22. วิกฤติติดยาแก้ปวด ‘โอปิออยด์’ ที่ถูกเมิน
ในปี 2016 มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 64,000 รายจากการใช้ยาเกินขนาด กว่า 80 เปอร์เซ็นต์เป็นผลมาจากยาโอปิออยด์ (opioid) แต่ความสนใจของสื่อส่วนกลางกลับอยู่ที่การอภิปรายเรื่องงบประมาณเท่านั้น
ยากลุ่มโอปิออยด์ทำให้ประสาทผ่อนคลาย มีคุณสมบัติคล้ายมอร์ฟีน เมื่อใช้มากจนติดจะทำให้หัวใจเต้นช้าลงและอาจช็อกได้ จุดเริ่มต้นของวิกฤติติดยามาจากการที่บริษัทผู้ผลิตยาจ้างนักชีววิทยาให้บิดเบือนงานวิจัยและนำผลมาสร้างความเข้าใจผิดว่าโอปิออยด์แก้ปวดได้โดยไม่ต้องเสี่ยงว่าจะเสพติด
ไมค์ ปาปันโตนิโอ (Mike Papantonio) จากบริษัทกฎหมายซึ่งเป็นตัวแทนในการฟ้องร้องบริษัทยาบอกว่า “ไม่มีการกำกับดูแลบริษัทใหญ่ๆ ในวงการยา เป้าหมายของบริษัทเหล่านี้คือชุมชนคนยากจน เมืองอุตสาหกรรมที่มีอัตราว่างงานสูง เช่น ดีทรอยต์ นอกจากยานี้จะทำลายทั้งชีวิตคนแล้ว ยังทำลายการเงินของเมืองด้วย”
วิกฤติโอปิออยด์ทำให้รายจ่ายของเมืองยาวเป็นหางว่าว ทั้งการซื้อยา Naloxone และฝึกอบรมเจ้าหน้าที่เพื่อดูแลผู้ใช้โอปิออยด์เกินขนาด ขยายศาลรองรับคดี และปรับห้องขังให้เป็นศูนย์ฟื้นฟู โดยคาดว่าค่าใช้จ่ายทั่วไปอยู่ระหว่าง 90-200 ล้านดอลลาร์ – “นี่แค่เริ่มต้นเท่านั้น” ปาปันโตนิโอบอก
ถึงจะชัดเจนว่าเป็นเรื่องผิด แต่บทลงโทษต่อบริษัทผู้ผลิตยาก็มีเพียงการเสียค่าปรับที่ถูกมองว่าเป็นค่าใช้จ่ายทางธุรกิจ แล้วปล่อยให้รัฐบาลกับประชาชนผู้เสียภาษีรับผิดชอบผลกันเอง
อ้างอิงข้อมูลจาก: projectcensored.org