การชุมนุมใหญ่ในวันที่ 19 กันยายน 2563 คือข้อความทางการเมืองที่ผู้ร่วมชุมนุมได้ทำให้เกิดการ ‘หวนกลับ’ ไปทบทวนเหตุการณ์รัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 รวมถึงโครงสร้างทางการเมืองไทย
การชุมนุมเริ่มตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน 2563 กระทั่งช่วง ‘ย่ำรุ่ง’ ของวันที่ 20 กันยายน 2563 ก็ทำให้การชุมนุมใหญ่ครั้งนี้หมุนเข็มนาฬิกากลับไปทบทวนประวัติศาสตร์ เพื่อยื่นข้อเสนอกับปัจจุบัน ถึงความฝันที่จะอยู่ร่วมระหว่างสังคมไทยกับสถาบันพระมหากษัติรย์ในเวลาของอนาคต
พวกเขายื่นจดหมายเปิดผนึกที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ผ่าน พลตำรวจโทภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) เป็นการยุติการชุมนุมใหญ่ที่ยาวนานเกือบ 24 ชั่วโมงเต็ม
19 กันยายน 2563: วันไม่มีแสงแดด สายฝนไม่อาจหยุดผู้คน
ราว 12.07 นาฬิกา เมื่อประตูมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ฝั่งสนามหลวงได้ถูกเปิดออก ประชาชนทยอยเข้าไปภายในมหาวิทยาลัยอย่างต่อเนื่อง
ประชาชนทยอยกันเข้าร่วมชุมนุมกันอย่างคึกคัก ฟ้ามืด ฝนพรำตลอดทั้งวัน แต่การปราศรัยบนเวทีกลางสนามฟุตบอลก็ยังมีผู้ปักหลักนั่งฟังอย่างต่อเนื่อง
อีกมุมหนึ่งของกลุ่มคน ผู้ร่วมชุมนุมจากมหาสารคามมาในชุดปลดแอกประเทศไทย เสื้อและกางเกงสีดำถูกเชือกพันธนาการอยู่ที่แข้งขาทั้งสองข้าง คอและสองบ่าถูกแอกคุมบังคับ พวกเขาหวังว่าการเข้ามาร่วมชุมนุมครั้งนี้จะช่วยปลดแอกผู้คนจากจากการถูกกดขี่อย่างยาวนานได้เสียที
ประยุทธ์ลาออกและคืนอำนาจให้ประชาชน เราทนไม่ไหวแล้วกับการถูกกดขี่ข่มเหงและความอยุติธรรมทั้งหลาย
นี่คือข้อเรียกร้องของกลุ่มศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยรามคำแหงมาในชุดนักรบพ่อขุนรามฯ สวมเสื้อสีแดงห้อยหลวงพ่อกระทิงแดงไว้ที่คอ พวกเขายืนยันจะปักหลักอยู่กับนักศึกษาจนจบ แม้การชุมนุมครั้งนี้จะยาวไปถึงช่วงเย็นของวันที่ 20 กันยายน
เปลี่ยน ‘สนามหลวง’ เป็น ‘สนามราษฎร’
เวลาประมาณ 14.30 น. จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ ‘ไผ่ ดาวดิน’ นำมวลชนเข้าพื้นที่สนามหลวง อย่างไรก็ตาม เวลาประมาณ 15.15 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจประกาศว่า เนื่องจากพื้นที่บริเวณนี้ไม่ได้ขออนุญาตการชุมนุมมาก่อน ซึ่งต้องแจ้งล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 24 ชม. เจ้าหน้าที่จึงให้ยกเลิกการชุมนุมภายใน 1 ชั่วโมงนับตั้งแต่การประกาศ
แต่กลุ่มผู้ชุมนุมดันแผงเหล็กทำให้ตำรวจต้องถอยร่นจากแนวเดิมประมาณ 500 เมตร ไปตั้งแนวแผงเหล็กและใช้รถน้ำเกือบ 20 คันจอดต่อแถวขวางอีกชั้นกันก่อนถึงกำแพงวัดพระแก้วประมาณ 150 เมตร ซึ่งเป็นเขตหวงห้าม
หลังจากเข้าในสนามหลวงได้แล้ว มวลชนได้เพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ จนเต็มพื้นที่ครึ่งหนึ่งของสนามหลวงที่เป็นพื้นปูนหรือ ‘พื้นที่แข็ง’ ซึ่งทาง กทม. ได้จัดให้เป็นพื้นที่ที่ประชาชนเข้ามาใช้ประโยชน์ได้ระหว่างเวลา 05.00-22.00 น. แต่ห้ามจัดกิจกรรมทางการเมือง
ขณะที่อีกฝั่งหนึ่งซึ่งเป็นสนามหญ้า ได้มีเจ้าหน้าที่ตั้งแถวพร้อมเหล็กกั้น และมีป้ายข้อความติดไว้ว่า ‘ระยะ 150 เมตร เขตห้ามชุมนุม ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ’ ซึ่งกำหนดไว้ว่าห้ามชุมนุมในระยะ 150 เมตรจากเขตพระราชฐาน
16.00 น. ประชาชนเริ่มปักหลักชุมนุมที่สนามหลวง
มวลชนทยอยเข้ามาในพื้นที่มากขึ้นเรื่อยๆ ธงสีแดง ธงสีรุ้ง ธงชาติไทย ธงชาติเยอรมนี และร่มหลากสีสันกลางท้องสนามหลวง ขณะนี้รถเครื่องขยายเสียงปักหลักแล้ว ผู้ชุมนุมยังคงทยอยสมทบ
ตลอดแนวถนนราชดำเนินใน ตั้งแต่บริเวณศาลพระแม่ธรณีบีบมวยผมไปจนถึงหน้าศาลฎีกา ถูกเนรมิตให้กลายเป็นถนนสายกิจกรรม มีการตั้งเต็นท์ของกลุ่มต่างๆ ที่ออกมาส่งเสียงเรียกร้องถึงความไม่เป็นธรรมในสังคม และนำเสนอประเด็นที่ต้องการให้มีการแก้ไขผ่านกิจกรรมสร้างสรรค์หลากหลายรูปแบบ
สิ่งที่เราสามารถพบเห็นก็คือว่าว ว่าวลอยว่อนบนฟ้าเหนือสนามหลวง ประชาชนหลายคนสาวด้ายในมือ สายตาจดจ้องไปที่ว่าวบนฟ้า สายลมเย็นโชยมาเป็นระยะ หลายคนหวนคิดถึงสนามหลวงในอดีต
การรวมตัวของนิสิตนักศึกษาหลากหลายสถาบัน ในนามกลุ่ม Autonomia มีการจัดเตรียมอุปกรณ์สำหรับทำว่าว ให้ประชาชนมาร่วมวาดภาพระบายสีและเขียนความในใจเพื่อ ‘ส่งข้อความส่งถึงคนบนฟ้า’
สมาชิกกลุ่ม Autonomia รายหนึ่ง เล่าว่า หลายปีก่อนพื้นที่สนามหลวงได้มีการปิดปรับปรุง แต่หลังจากนั้นก็ไม่อนุญาตให้ประชาชนเข้าไปใช้ประโยชน์อีกเลย แม้กระทั่งเทศกาลว่าวที่เคยจัดขึ้นในท้องสนามหลวงก็ไม่สามารถจัดได้อีก
“เราอยากให้สนามหลวงกลับมามีชีวิตอีกครั้ง เพราะเงินที่ใช้ในการทำนุบำรุงสนามหลวงก็มาจากภาษีประชาชน ต้องคืนสนามหลวงให้ประชาชน เราจึงอยากเชิญชวนให้ประชาชนมาร่วมกันส่งข้อความถึงคนบนฟ้า”
กลุ่ม iLaw หรือโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน จัดกิจกรรม ‘ร่วมรื้อ-ร่วมร่าง-ร่วมสร้างรัฐธรรมนูญ’ มีการตั้งโต๊ะเชิญชวนประชาชนให้มาร่วมลงชื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยค่ำคืนนั้นสามารถรวบรวมรายชื่อได้ทั้งสิ้นเกือบ 1 แสนรายชื่อ พร้อมนัดหมายประชาชนร่วมเดินเท้าจากสถานีรถไฟฟ้า MRT เตาปูน ไปยังรัฐสภา ในวันที่ 22 กันยายน เวลา 13.00 น. เพื่อนำรายชื่อทั้งหมดยื่นต่อรัฐสภาก่อนที่จะมีการประชุมวาระพิจารณาเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญในวันที่ 23-24 กันยายนนี้
กลุ่มประชาชนผู้เรียกร้องเสรีภาพในการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ นำโดยเครือข่ายสุราปลดแอก กลุ่มประชาชนเบียร์ และกลุ่มผู้ผลิตคราฟท์เบียร์ จัดกิจกรรมตั้งโต๊ะล่ารายชื่อเพื่อแก้ไข พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 โดยเฉพาะมาตรา 32 ที่ระบุว่า “ห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือแสดงชื่อหรือเครื่องหมายของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อันเป็นการอวดอ้างสรรพคุณหรือชักจูงใจผู้อื่นดื่มโดยตรงหรือโดยอ้อม”
“การจำกัดสิทธิไม่ให้คนพูดถึงสิ่งที่ตัวเองดื่มกินถือเป็นเรื่องที่แปลกมาก มาตรา 32 เป็นการจำกัดสิทธิทั้งคนดื่มและคนผลิต เพียงแค่เราพูดว่ากินเบียร์ยี่ห้ออะไร อร่อยอย่างไร แค่นี้ก็ถูกปรับ 5 หมื่นแล้ว
“ทุกวันนี้คนไทยเหมือนถูกครอบด้วยรัฐศาสนา กฎหมายที่บังคับใช้อยู่ไม่มีความเป็นประชาธิปไตย คนดื่มเหล้าดื่มเบียร์ถูกผลักให้กลายเป็นคนชั่วคนบาป ทั้งที่ภาษีเหล้าเบียร์ก็ถูกเอาไปใช้พัฒนาประเทศ” ธนากร ท้วมเสงี่ยม กลุ่มประชาชนเบียร์ กล่าว
พวกเขาเชื่อมั่นว่า เสรีภาพในการดื่ม การผลิต คือหนึ่งในประเด็นพื้นฐานของความเป็นประชาธิปไตย ทุกวันนี้ประชาชนยังคงไร้สิทธิ ไร้ทางเลือกในการดื่ม ตรงกันข้ามกลับถูกกดทับไม่ให้เกิดพลังและความคิดสร้างสรรค์ จนกระทั่งสูญเสียวัฒนธรรมในการดื่มและการสร้างสรรค์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์
กิจกรรมของกลุ่ม ‘สหภาพร้อยเอ็ดปลดแอก’ ซึ่งเกิดจากการรวมตัวของเด็กและเยาวชนระดับมัธยมต้น-มัธยมปลาย มีการจัดทำแผ่นป้ายไวนีลขนาดใหญ่ บนแผ่นป้ายคือใบหน้าของผู้นำคณะรัฐประหารและนักการเมืองที่รับใช้อำนาจเผด็จการ พร้อมประกาศเชิญชวนประชาชนมาร่วมกิจกรรมปาสีใส่ใบหน้าของบุคคลที่ปรากฏเหล่านี้
หนึ่งในเยาวชนตัวแทนกลุ่มสหภาพร้อยเอ็ดปลดแอก ระบุว่า กิจกรรมที่จัดขึ้นนี้เพื่อแสดงให้เห็นว่า การปาสีไม่ใช่ความรุนแรง แต่เป็นการแสดงออกโดยสันติ ซึ่งเทียบไม่ได้กับสิ่งที่รัฐกระทำต่อประชาชน ไม่ว่าจะเป็นการข่มขู่คุกคาม จับกุมคุมขัง และตั้งข้อกล่าวหาที่ไม่เป็นธรรม
“เราไม่มีอาวุธ มีแต่กระป๋องสีกับไมโครโฟน ขณะที่รัฐมีอำนาจ และใช้อำนาจนั้นยัดคดีให้ใครก็ได้ตามอำเภอใจ” เยาวชนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 กล่าว
ธงสีรุ้งโบกสะบัดอยู่หน้าซุ้มกิจกรรมบริเวณด้านหน้าศาลฎีกา โดยกลุ่มผู้หญิงปลดแอกและภาคีเครือข่าย ที่มีข้อเรียกร้องในประเด็นสิทธิเท่าเทียมทางเพศในมิติต่างๆ อาทิ การเรียกร้องสู่ความเป็นธรรมทางเพศ ผู้มีความหลากหลายทางเพศ กลุ่มชาติพันธ์ุ และพนักงานบริการทางเพศ (sex woker)
โดยตัวแทนกลุ่มระบุว่า ประเด็นดังกล่าวจำเป็นต้องแก้ไขที่รากฐานเชิงโครงสร้าง โดยเชื่อว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเปิดช่องให้ผู้ที่เข้าใจเรื่องสิทธิความเท่าเทียมทางเพศได้มีโอกาสได้รับเลือกเข้ามาเพื่อมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย รวมถึงประเด็นการร่วมลงชื่อแก้ไขประมวลกฎหมายอาญาเพื่อนำไปสู่การแก้ไขในมาตรา 301 ซึ่งมีเนื้อหาหลักเกี่ยวกับการยุติการตั้งครรภ์แบบปลอดภัยในผู้หญิง
อาภรณ์สีแดงภายใต้หน้ากากเหล่านั้น คือการหยิบยืมคาแรคเตอร์จากซีรีส์ Money Heist หรือ La Casa de Papel ผู้ชุมนุมเหล่านี้บอกว่า เขาไม่ได้มาปล้นธนาคาร แต่มาทวงคืนความอยุติธรรมกลับคืนมา
จาก ‘ค่ำคืน’ สู่ ‘ย่ำรุ่ง’
กิจกรรมบนเวทีสนามหลวงในช่วงเย็นถึงหัวค่ำ บรรดาผู้ปราศรัยได้ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันขึ้นเวที ผู้ชุมนุมปักหลักค้างคืนที่สนามหลวง แกนนำผลัดกันขึ้นปราศรัยจนถึงเวลาประมาณ 03.00 น. และประกาศ “ฝังหมุดคณะราษฎรครั้งที่ 2” เวลาย่ำรุ่งของวันที่ 20 กันยายน
ประชาชนบางส่วนเริ่มจับจองพื้นที่ภายในสนามหลวง และใต้ชายคาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เพื่อนอนพักผ่อน ในขณะที่การปราศรัยและการแสดงบนเวทียังดำเนินต่อไป
ไม่มีใครรู้ว่า ถ้าการเมืองดี ราษฎรจะนอนหลับฝันดีหรือไม่
หมุดคณะราษฎร 2563
6.00 น. วันที่ 20 กันยายน แกนนำผู้ชุมนุมเริ่มประกาศปลุกมวลชน เพื่อร่วมฝังหมุดคณะราษฎร หมุดที่ 2 ณ ท้องสนามหลวง ส่วนบริเวณที่จะมีการฝังหมุดนั้นอยู่หน้าเวทีปราศรัย ซึ่งขณะนี้มีสื่อมวลชนจำนวนมากรอบันทึกภาพ
วันที่ 20 กันยายน 2563 | Sep 20, 2020 เวลาย่ำรุ่ง ณ ที่นี้ ผองราษฎรได้แสดงเจตนารมณ์ ประเทศนี้เป็นของราษฎร ไม่ใช่สมบัติของกษัตริย์ตามที่เขาหลอกลวง
ข้อความใน หมุดคณะราษฎร หมุดที่ 2 ซึ่งถูกฝังไว้กลางสนามหลวง ซึ่งบัดนี้ผู้ชุมนุมเรียกว่า “สนามราษฎร”
หมุดทองเหลืองเส้นผ่านศูนย์กลาง 11.6 นิ้ว พื้นที่ตรงกลางคือสัญลักษณ์มือที่ชู 3 นิ้ว ข้อความโดยรอบระบุว่า ‘วันที่ 20 กันยายน 2563 | Sep 20, 2020 เวลาย่ำรุ่ง ณ ที่นี้ ผองราษฎรได้แสดงเจตนารมณ์ ประเทศนี้เป็นของราษฎร ไม่ใช่สมบัติของกษัตริย์ตามที่เขาหลอกลวง’
นี่คือการเริ่มต้นกิจกรรมวันใหม่ของแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ด้วยการฝังหมุดคณะราษฎร หมุดที่ 2 บริเวณหน้าเวทีปราศรัย กลางท้องสนามหลวง ซึ่งบัดนี้ผู้ชุมนุมเรียกที่นี่ว่า ‘สนามราษฎร’
จดหมายเปิดผนึกว่าด้วยข้อเสนอการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์
หลังจากนั้น แกนนำประกาศนำมวลชนเคลื่อนออกจากสนามหลวง มุ่งหน้าทำเนียบองคมนตรี พร้อมเรียกร้องให้ พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ประธานองคมนตรี ออกมารับหนังสือจากผู้ชุมนุม
หลังจากเคารพธงชาติเสร็จ ขบวนผู้ชุมนุมเคลื่อนขบวนสู่ศาลฎีกา โดยส่งตัวแทนคือ รุ้ง-ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล และผู้ติดตามเพื่อยื่นหนังสือแก่ประธานองคมนตรี
8.40 น. ผู้ชุมนุมปรบมือต้อนรับแก่ตัวแทนองคมนตรี ที่ออกมารับหนังสือ โดยมีเนื้อหาเรื่องข้อเสนอการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์สิบข้อ ขณะที่ขบวนผู้ชุมนุมยังนั่งอย่างสงบอยู่หน้าศาลฎีกา
9.00 น. อานนท์ นำภา ประกาศบนรถปราศรัยว่าเมื่อยื่นหนังสือเสร็จจะสลายการชุมนุมอย่างสงบ ขอให้พี่น้องสื่อมวลชนบันทึกภาพประวัติศาสตร์นี้ว่า การต่อสู้ครั้งนี้เป็นการต่อสู้ด้วยเหตุด้วยผล ตรงไปตรงมาที่สุดแล้ว ในระหว่างรอการเจรจา ผู้ชุมนุมหยุดขบวนที่หน้าศาลฎีกา เพนกวิน-พริษฐ์ ชิวารักษ์ นำผู้ชุมนุมร้องเพลงเพื่อมวลชน ขณะรอผลการเจรจา
9.10 น. การยื่นหนังสือสำเร็จเรียบร้อย รุ้งกลับขึ้นรถปราศรัย เล่าเหตุการณ์การยื่นหนังสือข้อเสนอของผู้ชุมนุมถึงตัวแทนตำรวจราชองครักษ์ โดยตำรวจรับปากว่าจะดำเนินการให้ รุ้งกล่าวว่าจะติดตามความคืบหน้าต่อไป และกล่าวขอบคุณประชาชนทุกคนที่ร่วมต่อสู้
แกนนำประกาศยุติการชุมนุม พร้อมนัดชุมนุมอีกครั้ง 24 กันยายน 2563 ที่รัฐสภา (เกียกกาย) เพื่อติดตามการแก้ไขรัฐธรรมนูญ