมฟ้าอากาศ อย่างน้อยๆ ก็จะช่วยลดการใช้พลังงานไฟฟ้าไปได้มหาศาล

ผมไม่รู้หรอกว่า การไฟฟ้าทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายผลิตหรือนครหลวง เคยแยแสสนใจพี่บรรยงและโครงการของเขาบ้างหรือไม่ สิ่งที่ผมรู้ก็คือ ตอนนี้แถวบ้านของผมไฟดับบ่อยมาก ดับแทบทุกวัน ดับวันละ 2-3 ครั้งก็ยังมี

บ้านของผมอยู่ในกรุงเทพฯ เมืองฟ้าอมรที่จ้องแต่จะประกาศว่าจะเป็นฮับโน่นฮับนี่ให้เหนือว่าประเทศอื่นในภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็นมาเลเซีย สิงคโปร์ หรือเวียดนาม

10 กว่าปีที่แล้ว ผมเคยไปเนปาล ประเทศแห่งนั้นหนาวเย็นมากในปลายเดือนธันวาคม เวลานอนเราจึงต้องเปิดฮีตเตอร์กัน แต่ไฟฟ้าที่เนปาลดับบ่อย นอนๆ อยู่ก็จะรู้สึกหนาวเยือกขึ้นมาไม่เว้นแต่ละคืน แม้เวลากลางวัน ไฟฟ้าก็ดับอยู่บ่อยๆ เป็นเพราะเนปาลในยุคนั้นยังไม่ได้พัฒนาในเรื่องการผลิตไฟฟ้าให้พอเพียง

ตอนนั้นผมนึกถึงเมืองไทยแล้วดีใจที่สถานการณ์ไฟฟ้าของเราไม่ได้เลวร้ายแบบเขา

2-3 ปีที่แล้ว ผมกลับไปเนปาลอีกครั้ง คราวนี้พาเพื่อนไปด้วย และเตือนเพื่อนไว้ดิบดีให้ทำความเข้าใจกับกระแสไฟฟ้าของประเทศเขา ว่าไฟอาจจะดับได้บ่อยๆ โดยเฉพาะถ้าเกิดพายุฝนฟ้าคะนองหรืออากาศแปรปรวน

เราไปเนปาลในช่วงต้นธันวาคม ปกติแล้วช่วงนี้เนปาลจะฟ้าใสเพราะเป็นฤดูหนาว แต่ก็มีฝนหลงฤดูพัดเข้ามาตกอยู่บ้างเหมือนกัน แต่ผมและเพื่อนๆ ก็ต้องแปลกใจ เพราะไฟฟ้าไม่ดับเลยแม้สักครั้งเดียว ต่อให้พายุกระโชกสายไฟฟ้าแค่ไหนก็ตาม

ชาวเนปาลบอกผมคล้ายๆ ในโฆษณาว่า “เขาพัฒนาแล้ว! ” ไฟฟ้าในกรุงกาฐมัณฑุจึงไม่ดับอีกต่อไป หรือถ้าจะดับก็ดับน้อยลงกว่าเดิมมาก

ผมคิดเล่นๆ ว่า ถ้าคิดเป็นกราฟ กราฟความ ‘เจริญ’ ทางไฟฟ้าของเนปาลก็คงพุ่งขึ้น ขณะที่ความเจริญทางไฟฟ้าของกรุงเทพฯ (อย่างน้อยๆ ก็ในแถบถิ่นที่ผมอยู่-ซึ่งว่ากันว่าเจริญเอาการ! ) น่าจะลดต่ำลงอย่างน่าใจหาย
ในเวลาเดียวกันนี้ ก็เริ่มมีการประโคมข่าวเรื่องโรงไฟฟ้านิวเคลียร์กันขึ้นมาใหม่ ทำนองว่าถึงเวลาแล้วที่เราต้องคิดเรื่องโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ไม่อย่างนั้นอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ความต้องการใช้ไฟฟ้าจะมากล้นพ้นรำพันจนโรงไฟฟ้าทั้งหลายที่มีอยู่ไม่พอใช้

ขอประทานโทษเถิดครับ-ผมเห็นด้วยกับการหาพลังงานสำรอง รวมทั้งพลังงานทดแทน และการคิดค้นแหล่งพลังงานใหม่ๆ

แต่ผมไม่เห็นด้วยกับการทุ่มเงินก้อนใหญ่ๆ ไปสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ไม่ใช่เพราะผมต่อต้านนิวเคลียร์แบบโง่ๆ

แต่ผมไม่อยากเห็นสุวรรณภูมิแห่งที่สอง!

สุวรรณภูมินั้น ต่อให้เลวร้ายโคตรโกงกันอย่างไร ก็ยังไม่สร้างผลฉิบหายวายวอดได้เท่าโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ชำรุดบกพร่อง จากประสบการณ์การทำงานและพบปะผู้คนมามากพอสมควรในหลากหลายวงการ ผมรับประกันได้เลยว่า สังคมไทยมีวัฒนธรรมคอรัปชั่นที่เข้มแข็งมาก และไม่มีใครหน้าไหนกล้ารับรองได้หรอกครับ ว่าโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จะไม่มีการล็อคสเป็ค ลดสเป็ค หรือลวงล่อคนไทยตาดำๆ ให้ตกหลุมพรางไปก่อน กว่าจะรู้ตัวว่าได้อนุสรณ์แห่งความเลวร้ายมาประดับบ้านประดับเมืองอีกแห่ง ก็สายไปเสียแล้ว

ผมคิดถึงพี่บรรยงขึ้นมาจับใจ พี่บรรยงอยากเห็นกังหันลมติดตั้งอยู่ตามยอดตึกสูง หรือแม้กระทั่งบนทางด่วน ตามยอดของเสาไฟฟ้าตามถนน กังหันของพี่เขาเล็กขนาดนั้น และใช้ผลิตไฟฟ้าได้จริงชนิดที่ฝรั่งยังต้องทึ่ง หลายหน่วยงานรวมทั้งหน่วยงานทางทหารของไทยยังต้องเชิญพี่บรรยงไปบรรยาย กรีนพีซก็สนับสนุน

แต่ผู้มีอำนาจโดยตรงในเรื่องนี้อยู่ที่ไหนหรือ ผมได้แต่ถามตัวเองทุกครั้งที่กลับบ้านแล้วพบนาฬิกากะพริบเป็นจังหวะ

บางทีผมก็เผลอนึกว่าตัวเองอยู่ในเนปาลเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว

ช่างน่าเวทนาตัวเองเสียนี่กระไร!

 

*****************************

(หมายเหตุ : บทความนี้ตีพิมพ์ในคอลัมน์ cramp เมษายน 2550)

Author

ทิพย์พิมล เกียรติวาทีรัตนะ
หญิงแกร่งที่ทำงานทั้งหน้าบ้านและหลังบ้านให้กับ WAY ถ้าเป็นนักฟุตบอลนี่คือผู้เล่นผู้จัดการทีมที่มีประสบการณ์ในสายงานข่าว ทั้งคลุกคลี สัมภาษณ์ บันเทิง ไลฟ์สไตล์ นอกจากนี้การเป็นคุณแม่ซึ่งมีลูกสาวย่างเข้าวัยรุ่นยังช่วยส่งเสริมให้สามารถปั่นงานด้านเด็กและเยาวชนอย่างเชี่ยวชาญ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า