หากติดตามข่าวเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด แทบทุกวันเราจะได้ยินได้เห็นการเปิดเผยตัวเลขหนี้สินของคนไทยที่เพิ่มสูงขึ้น จนไม่สามารถแบกรับภาระหนี้สินเหล่านี้ได้ นำไปสู่การทิ้งหนี้ และกลายเป็นหนี้เสียที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับสภาวะทางเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวช้าหลังวิกฤตโควิด-19 ขณะที่รายได้โตไม่ทันรายจ่าย
สิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมดนี้ไม่อาจโยนบาปให้กับรัฐบาลชุดปัจจุบันของนายเศรษฐา ทวีสิน เพียงฝ่ายเดียว เพราะปัญหาเศรษฐกิจไทยเป็นปัญหาที่สั่งสมมานับ 10 ปี นับตั้งแต่การรัฐประหาร 2557 ภายใต้การนำของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ผู้รังสรรค์เศรษฐกิจไทยให้เดินมาสู่จุดที่ไม่สามารถหวนกลับไปรุ่งเรืองได้ดังเดิม ความคาดหวังที่จะเห็นตัวเลข GDP เติบโตปีละ 5 เปอร์เซ็นต์ ดูเหมือนยากเกินเอื้อม
หากมองด้วยแว่นเศรษฐศาสตร์การเมืองแล้ว ผลพวงจากการยึดอำนาจทางการเมืองและการเข้าไปกำหนดโครงสร้างทางเศรษฐกิจ คือคำตอบที่เผยให้เห็นไส้ในของเศรษฐกิจไทยในรอบทศวรรษที่ผ่านมา
ไทยสูญเสียความสามารถในการแข่งขันในระดับโลกแล้ว
นี่คือความจริงที่น่ากระอักกระอ่วนใจ จากอดีตที่ไทยเคยหมายมั่นปั้นมือว่าจะเป็น ‘เสือตัวที่ 5 แห่งเอเชีย’ ฝันจะพัฒนาเศรษฐกิจจนกลายประเทศรํ่ารวยตามหลังไต้หวัน เกาหลีใต้ ฮ่องกง และสิงคโปร์ ด้วยอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูงถึงปีละ 7-8 เปอร์เซ็นต์ แม้ว่าไทยจะต้องเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งในปี 2540 แต่เศรษฐกิจไทยก็มีโอกาสกลับมาสดใสอีกครั้ง ในฐานะฐานการผลิตรถยนต์ขนาดใหญ่ในภูมิภาคในสมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร จนได้รับการขนานนามว่า ‘ดีทรอยต์แห่งเอเชีย’ รวมถึงเป็นผู้ผลิตฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์รายใหญ่ถึงขนาดที่เมื่อเกิดวิกฤตนํ้าท่วมใหญ่ในปี 2554 ตลาดคอมพิวเตอร์ของโลกแทบหยุดชะงัก
นั่นคือภาพความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจในหลายทศวรรษก่อน แต่ไม่ได้หมายความว่าเศรษฐกิจไทยจะกลับไปโตเท่าเดิมเหมือนเมื่อทศวรรษ 2530 เพราะในทศวรรษ 2540-2550 อัตราการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจไทยโดยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 5-6 เปอร์เซ็นต์ต่อปี จากตัวเลขของธนาคารโลก (World Bank)
ตรงกันข้ามกับปัจจุบัน เมื่อคนไทยมองไปทางไหนจะพบว่า ประเทศเพื่อนบ้านที่เคยตามหลังเรามากำลังจะวิ่งแซงหน้าไทยไปแล้ว ทั้งเวียดนามและอินโดนีเซีย อีกทั้งยังฟื้นตัวจากโควิด-19 ได้อย่างรวดเร็ว ทำให้ปัจจุบันประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนมีอัตรการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจไม่ตํ่ากว่า 5 เปอร์เซ็นต์ต่อปี
เมื่อหาคำตอบว่าทำไมเศรษฐกิจไทยโตไม่ถึง 5 เปอร์เซ็นต์ต่อปี เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนด้วยกัน หนึ่งในคำตอบนั้นคือ ไทยสูญเสียศักยภาพในการแข่งขันในระดับโลกเป็นที่เรียบร้อยแล้ว สินค้าอุตสาหกรรม แม้แต่สินค้าทางการเกษตรของไทยไม่ใช่ ‘ดาวรุ่ง’ ในตลาดโลกอีกต่อ ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์สันดาป ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ ที่กำลังถูกแทนที่ด้วยรถยนต์ไฟฟ้าหรือรถยนต์พลังงานทางเลือกอื่น อย่างโซลิดสเตตไดร์ฟ (solid state drive) ที่ถูกนำมาใช้ในสมาร์ตโฟน แท็บเล็ต และอุปกรณ์ดิจิทัลต่างๆ
หากย้อนกลับไปเมื่อ 2557 สินค้าที่ประเทศไทยผลิตเพื่อการส่งออกยังคงเดินหน้าไปได้สวยในตลาดโลก แต่การผลิตสินค้าเหล่านี้อาศัยเพียงแรงงานที่มีทักษะปานกลาง รายได้ปานกลาง ใช้เทคโนโลยีตํ่า ไม่ได้มุ่งเน้นไปที่การวิจัยและพัฒนา หรือสร้างนวัตกรรมเป็นของตนเองที่จะช่วยเสริมสร้างศักยภาพในการแข่งขันมากยิ่งขึ้น ทำให้ประเทศไทยยังคงติดอยู่ในกับดักประเทศรายได้ปานกลาง (middle-income trap) เช่นเดิม ไม่สามารถก้าวข้ามไปสู่การเป็นประเทศที่มีรายได้สูงได้ ขณะเดียวกัน ในรอบทศวรรษที่ผ่านมาภาคธุรกิจอุตสาหกรรมทั่วโลกล้วนถูกปั่นป่วน (disrupt) ด้วยเทคโลยีใหม่ที่ก้าวหน้าแบบก้าวกระโดด เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (AI) เป็นต้น
จะเห็นว่าประเทศไทยในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ภายใต้การนำของรัฐบาลประยุทธ์ที่สืบทอดอำนาจจากคณะรัฐประหารไม่สามารถหมุนตามโลกได้ทัน ผู้นำขาดวิสัยทัศน์ การปรับตัวของอุตสาหกรรมไทยช้าเกินไป ซํ้ายังหมุนทวนโลกที่ก้าวหน้าไปไกลจนจะไปถึงดาวอังคารแล้ว
ในปี 2560 รัฐบาล คสช. ได้ประกาศ ‘แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (2560-2579)’ โดยมีจุดมุ่งหมายหนึ่งคือ การพาประเทศไทยออกจากกับดักประเทศรายได้ปานกลาง ไปสู่การเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว มีรายได้สูง ทว่าในความเป็นจริงตลอดระยะเวลาร่วม 1 ทศวรรษที่ผ่านมา แทบไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด ซํ้ายังทำให้เศรษฐกิจไทยตกอยู่ใน ‘ภาวะต้มกบ’ ตามคำนิยามของ รองศาสตราจารย์ ดร.อภิชาต สถิตนิรามัย แห่งคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ได้กล่าวถึงเศรษฐกิจไทยในสมัย คสช. ที่ทำให้ไทยเริ่มสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน กระทั่งตกขบวนความเปลี่ยนแปลงของโลก จนปัจจุบันประเทศไทยที่เปรียบเหมือนกบก็ยังไม่สามารถกระโดดออกจากหม้อได้ ซํ้าฝาหม้อยังถูกปิดตายจนกบแทบจะเปื่อยยุ่ย ด้วยกลไกของการสมานฉันท์ระหว่าง ‘นายทุน-ขุนศึก’ ภายหลังการรัฐประหารในปี 2557 เป็นต้นมา
นายทุน-ขุนศึก ผู้ฉุดรั้งความสามารถการแข่งขันของเศรษฐกิจไทย
การรัฐประหาร 2557 มีต้นทุนสูงมากสำหรับประเทศไทยในรอบ 10 ปี ไม่เพียงแค่การกดปราบผู้เห็นต่างทางการเมือง ผ่านการใช้กลไกของรัฐในการปราบปรามอย่างแข็งขัน และสถาปนาอำนาจทางการเมืองอย่างเข็มเเข็งผ่านรัฐธรรมนูญ 2560 แม้กระทั่งในทางเศรษฐกิจ เราก็ได้เห็นภาพ ‘ทุนประชารัฐ’ ที่มีความแนบแน่นทางการเมืองกับ คสช. และรวมไปถึงพรรคสืบทอดอำนาจของทหารอย่างพรรคพลังประชารัฐและรวมไทยสร้างชาติอีกด้วย
‘นายทุน-ขุนศึก’ ที่ผนึกกำลังกันอย่างเหนียวแน่น สร้างระบบทุนนิยมอุปถัมถ์หรือทุนนิยมพวกพ้อง จนนำไปสู่การ ‘ผูกขาด’ อำนาจทางเศรษฐกิจในกำมือของชนชั้นนำเพียงหยิบมือหรือ 1 เปอร์เซ็นต์ของประเทศเท่านั้น ดังที่นักวิชาการสายรัฐศาสตร์ รองศาสตราจารย์ ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ เรียกมันว่า ‘ระบอบประยุทธ์’
ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐ-ทุนเช่นนี้ ทำให้กลุ่มทุนขนาดใหญ่สามารถผูกขาดตลาดภายในได้ เพราะพวกเขาสามารถเข้าไปกำกับควบคุมได้ หรือที่เรียกว่า state capture
เมื่อนายทุนสามารถเข้าสู่อำนาจทางการเมือง ทำให้องค์กรกำกับควบคุม (reguratory body) ทางธุรกิจ กลไกที่กำหนดนโยบายทางเศรษฐกิจ กลไกที่ป้องกันการผูกขาด ‘เป็นหมัน’ เพราะทุนมีอำนาจเหนือรัฐ เช่น กลไกการป้องกันการควบรวมกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติที่ไม่กล้าใช้อำนาจพิจารณาเรื่องการควบรวม มีแต่เพียงอำนาจในการรับทราบเท่านั้น จนทำให้เหลือผู้ให้บริการเพียง 2 เจ้าใหญ่เท่านั้น
การผูกขาดเป็นตัวการขัดขวางการมีนวัตกรรม (innovation) และเทคโนโลยี ประเทศที่พัฒนาแล้วต่างก็แข่งขันกันด้วยสิ่งนี้ ทำให้เกิดศักยภาพในการแข่งขันที่สูงขึ้นโดยเฉพาะในตลาดโลก ซึ่งต้องมาพร้อมกับการลงทุนวิจัยและพัฒนา และการแข่งขันด้วยความคิดสร้างสรรค์ (creativity) ที่สูงด้วยเช่นกัน แต่เมื่อตลาดภายในประเทศไทยถูกผูกขาด ทำให้นวัตกรรมถูกแช่แข็ง เพราะไม่มีใครสามารถคิดค้นสิ่งใหม่ๆ สู้กับทุนใหญ่ได้ ดังนั้น นวัตกรรมหรือความคิดสร้างสรรค์จึงไม่เกิดขึ้น
ตัวอย่างเช่น การผูกขาดโดยเจ้าตลาดในอุตสาหกรรมเหล้า-เบียร์-เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่มีมูลค่าตลาดนับแสนล้านบาท แต่มีผู้เล่นรายใหญ่เพียงไม่กี่เจ้า เราจึงไม่เห็นภาพของธุรกิจสุราสร้างสรรค์ หรือสุราท้องถิ่นที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว อย่างเหล้าญี่ปุ่นหรือไวน์ยุโรป หรือกรณีการผูกขาดของทุนพลังงาน ทำให้ประชาชนต่างได้รับผลกระทบโดยตรงจากค่าไฟที่สูงขึ้น เป็นต้น
วัดใจรัฐบาลเศรษฐา แก้ปัญหาให้ตรงจุด
การเข้ามาของรัฐบาลเศรษฐาในยุคเศรษฐกิจถดถอย กลายเป็น ‘เเพะ’ รับมรดกบาปต่อจากรัฐบาลประยุทธ์ แม้พรรคเพื่อไทยจะพยายามเข็ญนโยบายเศรษฐกิจอย่างดิจิทัลวอลเล็ต แต่ก็นับเป็นการแก้ไขปัญหาในระยะสั้นเท่านั้น ไม่สามารถสร้างพายุหมุนทางเศรษฐกิจขนานใหญ่เพื่อลบล้างผลพวงที่เป็นพิษของ คสช. ที่ครองอำนาจทางการเมืองมายาวนานเกือบทศวรรษได้ เพราะหากจะแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจทั้งหมดที่เกิดขึ้นมาแล้ว ทางออกคือต้องแก้ไขที่ ‘โครงสร้าง’ ทางเศรษฐกิจ ซึ่งต้องอาศัยระยะเวลาในการแก้ปัญหา ไม่อาจแก้ไขเสร็จได้ในวันสองวัน
การจัดตั้งรัฐบาลข้ามขั้วของพรรคเพื่อไทยกับพรรคสองลุง เป็นอีกหนึ่งปัญหาที่อาจสะท้อนว่า ความพยายามในการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ทลายทุนผูกขาด คงไม่อาจเกิดขึ้นได้จริง หรือหากเกิดขึ้นก็คงทำได้เพียงฉาบฉวยเท่านั้น และอาจมีเพียงนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ (soft power) ที่มีความน่าจะเป็นในการสร้างศักยภาพทางเศรษฐกิจของไทยในระยะยาว
ประกอบกับสภาวะทางเศรษฐกิจไทยที่ไม่ค่อยสดใส จากปัญหาหนี้สินครัวเรือนที่กำลังจะกลายมาเป็นหนี้เสียในอนาคต กับข้อเสนอเรื่องการลดดอกเบี้ยที่อาจส่งผลไม่มากนัก แต่อย่างน้อยก็พอจะช่วยบรรเทาลูกหนี้ได้บ้าง
ดังนั้น โจทย์ใหญ่ของรัฐบาลเศรษฐาคือ จะทำอย่างไรให้คนไทยสามารถมีรายได้เพิ่มมากขึ้น มีงานที่ใช้ทักษะสูง มีรายได้สูง มีการใช้เทคโนโลยีและมีนวัตกรรมที่ก้าวหน้า เพื่อให้ประเทศไทยสามารถกลับไปแข่งขันในเวทีโลกได้อย่างภาคภูมิอีกครั้ง และหลุดออกจากการเป็นประเทศที่ติดกับดักรายได้ปานกลาง ไปเป็นประเทศที่มีรายได้สูงในอนาคต
สุดท้ายนี้ จินตภาพของรัฐบาลว่าจะมองประเทศไทยในอีก 20 ปีข้างหน้าอย่างไร จึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับประเทศไทยในวันนี้