น้ำจะท่วมกรุงเทพฯ หรือไม่ คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แนะพิจารณา 3 เงื่อนไขทางธรรมชาติ คือ ปริมาณน้ำฝนในพื้นที่-น้ำหลาก-น้ำทะเลหนุน เชื่อว่าขณะนี้กรุงเทพฯ ยังเอาอยู่
ผู้ช่วยศาสตราจารย์อาสาฬห์ สุวรรณฤทธิ์ คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวถึงความกังวลต่อสถานการณ์น้ำของคนกรุงเทพฯ ว่า ตัวชี้วัดที่จะบอกว่ากรุงเทพฯ จะน้ำท่วมหรือไม่ มีอยู่ด้วยกัน 3 เงื่อนไข ได้แก่ 1) ปริมาณน้ำฝนในพื้นที่ 2) ปริมาณน้ำหลากจากภาคกลางตอนบน และ 3) น้ำทะเลหนุน ซึ่งปัจจุบันปริมาณน้ำฝนยังอยู่ในเกณฑ์ใกล้เคียงค่าเฉลี่ยปกติ ปริมาณน้ำหลากยังไม่มากเท่าปี 2554 และน้ำทะเลหนุนก็ยังไม่ใช่จังหวะที่จะสร้างผลกระทบรุนแรงแต่อย่างใด
ผศ.อาสาฬห์ กล่าวว่า แม้ขณะนี้จะเป็นฤดูฝน มีฝนตกแทบทุกวัน แต่เมื่อพิจารณาจากสถิติของสำนักงานระบายน้ำ กทม. ล่าสุดพบว่าฝนในเดือนกันยายนยังตกน้อยกว่าค่าเฉลี่ยคาบ 30 ปี ส่วนระดับน้ำในคลองในพื้นที่คันกั้นน้ำของ กทม. ก็ยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ ขณะที่น้ำในคลองนอกคันกั้นน้ำในบางจุดมีความสูงขึ้นมาบ้างในระดับเตือนภัย เช่น ฝั่งตะวันออกบางจุดของ กทม. ซึ่งตรงนี้สะท้อนว่ากำลังมีการบริหารจัดการน้ำในระดับภูมิภาคในลุ่มน้ำภาคกลางอยู่
สำหรับปริมาณน้ำหลาก แม้ว่าช่วงนี้จะมีน้ำท่วมทางภาคเหนือ และภาคกลางตอนบน แต่ปริมาณน้ำยังไม่มากเท่ากับปี 2554 โดยอัตราการไหลของน้ำที่สถานีแม่น้ำเจ้าพระยา อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ ในเดือนกันยายน ช่วงปี 2554 มีอัตรากว่า 4,335 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวินาที แต่ปัจจุบันอยู่ที่ 2,400 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ถือว่าน้อยกว่าอยู่มาก แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าช่วงเดือนตุลาคม น้ำจะยังน้อยเหมือนตอนนี้ ดังนั้นต้องจับตาดูกันต่อไป
สำหรับปัจจัยน้ำทะเลหนุน หรือการขึ้นลงของน้ำทะเลในอ่าวไทย ณ ตอนนี้ยังไม่ใช่ปัจจัยที่มีผลรุนแรง เนื่องจากช่วงที่น้ำทะเลหนุนสูงจะเป็นช่วงปลายปีหรือใกล้วันลอยกระทง
อย่างไรก็ตาม ผศ.อาสาฬห์ กล่าวต่อไปว่า ความเสี่ยงน้ำท่วมในปี 2564 ไม่ใช่ปัจจัยทางธรรมชาติเรื่องน้ำอย่างเดียว ยังมีปัจจัยเรื่องการใช้ประโยชน์ที่ดิน การปรับเปลี่ยนผังเมือง ควบคู่กับยุทธศาสตร์การบริหารจัดการน้ำ ซึ่งถือเป็นตัวแปรสำคัญ เนื่องจาก 10 ปีที่ผ่านมา การพัฒนาเมืองขยายตัวเพิ่มขึ้น มีการพัฒนาแถบชานเมืองอย่างเห็นได้ชัดในโซนปทุมธานี กิ่งแก้ว บางใหญ่ ทำให้พื้นที่รองรับน้ำตามธรรมชาติ เช่น ทุ่งหญ้า หนองน้ำ เกษตรกรรม หายไป พื้นที่ชานเมืองที่มีการพัฒนาตัดถนน สร้างหมู่บ้านจัดสรร อาจมีโอกาสเสี่ยงน้ำท่วมขังง่ายขึ้นและนานขึ้น เพราะไม่มีทางน้ำไหลผ่าน
“ระหว่างนี้ถ้าไม่มีพายุเข้ามาเติมทางภาคเหนือและภาคกลางตอนบน ก็คาดว่าสถานการณ์จะไม่รุนแรงเท่ากับปี 2554 แต่ก็ไม่มีใครบอกได้ว่าเดือนตุลาคมสถานการณ์จะเป็นอย่างไร คงต้องจับตาดูพายุที่จะเข้ามาต่อไป สำหรับเขตพื้นที่กรุงเทพฯ เชื่อว่าจะยังพอควบคุมได้ เพราะมีระบบป้องกันน้ำหลากที่ออกแบบไว้พอสมควร ฉะนั้นความเสี่ยงเดียวที่กรุงเทพฯ จะท่วมก็คือ การบริหารจัดการไม่ดี อาจทำให้เกิดน้ำท่วมขังหรือที่มักเรียกกันว่าน้ำรอระบาย ซึ่งเกิดจากระบบระบายน้ำไม่ได้บำรุงรักษา มีขยะไปอุดตัน ทำให้น้ำไหลช้า
“มีคำถามว่าตอนนี้ กทม. รับมือกับเรื่องการจัดการระบบระบายน้ำพื้นฐานยังไง ขุดลอกคูคลองบ้างหรือเปล่า ดูแลความสะอาดท่อบ้างหรือไม่ มีการเตรียมพื้นที่หน่วงน้ำอย่างไร” ผศ.อาสาฬห์ กล่าว