หนังสือ 26 เล่มที่เด็กควรอ่านใน 28 ประเทศ

ภาพประกอบ: antizeptic

การอ่านเป็นส่วนสำคัญของระบบการศึกษาทั่วโลก เด็กถูกปลูกฝังให้รักการอ่านตั้งแต่อายุน้อย ในบริบทของแต่ละประเทศที่ต่างกัน หนังสือที่ ‘ควรอ่าน’ ของประเทศจึงมีเรื่องราวเนื้อหาไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับ ขนบ วัฒนธรรม และแนวคิดสำคัญของสังคมนั้นๆ

TED-Ed ได้รวบรวมหนังสือ 26 เล่มจาก 28 ประเทศ โดยเน้นผู้เขียนเป็นคนในประเทศ และรายชื่อด้านล่างนี้สะท้อนการปลูกฝังสิ่งพื้นฐานต่างๆ ให้เด็กได้เป็นอย่างดี

1. อัฟกานิสถาน: อัลกุรอาน

เนื้อหาเกี่ยวกับอะไร: คัมภีร์ศาสนาอิสลาม เป็นหนังสือสำคัญทางศาสนาและถือเป็นงานเขียนภาษาอารบิกชิ้นเอกชิ้นหนึ่ง

หนังสือเล่มนี้สอนอะไร: “ในประเทศของผมไม่มีวัฒนธรรมการอ่านวรรณกรรม นี่เป็นเรื่องน่าเศร้า” ฟารุกห์ อัตตาห์ (Farokh Attah) กล่าวว่า “หนังสือเล่มเดียวที่ทุกคนต้องอ่านในโรงเรียนคือคัมภีร์อัลกุรอาน และทุกๆ คนจะถูกฝึกให้อ่านคัมภีร์นี้ตั้งแต่เด็ก”

 

2. อัลแบเนีย: Kronikë në gur (1971) โดย Ismail Kadare

เนื้อหาเกี่ยวกับอะไร: รู้จักกันในชื่อภาษาอังกฤษ Chronicle in Stone วรรณกรรมนี้สอนเกี่ยวกับการใช้อำนาจปกครองในแบบต่างๆ ที่มีส่วนในการเข้ามากดขี่และทำลายอัลแบเนียในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ทั้งอิตาเลียนฟาสซิสต์ กรีก และนาซี

หนังสือเล่มนี้สอนอะไร: อิสมาอิล คาดาเร เป็นนักเขียนอัลแบเนียที่ได้รับการกล่าวถึงมากที่สุด เคยได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมหลายครั้ง

“หนังสือเล่มนี้จะทำให้คุณเข้าใจชัดเลยว่า สงครามโลกครั้งที่ 2 ทำอะไรกับชีวิตที่ต้องผ่านเหตุการณ์นั้นมาบ้าง” วาอิตซัน ชูมาคู (Vaitson Çumaku) อธิบายเรื่องว่า “เพราะมันมาจากมุมมองของเด็ก และยังแสดงให้เห็นว่า ยังมีเรื่องราวในแง่ดีเกิดขึ้นได้ แม้อยู่ในระหว่างเวลาที่ยากลำบากขนาดนั้นก็ตาม”

 

3. ออสเตรเลีย Tomorrow, When the War Began (1993) โดย John Marsden

เนื้อหาเกี่ยวกับอะไร: เด็กสาววัยรุ่นและเพื่อนๆ เดินทางกลับจากการเดินทางแคมปิง เพื่อค้นหากองกำลังไม่ทราบสัญชาติที่เข้ามาบุกออสเตรีย

หนังสือเล่มนี้สอนอะไร: “หนังสือเล่มนี้เล่นกับความกลัวในการถูกรุกรานและจิตวิญญาณในการต่อสู้” เบ็ธ เจมส์ วอเตอร์ส (Beth James Waters) กล่าวว่า “เป็นการบรรยายความงดงามของพื้นที่รกร้างกว้างใหญ่และเต็มไปด้วยอันตรายในธรรมชาติของประเทศเรา”

 

4. ออสเตรีย: Faust (1787) โดย Johann Wolfgang von Goethe

เนื้อหาเกี่ยวกับอะไร: เรื่องราวของ เฟาสต์ ชายผู้ไม่พึงพอใจกับชีวิตตนเอง จนต้องทำสัญญากับปีศาจเมฟิสโตเฟลีส (Mephistopheles) เพื่อแลกกับความสามารถต่างๆ ซึ่งปีศาจสามารถบันดาลสิ่งต่างๆ ได้ตามต้องการ แต่ข้อแลกเปลี่ยนคือ เฟาสต์ ต้องตามไปเป็นข้ารับใช้ในนรกชั่วนิรันดร์ และด้วยพรของปีศาจ เฟาสต์ตกหลุมรักกับหญิงสาว เกรทเชน (Gretchen) ก่อนที่โศกนาฏกรรมจะตามมาในภายหลัง

หนังสือเล่มนี้สอนอะไร: เรื่องนี้ทำให้เกิดข้อถกเถียงเชิงปรัชญาในวงกว้าง เช่น การปะทะกันระหว่างวิทยาศาสตร์และจิตวิญญาณ เหตุผลและอารมณ์ การหลุดพ้นและการสาปแช่ง ซึ่งแนวคิดการประพันธ์ของเกอเธชิ้นนี้ได้ส่งอิทธิพลสู่งานวรรณกรรมอีกจำนวนมาก

“มันสามารถตีความไปได้หลายอย่าง…Faust ไม่ใช่เรื่องเข้าใจง่ายๆ เหมือนวรรณกรรมรุ่นหลังจากนั้น มันช่วยให้เด็กนักเรียนจินตนาการไปได้หลายทางต่างๆ กัน” บาร์บารา พอลเมเยอร์ (Barbara Paulmayer)

 

5. บอสเนียและเซอร์เบีย: Na drini ćuprija (1945) โดย Ivo Andrić

เนื้อหาเกี่ยวกับอะไร: รู้จักกันในชื่อภาษาอังกฤษ The Bridge on the Drina วรรณกรรมที่เล่าเรื่องราวตลอด 300 ปีของเมืองเล็กๆใกล้ๆ กับสะพานเมเหม็ด ปาชาโซ โกโลวิช (Mehmed Pasha Sokolović) เริ่มต้นเมื่อสะพานถูกสร้างขึ้นในศตวรรษที่ 16 ของจักรวรรดิออตโตมัน กระทั่งถูกทำลายลงบางส่วนช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1

หนังสือเล่มนี้สอนอะไร: อิโว อันดริช คือนักเขียนรางวัลโนเบลคนเดียวที่มาจากเซอร์เบีย โครเอเชีย และบอสเนีย

“มันเป็นหนังสือที่ไม่มีกาลเวลาจริงๆ” มาร์ติน คอนซา (Martin Kondža) เล่าว่า “เรื่องราวนี้สามารถเอามาใช้กับความเป็นมนุษย์ได้จนทุกวันนี้ สะพานทำหน้าที่เหมือนพยานที่แข็งทื่อของการเกิดขึ้นและล่มสลายของอาณาจักร ชีวิตคนที่อยู่ในจุดสูงสุดและต่ำสุด รวมถึงการก่อร่างสร้างชาติและการถูกทำลาย”

 

6. บราซิล: Morte e vida Severina (1955) โดย João Cabral de Melo Neto

เนื้อหาเกี่ยวกับอะไร: รู้จักกันในชื่อภาษาอังกฤษ The Death of a Severino  เรื่องราวการเดินทางที่ยากลำบากของชายผู้หนีจากความอดอยากและความยากจนข้นแค้นจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือของบราซิล เพื่อมาหาชีวิตที่ดีกว่าในเมือง

หนังสือเล่มนี้สอนอะไร: “มันทำให้เห็นภาพคู่ขนานของสิ่งที่ประเทศเคยเป็นและยังเป็นอยู่ ทั้งความยากจน ความไม่เท่าเทียม ผู้คนที่ถูกมองข้าม เทียบกับชีวิตแบบคนเมืองที่ได้เปรียบกว่า รวมถึงระยะห่างของคนทั้งสองกลุ่มนี้” แอนเดรีย โรดิเกซ (Andrea Rodrigues)

 

7. บัลแกเรีย: Under the Yoke (1894) โดย Ivan Vazov

เนื้อหาเกี่ยวกับอะไร: วรรณกรรมชิ้นนี้เล่าเรื่องหมู่บ้านบัลแกเรียภายใต้การปกครองของออตโตมัน ฉายให้เห็นภาพความล้มเหลวของการจลาจลในปี 1870 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการแยกดินแดน โดยตัวละครของเรื่องชาวบ้านในกลุ่มกบฏทั้งสองฝั่ง

หนังสือเล่มนี้สอนอะไร: อิวาน วาซอฟ ถือเป็นบิดาด้านวรรณกรรมของบัลแกเรีย” คริสตีน โอมอลลีย์ (Kristine O’Malley) อธิบายต่อว่า “การเป็นทาสของจักรวรรดิออตโตมันและการต่อสู้ดิ้นรนเพื่อเอกราช เหล่านี้คือสิ่งที่สร้างเอกลักษณ์ของชาติบัลแกเรียขึ้นมา”

8. แคนาดา: The Wars (1977) โดย Timothy Findley

เนื้อหาเกี่ยวกับอะไร : เรื่องของเด็กหนุ่มแคนาดาวัย 19 ปี โรเบิร์ต รอสส์ (Robert Ross) ที่พยายามรับมือการตายของพี่สาวโดยสมัครไปเป็นทหารร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่ 1 ด้านมืดในตัวรอสส์ผลักให้เขาเดินทางไปยังฝรั่งเศส สมรภูมิที่เขาสู้รบและเผชิญเหตุการณ์ที่เลวร้ายที่สุดในสงครามและในความเป็นมนุษย์

หนังสือเล่มนี้สอนอะไร: “หนังสือเล่มนี้คือต้นแบบของนวนิยายแคนาเดียน ที่บรรยายสภาพของสงครามอย่างโหดเหี้ยมแต่ตรงไปตรงมา รวมถึงความโศกเศร้า จนนำไปสู่การไม่สนใจโลกในแบบฉบับของตัวเอง” แคเรน โกแปง-วี (Karen Goepen-Wee)

 

9. ชิลี: Sub Terra (1904) โดย Baldomero Lillo

เนื้อหาเกี่ยวกับอะไร: รวมเรื่องสั้นเกี่ยวกับความเหน็ดเหนื่อย ความแร้นแค้น และอันตรายที่คนงานเหมืองถ่านหินในตอนใต้ของชิลีช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ต้องเจอ

หนังสือเล่มนี้สอนอะไร: “Sub Terra คือบันทึกประวัติศาสตร์หน้าสำคัญของชิลี” นาตาเลีย ซาลามันคา โมเรโน (Natalia Salamanca Moreno) อธิบายว่า “คือวิถีชีวิตของนักศึกษาในยุคนั้นที่แตกต่างอย่างสุดขั้วกับปัจจุบัน ช่วยทำให้นักศึกษายุคนี้ฉุกคิดและพอใจกับสิ่งที่ตัวเองมีอยู่ เนื้อหาของหนังสือเล่มนี้ยังย้ำถึงคุณค่าของครอบครัว การขอบคุณพ่อแม่และความลำบากของทั้งคู่”

 

10. จีน: Analects โดย Confucius (ขงจื๊อ)

เนื้อหาเกี่ยวกับอะไร: กวีนิพนธ์รวบรวมคำสอนของขงจื๊อ นักปราชญ์จีนโบราณ ซึ่งเชื่อว่าถูกบันทึกไว้ในช่วงระหว่าง 475-221 ปีก่อนคริสตกาล

หนังสือเล่มนี้สอนอะไร: “ครูต้องการให้ศิษย์เรียนรู้ศีลธรรมอันดีจากกวีนิพนธ์ เช่น แสดงความเคารพต่อพ่อแม่ เรียนรู้การทำความดีจากผู้อื่น ไม่ว่าเขาจะยากดีมีจนอย่างไรและฝึกการคิดอย่างมีวิจารณญาณ” อ้ายยี่ หลู (Aylee Lu) อธิบาย “และหนังสือเล่มนี้ยังเป็นเสาหลักของวัฒนธรรมจีนด้วย”

 

11. โคลอมเบีย: Cien años de Soledad (1967) โดย Gabriel García Márquez

เนื้อหาเกี่ยวกับอะไร: งานเชิงสัจธรรมนิยมมหัศจรรย์  เป็นที่รู้จักมากจากสำนวนแปลภาษาอังกฤษ One Hundred Years of Solitude และชื่อไทย หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว เล่าเรื่องกราฟชีวิตของคนห้ารุ่นในตระกูลบูเอ็นดียา (Buendía) ที่มีตั้งแต่ตกต่ำไปจนถึงจุดสูงสุด โดยเริ่มตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 19

หนังสือเล่มนี้สอนอะไร: การ์เซีย มาร์เกซ ถือเป็นหนึ่งในนักเขียนคนสำคัญในงานสกุลภาษาสเปน เขาได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมในปี 1982 นวนิยายเรื่องนี้สะท้อนถึงความรุนแรงที่เกิดขึ้นทั่วไปในโคลอมเบีย “รวมถึงการคอร์รัปชันรวมถึงความยากลำบากที่ชาวโคลอมเบียต้องก้มหน้าแบกรับ” ดานิเอลา รามิเรซ แบร์เรตโต (Daniela Ramirez Barreto) กล่าว “แม้จะมีบางอย่างที่บอกกับเราว่าอย่ายอมแพ้”

 

12. ไซปรัส: The Murderess (1903) โดย Alexandros Papadiamantis

เนื้อหาเกี่ยวกับอะไร: ว่าด้วยเรื่องราวของ ฮาดูลา (Hadoula) หญิงผู้อาศัยอยู่บนเกาะสเกียธอส (Skiathos) เธอลงมือสังหารเด็กสาวหลายคนโดยวิธีการุณยฆาต เพราะเธอเห็นอนาคตของเหยื่อเหล่านี้ที่คับแคบและสิ้นหวัง

หนังสือเล่มนี้สอนอะไร: “หนังสือเล่มนี้ฉายให้เห็นบทบาทของผู้หญิงและบทบาททางเพศภายใต้การแต่งงาน ถือเป็นประวัติศาสตร์หน้าสำคัญของไซปรัสและกรีซ” อีแวนเธีย โปยาตซี (Evanthia Poyiatzi) กล่าว “ทำให้เด็กๆ รู้ว่าพฤติกรรมแบบไหน มีหรือไร้จริยธรรม”

13. อียิปต์: The Days (1935) โดย Taha Hussein

เนื้อหาเกี่ยวกับอะไร: อัตชีวประวัติของนักคิดและนักเขียน ฮุสเซน (Hussein) ที่มีชีวิตในช่วงปี 1889-1973 ตาทั้งสองข้างของเขาบอดตั้งแต่อายุ 3 ขวบ แต่เติบโตขึ้นเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และกลายเป็นหนึ่งในผู้ทรงอิทธิพลคนสำคัญในแวดวงวรรณกรรมอียิปต์

หนังสือเล่มนี้สอนอะไร: หนังสือเล่มนี้สอนคนรุ่นใหม่ว่า “การรวบรวมความรู้เป็นสิ่งสำคัญ มันคืออาวุธในการขบถต่อวัฒนธรรมและผลกระทบร้ายๆ จากการเพิกเฉยในสังคมแห่งปัจเจก” มาห์มูด อัตตัลลา (Mahmoud Attalla)

 

14. ฟินแลนด์: Seitsemän veljestä (1870) โดย Aleksis Kivi

เนื้อหาเกี่ยวกับอะไร: รู้จักกันในชื่อภาษาอังกฤษ Seven Brothers เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับครอบครัวของพี่น้องผู้ชายเจ็ดคนที่ชอบหาเรื่องทะเลาะเบาะแว้งกัน และพูดถึงเรื่องราวการต่อสู้ดิ้นรนใช้ชีวิตในชนบทของฟินแลนด์ จนสุดท้ายพวกเขาก็สามารถเติบโตเป็นคนดีของสังคมได้

หนังสือเล่มนี้สอนอะไร: นิยายเรื่องนี้เชื่อกันว่าเป็นนิยายฟินแลนด์ที่เขียนโดยชาวฟินแลนด์ และใช้ภาษาฟินแลนด์เพื่อเล่าเรื่องราวของชาวบ้านทั่วไปอย่างแท้จริง “นิยายเรื่องนี้ถูกพิจารณาให้เป็นนิยายแห่งชาติของฟินแลนด์และเล่าเรื่องราวความดื้อรั้นของชาวฟินแลนด์” ยานนี ลานซิโอ (Jaani Länsiö)

 

15. เยอรมนี: Tagebuch der Anne Frank (1947)

เนื้อหาเกี่ยวกับอะไร: รู้จักกันในชื่อภาษาอังกฤษที่เราคุ้นหูกันดีก็คือ The Diary of Anne Frank หนังสือเล่าเรื่องเด็กสาวชาวยิว แอน แฟรงค์ (Anne Frank) และครอบครัว ที่ต้องอาศัยอยู่ในซอกตึกของเมืองอัมสเตอร์ดัมเพื่อหลบซ่อนจากการจับกุมของนาซี

หนังสือเล่มนี้สอนอะไร: “เราไม่ควรลืมเรื่องราวน่าสะพรึงกลัวที่ก่อให้เกิดเหตุการณ์ที่แสนเลวร้ายจากกลุ่มคนหัวแคบ” ชาร์ลอตต์ โบห์ม (Charlotte Böhm)

 

16. กานาและไนจีเรีย: Things Fall Apart (1958) โดย Chinua Achebe

เนื้อหาเกี่ยวกับอะไร: เริ่มเขียนตั้งแต่ช่วงศตวรรษที่ 1900 โดยนิยายเรื่องนี้เล่าเรื่องผ่านตัวละครหลักชื่อ โอคอนโคว (Okonkwo) หัวหน้าเผ่าอิกโบ (Igbo) และผู้ชนะกีฬามวยปล้ำของหมู่บ้าน เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับความภาคภูมิใจและอำนาจบารมีของเขา แต่ท้ายสุดแล้วเขาก็ต้องเสียชัยชนะให้กับกลุ่มล่าอาณานิคมคนผิวขาว

หนังสือเล่มนี้สอนอะไร: “มองอย่างผิวเผินแล้วนิยายเรื่องนี้เล่าเรื่องราวการเฉลิมฉลองแบบประเพณีนิยมของชาวแอฟริกันและแนวคิดเหล่านั้นถูกล้างหายไปจนหมดเมื่อกลุ่มมิชชันนารีเข้ามา” Ama Y Adi-Dako อธิบายต่อว่า “แต่หัวใจสำคัญของเรื่องนี้อยู่ที่การมองอย่างวิพากษ์ไปที่แนวคิดของเรื่องดังกล่าว ข้อเสียเปรียบของชาวแอฟริกันและความเป็นชายในกลุ่มชนเผ่า”

 

17. อินเดีย: Autobiography: The Story of My Experiments With Truth (1927-1929) โดย Mohandas K. Gandhi

เนื้อหาเกี่ยวกับอะไร: บันทึกประจำวันของอดีตผู้นำชาวอินเดีย ครอบคลุมตั้งแต่ชีวิตวัยเด็กไปจนถึงช่วงอายุ 50 ต้นๆ

หนังสือเล่มนี้สอนอะไร: “หนังสือเล่มนี้ยึดถือสาระสำคัญในการใช้ชีวิตอย่างมีเกียรติมีศักดิ์ศรีผ่านความจริงและการต่อสู้โดยไม่ใช้ความรุนแรง” บิสมี ซาอิน (Bismi Sain)

 

18. อินโดนีเซีย: Laskar Pelangi (2005) โดย Andrea Hirata

เนื้อหาเกี่ยวกับอะไร: รู้จักกันในชื่อภาษาอังกฤษ Rainbow Troops นิยายเรื่องนี้เขียนจากประสบการณ์จริงของนักเรียน 10 คนจากหมู่บ้านแห่งหนึ่งที่อยู่ห่างไกลในอินโดนีเซีย โดยได้รับความช่วยเหลือจากคุณครูที่มีแรงใจ เรียนรู้ที่จะปกป้องพวกเขาเองและชุมชนของเขา

หนังสือเล่มนี้สอนอะไร: ”มันสอนให้เรารู้จักเสียสละอุทิศตน ขยันทำงาน ความจงรักภักดี ความรักของพี่ชายน้องชาย มิตรภาพ มองโลกในแง่ดีและความมุ่งมั่นที่จะเผชิญหน้ากับความท้าทาย” มาห์รุกห์ บาเชียร์ (Mahrukh Bashir)

19. อิหร่าน: บทกลอนและบทกวีจากนักเขียน เช่น Hafiz, Sa’Addi, Ferdowsi, Rumi และ Khayyam

เนื้อหาเกี่ยวกับอะไร: ความรัก ความงาม ความสุขสันต์และอื่นๆ

หนังสือเล่มนี้สอนอะไร: “ในอิหร่านนิยายถือว่าเป็นวรรณคดีรูปแบบใหม่” เน ดา (Ne Da) อธิบาย “แต่ถ้าพูดถึงวรรณกรรมคลาสสิกของอิหร่านแล้ว ก็คือบทกลอนและบทกวีต่างๆ ซึ่งกลอนบทหนึ่งก็จะพูดถึงคุณค่าแต่ละเรื่องต่างกัน”

 

20. ไอร์แลนด์: Ice Man: the Adventures of an Irish Antarctic Hero (2010) โดย Michael Smith

เนื้อหาเกี่ยวกับอะไร: หนังสือชีวิตประวัติของ ทอม ครีน (Tom Crean) ชายไอร์แลนด์ที่หนีออกจากบ้านตั้งแต่อายุ 15 ปีเพื่อมาเข้าร่วมคณะสำรวจแอตแลนติกของกัปตันเรือ โรเบิร์ต ฟลาคอน สก็อต (Robert Falcon Scott) และเขายังเป็นสมาชิกกลุ่มของยอดนักสำรวจชาวไอริชที่ชื่อว่า เอิร์นเนสต์ แช็คเคิลตัน (Ernest Shackleton) ซึ่งเป็นภารกิจที่เรียกว่าเป็นการสำรวจขั้วโลกใต้ที่ทรหดอดทนมากที่สุด

หนังสือเล่มนี้สอนอะไร: “หนังสือแสดงให้เห็นถึงความทะเยอทะยานของนักสำรวจชาวไอริชที่สามารถเอาชนะความยากลำบากผ่านการทำงานอย่างหนัก มุ่งมั่น ทุ่มเทจนอะไรก็เกิดขึ้นได้” นาโออิมห์ มอร์ตัน (Naoimh Morton)

 

21. อิตาลี: I Promessi Sposi (1827) โดย Alessandro Manzoni

เนื้อหาเกี่ยวกับอะไร: รู้จักกันในชื่อภาษาอังกฤษ The Betrothed ฉากของเรื่องเกิดขึ้นทางตอนเหนือของประเทศอิตาลีในช่วงต้นของศตวรรษที่ 17 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่อิตาลีขณะนั้นยังไม่รวมเป็นชาติเดียว

ใน I Promessi Sposi ชุมชนและชีวิตของผู้คนในหมู่บ้านแห่งนี้เป็นไปภายใต้อิทธิพลและการครอบงำของอารยธรรมสเปน และถมทับด้วยเหตุการณ์การเกิดโรคระบาดครั้งใหญ่ที่ฆ่าชีวิตผู้คนนับพัน

หนังสือเล่มนี้สอนอะไร: “I Promessi Sposi ถือเป็นรากฐานที่สำคัญของวรรณกรรมอิตาลี” โซเฟีย รามุนโด (Sofia Ramundo) กล่าว และ “นิยายเล่มนี้ถูกนับเป็นมาตรฐานนิยายเชิงประวัติศาสตร์ของอิตาลีทีเดียว” โดย มิเคลา ซาคคี โอไบรเอน (Michela Sacchi O’Brien)

 

22. ปากีสถาน: The Reluctant Fundamentalist (2007) โดย Mohsin Hamid

เนื้อหาเกี่ยวกับอะไร: The Reluctant Fundamentalist ถือเป็นนิยายขายดีระดับโลก พูดถึงชีวิตชายชาวปากีสถาน ทั้งก่อนและหลังเหตุการณ์ 11 กันยายน 2011 (เหตุการณ์ 9/11)

หนังสือเล่มนี้สอนอะไร: “หนังสือเล่มนี้สะท้อนชีวิตของชาวปากีสถานรุ่นใหม่ ที่ต้องอยู่กับความเชื่อและภาพจำของคนที่มีต่อชาวมุสลิม ขณะที่เขาก็ต้องดิ้นรนค้นหาตัวตน (ความเป็นชาวมุสลิมสมัยใหม่) ของเขาด้วย” วาจิฮา อาติค (Vajiha Atiq)

 

23. ฟิลิปปินส์: Noli Me Tangere (1887) โดย Jose Rizal

เนื้อหาเกี่ยวกับอะไร: รู้จักกันในชื่อภาษาอังกฤษ Touch Me Not คือนวนิยายที่ถูกเขียนโดย โฮเซ รีซัล วีรบุรุษของการปฏิวัติฟิลิปปินส์ บอกเล่าชีวิตของชาวปินอยด์ในครั้งที่ต้องอยู่ใต้อาณานิคมและศาสนจักรของสเปน

หนังสือเล่มนี้สอนอะไร: “ผสมรวมกันทั้งรสชาติความดราม่าของชีวิตและถ้อยสื่อสารปลุกสำนึกการต่อสู้ ทำให้นิยายเล่มนี้ถูกเปรียบเทียบกับเรื่อง Uncle Tom’s Cabin โดยนักเขียนชาวอเมริกัน แฮเรียต บีเชอร์ สโตว์ (Harriet Beecher Stowe) ที่ว่าด้วยการต่อสู้ดิ้นรนของทาสในช่วงปฏิวัติอเมริกา ซึ่งทั้งสองเรื่องช่วยสร้างความเข้าใจและสำนึกของนักเรียนเรื่องการต่อสู้เพื่ออิสรภาพ” จอห์น เอริค อูย (John Eric Uy)

 

24. รัสเซีย: War and Peace (1869) by Leo Tolstoy

เนื้อหาเกี่ยวกับอะไร: War and Peace หรือชื่อไทย สงครามและสันติภาพ ติดตามชีวิตและความรักของกลุ่มคนห้าครอบครัว เริ่มเรื่องตั้งแต่ปี 1805 จนถึงการรุกรานประเทศรัสเซียของนโปเลียนในปี 1812

หนังสือเล่มนี้สอนอะไร: “War and Peace พูดถึงมุมมองของชีวิตในทุกๆ มิติ เช่น การมีคุณค่าในสังคม การให้อภัย การได้รับเกียรติ เราเชื่อว่าทุกๆ คนต้องเคยผ่านประสบการณ์อย่างในคาแรคเตอร์ของตัวละครหลายๆ คนในเล่มนี้” วาเลนตินา อิชมาโนวา (Valentina Ishmanova)

 

25. สหรัฐ: To Kill A Mockingbird (1960) โดย Harper Lee

เนื้อหาเกี่ยวกับอะไร: ในชื่อไทย ผู้บริสุทธิ์ นิยายคลาสสิกของอเมริกาในช่วงปี 1930 (1930s) ที่เล่าและอธิบายว่าทำไมการเหยียดชาติ เหยียดเพศ และความไม่ยุติธรรมจึงอยู่ในเนื้อตัวของประวัติศาสตร์สหรัฐจนทุกวันนี้

หนังสือเล่มนี้สอนอะไร: “เรายังคงพูดและต่อสู้กับปัญหาการเหยียดชาติ การเลือกปฏิบัติ โดยเฉพาะในระบบกฎหมายของสหรัฐ” ฌอน แมคโกเวิร์น (Shaun McGovern)

 

26. เวียดนาม: Truyện Kiều (1820) โดย Nguyễn Du

เนื้อหาเกี่ยวกับอะไร: กวีเล่าเรื่องของผู้หญิงที่ชื่อ Thuý Kiều ผู้ที่ถูกผลักให้ต้อง ‘แลก’ ตัวเพื่อช่วยพ่อและน้องชายของเธอจากการติดคุก ซึ่งต่อมาเธอจำต้องกลายเป็นโสเภณี

หนังสือเล่มนี้สอนอะไร: “กวีเล่มนี้เล่าความเป็นมนุษย์และความสวยงามของประเทศฉัน” Joy Truong กล่าวว่า “ที่ชอบอีกประการคือลักษณะของการมองโลกแง่ดีที่มีอยู่ในบทกวี ซึ่งแตกต่างอย่างชัดเจนกับงานของคนอื่นๆ ที่พูดถึงความยากลำบากในชีวิต”

 


 

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า