Fast & Feel Love: ฤาจะถึงยุคสิ้นสุดของหนังเล่าเรื่องในวงการภาพยนตร์ไทย

หนังเรื่องล่าสุดของ นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ เป็นที่โจษจันตั้งแต่ปล่อยหนังตัวอย่าง ว่า…หนังอะไรกันนี่ ผู้กำกับแห่งยุคสมัยอย่างนวพลกำลังทำอะไรหรือ บางคนก็โปรยว่า นี่คือการ revenge ของนวพลต่อหนังแอ็กชัน (ซึ่งจะว่าไปผู้เขียนก็ไม่ค่อยเข้าใจดีเท่าไรนัก)

เมื่อหนังเข้าฉาย หลายความคิดเห็นก็ยังไปในทำนองเดิม คือมีความประหลาดใจกับการทดลองของในครั้งนี้ของนวพล เพราะ Fast & Feel Love (เร็วโหดเหมือนโกรธเธอ) นั้นมีสไตล์การเล่าต่างไปจากภาพยนตร์ทุกเรื่องก่อนหน้าของเขาโดยสิ้นเชิง แน่ล่ะว่า ความคิดเห็นทั้งหลายก็จะมีทั้งฝั่งชอบ และ ไม่ชอบ

ลองมาแจกแจงกัน เร็วโหดเหมือนโกรธเธอ ถูกเล่าด้วยลีลาสองแบบสลับกันไปทั้งเรื่อง คือมีการเล่าแบบปกติสามัญ กับเล่าโดยใช้ชั้นเชิงแบบหนังโฆษณา ทั้งการเคลื่อนกล้องอย่างรวดเร็ว ทั้งการให้นักแสดงยืนนิ่งๆ ทั้งใช้ดนตรีและซาวด์เอฟเฟ็กต์ เรียกว่าใช้ลูกล่อลูกชนทุกอย่าง เพื่อความ ‘ตลก’ และตัวนวพลเองก็ออกมาให้สัมภาษณ์ว่า แม้หลายคนจะไม่รู้ แต่เทคนิคแบบนี้ก็เป็นอีกสไตล์หนึ่งของเขาที่เขาจะใช้กับหนังโฆษณา

ระหว่างความบันเทิงแบบหนังโฆษณา กับการเล่าเรื่องอย่างสามัญ

Fast & Feel Love มีอะไรบางอย่างที่คล้ายคลึงกับแนวหนังตลกล้อเลียนของฝรั่งที่เราคุ้นชินอย่างเช่น Scary Movie, Naked Gun หรือหนังฮ่องกงในยุค 80-90 แต่สิ่งที่ต่างออกไปคือ หนังล้อเลียนเหล่านั้นได้นำเสนอตัวเองในความเป็นหนังตลกโดยสิ้นเชิง แม้จะมีอารมณ์ดราม่าติกอยู่บ้าง แต่ก็เป็นไปในทางตบท้ายด้วยความตลกเสียมากกว่า แล้วก็ไม่ได้มีเพื่อส่งผลด้านอารมณ์เชิงลึกเหมือน เร็วโหดเหมือนโกรธเธอ

ที่น่าสังเกตอีกอย่างคือ เท่าผู้เขียนทราบ หนังล้อเลียนเหล่านั้นไม่ถูกสร้างมานานหลายปีแล้ว อาจจะเพราะเสื่อมความนิยมหรืออย่างไรก็ไม่แน่ชัด

ถ้าผู้เขียนจะขอเรียก Fast & Feel Love ว่าคือภาพยนตร์เล่าเรื่องแนวหนังโฆษณา จะได้ไหม?

มันเป็นภาพยนตร์แนวใหม่หรือไม่ หรือว่าเป็นส่วนผสมที่ลงตัวหรือไม่?

นั่นคงเป็นสิ่งที่หลายคนคงให้คำตอบได้แตกต่างกัน เหมือนกับที่บางคนพูดว่า ความรู้สึกกับหนังถูกแบ่งเป็นสองส่วน

photo: sanook.com

Fast & Feel Love มีบางอย่างคล้ายคลึงกับ Tik, Tik… Boom (ฉายใน Netflix) หนังอีกเรื่องที่ผู้เขียนได้ดูในเวลาไล่เลี่ยกัน 

สิ่งที่คล้ายคือเรื่องของผู้ชายคนหนึ่งที่พยายามไต่ไปให้ถึงฝัน ในขณะที่ต้องทำงานหาเลี้ยงชีวิต และตัวละครแฟนสาวที่ขัดแย้งกันเพราะเส้นทางความฝันนั้นมักพาผู้คนไปในทางที่เห็นแก่ตัว 

Tik, Tik… Boom มีความผสมผสานการเล่าเรื่องแบบหนังมิวสิกคัลและแบบละครเวที ซึ่งมีส่วนผสมของการเล่าที่ลื่นไหลลงตัว ด้วยความที่ตัวละครฝันจะทำละครเวที และเพลงนั้นทั้งช่วยเล่าเรื่องและสร้างอารมณ์ความรู้สึก ในทางกลับกัน มุกตลกในลีลาหนังโฆษณาของ Fast & Feel Love กลับไม่ได้ทำหน้าที่หล่อลื่นเรื่อง

นักแสดงนั้นคือส่วนที่ดีของหนังทั้งสองเรื่อง แต่ในเมื่อคนดูต้องคอยถูกแตะเบรกความรู้สึกตามตัวละครอยู่เรื่อยๆ จนไม่ฟาสต์ นักแสดงที่แม้จะทำหน้าที่ได้ดีเพียงไร (โดยเฉพาะ อุรัสยา เสปอร์บันด์ นั้นได้ฝากฝีมืออันน่าจดจำ) ก็ไม่สามารถส่งความรู้สึกผ่านฉากต่อฉากไปจนถึงตอนจบได้

เท่าที่เคยดูหนังยาวของนวพลมา 4 เรื่อง (Marry is Happy, Marry is Happy, ฟรีแลนซ์ และ ฮาวทูทิ้ง) แม้หนังของเขาจะมีความตั้งใจครีเอทีฟโดยเล่นกิมมิคบางอย่างเสมอ แต่ก็พบว่าเขาเป็นคนที่เขียนบทละเอียดลออ เป็นผู้กำกับที่กำกับทิศทางของหนังได้ดีมากคนหนึ่ง แต่หลายบทใน Fast & Feel Love กลับทอดทิ้งความสมจริงไป ซึ่งถ้าเราเอาเงื่อนไขความเป็นหนังดราม่าหรือชีวิตธรรมดามาจับหนังเรื่องนี้ เราจะพบว่ามันมีความไม่น่าจะเป็นอยู่หลายจุด เช่นว่า 

หนึ่ง – เจกับเกา มีเงินเก็บได้มากถึงขนาดซื้อบ้านจัดสรรเกรดเอ ทั้งๆ ที่ฝ่ายหนึ่งไม่มีงานเป็นหลักแหล่ง 

สอง – เมื่อเจเอ่ยปากขอคุยกับเกาเป็นหนแรก แต่เกาไม่ยอมคุยด้วย เธอก็ตัดสินใจเดินออกมาทันที ทั้งๆ ที่อุทิศชีวิตให้เกามาแสนนาน

สาม – การลองคุยกับเด็ก สอนการบ้านเด็ก ซึ่งจบด้วยความล้มเหลว คือความพยายามที่จะเข้าถึงการมีลูกและครอบครัวของเกา

สามข้อนี้แม้อาจจะดูไม่มากมาย แต่ล้วนแล้วเป็นเหตุสำคัญต่อเรื่องราวในหนัง

ผู้เขียนอยากจะกล่าวถึงหัวข้อสุดท้าย คือการอยากมีลูกในยุคสมัยปัจจุบันนั้นมีรายละเอียดรวมถึงความรู้สึกมากมาย มากกว่าที่จะเล่าจบง่ายๆ ด้วยหนังโฆษณา 1 นาที 

การจะเข้าหา พูดคุย เล่นด้วย หรือสอนการบ้าน แค่นั้นยังไม่เพียงพอที่จะบอกได้ว่า คนคนนั้นกำลังพยายามที่จะมีครอบครัว และไม่อาจบอกได้เลยว่า คนคนนั้นอยากหรือไม่อยากมีลูก

แน่ล่ะว่า ถ้าเป็นหนังโฆษณา เพียงฉากการสอนการบ้านก็คงจะเพียงพอ (กับการขาย) แต่ถ้าเป็นหนังเล่าเรื่อง 2 ชั่วโมง มันย่อมไม่เพียงพอ 

ยิ่งพอรุงรังกับการพยายามใส่มุกอิงการเมืองแบบโต้งๆ อย่าง “ขอบคุณมากที่กล้าสอนผม” หรือการพูดถึงพ่อผู้จากไปอย่างซาบซึ้งนั้นกลับไม่ได้เชื่อมโยงกับส่วนอื่นใดของหนังเลย แม้แต่ฉากต้นเรื่องที่พูดถึงสถาบันการศึกษา 

ผู้เขียนจึงรู้สึกเสียดายที่เมื่อคนทำหนังสักคนหยิบยกประเด็นทางสังคมมาวิพากษ์วิจารณ์หรือประชดประชัน กลับไม่อาจสร้างรอยรู้สึกบาดแบบเย้ยหยันได้อย่างที่ควรจะป็น จึงอดไม่ได้ที่จะนึกถึงลีลาล้อเลียนหลอกด่านายกฯ ในหนัง หอแต๋วแตก ภาคล่าสุด ที่แม้จะสั้นๆ และไม่ได้คมคายเสียดสีลึกซึ้ง แต่ได้ใจความและได้อรรถรสกว่ากันมาก

อีกสิ่งที่เรารู้สึกตะขิดตะขวงกับความพยายามที่จะสื่อสารกับเด็กแต่ไม่สำเร็จ และความไม่อยากมีลูกของเกา ก็คือ ความสัมพันธ์ของเกากับไผ่หลิวในตอนใกล้ไคลแม็กซ์ เราได้เห็นเกาสนิทสนมกับเด็กผู้หญิงได้ แม้ในเรื่องจะวางไว้ว่าให้เกามองไผ่หลิวว่าไม่เหมือนเด็กธรรมดา เธอคือมาสเตอร์ ผู้มีความจะเป็นผู้ใหญ่เกินตัว 

แต่เอาเข้าจริงแล้ว ไผ่หลิวก็ไม่ได้ต่างอะไรจากเด็กคนหนึ่งแต่อย่างใด

นั่นคงหมายความได้ว่า เกาย่อมต้องมีอะไรบางอย่างที่สามารถเชื่อมโยงกับเด็กได้ นั่นหมายความว่า เกาอาจจะเป็นคนที่ชอบเด็ก หรือต้องการจะมีลูกโดยที่ตัวเองไม่รู้ตัว ก็เป็นได้

นอกเสียจากว่า หนังโฆษณาเรื่องนี้ไม่ต้องการให้เกาอยากมีลูกมีครอบครัวแบบปกติสามัญ จึงปล่อยให้ตัวละครจะทำอะไรก็ได้เท่าที่คนเขียนบทอยากให้ทำ โดยขาดการใคร่ครวญลึกซึ้งถึงความเป็นตัวตนอย่างมนุษย์คนหนึ่ง

เราจึงรู้สึกเหมือนอยู่ในโลกของโฆษณา โลกที่ไม่ต้องพึ่งพิงตรรกะความสมจริงในรายละเอียดแวดล้อมใดอื่น

พานนึกสงสัยเป็นครั้งที่สองว่า นวพลพยายามสวมวิญญาณนักเขียนผู้มีมายาคติเหมารวมในการเขียนบทเรื่องนี้หรือไม่ อย่างไร

ดูเหมือนแนวคิดบางอย่างใน Fast & Feel Love จะคล้ายกับพยายามสร้างโลกจำลองขึ้นมาแบบ Marry is happy, Marry is happy ซึ่งใช้ข้อความจากทวิตเตอร์ในการครีเอท บทของหนังหลายส่วนก็เหมือนกับหยิบจับดราม่าจากโลกโซเชียลมีเดีย รวมถึงฉากล้อเลียนหนังเรื่องอื่นๆ มาร้อยเป็นมุกเป็นเหตุการณ์ และพยายามให้มันสอดคล้องกับโครงเรื่องหลัก แต่ในเมื่อ Fast & Feel Love ยังอยู่บนฐานความจริงอยู่มาก ไม่ได้สร้างโลกใหม่ขึ้นมาเหมือนกับ Marry is happy, Marry is happy ผลลัพธ์ที่ได้ของทั้งสองเรื่องจึงต่างกันโดยสิ้นเชิง 

ฉากล้อเลียนครูแนะแนวตอนต้นเรื่อง ที่หยิบจับเอาเหล่าบล็อกเกอร์ แร็ปเปอร์ ตัวจริงที่กำลังประสบความสำเร็จมาพูดถึงสิ่งที่ตนกำลังทำอยู่ในเวลานี้ แล้วให้ครูบอกว่าความฝันที่เด็กนักเรียนพูดมานั้นเป็นไปไม่ได้หรอก มันก็คงเหมือนการประชดเย้ยหยันความเซเลบริตี้ที่อาจจะสนุกสำหรับแฟนคลับของศิลปินหรือบล็อกเกอร์เหล่านั้น แต่ก็อาจจะไม่เลยสำหรับคนอีกจำนวนหนึ่ง และถ้าเราคิดไปถึงว่า ผู้ประสบความสำเร็จที่ถูกเลือกนั้นมีเพียงหยิบมือ แล้วคนอื่นๆ อีกมากมายที่เหลือเล่า? 

จะว่าไปค่าย GDH ชอบใช้แนวทางนี้ในหนังตั้งแต่สมัยยังเป็น GTH อย่าง บอย โกสิยพงษ์ และ อัสนี โชติกุล ที่มาแสดงในบทรับเชิญเป็นตัวเองในหนัง หรือการปรากฏตัวของ มิลลิ และ ดีเจอ๋องแอ๋ง ก็คงเป็นไปในแนวทางเดียวกันนี้ เพียงนำเสนอต่างไป

แอบคิดเล่นๆ ต่อว่า ทำไมนวพลถึงไม่เอากลุ่มที่ขายความเซ็กซี่ กลุ่มโอลี่แฟน มาเล่นด้วย หรือยังติดลูกเกรงใจคนไทยที่อาจยังเหนียมอายกับเรื่องโจ๋งครึ่มเหล่านี้ก็เป็นได้

และไม่แน่นักใจว่า การใช้เทคนิคแบบโฆษณาฮาร์ดเซล หรือการสร้างความตลกด้วยเทคนิคทางภาพ เสียง และการแสดงแข็งๆ นั้น ได้ผลอย่างที่คนทำต้องการไหม เพราะรอบฉายหนังที่ผู้เขียนไปดู แม้จำนวนผู้ชมจะไม่มาก แต่กลับไม่ได้ยินเสียงหัวเราะเลยแม้แต่น้อย

เธอและเขา ไม่ได้เท่ากับ ‘เรา’

ด้วยอะไรหลายๆ อย่างทำให้อดคิดไม่ได้ว่า Fast & Feel Love เป็นหนังที่แฝงมายาคติ ‘ชายเป็นใหญ่’ เอาไว้อย่างไม่แยบยลจนน่าประหลาดใจ ซึ่งผู้เขียนไม่เคยหรือรู้สึกถึงอะไรแบบนี้เลยในหนังเรื่องก่อนหน้าของนวพล 

เจ แม่ เมทัล ผู้จัดการ ตัวละครแวดล้อมที่จะส่งเสริมให้เกาขึ้นถึงตำแหน่งตรงยอดสุด ล้วนแล้วแต่เป็นผู้หญิง ใช่อยู่แหละว่า คนขับรถกับครูสอนภาษาเป็นผู้ชาย แต่กิมมิคล้อหนังปรสิตนั้นคงไม่อาจนับได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของตัวละคร

เราไม่มีทางรู้ว่า คนทำหนังมีทัศนคติกับเรื่องผู้หญิงอย่างไร แต่ Fast & Feel Love ได้บอก (แบบตลกๆ) ว่า ผู้หญิงจะต้องเป็นฝ่ายเสียสละให้กับความฝันของผู้ชาย และเป็นการเสียสละที่ฝ่ายหญิงจะต้องรู้สึกภูมิอกภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของ ‘สิ่งพิเศษ’ นั้น ซึ่งเอาเข้าจริงๆ แล้ว มันก็เป็นเพียงแค่ ‘การเล่นแก้ว’ (หรือแม้กระทั่ง ‘การทำหนัง’) ไม่ว่าตัวเองจะต้องสูญเสียทั้งแรงกาย ทรัพยากร ความสุข หรือกระทั่งถูกแย่งเอาเวลาทั้งชีวิตไป

ตัวละครหญิงคนหนึ่งที่อยู่ในสถานะพิเศษก็คือ ไผ่หลิว แต่แทนที่ไผ่หลิวจะมาเป็นคู่แข่งคนสำคัญ ไผ่หลิวกลับไม่ได้สนใจการแข่งขันแบบแมนๆ นั้น เธอจึงกลายเป็นผู้สนับสนุนของเกาไปอีกคน แม้จะไม่ได้เสียสละตัวเองเท่าคนอื่นๆ ก็ตาม

สิ่งที่ต่างออกไปสักหน่อย คือตัวแทนแนวคิดชายเป็นใหญ่อย่างเกา กลับถูกถ่ายทอดออกมาในเวอร์ชั่นน่ารัก น่าเอ็นดู น่าเห็นใจ น่าประคบประหงม มีความเป็นเด็กเนิร์ดที่คนรอบข้างต้องใส่ใจ ทุ่มเทแรงกายใจให้ เอาใจช่วยเขา ศัตรูรักเขา และเขาก็ดูจะมีความรู้สึกรู้สา เห็นอกเห็นใจ เข้าอกเข้าใจคนรอบข้างที่คอยอุ้มชูเขา 

ในขณะที่เขาอยากจะเลิกเพราะรู้สึกตัวว่าเอาเปรียบคนอื่นอยู่ ทุกคนก็กลับรุมบอกเขาว่า ต้องทำต่อสิ เพราะทั้งหมดทั้งมวลได้พยายามกันถึงที่สุดแล้ว ต้องทำให้ได้ ไม่งั้นทุกอย่างที่ผ่านมาคือเสียเปล่า เหมือนกับว่า ที่กูเอาเปรียบมึง เพราะมึงนั่นแหละที่อยากให้กูทำ ที่กูทำมันทำให้มึงรู้สึกดีกับตัวเอง ใช่มั้ยล่ะ

และด้วยความที่มันคือหนังโฆษณาที่ไร้มิติเชิงลึก เราจึงไม่แน่ใจเหมือนกันว่า จริงๆ แล้ว ซับเจกอย่างเกานั้นอยากเลิกจริงๆ หรือเปล่า แต่ที่ทำอยู่ก็เหมือนกำลังแบกภาระของคนทั้งหมู่บ้านไว้จึงเลิกไม่ได้ หรือจริงๆ เกาก็เป็นเหมือนผู้ชายทั่วๆ ไปที่ชอบรสชาติของชัยชนะ

หากสุดท้าย เกาก็กลายเป็นพระเอกแบบที่เดินทางไปสู่ยอดเขา (คล้ายจะจำใจ) และหันมาโบกมือให้คนข้างหลัง ไม่ได้พาทุกคนไปด้วยจริงๆ อย่างที่เขาพูดในหนหนึ่งของหนัง 

เขาจึงย่อมกลายเป็นภาพสะท้อนความสำเร็จของแนวคิด ‘ชายเป็นใหญ่’ ขึ้นมาจริงๆ โดยจะตั้งใจหรือไม่ก็แล้วแต่ ซึ่งถ้าเป็นไปตามสมมุติฐานข้างต้นที่ว่า คนเขียนบทหนังเรื่องนี้คือร่างทรงแนวคิดมายาคติเหมารวม มุ่งเน้นการขาย มุ่งเน้นความตลกถึงขนาดยื่นมือไปจี้เอว แนวคิดชายเป็นใหญ่ก็อาจเกิดขึ้นได้อย่างไม่แปลกอะไรนัก

หรือว่าจริงๆ แล้ว เกาก็อาจจะเป็นเงาสะท้อนภาพนวพลในบางด้าน ศิลปินจำนวนมากก็คงต้องเคยเดินผ่านทางสองแพร่งที่ต้องเลือกระหว่างความฝันกับความสัมพันธ์ และนักเล่าเรื่องจำนวนมากก็หยิบจับประสบการณ์เหล่านั้นมาถ่ายทอดผ่านตัวละคร

เกาต้องฝ่าความเร็วของสถิติโลก …นวพลก็พยายามจะฝ่าข้ามด่านการเล่าเรื่อง 

เกาต้องเลือกระหว่างการประสบความสำเร็จ หรือจะใช้ชีวิตแบบปกติสามัญกับเจ …นวพลก็ต้องเลือกระหว่างความสำเร็จจากการทำซ้ำแบบเดิม หรือการทดลองเดินทางที่ฉีกออกไป

ทั้งคู่กำลังบาลานซ์ ระหว่างความรู้สึกปกติแบบมนุษย์ธรรมดา กับภาระหน้าที่ของคนผู้เหนือธรรมดา ใช่หรือไม่?

ส่งท้าย

คำคม – ทุกอย่างในชีวิตย่อมต้องมีการเสียไปเพื่อแลกมา ไม่เคยมีใครได้ทุกอย่าง 

หนังโฆษณาย่อมต้องเป็นหนังโฆษณา หนังโฆษณาย่อมต้องทิ้งรายละเอียดปลีกย่อยเพื่อมุ่งเน้นขายสินค้า ทุกอย่างจะกลายเป็นซับเจกเพื่อตอบสนองไอเดีย ตอบสนองมุก และนั่นก็คงยากที่หนังจะมีมิติเชิงลึก

เมื่อเลือกที่จะไปในเส้นทางโฆษณา ตลกบริโภค แบบหนังล้อเลียน ที่ล้อเลียนแม้กระทั่งตัวเอง ยอมทิ้งความจริงในรายละเอียดปลีกย่อยต่างๆ แล้วเดินไปในแนวทางนั้น อาจจะเพื่อความต้องการสร้างสรรค์ แต่มันก็อาจจะต้องแลกด้วยความรู้สึกด้านลึกที่คนดูควรจะมีให้กับชะตากรรมของตัวละคร เอาใจช่วยตัวละคร รู้สึกรู้สมไปกับตัวละคร 

ความรู้สึกเชื่อมโยงของคนดูกับตัวละคร ได้ถูกมุกตลกและการนำเสนอแบบหนังโฆษณาบั่นทอนไปเรื่อยๆ จนทำให้ไม่สามารถจะซาบซึ้งไปกับชะตากรรมของตัวละครในตอนจบของหนังได้อีก

ตามชื่อบทความที่ตั้งไว้เช่นนั้น ก็เพราะช่วงที่ผ่านมาหนังไทยมีจำนวนน้อยลงอย่างน่าใจหาย ปี 2564 หนังไทยที่เข้าฉายโรงมีจำนวนไม่ถึง 20 เรื่อง บางเรื่องเข้าฉายซ้ำแบบจำกัดโรง หนังที่ฉายในวงกว้างทั่วประเทศส่วนใหญ่จะเป็นหนังผีและหนังตลก ส่วนหนังที่ผลิตมาเพื่อเน้นกลุ่มแฟนคลับโดยเฉพาะ หรือหนังที่เน้นเล่าเรื่องจริงจังกลับมีไม่ถึง 10 เรื่อง และถ้าเป็นหนังดราม่าอาจมีไม่เกิน 5 เรื่อง

นวพล ผู้ยืนเป็นหัวแถวเสมอมาในการทำหนังดราม่าเล่าเรื่อง (ที่มีคำจัดความใหม่ที่ผู้เขียนเองก็ไม่คุ้นชินนักว่า ‘slow burn’) ก็ยังเลือกจะทดลองทำหนังที่เห็นแก่เทคนิคมากกว่าการเล่าเรื่อง

ผู้เขียนจึงนึกรำพึงสงสัยว่า ตามเทรนด์นี้หนังไทยเล่าเรื่องสามัญอาจจะเดินทางมาถึงยุคที่ผู้สร้างไม่ต้องการผลิตแล้วหรือไม่ ซึ่งก็นึกแปลกใจอยู่ครามครัน เพราะหนังนั้นย่อมทำขึ้นเพื่อการค้ากำไร เหตุใดเหล่าบริษัทเหล่าผู้สร้างจึงมองไม่เห็นว่า หนังที่ทำเงินที่สุดในช่วงที่ผ่านมานั้นเป็นเพียงหนังดราม่าหรือหนังท้องถิ่นคอเมดี้ที่เล่าเรื่องสุดสามัญโดยไม่ต้องอาศัยเทคนิคอื่นใดหวือหวา

ฤาจะมาถึงยุคสิ้นสุดของหนังเล่าเรื่องในวงการภาพยนตร์ไทย

ศุภโมกข์ ศิลารักษ์
เกิดกรุงเทพฯ แต่ไปโตที่สงขลา ไปเรียนต่อรามคำแหง เพราะพบว่าตัวเองอยากทำหนัง วันหนึ่งนึกสนุกลองเอาบทภาพยนตร์ของตนเองมาเขียนเป็นนิยายเล่มแรก เหม่วาบนพื้นไม้ไผ่ รางวัลชนะเลิศ รางวัลปิศาจครั้งที่ 1 ปัจจุบันเปิดร้านหนังสือ ‘หนองควายสนุก’ นอกตัวเมืองเชียงใหม่ และยังซุ่มตัดต่อสารคดี สลับกับเขียนบทหนัง รวมถึงอะไรต่อมิอะไรอยู่เสมอ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า