ถ้าเขายังมีชีวิต อยากบอกอะไร

4 มิถุนายน 2564 เวลา 18.00 น. ที่ลานหน้าศาลหลักเมือง ทุ่งศรีเมือง อุบลราชธานี มีการจัดกิจกรรม ‘1 Year วันเฉลิม’ ในวาระครบรอบ​ 1​ ปี​ การถูกอุ้มหาย​ของ ต้าร์-วันเฉลิม​ สัตย์​ศักดิ์สิทธิ์​ นักเคลื่อนไหวทางการเมืองซึ่งคาดว่าถูกทำให้สูญหายระหว่างลี้ภัยทางการเมืองในกัมพูชา ซึ่งจังหวัดอุบลราชธานีเป็นบ้านเกิดของวันเฉลิม 

สำหรับกิจกรรมรำลึกครั้งนี้เป็นการยืนอย่างสงบ โดยเว้นระยะห่างตามมาตรการควบคุมโควิด เป็นเวลา 11 นาที 12 วินาที และมีการสลับการกล่าวรำลึกถึงวันเฉลิมของมิตรสหาย บอกเล่าเรื่องราวชีวิตวัยเด็กจนถึงเติบโตเป็นนักกิจกรรมเพื่อสังคม โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบราว 20 นาย สังเกตการณ์บริเวณรอบๆ พื้นที่ทำกิจกรรม 

ย้อนกลับไปวันที่ 4 มิถุนายน 2563 เวลา 21.30 น. สำนักข่าวประชาไท เผยแพร่ข้อมูลจากแหล่งข่าวที่ปกปิดชื่อเพื่อความปลอดภัย ระบุว่า นายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ อายุ 37 ปี ผู้ลี้ภัยทางการเมืองชาวไทยที่พักอาศัยอยู่ในประเทศกัมพูชา ถูกอุ้มหายไปจากหน้าคอนโด ที่กรุงพนมเปญ เมื่อเย็นวันนั้น เวลา 17.54 น. ขณะเดินลงมาซื้อลูกชิ้นปิ้งหน้าคอนโด โดยเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยพยายามเข้าไปช่วย แต่กลุ่มคนที่มาอุ้มตัวมีอาวุธปืน

รายงานเดียวกันระบุคำให้สัมภาษณ์ของแหล่งข่าวที่ได้คุยกับนายวันเฉลิมว่า ขณะเกิดเหตุตนโทรศัพท์คุยกับวันเฉลิม โดยเสียงสุดท้ายที่ได้ยินจากวันเฉลิมผ่านโทรศัพท์คือ “โอ๊ย หายใจไม่ออก” ก่อนสายจะตัดไป แต่ในขณะนั้นตนเข้าใจว่าเกิดอุบัติเหตุ และวันเฉลิมบาดเจ็บ จึงพยายามโทรกลับไปถามอีกประมาณครึ่งชั่วโมง รวมทั้งติดต่อเพื่อนของวันเฉลิม ให้ช่วยตรวจสอบที่คอนโด จึงทราบว่าวันเฉลิมหายตัวไป

สำหรับนายวันเฉลิม หรือ ‘ต้าร์ เสรีชนคนอีสาน’ เป็นนักเคลื่อนไหวทางการเมืองไทย ใช้เฟซบุ๊กส่วนตัวชื่อบัญชี ‘Wanchalearm Satsaksit’ อัดวิดีโอขนาดสั้นวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลคณะรัฐประหารไทยเป็นระยะ ด้วยการใช้ภาษาลาวในการพูด โดยแทรกศิลปะการสื่อสารพื้นบ้านอีสาน เช่น ผญา บทกลอน และหลักคิดทางการเมือง อาทิ การวิจารณ์รัฐธรรมนูญที่ไม่ได้มาจากประชาชน การทำประชามติที่ไม่เสรี เป็นต้น

สำหรับคลิปวิดีโอล่าสุดที่เขาเผยแพร่ก่อนจะมีข่าวการถูกลักพาตัวไปจากคอนโด คือคลิปวิดีโอวิจารณ์ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา

ก่อนหน้านี้ หลังการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 วันเฉลิมเคยถูกเรียกรายงานตัวตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แต่เขาปฏิเสธที่จะไปรายงานตัวในวันที่ 8 มิถุนายน 2557 ก่อนจะถูกออกหมายจับบุคคลผู้ฝ่าฝืนไม่มารายงานตัวตามคำสั่ง คสช. 

นับตั้งแต่รัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 เป็นต้นมา มีผู้ลี้ภัยทางการเมืองไทยจำนวนมากเดินทางออกนอกประเทศไม่ต่ำกว่า 100 คน เฉพาะในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มีนักเคลื่อนไหวอย่างน้อย 10 คนที่หายตัวปริศนา มีเพียง 2 ศพที่ยืนยันอย่างชัดเจนว่าถูกฆาตกรรมด้วยการคว้านท้องและยัดด้วยแท่งปูน

กิตติพล อายุ 17 ปี

“สิ่งที่ผมอยากจะบอกเขาคือ ผมภูมิใจในตัวเขาที่ลุกขึ้นมาสู้ก่อนพวกเรา ไม่ควรมีครอบครัวไหนต้องถูกบังคับให้สูญหาย หากเขาทำผิด ต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ไม่ใช่กระบวนการนอกกฎหมาย”

แชมป์ อายุ 33 ปี 

“เราไม่อยากเห็นใครถูกบังคับสูญหายอีก หรือถูกทรมานไม่ว่ากรณีใด และไม่ว่าเขาจะยังอยู่หรือไม่ เราก็ยังจะร่วมกันผลักดันให้เรื่องนี้ไม่เกิดขึ้นอีกในประเทศไทย เพราะการบังคับให้สูญหายโดยรัฐเกิดขึ้นมาตลอดหน้าประวัติศาสตร์”

โชติกา อายุ 33 ปี 

“อยากจะบอกว่า ประเทศไทยเราปากบอกเป็นประชาธิปไตย แต่จริงๆ ไม่ใช่ประชาธิปไตย 100 เปอร์เซ็นต์ การต่อสู้ของพวกเขา (ผู้ลี้ภัยที่สูญหาย) ทำให้เราได้รู้ว่า มันมีอำนาจที่ทำให้คนคนหนึ่งสูญหายไปจากสังคมได้”

โอม อายุ 18 ปี 

“อยากจะบอกว่า เรายังต่อสู้เพื่อความยุติธรรมให้เกิดกับคุณต้าร์และทุกคนที่คาดว่าถูกอุ้มหาย ขอให้อย่าหมดหวัง แล้วเราจะได้รับความยุติธรรม”

ชัญญา (นามสมมุติ) อายุ 19 ปี 

“อยากจะขอบคุณที่ออกมาต่อต้านเผด็จการก่อนพวกเรา และขอบคุณที่ออกมาพูดความจริงให้เรารู้ว่าสังคมไทยมีเรื่องแบบนี้อยู่ ทำให้เราตาสว่างกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตลอดหลายปีที่ผ่านมา”

Author

อิทธิพล โคตะมี
อิทธิพลเข้ามาในกองบรรณาธิการ WAY พร้อมตำรารัฐศาสตร์ สังคม การเมือง ถ้อยคำบรรจุคำอธิบายด้านทฤษฎีและวิธีการปฏิบัติ คาแรคเตอร์โดยปกติจะไม่ต่างจากนักวิชาการเคร่งขรึม แต่หลังพระอาทิตย์ตกไปสักพัก อิทธิพลจะเป็นชายผู้อบอุ่นที่โอบกอดมิตรสหายได้ทุกคน

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า