เรื่อง: ณิชากร ศรีเพชรดี / ณขวัญ ศรีอรุโณทัย
ภาพ: อิศรา เจริญประกอบ
สิงหาคมปีที่แล้ว เขา-กตัญญู สว่างศรี จัดแสตนด์อัพคอมเมดีภายใต้ชื่อที่ล้อเล่นกับความเป็นตัวเองว่า A-KATANYU ’30 ปีชีวิตห่วยสัส’ เสียงปรบมือให้กับความ ‘ห่วยสัส’ ของเขายังคงกึกก้อง และยังไม่ทันหายเจ็บมือ กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เขาจัดโชว์อีกครั้งแถมชวนเพื่อนพ้องน้องพี่มาร่วมกันแสตนด์อัพบนเวทีในชื่อ A Katanyu & Friend: One Night Stand (Up)
ชวนกตัญญูมาคุยด้วยความอยากรู้ เอาความมั่นใจที่ไหนมาจัดอีก (เนี่ย)? ความ ‘Animal’ จะยังปรากฏในชื่อแสตนด์อัพคอมเมดีของเขาอีกไหม จัดที่ไหน อย่างไร และใครจะมาดู และคำถามอย่างคนนิสัยไม่ดีอาจตามมาได้อีกเป็นพรวน (ล้อเล่นเนอะ รักกันๆ)
ทั้งอยากถามให้แน่ใจว่า เขา, ผู้ที่เกิดมาจากโลกวรรณกรรม เดินทางสายนักเขียนมาแต่ต้นและเพิ่งหันมาเข้มงวดกับงานสื่อสารอีกประเภท ด้วยคำอธิบายภาษาอังกฤษว่า ‘content manager’ ณ บริษัทเอเจนซีโฆษณาแห่งหนึ่ง กำลังสนุกและแน่วแน่กับการพัฒนาตัวเองเป็น ‘คอมเมเดียน’ คนหนึ่งเลยใช่ไหม
กว่าสองชั่วโมงที่เครื่องอัดเสียงทำงานอย่างต่อเนื่อง เราได้ยินน้ำเสียง เห็นท่าทางประกอบ ร่วมกับจังหวะจะโคนในการบอกเล่า ในฐานะคนฟังและนำกลับมาถ่ายทอด นับเป็นเรื่องยากอย่างยิ่งที่จะถ่ายทอดความฮาไม่จำกัดครบทุกท่วงท่าที่เขาปล่อยออกมาได้ จึงเข้าใจแล้วว่าเหตุใดเขาจึงเลือกวิธีการสื่อสาร ด้วยการขึ้นยืนบนเวทีและถ่ายทอดเรื่องราว ทั้งทำอย่างเป็นธรรมชาติเท่านั้นได้
ไม่อีกที…เขาอาจใช้ช่วงเวลานั้น ซ้อมทอล์คก่อนขึ้นโชว์จริงในวันที่ 22-23 กันยายนนี้ กับเราอยู่ก็ได้!
ย้อนกลับไปถามถึงที่มาของสแตนด์อัพคอมเมดีครั้งแรก A-KATANYU ’30 ปีชีวิตห่วยสัส’ จุดตั้งต้นของโชว์นั้น คืออะไร
ที่จุดประกายจริงๆ คือตอนผมไปพูดที่เชียงใหม่ มันเป็นงานของ a book Lecture Show ซึ่งเพื่อนผมคนหนึ่ง ทราย-วิไลลักษณ์ โพธิ์ตระกูล เป็นผู้จัดการสำนักพิมพ์ a book อยู่ที่นั่น มันบอกว่าจะมีเวลาเหลือชั่วโมงหนึ่งนะ อยากพูดอะไรไหม เราบอกก็เอาดิ เลยทำสไลด์ไปเล่าชีวิตฟรีแลนซ์ ชื่อ ‘ฟินแล้ว ชีวิตฟรีแล้น’ จริงๆ คือตกงานแหละ (หัวเราะ) ตกงานก็เป็นฟรีแลนซ์แล้ว ก็ไปเล่าแบบกวนตีนๆ หน่อย
ผมเคยเป็นแต่พิธีกรสัมภาษณ์คนอื่น แต่พอได้ควบคุมบทพูดทั้งหมด มันรู้สึก ใช่…มันส์ว่ะ คืนนั้นเพื่อนอีกคนมาเชียงใหม่พอดี เลยมานั่งคิดกัน สมุดเล่มนั้นยังอยู่เลย ว่าอยากทำอะไรบ้าง แต่สุดท้ายก็ยังไม่ได้ทำซักที
จากนั้นมีจังหวะมาทำพอดแคสชื่อ ‘get talk’ เป็นจุดที่ทำให้เกิดคอมมูนิตี้ขึ้นมา เลยตั้งใจจะจัดทอล์คโชว์กับเพื่อน แต่อากู๋มาเสียชีวิตก่อน โปรเจ็คท์เลยหยุดไป และช่วงจัดงานศพเราก็ไม่มีใจอยากทำอะไร แต่ก็ประกาศไปแล้วว่าจะจัด มีคนจ่ายตังค์แล้วส่วนหนึ่ง เลยเปลี่ยนเป็นจัดเวิร์คช็อปสอนการพูดขำๆ ปรากฏว่าสนุกมาก (ลากเสียง) จัดที่ร้านหนังสือ Zombie Book เลยเหมือนมีเชื้อมาอยู่แล้ว
ก็เลยเอาวะ…งั้นจัดแสตนด์อัพที่ Zombie Book แม่งเลย จำได้ว่าโทรไปที่ Zombie Book บอกว่า พี่…ผมขอวันที่ 18 นะ เดี๋ยวไปเล่น จากนั้นอาทิตย์สองอาทิตย์ก็โพสต์แม่งเลย เพื่อนคนหนึ่งทักมา มันบอกจะทำโปสเตอร์ให้และเป็นคนเดียวกับที่ทำโปสเตอร์ให้เรามาตลอด ก็ทำโปสเตอร์ให้แล้วก็โพสต์เลย ปุงปังปุงปัง ทุกอย่างเร็วมาก
ตอนนั้นกลัวไหม
กลัวเหี้ยๆ แต่เป็นคนละความกลัวกับตอนนี้ เพราะตอนนั้นเราไม่รู้เลยว่าเราทำอะไรได้บ้าง ไม่รู้ว่าจะโชว์อะไร คนจะมาดูรึเปล่า มันกลัวไปหมด โดยเฉพาะความกลัวกับโชว์ คือสิ่งที่น่ากลัวที่สุด
ตอนที่ซ้อมครั้งแรก เล่นเสร็จเราร้องไห้เลย เพื่อนเดินเข้ามาหาคือน้ำตาไหล เหี้ยมาก ไม่ดี ไม่ได้เป็นอย่างที่เราคิดเลย เราใช้ทักษะพิธีกร เล่าเรื่องไม่ดี ตื่นเต้น กินเบียร์ด้วย ดกเบียร์อยู่ในส้วม อั๊กๆๆ คิดว่า ไอสัสเอ๊ย…กูแม่งไม่น่าจัดเลย ฝืด ไม่ดี
ซึ่งจริงๆ การฝืดมันไม่ใช่เรื่องสำคัญหรอก แต่ flow ของการเล่าเรื่องหรือความเป็นธรรมชาติมันไม่ออก จริงๆ กลัวมาจนกระทั่งตอนจะโชว์จริงๆ ตอนที่โชว์จริงอะ ผมทิ้งเรื่องหมดเลย อะไรที่ไม่เข้าเรื่องผมทิ้งแล้วเล่าสด
แล้วเอาความมั่นใจมาจากไหน จึงดำเนินมาสู่รอบที่ 3 ได้
ไม่มีไง ความมั่นใจเรื่องความเป็นไปได้ทั้งหมด มาจากความคิดตอนที่ขึ้นไปดูสถานที่ที่โรงละครสยามพิฆเนศเท่านั้นเลย โมเมนต์ที่ไปยืนอยู่ตรงขอบเวทีแล้วมองลงไปข้างล่าง มันมีเสียงในหัวที่ชัดมากว่า “กูจะเล่นตรงนี้”
เพี้ยนเหี้ยๆ แต่นั่นคือสิ่งที่เรามั่นใจ ไม่ได้มั่นใจว่าจะมีอะไรเกิดขึ้น แต่เป็นความมั่นใจในโมเมนต์ว่า “เราจะทำ กูจะเอา” นั่นคือความมั่นใจแรก หลังจากนั้นมันก็คือการหาเงินมาทำ ดูเรื่องสถานที่ ทำอะไรก็ได้ที่จะทำให้เกิดสิ่งที่ “กูจะทำแบบนี้” ได้แค่นั้นเอง
ซึ่งมันเป็นอะไรที่ไร้สาระมากเลยนะ การได้ยินเสียงในหัวเนี่ย และตอนนั้นก็ยังไม่มีความเป็นไปได้อะไรเลยด้วย ไม่มีตังค์ มีแค่ “กูจะเล่น” มีแต่ภาพในหัวว่ามันต้องเจ๋งแน่ๆ และยังถูกกระหน่ำด้วยความรู้สึกตอนที่เอารูปถ่ายนั้นมานั่งดู แล้วรู้สึกว่า “หูววว..ไอ้เหี้ย เท่ว่ะ” คือผมเป็นคนเพ้อเจ้ออะไรแบบนี้นะ (หัวเราะ)
และเอาจริงๆ ผมตั้งใจจะจัดโชว์นี้ปีหน้าด้วยซ้ำ แต่มีอยู่วันหนึ่งไปนั่งคุยกับเพื่อน มันก็บอกว่าทำเลย รออะไร แล้วบังเอิญอีกทีผมโทรไปคุยกับ พี่จุ้ย-ศุ บุญเลี้ยง ถามว่ามันจะเฝือไหมวะพี่? เพราะสิงหาคมปีที่แล้วผมจัดครั้งแรก กุมภาพันธ์ต้นปีนี้ก็เพิ่งจัดไปรอบที่สอง แต่พี่จุ้ยบอกว่าเขาไม่เคยคิดอะไรเกินปีเลย ถ้าทำได้ก็ทำๆ ไปเหอะ
แล้วทำไมคิดจัดใหญ่ขนาดนี้
ผมรู้สึกว่าถ้าจะทำอะไรควรขยับสเกลให้ใหญ่ขึ้น มีแต่คนบอกว่าทำเล็กๆ ไปก่อน แต่ผมรู้สึกว่าทุกครั้งที่ได้เอาชนะสิ่งที่ไกลเกินกว่าที่นึกถึง…แม่งสะใจ เอาจริงๆ ถ้าย้อนกลับไปดูโชว์ A-KATANYU ’30 ปีชีวิตห่วยสัส’ อันนั้นแม่งใหญ่กว่าโชว์วันนี้ที่ผมจะทำอีกนะ เพราะตอนนั้นมันคือ ไอเหี้ยมึงเป็นใคร? มึงไม่เคยทำเรื่องแบบนี้เลยนะ มึงจะไปเอาคนดูมาจากไหน
กลับมาที่เหตุการณ์นี้ ผมคิดว่าถ้าอย่างนั้นลองขยับสเกลดู ตอนผมทำโชว์ครั้งที่สอง One Night Stand (Up) คนเยอะมาก คนที่มาซื้อตั๋วหน้างานก็เข้าไม่ได้ แล้วเจ้าของไปชวนฝรั่งมาอีกประมาณ 250 ที่นั่ง เลยรู้สึกว่าถ้าอย่างนั้นก็ขยับไปอีกสัก 300 ที่น่าจะพอไหว แต่ต้องบอกว่า One Night Stand (Up) มันมีเนื้อหาแตกต่างไปอยู่ และมีคนอื่นๆ มาเล่นด้วย แต่เอาจริงๆ ผมเชื่อมั่นอยู่ลึกๆ ว่าคนมาดูเพราะ ‘อกตัญญู’ มันเกิด position บางอย่างที่คนรู้แล้วว่า อ๋อ…มันจัดอะไรแบบนี้ มันเล่นอะไรแบบนี้นะ
พูดไปแล้ว Stand Up Comedy ในบ้านเรามันเกิดขึ้นน้อยจังเนอะ คุณคิดว่าเป็นเพราะอะไร?
ผมว่าไม่ใช่แค่ stand up หรอก แต่ในแวดวงของการ performance เมืองไทย มันมีศิลปิน แต่คนออร์แกไนซ์มีไม่มาก เหมือนกับลีกส์ฟุตบอลไทยสมัย 10 ปีที่แล้ว มันไม่มีการจัดการเพื่อทำให้เกิดความนิยมขึ้นมา ไม่ได้ทำให้มันแมส ไม่ว่าจะการประชาสัมพันธ์หรือการจัดการอื่นๆ ที่ทำให้องค์ประกอบในการจะเกิดงานมันไม่ครบ เลยทำให้ performance นั้นๆ เข้าถึงเฉพาะกลุ่มเป้าหมายเล็กๆ
องค์ประกอบที่ทำให้คนจะไปดูได้ มันต้องมี ‘ตัวกลาง’ ผมเชื่อว่ามันเป็นไปได้ เห็นได้ชัดอย่างผู้จัดฉายหนังสารคดีอย่าง Documentary Club ที่คนเริ่มรู้จัก ให้ความสนใจไปดู
ผมลองมานั่งวิเคราะห์ภายหลัง เฉพาะแสตนด์อัพคอมเมดีที่ผมทำนะ อาจจะเป็นเพราะว่าผมทำสื่อ ทำอีเวนต์มาด้วย ผมพอจะรู้ว่าจะดีไซน์ journey ยังไงให้คนได้ประสบการณ์ที่ดีในการดูโชว์และรู้สึกสบายไม่เป็นอื่น หลายครั้งที่ผมรู้สึกว่าไม่ feel in ไม่เป็นส่วนหนึ่งกับโชว์นี้ เพราะมันไม่มีเรื่องเล่าออกมา ไม่มีความเกี่ยวข้องระหว่างคนดูกับโชว์
แต่ปัญหาหลักๆ เลี่ยงไม่ได้ก็คือการที่บ้านเราไม่มี culture แหละ และการจะเกิดได้มันต้องมีการจัดการหลายๆ อย่าง ผมคิดคล้ายๆ ว่าถ้าฟุตบอลไทยสร้างลีกส์ได้ performance เล็กๆ ในเมืองไทยก็ต้องมีลีกส์ได้
ผมเชื่อว่ามันมีคนที่แบบ “เฮ้ย ศุกร์นี้ไม่ต้องดูหนังหรอก ไปทำอย่างอื่นกัน” เบื่อการครอบครองโรงหนังโดยคนกลุ่มเดิมๆ ปะล่ะ มาดูละครเวทีเปล่า ล่าสุดผมไปดูละครเวที ‘ไม่มีอะไรจะพูด’ ภาพที่ผมเห็นก่อนไป แม่งเครียดหรือซีเรียสแน่นอน แต่พอไปดู อ้าวอีเชี่ย!…บันเทิง ขำ เฮ้ยดี ทั้งองค์ประกอบด้าน visual วิธีการเล่น การเล่าเรื่อง ทุกอย่างดี
แต่เนี่ย…สิ่งที่อยู่ข้างในไม่ได้ถูกเล่า แต่ที่เล่าออกมาคือภาพอีกแบบ กลายเป็นว่ามันขวางกั้นคนทั่วๆ ไป มันไปเฉพาะเจาะจงกลุ่มเป้าหมายใดเป้าหมายหนึ่งมากเกินไป
สแตนด์อัพคอมเมดีของผม ผมวางแผนค่อนข้างเยอะที่จะให้คนเข้าใจ ทำหน้าที่กึ่งกลางกำลังดี เช่น “มึงมาดิๆ ไอเหี้ยนี่มันเพี้ยนนะ” และเอาจริงๆ มันก็เป็นเรื่องคุณภาพของศิลปินด้วย ที่ผ่านมาแล้วเห็นชัดๆ ก็คือ พี่โน้ต-อุดม แต้พานิช ผมว่าพี่โน้ต มีครบพร้อมเรื่องการออร์แกไนซ์ เขาทำครบหมด คิดภาพรวมออกทั้งหมดว่าโชว์จะต้องเป็นอย่างไร ไม่งั้นเขาออร์แกไนซ์ให้ดาราหรือคนมาดูขนาดนั้นไม่ได้อยู่แล้ว ซึ่งผมว่าสิ่งที่มันไม่เกิด คือหน่วยงานที่มี passion แล้วทำให้มันอยู่รอดได้
ไม่ใช่เอาสนุกเฉยๆ ต้องได้ตังค์ด้วย?
ไม่ได้หมายความว่าต้องหน้าเงินนะ แต่ถ้าจะอยู่ได้มันต้องมีโมเดลธุรกิจด้วยไหม? คือไม่ได้ทำเพื่อจะบอกว่า “โถ่แม่ง…ไม่มีใครมาดูกูเลย งานกูเหนือชั้นนะโว้ย” มันหมดแล้ว คุณต้องทำหน้าที่ให้ดีที่สุด ในทุกจุดเพื่อให้มันเกิดขึ้น ผมว่าต้องหาคนที่รู้สึกอินกับมัน มันมีจริงๆ แต่มันยาก ทั้งเงื่อนไขในชีวิตด้วย อะไรด้วย
ของผมก็ยากมากเลยนะ One Night Stand (Up) รอบสองเป็นตอนที่ผมทำงานประจำ ผมกลับถึงบ้านตี 3 แต่ตี 5 ต้องลุกต้องไปกำกับงานโฆษณาวิดีโอ กำกับเสร็จตอนบ่ายโมง ได้นอนหนึ่งชั่วโมงแล้วขึ้นโชว์ ซึ่งมันไม่เวิร์ค คือมันออกมาดี ดีมาก แต่เราไม่พอใจตัวเอง เราทำได้ดีกว่านั้น
อันนี้มันเป็นเหตุผลที่ขอลาออกด้วยนะ มันเสี่ยง เพราะถ้าพลาดก็เหี้ยไปเลย ไม่มีกึ่งกลางเลย ไม่มีทางที่เซฟๆ ดีก็ดีไปเลย เหี้ยก็เหี้ยไปเลย
ลาออกด้วยหรือ? ยังไง เล่าๆ
ใช่ๆ คือผมเกรงใจเขา และจริงๆ ผมขอเขาลาออกเลย แต่เจ้านายผมบอก “มึง…ว้าวุ่นไปละ” ออกไปก่อนแล้วค่อยกลับมาใหม่แล้วกัน ก็เลยได้ออกชั่วคราวสามเดือน
เหมือนมันต้องการการทำงานเต็มเวลาแล้ว เพราะ Stand Up Comedy สองครั้งที่ผ่านมา ผมทำโชว์และทำงานประจำพร้อมกันไปด้วย ต้องทำพีอาร์ (การประชาสัมพันธ์) การออร์แกไนซ์ ทำสคริปต์ ชวนคนมาฟัง จัดทำองค์ประกอบต่างๆ เพื่อให้โชว์เกิดขึ้น เหมือนเป็นโปรดิวเซอร์เองทั้งหมด ซึ่งรอบนี้สเกลมันใหญ่กว่าค่อนข้างมาก คือจัดสามรอบ รอบละประมาณ 700 ที่นั่ง และโปรดักชั่นก็มีดีไซน์ที่ต่างออกไปด้วย
แล้วถ้าเขาไม่ยื่นข้อเสนอให้กลับไปใหม่ ให้ออกจากงานเลย คุณวางแผนจะทำอะไรต่อ
เราวางแผนตั้งแต่เริ่มต้นเลยนะ ว่าหลังจากออกแล้วเราจะไปทำอะไรต่อ มันไปตั้งต้นที่การดูทุน ต้องมีเงินรองรับ ไม่ได้เหมือนเด็กๆ ว่าออกจากงานก่อนแล้วไปตายเอาดาบหน้า
พอบอกว่าจะไปต่อ มันก็มีแผนปีว่าปีหน้าจะมีอีเวนต์สามงานนะ เล่าให้ฟังว่าตอนนี้เราบันทึกหนังสารคดีไปพร้อมๆ กันด้วย ไฟนอลชื่อกันแล้วคือ ‘Stand Land’ ว่าด้วยเรื่องราวของคนที่พยายามหาดินแดนใหม่ ซึ่งเราจะไปคุยกับคนที่ทำ performance เล็กๆ แต่เรื่องมันจะลีดโดยเรา เล่าเรื่องการทำแสตนด์อัพครั้งนี้ คือการเดินทางเพื่อหาดินแดนใหม่
Stand Land เป็นอีกโปรเจ็คท์หนึ่ง เป็นการฉายหนัง จัดอีเวนต์ เอา performance เล็กๆ ร่วมกันโชว์สนุกๆ อาจจะมีแสตนด์อัพคอมเมดี หรือละครเวทีเล็กๆ อยู่ในพื้นที่สักที่หนึ่ง ที่มันแมสพอให้คนมาแจมกันได้ จบจาก Stand Land ก็จะมี One Night Stand (Up) หลังจากนั้นก็ตั้งใจไปเรียนต่างประเทศ
ภาษาอังกฤษเราไม่ดี แต่อยากลองโชว์เป็นภาษาอังกฤษ อยากลง Netflix เราว่ามันเป็นโอกาสนะถ้าเราเล่นเป็นภาษาอังกฤษได้ อันนี้คือฝันใหญ่นะ ไกลเหี้ยๆ พูดไปก็ดูเว่อร์ แต่ถ้าเราไปเล่นคอมเมเดียนคลับเล็กๆ ได้ เราจะกลายเป็นคนจากเอเชียอาคเนย์ที่เล่น comedy club ที่อเมริกาได้เลยนะ เขามีคอมเมเดียนเป็นพันๆ คน แต่จะมีคนที่มาเล่าเรื่องในประเทศที่มัน exotic มากๆ อย่างไทยแลนด์นี่ มันน่าจะมันส์
แต่ถ้าจะให้มันชัดๆ เลยก็คือ การมีอีเวนต์ใหญ่ คือ Stand Land และ One night Stand (Up) ปีหน้า เราคิดว่าระหว่างทางนั้น เรามีโปรเจ็คท์เล็กๆ ที่อยากทำ เรานึกถึงรายการทอล์กโชว์ดีๆ อย่าง จิมมี ฟอลลอน (Jimmy Fallon) หรือ จิมมี คิมเมล (Jimmy Kimmel) อยากเป็นแบบนั้นในเมืองไทย
พยายามหาพาร์ทเนอร์ อยากทำ daily show แบบ เทรเวอร์ โนอาห์ (Trevor Noah) คล้ายๆ กับรายการ ‘รอบดึกกับจอห์นวิญญู’ แต่ที่ผมอยากทำ คือออกแนวเสียดสีตลกๆ ไปเลย
ถ้าพูดถึงคอมเมเดียนในเมืองไทย โน้ต-อุดม แต้พานิช คือภาพจำของคนกลุ่มนี้ คุณคิดว่าคุณเกิดมาเพื่อฆ่าเขาได้ไหม
ไม่คิดเลย ไร้สาระ เราเกิดมาเพื่อทำอะไรไปเรื่อยๆ แล้วก็สนุกในแบบของเรา ไม่ฆ่าเขานะ เราไปหาเขาด้วย เราเคารพเขาและคิดว่าควรจะมีที่ทางให้มีคนที่เล่นแบบนี้เยอะๆ อยากให้มันเป็นลีกส์ ไม่ใช่ ‘next’ มันต้องสร้างให้คนเข้ามาเยอะๆ จัดโชว์ให้พวกนี้เล่นกันเยอะๆ เราว่ามันสนุก
สิ่งที่คนจำได้เกี่ยวกับ โน้ต-อุดม คือเป็นคอมเมเดียนที่เอาเรื่องตลกมาแซะอำนาจรัฐ คุณเป็นคอมเมเดียนแบบไหน?
เราต้องพูดแบบนี้ ‘เราไม่ใช่คนที่จะพูดแบบนั้น’ การเอาเรื่องตลกมาแซะอำนาจ เราเล่นเพื่อความบันเทิง แต่เราเชื่อว่ามีคนที่ทำได้ อย่างเพจไข่แมว หรือเพจที่ parody แล้วมันสร้างสรรค์ เปิดกะโหลก หรือท้าทายกับอำนาจที่เราพูดถึงไม่ได้
แต่เป็นคนอื่นนะ เราไม่ เพราะเรา stand up for money (หัวเราะ) ชีวิตที่ดีอยู่ คือเคยพูดครั้งที่แล้วกับ The Momentum ประมาณว่าเรื่องตลกมันขยายขอบเขตไปพูดเรื่องอื่นได้นะ แล้วมันก็มีคนที่ ‘ถ้ามึงไม่พูด เสียคนเลยนะ’ ไม่ กูไม่พูดไง กูพูดว่าเรื่องตลกมันพูดถึงได้ แต่กูจะไม่พูดแบบนั้น
เป็นแบบนี้รึเปล่า คือเรามุ่งเอนเตอร์เทนนะ แต่สุดท้ายแล้วมันอาจลิงค์ไปโดนเขา แล้วกลายเป็นเราไปแซะเขาเฉยเลย
มันจะอยู่ที่คอมเมเดียนแต่ละคนว่าจะดีไซน์ออกมาอย่างไร ต้องมีความระมัดระวัง ผมเป็นคอมเมเดียนเพื่อให้คนรักนะโว้ย ไม่ได้เป็นเพื่อให้คนอื่นมาเกลียดซ้ำ ผมเคารพคนที่ parody หรือ satire แต่ผมไม่ได้ทำเพื่อให้ความเกลียดชังมารวมตัวกันแล้วไปเล่นงานคนอีกฝั่ง ผมทำเพื่อให้มันดูน่ารัก สนุก อย่างเช่น ผมล้อคนอื่นแล้วบอกว่า พี่…ผมล้อเล่นนะ แต่อยู่บนเวที จุดนั้นถ้าจะล้อ มันก็ต้องทำให้เต็มที่
อาจจะมีคนมาแย้งว่า สิ่งที่คุณล้อมันเซนซิทีฟนะ (โว้ย)
เราว่าหลีกเลี่ยงไม่ได้เพราะอย่างไรก็ต้องมีเหยื่อเสมอ โดยเฉพาะสเกลมันใหญ่ขึ้น แต่นี่คือสิ่งที่เราไม่มี culture กฎเกณฑ์กำหนดซึ่งกันและกัน ถ้าเป็นคอมเมเดียนต่างประเทศ เราเชื่อว่าเขาจะรู้ว่าถ้าคุณเข้ามาในเวทีนี้ บรรยากาศแบบนี้มันคือโจ๊ก แต่สิ่งที่กูคิด ทัศนคติในชีวิต คนละเรื่องกันนะ
ผมชอบโจ๊กของฝรั่งคนหนึ่งมาก แอนโธนี (Anthony Jeselnik) เขาพูดถึงวิธีการตายที่ดีที่สุดในชีวิต เขาถามคนดูว่า วิธีที่ดีที่สุดในการตาย คือหลับแล้วตายไปเลยใช่ไหม ยายมันก็เป็นแบบนั้นนะ ทุกคนก็ดีใจที่ยายเขาหลับตายไปแบบนั้น แต่พอถึงช่วงที่ชันสูตร ทุกคนก็ต้องผิดหวัง เพราะว่ายาย…
ตายตอนชันสูตร..โคตรมันส์อ่ะ
แล้วมันก็บอกว่า คนโง่ไม่มาดูโชว์มันหรอก ซึ่งคนฉลาดก็ไม่มาด้วย นึกออกปะ มุกแบบนี้ มันท้าทายกับความคิดอยู่ตลอด มันเป็นการละเล่น ผมคิดว่าสิ่งที่อยู่บนเวทีของคอมเมเดียน ไม่ว่าจะเหยียด ล้อ เสียดสี หรือการเล่นงานแบบโต้งๆ ทั้งหมดมันคล้ายกับสนามของวรรณกรรม ที่เรากำลังเล่นกับความคิดว่า คุณจะปะทะกับความคิดได้แค่ไหน
เรารู้สึกว่ามันคนละรูปแบบ แต่วิธีการมันคล้ายกัน คือมันปะทะกับความคิด ให้เราคิด ให้เล่น แต่จบเกมก็คือจบนะ กูไม่ได้เป็นคนคิดแบบนั้นทั้งหมด แต่กูคิดว่ามันขำ (หัวเราะ) กวนตีนน่ะ เราว่าเป้าหมายมันต้องเป็นแบบนี้
ครั้งแรกใช้ชื่อว่า A-KATANYU ’30 ปีชีวิตห่วยสัส’ ครั้งที่สองใช้ ‘A Katanyu & Friends: One Night Stand (Up)’ ครั้งนี้คุณจะใช้ชื่อโชว์ว่าอะไร
‘The Man Who Stand Up’ ครับ แต่ก่อนหน้านั้นเปลี่ยนมาหลายชื่อมาก มี อกตัญญู กะเวที, อกตัญญู คนดื้อ, Start Up Comedy เห่ยมากอะ (ทำหน้าเบ้) แล้วก็ Mouth Worker ซึ่งเป็นชื่อที่เกือบจะไฟนอลแล้วนะ แต่ก็เปลี่ยนเพราะฟังดูแล้วมันงงๆ ต้องอธิบายซ้ำว่าคืออะไร แต่จริงๆ เพราะผมเคยถูกไล่ออกด้วยคำพูดที่ว่า ‘คุณใช้แต่ปากทำงาน’ และอยากเขียนมุกเรื่องนี้เพราะว่า ‘ปาก’ นั่นแหละ พาผมมาถึงจุดนี้
แล้วทำไมจึงไฟนอลที่ ‘The Man Who Stand Up’
สุดท้ายมันเกิดขึ้นด้วยการนอนๆ อยู่แล้ว ปึ้ง! … ‘The Man Who Stand Up’ วะ คิดถึงคำนี้เพราะดูหนังเรื่อง The Man Who Knew Infinity หนังที่เล่าเรื่องนักคณิตศาสตร์ที่ตายเร็วไปหน่อย เลยได้ชื่อนี้มา มันดูเท่ดี แต่มันผิดไวยากรณ์นะ จริงๆ ต้องเติม S เข้าไปด้วย (The man who stands up) แต่เราอยากให้มันเป็นคำนามว่า เป็นคนที่ ‘เหยอ’ ออกมา
เราทำโปสเตอร์ให้งานมันดูใหญ่ มีเมสเสจถึงความเอาจริงเอาจัง แต่จริงๆ มันเหมือนเต่าที่เผยอคอออกมา คนที่พยายาม ‘เหยอ’ ซึ่งบทก็จะเล่าเรื่องความ ‘เหยอ’ ความพยายามในชีวิต ซึ่งมันมีความ ‘เหยอ’ อยู่หลายอย่างมาก
ความเหยอที่ว่ามีลักษณะอย่างไร
‘เหยอ’ เหมือนเป็นคำที่กลุ่มเพื่อนๆ ใช้แล้วจะเข้าใจกันในวง แต่คนทั่วไปจะไม่ค่อยเก็ท ถ้าพูดให้ง่าย คือความพยายามที่เกินหน้าเกินตา ผยอง เหมือนมึงแม่ง ‘เหยอสัส’ มึงเป็นใครวะ… มึงไม่มีชื่อเสียง โรงใหญ่โตแล้วมึงเอาคนเป็นพันมา ถ้าไม่เหยอแล้วจะเรียกว่าอะไร ซึ่งจริงๆ แล้วเรารู้สึกว่า ความเหยอของเรามันอยู่ในทุกช่วงจังหวะชีวิตเลยนะ และไม่ใช่แค่เป้าหมายการจัดงานอย่างเดียว
เช่น เราเหยอไปดู Cold Play ที่สิงคโปร์ นึกออกปะ มันจะมีท่อนที่เพราะที่สุดของ Cold Play ใช่ปะ แล้วคนสิงคโปร์พูดภาษาอังกฤษและทุกคนร้องเป็นภาษาอังกฤษได้ไง และคือแทนที่กูจะได้ฟังท่อนนั้นจาก คริส มาร์ติน แต่ต้องฟังเสียงอับดุลร้องท่อนนั้นอยู่ข้างๆ หู และนางก็หันมามองเราแบบว่า “หว่าย มึงร้องไม่ได้ หว่ายยย…” เข้าใจใช่ปะ
ไม่พอ พี่คริสยัง “Everybody clap” ซึ่งเราอยู่ในโซนอินเดียและทุกคน ‘clap’ โอ้โห… (ถอนหายใจ) ไอเชี่ยยย (ลากเสียงยาว) เข้าใจปะ “When you try your best…” (ขึ้นเสียงสูง ชูมือซ้ายทำ clap มือขวาทำสัญลักษณ์การระเหยของกลิ่น) กูมาทำไมอะ? มาดู paper shoot แล้วก็ถ่ายวิดีโอเก็บไว้เหรอ แต่พอเอามาเปิดดูคือ…ฟังไม่รู้เรื่องอีก ได้ยินแต่เสียงพี่เขาร้องเพลงกัน
คือมันจะมีความเหยออะไรแบบนี้อยู่
จากอาชีพนักเขียน ทำไมจึงมาเป็นคอมเมเดียน
เราว่าชีวิตมันพัดพาอะ ไม่ได้คิดอะไร ทำๆ ไป ตอนจบใหม่ๆ อยากเป็นนักเขียน อยากมีเรื่องสั้น อยากออกนิยาย จุดเปลี่ยนในชีวิตจริงๆ คือช่วงที่ถูกให้ออกจากงาน ดูแลแม่ไม่ได้ ขอตังค์แม่กินไอติมแม่ไม่มีให้ บอกกับเราว่า ‘กินทำไม เปลือง’
เราน้อยใจฉิบหายเลย ชีวิตเราแม่ง อายุ 25 ปีแล้ว ยังดูแลใครไม่ได้ ซื้อของดีๆ ให้แม่ก็ไม่ได้ ขอแม่กินเขายังไม่มีให้ ตอนนั้นรู้สึกอย่างเดียวว่า ทำชีวิตของตัวเองให้ดีก่อน งานอะไรมาก็ทำหมด หลังจากนั้นก็ทำโปรดักชั่นทีวี เป็นโปรดิวเซอร์รายการ เป็นพิธีกร ทำทุกอย่างเท่าที่จะทำได้ให้ชีวิตมันดี
วันที่ถูกให้ออก พูดจริงๆ ว่าเรารู้สึกว่า “เชี่ย จริงๆ กูทำอะไรก็ได้นี่หว่า” ไม่ยึดติดแล้วว่าจะเป็นอะไร ทำไปเรื่อยๆ จากนั้นบุคลิกของตัวเองมันก็ค่อยๆ เผยว่าสิ่งที่เราทำแล้วสนุกคืออะไร คือการกวนตีนคน คือการได้พูด พี่ (ผู้สัมภาษณ์) ก็เคยอยู่กับผมเนอะ เวลาที่เราอยู่ในวงสนทนาแล้วทุกคนซีเรียสวิจารณ์เรื่องสั้น นี่ก็ต้องเหยอ ต้องแหลมกวนตีนขึ้นมา นิดเดียวก็ต้องมี สมัยเรียนเราก็ต้องกวนตีนอาจารย์ เฮ้ย นี่มันเป็นตัวเรานี่นา บางทีหาตัวเองฉิบหาย นี่ไง…ก็มึงใช้แต่ปากทำงานจริงๆ ถ้าอย่างนั้นก็ใช้ไป ถูกแล้ว
บางทีสิ่งที่มีคนเคยด่า เก็บมาคิดดีๆ มันเป็นประโยชน์ มีอยู่คืนหนึ่งช่วงที่จะจัด The Man Who Stand (Up) นี่แหละ ผมตื่นขึ้นกลางดึกแล้วนึกถึงเหตุผลที่โดนไล่ออก แล้วผมก็… “ไอเชี่ย พี่เขาชี้ทางให้กูนี่นา” เพราะทุกวันนี้ทำงานเอเจนซี คุย-ขายงาน-คุย-ขายงาน-เล่าเรื่อง-พูด-พิธีกร-พูด ทั้งนั้นเลย
แต่ก่อนจะอ่านแต่วรรณกรรม ชีวิตรันทด ชีวิตแย่ ข้นแค้น ไอเหี้ย มึงต้องเคี่ยวกรำ แต่วันหนึ่งไปอ่านหนังสือเล่มหนึ่ง ได้อ่านหลังจากทำ A-KATANYU ไปแล้วนะ คือเรื่องของอดีต CEO ของสตาร์บัคส์ชาวญี่ปุ่น เขาบอกว่ามนุษย์ควรจะมีมิชชั่นให้กับตัวเอง แต่ mission นั้นจะวางกรอบความคิดด้วยวิธีไหนก็อีกเรื่อง เขาเลยให้เอาวงกลมมาสามวง ซึ่งทั้งสามต้อง intersect กัน
วงแรก-สิ่งที่เรารัก ยังไงก็จะทำ สอง-สิ่งที่ถนัด สุดท้าย-เป็นประโยชน์สำหรับคนอื่น ตีความอีกที ทำมาหาแดกได้ (หัวเราะ) ผมดูแล้วผมรักที่จะกวนตีน ผมถนัดที่จะพูด และคิดว่าพูดได้โอเคประมาณหนึ่ง และสุดท้าย – อ้าวเฮ้ย A-KATANYU แม่งขายบัตรได้นี่หว่า มัน intersect กัน ใช่แล้ว แต่แน่นอนว่ามันไม่ได้จบแค่วงกลมสามวงนี้หรอก มันคิดเรื่อง culture คิดเรื่องอยากมีสังคมแบบนี้ ก็เลยเป็นที่มาของงานนี้
แต่พอมันเปลี่ยน mind set อะไรๆ ก็มีประโยชน์กับเราได้หมด แม้หนังสือที่เราเคยด่า คนที่เราเคยมองว่างี่เง่า มันก็เป็นประโยชน์ได้ เอาวะ จัด One Night Stand (Up) อีกที
กลับมาเรื่องส่วนตัวบ้าง ทุกวันนี้หาความเอนเตอร์เทนให้ชีวิตอย่างไรบ้าง
ทุกวันนี้งานยุ่งมาก เอาจริงๆ เลยนะ ทำงานแล้วก็กลับบ้าน เรียบง่ายมาก วันที่เพื่อนๆ เขาไปเอนจอยหรือกินเหล้ากัน ผมอยากกลับบ้านไปนั่งคุยเล่นกับแม่ กินข้าวกัน ตลกกัน แม่ก็ประหลาด แบบนึกออกมะ… อยากให้เราผอม ถึงกับไปซื้อ body key ตัว shake มาให้กินเลยนะ แต่พอกลับถึงบ้านจะมีทุเรียนรอ แล้วทุเรียนอร่อยมากกก เม็ดนี้ดีมากกก (ลากเสียง) เอ๊ะแม่ยังไงเนี่ย อยากให้กูผอม หรือให้อ้วนกันแน่
เอนเตอร์เทนสามเรื่อง กลับบ้านไปคุยกับแม่ นอนดู Netflix ดูแสตนด์อัพคอมเมเดียน คือตั้งแต่ A-KATANYU เราดูแสตนด์อัพเยอะมาก แต่ดูแบบ ‘เลาะตะเข็บ’ ว่าเขาเล่นยังไง ดูหลายๆ แบบเลย และสุดท้ายก็คือออกกำลังกาย อันนี้เป็นสิ่งที่ทำได้น้อยมาก เพราะไม่ค่อยมีเวลา
แต่เดี๋ยวหลังจากนี้จะมีตารางฟิตซ้อมร่างกาย แต่ไม่ได้อยากฟิตเพื่อโชว์หรอก อยากผอม (หัวเราะ) คือแค่อยากผอม แต่หาข้ออ้าง ขึ้นพูดก็ไม่ได้เหนื่อยอะไรนักหนา
ทำสารคดีถึงไหนแล้ว
เพิ่งถ่ายไปไม่นานนี้ครับ เริ่มถ่ายไปบ้างแล้ว มันจะมีซีนประหลาดๆ เช่น แม่ผมไปดูดวงมา และหมอดูบอกว่าผมต้องพาแม่ขึ้นเครื่องไปเที่ยวที่ไหนสักแห่ง ต้องไปไหว้พระ ก็จะมีถ่ายฉากอะไรแบบนี้ เล่าขำๆ กวนตีนไป
แล้วที่ประกาศหาผู้ช่วยสาวสวย ได้หรือยัง
ได้แล้วครับ สวยเซ็กส์เอ็กซ์ไส้แตก แต่จริงๆ ผมตั้งใจเล่นกับมันด้วยแหละ อยากให้คนมาสนุกมีส่วนร่วมกันกับ A-KATANYU
หูย นี่คิดมาทุกเม็ดเลยอะ เป็นวิธีคิดแบบเอเจนซีจริงๆ คือให้คนเข้ามาตอบคอมเมนต์ต่อ อะไรแบบนี้หรือคะ?
เอาจริงๆ คือ เพิ่งคิดได้วันนั้นแหละ แต่เวลาตอบสื่อก็พูดว่า “เราคิดมาแล้ว” (หัวเราะ) จริงๆ ก็อยู่ในร้านกาแฟ คุยกับเพื่อน “อีทราย กูว่ามันต้องมีคนช่วยว่ะ อะๆ มึงๆ เอาสาวน่ารักๆ ไว้ก่อน เหยอๆ ไว้ก่อนมึง” (หัวเราะ) พอโพสต์ไปแล้วก็แบบ “พรุ่งนี้เดี๋ยวกูโพสต์ภาพสาวเซ็กซี่หน่อยนะ” เฟสต่อมาหลังจากได้ผู้ช่วย คือเราต้องเลือกคนสวยไว้ก่อนแหละ กายภาพต้องได้ แล้วโพสต์ลงไป “มีอะไรติดต่อคนนี้นะครับ” นึกออกปะ? (หัวเราะ) คนแม่งก็ต้องแซวว่า “เหี้ยๆๆ” อะไรแบบนี้
ฮ่าๆๆ สนใจสมัครนะคะ แต่ติดว่าทำงานประจำอยู่ ไม่งั้นน่าจะช่วยเรียกเรตติ้งได้เยอะแน่ๆ
คำถามถัดไปเลยครับ
เปิดขายบัตรเมื่อไหร่นะคะ
ราวๆ ต้นเดือนกรกฎาคมนี้ เพราะต้องรอฤกษ์งามยามดีจากแม่ เขาจะเลือกให้ เพราะมันต้องเป็นวันแห่งชัยชนะ แม่เราครบทุกศาสตร์ ศาสตร์การตั้งชื่อ เลขต้องบวก ต้องลงเลขนี้ วันนี้ แล้วเขาแก้ไขให้เราได้เรื่อยๆ เลย (หัวเราะ)