เสียงของ ‘น้อยหน่า’ ที่ไม่เคยได้เอ่ย

ในสังคมที่เต็มไปด้วยการกล่อมเกลาทางการเมือง (political socialisation) เพื่อให้ผู้อยู่ใต้ปกครองเซื่องซื่อ น้อมรับความสัมพันธ์ทางอำนาจแบบดั้งเดิมไว้ใต้กระหม่อม

หนึ่งในพื้นที่ที่ทำให้ปฏิบัติการนั้นบรรลุผลคือ พื้นที่ทางวัฒนธรรมมวลชน (pop culture) อันเต็มไปด้วยโครงข่ายทางสัญญะที่ตอกย้ำสัมพันธภาพนั้น โดยที่ผู้รับสารอาจจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม เพราะมันซึมผ่านสุนทรียศาสตร์เกาะลงไปในสำนึกของเรา

แฟนฉัน น้อยหน่า และเจี๊ยบ

เรื่องราวของ ‘น้อยหน่า’ กลับมาถูกพูดถึงอีกครั้งในรายการมวยดาราชื่อดังช่องหนึ่งเมื่อรายการเลือกโปรโมตคู่ชกผ่านธีม ‘ศึกชิงน้อยหน่า’ น้อยหน่าคือชื่อตัวละครเอกในภาพยนตร์เรื่อง แฟนฉัน ซึ่งรับบทโดย โฟกัส จีระกุล ประจวบกับคู่ชกครั้งนี้ เป็นการพบกันระหว่างแฟนของโฟกัสในโลกจริง กับ แน็ค-ชาลี ไตรรัตน์ ซึ่งเคยรับบท ‘เจี๊ยบ’ ในภาพยนตร์เรื่องเดียวกันกับโฟกัส แคมเปญนี้จึงถูกนำมาโปรโมตเพื่อสร้างความน่าสนใจให้กับรายการ

แฟนฉัน เป็นภาพยนตร์ไทยแนวโรแมนติก-คอมเมดี้ ออกฉายเมื่อปี 2546 ว่าด้วยเรื่องราวความรักวัยเด็ก ในอดีตแห่งความทรงจำ ที่สะท้อนสภาพชีวิตของครอบครัวชนบทนอกเมืองใหญ่ และเพื่อนวัยเยาว์ในปลายทศวรรษที่ 2520 โดยหนังได้กวาดรายได้และคำชื่นชมอย่างมากมาย

แน่นอนว่าหนังเรื่องนี้ในทางหนึ่งประสบความสำเร็จ จากการนำภาพความทรงจำในยุคสมัยหนึ่งกลับมาเล่าอย่างมีสีสัน จนคนร่วมสมัยนั้นหลายคนย้อนความทรงจำแสนสุขได้อย่างงดงาม แต่ความสำเร็จอีกทางหนึ่งของหนังเมื่อเรากลับมาย้อนดูในปัจจุบันสมัย คือการเป็นพยานรู้เห็นความสัมพันธ์ของคนรุ่นหนึ่ง ที่ฉายภาพคมชัดว่าคนเหล่านั้นถูกหล่อหลอมมาอย่างไร

พ้นไปจากฉากตอนต่างๆ ที่อาจจะทำให้ผู้ชม GEN X-Y ย้อนไปยังวัยกระเตาะของตน ที่มีของเล่นอย่างหนังยาง ลูกฟุตบอลพลาสติก การเล่นขายของ มีเพลงสนุกๆ อย่างวง สาว สาว สาว หรือวงนกแล คลออยู่ในเรื่อง รวมถึงละครอย่าง ดาวพระศุกร์ เป็นเครื่องบันเทิงใจ

อีกสาส์นสำคัญ ที่วางอยู่ในใจกลางของหนัง คงหนีไม่พ้นประเด็น การกล่อมเกลาทางเพศภาพ (gender socialisation) อันถือเป็นใจความหลักของเรื่องราวระหว่างน้อยหน่า เจี๊ยบ และเพื่อนๆ

ในเรื่องเจี๊ยบได้พยายามเข้าไปอยู่ในโลกการเล่นของเพื่อนผู้ชายตลอดเวลา ทั้งการขอเล่นเป่าหนังยาง หรือเตะฟุตบอล แต่คำตอบที่เจี๊ยบได้รับตอบกลับมาคือ

“กูไม่ให้มึงเล่น!”

นอกจากการแบ่งแยกในเชิงร่างกาย รสนิยม และนิสัยใจคอแล้ว ในแง่พื้นที่ทางกายภาพเอง หนังก็ได้นำเสนอเรื่องนี้ไว้อย่างคมคาย การที่บ้านของเจี๊ยบและน้อยหน่าอยู่ใกล้กันในฝั่งของศาลเจ้า ซึ่งเต็มไปด้วยเด็กผู้หญิง ส่วนอีกฝั่งของชุมชนคือฝั่งตลาด ซึ่งเต็มไปด้วยผู้ชาย (และการเล่นแบบชายๆ) ก็ช่วยให้ผู้ชมมองเห็นลักษณะที่แตกต่างนี้ได้ง่ายมากขึ้น

แต่เจี๊ยบก็ยังพยายามถีบจักรยานข้ามไปฝั่งตลาดอยู่ครั้งสองครั้งแต่ก็ไม่สำเร็จ ท่ามกลางเสียงปรามของแม่ว่า “อย่าข้ามถนนนะ เพราะรถจะชน” แต่จนแล้วจนรอดเมื่อเจี๊ยบข้ามผ่านไปยังฝั่งตลาด และได้เล่นฟุตบอลกับเพื่อนผู้ชาย จนมีส่วนช่วยให้ทีมชนะ เจี๊ยบก็ได้รับการยอมรับจากเพื่อนเป็นครั้งแรก แต่เมื่อเจี๊ยบไม่ไปเล่นฟุตบอลในอีกวัน เขาก็ถูกกล่าวหาว่าทำให้ทีมแพ้

นำมาสู่การที่เจี๊ยบต้องพิสูจน์ตัวเองด้วยการฝ่าด่าน 3 ด่าน คือ

  1. ปั่นจักรยานปล่อยมือ
  2. กระโดดน้ำจากสะพานด้วยการถอดกางเกง
  3. ตัดหนังยางของน้อยหน่า

และแน่นอนเจี๊ยบทำได้ทั้ง 3 ด่าน รวมถึงการตัดหนังยางเพื่อนที่ดีที่สุดของเขา

เพื่อนที่ดีที่สุด

หากเราทบทวนไปยังฉากเริ่มต้นของเรื่อง เมื่อเจี๊ยบตอนโตกำลังจะกลับไปเจอกับ ‘น้อยหน่า’ เพื่อนที่สนิทที่สุดในวัยเด็กของเขา เจี๊ยบพูดเมื่อตอนต้นเรื่องว่า

“ภาพในอดีตจริงๆ แล้วไม่เคยจากเราไปไหน มันอาจจะซุกอยู่ในซอกใดซอกหนึ่ง… ในลิ้นชักแห่งความทรงจำ… ถ้าเราไม่คุ้ยมันขึ้นมา ก็จะไม่รู้ว่า มันอยู่ในนั้นมาโดยตลอด… “

ราวกับว่าเจี๊ยบจะกลับไปสะสางความทรงจำในลิ้นชักนั้น หลังจากที่แม่โทรศัพท์มาบอกว่า น้อยหน่ากำลังจะแต่งงาน แล้วคราวนี้เอง ดูเหมือนน้อยหน่าซึ่งหายไปจากความทรงจำของเจี๊ยบนานมากแล้วก็ปรากฏขึ้นมา จนเจี๊ยบตัดสินใจกลับรถไปงานแต่งของน้อยหน่าแทน ทั้งที่ความตั้งใจเดิมคือการไปงานแต่งของเพื่อนอีกคน

ถัดจากนั้นหนังก็พาเราไปสู่เรื่องราวที่จะตอบว่าทำไมเจี๊ยบต้องถึงกับหันรถกลับเพื่อไปหาเพื่อนสนิทวัยเยาว์เพียงคนเดียว

มากกว่าแค่บ้านใกล้กันและเคยสนิทสนมกัน อาจจะเรียกได้ว่าน้อยหน่าคือเพื่อนที่คอยใส่ใจความรู้สึกของเจี๊ยบอยู่เสมอ ท่ามกลางความพยายามต่อสู้ในใจของเจี๊ยบที่ต้องการจะเล่นในแบบที่ผู้ชายในเรื่องเล่นกัน เช่น ฉากที่น้อยหน่าและเพื่อนพยายามจะโปรเจ็คต์การเล่น พ่อแม่ลูก แต่เจี๊ยบเสนอให้ใช้ไฟจุดทำอาหารจริงๆ เพื่อนผู้หญิงหลายคนบอกว่าเล่นไม่ได้เพราะที่บ้านไม่อนุญาต

แต่หลังจากนั้นในวันหนึ่งเมื่อน้อยหน่าซ้อนจักรยานเพื่อกลับบ้านกับเจี๊ยบ สิ่งที่น้อยหน่าพยายามบอก “ครั้งหน้า เรามาเล่นจุดไฟกันนะ” รวมถึงอีกหลายฉากที่แสดงให้เห็นความอนาทรร้อนใจของน้อยหน่าที่มีต่อเพื่อนรัก เช่น น้อยหน่าเสนอให้เปลี่ยนจากเล่นกระโดดยางมาเล่นฟุตบอลพลาสติก เป็นต้น

แต่นั่นก็ไม่ได้ช่วยให้เจี๊ยบสนุกมากขึ้นแต่อย่างใด จนนำมาสู่โศกนาฏกรรมทางความรู้สึก เมื่อเจี๊ยบเลือกตัดหนังยางของน้อยหน่า แล้วผลักน้อยหน่าล้มลง เมื่อน้อยหน่าถามเขาว่า “เจี๊ยบตัดยางเราทำไม”

เสียงของน้อยหน่าที่หายไป

กิริยาเมื่อย่อหน้าก่อนหน้านั้น เกิดขึ้นไม่นานหลังจากที่เจี๊ยบกระทำสิ่งที่กล้าหาญที่สุด ที่พอจะทำได้ต่อเพื่อนที่ดีที่สุดของเขา นั่นคือการต่อยกับ ‘แจ๊ค’ เพื่อนผู้ชายหัวโจกที่ล้อเลียนน้อยหน่าว่า ‘อีนมใหญ่’ แต่นั่นก็เป็นครั้งเดียวและครั้งสุดท้ายที่เจี๊ยบทำสิ่งที่ถูกต้อง

เจี๊ยบรู้สึกผิดที่ผิดทางมาโดยตลอด ตั้งแต่เขารำคาญเพลงของวงสาว สาว สาว จนต้องปิดทีวี หรือการที่รู้สึกไม่สนุกเมื่อเพื่อนผู้หญิงเล่นฟุตบอลกันไม่เป็น เพราะหลังจากนั้น เขาพยายามกลับไปในฝั่งของโลกผู้ชาย ด้วยการพยายามพิสูจน์ตัวเอง อย่างที่กล่าวไปก่อนหน้านี้ คำถามคือ “แล้วน้อยหน่ารู้สึกอย่างไร”

เรื่องนี้เราไม่อาจล่วงรู้ได้มากกว่าความเสียใจ จากการที่น้อยหน่าร้องไห้ต่อการกระทำของเจี๊ยบที่ตัดหนังยางของเธอ

กระบวนการสร้างตัวตนของเจี๊ยบดูจะประสบความสำเร็จในบั้นปลาย แม้ว่าเขาจะไม่สามารถนำหนังยางไปคืนน้อยหน่าได้ทันก่อนที่น้อยหน่าจะย้ายบ้านและไม่ได้เจอกันอีกเลย พร้อมๆ กับที่น้อยหน่าได้ข้ามผ่านเรื่องนั้นได้แล้วด้วยการตัดเปียตัวเอง ราวกับจะยืนยันตัวตนของตัวเองเพื่อยืนประจันหน้ากับผู้ชายที่ยังคงตัดผมสั้นแทบจะติดหนังหัวกันอยู่

ในฐานะผู้ชมแล้ว การเข้าใกล้ความพยายามแก้ไขความรู้สึกผิดของเจี๊ยบมากที่สุดน่าจะอยู่ที่ฉากสุดท้าย เราคาดหวังว่าจะได้เห็นเจี๊ยบสบตากับน้อยหน่า และพูดคำว่าขอโทษสักครั้ง หรืออาจจะคืนหนังยางให้น้อยหน่าในวันแต่งงาน

แต่เมื่อเจี๊ยบตอนโตไปถึงงานสำคัญนั้น สิ่งที่ได้พบมีเพียงภาพของน้อยหน่า (ที่ยังไว้ผมเปีย) ในวัยเด็กทาบทับหญิงสาวในชุดแต่งงาน

เสียงของน้อยหน่าที่ยังไม่คลี่คลาย ชวนให้เราฉุกคิดขึ้นว่าบางทีเสียงของน้อยหน่าที่หายไปจากแอร์ไทม์ ทั้งๆ ที่เธอยืนเด่นเป็นประกายในค่ำคืนของรายการมวยดารานั้น อาจจะพอทำให้ทุกคนทราบได้ว่าน้อยหน่ามีตัวตนเช่นไร มีสถานะ มีความสำคัญต่อโลกสุนทรียศาสตร์อย่างไร

แต่เราก็ยังไม่อาจรู้ได้อยู่ดีว่า ในสัมพันธ์ทางเพศภาพเช่นนี้ น้อยหน่าอยากจะบอกอะไรที่สำคัญมากกว่าที่เธอเป็นเพียงชื่อแคมเปญของรายการโทรทัศน์ เช่นเดียวกับบทบาทของ “น้อยหน่า” หรือโฟกัส จีระกุล ในโลกจริงวันนี้ ซึ่งออกมาร่วมเรียกร้องให้รัฐบาลหยุดใช้ความรุนแรงต่อผู้ชุมนุมหนุ่มสาวที่หน้ารัฐสภา วันที่สำนึกทางการเมืองของเธอเติบโตมากพอจนแสดงออกมาอย่างเปิดเผย และอาจจะสร้างความกระอักกระอ่วนใจต่อผู้ใหญ่ที่เคยจดจำ “น้อยหน่า” ในแฟนฉัน จนไม่อยากได้ยินเสียงของเธอ

เหล่านี้อาจจะพอสะท้อนได้ว่าการกล่อมเกลาทางเพศภาพและการกล่อมเกลาทางการเมือง เป็นสิ่งที่ไม่อาจแยกขาดจากกัน หากเด็กคนใดเลือกเดินออกจากกรอบเดิม การโบยตีด้วยคำด่าทอหรือการเซนเซอร์ตัวตนเด็กก็อาจจะเป็นวิธีการหนึ่งในการจัดการของโลกใบเก่า    

Author

อิทธิพล โคตะมี
อิทธิพลเข้ามาในกองบรรณาธิการ WAY พร้อมตำรารัฐศาสตร์ สังคม การเมือง ถ้อยคำบรรจุคำอธิบายด้านทฤษฎีและวิธีการปฏิบัติ คาแรคเตอร์โดยปกติจะไม่ต่างจากนักวิชาการเคร่งขรึม แต่หลังพระอาทิตย์ตกไปสักพัก อิทธิพลจะเป็นชายผู้อบอุ่นที่โอบกอดมิตรสหายได้ทุกคน

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า