5 วิธีประหลาดรับมือโรคระบาดในประวัติศาสตร์การแพร่เชื้อ

โรคระบาด คือหนึ่งในภัยคุกคามมนุษยชาติมานานแสนนานนับตั้งแต่เรายังไม่รู้ว่าควรล้างมือก่อนรับประทานอาหาร ทุกครั้งที่โรคระบาดชนิดใหม่กำเนิดขึ้นก็มักสร้างความเสียหายใหญ่หลวงต่อวิถีชีวิตผู้คนจนกลายเป็นจุดเปลี่ยนในประวัติศาสตร์เสมอมา

แต่มนุษยชาติก็หาได้ยอมจำนนต่อโรคร้ายเหล่านี้ไม่ พวกเราพยายามหาทางที่จะควบคุม จำกัด ไปจนถึงเอาชนะทุกโรคภัยไข้เจ็บที่รุกรานเข้ามาเสมอ แต่เนื่องด้วยข้อจำกัดด้านความรู้และเทคโนโลยีในยุคต่างๆ เลยทำให้มีทั้งวิธีที่ได้ผลบ้าง ไม่ได้ผลบ้าง บางวิธีก็ช่างน่าขำขันหากมองด้วยมุมมองของปัจจุบัน บางวิธีก็แปลกประหลาดสุดเหลือเชื่อ

WAY รวบรวม 5 วิธีรับมือโรคระบาด วิธีในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ

 

ป่วยเหรอ? ไปตีหม้อสิ! – โรคระบาด Justinian (Plague of Justinian)

ช่วงปี ค.ศ. 541 เกิดโรคระบาดชนิดใหม่ในระดับที่คร่าชีวิตมนุษย์ไปมากกว่าสิบล้านคน โดยมี

สาเหตุมาจากแบคทีเรีย Yersinia Pestis มีเห็บและหนูเป็นพาหะ การระบาดเริ่มจากทวีปเอเชียกลาง เดินทางไปยุโรป จนถึงอาณาเขตอันกว้างใหญ่ไพศาลรอบทะเลเมดิเตอร์เรเนียน สร้างความหวาดผวาให้แก่ผู้คนในยุคนั้นว่าพระผู้เป็นเจ้ากำลังสำเร็จโทษเหล่ามนุษย์บาปหนาอย่างเราๆ ท่านๆ ผ่านทางอากาศและผืนดิน

ด้วยข้อจำกัดทางความรู้ของผู้คนในสมัยนั้น พวกเขาเชื่อว่าอาการป่วยล่องลอยอยู่ในอากาศที่ไม่ดี อากาศที่เสียและเป็นพิษ จากหนังสือ Epidemics and Pandemics: Their Impacts on Human History ของ เจ. เอ็น. เฮย์ส (J. N. Hays) 2005 กล่าวว่า ปวงประชาชาวบ้านเริ่มทำการปั้นหม้อดินเผาเป็นจำนวนมากเพื่อทุบตีให้แหลกละเอียด โดยปั้นแล้วก็นำไปทุบทำลายอยู่แบบนั้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า คาดหวังว่าเสียงอึกทึกครึกโครมทั้งหลายจะทำให้โรคร้ายในอากาศหายไป

กว่าพวกเขาจะรู้สาเหตุและวิธีการรับมือกับโรคระบาดชนิดนี้นั้นก็ใช้เวลายาวนานพอสมควร และเป็นที่แน่นอนว่าวิธีที่ถูกต้องคงไม่ใช่การทุบตีหม้อหรือไหสักใบเป็นแน่

ที่มา: indianexpress.com

 

ป่วยเหรอ? ไปตีหมอสิ! – การระบาดของแบคทีเรียคอเลอรา (Cholera)

ต้นศตวรรษที่ 19 ใครหลายคนอาจฝันถึงบ้านเมืองยุโรปอันสวยงาม หน้าต่างกระจกสี ไปจนถึง

ชุดเสื้อผ้าสุดหรูของชนชั้นสูงในปารีส แต่ใครบ้างจะนึกถึงการระบาดครั้งใหญ่ของแบคทีเรียคอเลอราที่มีผู้เสียชีวิตถึง 30,000 กว่าคน!

โรคระบาดครั้งนี้ถูกค้นพบครั้งแรกที่เมืองซันเดอร์แลนด์ ประเทศอังกฤษ ก่อนจะเริ่มแพร่กระจายออกไปยังส่วนอื่นๆ ของยุโรปภาคพื้นทวีป โดยเฉพาะในบริเวณที่ผู้คนไม่สามารถเข้าถึงแหล่งน้ำที่สะอาดหรือในบริเวณที่มีระบบสุขาภิบาลย่ำแย่ ซึ่งมาตรฐานของห้องน้ำและแหล่งน้ำในสมัยนั้นก็ไม่แปลกที่เชื้อโรคนี้จะระบาดไปทั่วจนผู้คนล้มป่วยกันหลายคน

ใครจะคิดว่าหนังสือนวนิยายเรื่อง Frankenstein ของ มารี เชลลีย์ (Mary Shelley) จะส่งผลให้คนไม่กล้าไปหาหมอ! ผู้คนทั่วยุโรปในยุคนั้นหวาดกลัวการไปหาหมอเสียยิ่งกว่าอะไรดี ศาสตราจารย์แคทรินา นาวิคคัส (Katrina Navickas) จากมหาวิทยาลัยเฮิร์ทฟอร์ดเชอร์ (The University of Hertfordshire) กล่าวว่า ประชาชนกลัวว่าหลังจากพวกเขาเสียชีวิตเพราะโรคระบาดไปแล้ว เหล่าหมอพยาบาลจะนำศพของพวกเขาไปตัดนั่นต่อนี่แบบในหนังสือนวนิยายเล่มดัง จนนำไปสู่การก่อการจลาจลโกลาหลในโรงพยาบาลสนามหลายแห่งในเขตที่มีการระบาด

กระทั่งเรื่องสุดเหลือเชื่อที่ ซามูเอล ไคลน์ คอห์น จูเนียร์ (Samuel Klein Cohn Jr.) แห่งมหาวิทยาลัยกลาสโกว์ (University of Glasgow) ได้กล่าวถึงความหวาดกลัวแนวทฤษฎีสมคบคิดของประชาชนว่าการระบาดครั้งนี้เป็นฝีมือของเหล่าชนชั้นสูง ถึงกับมีการทำร้ายหมอและพยาบาล ไปจนถึงเจ้าหน้าที่รัฐผู้น่าสงสารอีกด้วย

เหล่าหมอและพยาบาลต่างวิ่งไล่จับคนไข้ ขณะที่คนไข้วิ่งหนีการรักษา เมื่อหนีการรักษาก็ไม่หายป่วยและเกิดการแพร่เชื้อ ความวุ่นวายแบบงูกินหางนี้เองกินเวลานานพอสมควรกว่ามนุษย์จะรู้จักเชื่อใจการแพทย์สมัยใหม่

ที่มา: tandfonline.com
theguardian.com

 

ป่วยเหรอ? ไปดมสมุนไพรสิ – การระบาดของกาฬโรค (Black Death)

เรารู้จักโรคเลื่องชื่อลือนามนี้ในฐานะความตายที่คร่าชีวิตผู้คนทั่วโลกกว่า 200 ล้าน (โดยประมาณ) แถมยังวนเวียนกลับมาท้าทายมนุษยชาติครั้งแล้วครั้งเล่าตั้งแต่ศตวรรษที่ 17-18 ไปจนถึง 19 ภาพจดจำของยุคสมัยของการแพร่ระบาดครั้งนี้คือ ภาพของแพทย์ในชุดคลุมสีดำพร้อมหน้ากากสุดแปลกรูปร่างเหมือนนกมีจะงอยปากยาวจนน่าจะทำให้ลำบากในการใช้ชีวิต

ว่ากันตามหลักการแล้ว การสวมใส่หน้ากากนับว่าเป็นหนึ่งในวิธีที่ถูกต้องในการรับมือกับสภาวะโรคระบาดมานับตั้งแต่ศตวรรษนั้นจวบจนปัจจุบันนี้ ปัญหาจึงไม่ใช่วิธีคิดเรื่องการสวมใส่หน้ากาก (แบบที่ใครหลายคนในสหรัฐปัจจุบันนี้ต่อต้านกัน) แต่กลายเป็นว่าหน้ากากจะงอยปากนกที่ว่านี้เองอุดมไปด้วยสมุนไพรหอม!

สิ่งที่ครอบงำองค์ความรู้ของเหล่าแพทย์มาตั้งแต่สมัยการระบาดของโรคต่างๆ นั้นคือ เชื้อร้ายอยู่ในอากาศที่แย่ หรือที่เรียกกันว่า Miasma ดังนั้นวิธีป้องกันของแพทย์จึงเป็นการทำให้อากาศมีกลิ่นหอมไปเสียเลย! จะงอยปากที่ยาวงุ้มนั้นจึงไม่ได้มีไว้เพื่อสร้างภาพจำให้คนรุ่นหลัง หรือเอาไว้สร้างระยะห่างระหว่างผู้รักษากับผู้ป่วยตามประสา Social Distancing แต่มันกลับมีเอาไว้เพื่อยัดสมุนไพรและเครื่องหอมนานาชนิดให้ตลบอบอวลชวนเคลิบเคลิ้มแล้วหวังว่าอากาศที่ดีจะไม่นำโรคร้ายมาให้ต่างหาก

เป็นที่แน่นอนว่าความเชื่อทำนองนี้ถูกกาลเวลาและวิทยาศาสตร์พิสูจน์มาแล้วว่าผิดมหันต์ และถือว่าน่าเสียดายที่มันเป็นวิธีการที่ผิด เพราะหากการป้องกันโรคระบาดง่ายขนาดนั้น เราคงใช้วิธีฉีดน้ำหอมกันแทนเจลแอลกอฮอล์ล้างมือให้ตลบอบอวลไปแล้ว

ที่มา: history.com

 

ป่วยเหรอ? ไปถ่ายแบบสิ! – วัณโรค (Tuberculosis)

วัณโรค (Tuberculosis) เป็นโรคที่เกี่ยวกับทางเดินหายใจชนิดหนึ่งที่เคยมีการระบาดสูงสุดในช่วงศตวรรษที่ 18 ทำให้ผู้ติดเชื้อมีปัญหาในระบบทางเดินหายใจ ร่างกายค่อยๆ ซูบผอม เสียชีวิตอย่างช้าๆ

ฟังดูเป็นโรคที่น่ากลัวไม่น้อย เนื่องจากทำให้อวัยวะในร่างกายค่อยๆ ถูกทำลายอย่างเชื่องช้า ก่อนที่มนุษย์จะคิดค้นวิธีรับมือได้อย่างชาญฉลาด เรากลับนำอาการป่วยเหล่านี้ไปเป็นต้นแบบของความสวยความงามไปเสียนี่!

ภาพวาดอันเลื่องชื่อของ เอดูอาร์ด วีเอโนต์ (Édouard Viénot) ถ่ายทอดความงามของหญิงสาวชาวฝรั่งเศสที่เป็นที่นิยมในหมู่ผู้ชายทั้งหลายนางหนึ่งนามว่า มารี ดูเปลซีส์ (Marie Duplessis) ออกมาได้อย่างงดงาม ความงามของนางกลายเป็นสิ่งที่เรียกว่า ‘Beauty Standards’ ของผู้คนในยุควิคตอเรีย ผ่านร่างกายและโครงหน้าที่ซูบผอมเพราะวัณโรค ก่อนที่วัณโรคจะคร่าชีวิตนางไปตั้งแต่วัยเพียง 23 ปีเท่านั้น

หนังสือ Consumptive Chic: A History of Fashion, Beauty and Disease (2017) ของผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยเฟอร์แมน (Furman University) แคโรลีน เดย์ (Carolyn Day) ระบุเอาไว้ว่า อาการป่วยจนซูบผอมจากวัณโรคนั้นถูกมองว่าเป็นผลมาจากกรรมพันธุ์ หรือไม่ก็ร่างกายอ่อนแอเท่านั้น การที่อาการของโรคร้ายกลายเป็นสิ่งที่ถูกมองว่าสวยงามนั้น เพราะมันไปส่งเสริมสิ่งที่สังคมมองว่างดงามอยู่แล้วอย่าง ‘ความผอม’ และ ‘ความขาว’ โดยไม่ได้รู้เลยว่านั่นคืออาการขาดสารอาหารจากวัณโรคที่กำลังคร่าชีวิตผู้คนอย่างช้าๆ

ต้องขอบคุณความพยายามของแพทย์ พยาบาล ที่ทำให้ค่านิยมคร่าชีวิตนี้ถูกจัดประเภทเป็น ‘โรคร้ายที่ต้องรักษา’ มากกว่า ‘ความงามที่กำลังจะตาย’ ได้เสียที

ที่มา: smithsonianmag.com

 

ป่วยเหรอ? ทำไงดีวะ? – ประเทศไทย

จากหลายรูปแบบการรับมือสุดประหลาดกับการระบาดของโรคก่อนหน้า ตั้งแต่การไปตีหม้อ ไปตีหมอ ไปดมสมุนไพร ยันไปเป็นนางงามนางแบบ เราขอกระโดดมาสู่การรับมือปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ที่กำลังระบาดเป็น wave ที่ 2 (ณ ขณะนี้) วิธีการรับมือ รอดจากวิกฤติความโกลาหลมาได้แบบที่ประเทศอื่นทั่วโลกยังสงสัย ความลับของเราคือ… เราก็ไม่รู้

หากย้อนกลับไปต้นเดือนมกราคม พ.ศ. 2563 ประเทศไทยเป็นประเทศแรกที่มีการพบเจอผู้ติดเชื้อไวรัสตัวนี้นอกแผ่นดินจีน สำนักข่าว The New York Times ได้ตั้งคำถามถึงวิธีการรับมือของประเทศไทยเอาไว้ในหัวข้อ ‘No One Knows What Thailand is Doing Right, but so Far, It’s Working’ เมื่อเดือนสิงหาคม 2563 ว่า ไม่มีใครทราบว่าเป็นเพราะวัฒนธรรมของไทย การทักทายด้วยการไหว้มากกว่าการจับมือ การสวมหน้ากากตั้งแต่ช่วงแรกของการระบาด การปิดกั้นเมืองทั้งเมือง หรือไปจนถึงการมีภูมิคุ้มกันที่แข็งแกร่งกันแน่ ที่ทำให้ประเทศไทยรวมถึงเพื่อนบ้านในลุ่มแม่น้ำโขงมีจำนวนการตรวจพบผู้ติดเชื้อที่ต่ำกว่าประเทศอื่น ซึ่งก็เป็นการพยายามคาดเดาหาคำตอบในทิศทางเดียวกับสำนักข่าวอย่าง The Guardian ในหัวข้อ ‘How have Thailand and Cambodia kept Covid Cases so Low?’ ถามเอาไว้ และเผยแพร่เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมานี้เอง

ปัจจุบันในสังคมไทยนั้นยังคงเป็นที่สงสัยกันในวงกว้างถึงตัวเลขที่แท้จริงของจำนวนผู้ติดเชื้อ รวมไปถึงจำนวนการตรวจในลักษณะทั้งเชิงรับและเชิงรุก มาตรการหลายอย่างจากภาครัฐยังมีความคลุมเครือไร้ทิศทาง เช่น การสั่งให้ร้านอาหารปิดกี่โมงกันแน่? ร้านแบบใดเปิดได้บ้างกันแน่? ต้องยืนระยะห่างเพื่อต่อคิวแต่สุดท้ายยังต้องเบียดเสียดกันบนขนส่งมวลชน? ไปจนถึงแผ่นกั้นพลาสติกบนโต๊ะอาหารที่พยายามแยกผู้คนให้ห่างกัน แต่สุดท้ายกินเสร็จทุกคนก็ยังคงไปไหนมาไหนด้วยกันอยู่ดี? และ ยังมีอีกหลากหลายคำถามที่น่าสนใจจากปรากฏการณ์เหล่านี้

เราจึงคงไม่สามารถพูดได้เต็มปากว่าประเทศไทย ‘รับมือ’ กับการระบาดของไวรัส COVID-19 รอบที่ผ่านมาได้อย่างดีเยี่ยม ไม่สามารถบอกได้ว่าทิศทางในการรับมือที่ประสบความสำเร็จที่สุดของเรานั้นคือมาตรการใด หรือไปจนถึงเราพร้อมหรือยังกับการระบาดในรอบที่กำลังจะมาถึงนี้?

ที่มา: nytimes.com
theguardian.com

Author

ภูภุช กนิษฐชาต
คนหนุ่มผู้หลงใหลการตามหาสาระในเรื่องไร้สาระ คลั่งไคล้การถกเถียงเรื่องปรัชญาการเมืองยามเมามาย นิยมเสพสื่อบันเทิงแทบทุกชนิดที่มีบนโลก ขับเคลื่อนชีวิตด้วยคาเฟอีนและกลิ่นกระดาษหอมกรุ่นของหนังสือราวกับต้นไม้ต้องการแสงแดด ความฝันอันสูงสุดมีเพียงการได้มีชื่อของตนเองจารึกเอาไว้ใน Reading-list ของเหล่านักศึกษาในมหาวิทยาลัยเพียงเท่านั้น

Illustrator

บัว คำดี
จากนักเรียนสายหนังผันตัวมาทำกราฟิกดีไซน์และงานโมชั่น แม่นยำเรื่องจังหวะเวลาแม้กระทั่งการเคี้ยวข้าวทีละคำด้วยความเร็วสม่ำเสมอจนหมดเวลาพักเที่ยง ฝากลายเส้นไว้ในชิ้นงานแนวรักเด็ก รักโลก ละมุนละไม แต่อีกด้านที่ทำให้กองบรรณาธิการต่างเกรงกลัวไม่กล้าแบทเทิลด้วย คือความเอาจริงเอาจังกับตารางเวลา ตรงไปตรงมา ลงจังหวะเน้นเป๊ะตามบาร์แบบชาวฮิพฮอพ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า