เรื่อง: ชลธร วงศ์รัศมี
ในแง่ของชั้นเชิงการจารกรรม (ข้อสอบ) การชิงไหวชิงพริบ ความอัจฉริยะของตัวละคร และทิศทางศิลปะ ฉลาดเกมส์โกง นับว่าประสบความสำเร็จตามความมุ่งหวังของ GDH ที่ต้องการให้ภาพยนตร์ที่มีโครงเรื่องหลักว่าด้วยภารกิจการโกงข้อสอบเรื่องนี้เฉียบคมเทียบชั้น Ocean’s Twelve (2004) และกำหนดสีสันบรรยากาศของภาพยนตร์โดยอิงจากThe God Father (1972)
ขณะเดียวกัน ในแง่ของการสะท้อนสภาพสังคม ฉลาดเกมส์โกง กลับมีความคล้ายซีรีส์บิทช์ๆ อย่าง Gossip Girl (2007) อยู่ไม่น้อย แบงค์ เด็กหนุ่มซื่อสัตย์ เรียนดี บ้านจนที่เข้าสู่ด้านมืดช่วงท้ายเรื่องเป็นตัวละครหนึ่งที่คนไทยจำนวนมากดูแล้วปรับไม่ทัน ว่าเพราะอะไรท้ายเรื่องเขาถึงเปลี่ยนไปได้เพียงนั้น จนมีคนไม่น้อยเกิดความ ‘ไม่เชื่อ’ ในตัวละคร แต่ถ้าใครเคยพบความซับซ้อนย้อนแย้งของ loser ผู้สร้างอนาคตของตัวเองด้วยการเป็นนักเขียนแฉทุกคนในสังคมชั้นสูงที่ตัวเองไปตีสนิทด้วย อย่าง แดน ฮัมฟรีย์ จาก Gossip Girl มาก่อนก็จะพบว่าแบงค์เหมือนฝาแฝดของแดนเลยทีเดียว
คาแรคเตอร์ของ loser ที่ผุดขึ้นจากส่วนผสมของสังคมเลวร้ายบีบล้อม กระทั่งวันหนึ่งได้รับพลังพิเศษ (หรืออีกนัยหนึ่งคือทำสัญญากับซาตาน) จากนั้นก็ได้ทีระเบิดพลังป่วนทุกอย่างมีมาเนิ่นนานทั้งในภาพยนตร์และวรรณกรรม แม้แต่ Godzilla (1954) ก็ยังเป็นผลผลิตจากสงครามโลกครั้งที่สองซึ่งอเมริกาฝากระเบิดนิวเคลียร์และกากกัมมันตรังสีไว้ให้ชาวญี่ปุ่น พลังความเก็บกดและความคั่งแค้นของเด็กกำพร้าซึ่งถูกผู้อุปการะทารุณกรรมอย่าง เครเดนซ์ ใน Fantastic Beasts and Where to Find Them (2016) นั้นพังนิวยอร์คราบไปทั้งเมือง เช่นเดียวกับแบงค์ใน ฉลาดเกมส์โกง ที่ไม่ขอเป็นคนดีอีกต่อไป หลังถูกทำร้ายทั้งร่างกาย ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ อนาคต และความใฝ่ฝันยับเยิน จากจุดตั้งต้นของความไม่เอาไหนของกลุ่มลูกคนรวย และจากศีลธรรมที่ ‘เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา’ ของชนชั้นกลางลูกข้าราชการชั้นผู้น้อยอย่าง ลิน
แต่ฉลาดเกมส์โกงสรุปตอนจบของ loser ได้สะใจกว่า Fantastic Beasts and Where to Find Them เพราะไม่พยายามเก็บผู้อ่อนด้อยที่ลุกขึ้นมาร้ายให้กลับเข้ากรอบกำกับของศีลธรรมแบบ “ถึงคุณจะเจอเรื่องแย่ๆ มาแค่ไหน แต่สุดท้ายถ้าคุณทำชั่วก็ได้ชั่วอยู่ดี” เพื่อให้กลุ่มพ่อมดแม่มดตัวเอกที่มีศีลธรรมเสมอต้นเสมอปลายได้แสดงความการุณย์ และสลายความขัดแย้งในนามของความรักและการให้อภัย ส่วน Gossip Girl สรุปได้แหวกที่สุด คือให้ loser ที่ลุกขึ้นมาร้ายนั้นได้ดีมีหน้ามีตา แถมยังอยู่ร่วมกันและเป็นเพื่อนกันกับคนที่ loser ร้ายใส่ได้อีกด้วย ความร้ายต่อกันเป็นเหมือนสายสัมพันธ์ (bonding) ที่เชื่อมพวกเขาไว้ด้วยกันด้วยซ้ำ คนที่ไม่กลัวตกนรกย่อมเชื่อมโยงได้กับคนที่ไม่กลัวตกนรกเหมือนๆ กันแม้ว่าจะเกลียดขี้หน้ากันแค่ไหน
อีกนัยหนึ่งการเลื่อนสถานะของ loser และความสัมพันธ์ของ loser กับผู้กดขี่ใน Gossip Girl นั้นถือว่าเป็นความสัมพันธ์ที่ตัดความยุติธรรมตามกระบวนทัศน์เชิงศีลธรรมออกไปเลยอย่างสิ้นเชิง แดน ฮัมฟรีย์ ไม่ได้โควตาเรียนต่อมหาวิทยาลัยดังที่เขาควรจะได้ เพราะมีชื่อของลูกคนรวยไปนอนรออยู่แล้ว จะเป็นไรไป ถ้าวันหนึ่งเขาจะได้ดีกว่าลูกคนรวยเหล่านั้น ด้วยการหักหลังเอาเรื่องของพวกเขามาขาย ได้เป็นเพื่อนกับพวกเขาแบบรับพฤติกรรมกันได้บางส่วน รับกันไม่ได้บางส่วน แถมยังได้ครองรักอย่างมีความสุขกับสาวไฮโซที่รับความร้ายกาจของเขาได้อีกด้วย ส่วนคนดีคนเดียวในเรื่องคือพ่อของแดนนั้น ต้องลงเอยกับผู้หญิงเรียบๆ แสนดี ที่จะไม่ทำให้เขาเจ็บปวด แทนที่จะเป็นหญิงร้ายเสน่ห์ล้นที่เขาหลงใหล
ใน ฉลาดเกมส์โกง ลินซึ่งรู้สึกดีๆ กับความซื่อๆ ทื่อๆ ของแบงค์ ตัดสินใจเดินหันหลังให้แบงค์ทันทีที่กรอบกำกับทางศีลธรรมของเธอเปลี่ยนไปสู่ด้านสว่าง ส่วนแบงค์เริ่มเข้าสู่ด้านมืดเหมือน อนาคิน ที่กลายเป็น ดาร์ธเวเดอร์ แล้วทำให้คนรักที่เคยรักในส่วนดีของเขาใจสลาย เหมือนเรื่องสั้นของ กีย์ เดอ โมปัสซังต์ ที่ชายหนุ่มผู้รักผมสลวยของหญิงสาวขายนาฬิกาสุดรักของเขา แลกกับการซื้อหวีสับแสนสวยให้เธอเพียงเพื่อจะพบว่าหญิงสาวได้ขายเส้นผมของตนเองเพื่อซื้อสายนาฬิกาให้เขาที่ไม่มีนาฬิกาอีกแล้ว
แบงค์ หลังจากถูกเหยียบย่ำจากความเหลื่อมล้ำของสภาพสังคมจนกลายเป็นมนุษย์ loser เท่ากับว่า ระเบียบสังคมที่ดีงาม สัญญาที่เขาทำกับพระเจ้าถูกล้มเลิกไปแล้ว เขากลับมาใช้สิ่งที่ลินปลุกเร้าเขาให้ร่วมโกงตอนต้นเรื่องว่า “ต่อให้แกไม่โกงใคร ชีวิตก็โกงแกอยู่ดี” มาเป็นข้ออ้างของความชอบธรรม มนุษย์ loser จะสร้างความเจ็บปวดให้คนที่เขาไม่ปรานีได้ถึงขั้นสุดทีเดียว เพราะความจริงที่ว่า โลกไม่ปรานีเขาก่อนมันสลักปักลึกในใจเหลือเกิน ใครเจอเข้าถือว่าซวยเอง เพราะเขาจะมีข้ออ้างเรื่องความชอบธรรมที่ยูนีคเป็นของตัวเอง ไม่ใช่ความชอบธรรมแบบที่เราคุ้นๆ กัน เขาได้ฉีกสัญญากับพระเจ้าแล้ว และทำสัญญากับซาตานแทน
การเกิดขึ้นของคาแรคเตอร์มนุษย์ loser ที่ลุกขึ้นมาทำลายล้าง ล้มกระดานทุกอย่าง แม้แต่การทำร้ายคนที่รักเขาอย่างจริงใจ (ความรักไม่มีค่าพอสำหรับคนที่ถูกทำลายหัวใจและความเป็นมนุษย์ไปแล้ว) อย่างที่ แดน ฮัมฟรีย์ เขียนหนังสือแฉทุกคนแม้แต่ เซเรนา หรืออย่างที่แบงค์บีบลินให้เล่นเกมโกงอีกครั้งทั้งที่ลินไม่เต็มใจ เป็นคาแรคเตอร์ที่มีมิติ น่าสนใจ น่าพัฒนาต่อได้อีกหลายทิศทาง เช่น loser ที่ถูกกระทำจนกลายมาเป็นตัวร้ายและไม่กลับใจ จะไปได้สุดสักแค่ไหน อะไรคือความยุติธรรมที่แท้จริงสำหรับเรื่องราวทั้งหมด ผู้อ่อนด้อยจะมีศาสตราอะไรไว้ต่อสู้กับโลกที่โหดร้ายนอกจากการร้ายกลับ
คาแรคเตอร์นี้ยังตั้งคำถามหลายๆ คำถามต่อสภาพสังคม เช่น คำถามคลาสสิกว่า ถ้าสังคมสร้างอาชญากรขึ้นมา แล้วสังคมจะเฉลี่ยทุกข์นี้ไปได้อย่างไร นอกจากยอมรับการอยู่ในสังคมที่เต็มไปด้วยอาชญากร? หรือมีวิธีอื่นๆ ล่ะ? หากเราไม่ทำสัญญาทั้งกับพระเจ้า ไม่ทำสัญญากับซาตาน เป็นไปได้หรือไม่ที่เราจะทำสัญญากับมนุษย์ด้วยกันเอง เป็นสัญญาจะที่ทำให้เราเท่าเทียมกัน จนไม่ทำให้ใครต้องถูกบีบเป็น loser
การสร้างตัวละครที่ ‘ผู้ถูกกระทำ’ เปลี่ยนเป็น ‘ผู้กระทำ’ แล้วไม่กลับตัวกลับใจเสียด้วย พบได้มากในงานประเภท anti-hero และ dystopia ทั้งหลาย ซึ่ง ฉลาดเกมส์โกง จัดว่าเป็นภาพยนตร์กึ่งๆ dystopia เช่นกัน ทว่ายังคงเอกลักษณ์ของ GDH ที่สุดท้ายแล้ว ความรักความเข้าใจกับสายใยของครอบครัวจะเข้ามาแก้ปัญหาหรือยึดโยงวัยรุ่นที่บอบช้ำมาให้ไปต่อได้ เหมือนอย่างที่พ่อแม่ของเหล่า ฮอร์โมนส์ (2013) ทำมาก่อน คนทำผิดใน ฉลาดเกมส์โกง ล้วนโดนลงโทษ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้ช่วยผดุงค่านิยมเรื่องการมีศีลธรรมอันดีของสังคมไทยไว้ได้ แม้ผู้ชมจะเห็นว่าภารกิจการโกงครั้งนี้โคตรเท่มากแค่ไหนก็ตาม
ขณะเดียวกัน ฉลาดเกมส์โกง กลับพร่องเสน่ห์บางอย่างของงาน anti-hero และ dystopia แบบ ‘เอาให้ตาย’ นั่นคือการขยี้สาร (message) ที่เผยความอัปลักษณ์ของสังคมอย่างถึงขั้นสุด
แม้จะเร่งเสียงของผู้อ่อนด้อยขึ้นมาแบบไม่แคร์หน้าอินทร์หน้าพรหมในบทของแบงค์ได้สวยงาม แต่ ฉลาดเกมส์โกง ได้ผลักภาระการแก้ปัญหาการศึกษาไทยไปที่พื้นที่ส่วนตัวมากกว่าการเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างผ่านบทของลิน ซึ่งความโรแมนซ์บางๆ ระหว่างลินกับแบงค์ ได้เข้ามาปะปนกับความเห็นอกเห็นใจในฐานะมนุษย์ที่เห็นอกเห็นใจเพื่อนมนุษย์ผู้ถูกกระทำ ทำให้ลดทอนพลังในการวิพากษ์ของหนังไปนิดหน่อยแต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าโรแมนซ์จางๆ นี้ทำให้หนังเข้าถึงและเข้าใจง่าย
อีกส่วนหนึ่งที่ภาพยนตร์ผลักการแก้ปัญหาไปสู่พื้นที่ส่วนตัว คือการคลี่คลายปมในช่วงท้ายๆ ของลิน ด้วยการยึดพ่อเป็นที่พึ่งทางใจ และกรอบอ้างอิงทางศีลธรรมเพื่อก้าวต่อไป พ่อของลินเป็นครูชั้นผู้น้อยที่สอนให้ลูกมีความซื่อสัตย์ (ขณะเดียวกันก็รับได้ที่จะเสียแป๊ะเจี๊ยะให้ลูกเข้าโรงเรียนดัง และบอกให้ลูกไหลตามน้ำในสถานการณ์ที่ต้องเข้าหาผู้มีอำนาจมากกว่า ลินเองเสียอีกที่ต่อต้าน และเห็นว่าการเสียแป๊ะเจี๊ยะคือความไม่ยุติธรรม)
น่าคิดว่าความ ‘สองมาตรฐาน’ ที่พ่อลินทำให้ลินเห็นผ่านการกระทำด้วยหรือไม่ที่ทำให้ลินก้าวสู่การโกงได้ แต่บทบาทนี้ของพ่อลินถูกกลบเกลี่ยด้วยความเป็นคนดี ให้โอกาสลูกกลับตัว รับไม่ได้กับของราคาแพงที่ได้มาด้วยเงินสกปรก หากถามพ่อของลินว่า พ่อเป็นคนดีขนาดนี้ เพราะอะไรพ่อถึงรับได้กับระบบแป๊ะเจี๊ยะ พ่อก็คงต้องตอบว่า “เพราะความรักลูก” ซึ่งคำตอบนี้เริ่มและจบในพื้นที่ส่วนตัว และในนามของความรัก มักกลบเกลื่อนอะไรได้หลายอย่าง
แม้ ฉลาดเกมส์โกง จะออกไปกระแทกกระทั้นสั่นคลอนระบบการศึกษาไทยบ้างระหว่างทาง แต่สุดท้ายบทภาพยนตร์บางส่วนได้ผลิตซ้ำการจำยอมต่อระบบ และผลักความรับผิดชอบมาที่ศีลธรรมส่วนบุคคล ที่พ่อแม่ต้องสอนลูกให้เป็นคนดีให้ได้ และผู้คนต้องเบ่งคลอดศีลธรรมกันให้ได้ ไม่ว่าสังคมจะเหลื่อมล้ำ ไม่มีแบบอย่างที่ดี ไม่เอื้อให้เราซื่อตรง กล้าหาญ สะอาดสะอ้าน ต่างจากงาน dystopia แบบมืดมนที่อาจกระแทกกระทั้นผลักคนดูไปถึงขั้นตั้งคำถามว่า ถึงเวลาแล้วหรือไม่ที่เราควรเปลี่ยนบางอย่าง ก่อนที่สังคมไทยจะสร้างคนอย่างแบงค์ ที่ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของวงจรบัดซบนี้ไปในที่สุด สร้างคนที่อยากจะกล้าหาญ แต่ต้องกล้าหาญแค่ครึ่งๆ กลางๆ อย่างลิน ซึ่งวันหนึ่งลินก็น่าจะกลายเป็นคนที่ใช้ศีลธรรมสองมาตรฐานเหมือนพ่อของเธอเช่นกัน