13. ลดด้านลบในข่าวแล้วเพิ่มความสร้างสรรค์ กระตุ้นการมีส่วนร่วม
ผลการศึกษาจากสถานีวิทยุแห่งชาติ มูลนิธิโรเบิร์ต วูด จอห์นสัน (Robert Wood Johnson Foundation) และวิทยาลัยสาธารณสุขแห่งฮาร์วาร์ด (Harvard T.H. Chan School of Public Health) พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถาม 40 เปอร์เซ็นต์ยอมรับว่าการรับข่าวสารเป็นหนึ่งในต้นเหตุความเครียดรายวัน ขณะที่รายงานข่าวของ คริสโตเฟอร์ รีฟ ลิเนอร์ส (Christopher Reeve Linares) ใน The Whole Story พูดถึงงานวิจัยว่าด้วยผลของการรับข่าวแง่ลบมากเกินไป ว่าจะส่งผลให้รู้สึกกดดัน ซึมเศร้า และหมดอาลัยตายอยาก เพราะไม่รู้ว่าปัญหาเหล่านั้นจะจบลงอย่างไร สุดท้ายจึงเลือกจะไม่รับรู้ข่าวในที่สุด
โปรเจ็คท์การสื่อสารมวลชนอย่างสร้างสรรค์ (The Constructive Journalism Project) จึงเกิดขึ้นโดยตั้งใจเสนอข่าวที่สร้างแรงบันดาลใจและทำให้คนอ่านมีส่วนร่วม ในนิยามว่าเป็น ‘การรายงานข่าวน่าสนใจ มีองค์ประกอบเชิงบวก เสนอทางออก และใส่ใจในหลักจริยธรรมสื่อสารมวลชน’
แคธรีน กิลเดนสเตด (Cathrine Gyldensted) ผู้บุกเบิกด้านสื่อสารมวลชนอย่างสร้างสรรค์ได้เขียนอธิบายไว้ว่า “เรื่องราวแบบนี้จะนำผู้ชมไปสู่อนาคต เปลี่ยนความขัดแย้งไปสู่ความเป็นไปได้โดยขยายความคิด ระดมสมอง เปลี่ยนคำถาม เล่าเรื่องราวอย่างถูกต้อง และขับเคลื่อนโลกได้”
ขณะเดียวกัน แอนโธนี เลเซอโรวิทซ์ (Anthony Leiserowitz) ผู้อำนวยการโครงการสื่อสารเรื่องสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงของมหาวิทยาลัยเยลบอกว่า ถึงรู้ปัญหาแต่ไม่รู้จะรับมืออย่างไร ปลายทางก็มักไปจบที่ ‘ช่างหัวมัน’ “เรื่องผู้คนไม่รับข่าวก็น่าห่วง แต่ปัญหายิ่งกว่าคือข่าวด้านลบอาจทำให้ผู้คนอ่อนแอลง”
อ้างอิงข้อมูลจาก: projectcensored.org