เหตุดรามาส่งท้ายปี 2566 เมื่อเหล่าชายแท้ต่างโดนขุดโดนคุ้ยวีรกรรมคุกคามทางเพศ (sexual harassment) กันอย่างต่อเนื่อง ที่พูดขบขันกันว่าปีนี้พระโคกินชายแท้ก็กลายเป็นวลีฮิตที่พูดกันตลอดทั้งปี
เมื่อเกิดเหตุการณ์การกระทำความผิด ไม่ว่าจะทั้งกรณี sexual harassment หรือกรณีใดๆ ก็ตาม สิ่งที่ตามมาคือความคาดหวังของสังคมว่าผู้กระทำผิดจะมีสำนึกหรือแสดงการรับผิดรับชอบ (accountability) และการขอโทษที่แสดงออกด้วยความจริงใจก็เป็นสิ่งที่อย่างน้อยควรจะได้เห็นจากผู้กระทำผิด ซึ่งในโลกสมัยใหม่นับว่าเป็นอีกหนึ่งวัฒนธรรมที่ควรค่าแก่การสร้างให้เป็นมาตรฐาน
ที่น่าสนใจคือ ในโลกสมัยใหม่ที่พยายามสร้างความตระหนักต่อการมีสำนึกรับผิดรับชอบ ทำให้เราได้มองเห็นวัฒนธรรมการขอโทษหลากหลายรูปแบบที่พยายามส่งต่อความจริงใจให้ถึงสาธารณชน
WAY ชวนสำรวจวัฒนธรรมการขอโทษและการสำนึกผิด เมื่อเกิดเหตุการณ์ทำความผิดกรณีต่างๆ และชวนขบคิดว่าแท้จริงแล้วการขอโทษอย่างจริงใจนั้นเป็นอย่างไร
เกาหลีใต้: เขียนจดหมายขอโทษด้วยลายมือ
เกาหลีใต้เป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีวัฒนธรรมการขอโทษที่เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย คือการเขียนจดหมายขอโทษด้วยลายมือ
ที่ผ่านมาเราจะเห็นข่าวกันบ่อยๆ เมื่อดารา นักร้อง ไอดอล หรือคนดังหลายแขนงในเกาหลี กระทำความผิดในลักษณะที่เคยบูลลี ไปจนถึง sexual harassment หรือกระทำความผิดในกรณีต่างๆ จะมีการเขียนจดหมายขอโทษด้วยลายมือและโพสต์ลงบนสื่อโซเชียล
เช่น คิม จองฮยอน (Kim Jung-hyun) นักแสดงชาวเกาหลีใต้เขียนจดหมายขอโทษด้วยลายมือสำหรับการกระทำที่ไม่เหมาะสมในงานแถลงข่าวเปิดตัวซีรีส์เรื่อง Time ซึ่งใจความในจดหมายได้ระบุถึงการกระทำและท่าทางที่ไม่เหมาะสมของตัวเอง ขอโทษผู้ที่ได้รับผลกระทบทั้งหมด รวมถึงได้กล่าวถึงวิธีแก้ไขปัญหา
นอกจากนี้การเขียนจดหมายขอโทษเป็นสิ่งที่เกาหลีเองมองว่ามีความสำคัญเป็นอย่างมาก ยกตัวอย่าง กรณีกลั่นแกล้งรังแกกันในโรงเรียนของเกาหลีใต้ จะแบ่งการลงโทษเป็น 9 ระดับ โดยในระดับแรกเป็นการลงโทษสถานเบาด้วยการเขียนคำขอโทษเป็นลายลักษณ์อักษร
ญี่ปุ่น: โค้งคำนับ 90 องศา
คำขอโทษในภาษาญี่ปุ่นมีอยู่หลากหลายคำสำหรับใช้ในโอกาสต่างๆ ซึ่งเป็นเครื่องสะท้อนการยอมรับ สำนึกผิด และจะรับผิดชอบต่อสิ่งนั้นๆ ทั้งนี้ นอกจากคำขอโทษที่มีหลายคำแล้ว ยังมีอีกหลายสิ่งที่สะท้อนว่าการขอโทษเป็นอีกหนึ่งวัฒนธรรมที่คนญี่ปุ่นให้ความสำคัญ ทั้งการโค้งคำนับ การแถลงขอโทษ การลาออกจากตำแหน่งหน้าที่การงาน
หากกล่าวถึงการโค้งคำนับ ไม่ผิดนักหากมองว่าเป็นการแสดงความเคารพที่เห็นกันมากในประเทศแถบเอเชียตะวันออก แต่ญี่ปุ่นเองเป็นหนึ่งในภาพจำที่ค่อนข้างจริงจังกับการขอโทษและการโค้งคำนับอย่างชัดเจน ถึงกับมีคำแนะนำออกมาว่า “เมื่อเกิดเรื่องอื้อฉาวจะต้องโค้งคำนับ 90 องศา เป็นเวลา 5 วินาที หรือมากกว่านั้น”
เช่น ในปี 2015 ประธานบริษัทโตชิบาในญี่ปุ่นออกมาขอโทษและโค้งคำนับต่อหน้าสาธารณชน กรณีตกแต่งตัวเลขผลกำไรจากโครงการที่ดำเนินการสร้างโครงสร้างพื้นฐานประเทศสูงเกินจริง ซึ่งหลังจากนั้นสมาชิกคณะกรรมการ 8 คน CEO รวมถึงตัวประธานเองก็ได้ตัดสินใจลาออกเพื่อรับผิดชอบ
เมื่อย้อนมองมาที่ประเทศไทยเอง จะเห็นว่าหลายปีที่ผ่านมาสังคมเริ่มสร้างความตระหนักรู้ในหลายเรื่อง หรือกระทั่งกรณี sexual harassment ในหลายเหตุการณ์ที่ผู้กระทำผิดออกมาขอโทษผ่านสื่อ ซึ่งเมื่อเทียบกับกรณีอื่นๆ ที่ผ่านมาจะเห็นว่า การขอโทษผ่านสื่อโซเชียลก็กลายมาเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ต้องกระทำหากบุคคลสาธารณะไปกระทำความผิดหรือข้องแวะกับประเด็นร้อน
หรือในอีกด้าน กรณีการฟ้องร้องหมิ่นประมาทในสมัยนี้ เมื่อมีการสิ้นสุดกระบวนการไต่สวนแล้วพบว่ามีการหมิ่นประมาทจริง บางกรณีก็มีการตกลงให้ใช้ช่องทางโซเชียลในการโพสต์เพื่อขอโทษผู้เสียหายอีกด้วย
องค์ประกอบของการขอโทษที่จริงใจ
มีข้อมูลจากหลายแหล่งพยายามอธิบายว่าการขอโทษที่ดีและจริงใจนั้นควรทำอย่างไร เช่น ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาบอกว่า การเอ่ยคำขอโทษก็พอมีสูตรอยู่บ้าง สูตรที่ว่านั้นเรียกว่า ‘CAR’ มีที่มาจาก C-Concern (แสดงความกังวล) A-Action (การลงมือทำ) และ R-Reassurance (การรับประกัน สร้างความอุ่นใจ) ซึ่งผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า หากเอ่ยคำขอโทษโดยให้ความสำคญกับองค์ประกอบเหล่านี้จะทำให้การขอโทษมีประสิทธิภาพมากขึ้น
อีกวิธีการหนึ่งที่ถูกหยิบยกมาใช้เพื่อแสดงความสำนึกผิดและแสดงถึงการรับผิดรับชอบของบุคคลสาธารณะ คือการขอโทษต่อสาธารณชน (public apology) บนความตระหนักรู้ที่ว่า แม้จะไม่สามารถลบล้างความผิดที่เคยกระทำทิ้งไปได้ แต่อย่างน้อยก็ควรแสดงออกถึงความสำนึกผิดอย่างจริงใจ โดยเป็นเหมือนการปฏิญาณตนต่อหน้าสาธารณะว่ายอมรับผิด เกิดการเรียนรู้จากการกระทำแล้วว่าเป็นเรื่องไม่ถูกต้องและยืนยันว่าจะไม่ทำผิดซ้ำด้วยความบริสุทธิ์ใจ
ทั้งนี้ แม้ว่าแต่ละสังคมจะมีวัฒนธรรมการขอโทษแตกต่างกันไป หรือมีแพทเทิร์นการขอโทษกี่แบบก็ตาม สิ่งสำคัญอยู่ที่การแสดงออกซึ่งสำนึกรับผิดชอบต่อการกระทำของตนเองอย่างจริงจังและจริงใจ
accountability อาจเป็นเพียงบรรทัดฐานขั้นต่ำที่สังคมควรยึดถือร่วมกัน หากถามว่าการขอโทษหรือการแสดงความสำนึกผิด ถือว่าเพียงพอแล้วหรือยังที่จะได้รับการให้อภัย คนที่อาจตอบคำถามนี้ได้คือผู้ถูกกระทำ
อ้างอิง:
- Accountability ตัวลบที่หายไปในสมการคอร์รัปชัน
- Sumimasen Behind Japan’s Apology Culture
- คิมจองฮยอน เขียนจดหมายขอโทษสำหรับการกระทำที่ไม่เหมาะสม ตอนแสดงผลงานซีรีส์ ‘Time’
- ดูคนเอ่ยคำขอโทษอย่างไร ว่าเขา “จริงใจ” หรือ “เสแสร้งแกล้งทำ” – BBC News ไทย