การเปลี่ยนระบบพลังงานของโลกให้เป็นพลังงานหมุนเวียน 100 เปอร์เซ็นต์ ไม่ได้ส่งผลดีต่อสภาพแวดล้อมเท่านั้น ความเป็นไปได้ประการหนึ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือ ‘ความคุ้มค่า’ ต่อการลงทุนมากกว่าระบบไฟฟ้าปัจจุบันที่พึ่งพาพลังงานฟอสซิลและนิวเคลียร์
งานวิจัยชิ้นใหม่โดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีแลปปีนรันตา (Lappeenranta University: LUT) ของฟินแลนด์ และ Energy Watch Group (EWG) องค์กรไม่แสวงผลกำไรจากเบอร์ลิน เปิดเผยในงาน Global Renewable Energy Solution Showcase ซึ่งจัดขึ้นพร้อมๆ กับการประชุมสิ่งแวดล้อมของสหประขาชาติ COP 23 ที่เมืองบอนน์ (Bonn) ประเทศเยอรมนี
ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจาก German Federal Environmental Foundation และ Stuftung Mercator ซึ่งทีมวิจัยกล่าวว่า ศักยภาพและเทคโนโลยีของพลังงานหมุนเวียนที่มีอยู่เมื่อจับคู่กับระบบกักเก็บที่ดี จะสามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าเพียงพอกับความต้องการภายในปี 2050
นักวิจัยคาดการณ์ถึงการเปลี่ยนแปลงรูปแบบจากการใช้พลังงานฟอสซิลมาเป็นพลังงานหมุนเวียนจะทำให้ราคาพลังงานไฟฟ้าทั่วโลกลดลงเฉลี่ย 61 ดอลลาร์ต่อเมกะวัตต์ชั่วโมง (MWh) เมื่อเทียบกับ 82 ดอลลาร์ต่อเมกะวัตต์ชั่วโมงในปี 2015
ศาสตราจารย์คริสเตียน เบรเยอร์ (Christian Breyer) หัวหน้าทีมวิจัยบอกว่า “จากเทคโนโลยีที่มีอยู่ การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทั้งระะบบภายในปี 2050 มีความเป็นไปได้ที่จะทำให้ค่าใช้จ่ายลดลงกว่าปัจจุบัน”
“การเปลี่ยนแปลงด้านพลังงานไม่มีคำถามเรื่องความเป็นไปได้ทางเทคนิคหรือความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจศาสตร์แล้ว แต่มันเป็นระดับนโยบาย” เบรเยอร์ ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์สุริยะ (Solar Economy) ที่ LUT และประธานบอร์ดวิทยาศาสตร์ของ EWG กล่าวเพิ่มเติม
งานวิจัยเชื่อว่า ผู้คนจะปรับมาใช้พลังงานหมุนเวียนมากขี้น นักวิจัยคาดการณ์ว่า ภายในปี 2050 พลังงานไฟฟ้าทั่วทั้งโลกจะผสมผสานด้วยสัดส่วนพลังงานแสงอาทิตย์ 69 เปอร์เซ็นต์ พลังงานลม 18 เปอร์เซ็นต์ พลังงานน้ำ 8 เปอร์เซ็นต์ และพลังงานชีวมวลราว 2 เปอร์เซ็นต์
ถ้าเป็นไปในทิศทางนี้ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการผลิตพลังงานไฟฟ้าจะเป็นศูนย์ ลดพลังงานที่สูญเปล่าที่ใช้ในระบบการผลิต และพวกเขาเชื่อการผลิตพลังงานหมุนเวียนจะทำให้เกิดงานเพิ่มขึ้นถึง 36 ล้านตำแหน่งภายในปี 2050 มากกว่าปัจจุบันถึง 17 ล้านตำแหน่ง
“มันไม่มีเหตุผลเลยที่จะลงทุนในพลังงานฟอสซิลหรือนิวเคลียร์ต่อไปอีก” ฮันส์-โยเซฟ เฟลล์ (Hans-Josef Fell) ประธาน EWG กล่าว “พลังงานหมุนเวียนสามารถผลิตไฟฟ้าออกมาได้อย่างคุ้มค่า โรงไฟฟ้าที่ใช้ถ่านหิน นิวเคลียร์ ก๊าซธรรมชาติ และน้ำมัน จะลดสัดส่วนลง การลงทุนจะหันไปหาพลังงานหมุนเวียนและการวางระบบพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับการกักเก็บและโครงข่ายพลังงานไหม ทำให้ลดค่าใช้จ่ายไม่จำเป็นและเพิ่มอัตราการเกิดโลกร้อนมากขึ้น”
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่นักวิจัยแนะนำว่า การพึ่งพาพลังงานหมุนเวียน 100 เปอร์เซ็นต์ มีความเป็นไปได้ เมื่อต้นปี ศาสตราจารย์มาร์ค จาค็อบสัน (Mark Jacobson) จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด (Stanford University) และผู้ร่วมงาน 26 คนตีพิมพ์โรดแมปสำหรับ 139 ประเทศ ที่รวมกันแล้วปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ 99 เปอร์เซ็นต์ของโลก นี่คือสิ่งสำคัญที่พวกเขาค้นพบในงานศึกษาชิ้นนี้
– ศักยภาพและเทคโนโลยีของระบบพลังงานหมุนเวียนในปัจจุบัน ทั้งการผลิตและจัดเก็บ สามารถผลิตพลังงานที่คุ้มค่าและปลอดภัยครอบคลุมความต้องการทั่วโลกภายในปี 2050 ซึ่งคาดการณ์ว่า จำนวนประชากรน่าจะเติบโตจาก 7,300 ล้าน ไปเป็น 9,700 ล้านคน ทำให้ความต้องการพลังงานไฟฟ้าเพิ่มขึ้นจาก 24,310 เทระวัตต์ชั่วโมง (TWh) ในปี 2015 เป็น 48,800 เทระวัตต์ชั่วโมง ในปี 2050
– ต้นทุนเฉลี่ยตลอดอายุโครงการ (Total Levelized Cost of Electricity: LCOE) ทั่วโลกเฉลี่ย 100 เปอร์เซ็นต์ ของพลังงานหมุนเวียนในปี 2050 รวมถึงระบบการจัดเก็บจ่ายไฟฟ้าและวางโครงข่าย จะอยู่ที่ประมาณ 70 ดอลลาร์ ต่อเมกะวัตต์ชั่วโมง เมื่อเทียบกับ 94 ดอลลาร์ ต่อเมกะวัตต์ชั่วโมง ในปี 2015
– เนื่องจากแผ่นโซลาร์เซลล์มีราคาต่ำและการพัฒนาระบบจัดเก็บแบตเตอรีจะทำให้พลังงานหมุนเวียนไฟฟ้ามีศักยภาพมากขึ้น สัดส่วนการผลิตไฟฟ้าทั้งหมดในปี 2050 จะอยู่ที่พลังงานแสงอาทิตย์ 69 เปอร์เซ็นต์ พลังงานลม 18 เปอร์เซ็นต์ พลังงานน้ำ 8 เปอร์เซ็นต์ และพลังงานชีวมวลประมาณ 2 เปอร์เซ็นต์
– การใช้พลังงานลมจะเพิ่มขึ้นเป็น 32 เปอร์เซ็นต์ ภายในปี 2030 หลังจากนั้นพลังงานแสงอาทิตย์จะเข้ามามีสัดส่วนมากขึ้น จาก 37 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2030 เป็น 69 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2050
– แบตเตอรีกักเก็บพลังงานคือตัวแปรสำคัญที่ทำให้เทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์ใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยพลังงานที่เก็บไว้ได้จะครอบคลุม 31 เปอร์เซ็นต์ ของความต้องการภายในปี 2050 และ 95 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนนั้นใช้พลังงานจากแบตเตอรีเพียงอย่างเดียว
– ปรากฏการณ์โลกร้อนและการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ทั่วโลกจะลดลง 11 GtCO2eq ในปี 2015 เป็นศูนย์ภายในปี 2050 หรือเร็วกว่านั้น
– การเปลี่ยนผ่านรูปแบบการผลิตไฟฟ้าเป็นพลังงานหมุนเวียน 100 เปอร์เซ็นต์ จะช่วยสร้างงานทั้งหมด 36 ล้านตำแหน่งภายในปี 2050 เมื่อเทียบกับ 13 ล้านตำแหน่งในปี 2015
– คิดจากพลังงานที่ผลิตได้ 100 เปอร์เซ็นต์ พลังงานหมุนเวียนจะสูญเสียพลังงานไปในระบบ 26 เปอร์เซ็นต์ของความต้องการ ขณะที่ระบบการผลิตแบบเก่าจะเสียพลังงานสูญเปล่าไปถึง 58 เปอร์เซ็นต์