แก้หมอกควันภาคเหนือแบบ 3×3 ทางเลือกเชิงนโยบาย เพื่ออิสรภาพของการหายใจ

การรวบรวมข้อมูลโดยสถาบันนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.), สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เพื่อทบทวนข้อเสนอเชิงนโยบายว่าเราจะจัดการปัญหาหมอกควันได้อย่างไร โดยทุกคนมีส่วนร่วม ได้ประโยชน์ และนำไปสู่การแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ พบข้อมูลหลายอย่างที่มีความเป็นไปได้ว่าจะนำไปสู่ทางออกที่เข้าท่า

งานวิจัยหลายต่อหลายชิ้นถูกจำแนกผลการศึกษาออกไปสู่ข้อเสนอในการแก้ปัญหาใน 3 ระยะ คือ ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง ขณะที่ลักษณะของแต่ละระยะก็มีทางเลือก 3 แบบด้วยกัน คือ การจัดการเชิงนโยบาย การใช้นวัตกรรม และการมีส่วนร่วม

กล่าวเพื่อจดจำอย่างง่ายก็คือ เป็นวิธีการแก้ปัญหาหมอกควันแบบ 3×3 ที่เชื่อว่าเป็นวิธีการแก้ปัญหาอย่างประณีตและยั่งยืน

ต้นทาง

1. ทางเลือกนโยบายแบบก้าวหน้าหรือเน้นมององค์รวมและระยะยาว (Progressive)

ว่าด้วยแนวทางด้านภาษี นั่นคือ ‘pollution tax’ กล่าวคือ การเก็บภาษีจาก ‘food chains’ ที่มีส่วนสร้างหมอกควัน แล้วนำมาเป็นงบเปลี่ยนโครงสร้างการผลิต โดยเริ่มจากจ่ายค่าชดเชยหรือพักหนี้ เพื่อให้เกษตรกรออกไปจากวงจรได้ พร้อมควบคุมไม่ให้บรรษัทแสวงหาประโยชน์ทางธุรกิจโดยไม่รับผิดชอบต่อระบบนิเวศ ซึ่งในเบื้องต้นอาจกระทบมูลค่าการส่งออกอาหารสัตว์ของประเทศ

รวมทั้งพัฒนา ‘Bio-economy’ กล่าวคือ ลดการเผาด้วยการทำให้ชุมชนที่อยู่ร่วมกับป่าเห็นว่าเป็นการทำลายทรัพยากรที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจได้เช่นกัน ถ่ายทอดองค์ความรู้ในการปลูกข้าวโพดและเลี้ยงสัตว์ที่ถูกวิธี โดยไม่ต้องเผา พร้อมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพของระบบขนส่งมวลชนเพื่อลดมลภาวะจากการเดินทางโดยเฉพาะในเขตเมือง

2. ทางเลือกนโยบายแบบเน้นนวัตกรรมหรือความริเริ่มสร้างสรรค์ (Innovative)

สนับสนุนให้ชุมชนใช้พลังงานแสงอาทิตย์จากโซลาร์เซลล์เพื่อสูบน้ำบาดาลขึ้นมาปล่อยลงสู่พื้นที่ป่าให้ชุ่มชื้นเพื่อลดปัญหาไฟป่า และผลักดันการใช้ระบบการจัดการเกษตรที่ดี (GAP: Good Agriculture Practice) ซึ่งมาตรฐานดังกล่าวกำหนดห้ามเผาซังเตรียมดิน

นอกจากนี้ยังต้องส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ที่มีระบบการรับรองแบบมีส่วนร่วม (PGS: Participatory Guarantee System) ซึ่งกำหนดหลักเกณฑ์เรื่องห้ามเผา รวมทั้งส่งเสริมการใช้จุลินทรีย์ในการย่อยสลายวัสดุการเกษตรแทนการเผา

3. ทางเลือกนโยบายแบบทั่วถึง นับรวม ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง (Inclusive)

สื่อสารสังคมให้หยุดโทษฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเพียงฝ่ายเดียว แต่ให้หันมาช่วยกันลด เพราะทุกฝ่ายมีส่วนสร้างปัญหาหมด โดยเน้นสร้างความเข้าใจระหว่างคนแต่ละกลุ่ม ให้เข้าใจซึ่งกันและกัน

ลดความเหลื่อมล้ำด้วยการสร้างทางเลือก โดยเฉพาะการหนุนเสริมระดับพื้นที่เพื่อให้เกิดชุมชนต้นแบบในการปรับรูปแบบการใช้ที่ดิน กล่าวคือ หันมาทำการเกษตรแบบไม่พึ่งพาไฟ เช่น ปลูกกาแฟอาราบิก้า ปลูกไม้ผล ไม้ยืนต้น ไผ่ พืชผัก เพาะเห็ดจากเปลือกข้าวโพด และแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร สร้างชุมชนต้นแบบของการทำปศุสัตว์ไร้หมอกควัน นำเปลือกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มาเป็นอาหารสัตว์เพื่อลดการเผา โดยเฉพาะกรณีการเลี้ยงโคขุน

การลดความเหลื่อมล้ำดังกล่าวยังต้องสร้างชุมชนต้นแบบที่สามารถสร้างรายได้ทางเลือกด้วยอาชีพผลิตภัณฑ์ผ้าทอพื้นถิ่นหรือจากการท่องเที่ยวชุมชนที่ให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูป่า รักษาป่าเดิม เพิ่มเติมป่าใหม่ และพัฒนาแหล่งน้ำไปพร้อมๆ กัน รวมทั้งมีการจัดทำแผนป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันร่วมกับผู้นำชุมชน ท้องที่ และส่วนราชการ

กลางทาง

1. ทางเลือกนโยบายแบบก้าวหน้าหรือเน้นมององค์รวมและระยะยาว (Progressive)

การปรับกฎหมาย โดยเฉพาะกฎหมายป่าไม้ โดยเป็นการใช้กฎหมายที่มีอยู่ ผนวกกับนำเอาแนวทางของกฎหมายระหว่างประเทศมาปรับใช้ในการควบคุมและกำกับดูแลการเผาและการบุกรุกพื้นที่ป่า นอกจากนี้ยังมีการสนับสนุนด้านการเงินแก่ผู้ประกอบการผลิตเชื้อเพลิงชีวมวลอัดแท่ง ด้วยการสนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำเพื่อการลงทุน และสนับสนุนเงินลงทุนบางส่วนให้ผู้ประกอบการที่ต้องการเปลี่ยนเฉพาะหัวเผาหม้อไอน้ำ เพื่อให้สามารถใช้เชื้อเพลิงชีวมวลอัดเม็ดได้ รวมทั้งส่งเสริมโรงไฟฟ้าชีวมวลตัวอย่าง เช่น ในจังหวัดเชียงราย ที่ใช้ซังข้าวโพดเป็นวัตถุดิบ

2. ทางเลือกนโยบายแบบเน้นนวัตกรรมหรือความริเริ่มสร้างสรรค์ (Innovative)

ยกระดับการบริหารจัดการ โดยเน้นพัฒนาระบบและกลไกที่ยกระดับประสิทธิภาพในการจัดการหมอกควัน รวมไปถึง การกระจายอำนาจหรือถ่ายโอนอำนาจหน้าที่ในการบริหารจัดการระดับพื้นที่ให้แก่ท้องถิ่น เพื่อสร้างระบบสนับสนุนการตัดสินใจ (Decision Support System: DSS) กล่าวคือ ระบบให้บริการองค์ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับปัญหาหมอกควันและการจัดการปัญหาหมอกควัน ระบบเฝ้าระวังปัญหาหมอกควันและพื้นที่เสี่ยง และระบบคาดการณ์ความเป็นไปได้ในการเผา

การชิงเผา (early burning) ยังเป็นอีกเครื่องมือหนึ่งที่สามารถนำมาใช้เพื่อควบคุมไฟในป่าธรรมชาติ จากการลดปริมาณเชื้อเพลิงในป่าที่จะก่อให้เกิดโอกาสในการเกิดไฟป่า ขณะที่การส่งเสริมนวัตกรรมการผลิตเชื้อเพลิงชีวมวลอัดแท่งจากเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรเพื่อลดปัญหาหมอกควัน โดยเฉพาะการสนับสนุนกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผลิตถ่านอัดแท่งจากซังข้าวโพดหรือเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรอื่นแทนการเผาป่า รวมถึงการพัฒนาเทคโนโลยีเตาเผาถ่านแบบไร้ควัน และส่งเสริมให้เกษตรกรใช้ถ่านเป็นเชื้อเพลิงในการหุงต้มแทนการตัดไม้ อีกทั้งส่งเสริมการทำปุ๋ยหมักจากตอซังข้าวโพดและเศษพืชเพื่อลดการเผา

3. ทางเลือกนโยบายแบบทั่วถึง นับรวม ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง (Inclusive)

พัฒนาเครือข่ายการเฝ้าระวังระหว่างภาคส่วนต่างๆ ในพื้นที่ โดยเน้นกลไกความร่วมมือทั้งกับภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน และอาสาสมัคร ตลอดจนหนุนเสริมกลไกการจัดการในแต่ละชุมชนเอง เช่น ผ่านคณะกรรมการ จิตอาสา และข้อบัญญัติ ธรรมนูญชุมชน ที่นำไปสู่การลงโทษทางสังคม

อีกทั้งควรร่วมมือกับชุมชนในการสร้างแนวกันไฟตามแนวสันเขาและไหล่เขา รวมถึงพื้นที่รอยต่อระหว่างพื้นที่ป่าไม้กับหมู่บ้าน และพื้นที่เกษตรกรรม เพื่อสร้างความชุ่มชื้นให้ระบบนิเวศอันจะนำไปสู่การลดไฟป่าที่จะเกิดขึ้น

ปลายทาง

1. ทางเลือกนโยบายแบบก้าวหน้าหรือเน้นมององค์รวมและระยะยาว (Progressive)

มีการวัดค่าดัชนีคุณภาพอากาศ (Air Quality Index: AQI) ที่มีการนำค่า PM2.5 มาใช้คำนวณตามหลักการขององค์การอนามัยโลก โดยเพิ่มเครื่องวัดคุณภาพอากาศทุกอำเภอ และจัดให้มีศูนย์ตรวจวัดมลภาวะทุกอำเภอ รวมทั้งจัดการระบบข้อมูลสถานการณ์หมอกควัน โดยเฉพาะการเจาะลึกเกี่ยวกับ PM10 และกำหนดมาตรการเตือนภัยคุณภาพอากาศ รวมถึงแผนควบคุมคุณภาพอากาศ

ขณะที่การจัดการระหว่างประเทศ รวมทั้งการเจรจาระดับพื้นที่ชายแดนกับเมียนมาร์ก็ควรเกิดขึ้นและดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ร่วมมือกันในการลดการเผาบริเวณพื้นที่ชายแดน พร้อมทั้งผลักดันความตกลงอาเซียนว่าด้วยมลพิษจากหมอกควันข้ามแดน (ASEAN Agreement on Transboundary Haze Pollution: AATHP) รวมถึงสร้างรูปธรรมให้เกิดขึ้นจาก Paris Agreement, Universal Declaration on Bioethics and Human Rights และ Declaration of Ethical Principle Related to Climate Change (UNESCO) ซึ่งอิงหลักเรื่องความยั่งยืน ความเป็นธรรม และความร่วมทุกข์ (solidarity) ต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

ข้อสำคัญอีกประการคือ พัฒนาระบบติดตามสถานการณ์หมอกควันของอนุภูมิภาคอาเซียนตอนล่าง (ASEAN Sub-Regional Haze Monitoring System: HMS) เพื่อทำให้การแก้ปัญหานั้นเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

2. ทางเลือกนโยบายแบบเน้นนวัตกรรมหรือความริเริ่มสร้างสรรค์ (Innovative)

หากเกิดกรณีไฟป่า ควรนำเฮลิคอปเตอร์ดับเพลิงมาใช้ในการดับไฟ และสร้างหอคอยดูดอากาศที่สามารถปรับปรุงคุณภาพอากาศจากการฟอกอากาศได้ รวมทั้งติดตั้งเครื่องฟอกอากาศช่วยพ่นละอองน้ำในที่ต่างๆ ตลอดจนพัฒนาเครื่องมือตรวจสอบคุณภาพอากาศที่มีราคาถูก สามารถพกพาได้ และมีการรวบรวมข้อมูลและเปิดเผยข้อมูลให้สามารถนำข้อมูลไปพัฒนานวัตกรรมต่างๆ ต่อได้ รวมทั้งการพัฒนาแอพพลิเคชั่นเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลสำหรับป้องกันหรือเตรียมรับมือได้อย่างสะดวกที่สุด

ขณะเดียวกันก็ต้องมีการติดตามและประเมินรูปแบบการใช้ที่ดินด้วยการถ่ายภาพด้วยเครื่องบินไร้คนขับ หรือ UAV มีการออกแบบระบบติดตาม Geographical Origin ของสินค้าเกษตรที่มาจากพื้นที่ที่ครอบครองกรรมสิทธิ์อย่างถูกต้องตามกฎหมาย และไม่ได้มาจากพื้นที่ป่าที่ถูกบุกรุก

ข้อสำคัญอีกอย่างคือ ต้องมีการกระทุ้ง กระตุ้น เพื่อให้เกิดการปรับตัวในระดับบุคคล เช่น nudging คนเมืองให้มีพฤติกรรมการบริโภคอย่างยั่งยืน ไม่เผาสิ่งใดที่เป็นการเพิ่มหมอกควัน และหันมาใส่หน้ากากอนามัยหรือผ้าคาดปากและจมูกป้องกันตัวเอง แน่นอนว่าเครื่องมือสำคัญอีกอย่างคือการรณรงค์ด้วยสื่อสร้างสรรค์ต่างๆ ให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจเรื่องหมอกควันและผลกระทบต่อสุขภาพ

3. ทางเลือกนโยบายแบบทั่วถึง/นับรวม/ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง (Inclusive)

ลดผลกระทบต่อสุขภาพ ด้วยการพัฒนากลไกในการดูแลกลุ่มเปราะบาง โดยเฉพาะผู้ป่วย เด็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ และผู้มีรายได้น้อย ทั้งยังต้องจ่ายค่าเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากหมอกควัน โดยเฉพาะผลกระทบด้านสุขภาพ

…..

ทั้งหมดที่กล่าวมานี้เป็นเครื่องมือและวิธีการที่ไม่ได้เพิ่งเริ่มนับหนึ่ง แต่มีการศึกษาจากผู้คนหลายกลุ่มที่มองเห็นปัญหาร่วมกันว่า ปัญหาหมอกควันต้องได้รับการแก้ไขเสียที อย่างไรก็ตามความรู้ดังกล่าวกระจัดกระจายและจัดวางอยู่ในตำแหน่งที่ไม่ได้มีการเชื่อมต่อองค์ความรู้เท่าใดนัก การพยายามรวบรวมแนวทางแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนนั้น ด้านหนึ่งคือการดึงเอาศาสตร์และแนวทางที่แต่ละฝ่ายได้เริ่มต้นเอาไว้มาคลี่ให้เห็นภาพร่วมกัน ขณะที่อีกด้านคือการเชื่อมคนให้มาพูดคุยและเกิดการสนทนาเพื่อ ‘ร้อยพันปัญญา’ อันจะนำไปสู่การแก้ปัญหาร่วมกัน

เรียบเรียงจากเอกสารโครงการ ‘เชื่อมความรู้ที่หลากหลายสู่การออกแบบนโยบายสาธารณะ เพื่อรับมือปัญหาหมอกควันโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง’ (Inclusive Knowledge and Policy Interface for Coping with Haze) โดยสถาบันนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.), สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)

Author

โกวิท โพธิสาร
เพลย์เมคเกอร์สารพัดประโยชน์ผู้อยู่เบื้องหลังเว็บไซต์ waymagazine.org มายาวนาน ก่อนตัดสินใจวางมือจากทีวีสาธารณะ มาร่วมปีนป่ายภูเขาลูกใหม่ในฐานะ ‘บรรณาธิการ’ อย่างเต็มตัว ทักษะฝีมือ จุดยืน และทัศนคติทางวิชาชีพของเขา ไม่เป็นที่สงสัยทั้งในหมู่คนทำงานข่าวและแม่ค้าร้านลาบ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า