โรค (อยาก) ซึมเศร้า

cramp-sep2016-s

ภาพประกอบ: Nola Nolee

1

วันก่อนโน้น นั่งคุยกับเพื่อนๆ วัยเลยเลขสี่กันอยู่ดีๆ ก็มีบางคนเปรยขึ้นมาว่า-สังเกตไหม สมัยนี้ดูเหมือนคนจะเป็นโรคซึมเศร้ากันเยอะขึ้นมาก โดยเฉพาะคนที่อยู่ในวัยเลข 2 หรือ 3

เพื่อนคนหนึ่งชี้มาที่ผม แล้วบอกว่านี่แหละ-อิทธิพลของสื่อ เพราะว่ารายการ ‘วัฒนธรรมชุบแป้งทอด’ ที่ผมเป็นคนเขียนบทและเป็นพิธีกรเองด้วย เคยทำตอน ‘โลกซึมเศร้า’ ว่าด้วยการที่โลกนี้มีคนเป็นโรคซึมเศร้ามากขึ้น-เพื่อทำความเข้าใจกับโรคนี้ว่ามันมีความเป็นไปอย่างไรบ้าง

ตอนนั้นดูคล้ายกับว่าสังคมไทยยังไม่ค่อยตระหนักกับโรคหรืออาการนี้เท่าไหร่ แต่เมื่อรายการออกอากาศแล้ว ปรากฏว่ามีเสียงตอบรับดีมาก หลายคนเขียนเข้ามาหา บอกว่าขอบคุณที่ทำตอนนี้ออกมา เพราะทำให้เขาเข้าใจตัวเองได้ดีขึ้นว่าสิ่งที่ตัวเองเป็นอยู่นั้นคืออะไร

เวลาพูดถึงโรคซึมเศร้า ผมมักคิดถึงนักเขียนคนหนึ่ง เขามีชื่อว่า เดวิด ฟอสเตอร์ วอลเลซ

วอลเลซเป็นนักเขียนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งของยุคนี้ เขาเป็นเจ้าของหนังสืออย่าง Infinite Jest ที่มีความหนามากกว่าหนึ่งพันหน้า และได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในนวนิยายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของยุคใหม่นี้ อาจจะเทียบเท่ากับ Ulysses ของเจมส์ จอยซ์ หรือวรรณคดีของเชคสเปียร์ด้วยซ้ำไป แต่ที่ทำให้ผมยังอ่านไม่จบเสียทีก็เพราะหนังสือเล่มนี้ถือเป็นหนึ่งในหนังสือที่ ‘อ่านไม่รู้เรื่อง’ ที่สุดในโลก เพราะเป็นนิยายที่เต็มไปด้วยเชิงอรรถ

เดวิด ฟอสเตอร์ วอลเลซ ก็เป็นโรคซึมเศร้า

เขาฆ่าตัวตายไปในปี 2008 ในวัยเพียง 46 ปี ขณะที่กำลังรุ่งโรจน์ในอาชีพนักเขียน เขาไม่ได้มีปัญหาอะไรในชีวิต ไม่ใช่เรื่องเงิน ไม่ใช่เรื่องชื่อเสียง

แต่เขาก็ตัดสินใจจะไม่อยู่กับโลกนี้อีก

ผมคิดว่า คนที่เป็นโรคซึมเศร้าจำนวนมากก็เป็นแบบนี้ เอาเข้าจริง หลายคนไม่ได้เศร้า แต่พวกเขาเพียงไม่รู้ว่าการมีชีวิตอยู่นั้นมีเป้าหมายอะไร

เดวิด ฟอสเตอร์ วอลเลซ เคยไปกล่าวปัจฉิมกถาที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง เขาเริ่มต้นการพูดด้วยเรื่องของลูกปลาสองตัว เขาบอกว่า

ลูกปลาสองตัวกำลังว่ายน้ำอยู่ เจอปลาอาวุโสกว่าตัวหนึ่งว่ายสวนกัน ปลาอาวุโสผงกหัวให้พวกมันนิดหนึ่งแล้วถามว่า “อรุณสวัสดิ์ไอ้หนู น้ำเป็นไงบ้าง?” ลูกปลาไม่ตอบแต่ว่ายต่อไป สักพักตัวหนึ่งหันมามองหน้าเพื่อนแล้วถามว่า “เฮ้ย ไอ้ ‘น้ำ’ นี่มันคืออะไรวะ?!?”

ผมคิดว่าการเริ่มต้นนี้สำคัญมาก เพราะเขากำลังบอกเราถึงเรื่องของ preconceptions ในชีวิตของเรา

เมื่ออ่านตรงนี้ ผมนึกถึงคำพูดแบบไทยๆ ที่ว่า “นกย่อมไม่เห็นฟ้า และปลาย่อมไม่เห็นน้ำ” ที่ทั้งนกและปลาไม่เห็นสิ่งเหล่านั้นก็เพราะทั้งนกและปลา ‘อาศัย’ อยู่ในสิ่งเหล่านั้น มันล้อมรอบตัวเราอยู่ กลายเป็นกรอบกรงที่ขังเราอยู่ แต่ในเวลาเดียวกัน มันก็หล่อเลี้ยงเราด้วย มันทำให้เราสามารถมีชีวิตอยู่ได้

แม้เอาเข้าจริง-เราจะไม่รู้เลยก็ตามที…ว่าเรามีชีวิตอยู่ไปเพื่ออะไร

สำหรับปลา น้ำยิ่งใสเพียงใด ปลาก็ยิ่งมีโอกาสจะ ‘เห็น’ น้ำได้น้อยลงเท่านั้น

คนที่มีชีวิตดีงาม มีทุกอย่างครบพร้อมในชีวิต ก็เหมือนอยู่ในน้ำใส พวกเขามีโอกาสมองเห็นน้ำได้น้อยกว่าคนที่อาศัยอยู่ในน้ำครำดำปี๋ น้ำที่มีเศษสวะลอยมาให้กระทบอยู่เสมอ

ปลาที่อยู่ในน้ำครำนั้น แม้เห็นความดำของน้ำ แต่เพราะต้องดิ้นรนที่จะดำรงอยู่ พวกมันจึงไม่ค่อยตั้งคำถามกับน้ำสักเท่าไหร่ แต่ปลาที่อยู่ในน้ำใสนั้น หาก ‘เห็นน้ำ’ แล้ว ก็มีโอกาสที่มันจะตั้งคำถามกับน้ำที่รายล้อมรอบตัวมากกว่า เพราะมันไม่ต้องใช้เวลาไปกับการต่อสู้ดิ้นรนที่จะมีชีวิตอยู่

เดวิด ฟอสเตอร์ วอลเลซ ก็เป็นอย่างนั้น มีอะไรบางอย่างที่ทำให้เขา ‘หยั่งถึง’ หรือ ‘มองเห็น’ ถึงน้ำที่รายล้อมรอบตัวอยู่ แม้จะเป็นน้ำที่ใสก็ตาม อาการหยั่งถึงของเขานั้นปรากฏชัดเจนในปัจฉิมกถาที่ผมว่ามาข้างต้น (ซึ่งหาอ่านได้ในหนังสือ ‘วิชาสุดท้ายที่มหาวิทยาลัยไม่ได้สอน’ โดย สฤณี อาชวานันทกุล)

คำถามที่หลายคนเฝ้าถามตลอดมาก็คือ อาการ ‘หยั่งถึง’ ที่ว่านี้ มันเกี่ยวพันกับอาการซึมเศร้าของตัวเขาและของมนุษยชาติหรือเปล่า

เป็นไปได้ ที่การ ‘เห็นน้ำ’ นั้น จะทำให้คนเรา ‘เห็นทุกข์’ และ ‘เห็นความไร้สาระของชีวิต’ แต่ทั้งหมดนี้เกี่ยวข้องกับสารเคมีในสมองและโรคซึมเศร้าทางการแพทย์หรือเปล่า-ผมก็ไม่รู้

แต่จะอย่างไรก็ตาม วอลเลซได้จากเราไปด้วยการฆ่าตัวตายหลังปัจฉิมกถานั้นราวสามปี

เขาได้จาก ‘กรอบ’ อันเต็มไปด้วยน้ำนั้นไปตลอดกาล

และใครๆ ก็บอกว่าเขาเป็นโรคซึมเศร้า

 

2

ที่จริงแล้ว ‘โรคซึมเศร้า’ กับ ‘โรคอยากซึมเศร้า’ นั้นไม่เหมือนกันนะครับ

พูดแบบนี้ หลายคนอาจจะเริ่มเขม้นมองผมด้วยสายตาแปลกๆ แล้วบอกว่า-ไอ้บ้านี่มันไม่เข้าใจคนเป็นโรคซึมเศร้าเอาเสียเลย มันไม่มีทางจะมารู้สึกอะไรแบบที่ฉันรู้สึกได้หรอก และอื่นๆ อีกหลายอย่างต่างๆ นานา

แต่ที่จริงแล้วต้องบอกว่า คนที่เป็นโรคซึมเศร้า (depression) กับคนที่เป็นโรค ‘อยากซึมเศร้า’ (wannabe depressed) นั้นไม่เหมือนกันนะครับ แน่นอน เราแยกคนสองแบบนี้ออกจากกันไม่ได้ง่ายๆ ด้วยการมองแค่ปราดเดียว แต่กระนั้นก็ไม่ได้แปลว่าจะไม่มีคนแบบนี้อยู่จริง

The Atlantic เคยรายงานถึงเด็กสาวคนหนึ่งที่ยอมรับว่า ตัวเธอเองเป็นพวก wannabe depressed คือเป็นโรค ‘อยากซึมเศร้า’ ซึ่งในยุคสมัยที่ดูเหมือนว่าใครๆ ก็เป็นโรคซึมเศร้านั้น เรามีโอกาสที่จะได้เสพหรืออ่านอะไรที่ชวนให้เกิดอารมณ์มืดหม่นได้มากมายไม่รู้จบ

เด็กสาวคนนี้มีนามสมมุติว่า ลอรา เธอเสิร์ชใน Tumblr แล้วพบว่ามีเรื่องราวกับรูปภาพของผู้คนจำนวนมากที่บอกว่าตัวเองเป็นโรคซึมเศร้า คนเหล่านี้เขียนเล่าเรื่องราว ถ่ายภาพ และเขียนคำพูดสั้นๆ ประเภท-ขอให้ฉันหายตัวไปเลยได้ไหม, เธอทำร้ายฉันได้ แต่ฉันทำร้ายตัวเองไม่ได้หรือ, คนที่ฆ่าตัวตายไม่ได้ยุติชีวิตหรอก พวกเขาแค่ยุติความเจ็บปวดเท่านั้น และอื่นๆ อีกหลายอย่าง

แรกทีเดียว สิ่งเหล่านี้ไม่ได้มีผลกับเธอมากนัก แต่น่าแปลก-ที่เมื่อเธออ่านมันซ้ำๆ เธอก็เกิดอารมณ์ความรู้สึกอย่างหนึ่งขึ้นมา

เธออยากซึมเศร้า!

ลอราพบว่าคนที่เป็นเหมือนเธอไม่ได้มีคนเดียว แต่มีคนจำนวนมากที่เป็นแบบนี้ และรวมตัวกันสื่อสาร ก่อตัวขึ้นมากระทั่งกลายเป็น ‘สังคม’ แบบหนึ่ง สังคมแบบที่แบ่งปันความเจ็บปวดรวดร้าวระหว่างกัน สังคมที่ดูภาพต่างๆ ที่กระตุ้นให้เกิดอารมณ์ที่มืดหม่นแล้วเรียกมันว่าโรคซึมเศร้า ภาพถ่ายขาวดำ ผู้คนเหม่อลอย ถ้อยคำเจ็บปวด การเสิร์ชแท็กที่เขียนว่า self-harm, depression หรือ sadness แล้ว ‘เสพ’ มันในฐานะสิ่งที่เป็น ‘ความทุกข์อันงดงาม’ หรือ beautiful suffering

เอาเข้าจริง ลอราบอกว่า แม้คนที่เป็นเพียง ‘โรคอยากซึมเศร้า’ ก็ไม่รู้ตัวจริงๆ หรอกว่าพวกเขาเป็นโรคซึมเศร้าแบบที่เรียกว่า Clinical Depression คือเป็น ‘โรค’ นี้จริงๆ หรือแค่ ‘อยาก’ เป็นโรคนั้นเท่านั้น จิตแพทย์หลายคนบอกว่า โรค ‘อยากซึมเศร้า’ สามารถเกิดขึ้นได้มากกับช่วงวัยที่สับสนเช่นวัยรุ่นที่กำลังแสวงหาตัวตนและการยอมรับจากผู้อื่น ซึ่งสำหรับผม แม้ฟังดูเป็นคำอธิบายที่ cliche พอสมควร เพราะเหมือนเป็นการ ‘โยนบาป’ ไปให้วัยเยาว์และสื่อ แต่ก็น่าสนใจไม่น้อยนะครับ ว่าโรคซึมเศร้านั้นเป็นโรคที่ ‘ติดต่อ’ ได้หรือเปล่า

จิตแพทย์อย่าง ดร.สแตน คุตเชอร์ (Stan Kutcher) บอกว่าเนื่องจากข้อมูลข่าวสารนั้นท่วมท้น หลายคนจึงคิดว่าตัวเองเป็นเหมือนสิ่งที่ตัวเองอ่านพบ หรือพูดสั้นๆ ก็คือ มีอาการ ‘มโน’ ไปเอง ยิ่งในโลกออนไลน์มี self-test ต่างๆ เช่น บททดสอบว่าคุณเป็นโรคซึมเศร้าไหม เป็นไบโพลาร์หรือเปล่า หรือมีตัวตนแบบไหน โดยมักจะเป็นแบบสอบถามที่ ‘ถูกทำให้ง่ายเกินไป’ (over-simplified) หลายครั้งพอทำแบบสอบถามเหล่านี้นิดๆ หน่อยๆ บางคนก็ ‘ปักใจ’ เชื่อว่าตัวเองต้องเป็นแบบนั้นแบบนี้ไปเลย

ดร.คุตเชอร์บอกว่า มีหลายคนที่บอกคนอื่นว่าตัวเองเป็นโรคซึมเศร้าเวลาหากุญแจบ้านไม่เจอ เวลาทะเลาะกับพ่อแม่ ทะเลาะกับแฟน สอบไม่ได้ ไม่ได้เข้าทีมกีฬาที่คาดหมาย หรืออะไรทำนองนี้ ที่จริงๆ แล้วยังบอกไม่ได้หรอกว่านั่นคือ ‘โรค’ หรือแม้กระทั่งภาวะซึมเศร้า ทั้งยังบอกด้วยว่า ‘เทรนด์’ สำคัญอันหนึ่งของสังคม ก็คือการ ‘วินิจฉัยเกินเลย’ (over-diagnosis) โดยวินิจฉัยไปเองว่า-ประสบการณ์ธรรมดาๆ พวกนั้นเป็น ‘โรค’ อย่างหนึ่ง โดยเทรนด์นี้คือการ ‘เหวี่ยงกลับ’ จากที่สมัยหนึ่ง เราไม่สามารถพูดเรื่องนี้ได้ ไม่ว่าจะเพราะอับอายหรืออะไรก็แล้วแต่ กลายมาเป็นการพูดถึงเรื่องนี้อย่างล้นเกิน จากการไม่ยอมบอกใครว่าตัวเองต้องปรึกษาผู้เชี่ยวชาญหรือใช้ยารักษาอาการที่เกี่ยวกับสารเคมีในสมอง กลายมาเห็นว่าการพูดเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องปกติ (ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติจริงๆ นะครับ)

แต่ในเวลาเดียวกัน ก็มีคนอีกบางกลุ่มที่ไปไกลจนเกือบจะเห็นว่าการบอกว่าตัวเองซึมเศร้าหรือมีอาการ ‘บาดเจ็บ’ ทางกายและใจในลักษณะนี้-เป็นเรื่องที่ ‘เท่’ เพราะ ‘ถูกขัง’ อยู่ในสื่อสังคมแบบปิด (closed social media) โดยคนที่รู้สึกเหมือนๆ กัน ก็จะพยายามแสวงหาคำปรึกษาจากคนที่รู้สึกคล้ายๆ กัน เพราะคิดว่าคนที่ไม่ได้เป็นแบบเดียวกันนั้นไม่มีวันเข้าใจ

 

3

เรื่องของโรคหรือภาวะซึมเศร้าก็น่าจะเหมือนสิ่งอื่นๆ ในโลก นั่นคือมีลักษณะต่อเนื่องเป็น continuum มากกว่าจะมีการตัดฉับจากขาวไปหาดำ (ซึ่งก็ไม่ได้แปลว่าเป็นขาว-ดำไม่ได้ด้วยนะครับ) เพราะฉะนั้น เรื่องนี้จึงซับซ้อนกว่าแค่แยกระหว่างคนที่เป็นโรคซึมเศร้ากับคนที่เศร้าเฉยๆ เพราะมันมีคนที่อยู่ในสภาวะ ‘ระหว่าง’ นั้นอีกมากมายหลายเฉด จากคนที่แค่อยากซึมเศร้าถึงคนที่ตัดสินใจไม่อยู่ในโลกนี้อีกต่อไปเพราะโรคนี้

ที่สุดแล้ว เราอาจทำอะไรไม่ได้มากไปกว่า ‘เคารพ’ ในการตัดสินใจของคนอื่น ไม่ว่าเขาจะทำอะไร

แต่เรื่องที่ยากกว่านั้นก็คือปัญหาที่ว่า-เราควรเคารพความไม่เคารพ, ด้วยไหม

หรือบางทีก็อาจเป็นเรื่องแบบนี้นี่แหละ-ที่ทำให้เราไม่มีคนอย่าง เดวิด ฟอสเตอร์ วอลเลซ อยู่บนโลกอีกต่อไป

ผมก็ไม่รู้

 

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า