ใครว่าไม่มี 24 มิถุนา 2475 ในตำราเรียนมัธยม

24 มิถุนายน 2475 คือวันเปลี่ยนแปลงการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาสู่ระบอบประชาธิปไตย เรารู้และจำมาแบบนั้น แต่หากถามรายละเอียด มูลเหตุ การเมืองที่เปลี่ยนแปลง สภาพสังคมที่เปลี่ยนไป 24 มิถุนายน 2475 มีความสำคัญอย่างไร คณะราษฎรคือใคร และมรดกจากวันนั้นมันใช่ประชาธิปไตยในวันนี้หรือเปล่า

เคยมีการทดลองนำคำถามข้างต้นไปตั้งเป็นปุจฉาหาคำตอบ ประโยคที่ได้กลับมามีหลากหลาย บ้างรู้และเข้าใจในบางจิ๊กซอว์ คนรุ่นใหญ่จำนวนไม่น้อยส่ายหัว และ “ไม่รู้เหมือนกัน” คือบางคำตอบจากคนรุ่นหลัง

ข้อปรามาสตกอยู่ที่การศึกษา เราเรียนเราสอนกันแบบไหน ถึงทำให้เหตุการณ์ประวัติศาสตร์ตกแม่น้ำเจ้าพระยาพัดพาลอยออกทะเล ถ้าเป็นอย่างนี้ การศึกษาสมัยใหม่สอนเรื่องการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 กันอย่างไร

ด้วยความสงสัย เราจึงต้องลงทุนขุดค้นหนังสือเรียนมัธยมหาข้อเท็จจริงว่า ‘24 มิถุนา 2475’ ถูกบรรจุอยู่ในวรรคตอนไหน แล้วก็พบว่า ‘24 มิถุนา 2475’ มีอยู่จริงในหนังสือเรียน

อนึ่ง ประวัติศาสตร์ไม่ใช่วิชาสำเร็จรูปที่มีตำราหรือชุดความคิดใดผูกขาดความถูกต้องไว้ทั้งหมด การศึกษาที่มาที่ไปของทุกอย่างควรใช้ข้อมูลรอบด้าน หนังสือเรียนอาจไม่ได้มีลักษณะผูกขาด แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า นี่คือเนื้อหาสำเร็จรูปของไทยที่อยู่ใกล้มือเด็กมากที่สุด

หนังสือเรียนมัธยมวิชาสังคมบอกเล่าเหตุการณ์ประวัติศาสตร์นั้นเอาไว้หลายมุมมอง ขึ้นอยู่กับหลักสูตร สำนักพิมพ์ คณะผู้เขียน นี่จึงเป็นการรวบรวมส่วนหนึ่งของวันอภิวัฒน์สยาม ‘ประเทศไทย’ เมื่อ 24 มิถุนายน 2475 จากตำรามัธยมวิชาสังคมศึกษาโดยสังเขป เพื่อให้เห็นภาพกว้างของการศึกษาไทยที่สะท้อนอยู่ในสังคมว่า ข้ออ้าง “ไม่รู้ ไม่เคยเรียนมา ในตำราไม่มีสอน” มันใช้ได้จริงหรือ

สาเหตุของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง

ประวัติศาสตร์ ม.3 ผู้เขียน รศ.ดร.ไพฑูรย์ มีกุศล และคณะ

หนังสือเรียนชั้นมัธยม 3 สรุปสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงการปกครองไว้ว่า เกิดจากเศรษฐกิจตกต่ำต่อเนื่องจากรัชสมัยรัชกาลที่ 6 และสืบเนื่องจากแนวคิดการส่งนักเรียนไปศึกษาต่อในต่างประเทศในรัชสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อนักเรียนเหล่านี้กลับมา ‘ก็ได้นำเอาความรู้และแนวความคิดเกี่ยวกับการปกครองระบอบประชาธิปไตยแบบตะวันตกเข้ามาด้วย ประกอบกับการศึกษาสมัยใหม่ได้แพร่หลายมากขึ้น ทำให้แนวความคิดดังกล่าวแพร่หลายในหมู่ประชาชนอย่างกว้างขวาง ข้าราชการที่ได้รับการศึกษาตามแบบตะวันตกจึงมีแนวคิดให้ไทยปกครองในระบอบประชาธิปไตย’

หนังสือไม่ได้เขียนแต่นักเรียนอาจจะอยากรู้: หนังสืออ่านประกอบ 

  • สภาพสังคมขณะนั้นเป็นอย่างไร?

กำเนิดของชนชั้นกลางซึ่งนำไปสู่สำนึกในสิทธิของราษฎร สนธิสัญญาเบาว์ริงในสมัยรัชกาลที่ 4 เปิดการค้าเสรีในประเทศไทย ส่งผลให้ชนชั้นกลางขยายตัวและเริ่มมีบทบาทในสังคมไทย / อ่านเพิ่มเติมได้ใน ประวัติศาสตร์การเมืองไทย 2475 – 2500 โดย ชาญวิทย์ เกษตรศิริ

  • ทำไมถึงชื่อว่า ‘คณะราษฎร’?

ปรีดี พนมยงค์ เขียนไว้ว่า พลเมืองสยามส่วนมากซึ่งอยู่ภายใต้อำนาจการปกครองสมัยนั้นเรียกตนเองว่า ‘ราษฎร’ เช่นนายอำเภอเกณฑ์พลเมืองทำงานโยธา ก็เรียกกันว่าเกณฑ์ราษฎร หรือราษฎรรำพึงกันถึงความทุกข์ยากก็พูดว่า ‘ราษฎรเดือดร้อนกันทุกหย่อมหญ้า’ คือแสดงถึงลักษณะของพลเมืองส่วนที่ถูกปกครองโดยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์…ดังนั้น เราจึงถือว่าเราเป็น ‘คณะราษฎร’ เพราะเราทำตรงกับความต้องการของราษฎร ‘people’ / อ่านเพิ่มเติมได้ใน รัฐสภาไทยในรอบสี่สิบสองปี (2475-2517) โดย ประเสริฐ ปัทมะสุคนธ์

เกิดอะไรขึ้นในวันที่ 24 มิถุนายน 2475

ประวัติศาสตร์ ม.3  ผู้เขียน รศ.ดร.ไพฑูรย์ มีกุศล และคณะ

การปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองเริ่มในตอนเช้าตรู่ของวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ขณะที่รัชกาลที่ 7 แปรพระราชฐานไปประทับที่วังไกลกังวล พันเอกพระยาพหลฯ ได้อ่านประกาศคณะปฏิวัติที่ลานพระบรมรูปทรงม้า จากนั้นส่งกำลังควบคุมสถานที่สำคัญทางราชการในกรุงเทพฯ และ ‘ได้เชิญเจ้านายและบุคคลสำคัญมาไว้ที่พระที่นั่งอนันตสมาคม เพื่อเป็นตัวประกัน’

ด้านฝ่ายรัฐบาล สมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ทรงคุมกำลังทหารและพลเรือน ตัดสินพระทัยไม่ตอบโต้ให้เกิดการเสียเลือดเนื้อ และ ‘ทรงยินยอมลงพระนามในประกาศให้ทหาร ข้าราชการ และราษฎรทั้งหลายอยู่ในความสงบ’

‘แต่เนื่องจากพระองค์ไม่ทรงเห็นด้วยกับการใช้ถ้อยคำบางคำในร่างรัฐธรรมนูญนั้น จึงทรงให้คณะราษฎรนำไปแก้ไขใหม่’

ประวัติศาสตร์ไทย ม.4-6 ผู้เขียน รศ.ดร.ไพฑูร มีกุศล และคณะ

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประชุมพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่เท่าที่มีอยู่ในหัวหินขณะนั้น ในที่สุดพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตัดสินพระราชหฤทัยยินยอมตามข้อเสนอของคณะราษฎร ในพระราชสาส์นที่ทรงตอบคณะราษฎรมีข้อความตอนหนึ่งบอกเหตุผลว่า “…ข้าพเจ้าเห็นแก่ความเรียบร้อยของอาณาประชาราษฎร์ ไม่อยากให้เสียเลือดเนื้อ…” ต่อมาในวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2475 มีการตราพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 ซึ่งในมาตรา 1 ระบุว่า อำนาจสูงสุดของประเทศเป็นของราษฎรทั้งหลาย และในมาตรา 2 กำหนดผู้ใช้อำนาจแทนราษฎร คือ กษัตริย์ สภาผู้แทนราษฎร คณะกรรมการราษฎร และศาล

หนังสือไม่ได้เขียนแต่นักเรียนอาจจะอยากรู้:

  • ทำไมถึงไม่เสียเลือดเนื้อ และคณะราษฎรมีกำลังพลเยอะขนาดไหน ทำไมถึงราบรื่น

ความสำเร็จของคณะราษฎรอยู่ที่การปฏิบัติการที่เฉียบพลันถึงแม้ว่าจะมีผู้เข้าร่วมไม่เยอะมาก โดยคณะราษฎรได้ทำการเข้าควบคุมสถานที่สำคัญในการสื่อสารก่อนเพื่อทำให้องค์กรของรัฐเป็นอัมพาต นอกจากนั้นยังสามารถจับกุมเจ้านายและข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ไว้เป็นตัวประกันได้ / อ่านเพิ่มเติมได้ใน ประวัติศาสตร์การเมืองไทย 2475 – 2500 โดย ชาญวิทย์ เกษตรศิริ

  • รัชกาลที่ 7 ไม่เห็นด้วยกับข้อความไหนในร่างรัฐธรรมนูญ?

อภิวัฒน์สยาม เปลี่ยนแปลงอะไร

สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ม.2  ผู้เขียน รศ.ธวัช ทันโตภาส และคณะ

หนังสือเขียนเรื่องนี้เอาไว้ว่า เหตุการณ์ 2475 ‘เป็นการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข’

การเปลี่ยนแปลงการปกครองนี้ทำให้โครงสร้างด้านการปกครองและสังคมของไทยเปลี่ยนไป เช่น

  1. อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน ‘จากเดิมที่อำนาจอธิปไตยอยู่ที่องค์พระมหากษัตริย์ ได้เปลี่ยนมาเป็นอำนาจของประชาชน’
  2. สถาบันพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ
  3. มีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด
  4. เกิดสถาบันการปกครองมาใช้อำนาจแทนราษฎร สถาบันฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายตุลาการ
  5. มีการเลือกตั้ง ‘เป็นวิธีการสำคัญในการปกครองระบอบประชาธิปไตย เพราะเป็นกระบวนการคัดเลือกผู้ทำหน้าที่เป็นผู้แทนประชาชนมาดำเนินกิจกรรมทางการเมือง’

หน้าที่พลเมือง ม.4-6 ผู้เขียน รศ.ธวัช ทันโตภาส และคณะ

หากพลิกตำราอีกเล่ม คือ หน้าที่พลเมือง วัฒนธรรมและการดำเนินชีวิตในสังคม ม.4-6 ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงและอนุรักษ์วัฒนธรรมไทย จะพบวรรคตอนที่กล่าวถึงการเปลี่ยนแลงทางวัฒนธรรมในช่วงก่อน-หลัง พ.ศ. 2475 ไว้อย่างมีนัยสำคัญ

ในหนังสือเล่มดังกล่าวระบุว่า ก่อนเหตุการณ์ 2475 ความเป็นวัฒนธรรมไทยยึดโยงอยู่กับสถาบันพระมหากษัตริย์ สถาบันศาสนา สถาบันครอบครัว และสถาบันชุมชนท้องถิ่น เป็นรูปแบบสังคมที่เรียบง่ายไม่สลับซับซ้อน ทั้งยังยกตัวอย่างอีกว่า ‘ในหุบเขาเล็กๆ แห่งหนึ่งทางตอนเหนือไม่มีสื่อมวลชนใดๆ ไปถึง ชาวบ้านไม่สามารถรับข่าวสารจากหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ วิทยุได้ ส่วนชุมชนที่มีบ้าน วัด โรงเรียน ที่ประกอบอาชีพ ทุกคนรู้จักกันหมด เป็นชุมชนที่มีความสุข เป็นวิถีชีวิตที่เรียบง่าย’

ข้อความในเครื่องหมายคำพูดนั้น ด้านหนึ่งก็ชวนให้ฉงนว่า การไม่รับรู้ข้อมูลข่าวสารใดๆ ก่อให้เกิดความสุขของผู้คนในความหมายใด

ขณะที่หลังเหตุการณ์ 2475 แม้ความเป็นไทยและวัฒนธรรมไทยจะยังยึดโยงอยู่กับสถาบันพระมหากษัตริย์ สถาบันศาสนา สถาบันครอบครัว และสถาบันชุมชนท้องถิ่น เหมือนดังเดิมอยู่ แต่หลังปี 2500 ก็มีสถาบันอื่นที่เพิ่มเติมเข้ามามีผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของระบบการศึกษา ระบบการเมืองและเศรษฐกิจ และสถาบันทางสังคม ซึ่งปัจจัยที่เพิ่มเข้ามานี้ทำให้ ‘สังคมไทยเปลี่ยนแปลงเป็นสังคมเมืองมากขึ้น เป็นช่วงที่มีการเสริมสร้าง ฟื้นฟูวัฒนธรรมไทย และมีการรับเอาวัฒนธรรมตะวันตกเข้ามามากและรวดเร็ว ทำให้วิถีชีวิต ค่านิยม เครื่องมือเครื่องใช้ แตกต่างไปจากเดิม ซึ่งกลายเป็นวัฒนธรรมตามแบบสังคมตะวันตกมากขึ้น’

ข้อความข้างต้นถูกอธิบายในวรรคตอนต่อมาว่าทำให้ ‘สังคมไทยมีความสลับซับซ้อนมากขึ้น’ ตามไปด้วย

หนังสือไม่ได้เขียนแต่นักเรียนอาจจะอยากรู้:

  • ทำไมผู้ก่อการปฏิวัติถึงยังคงให้มีสถาบันกษัตริย์อยู่ ไม่ได้ให้ประมุขของประเทศเป็นสามัญชน

เป้าหมายของคณะราษฎรคือระบอบกษัตริย์ที่อยู่ภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญ ไม่มีประสงค์ทำการชิงราชสมบัติ / อ่านเพิ่มเติมได้ใน ประกาศของคณะราษฎรฉบับที่ 1

  • ทำไมกลุ่มคณะราษฎรจึงต้องการให้มีระบบรัฐสภาและสถาบันการปกครอง

คณะราษฎรเห็นว่าการมีรัฐสภานั้นจะได้ช่วยกันปรึกษาหารือ และ ‘หลายๆ ความคิดดีกว่าความคิดเดียว’ / อ่านเพิ่มเติมได้ใน ประกาศของคณะราษฎรฉบับที่ 1

วิวาทะ คณะราษฎรทำการชิงสุกก่อนห่าม?

ประวัติศาสตร์ไทย ม.4-6 ผู้เขียน รศ.ดร.ไพฑูร มีกุศล และคณะ

รัชกาลที่ 7 ทรงสนับสนุนการปกครองที่มาจากประชาชน แต่พระองค์มีพระราชวินิจฉัยว่าการปกครองระบอบนี้จะต้องทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยฝึกหัดประชาชนให้รู้จักใช้สิทธิในการออกเสียงควบคุมกิจการท้องถิ่นเป็นอันดับแรก ก่อนที่จะเข้ามาควบคุมกิจการของรัฐในรูปแบบรัฐสภา จึงมีการส่งเสริมการปกครองในรูปแบบเทศบาล ในปี 2470 ได้จัดตั้งคณะกรรมการเพื่อศึกษาปรับปรุงแก้ไขการสุขาภิบาลที่ตั้งขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 ให้เป็นรูปเทศบาลมากขึ้น

‘รัชกาลที่ 7 ทรงมีแผนที่จะพระราชทานรัฐธรรมนูญ ปรากฏว่าในรัชกาลนี้มีการร่างรัฐธรรมนูญถึง 2 ฉบับ แต่ยังมีผู้ไม่เห็นด้วยกับการที่จะทรงประกาศใช้ ด้วยเห็นว่ายังไม่ถึงเวลา ควรให้ประชาชนได้มีประสบการณ์ในการปกครองตนเองมากกว่าที่เป็นอยู่เสียก่อน แผนพัฒนาการปกครองของรัชกาลที่ 7 สิ้นสุดลงเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย โดยมีพระมหากษัตริย์ทรงอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 และมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 ในวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2475’

ประวัติศาสตร์ ม.3 ผู้เขียน รศ.ดร.ไพฑูรย์ มีกุศล และคณะ

ต่อเนื่องจากเหตุการณ์อภิวัฒน์วันที่ 24 มิถุนายน และมีธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราวพุทธศักราช 2475 จากนั้นได้มีการคัดเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชั่วคราว มีกรรมการร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวร ‘เมื่อคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรซึ่งมีชื่อว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม เสร็จเรียบร้อยแล้ว พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินไปประกอบพิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญ ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม ในวันที่  10 ธันวาคม 2475

หนังสือไม่ได้เขียนแต่นักเรียนอาจจะอยากรู้:

  • อะไรคือข้อกล่าวหาที่นำมาสู่วาทกรรม ‘ชิงสุกก่อนห่าม’

ชิงสุกก่อนห่าม’ เป็นคำอธิบายการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ที่แพร่หลายในช่วงต้นทศวรรษที่ 2510 โดยมุ่งให้ภาพเชิงลบต่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ว่าเป็นเรื่องของ ‘พวกที่ใจร้อน ทนรอไม่ได้ โดยเฉพาะกลุ่มนักเรียนฝรั่งเศส’/ อ่านเพิ่มเติมได้ใน ขุดมายาคติ 2475

มรดก 2475 และคณะราษฎร

หน้าที่พลเมือง วัฒนธรรม และการดำเนินชีวิตในสังคม ม.2 ผู้เขียน รศ.ธวัช ทันโตภาส และคณะ

การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 จากเดิมที่อำนาจอธิปไตยอยู่ที่องค์พระมหากษัตริย์ มาเป็นอำนาจของประชาชน ดังนั้นต้องจัดโครงสร้างทางการเมืองใหม่ โดยจัดให้มีสถาบันการเมืองมาทำหน้าที่รองรับการใช้อำนาจอธิปไตยของประชาชน ซึ่งก่อให้เกิดสถาบันใหม่ๆ ขึ้นมา ได้แก่

  1. สภาผู้แทนราษฎร เป็นสถาบันที่เปิดโอกาสให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมทางการเมือง เนื่องจากประชาชนจะเลือกสมาชิกผู้แทนราษฎรเป็นตัวแทนเข้ามาทำหน้าที่ด้านนิติบัญญัติแทนตนเอง
  2. ศาล เป็นสถาบันการเมืองที่ใช้อำนาจตุลาการ พิจารณาพิพากษาคดีความต่างๆ โดยความยุติธรรม ที่คำนึงถึงสิทธิและเสรีภาพของประชาชน
  3. รัฐธรรมนูญ คือกฎหมายสูงสุด ที่กำหนดบทบาทและอำนาจหน้าที่ของสถาบันที่ใช้อำนาจอธิปไตยซึ่งเป็นของประชาชนชาวไทยไว้ ซึ่งแยกเป็นอำนาจนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ กฎหมายอื่นจะขัดต่อรัฐธรรมนูญไม่ได้
  4. พรรคการเมือง เป็นสถาบันที่รวบรวมคนที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองเดียว มาร่วมกันทำงาน มีจุดมุ่งหมายเพื่อที่จะเป็นรัฐบาลมาทำหน้าที่ปกครองประเทศ ซึ่งการเปลี่ยนแปลง 2475 คณะราษฎรก็ได้จดทะเบียนจัดตั้งเป็นสมาคมคณะราษฎร เพื่อเป็นการปูทางพื้นฐานระบบพรรคการเมืองขึ้นในประเทศ รวมถึงเปลี่ยนเป็นวิธีดำเนินการปกครอง โดยใช้การเลือกตั้งและกระจายอำนาจปกครองมากขึ้น

นอกจากนี้ยังก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในด้านอื่นๆ อีก เช่น มีระบบการศึกษา ระบอบประชาธิปไตย ประชาชนจะดำเนินการอย่างบรรลุผล ประชาชนต้องมีความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับประชาธิปไตยเสียก่อน ซึ่งคณะราษฎรได้มองเห็นถึงปัญหานี้ ในที่สุดจึงจัดตั้งสภาการศึกษาแห่งชาติขึ้นมาพัฒนาทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาของกระทรวงธรรมการ (กระทรวงศึกษาธิการในปัจจุบัน)

กล่าวโดยสรุปเล็กๆ น้อยๆ มรดกที่ยังอยู่ให้พบเห็น เช่น พรรคการเมืองและนักการเมือง การปกครองด้วยระบบรัฐสภา การส่งเสริมการศึกษาแก่ประชาชนให้เข้าใจในประชาธิปไตย อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย แต่ก็น่าเสียดายที่บางส่วนสูญหาย

เช่น หมุดคณะราษฎร ลานพระบรมรูปทรงม้า บริเวณหน้าพระที่นั่งอนันตสมาคม และความสำคัญของวันที่ 24 มิถุนายน วันประวัติศาสตร์ของชาติที่ลดน้อยถอยลงทุกที

หนังสือไม่ได้เขียนแต่นักเรียนอาจจะอยากรู้:

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า