กตัญญู สว่างศรี: ตลกยืนเดี่ยว ในสังคม WOKE และโลก PC

ปี 2017 คำว่า ‘Woke’ ถูกบรรจุลงในพจนานุกรมภาษาอังกฤษของมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด เพื่อหมายถึงการตื่นรู้หรือตื่นตัวจากความมืดบอดหลงผิด แต่ Woke ไม่ได้หมายถึงอาการตาสว่างทางการเมืองเท่านั้น แต่ยังหมายถึงการสลัดพ้นจากอคติและการเลือกปฏิบัติที่มาจากเพศ สีผิว เชื้อชาติ ชนชั้น หรือความไม่เท่าเทียมมิติอื่นๆ

ท่ามกลางกระแสการตื่นตัวของวัฒนธรรม Woke และการยึดความถูกต้องทางการเมือง (Political Correctness: PC) กลุ่มคนที่น่าจะได้รับผลกระทบมากที่สุดกลุ่มหนึ่ง ได้แก่ นักแสดงตลก 

ในแง่หนึ่งอาจมองได้ว่า การเล่นตลกคือความรุนแรงรูปแบบหนึ่ง เพราะในเรื่องตลกมักมีผู้ตกเป็นเหยื่อเสมอ ไม่ใครสักคนหรืออะไรสักอย่าง ก็เป็นตัวผู้เล่นตลกนั่นแหละที่ล้อเลียนตัวเองเพื่อให้เกิดความฮา และส่วนมากสิ่งที่ถูกล้อเลียนมักเป็นอัตลักษณ์ทั้งหลายของมนุษย์

แต่ในสังคมแห่งการ Woke มุกตลกเหยียดคนจะยังมีที่ทางอยู่อีกหรือ

“ประเด็นไม่ได้อยู่ที่ว่าเล่นได้หรือเปล่า แต่คุณเล่นได้ดีพอหรือเปล่าล่ะ ถ้ายังไม่ดีพอ คุณก็กลายเป็นปิศาจ แต่ถ้าเล่นเก่ง คุณก็เป็นพระเจ้า แต่ส่วนมากแล้วเราเป็นมนุษย์ธรรมดาว่ะ”

ยู-กตัญญู สว่างศรี นักแสดงสแตนด์อัพคอมเมดี้ และเจ้าของร้าน A Katanyu คอมเมดี้คลับแถวสามย่าน สนทนากับ WAY ในประเด็นผลกระทบของกระแส Woke และการตื่นตัวทางการเมืองที่มีต่อวงการตลก การหาเลี้ยงชีพด้วยตลกยืนเดี่ยวหรือ stand-up comedy ในสังคมไทย ตลอดจนสารพัดเรื่องตลกโปกฮาที่บ้างครั้งก็ซ่อนความดาร์กและความเศร้าเอาไว้

“ผมไม่สนใจว่า มุกนี้กูจะโดน woke ไหมวะ ตอนเล่นมุกผมสนใจแค่ว่า มันตลกหรือเปล่า”

ในยุค Woke และ PC แบบนี้ เล่นตลกลำบากขึ้นไหม 

สำหรับผมไม่เลย มันอาจจะส่งผลต่อบางคน แต่ผมเล่นที่ comedy club ของตัวเอง (ร้าน A Katanyu) ผมคิดว่าคนที่มาดูเขารู้อยู่แล้วว่า สไตล์เราเป็นแบบไหน มันขึ้นอยู่กับบริบทมากกว่า ว่าเราจะเลือกใช้มุกระดับไหน อย่างผมถ้าเห็นว่ามี audience (ผู้ชม) หน้าใหม่เยอะ ยังไม่ค่อยรู้จักเราเท่าไร มันก็จะมีเลเวลในการเล่นที่เบาลง 

ผมไม่ได้กังวัลอะไรนัก ส่วนหนึ่งเพราะเราไม่ได้เล่นมุกที่ไม่ PC ขนาดนั้น ผมมองเป็นความท้าทายว่า จะทำยังไง จะหาวิธีเล่นมุกอย่างไรให้มันสนุก ผมคิดว่า ความ PC เข้ามาท้าทายให้คอมเมเดียนต้องฉลาดขึ้น ยิ่งคุณฉลาดเท่าไร คุณก็จะทำให้มันน่ารักได้ ไม่ซื่อๆ ง่ายๆ เหมือนแต่ก่อนที่ล้อกันหยาบๆ ตรงไปตรงมา ตัวอย่างเช่นหนัง วัยอลวน สมัยก่อนเขาร้องเพลงแซวแฟนว่าอ้วน มันก็ดูน่ารักใช่ป่ะ แต่สมัยนี้ไม่ได้นะ เด็กรุ่นใหม่ด่าฉิบหายเลย เล่นทื่อๆ แบบนั้นผมก็ไม่เอาด้วย จะล้อใครมันต้องแยบยลและฉลาดมากขึ้น

คุณอย่าคิดว่าเวทีของ stand-up comedy ในประเทศนี้มีเยอะนะครับ วงการนี้ไม่ได้ใหญ่ ทุกคนที่มาร้านผม เขามาด้วยความเข้าใจ stand-up comedy ประมาณหนึ่งอยู่แล้ว หรือบางคนเพื่อนชวนมาแต่ยังไม่ค่อยเข้าใจ ก็จะได้รับการ educated นิดหนึ่ง ผมจึงไม่ได้รู้สึกว่ามีปัญหามากนัก

อย่างสัปดาห์ที่แล้ว ที่ comedy club มีการทดลองการแสดงที่เรียกว่า Roast (การเผาหรือขุดเรื่องอดีตมาล้อ) คือเอาใครก็ได้คนหนึ่งมาเป็น material (วัตถุในการแสดง) แล้วให้ทุกคนรุมด่า รุมแซว เอาเรื่องหนักๆ แรงๆ มาเผา แต่เราจะตกลงกันตั้งแต่ตอนเริ่มว่า นี่คือการ Roast นะครับ มันจะปากหมาและดาร์กมากๆ แต่ทุกคนบนเวทียอมรับร่วมกัน และมี consent (ยินยอม) กันแล้ว 

แต่ก็มีบางปัญหาที่ต้องคุยกันบ้าง เช่น มีพี่คนหนึ่งเล่นมุกแซวนักดนตรีที่มาเล่นเปิดงาน เขาแซวว่า ปกเพลงแม่งโคตรญี่ปุ่นเลย แต่พอเจอตัวจริงนึกว่ามาจากสุพรรณบุรี ฝั่งนั้นก็บอกว่า สุพรรณแล้วจะทำไม ผมต้องบอกคอมเมเดียนว่า ใจเย็นพี่ นักดนตรีอยู่ข้างล่าง เขาไม่พร้อมจะโดนแซวแบบนี้ เรา Roast กันแค่บนเวที คอมเมเดียนคนนั้นก็เดินไปขอโทษ

เรื่องที่ผมระมัดระวังมากคือ เราไม่ควรเล่นมุกกับคนที่ไม่รู้ หรือไม่ได้ตั้งใจจะมาเล่นกับเรา มันจะทำให้เขารู้สึกว่า ถูก offense (คุกคาม) หรืออาจมองว่ามันไม่ PC เลย

หมายความว่าระหว่างคนเล่นมุกกับ audience มีไวยากรณ์กลางหรือข้อตกลงร่วมกัน?

ผมว่ามันก็มีนะ มันขึ้นอยู่กับสไตล์ของแต่ละคนด้วย ผมไม่รู้ว่าคนอื่นๆ จูนคลื่นกับคนดูยังไง แต่ส่วนตัวผม หลังเล่นมาระยะหนึ่งก็พอนึกออกแล้วว่า โอเค วันนี้เล่นได้ประมาณนี้ อ่านจากหน้าตาของผู้ชม วันนี้กูหนักได้ แต่ถ้าวันไหนดูทรงแล้วหน้าใหม่มาฟังเยอะ ผมก็จะเล่นกลางๆ

คนเล่นก็ต้องอ่าน mood (อารมณ์) ของคนดูด้วย?

เป็นเรื่องปกติ ตัวโจ๊กในกลุ่มจะรู้ว่า เพื่อนคนไหนเป็นยังไง ใครเล่นได้แค่ไหน ยิ่งใครอ่าน audience เก่ง ก็จะยิ่งบริหารบรรยากาศได้ดี และรู้ว่าจะเล่นได้แค่ไหน โจทย์ของคอมเมเดียนแทบทุกคนคือต้องอ่านอารมณ์เหล่านี้ให้ออก เพื่อสร้างบรรยากาศที่ผ่อนคลาย ให้คนฟังรู้สึกว่าเรามีอะไรเชื่อมโยงกันก่อน คอมเมเดียนทุกคนทำงานอย่างนี้ ไม่ใช่จู่ๆ จะเล่นมุกเหยียดอัตลักษณ์เลย คนที่โดนอาจรู้สึกว่าถูกคุกคามได้

เคยอ่าน mood พลาดบ้างไหม

มีสิครับ ผมก็ไม่ได้เก่งนะ ผมเคยจัดงาน speed dating ที่ร้านแบบขำๆ ให้คนที่กำลังจีบกันได้มาเดต ผมคิดว่า เดี๋ยวขึ้นไปบนเวทีจะเล่นมุกทะลึ่งหน่อยดีกว่า แต่ปรากฏว่า ผู้ชมเงียบหมดเลย ผมก็เลยต้องบอกว่า อ้าว บรรยากาศไม่ค่อยดีแล้วนะครับ วันนี้ขอเท่านี้ก่อนแล้วกัน ขอบคุณครับ แล้วรีบลงจากเวทีเลย คือตอนนั้นผมเข้าใจผิด คิดว่าคนหนุ่มสาวน่าจะรับเรื่องทะลึ่งได้ แต่ที่จริงคือคนกำลังจีบกัน เขาก็ต้องวางฟอร์มหน่อย ใครจะมาหัวเราะเรื่องทะลึ่ง ผู้หญิงเขาจะไม่หัวเราะมุกกระเจี๊ยวต่อหน้าผู้ชายหรอก โอกาสที่จะได้เดตกันต่อคงน้อย การอ่าน mood เป็นเรื่องที่ต้องค่อยๆ ทำการเรียนรู้กันไป มีพลาดเป็นธรรมดา

การสังเกตผู้ชมในคอมมิวนิตีเล็กๆ แบบนี้เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ แต่สมมุติถ้าขยายสเกลผู้ชมใหญ่ขึ้น เช่น เล่นตลกออกทีวี หรือปล่อยคลิปผ่านโซเชียลมีเดีย มันไม่ยากกว่าเหรอ

เพราะอย่างนี้เราจึงแทบไม่ปล่อยการแสดงผ่านโซเชียลมีเดียเลย ต้องบอกแบบนี้ก่อนว่า ในประเทศนี้ไม่มีพื้นที่บ่มเพาะนักแสดงตลกแบบยืนเดี่ยวนัก ช่วงเริ่มต้น ผมจึงอยากให้เขาปล่อยของออกมาให้สุด บางคนปล่อยออกมาแล้วมันหยาบ บางคนก็ปล่อยความคิดที่ยังไม่ลงตัว เราก็จะพยายามแกะสลักมัน ตัดอะไรที่ไม่ใช่ออก ค่อยๆ เล็ม ค่อยๆ พัฒนากัน แต่มันต้องมีพื้นที่ให้แสดงความสดออกมา 

ผมเชื่อว่า ต้องมีพื้นที่ให้คอมเมเดียนล้มเหลวก่อน ถ้าเราเอาคลิปเขาไปลงแล้วเขายังไม่เก่ง จนถูกด่าในโลกออนไลน์ เขาอาจรู้สึก fail จนเลิกเล่นไปเลยก็ได้ แต่ถ้าเล่นในพื้นที่แบบนี้ ต่อให้ไม่ฮาก็ยังมีคนขำแห้งบ้าง หรือถ้าไม่ไหวจริงๆ ก็มีคนคอยบอกให้เปลี่ยน เขาจะได้ค่อยๆ พัฒนาและเรียนรู้

เราจึงไม่ค่อยปล่อยคอนเทนต์ออนไลน์ แต่พอคนดูน้อย ไม่ค่อยมีคนรู้จัก เราก็เริ่มคิดกันว่าจะปล่อยคอนเทนต์บ้าง กำลังคุยให้เห็นภาพตรงกันว่า แค่ไหนที่กำลังดี กำลังเหมาะสมกับโลกออนไลน์ 

คอมมิวนิตีที่ผมทำอยู่ อย่าง ‘ยืนเดี่ยว’ ก็มีคลิปที่โดนคอมเมนต์เยอะเหมือนกัน มุกบางอย่างก็เกินเลย เราต้องช่วยกันสกรีน เช่น บางคนเล่นมุกแซวคนพิการว่า เต้นได้ไหม เต้นยังไง บางคนก็เล่นมุกว่า เข้าห้องสมุดแล้วเจอคนคุยกัน ไม่มีมารยาทเอาเสียเลย แต่ผมฟังเขาไม่รู้เรื่อง เพราะเขาเป็นใบ้ (หัวเราะ) คือมันอาจจะขำสำหรับคอมเมเดียน แต่พอออกไป มันเป็นเรื่อง sensitive มาก สุดท้ายก็ต้องค่อยๆ สกรีนออก

ใจผมก็อยากให้ขยายกว้างๆ ให้คนเห็นเยอะๆ แต่ก็ต้องค่อยๆ เรียนรู้ว่า มุกแบบไหนที่ทำงานกับคนดูในวงกว้างแล้วมันเวิร์กและเหมาะสม ซึ่งเราก็ยังต้องค้นหาต่อไป เราไม่มีคอมเมเดียนที่สมบูรณ์แบบขนาดนั้นหรอก ทุกคนเหมือนเพิ่งฟักออกมาจากไข่ มีคนเก่งบ้างนิดหน่อย แต่ก็ไม่ได้โด่งดังอะไร มันยังเป็นช่วงเวลาแห่งการค้นหา 

มีข้อตกลงร่วมกันไหมว่า เส้นไหนไม่ควรข้าม

เราจะรู้กันอยู่แล้วว่า บางเส้นเป็นของแรง ไม่ควรแตะ วันนี้มึงเบาๆ นะ แต่เรื่องอื่นๆ ผมให้เขารับผิดชอบตัวเอง ออกแบบการแสดงเอง คุณจะเล่นสไตล์ล้อเลียนก็ได้ แต่คุณต้องยอมรับผลที่ตามมานะ

ผมพยายามสื่อสารมาตลอดว่า การดู stand-up comedy คล้ายกับการดูหนังหรือฟังเพลงที่มีหลาย genre เทียบกับหนังอาจจะง่าย เช่น มี genre โรแมนติก คอมเมดี ดรามา หรือ sci-fi การแสดงตลกก็มีหลายเฉดเหมือนกัน 

วันนี้คุณอยากฟังเรื่องเสียดสีการเมืองหนักๆ ดาร์กๆ มันก็มีคอมเมเดียนแบบนี้นะ หรืออยากดูคอมเมเดียนแบบโรแมนติก เล่นแต่เรื่องความรัก มันก็มีนะ แต่ทุกวันนี้พอพูดถึงเรื่องตลก คนไม่ค่อยรับรู้ว่ามันมี genre หรือมีเฉด ซึ่งก็ต้องค่อยๆ ทำความเข้าใจกันว่า มันมีรสชาติที่หลากหลาย ไม่ต่างจากเพลงที่มีทั้งแจ๊ส ร็อก หรือฮิปฮอป stand-up comedy ก็มีจังหวะเฉพาะของมัน 

ตลกแต่ละคนสนใจเรื่องราวที่แตกต่างกัน บางคนตลกสายการเมือง บางคนตลกเรื่องรอบตัว แต่บางคนก็พูดเรื่องกระเจี๊ยวตลอดเวลา ถ้าคนดูเขารู้ว่าจะเสพอะไร อยากได้ฟีลลิ่งไหน ในอนาคตคอมเมเดียนจะทำงานง่ายขึ้น

แต่ปัจจุบันมุกตลกหยาบโลนหรือ dirty joke มันหมิ่นเหม่ที่จะเข้าข่ายการคุกคามทางเพศ (sexual harassment) หรือเปล่า หรือว่าเป็นคนละเรื่องกัน

โห อันนี้บอกตรงๆ นะว่า ผมไม่รู้ว่ะ แต่ sexual harassment น่าจะให้ความรู้สึกว่า คุณโดนคุกคาม ซึ่งผมว่าการเล่นตลกไม่ควรให้ความรู้สึกคุกคาม ไม่ควรมีใครต้องเจอ sexual harassment อยู่แล้ว

แต่ก็มีเส้นบางๆ นะ เช่น ข่าวที่หลุยส์ ซี.เค. (Louis CK) ช่วยตัวเองต่อหน้าผู้หญิง คุณเคยดูโชว์ของเขาป่ะ เขาเคยเล่นมุกช่วยตัวเองบนเวที โห แม่งโคตรเนียน แม่งโคตรเก่ง แต่ครั้งนั้นเขาไม่ได้ทำบนเวที สุดท้ายแล้วผมว่าไอ้การ sexual harassment บนเวทีก็ไม่ใช่เรื่องดีนักหรอก มันอาจทำให้คนดูรู้สึกถูกคุกคาม

ผมกลับไปตอบคำถามของคุณก็คือ dirty joke มันแยกจาก sexual harassment เพราะความตั้งใจที่จะคุกคามมันเห็นได้ชัดในกรณีหลัง

วงการตลกไทยขึ้นชื่อเรื่องการคุกคามทางเพศ โดยเฉพาะมุกคลาสสิกต่างๆ เช่น การแสดงอาการหื่นใส่ผู้หญิง ทำไมเป็นเช่นนั้น

มันเป็นเรื่องเล่าหลักที่กินง่าย อร่อย และมัน เหมือนเฟรนช์ฟรายส์ บางคืนผมก็ชอบกิน แต่ถ้าเรามีเรื่องเล่าที่หลากหลายขึ้น ผู้ชมเขาจะได้กินอาหารอื่นๆ เพิ่มขึ้นตามไปด้วยก็เท่านั้น แต่เรื่องเหล่าหลักของตลกในเมืองไทยเหล่านี้ก็ยังถูกใจคนส่วนใหญ่ จะเรียกว่า majority ก็คงได้ ทุกวันนี้เราจึงยังเห็นตลกไปดมหัวผู้หญิงอยู่ใช่ไหม แม้คนรุ่นใหม่จะเริ่มไม่อินแล้ว เพราะมันคุกคามเกินไป 

ผมไม่ได้โจมตีเขานะ งานที่เขาทำมันก็เวิร์กในแง่ฐานผู้ชม รายการตลกที่ดังที่สุดของประเทศนี้คือ Joker Family ใช่ไหม ที่ผ่านมาเขาจะใช้ material เป็นผู้หญิงตลอด อย่าง ‘เหมยหลิน’ หรือ ‘ฟักแฟง’ ตัวละครหญิงเหล่านี้เป็นอาวุธที่เขาใช้ทำงาน เขาจะแทะโลมบ้าง หื่นใส่บ้าง หรือดมมือบ้าง ผมไม่ได้โจมตี เพราะผมก็ขำเหมือนกัน แต่ในฐานะคอมเมเดียน ผมไม่อยากทำงานแบบนั้นไง ผมก็เลือกทางเล่นมุกของผมเอง ผมอาจพูดเรื่องอื่นที่หักออกจากเรื่องเล่าหลัก ซึ่งมันอาจจะเวิร์กหรือไม่เวิร์กก็ได้ แต่ผมอยากทดลอง

คุณยูพูดถึงประเด็นที่ค่อนข้างสำคัญ คือ consent อย่างบางรายการเอาพริตตี้สาวสวยมา tie-in ขายของ แล้วมีแทะโลม แต่คราวนี้ที่กลายเป็นดรามาเพราะว่าเขาทำกับดารารับเชิญ ซึ่งอาจไม่ consent หรือเปล่า

อย่างพริตตี้เหล่านั้นก็ไม่มีใครรู้หรอกว่า เขา consent จริงหรือเปล่า ผมก็ไม่รู้จะตอบยังไง ถ้าจะให้ดีที่สุดมันก็ควรมีการถาม consent ก่อนทำการแสดง เขาจะได้รู้ว่าระดับของการเล่นมันไปถึงไหน 

จริงๆ ไม่เฉพาะแค่นักแสดงด้วยกัน คอมเมเดียนควรตรวจสอบตัวเองเสมอว่า เล่นมุกเลเวลไหนแล้วผู้ชมเขายังโอเคด้วย ยิ่งวงการ stand-up comedy ยิ่งต้องคิดถึงเรื่องนี้ เพราะเมื่อมีการแซวคนดู เราก็ต้องรู้แหละว่าเล่นได้ประมาณไหน คนเก่งคือคนที่เดินไต่บนเส้นที่หมิ่นเหม่ได้ดี

นึกออกไหม คุณต้องคิดอยู่เสมอว่าเขาจะโกรธหรือเปล่า ถ้าเดินอยู่บนเส้นนั้นได้ แม้จะเสียว แต่มันก็สนุก คือถ้าน้อยไปก็อาจไม่คมพอ มากไปก็อาจเลยเถิด คุณมีเพื่อนที่ตลกมากๆ ป่ะ วันหนึ่งมันตลกเกินไป คุณก็บอก เฮ้ย อันนี้กูไม่โอเค ถึงที่สุดแล้วมันก็เกี่ยวข้องกับ consent เราอ่านออกไหมว่า คนดูจะรับได้มากแค่ไหน ซึ่งเราต้องรู้จัก audience มากพอจะรู้ว่า เรื่องเล่าของเราจะไปได้ถึงระดับไหน

บทบาทของผู้หญิงในวงการนี้ นอกจากเป็นวัตถุดิบให้ผู้ชายหยิบมาล้อ สามารถเป็นอย่างอื่นได้อีกไหม

ร้าน A Katanyu ก็มีคอมเมเดียนผู้หญิงที่เล่นมุกล้อผู้ชายนะ เขาเล่าเรื่องที่แตกต่างออกไป ไม่ใช่เรื่องเพศก็มี เป็นมุกในชีวิตประจำวัน เช่น ผู้หญิงชอบมาสายเพราะแต่งหน้านาน กว่าจะถึงที่หมาย แต่บอกว่าถึงแล้ว หรือมุกผู้หญิงตอแหลที่มาด่าผู้หญิงตอแหลด้วยกัน มันมีความหลากหลายและไม่ได้แย่ขนาดนั้น แต่เพราะคลับของเราเล็กๆ มันก็จะมีผู้หญิงมาดูน้อย จึงดูมีความแมนหรือเป็นผู้ชายมากกว่า

ผู้หญิงหลายคนเป็นแฟนคลับที่มาดูเป็นประจำ แต่ขณะเดียวกันก็มีหลายคนที่อยากเป็นคอมเมเดียนหญิง ที่นี่ วันดีคืนดีก็จะมีตัวประหลาดที่โผล่มาเล่น ไม่รู้ว่ามึงเก่งมาจากไหน มีคนหนึ่งเป็นอาจารย์สอนละครเวที ลองเล่นครั้งแรกแล้วเก่งเลย จนพวกคอมเมเดียนงงกันหมด ผมว่าบ้านเรามีคนเก่งๆ เยอะมาก แค่ยังไม่มีเวที ยังไม่กล้าลอง ผมจึงทำคลับนี้ขึ้นมา แล้วชวนคนที่เป็นตัวโจ๊กในแก๊งมาลองเล่นตลก หลายคนคิดว่าจะต้องทดสอบหรือออดิชันก่อน แต่ไม่ใช่ เรามีเวลาให้คุณได้ open mic คุณเดินเข้ามาเลย จะเอาก็ลองดิ ให้ 5 นาที ไม่ดีก็ลง ง่ายๆ แบบนี้เลยครับ

คุณยูเป็นคอมเมเดียนผู้ชาย ปฏิเสธได้หรือว่า มุกที่เล่นบางอย่างก็มาจาก bias ของความเป็นชาย

ก็คงเลี่ยงไม่ได้ เพราะผมเป็นผู้ชาย มันอยู่ในเนื้อตัวเรา เมื่อเล่นมุกมันก็ผ่านมุมมองและการตีความของตัวเราอยู่แล้ว จะให้มองจากมุมของเพศสภาพอื่นก็ยาก

ในโลกที่กระแส Woke กำลังแรงแบบนี้ ไม่มีปัญหาเหรอ

ผมไม่สนใจว่า มุกนี้กูจะโดน woke ไหมวะ ตอนเล่นมุกผมสนใจแค่ว่า มันตลกหรือเปล่า ผมสนใจแค่ logic (ตรรกะ) ที่คิดมามันสมเหตุสมผลไหม ไม่ได้สนใจเพศสภาพของตัวเองเลย

แล้ววงการ stand-up comedy ในไทยมีความเป็นกลางทางเพศ (gender-neutral) มากแค่ไหน มันเฟรนด์ลีต่อเพศอื่นไหม

ในปัจจุบัน ผมคิดว่ายังมีความเป็นผู้ชายสูงอยู่ ถ้าสังเกตก็จะเห็นว่ายืนเดี่ยวเต็มไปด้วยผู้ชาย มีความชายเป็นใหญ่ และมีความทะลึ่งตึงตัง มันพูดยากเหมือนกัน ผมเองไม่ใช่คนที่จะทำหน้าที่สลายความไม่เท่าเทียมตรงนี้ ลำพังแค่เล่นมุกให้ตลกก็ยากลำบากอยู่แล้ว อย่างที่บอกว่าเราโฟกัสและให้ความสำคัญกับความตลก ความสนุก และความบันเทิงก่อน แต่ไม่ได้หมายความว่า ผมไม่ concern (กังวล) เรื่องกระแส woke เลย เราก็พยายามลดระดับลง อะไรที่คนสมัยนี้รับไม่ได้เลย ก็จะพยายามตัด

ที่คลับของเรามีคอมเมเดียนที่บอกว่าตัวเองมีเพศสภาพเลื่อนไหลเหมือนกัน บางวันเป็นชาย บางวันเป็นหญิง เราก็เปิดรับ เขาเล่นเก่งและสนุก แต่ต้องยอมรับว่า มันยังไม่ใช่ประเด็นที่คอมเมเดียนพูดคุยกันตอนนี้ กระแสเหล่านี้ค่อนข้างมีความวิชาการสูง ในขณะที่วงการของเราเพิ่งอยู่ในช่วงเดินเตาะแตะ

การพยายามสร้างคอมเมเดียนรุ่นใหม่ขึ้นมาในพื้นที่ที่มีความเป็นชายสูง จะสามารถมีคอมเมเดียนเพศสภาพอื่นๆ ขึ้นมาได้จริงหรือ

ได้สิครับ ความเป็นชายที่เราพูดถึงเป็นแค่จำนวนเท่านั้น แค่เพราะเรามีคอมเมเดียนชายมากกว่า แต่ผมไม่คิดว่า mindset ของเราจะติดกับดักชายเป็นใหญ่ขนาดนั้น ถ้ามีคอมเมเดียนหญิงมา เราก็เปิดรับครับ เราอยากให้ผู้หญิงเล่นตลกและขึ้นแสดงที่ร้าน โห ผมอยากให้ผู้หญิงเต็มร้านอยู่แล้วครับ ซึ่งความคิดแบบนี้แม่งผู้ชายเป็นใหญ่ฉิบหาย (หัวเราะ)

แต่จริงๆ แล้วผมเปิดกว้างครับ อยากเห็นคอมเมเดียนผู้หญิงมีชื่อเสียงแบบ อาลี หว่อง (Ali Wong) ซึ่งมันก็ไม่ง่าย เอาแค่ให้คอมเมเดียนชายดัง มันยังไม่มีเลย เรายังต้องทำงานหนักเพื่อพิสูจน์ต่อไป 

เวลาคอมเมเดียนชายเล่นมุกเรื่องเพศแรงๆ ตรงไปตรงมา คนดูที่เป็นผู้หญิงเขามีท่าทียังไง

บางคนขำ บางคนก็ไม่ขำ แต่ผมคิดว่า จำนวนผู้หญิงที่มาดูยังไม่เยอะพอที่เราจะบอกได้ว่า ฝ่ายไหนมากกว่ากัน ภายในหมู่คอมเมเดียนก็มีการคุยกัน บางคนเล่นหยาบคายแล้วน่ารัก บางคนเล่นแล้วหยาบโลน เราก็ต้องปรับสมดุลกันว่า เบาตรงนี้หน่อยไหม เพราะเราแคร์คนดูมากเหมือนกัน อยากให้เขาเอ็นจอย แต่ก็ยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนมากพอจะยืนยันว่า ผู้หญิงเขารังเกียจมุกแบบนี้หมด อย่างมากก็คือเขาไม่มาดูการแสดงที่ร้านอีก แต่ส่วนใหญ่เขาก็ยังมานะ

การบอกให้คอมเมเดียนปรับลดมุกต่างๆ ที่เราคิดว่าไม่เหมาะสม ยากไหม

ไม่ยาก พูดกับทุกคนได้เลย กูว่ามึงเล่นเกินไปนะไอ้เหี้ย (หัวเราะ) ผมตรงไปตรงมา ส่วนมากที่นี่แชร์กันได้หมด เพราะต่างก็เป็นคนที่ยังไม่รู้หรอกว่าอะไรถูกต้อง อะไรดี อะไรเหมาะสมจริงๆ ถ้าใครเล่นเลยเถิดเกินไป เราแค่จำกัดไม่ให้คอนเทนต์มันเผยแพร่สู่โลกออนไลน์ วันนี้เรายังอยู่ในจุดที่กำลังค้นหาร่วมกัน

ทำไมคนอย่างอังเคิล โรเจอร์ (Uncle Roger) ที่เป็นคนเอเชีย หรือเดฟ ชาพเพลล์ (Dave Chappelle) ที่เป็นคนดำ เอาอัตลักษณ์และวัฒนธรรมของตนมาล้อเลียน แต่กลับเป็นการเหยียดที่เราดูแล้วขำไปกันมันได้

เพราะมันเป็นเรื่องจริง และถ้ามันจริงมากๆ ก็ยากจะปฏิเสธได้ ยิ่งจริงเท่าไร ยิ่งตลก ต่อให้มุกมันจะเหยียดแค่ไหน เราก็ต้องยอมรับ ผมเชื่อว่า ถ้า logic ถูกต้องและเนื้อหาจริงมากพอ มุกแบบนี้มันก็ทำให้คนขำได้ แต่แน่นอนว่า สิ่งที่เขาเอามาเล่นมันเป็นแค่เฉดหนึ่ง ไม่ใช่อัตลักษณ์ทั้งหมดของคนเหล่านั้น

เพราะเขาล้อเลียนอัตลักษณ์ของตัวเอง เราจึงรับได้หรือเปล่า

อยู่ที่ดีไซน์มากกว่า ถ้าคุณออกแบบงานให้สวยงามและมีศิลปะมากพอ ต่อให้เป็นกระเจี๊ยว มันก็สวย

งั้นเราสามารถเล่นมุกที่ล้อเลียนอัตลักษณ์ที่ไม่ใช่ของตัวเองก็ได้เหรอ

ประเด็นไม่ได้อยู่ที่ว่าเล่นได้หรือเปล่า เล่นได้ แต่คุณเล่นได้ดีพอหรือเปล่าล่ะ ถ้ายังไม่ดีพอ คุณก็กลายเป็นปิศาจ แต่ถ้าเล่นเก่ง คุณก็เป็นพระเจ้า แต่ส่วนมากแล้วเราเป็นมนุษย์ธรรมดาว่ะ เล่นออกมาครึ่งๆ กลางๆ กันหมด ไม่แหลมคมพอ แต่ก็ไม่เหี้ยขนาดนั้น

มีคนเคยพูดว่า การเล่นตลกเป็นความรุนแรงประเภทหนึ่ง เพราะจะมีคนเป็นเหยื่อเสมอ คิดเห็นอย่างไร

เชื่อครับ มีเหยื่อเสมอ ไม่ใครสักคนหรืออะไรสักอย่าง ก็จะเป็นตัวเราเอง

แต่ถึงขั้นเรียกว่าเป็นความรุนแรงได้เลยเหรอ

มันเป็นความรุนแรงที่เรารับได้ แต่ถ้าแรงเกิน มันจะไม่ตลกแล้ว การเล่นตลกแม้จะแรง แต่ถ้าคุณยังพอรับไหว ไม่ได้รู้สึกว่าจะตายห่าตายโหงอะไร ไม่เจ็บปวดจนเกินไป มันก็ยังตลก 

สมมุติว่าเพื่อนของเราลื่นล้ม ถ้าไม่แรงมาก เราอาจขำ แต่ถ้าหัวร้างข้างแตก เลือดอาบ มันขำไม่ออกแล้วนะ เราต้องพามันไปหาหมอ แต่หลังจากรู้สึกว่ามันปลอดภัยแล้ว เราอาจแซวซ้ำก็ได้ โอ้โห โง่ฉิบหายเลย

คอมเมเดียนหลายคนตระหนักดีว่า การเล่นตลกหรือแซวใครสักคนเป็นความรุนแรง หากไม่แซวคนที่ต่ำกว่า หรือแซวตรรกะบางที่ไม่สมเหตุสมผล คุณก็จะแซวผู้มีอำนาจ แต่ต้องเข้าใจก่อนว่า วัตถุประสงค์หลักของการล้อเลียนใดๆ คือการสร้างเสียงหัวเราะ เพียงแต่เมื่อเป็นการล้อเลียนคนข้างบน คอมเมเดียนบางคนอาจมี agenda บางอย่าง เพราะเขาอึดอัดกับอำนาจนั้น

ทำไมเรารับไม่ได้กับการล้อคนที่ต่ำกว่า แต่มักรับได้กับการล้อเลียนผู้นำ การล้อเลียนคนที่อยู่ในอำนาจหรือสถานะสูงกว่ามีความชอบธรรมงั้นเหรอ

รับได้ แต่ไม่ได้หมายความว่ามันเป็นเรื่องที่ชอบธรรม เราอาจกำลังทำเรื่องเหี้ยอยู่ก็ได้ แต่เป็นความเหี้ยที่ทุกคนรับได้ เออ คนแบบพวกมึงต้องโดนเหี้ยใส่บ้าง ผมว่ามันก็เป็นการต่อสู้ในรูปแบบหนึ่ง 

มีบางคนเคยพูดว่า เขาไม่ชอบอดีตนายกฯ คนหนึ่งเพียงเพราะว่าคนคนนั้นไม่ตลก คำถามคือผู้นำประเทศต้องตลกด้วยเหรอ

ผมว่าไม่ต้องก็ได้มั้ง (หัวเราะ) 

แต่เขาบอกว่า ความตลกสื่อถึงความฉลาดทางอารมณ์ ผู้นำที่ฉลาดจึงมักตลกด้วย

คนตลกอาจมีความฉลาดทางอารมณ์ก็จริง แต่การทำให้คนอื่นขำได้ไม่เท่ากับความฉลาดทางอารมณ์เสมอไป แน่นอนว่า ความฉลาดทางอารมณ์เป็น requirement (สิ่งจำเป็น) อันดับแรกๆ ของการเป็นผู้นำ มันช่วยให้คุณบริหารจัดการได้ดี แต่ถ้าจะเอาความตลกมาจัดอันดับผู้นำประเทศ ผมว่าเราเรียงลำดับความสำคัญผิดไปหน่อย

การที่ใครสักคนเป็นคนตลก ไม่ต้องเป็นผู้นำก็ได้ มันก็โอเค เพราะช่วยสร้างรอยยิ้มและเสียงหัวเราะให้เราลืมความเจ็บปวดในวันที่แย่ที่สุดได้ แต่การเลือกผู้นำมันมี priority (ลำดับความสำคัญ) ที่เราต้องพิจารณา ซึ่งสิ่งสำคัญแรกๆ ไม่ใช่ความตลกไง คุณสมบัติของการเป็นผู้นำยังมีเรื่องเร่งด่วนอื่นๆ อีกมาก มึงไปจัดการแก้ปัญหาบ้านเมืองก่อน ไปทำให้ประเทศเจริญก่อน นั่นคือสิ่งที่เราคาดหวังจากผู้นำ ส่วนความตลกเป็นของแถม คนอย่างโดนัลด์ ทรัมป์ แม่งก็มีมุกเรื่อยๆ แม้จะตลกบ้าง ไม่ตลกบ้าง แต่ก็ไม่ได้ทำให้เขาเป็นผู้นำที่ดีใช่ไหมล่ะ

ในฐานะที่คุณยูเล่นตลกอาชีพมานาน ประเด็นหรือหัวข้อของการเล่นมุกตลกคืออะไร เปลี่ยนแปลงไปแค่ไหน

ประเด็นของผมจะเปลี่ยนตามความสนใจในแต่ละช่วง ในช่วงที่ผมเริ่มเล่นตลกใหม่ๆ จะตั้งคอนเซปต์จากประสบการณ์ส่วนตัว และความผิดพลาดในอดีตของตัวเองล้วนๆ ผมย้อนกลับไปดูว่า กูทำอะไรพลาดบ้าง มันก็มีแง่มุมที่นำมาเล่าแล้วสนุกดี ต่อมาผมเล่นเรื่องความรัก ซึ่งก็ยังคงคอนเซปต์ความผิดพลาดอีกนั่นแหละ เพราะอกหัก (หัวเราะ) แต่ตอนนี้ผมพยายามทำงานแบบใหม่ หยิบเรื่องราวของคนอื่นๆ ในสังคมมาเล่า และสร้างสรรค์เรื่องราวใหม่ๆ ที่พ้นจากประสบการณ์ส่วนตัว

ส่วนคอมเมเดียนทั่วๆ ไป โดยเฉพาะ stand-up comedy ก็จะพูดเรื่องชีวิตของตัวเองเพราะเป็นเรื่องที่เขารู้ดีที่สุด เรื่องประสบการณ์ส่วนตัวยังคงโดนเส้นคนทั่วไป ตั้งแต่ความรัก อกหัก ผิดหวัง เรื่องเซ็กส์ เรื่องเพศ เรื่องชักว่าว ใครก็เล่น คอมเมเดียนเล่นเรื่องพวกนี้กันมาตั้งนานแล้ว เพราะมนุษย์มันก็วนเวียนอยู่แค่นี้ 

แต่ช่วงนี้จะเห็นชัดว่า หลายๆ คนเริ่มพูดถึงการเมืองกันมากขึ้น ทุกคนแซวผู้มีอำนาจ ไต่เพดานกันเมามันเหลือเกิน บางคนพยายามที่จะชำระประวัติศาสตร์ เอาประวัติศาสตร์มาเล่าใหม่ให้ตลก นี่ผมพยายามร่างภาพคร่าวๆ นะ ที่จริงวงการตลกมันหลากหลายและมีดีเทลเยอะมาก

เท่าที่เข้าใจ กลุ่มเป้าหมาย (target audience) ของ A Katanyu คือชนชั้นกลางในเมืองเป็นหลักใช่ไหม

ผมว่ามันก็มีส่วน บางสิ่งบางอย่างมันเรียกร้องพื้นหลังในการเสพ ถ้าคุณรู้จัก stand-up comedy นั่นหมายความว่าอย่างน้อยคุณก็ต้องดูหนังฮอลลีวูด แล้วคุณก็ต้องรู้ว่า จิม แครีย์ (Jim Carrey) เคยเล่น stand-up comedy และรู้ว่าคริส ร็อก (Chris Rock) เป็นใคร ปฏิเสธไม่ได้ว่ากลุ่มเป้าหมายของเราต้องมีความพยายามบางอย่าง ซึ่งแน่นอนว่า กลุ่มชนชั้นกลางในเมืองที่เสพสื่อหลากหลาย ก็มีโอกาสมากกว่า 

แต่ผมว่าวงการสื่ออื่นๆ เช่น เรื่องสั้น ก็เป็นแบบนี้ คนอ่านเรื่องสั้นก็เป็นปัญญาชนที่พยายามหาวิธีคิดซับซ้อนเหมือนกัน กลุ่มเป้าหมายเราน่าจะชัดคือ กลุ่มคนชนชั้นกลางที่มี Netflix รู้จัก Amazon Prime ซึ่งก็ต้องเคยดู จิมมี โอ. ยัง (Jimmy O. Yang) หรือรู้จักอังเคิลโรเจอร์ (Uncle Roger) ผมว่าภาพมันชัด มันคือสังคมกึ่งๆ ปัญญานิดหนึ่ง

แต่การเจาะตลาดเฉพาะทาง (niche) มากแบบนี้ไม่ส่งผลต่อรายได้เหรอ

นี่ไง ร้านผมแม่งไม่มีคนเข้าเลย (หัวเราะ) คือมันส่งผลต่อรายได้อยู่แล้ว ผมรู้ตั้งแต่เริ่มต้นทำงานวันแรกแล้วว่า comedy club ในประเทศนี้ไม่สามารถอยู่รอดได้ด้วยตัวของมันเอง แต่เพราะความชอบล้วนๆ มันทำให้เราห้าวที่จะทำ

ผมอยากทำสิ่งนี้มา 5-6 ปีแล้ว ก่อนหน้านี้เช่าร้านทำไนท์ย่านสุขุมวิท ชวนเพื่อนมาเล่นแล้วขายตั๋ว แต่ก็ไม่รุ่ง แล้วไปทำร้านกาแฟ แต่เจอช่วงโควิด-19 มันก็ทำท่าจะเจ๊ง พอมาเจอทำเลนี้ ผมก็กระโจนเข้าสู่ธุรกิจที่มีโอกาสจะเจ๊งอีกครั้ง (หัวเราะ) 

แล้วอะไรทำให้กิจการยังอยู่ได้

พูดตรงๆ ผมพอมีตังค์ แต่ก็เป็นหนี้นะ ทุกอย่างต้องใช้เงินทั้งนั้น มันเป็นความห้าวล้วนๆ บวกลบคูณหารไม่มีทางได้กำไร แต่ทุกวันนี้ผมได้ใช้ชีวิตกับพวกคอมเมเดียนด้วยกัน นั่งดื่มเหล้าด้วยกัน ทั้งวงเต็มไปด้วยคนที่พยายามจะยิงมุกใส่กันและแลกเปลี่ยนมุมมองกัน มุกบางอย่างเราก็พัฒนาเอาไปใช้ในงาน

การเป็นทั้งคนตลกและทำอาชีพตลก มันส่งผลต่อชีวิตไหม เราแยกงานกับชีวิตได้เหรอ

ส่วนตัวของผมมันคาบเกี่ยวแน่ๆ ครับ มันตลกเรื่อยเปื่อยในทุกด้านเลย ตอนทำงานหรือตอนประชุม ผมก็ยังตลก แต่บางทีผมคิดว่า มันคือความพยายามในการเปิดความเป็นไปได้ใหม่ๆ ให้เกิดความคิดสร้างสรรค์นะ บางไอเดียมันฟังดูบ้า แต่ถ้ามันทำให้เราหัวเราะได้ แปลว่าอย่างน้อยเรายังเชื่อใน logic บางอย่างของมัน

ผมทำงาน agency การตลาดด้วย ผมก็ใช้ 2 อย่าง อย่างแรกคือความบ้าบอและความคิดสร้างสรรค์ อีกอย่างคือ ผมบริหารบรรยากาศให้ผ่อนคลายเพื่อขายงานแก่ลูกค้า เราอ่านว่า audience ต้องการแบบไหน เลือกคำพูดให้ถูก แล้วขายงานให้เขารู้สึกสนุก คล้อยตาม เชื่อ แล้วก็ซื้องานเรา อันนี้เป็นสิ่งที่คาบเกี่ยวกับชีวิตของผมโดยตรง

คนที่พื้นฐานไม่ใช่คนตลกจะสามารถขึ้นเวทีเป็นตลกอาชีพได้ไหม

ผมว่ายาก เลิกเหอะ นั่งดูดีกว่า (หัวเราะ) ผมไม่ได้ปิดกั้น เป็นไปได้ที่คุณจะทำการบ้านมาอย่างดี แล้วสามารถแสดงให้สนุกได้ แต่สุดท้ายเชื้อของความตลก มันไม่ใช่แค่สนุก แต่คุณต้องมีพลังงานอย่างมาก พลังงานที่อยากสร้างเสียงหัวเราะให้ผู้คนอยู่เสมอ คือผมรู้ว่าคนที่เงียบๆ หลายคนก็มีไอเดีย มีเรื่องเล่าที่จะอยากจะแชร์ แต่ถ้าคุณไม่ตลกเลย มันก็จะยืนระยะได้ยาก

ฉากหนึ่งในหนัง Joker (2019) เราจะเห็นตัวเอกนั่งดู stand-up comedy แล้วจดบันทึกไปด้วย เพื่อวิเคราะห์รูปแบบการเล่นตลกให้คนหัวเราะ คนที่ทำแบบนี้ในชีวิตจริงจะสามารถเป็นคอมเมเดียนที่เก่งกาจได้ไหม

สุดท้ายเขาก็ยิงพิธีกรตายนะ (หัวเราะ) 

บ้านเรายังไม่มีคนที่ศึกษาความเป็นตลกอย่างเป็นระบบมากพอจะสร้างศาสตร์แห่งตลกขึ้นได้ เรายังไม่รู้กลไกว่าตลกในบ้านเราทำงานยังไงได้บ้าง แบบไหนเวิร์ก การจะเป็นศาสตร์ได้ เราต้องถอดบทเรียนให้มากพอ มีวัตถุดิบให้ศึกษามากพอ ต้องมีการวิจัยเรียบเรียง แต่ตอนนี้เราจะเห็นว่ามันยังกระจัดกระจายอยู่ มันจึงไม่ง่ายที่จะบอกว่า เฮ้ย มึงต้องทำแบบนั้นแบบนี้ เล่น หนึ่ง สอง สาม แล้วคนจะตลก เพราะตลกไม่ใช่เรื่องที่คุณเดาได้ขนาดนั้น การจะรู้จังหวะที่ใช่มันต้องใช้ศิลป์มากกว่าศาสตร์

แน่นอนว่า คนเราสามารถเรียนรู้และพัฒนาได้ แต่การเรียนรู้กับการแสดง (perform) เป็นคนละเรื่องกันเลย คุณอาจโคตรรู้เลย แต่แสดงไม่ได้ บางคนเขียนหนังสือเก่งฉิบหาย แต่วิเคราะห์และวิจารณ์ไม่เป็น ส่วนบางคนวิจารณ์หนังสือดีมาก แต่ถ้าให้เขียนเองเขาก็ไปไม่เป็นเหมือนกัน

สังคมในอุดมคติของคอมเมเดียนเป็นแบบไหน

ทุกคนเปิดรับเสรีภาพในการพูดและการแสดงออก ซึ่งเป็นเรื่องที่ใหญ่กว่าแค่การเล่นตลกยืนเดี่ยว ผมอยากอยู่ในสังคมที่ใจกว้าง รับฟังคนอื่น และมีความฉลาดทางอารมณ์ (หัวเราะ) 

ในเมื่อการเล่นตลกเกี่ยวพันกับเสรีภาพในการพูดระดับหนึ่ง แล้วนักแสดงตลกมืออาชีพมีความคิดอยากจะเรียกร้องเรื่องกฎหมายด้านนี้บ้างไหม

โห ต้องบอกว่า ผมเป็นพวกที่ตลกไปวันๆ แต่ขี้กลัวหัวหด เราแซวแล้วก็ไป ผมจึงชื่นชมคนทุกกลุ่มที่เสียสละและเรียกร้องเพื่อสิ่งนี้ แต่พวกผมไม่กล้าถึงขนาดนั้น ผมขอเป็นตัวตลกที่แซวไปเรื่อยๆ เท่าที่จะแซวได้ เมื่อไหร่ที่ช่องเปิด เราก็จะไต่เส้นขึ้นไปเรื่อยๆ

ในภาพยนตร์หรือซีรีส์ ตัวตลกมักจะเป็นตัวที่รอดชีวิต พูดกันตามตรง ผมก็อยากมีชีวิตรอด ผมพูดเสมอว่า ผมไม่ใช่ activist ไม่ใช่นักเรียกร้อง แม้ที่นี่จะมีพรรคการเมืองและนักการเมืองเข้ามาดึงคอมเมเดียนไปทำงานเรื่อยๆ แต่ผมมักจะออกตัวว่า เส้นของผมอยู่ตรงไหน เพราะเรามีภาระและความรับผิดชอบอยู่ ถ้าเป็นสมัยหนุ่มๆ ผมคงจะเอาด้วยกับเขาแล้ว

หลายครั้งผมก็คิดว่า อยากเรียกร้องให้เพดานมันเปิด เราจะได้เล่นกันง่ายๆ ไม่ต้องอ้อมไปอ้อมมา แต่ผมว่าพื้นที่ที่ผมทำงานอยู่ตอนนี้ก็เรียกร้องการไต่เส้นหรือเสรีภาพในการพูดโดยตัวมันเองอยู่แล้ว มันคือการเล่าให้คนฟัง สร้างความรับรู้ให้เขา aware (ตระหนัก) ในเรื่องเหล่านี้ ยิ่งคนรุ่นใหม่อยากพูดในประเด็นนี้มากขึ้น ผมว่ามันคงมีหัวขบวนหรือหัวหมู่ทะลวงฟันขึ้นมาแหละ

แม้ดูเหมือนว่าจะพูดอะไรก็ได้อยู่แล้ว แต่ระดับเพดานของการพูดในสังคมที่สูงขึ้น ส่งผลต่อพื้นที่ปิดแบบ comedy club บ้างไหม

ก็ปากหมากันมากขึ้น มันเป็นพื้นที่ปิดก็จริง แต่ผู้คนไม่ได้ไว้เนื้อเชื่อใจถึงขั้นจะพูดอะไรได้เยอะขนาดนี้ ในอดีตเราต้องเล็งกันสักพัก กว่าจะกล้าพูดเรื่องนี้ แต่ทุกวันนี้ ว้าว พวกมึงก็ไม่เบาเลยนะไอ้เหี้ย (หัวเราะ) แต่ผมเองก็ต้องระมัดระวัง ไม่อยากให้คอมเมเดียนทั้งหลายต้องเดือดร้อนทีหลัง แค่บางคำพูดแม่งก็โดนหนักแล้ว ถ้าซวยไปเจอฟ้องขึ้นมาก็น่าสงสาร

อยากให้อนาคตของ A Kantayu Comedy Club เป็นแบบไหน

ภาพฝันระยะไกลคือ ผมอยากให้มันเป็นกิจกรรมที่คนสามารถดูบ่อยๆ ในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ เหมือนการดูหนังหรือดูละครเวที อยากให้มีคนซื้อตั๋วมาดูอย่างคึกคักและครึกครื้น มีตลกหน้าใหม่ขึ้นพูดในหลากหลายเรื่องราว นี่คือภาพฝันโรแมนติกที่ผมอยากให้เป็น 

แต่สิ่งที่เป็นจริงในทุกวันนี้ ขอแค่ได้เล่นตลกอย่างมีความสุข และเจอพรรคพวกทุกวันก็เต็มที่แล้ว ปีที่แล้วผมจัดโชว์พิเศษให้คอมเมเดียน 3 คน ดังไป 2 คน นักแสดงคนหนึ่งรับงานจากผมไป 20,000 กว่าบาท จากการแสดงไม่กี่รอบ วันถัดมาเขาโทรหาผมแบบภูมิใจว่า เขาได้ทำในสิ่งที่ไม่ได้ทำมานานแล้วคือ เติมน้ำมันเต็มถัง 

นี่คือความภูมิใจของผมเช่นกันที่ทำให้คอมเมเดียนเป็นอาชีพที่สร้างรายได้แก่คนอื่นได้ เงินจำนวนนี้แทบจะเท่าเงินเดือนของบางคนแล้ว แต่นี่เขาโชว์แค่ 3 วัน มันคือที่สุดของความฝันแล้ว คนทำงานก็ต้องได้รับค่าตอบแทนถูกไหม มึงสร้างเสียงหัวเราะ ได้ทำสิ่งที่รัก ได้ทำสิ่งที่ตัวเองฝึกฝนมาเป็นอย่างดีพอ แล้วมึงได้เงิน นี่คือสิ่งที่ผมอยากทำและจะทำต่อไป การดิ้นรนให้มันเป็นอาชีพคือเป้าหมายสูงสุดของผม

แต่นี่ก็ยังเป็นแค่ความพยายามอีกนั่นแหละ ทุกวันนี้ผมขอแค่มีคนมาดู มารู้จัก ก็เต็มกลืนแล้ว 6 ปีที่แล้ว ผมทำกิจการเล็กๆ ของผม ผ่านไป 6 ปี กูก็ยังเล็กอยู่เท่าเดิม (หัวเราะ) ไม่ได้เปลี่ยนไปสักเท่าไร แต่ก็มีผู้คนที่มีความฝันเดียวกันมาจอยมากขึ้น ผมภูมิใจที่ได้เปิดพื้นที่ให้คอมเมเดียนได้เป็นคอมเมเดียนแล้วเลี้ยงชีวิตตัวเองได้

ถ้าสมมุติว่า ภาครัฐสนใจจะสนับสนุนวงการ stand-up comedy ไทย เราต้องการให้เขาสนับสนุนอย่างไรบ้าง

อย่างแรกคงเป็นเงินมั้ง เงินก่อนเลย เพราะเราต้องการใช้ (หัวเราะ) อย่างที่สอง ผมคิดว่าบ้านเรายังขาดโรงละครไซส์กำลังดี สวยงามและน่าดู ผมเคยไปเดินเที่ยวที่ไทม์สแควร์ ในอเมริกา เดินเลยหอนาฬิกาไปหน่อยจะมีโรงละครที่สวยเหี้ยๆ ไซส์ประมาณ 300 ที่นั่ง ดู stand-up comedy ที่ไม่ดังมาก แต่บ้านเราไม่มีพื้นที่แบบนี้ ถ้าพื้นที่ใหญ่ๆ มันก็จะใหญ่มากไปเลย แต่พื้นที่เล็กๆ มันก็เล็กแบบอินดี้เกิน ผมอยากได้โรงละครสวยๆ โรแมนติกสักหลัง เด็กๆ อยากจะเล่นในพื้นที่เท่ๆ แบบนี้ พวกคอมเมเดียนที่มีความสามารถจะได้ทำโชว์พิเศษเจ๋งๆ ส่วนเงินทุนจากรัฐผมคงเอาไปใช้โปรโมต ทำคลิป ปล่อยคอนเทนต์ แต่พวกเราชอบด่ารัฐบาลเหมือนกันนะ ไม่แน่ใจว่าเขาจะให้ทุนหรือเปล่า (หัวเราะ)

Author

ณัฐภัทร มาเดช
นักเขียน นักแปล นักวิ่ง

Author

ปิยนันท์ จินา
หนุ่มใต้ที่ถูกกลืนกลายเป็นคนอีสาน โตมาพร้อมตัวละครมังงะญี่ปุ่น แต่เสียคนเพราะนักปรัชญาเยอรมันเคราเฟิ้มและนักประวัติศาสตร์ความคิดชาวฝรั่งเศสที่เสพ LSD มีหนังสือเป็นเพื่อนสนิท แต่พักหลังพยายามผูกมิตรกับมนุษย์จริงๆ ที่มีเลือด เนื้อ เหงื่อ และน้ำตา หล่อเลี้ยงชีวิตให้รอดด้วยน้ำสมุนไพรเพื่อคอยฟาดฟันกับอำนาจใดก็ตามที่กดขี่มนุษย์

Photographer

อนุชิต นิ่มตลุง
อาชีพเก่าคือคนขายโปสการ์ดภาพถ่ายขาวดำยุคฟิล์ม จับกล้องดิจิตอลรับเงินเดือนประจำครั้งแรกที่นิตยสาร a day weekly เมื่อปี 2547 ถ่ายงานหลากหลายรูปแบบทั้งงานสตูดิโอ ภาพข่าว สารคดี มีความสามารถพิเศษสั่งตัวแบบได้ตั้งแต่พริตตี้ คนงานทุบหินแถวหิมาลัย ไล่ไปจนถึงงานที่ถูกใครต่อใครหยิบยืมไปใช้สอยบ่อยๆ อย่างภาพถ่ายนักวิชาการที่ไม่น่าจะถ่ายรูปขึ้น นอกจากทำงานให้ WAY อย่างยาวนาน ยังเป็นเจ้าของกิจการเครื่องหนัง Dog's vision อันลือลั่น

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า