ย้อนมอง 24 มิถุนายน 2475 การปฏิวัติที่ล้มเหลวในการจำกัดอำนาจพระมหากษัตริย์?

หลายทศวรรษที่ผ่านมา คุณูปการของคณะราษฎรได้ถูกพูดถึงอย่างแพร่หลายทั้งในแง่วิชาการและในแง่สังคม ในฐานะตัวแสดงทางการเมืองผู้ก่อการ ‘อภิวัฒน์สยาม’ วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 อันเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในประวัติศาสตร์การเมืองไทย 

คณะราษฎรก่อการปฏิวัติที่ไร้ซึ่งการนองเลือด เปลี่ยนแปลงประเทศจาก ‘ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์’ ไปสู่ ‘ระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ’ ทำให้ตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา บทบาทของคณะราษฎรได้ถูกหยิบยกขึ้นมาศึกษาด้วยแง่มุมที่แตกต่างกันไป ทั้งการมองแบบขาว-ดำ ที่ปรากฏตามประวัติศาสตร์นิพนธ์ในแต่ละสมัย ทั้งในฐานะผู้แย่งชิงพระราชอำนาจไปจากพระมหากษัตริย์ในช่วงทศวรรษ 2500 ไปจนถึงในช่วงกลางทศวรรษ 2520 ที่คณะราษฎรถูกนำเสนอภาพจำใหม่ในฐานะผู้อภิวัฒน์สยาม ตัวแสดงสำคัญผู้ก่อให้เกิดประชาธิปไตยไทย 

ปัจจุบันการย้อนกลับไปพินิจพิเคราะห์เหตุการณ์ปฏิวัติ 2475 ในฐานะความก้าวหน้าหรือหมุดหมายของพัฒนาการทางการเมืองของประเทศไทย เป็นมุมมองที่แพร่หลายในการเคลื่อนไหวของมวลชนผู้นิยมเสรีประชาธิปไตย มุมมองนี้ได้มอบความหวัง ความฝันใฝ่ในการสานต่อเจตนารมณ์ของคณะราษฎรให้เกิดขึ้นอย่างสถาพร แต่ในขณะเดียวกันการมองคณะราษฎรในฐานะตัวแสดงทางการเมืองหนึ่งที่ไม่ประสบความสำเร็จ มีทั้งความผิดพลาดและความล้มเหลวให้คนรุ่นหลังสามารถถอดบทเรียนได้นั้นเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งต่อการสร้างสังคมไทยที่เราเฝ้าฝันถึง ผู้เขียนจึงชวนย้อนมอง 24 มิถุนายน 2475 ในฐานะ ‘การปฏิวัติที่ไม่ประสบความสำเร็จ’ ตามข้อเสนอของ อาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อดีตอาจารย์สาขาวิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 

ตัวชี้วัดความสำเร็จของการปฏิวัติ 2475 คืออะไร

นักวิชาการบางส่วนโฟกัสที่การก่อตัวของประชาธิปไตย การกระจายอำนาจ หรือไปจนถึงการแก้ไขสิทธิสภาพนอกอาณาเขต ในทางตรงกันข้าม สมศักดิ์เน้นหนักไปที่ หนึ่งในวัตถุประสงค์หลักของคณะราษฎร เช่น การเปลี่ยนการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (absolute monarchy) สู่ระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ (constitutional monarchy) ให้เกิดระบบรัฐสภาที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อจำกัดอำนาจเบ็ดเสร็จของพระมหากษัตริย์ 

“เปลี่ยนการปกครองของกษัตริย์เหนือกฎหมายมาเป็นการปกครองที่มีกษัตริย์อยู่ใต้กฎหมาย”

ปรีดี พนมยงค์

หากนี่คือวัตถุประสงค์ของคณะราษฎร คณะราษฎรที่ลงมือเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ 92 ปีก่อน สยามที่มีทั้งรัฐสภาและรัฐธรรมนูญ อำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์ถูกจำกัดแล้ว แสดงว่าคณะราษฎรก็ประสบความสำเร็จในวัตถุประสงค์หลักแล้วหรือไม่?

ในทัศนะของสมศักดิ์ หากมองว่าการเปลี่ยนระบอบการปกครองของคณะราษฎรเป็นการกระทำที่สำเร็จไปแล้ว ถือเป็นการมองประวัติศาสตร์เป็นจุดๆ หยุดนิ่งจุดเดียว ไม่สามารถนำมาพิจารณาความสำเร็จของการปฏิวัติ 2475 ได้ทั้งหมด และแม้ว่าการเปลี่ยนระบอบการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นประชาธิปไตยนั้นจะสำเร็จ แต่การรัฐประหาร 2490 ก็ทำให้การปฎิวัติ 2475 นั้นกลับไปสู่ความ ‘ไม่สำเร็จ’ ดังนั้นต้องพิจารณาในระยะยาว สมศักดิ์ยังยกตัวอย่างเช่น อังกฤษ ญี่ปุ่น หรือประเทศอื่นๆ ในยุโรป ที่ผ่านช่วงเวลาแห่งการปฏิวัติมาแล้วไม่ย้อนกลับไปอีก อำนาจเสียไปแล้วเสียไปเลย แต่ของไทยนั้นตรงกันข้าม

“สุดท้าย ฝ่ายไหนชนะ ซึ่งประวัติศาสตร์ 100 ปี บอกว่าฝ่ายนี้ (กษัตริย์) ชนะ”

สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล

กล่าวคือ การประเมินความสำเร็จสำหรับนักประวัติศาสตร์อย่างสมศักดิ์มิใช่การโฟกัสที่จุดสำเร็จ ณ วันก่อการหรือเพียงสิบปีหลังจากนั้น หากต้องดูด้วยเลนส์ระยะยาว (longue durée) เริ่มต้นด้วยหลักศตวรรษ ดูทิศทางและแนวโน้มว่าในห้วงประวัติศาสตร์อันยาวนานที่ผ่านมาและปลายทางที่กำลังดำเนินไป ตัวแสดงใดครองอำนาจนำ

หากมองจากเลนส์นี้ สมศักดิ์เสนอว่าในสายธารประวัติศาสตร์การเมืองไทยในรอบศตวรรษ อำนาจกษัตริย์ที่เคยตกต่ำอยู่ช่วงหนึ่ง กลับเพิ่มขึ้นมากกว่าเดิมก่อนการปฏิวัติ

จากการจำกัดสู่การหวนกลับของพระราชอำนาจในไทย

ศาสตราจารย์กิตติคุณธงชัย วินิจจะกูล แห่งภาควิชาประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และประวัติศาสตร์ไทย มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน เมดิสัน เสนอว่า นับตั้งแต่การถูกจำกัดอำนาจให้อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญของสถาบันพระมหากษัตริย์ในปี 2475 กลุ่มนิยมเจ้าไม่เคยละความพยายามในการเพิ่มพระราชอำนาจ ดังเช่นการรัฐประหาร พ.ศ. 2490 ของจอมพลผิน ชุณหะวัณ ที่นำมาสู่การสิ้นสุดอำนาจของคณะราษฎรปีกปรีดี พนมยงค์ 

ธงชัยชี้ให้เห็นว่า ภายหลังการสิ้นอำนาจของคณะราษฎรในครั้งนี้ ฝ่ายกษัตริย์นิยมต้องการสถาปนาอำนาจเหนือประชาธิปไตย ซึ่งเขาเรียกว่าเป็นการปกครองระบอบประชาธิปไตยแบบกษัตริย์นิยม (royalist democracy) ไม่ใช่การหันกลับไปสู่อำนาจสัมบูรณ์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ หากแต่เป็นการเพิ่มอำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ โดยบทบาทของสถาบันกษัตริย์จะเริ่มเด่นชัดมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเวลาผ่านไป

แผนภูมิภาพรวมการเมืองไทย
(ที่มา: https://x.com/somsakjeam/status/877734133644046336?s=61)

สำหรับสมศักดิ์ สถาบันกษัตริย์ตั้งแต่หลัง 2475 จนถึงกลางทศวรรษ 2530 มีสถานะเป็นเพียง ‘กลุ่ม’ หรือ clique หนึ่งในบรรดากลุ่ม หรือ cliques ต่างๆ จากกลางทศวรรษ 2530 เป็นต้นมา รัฐที่มีลักษณะเอกภาพจึงเกิดขึ้น ภายใต้อำนาจนำของสถาบันกษัตริย์ยุครัชกาลที่ 9 นับจากเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 ต่างจากความเห็นของนักวิชาการจำนวนมากที่ปักหมุดจุดตั้งต้นของการหวนคืนพระราชอำนาจไว้ที่เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 

“ต้นเดือนกันยายน 2548 สนธิ ลิ้มทองกุล ได้ “เปิดตัว” หนังสือ “พระราชอำนาจ” โดย ประมวล รุจนเสรี ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 ที่มีบท “อาเศียรวาท” ที่อัญเชิญพระราชดำรัสของพระเจ้าอยู่หัวฯ ว่า “เราอ่านแล้ว เราชอบมาก”

สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล

สมศักดิ์เสนอให้นับเหตุการณ์ข้างต้นนี้ เป็น ‘จุดเริ่มต้น’ ของวิกฤตประเทศไทยปัจจุบัน โดยมองว่าวิกฤตนี้มีความเข้มข้น แหลมคม รุนแรง และยืดเยื้ออย่างต่อเนื่อง ไม่ยอมหยุดและยังไม่จบลง โดยที่ไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์การเมืองไทย

จะจัดวางตำแหน่งแห่งที่ของสถาบันกษัตริย์ในสังคม-การเมืองไทยอย่างไร

การเกิดขึ้นของ ‘มวลชนเสื้อเหลือง’ คือปรากฏการณ์ที่สมศักดิ์เรียกว่า mass monarchy หรือสถาบันกษัตริย์มวลชน เป็นครั้งแรกที่สถาบันกษัตริย์มี ‘ฐานมวลชน’ แท้จริงเกิดขึ้น โดยที่กษัตริย์ได้เปลี่ยนจากหัวหน้ากลุ่มปกครอง (head of the ruling cliques) ไปสู่หัวหน้าชนชั้นปกครอง (head of the ruling class)

การเกิดขึ้นของฐานมวลชนนี้นำไปสู่ปรากฏการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์ สถานะของกษัตริย์สูงส่งอย่างไม่เคยเป็นมาก่อนแม้แต่ในช่วงสมบูรณาญาสิทธิราชย์

ทว่าด้วยพระราชอำนาจที่ยังจำกัดในรัฐธรรมนูญมิได้แปรผันตามสถานะอันสูงส่งนี้ จึงนำไปสู่การเกิดกระแส ‘ถวายคืนพระราชอำนาจ’ จากฐานมวลชนเหล่านี้ 

สนธิ ลิ้มทองกุล ได้ปฏิเสธการก่อการยึดอำนาจของคณะราษฎรด้วยการให้เหตุผลทางกฎหมายไว้ว่า การเปลี่ยนแปลงการปกครองของคณะราษฎร จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญนั้นเกิดจาก ‘การโอนถ่ายอำนาจอธิปัตย์จากพระมหากษัตริย์ให้แก่ประชาชนโดยผลของรัฐธรรมนูญ’ ซึ่งรัฐธรมมนูญก็นับได้ว่าพระมหากษัตริย์ทรงตราขึ้นได้โดยพระราชอำนาจของพระองค์เอง 

สำหรับสนธิ คณะราษฎรไม่เคยอ้างตนเป็นองค์อธิปัตย์ของรัฐ และประกาศใช้รัฐธรรมนูญด้วยอำนาจของตนเอง หากแต่คณะราษฏรยังคงต้องขอพระราชทานจากพระมหากษัตริย์อยู่ ดังนั้นจึงไม่เป็นไปตามหลักการที่องค์อธิปัตย์ของรัฐจะออกกฎหมายหรือไม่ออกกฎหมายใดก็ได้ เพราะไม่มีอำนาจใดอยู่เหนืออำนาจองค์อธิปัตย์ของรัฐ และตามประวัติศาสตร์นั้นคณะราษฎรได้ขอพระราชทานรัฐธรรมนูญจากในหลวงรัชกาลที่ 7 กล่าวคือ กระบวนการถ่ายโอนอำนาจอธิปไตยมาสู่ประชาชนนั้นเกิดขึ้นจากพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ มิได้ถูกคณะราษฎรยึดกุมไปอย่างที่เข้าใจกัน

หากมองในทางเดียวกันกับสมศักดิ์ ความข้างต้นไปไกลมากกว่าข้อสังเกตที่ว่าการปฏิวัติของคณะราษฎรไม่ประสบความสำเร็จ หากไม่ได้ยังผลใดๆ ในการจำกัดอำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์ตั้งแต่ต้น

การเกิดขึ้นของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มีความสัมพันธ์ระหว่างความเป็นประชาธิปไตยและพระมหากษัตริย์เป็นสองฝั่งของตาชั่ง การหาตำแหน่งแห่งที่อันสมดุลของตาชั่งสังคมไม่ให้เอนเอียงไปทางใดทางหนึ่งมากเกินไปเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องหาคำตอบร่วมกัน 

สำหรับสมศักดิ์ ประเด็นเรื่องการจัดตำแหน่งแห่งที่สถาบันกษัตริย์ในสังคมไทยนั้น เขาต้องการสมดุลในลักษณะเดียวกันกับชาติที่เป็นแม่แบบของระบอบนี้มาอย่างยาวนานอย่างสหราชอาณาจักร ที่เปิดให้ทุกคนสามารถอภิปรายประเด็นนี้อย่างเต็มที่ ตรงไปตรงมา เพื่อให้สถาบันกษัตริย์อยู่ในบรรทัดฐานเดียวกับองค์กรอำนาจรัฐ ตรวจสอบได้ วิพากษ์ได้ เรียกร้อง เอาผิดได้ ไม่มีการบังคับโฆษณาชวนเชื่อ

พระราชอำนาจอันล้นพ้นของสถาบันกษัตริย์

การปฏิวัติ พ.ศ. 2475 เป็นจุดสำคัญในประวัติศาสตร์ไทยที่เปลี่ยนผ่านจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไปสู่ระบอบกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตาม หากมองระยะยาวในการจำกัดอำนาจของสถาบันกษัตริย์คงกล่าวได้ว่า ความสำเร็จของคณะราษฎรไม่อาจยังผลมาจนถึงปัจจุบัน เพราะอิทธิพลของสถาบันกษัตริย์กลับขยายตัวขึ้นตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา อีกทั้งพระราชอำนาจทั้งในและนอกรัฐธรรมนูญที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา จึงเป็นที่แน่ชัดว่า ความสำเร็จของการปฏิวัติ 2475 มีเพียงบางส่วนเท่านั้น

การฟื้นคืนอำนาจของกษัตริย์ก่อให้เกิดปัญหาในตัวเองหลายประการ แนวคิดที่ว่ากษัตริย์สามารถเป็นทั้งประมุขของชาติและผู้มีบทบาททางการเมืองที่ทรงอำนาจนั้น ไม่อาจสอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและไปด้วยกันได้กับการเปลี่ยนแปลงของการเมืองวัฒนธรรมไทยในยุคปัจจุบัน ท้ายที่สุดการขยายอำนาจของสถาบันกษัตริย์อาจไม่เป็นการดีกับฝ่ายไหนเลยแม้แต่กับตัวสถาบันพระมหากษัตริย์เอง ดังที่หม่อมเจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณเคยให้ความเห็นไว้หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ได้ไม่นาน

“ตั้งแต่วัน 24 มิถุนายนเป็นต้นมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงผูกหัวใจของอาณาประชาราษฎร์ไว้ทั้งหมด เพิ่งเริ่มทรงราชย์เป็นพระราชาที่รักของราษฎรต่อเมื่อเลิกทรงรัฐ เลิกทรงว่าราชการแผ่นดิน นั้นเอง”

หม่อมเจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณ

Author

ไตรรัตน์ พุทธรักษา
ซ้ายตกขอบไร้สังกัด ผู้เป็นมิตรกับแมวจรทั่วโลก เสพติดอาหารเลิศรส ดนตรี ภาพยนตร์ และ ศิลปะ ฝันอยากเปลี่ยนโลกก่อนที่จะโดนโลกเปลี่ยน

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า