8 มีนาคม 2566 เวลา 09.00 น. บริเวณทำเนียบรัฐบาล เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน เครือข่าย We Fair สหภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียง สหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอ สหภาพแรงงานไทยคูราโบ้ และกลุ่มทำทาง จัดกิจกรรม ‘#แรงงานรวมพลวันสตรีสากล66 เพราะสังคมนี้สรรค์สร้างโดยแรงงานที่หลากหลาย’ เพื่อสนับสนุนและเป็นกำลังใจให้ผู้หญิงนักต่อสู้ทางการเมือง สหภาพแรงงาน นักสิทธิสตรี ตลอดจนนักต่อสู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ
ใหม่-ธนพร วิจันทร์ เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน อ่านแถลงการณ์ข้อเรียกร้องถึงรัฐบาลชุดปัจจุบันและพรรคการเมืองที่กำลังเข้าสู่สนาม #เลือกตั้ง66 และรัฐมนตรีแรงงานในอนาคต ดังต่อไปนี้
ข้อเรียกร้องเพื่อทวงคืนสิทธิแรงงาน
- ยกเลิก พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี เพื่อยกเลิกความผิดและคืนสิทธิแรงงานให้พนักงานค้าบริการทางเพศ หรือ sex worker
- ขยายสิทธิลาคลอดพร้อมได้รับค่าตอบแทน 180 วัน โดยทั้งพ่อและแม่สามารถใช้สิทธิลาคลอดได้
- เพิ่มวันลาป่วยสำหรับผู้หญิงที่ปวดท้องประจำเดือน และกำหนดวันสตรีสากลของทุกปีเป็นวันหยุดราชการ
- ยกเลิกการเลือกปฏิบัติต่อแรงงานด้วยเหตุแห่งเพศ เช่น การไล่พนักงานที่ตั้งครรภ์ออกจากงาน
- คุ้มครองสิทธิแรงงานของผู้ที่ทำงานบ้านและแรงงานแพลตฟอร์ม เช่น ไรเดอร์ส่งอาหาร โดยให้สิทธิตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน และเข้าสู่ระบบประกันสังคมมาตรา 33
- ปฏิรูปคณะกรรมการประกันสังคมให้โปร่งใส โดยผู้ประตนทุกคนมีสิทธิเลือกตั้งตัวแทนคณะกรรมการประกันสังคม
- แก้ไขกฎหมายอาญา มาตรา 287 จัดระบบสื่อบันเทิงทางเพศและเซ็กส์ทอยให้ถูกกฎหมาย
ข้อเรียกร้องเพื่อทวงคืนสิทธิทางสังคม
- ลดค่าครองชีพแรงงานและประชาชนผู้หญิง ด้วยการจัดสวัสดิการผ้าอนามัยฟรี
- จัดให้มีสวัสดิการประชาชน ช่วงอายุ 0-6 ปี และผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป คนละ 3,000 บาทต่อเดือน รวมถึงจัดให้มีเงินอุดหนุนรายได้สำหรับผู้ดูแลสมาชิกในครัวเรือน
- ขยายสถานที่บริการของรัฐ เพื่อให้บริการยุติการตั้งครรภ์อย่างปลอดภัยโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ตามงบประมาณสนับสนุนของสำนักงานหลักประกันสุขภาพรายละ 3,000 บาท และยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 301 ที่ระบุความผิดต่อผู้ยุติการตั้งครรภ์ทุกกรณี
- เพิ่มศูนย์เลี้ยงเด็กเล็กในชุมชนและที่ทำงาน
- ปฏิรูปพุทธศาสนา เพื่อให้เป็นศาสนาของคนทุกเพศ เช่น อนุญาตให้ผู้หญิงบวชเป็นภิกษุณี
- รับรองสิทธิสมรสเท่าเทียมสำหรับคนทุกเพศ
- แก้ไข พ.ร.บ. รับรองอัตลักษณ์ ให้รับรองสิทธิของกลุ่มคน non-binary และยกเลิกกฎหมายระเบียบควบคุมอัตลักษณ์ทางเพศทุกกรณี เช่น ยกเลิกการบังคับตัดทรงผมนักเรียน ยกเลิกการบังคับการแต่งกายตามเพศกำเนิดของข้าราชการ
ข้อเรียกร้องทวงคืนสิทธิทางการเมือง
- คืนสิทธิการประกันตัวให้กับนักต่อสู้ทางการเมืองทุกคน
- ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม รวมถึงกฎหมายที่จำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน ได้แก่ กฎหมายอาญา มาตรา 112 มาตรา 116 มาตรา 117 พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และ พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ
- ยกเลิกการเกณฑ์ทหารและยกเลิกวัฒนธรรมความรุนแรงต่อทหารชั้นผู้น้อย
- รัฐบาลไทยต้องให้สัตยาบันในอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) เพิ่มเติมอย่างน้อย 5 ฉบับ ดังนี้ ฉบับที่ 87 คุ้มครองการรวมกลุ่มเป็นสหภาพแรงงาน ฉบับที่ 98 คุ้มครองการเจรจาต่อรอง ฉบับที่ 183 คุ้มครองความเป็นมารดา ฉบับ 189 คุ้มครองสิทธิในงานที่มีคุณค่าของคนทำงานบ้าน และฉบับที่ C190 คุ้มครองความปลอดภัยจากความรุนแรงและการคุกคามทางเพศในที่ทำงาน
หลังการอ่านแถลงการณ์ กลุ่มเครือข่ายต่างๆ ทำกิจกรรมยืนสงบนิ่ง 112 วินาที เพื่อเชิดชูนักต่อสู้ด้านสิทธิมนุษยชน รวมถึงสนับสนุนข้อเรียกร้องของ #ตะวันแบม ที่กำลังอดน้ำและอาหารประท้วงกระบวนการยุติธรรมที่ล้มเหลว หลังเสร็จสิ้นกิจกรรม กลุ่มเครือข่ายจึงประกาศยุติการชุมนุม