กิตติเดช ฉันทังกูล: ตามติดทุจริตกลโกง ง่ายๆ แค่ปลายนิ้วด้วย ACT Ai

ความไม่โปร่งใสเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้าง การอนุมัติโครงการต่างๆ ของภาครัฐ ปรากฏให้เห็นถึงความไม่ชอบมาพากลไปทั่วทุกหนแห่ง ประชาชนเริ่มตื่นรู้และสังเกตเห็นถึงความผิดปกติรอบตัว เช่น การจัดซื้อเสาไฟฟ้าประติมากรรมรูปทรงต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกินรี เครื่องบิน สัตว์ประจำถิ่นที่แลดูงดงาม แต่ไม่เกิดประโยชน์ต่อประชาชนโดยรวมอย่างแท้จริง บ้างนำไปปักในซอยคับแคบ ป่ารกร้าง ริมถนนลูกรัง ประกอบกับงบประมาณการจัดซื้อที่ไม่สมเหตุสมผลเอาเสียเลย

WAY ชวนทุกท่านมาทำความรู้จักกับ ‘ACT Ai’ เครื่องมือสู้โกง ที่ได้เปิดตัวไปเมื่อปี 2562 ท่ามกลางความสนใจของภาคีเครือข่ายและประชาชนที่ไม่สามารถทนได้กับการโกงกินทุจริต หากย้อนไปในอดีตจะเห็นว่าการเข้าถึงข้อมูลของภาครัฐนั้นเป็นเรื่องที่ยากลำบาก กินเวลานาน และขั้นตอนซับซ้อน เนื่องจากระบบไม่เอื้ออำนวย แต่ด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยี องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT จึงได้สร้างสรรค์เว็บไซต์ ACT Ai ที่จะเป็นเครื่องมือช่วยให้การเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้เป็นเรื่องง่ายดาย จนอาจเรียกได้ว่า ใช้เพียงแค่ปลายนิ้วเท่านั้น

และเพื่อเป็นการทำความรู้จักกับ ACT Ai ให้มากขึ้น WAY จึงได้ร่วมเวิร์คช็อปกับทีมงานจาก HAND Social Enterprise กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์เครื่องมือสู้โกง เพื่อเรียนรู้วิธีการใช้งานและทราบถึงจุดประสงค์ของการสร้างสรรค์เครื่องมือจับโกง พร้อมร่วมพูดคุยกับ กิตติเดช ฉันทังกูล ผู้อำนวยการ ACT ถึงประเด็นการทุจริตที่เกิดขึ้นในสังคมไทย รวมไปถึงการทำงานร่วมกับภาคีต่างๆ และประชาชนในการร่วมกันตรวจสอบ เป็นหูเป็นตา เพื่อหยุดวงจรทุจริต

ACT เกาะติดปัญหาทุจริตมานาน ตั้งเป้าหมายการทำงานไว้อย่างไร

ถ้าดูประวัติศาสตร์ประเทศไทยย้อนหลังกลับไปตั้งแต่ปี 2475 เป็นต้นมา กระบวนการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนที่ติดตามเรื่องการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันมักมีอยู่รูปแบบเดียวตลอดมา คือชี้นิ้วหาคนผิดและไปยื่นเรื่องตรวจสอบ ซึ่งเป็นวิธีการที่องค์กรเราไม่ได้ทำ คนอาจจะสงสัยว่าทำไม ACT ไม่ฟ้องไปเลย คุณฟ้องไม่มีวันหมดไม่มีวันจบหรอกครับ แล้วฟ้องไปก็ไม่รู้จะได้ผลหรือเปล่า แต่ที่แน่ๆ ก็คือมันมีความเสียหายเกิดขึ้นจากการคอร์รัปชัน คำถามก็คือคุณต่อต้านคอร์รัปชันโดยการไล่ฟ้องคนผิด เมื่อไหร่จะชนะ เมื่อไหร่จะได้ผล 

เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราทำก็คือ เราเอาประสบการณ์จากคนที่เคยทำงานกับภาครัฐในด้านต่างๆ เข้ามาคุยกันว่า ถึงเวลาแล้วที่ควรมีใครสักคนมาเป็นตัวแทนจากองค์กรภาคประชาชนเข้าไปคุยกับหน่วยงานรัฐ ว่ามีมาตรการป้องกันแก้ไขคอร์รัปชันที่ต้นทาง ไม่ใช่ต้องรอให้มีการทุจริต แล้วค่อยไปไล่จับ นี่คือ DNA ขององค์กรเรา

3 เรื่องที่อยู่ในยุทธศาสตร์หลักขององค์กรเรา คือ ‘3 ป’ เรียกว่า ‘ป้องกัน ปลูกฝัง เปิดโปง’ จะเห็นว่าไม่มีคำว่าปราบปราม อันนี้คือคีย์เวิร์ดที่ประชาชนมักจะสับสนกันระหว่าง ACT กับ ป.ป.ช. ลองมองเป็นภาพสามเหลี่ยมก็ได้ครับ เหลี่ยมบนคือองค์กรหน่วยงานภาครัฐ อย่างสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ตอนนี้มีตำรวจเข้ามาอีกหน่วยงานหนึ่งคือ กองบังคับการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (ปปป.) 

จะเห็นว่าหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับการปราบปรามคอร์รัปชันทับซ้อนกันไปหมด แต่ทุกหน่วยงานภาครัฐจะเริ่มทำการปราบปรามคอร์รัปชันก็ต่อเมื่อมีผู้กล่าวหา มีข้อเท็จจริงปรากฏในข่าว สื่อสังคมออนไลน์ เขาถึงจะเริ่มทำงานตรวจสอบ แต่ไม่มีใครตรวจสอบเชิงรุกหรือไปดูปัญหาตั้งแต่ต้นทางว่า ปัจจัยที่เป็นต้นเหตุที่แท้จริงของมันคืออะไร วิธีแก้ปัญหาเชิงระบบทำยังไง ตรงนี้องค์กรเราก็เลยเข้ามา ซึ่งงานเปิดโปงก็เหมือนเป็นการกระตุ้นให้ฝั่งปราบปรามทำหน้าที่ของตนเอง นอกจากนี้ เรายังติดตามคดีคอร์รัปชันใหญ่ๆ ที่จะทำให้สังคมเกิดกระแส turn around ว่าการแก้ไขคอร์รัปชันเป็นสิ่งที่ทำได้ 

ทัศนคติเกี่ยวกับการทุจริตคอร์รัปชันของคนไทยมีพัฒนาการอย่างไรบ้าง

ก่อนหน้าปี 2563 สังคมไทยอยู่ในสภาพจำยอมต่อการคอร์รัปชัน บ้างก็ว่าแก้ไม่ได้หรอก มันเป็น DNA ของคนไทยไปแล้ว บ้างก็ว่าเป็นค่านิยมวัฒนธรรมคนไทย เราก็อยู่กันแบบไทยๆ นี่แหละ เราจะได้ยินประโยคเหล่านี้อยู่ตลอดเวลา การ turn around ควรดูบทเรียนจากต่างประเทศ อย่างเกาหลีใต้ ฮ่องกง สิงคโปร์ก็ดี ปัจจัยหนึ่งที่สำคัญคือการจับปลาใหญ่ พวกตำแหน่งใหญ่ๆ เช่น อดีตประธานาธิบดี นายกฯ อดีตรัฐมนตรี พวกนี้ต้องเอาเข้าคุกให้หมด ถ้ามีกรณีทุจริตคอร์รัปชัน มีการเรียกสินบน หรือแม้กระทั่งการใช้เครือข่ายตัวเองไปแสวงหาผลประโยชน์ ญาติลูกเมียพี่น้องไปเป็นบอร์ดรัฐวิสาหกิจ ก็ต้องเอาเข้าคุกให้หมดโดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ 

ตรงนี้เป็นจุดสำคัญที่ทำให้หลายๆ ประเทศ รวมถึงประเทศที่อยู่ในภูมิภาคเดียวกันกับเราก้าวข้ามปัญหาการแก้ไขคอร์รัปชันได้ แม้กระทั่งเกาหลีใต้ที่พัฒนาหลังเรา จบสงครามเกาหลี ตอนนี้แซงเราไปไกลแล้ว เราโดนมาเลเซียและอินโดนีเซียแซงในเรื่องการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชัน เขาเอาจริงเอาจังมาก และมี movement ที่น่าสนใจในหลายๆ เรื่อง แต่พอย้อนกลับมาดูบ้านเรา การเอาผิดคนระดับใหญ่นั้นแทบจะหายากมาก ใกล้เคียงสุดก็คดีทุจริตยา อันนี้ก็เป็นรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งก็นานมากแล้ว และเข้าคุกเพราะผิดพลาดทางเทคนิค แต่พวกที่จงใจทุจริตจริงๆ ยังไม่โดน นี่ก็เป็นคำถามที่เราทำงานร่วมกับ ป.ป.ช. อย่าลืมว่าเราด่าฝั่งคนทำงานปราบปรามอย่างเดียวมันไม่เกิดประโยชน์ เราต้องเข้าไปช่วยเหลือเขา สนับสนุนเขาในสิ่งที่เขาขาด

ความถนัดของ ACT คงไม่ใช่ฝั่งปราบปราม แต่เราเน้นเรื่องการป้องกัน จะเห็นว่างานหลักๆ ที่ ACT ทำ ทั้ง ACT Ai ก็ดี COVID Ai ก็ดี เป็นส่วนหนึ่งของการป้องกันที่องค์กรเราขับเคลื่อน คาถาที่เราท่องไว้ก็คือ เปิดเผย โปร่งใส มีส่วนร่วมในการตรวจสอบ ทุกงานที่เกี่ยวข้องกับการตัดสินใจภาครัฐ การจ่ายเงินงบประมาณภาครัฐ ซึ่งจะช่วยลดโอกาสการทุจริตคอร์รัปชันได้สูงมากยิ่งขึ้น รวมไปถึงถ้ามีการทุจริตคอร์รัปชันก็จะตรวจเจอได้เร็วกว่าเดิม แทนที่แบบเดิมหากเกิดการทุจริต เขาก็เอาเงินหนีออกนอกประเทศเรียบร้อยแล้ว กินกันเสร็จเรียบร้อยแล้ว เหมือนคุณไปเก็บซากเขา มันไม่ทันการ 

กระบวนการของเราเน้นไปที่หัวเลย ตั้งแต่การอนุมัติงบประมาณ ตรงไหนที่เป็น area ที่มีโอกาสเกิดการทุจริตคอร์รัปชัน เราจะเข้าไปตรงนั้นก่อน การแก้ไขกฎหมายที่ให้ดุลพินิจมากเกินไป หรือเปิดช่องให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชันได้ง่าย มีต้นทุนการลงโทษ รวมถึงเข้าไปผลักดันการแก้ไขกฎหมาย อย่างรัฐธรรมนูญล่าสุด ถ้าดูในเพจองค์กรก็จะบอกเรื่องนี้ไว้ว่า ถ้า ส.ส. ส.ว. ไปยุ่งกับการเรียกหัวคิวงบประมาณ ต้องมีบทลงโทษ แต่กลับมีการเสนอแก้ให้มีการปรับบทลงโทษนี้ออก อันนี้ก็เป็นตัวอย่างที่เพิ่งเกิดสดๆ ร้อนๆ จากเดิมเราอุตส่าห์เสนอให้บรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญ 2560 แต่เขาพยายามจะแก้กลับเพื่อจะทำอะไรได้โดยสะดวก 

อีกเรื่องคือ การทำเครื่องมือมอนิเตอร์ข้อตกลงคุณธรรม หรือ Integrity Pact ที่ใช้ในการจัดซื้อจัดจ้างใหญ่ของภาครัฐปีหนึ่ง 6-7 ล้านโครงการ 6-7 สัญญาต่อปี มูลค่าตั้งแต่หลักแสน หลักล้าน ไปจนถึงหมื่นล้านพันล้าน คุณจะจับตรงไหน คุณจะป้องกันตรงไหนก่อนล่ะ อันนี้คือความท้าทายที่องค์กรเราก็ต้องเรียนรู้ เพราะไม่มีใครเคยทำตรงนี้มาก่อน ส่วนใหญ่ก็ดูพอคร่าวๆ ว่าเรื่องไหนควรดูก่อน เช่น โครงการที่เกินพันล้าน เราดูแล้วมีโอกาสที่จะเกิดการทุจริตสูงมาก เพราะถ้าทุจริตครั้งเดียวคุ้มเลย โกงทีเดียวได้เยอะมาก ส่วนโครงการเล็กๆ อย่างเสาไฟกินรี หลักสิบล้านต่อปี แต่มาทำหลายๆ ปีต่อกัน มันเลยเป็นร้อยล้าน โครงการเหล่านี้มันไม่สามารถเอาคนไปนั่งดูได้ ดูไม่ไหวหรอก ต้องใช้การเปิดเผยข้อมูลอย่างที่เพจต้องแฉ และ ACT Ai ทำสิ่งนี้ ถึงทำให้เกิดการตื่นรู้เรื่องนี้ขึ้นมาว่ามันมีสิ่งผิดปกติอยู่ในสังคม 

ตอนนี้กระบวนการยุติธรรมในการเอาผิดเริ่มมี momentum กลับมา จากเดิม สตง. ไปคุยกับหน่วยงานนั้นก็จบ แต่ประชาชนที่เป็นเจ้าของภาษีไม่ได้รับรู้ แต่วันนี้ข้อมูลมันรับรู้ถึงประชาชนที่เป็นเจ้าของภาษี มันมีความเปลี่ยนแปลงมหาศาล ตรงนี้เป็นจุดที่น่าสนใจ 

เจ้าหน้าที่ภาครัฐเองให้ความร่วมมือกับเรื่องนี้มากน้อยแค่ไหน

ปัญหาหลักก็คือ เราเคยคุยกับเจ้าหน้าที่รัฐ หลายคนก็ยังอยู่ในโลกทัศน์แบบเดิม คิดว่าข้อมูลเหล่านี้เป็นลิขสิทธิ์ของภาครัฐ หรือเป็นข้อมูลที่เราเปิดให้คุณก็ได้ แต่คุณต้องมาขอฉัน แล้วฉันจะเรียกคืนเมื่อไหร่ก็ได้ ซึ่งทัศนคติเหล่านี้มันฝังอยู่ในเจ้าหน้าที่รัฐที่ทำงานในเรื่องพวกนี้อยู่มาก หรือเจ้าหน้าที่รัฐที่เรียนจบใหม่ๆ ก็ยังมีความกังวลใจว่าจะเปิดข้อมูลดีไหม เปิดได้แค่ไหน ไม่กล้าเปิด กลัวโดนนายด่า ทั้งๆ ที่บางเรื่องไม่มีกฎหมายห้าม กฎหมายสั่งให้เขาเปิดด้วยซ้ำ แต่เขายังไม่กล้า เพราะค่านิยมหรือวัฒนธรรมองค์กรมันครอบเขาไว้อยู่ 

กว่าจะได้ผู้นำองค์กรที่เข้าใจ หรือปลัดที่เข้าใจเรื่องพวกนี้ ก็ต้องไปเล่าแล้วเล่าอีก เล่าหลายรอบ เจอปัญหาอย่างนี้ตลอดเวลาที่ทำงานกับภาครัฐ สุดท้ายแล้วข้อมูลเหล่านี้ก็เป็นของประชาชน เพียงแต่ว่าเราต้องเอามันออกมาใช้ประโยชน์ การใช้ประโยชน์จากข้อมูลพวกนี้ เราต้องเอาเทคโนโลยีเข้ามาช่วย เพราะเทคโนโลยียุคนี้มันไปถึง แล้วต้นทุนก็ถูกลงมหาศาลนะครับ เราจึงสามารถพัฒนามาเป็นระบบ ACT Ai ก็ดี COVID Ai ก็ดี เรานึกถึงคนใช้งานที่เป็นประชาชน เขาจะเข้าถึงข้อมูลนี้ได้ยังไง จะดูข้อมูล ตรวจสอบสิ่งที่มันมีผลกระทบต่อชีวิตประจำวันของเขาได้ยังไง 

งานป้องกันเหล่านี้ยังสามารถโยงไปถึงงานเปิดโปงได้ เพราะป้องกันแล้วไปเจอมูลเหตุ ข้อเท็จจริงที่มันบ่งชี้ได้ เราก็จะเอาตรงนี้ส่งต่อให้ทีมเปิดโปงจัดการต่อ แจ้งให้สื่อสังคมทราบ ลงเพจ หรือทำแถลงการณ์ไปถึงคนที่มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงตามกฎหมายให้ไปจัดการ เราจะออกรายงานผลสังเกตการณ์ให้หัวหน้าหน่วยที่กำกับดูแลทราบ แล้วส่งขึ้นไปยังกระทรวงการคลัง ที่มีคณะกรรมการความร่วมมือป้องกันการทุจริตการจัดซื้อจัดจ้าง (ค.ป.ท.) เป็นคนกำกับดูแลโครงการขนาดใหญ่นี้อีกทีหนึ่ง ถ้า ค.ป.ท. เห็นว่ามีมูล ก็จะส่งเรื่องให้ ป.ป.ช. ไต่สวนตามกระบวนการต่อไป 

ปัญหาการเรียกสินบน การจ่ายเงินใต้โต๊ะ มีช่องโหว่อะไรบ้างที่ต้องแก้ไข 

งานป้องกันในการเรียกเงินสินบนจากการออกใบอนุญาตภาครัฐ อันนี้เป็นปัญหาเหมือนกัน เพราะมูลค่าความเสียหายอาจไม่ได้เยอะมาก แต่ว่ามันเกิดขึ้นถี่ แล้วแต่ประเภทใบอนุญาต ประชาชนก็จะโดนกันเยอะ และเป็นสิ่งที่ประชาชนส่วนใหญ่จำยอม เพราะว่าอยากได้ความรวดเร็ว หรือบริษัทใหญ่ๆ ลงทุนก่อสร้างโรงงาน ตึกอาคาร เพื่อใช้ในเชิงพาณิชย์ ต้องกู้เงินมาสร้าง ปรากฏว่ายังไม่ได้ใบอนุญาตก่อสร้างหรือใบอนุญาตเปิดสร้างอาคาร เงินที่เขากู้มาก็มีดอกเบี้ยเกิดขึ้น เมื่อดอกเบี้ยมันสูง เขาก็ยินดีจ่ายใต้โต๊ะเพื่อให้เรื่องมันจบ 

นี่จึงเป็นที่มาให้ ACT พยายามผลักดันให้มี พ.ร.บ.อำนวยความสะดวกในการติดต่อราชการ เป็นกฎหมายสั้นๆ 27 มาตรา แต่ในทางปฏิบัติต้องยอมรับว่ามันยังไม่ได้ผลอย่างที่หวัง ปรากฏว่าคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ไม่มีอำนาจหน้าที่ไปบังคับหน่วยราชการที่ให้บริการประชาชน ลงโทษเอาผิดอะไรไม่ได้เลย เป็นแค่เสนอแนะให้ ครม. สั่งการตามลำดับขั้น ซึ่งมันเละเทะสุดๆ เลยเป็นจุดที่อยากจะแก้ ไปคุยกับหลายๆ องค์กร 

การแก้ปัญหาสินบนในกระบวนการออกใบอนุญาตต่างๆ หรืองานบริการประชาชน ต้องกลับไปแก้ที่ต้นทาง สิ่งแรกที่ควรทำคือ ‘Regulatory Guillotine’ ก็คือตัดหรือเลิกกฎหมายที่เป็นอุปสรรค ส่วนใหญ่ที่มีปัญหาคือในชั้นระเบียบ ประกาศ ที่มันมีเงื่อนไขรายละเอียดที่ผลักภาระให้ประชาชนหรือผู้ยื่นขอใบอนุญาต และให้ดุลพินิจเจ้าหน้าที่ในการดำเนินการ เจ้าหน้าที่สามารถตัดสินใจอะไรเองได้หมดเลย มันจึงเป็นจุดที่สินบนเกิดขึ้นง่ายมาก เจ้าหน้าที่รัฐในสังกัดหน่วยงานตนเองสามารถเรียกหาผลประโยชน์ได้ อย่างสรรพสามิต ถ้าลองเข้าไปดูระเบียบต่างๆ จะเปิดช่องให้เจ้าหน้าที่ทำได้ ซึ่งเจ้าหน้าที่หลายคนบอกว่าเขาไม่ผิด เพราะเขาทำตามระเบียบ ลองไปดูโครงสร้างใต้ผิวน้ำมันจะเจอทุกหน่วยงาน จะมีอำนาจล่อซื้อล่อจับ มีหมด มีสินบน มีรางวัลนำจับของศุลกากร เจ้าหน้าที่ที่ดินก็มีอำนาจในการชี้ผิดชี้ถูก ดุลพินิจในการเซ็น หรือไม่เซ็นของเขามีราคา พอมีราคาก็เหมือนกับภาษาชาวบ้านที่เรียกว่า หม้อข้าว ไม่มีใครอยากทุบหม้อข้าวตัวเอง

ระบบเหล่านี้ทำให้เจ้าหน้าที่มีเงินมากกว่าเงินเดือนตัวเอง หลายคนมีตังค์ออกรถเบนซ์ ส่งลูกไปเรียนเมืองนอก ก็เพราะกฎหมายที่เขาถือในตำแหน่งสามารถเอาไปหาผลประโยชน์ได้ การทำ ‘กิโยตินกฎหมาย’ ก็เหมือนเข้ามาประเมินว่ากฎระเบียบที่ออกมานั้นชอบตามกฎหมายหรือไม่ ถ้าแอบลักไก่โดยที่ พ.ร.บ. ไม่ได้มอบอำนาจไว้ ก็สามารถยกเลิกได้เลย ส่วนที่ 2 กฎระเบียบพวกนี้ที่ออกมาแล้ว ต้องคำนึงถึงต้นทุนของหน่วยงานภาครัฐว่าต้องจ้างพนักงานภาครัฐ พนักงานชั่วคราวอีกกี่ตำแหน่ง เพื่อให้บริการเกี่ยวกับสิ่งเหล่านี้ รวมถึงต้นทุนค่าใช้จ่ายที่จะมาซื้ออุปกรณ์ ซื้อคอมพิวเตอร์ รายปีคิดเป็นเงินเท่าไหร่ ส่วนที่ 3 คือดู cost benefit analysis ของประชาชน ว่าความถี่ในการขออนุญาตประเภทนี้ปีหนึ่งมีเท่าไหร่ ค่าธรรมเนียม ค่าเดินทาง ค่าใช้จ่ายอื่นๆ รวมถึงค่าสินบนใต้โต๊ะอีกเท่าไหร่ แล้วคูณกับเวลาที่ต้องรอ เพราะฉะนั้นก็จะออกมาเป็นมาตรฐานราคากลาง standard cost model ของการออกใบอนุญาตทุกชนิด ทุกกฎหมายเอามาเทียบกันได้ ก็จะเห็นภาพว่าถ้ากฎระเบียบตัวไหนทำให้ใบอนุญาตเป็นภาระสูงก็ให้ยกเลิก 

ในแง่การป้องกัน มีอะไรเป็นตัวประเมินว่าเราป้องกันการทุจริตได้มากขึ้น

ถ้าวัดจำนวนเคสอาจจะค่อนข้างยาก เพราะว่าการป้องกันต้องไปดูที่ต้นทางว่ามีแนวโน้มดีขึ้นอย่างไร ถ้าเราทักท้วงแล้วเขานำไปปรับเปลี่ยนแก้ไข มันก็ไม่เกิดการทุจริต ถ้าเขาไม่เปลี่ยนไม่แก้ แต่อาจจะไม่มีการทุจริต การวัดผลจึงค่อนข้างลำบาก สิ่งที่เราวัดคือ การที่เราไปสร้าง engage เพื่อให้เกิด impact ต่อหน่วยงานภาครัฐเป็นหลัก อย่างโครงการที่เข้าหลักการของข้อตกลงคุณธรรม (IP: Integrity Pact) ซึ่งเป็นข้อตกลงร่วมกันระหว่างหน่วยงานของรัฐเจ้าของโครงการและผู้ประกอบการที่จะเข้ายื่นข้อเสนอ ว่าจะไม่กระทำการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้าง โดยปีหนึ่งได้มาประมาณ 20 โปรเจ็คต์ใหญ่ๆ รวมตอนนี้มีประมาณ 120 กว่าโครงการ เริ่มทำตั้งแต่ปี 2558 ตั้งแต่ 2 โครงการ จนถึงปีละ 25-30 โครงการ เติบโตมาได้เรื่อยๆ ตามการเพิ่มจำนวนโครงการในแต่ละปีของ IP ที่เราดูแล้วมีประสิทธิผล แล้วก็มี financial impact คือการปรับลดงบประมาณที่หน่วยงานจะต้องจ่าย ตัวเลขเฉลี่ยอยู่ราวๆ 26-30 เปอร์เซ็นต์ ขึ้นอยู่กับปริมาณจำนวนโครงการที่เข้ามาในเวลานั้น เทียบกับวงเงินสัญญาที่เซ็นไป ส่วนที่สองคือ non-financial impact คือการประเมินผลกระทบเชิงบวกที่เกิดขึ้นในการบริหารของหน่วยงานภาครัฐ ดูจากรายงานข้อสังเกตการณ์ที่มีปัญหากว่า 100 โครงการ มีปัญหาจริงๆ แค่ 10 โครงการเท่านั้นครับ 

แต่การไปทักท้วงในหลายๆ เรื่องก็ทำให้เจ้าของโครงการเขาไม่กล้าเดินหน้า เพราะเขารู้ว่ามันผิด แต่เขาไม่ยอมเปลี่ยน ก็เป็นข้อสังเกตส่วนตัวว่ามันก็มี behind the scene อยู่บ้าง ซึ่งเราเองก็ไม่รู้แน่ชัดว่ามีการคอร์รัปชันหรือไม่ เราไม่สามารถไปฟันธงตรงนั้น แต่เรารู้ว่ามันมีข้อพิรุธจากข้อมูลที่ออกมา เช่น การออกสัญญาที่ลดจำนวนผู้แข่งขันให้เหลือแค่ไม่กี่รายที่รู้หน้ารู้ตากัน หรือมีการแก้สัญญาภายหลัง เพิ่มวงเงินจากเดิมให้สูงขึ้น นี่คือสิ่งที่ผู้สังเกตการณ์ของเราเข้าไปเจอ ตรงนี้จะดูได้ว่ามีการทุจริตคอร์รัปชันที่ทำให้ภาครัฐเสียงบประมาณโดยไม่เกิดประโยชน์ ขอบเขตเราจะจบอยู่แค่นี้ ก็ถือเป็นการวัดผลในระดับที่น่าพอใจสำหรับผม 

ถ้าถามว่าการคอร์รัปชันลดลง 100 เปอร์เซ็นต์ไหม คำตอบคือยาก ไม่มีเครื่องมือไหนการันตีผลงาน 100 เปอร์เซ็นต์ สิ่งที่ IP ทำได้มากที่สุดคือ ลดโอกาสเสี่ยงคอร์รัปชันได้สูงมาก ดูจาก saving ที่เกิดขึ้นกว่า 100 สัญญาที่มีการลงนามไป 70 โดย saving อยู่ที่ประมาณกว่า 1.2 แสนล้าน ถ้าผมจำตัวเลขไม่ผิดนะครับ 

อีกปัญหาที่พบคือ ร่าง พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสาร ที่มีการให้อำนาจเจ้าหน้าที่ในการใช้ดุลพินิจสูงมาก พ.ร.บ.นี้จะเป็นอุปสรรคต่อการทำงานของ ACT มากน้อยแค่ไหน และจะจัดการอย่างไร

อันนี้คืองานป้องกันอีกส่วนหนึ่งที่เราทำ คือการป้องกันเชิงโครงสร้าง ไม่ให้มีการออกกฎหมายประหลาดๆ หรือไปแก้กฎหมายที่ดีอยู่แล้วให้แย่ลงกว่าเดิม แต่ก่อนที่เราจะประกาศออกมาแต่ละเรื่อง ต้องตรวจสอบข้อมูลให้ชัดเจนก่อนว่ามีผลเสียอะไร อย่างร่าง พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสาร ที่มีการเสนอเข้ามา 2 ร่าง ร่างที่เห็นเข้า ครม. มาจากอีกสายหนึ่ง อีกร่างหนึ่งมาจากฝั่งคณะกรรมการปฏิรูป ซึ่งมีการปรับรายละเอียดที่ชัดเจนกว่า ปรับกระบวนการเปิดข้อมูลได้ง่ายกว่า แต่ร่างนั้นกลับไม่ถูกนำเข้า ครม. อันนี้เราก็ได้ท้วงติงไป จน ครม. ยอมถอนออกจากการพิจารณาที่จะถึงนี้ ก็ไม่รู้อะไรไปดลใจเขา แต่ก็ยินดีที่เขารับฟังเรา ถือว่าเป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย 

ในร่าง พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสาร ฉบับที่เข้า ครม. ถ้าลองไปอ่านรายละเอียดทุกมาตราที่เขาเสนอจะเห็นว่าเลวร้ายมาก คือเน้นปกปิดเป็นหลัก เปิดเผยเป็นรอง มันเป็นวิธีคิดแบบโลกเก่าสุดๆ ผมเห็นแล้วก็ไม่สบายใจที่เห็นสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นในยุคนี้ บริบทมันเปลี่ยนหมดทุกอย่างแล้ว แต่คุณพยายามจะหวงแหนในสิ่งที่ไม่ควรหวง และ mindset ของคนร่าง ผมฟันธงได้เลยว่าต้องมี พลเอก นำหน้าชื่อแน่นอน เพราะวิธีคิดพวกนี้ไม่เข้ากับโลก ควรอยู่ในแคปซูลแล้วฝังดินซะ อันนี้เป็นความเห็นส่วนตัวผมนะ ซึ่งองค์กรเราเองก็รับไม่ได้ เพราะหลักการพวกนี้มันไม่ได้เรื่อง เราทำงานเรื่องนี้ เราเน้นเรื่อง Open Government Data Standard ซึ่งสากลโลกเขาก็ยอมรับและไปทางนั้นกันหมดแล้ว 

พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสาร เราต้องเน้นไปที่กลไกการทำงานในการเปิดเผยข้อมูล เพราะถ้ากฎหมายเขียนกว้างๆ มันก็จะไปตายตอนออกรายละเอียดประกาศ แล้วยังต้องมีการตั้งหน่วยงานหนึ่งขึ้นมาเป็นผู้รักษาอำนาจกฎหมาย แล้วถ้าหน่วยงานนั้นเป็นหน่วยงานกลาง คุณไม่มีอำนาจบังคับใช้คนอื่นนะ เพราะถือว่าศักดิ์เสมอกัน คุณไม่สามารถไปบังคับใช้กับเขาได้ คุณต้องผ่านข้างบนก่อน ซึ่งก็คือวงจร waterfall เละเทะสุดๆ แต่ถ้าคุณเป็นหน่วยงานที่ดึงข้อมูลไว้ทุกอย่าง อันนี้จะ powerful มาก แต่ว่ามันยังไม่เกิดขึ้น ตรงนี้ต้องไปออกแบบกฎหมายให้ดี 

ดัชนีทุจริต (Corruption Perceptions Index: CPI) ประจำปี 2563 จาก 180 ประเทศทั่วโลก ประเทศไทยร่วงอยู่ที่อันดับ 104 ของโลก ตัวเลขนี้กำลังบอกอะไรกับสังคม หากเทียบกับรัฐบาลชุดเก่าๆ มีกลวิธีการโกงแตกต่างกันไหม

ค่า CPI Index เขาวัดทั้งประเทศ ไม่ใช่วัดเฉพาะรัฐบาลใดรัฐบาลหนึ่ง หรือช่วงเวลาใดช่วงเวลาหนึ่ง เขาดูอัตราสะสมต่อเนื่อง ซึ่งการประเมินของ CPI Index เขาไม่ได้เก็บข้อมูลเอง แต่ไปเอาข้อมูล 7-8 แหล่ง แล้วเอามาประมวลแปลงค่าให้เป็นฐานกลาง เอามาสรุปเป็นคะแนน CPI Index แล้วค่อยมาจัดอันดับคะแนนประเทศไทย และหลังจากปี 2014-2015 เมื่อมีการประเมิน Varieties of Democracy (VDEM) คะแนนของประเทศไทยลดฮวบเลย เพราะ VDEM จะประเมินจากปัจจัยความเป็นประชาธิปไตย องค์ประกอบของประชาธิปไตย ตรงนี้จะไปเกี่ยวพันหลายเรื่อง เช่น เสรีภาพในการแสดงออกของสื่อ การมีรัฐบาลจากการเลือกตั้ง ถ้ามาประเมินตอนนี้มันก็ห่วย มันกึ่งเผด็จการ ต่อให้มีการเลือกตั้ง แต่ก็ไปหลอกคนต่างประเทศไม่ได้ว่าคุณไม่ใช่ เพราะคุณมี ส.ว. 250 เสียง มันก็เป็นส่วนหนึ่งที่ล็อคประเทศไทยไว้อยู่ตรงนั้น คุณจะไปหลอกเขาไม่ได้ 

ผมชอบยกตัวอย่างให้คนใกล้ๆ ฟังว่า CPI Index ก็คือ คุณขึ้นตาชั่งน้ำหนักกับคุณมองเข้าไปในกระจก คำถามคือคุณจะไปแก้ตัวเลขบนตาชั่ง หรือคุณจะไปปรับ shape ในกระจกให้มันสะท้อนให้คุณดูสวยขึ้น น้ำหนักน้อยลง คุณทำได้เหรอ มันไม่ได้ มันเป็นกระจกสะท้อนภาพ เป็นตาชั่งสะท้อนความเป็นจริงตรงไปตรงมา ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี สิ่งที่เราโฟกัสคือ ต้องกลับมาดูตัวเองว่า เฮ้ย ฉันอยากลดน้ำหนัก ฉันต้องวางแผนออกแบบให้ตรงจุด คุมอาหาร แล้วก็ดูแลรายละเอียด คุณอยากผอมอยากสวย คุณก็ต้องไปออกแบบทำตรงนั้นให้ดี เพราะฉะนั้นทุกอย่างต้องกลับมาดูที่ตัวเราเองเป็นจุดเริ่มต้นถึงจะเจอต้นตอของปัญหา

อีกเรื่องคือ ในดัชนีชี้วัดการทุริต เขาจะมีการสำรวจความเห็นคนที่ทำธุรกิจในบ้านเรา ก็คือพ่อค้าต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในบ้านเรา ข้อมูลพวกนี้ก็เยอะ แต่ไม่มีใครเอามารายงานข่าว เขาไปบ่นกับหน่วยงานที่ช่วยเหลือเขา เช่น ถ้าฝรั่งมาขอ BOI มาลงทุนในบ้านเรา มาตั้งโรงงานแล้วเจอไถสินบน หรือต้องไปขอโควตาจากรัฐมนตรี ก็จะมีข้อมูลร้องเรียนตรงนี้เข้ามา ถ้านักธุรกิจชาวต่างชาติให้ข้อมูลตรงนี้ดีๆ ก็น่าสนใจ ผมเคยไปจัดเสวนาเรื่อง Anti-corruption ที่สภาหอการค้าไทย ฝรั่งลุกขึ้นมาด่าเลย พวกนี้แหละครับที่มาตอบแบบสอบถามแล้วส่งกลับไปให้เจ้าของ sources ที่เขาทำ คุณหลอกเขาไม่ได้ มันเกิดจากความจริง CPI Index บอกปัญหาคอร์รัปชันในบ้านเราที่ค่อนข้างใกล้เคียงกับความเป็นจริงที่สุด ผมคงไม่บอกว่ามันจริง 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะบางอันอาจจะเป็นอคติของตัวคนตอบหรือคนให้คะแนนข้อมูล นอกจากนี้ยังสะท้อนให้เห็นว่า วิธีแก้ปัญหาของเราในปัจจุบันมาถูกทางไหม ตอบโจทย์หรือเปล่า แล้วได้ผลจริงไหม 

ผลงานของแต่ละรัฐบาลมันอยู่ไม่นาน แต่ว่าชุดนี้มันอยู่นานหน่อย อยู่มา 7 ปีแล้ว ถ้าไม่ดีอันนี้น่าคิด ตั้งแต่วันแรกที่มี คสช. จนเลือกตั้งเสร็จแล้วเนี่ยมันไปถึงไหน อันนี้มันพูดได้แล้ว เราควรจะมานั่งคุยกันว่ามันได้ผลไหม อีกเรื่องหนึ่งก็คือ ป.ป.ช. ทำอะไรอยู่ ทำไมถึงใช้เวลานานนักในการออกมาตรการการป้องกัน เอาผิดเจ้าหน้าที่รัฐ เข้าไปถึงจุดที่มีความเสี่ยง รู้หรือยังว่ามันมี ไม่ใช่เอาเวลาไปทุ่มเทกับสิ่งที่มันไม่เกี่ยวข้อง เช่น ใบอนุญาต work permit ซึ่งตอนนี้มันมีการ innovate ให้มีตัวกลาง มีนายหน้า มาเดินเรื่องแทน คุณแค่จ่ายเงินตามที่นายหน้าบอกแล้วเรื่องก็จบ work permit ตามที่คุณต้องการ ในกรอบเวลาที่คุณต้องการด้วยมันทำได้ เป็นกระบวนการคอร์รัปชันที่เจ้าหน้าที่รัฐก็ฉลาด เพราะเขาไม่ทำเองหรอก เขาให้ญาติพี่น้องและคนรู้จักทำ เธอมาเปิดบริษัทหน่อย ไปดีลลูกค้าตรงนี้นะ เดี๋ยวเอาข้อมูลให้ มันก็จะไม่ถูกมองเป็นสินบน แต่เป็น extra charge ที่เกิดขึ้น คนทำธุรกรรมต้องแบกรับไป เจ้าของบริษัทที่เป็นนายหน้าอาจจะแบ่งกับเจ้าหน้าที่รัฐข้างหลัง ถ้าผมเป็น ป.ป.ช. หรือ ป.ป.ท. ผมก็ต้องไปตรวจพวกนี้ถูกไหม เพราะพวกนี้มันวิ่งกันอยู่ทั่วประเทศ มีตัวกลางรับเดินเรื่องให้ พวกนี้มันก็สะท้อนไปกับค่า CPI Index เช่นกัน

ในระยะเวลา 7 ปี ภายใต้รัฐบาลชุดปัจจุบันยังคงมีการทุจริตในภาครัฐอย่างต่อเนื่อง เป็นเพราะปัจจัยอะไรที่เอื้อให้เกิดการทุจริตอยู่

เพราะขนาดของรัฐบาลและอำนาจกฎหมาย ทำให้การคอร์รัปชันยังเกิดอยู่ ขอโควทคำ คุณบรรยง พงษ์พานิช แกบอกลดรัฐลดคอร์รัปชัน ลดรัฐ ก็คือลดการขยายตัวของรัฐบาลที่ใหญ่เกินไป เพราะทำให้เกิดคอร์รัปชันสูงในตัวของมันเอง ประเทศอื่นเขามีองค์กรเปิดเผยการคอร์รัปชันมากมาย เราต้องสร้างตรงนี้ให้ได้ เขาก็มีการเปิดเผยค่าใช้จ่ายส่วนพระองค์เป็น excel เข้าไปดูได้เลยด้วยซ้ำ อย่างแคนาดา เขาก็เปิดหมดเลยว่ารับเท่าไหร่ วันที่เท่าไหร่ อันนี้คือ norm เราต้องสร้าง norm ตรงนี้ให้เกิดขึ้น เพื่อให้เกิดค่านิยมว่าสังคมนี้ต้องเป็นยังไง ถ้าทุกคนไม่ยอม แล้วดันพวกนี้ให้เป็นสิ่งที่ควรจะเป็น ก็จะช่วยลดปัญหาคอร์รัปชันได้ 

การประสานงานร่วมกับภาคีอื่นๆ มีแนวโน้มจะขยายความร่วมมือในอนาคตอีกไหม และอะไรเป็นเรื่องท้าทายขององค์กรต่อต้านคอร์รัปชันในเวลานี้

ปัจจุบันเรามีเครือข่าย 54 หน่วยงาน เรารับเฉพาะสมาชิกที่เป็นหน่วยงาน ไม่ได้เป็นบุคคลทั่วไป มีทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ถ้าเป็นด้านการศึกษาก็จะมีกลุ่มหนึ่งที่เขาเป็นตัวนำและหนุน นำผลงานมาช่วย amplify ขยายผล เล่าให้คนทราบต่อ ส่วน ACT Ai จะหาทีมมาร่วมอย่างงาน ACTkathon ก็มองหาทีมที่สนใจเรื่องนี้แล้วช่วยกันพัฒนา เพราะตัวฐานข้อมูลจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐและข้อมูลอื่นๆ คือ Big Data ที่ร่วมกันตรวจสอบทั้งประเทศนะครับ ซึ่งจะรวมไปถึงธุรกิจการจัดซื้อจัดจ้าง interest ของคนที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐและนักการเมืองด้วย งานตัวนี้ต้องสร้างโมเดลแล้วก็ทำ data cleansing ทำ visualize analyze ออกมาให้ดูง่ายๆ แล้วก็เอาไปใช้ได้จริง นี่คือโจทย์ที่เรากำลังหา partners เข้ามาร่วมมากๆ เราอยากหาสายเทคโนโลยีมาช่วยกันขับเคลื่อน เพราะเรากำลังพัฒนา 1 ต้องมีอย่างน้อย 3 เฟส ถึงจะได้ output ที่จับต้องได้และมี impact สูง 

ปัจจุบันนี้ พัฒนาการของประชาชนที่ร่วมกันตรวจสอบ เป็นหูเป็นตา และป้องกันการทุจริตเป็นอย่างไร

ดูยาก ต้องดูจากกระแส รวมถึงรีแอคชั่นของคนเวลามีข่าวเกี่ยวกับการเปิดโปงคอร์รัปชัน กระแสมันแรงขนาดไหน ซึ่งต้องบอกว่าตั้งแต่ปี 2553 จนถึงปัจจุบัน มันแตกต่างคนละเรื่องเลยนะครับ ปี 2553 ตอนทำ survey CSI ตอนนั้นคนไทยยังบอกว่า ยอมรับได้ถ้าผู้บริหารประเทศทุจริต แต่มีผลงาน ซึ่งอันนี้มันไม่ใช่แล้ว การทุจริตมันจะมีผลงานหรือไม่มีผลงาน มันไม่เกี่ยว คนละเรื่องกัน ทำไมมันเกิดตรรกะวิบัติตรงนี้ขึ้นมา แต่ตอนนี้เราเห็นคนรุ่นใหม่ลุกขึ้นมา มีทั้งเพจ อินฟลูเอนเซอร์ มีทั้งสื่อต่างๆ เรียกว่ายำเรื่องปัญหาคอร์รัปชันได้กระหน่ำมาก รวมถึงพลังโซเชียล ทั้งแชร์ ทั้งคอมเมนต์ ทั้งข้อมูลออกมารัวๆ นะครับ ไม่ได้หยุดอยู่แค่ ACT จึงไม่อยากเคลมเครดิตว่าเป็นความสำเร็จขององค์กร 

แต่ว่าอย่างน้อยเราเป็นพลังหนึ่งของสังคม ในการกระตุ้น ชี้ให้เห็น แล้วก็กระทุ้งไม่หยุดด้วย พูดง่ายๆ ก็คือเราต่อยรัวๆ เพราะเป้าคอร์รัปชันมันไม่มีความชัดเจนในตัวมัน ในการศึกษาเองก็ดี ในงานวิจัยเองก็ดี แล้วถ้าคุณอยากรู้ว่าคอร์รัปชันอยู่ตรงไหน คุณไปดู output เสากินรีก็คือ output แต่คุณไม่รู้หรอกว่าการคอร์รัปชันมันเกิดตั้งแต่กระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง เพราะคนทำยังอ้างว่าฉันทำถูกระเบียบอยู่เลย แต่มันแปลกนะ เพราะอยู่ๆ เสามันไปโผล่กลางทุ่งนา ไม่มีคนเดิน แล้วปักอะไรถี่ขนาดนั้น จุดที่องค์กรเราพยายาม educate ให้คนไทยเห็นก็คือ คอร์รัปชันมันอยู่รอบตัว มันเหมือนอากาศ คุณไม่เห็นมันหรอก คุณต้องเห็นจุดที่เป็น output ของมันออกมาคุณถึงจะรู้ แล้วคุณก็ช่วย detect มันออกมา แต่ถ้าคุณจำยอม หรือบอกว่าเป็นอำนาจรัฐ ได้แค่นี้ก็บุญแล้ว คุณก็อยู่แบบนั้นไป อยู่แบบรอใครมาโปรด 

การเป็นประชาชนที่เป็น active citizen คุณต้องลุกขึ้นมาบอกว่า ฉันไม่ยอมให้ใครโกงฉันแล้วนะ ยิ่งขึ้นภาษีที่ฉันเสียไปแต่ละปี มันต้องใช้ให้เกิดประโยชน์สิ โดยเฉพาะสิ่งที่อยู่รอบตัว ไม่ว่าจะเป็นหนทาง เสาไฟ ตึก มันต้องได้คุณภาพสิ แล้วต้องสร้างตามความจำเป็นที่เราอยากได้สิ ไม่ใช่เอาเงินไปใช้จ่ายตามที่ใครอยากจัดซื้อจัดจ้าง เพราะถ้าเป็นเช่นนั้นเราก็จะถูกทิ้งอยู่ในโลกเดิมๆ ที่คนอื่นเขาทิ้งไว้ด้านหลัง เบื้องหลังคอร์รัปชัน ถ้ามองเป็นภาพก็จะเป็นตัวถ่วง ประเทศไทยมันไม่มี engine ในการพัฒนาประเทศ ถ้ามองในมุมมองนักเศรษฐศาสตร์ก็คือ คนเขาขาดแรงจูงใจในการเข้ามาลงทุน ตอนนี้บริษัทไทยด้วยกันเองก็ไม่ยอมลงทุนในไทย ไปลงทุนที่อื่นหมดแล้ว 

สมัยก่อนถ้าคนไทยรู้เรื่องพวกนี้เร็ว ในยุค 30 ปีที่แล้วถ้ามี Facebook ผมว่าคนไม่ยอมแน่นอน ต้องลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่าง คนเราจะตื่นรู้ร่วมกัน ไม่ยอมให้ใครโกง ต้องเข้าถึงข้อมูล แล้วก็รับรู้ข้อเท็จจริงให้ได้มากที่สุด ก็เป็นจุดหนึ่งที่ ACT เน้นเรื่องการปลูกฝัง เราจะไม่บอกว่าคุณต้องเป็นคนดี โตไปไม่โกง เราบอกอย่างเดียวว่า ถ้าคุณรู้ว่ามีคนโกง คุณอย่ายอมให้ใครมาโกงคุณก็พอ ถ้าเราทำได้ครึ่งหนึ่งที่ คุณบรรยง พงษ์พานิช เสนอ เราทำให้คนไม่ยอมให้ใครโกงแค่ 51 เปอร์เซ็นต์ เราก็ชนะคอร์รัปชันแล้ว แต่ถ้าคุณบอกให้คนเป็นคนดี คนดี 90 เปอร์เซ็นต์ แต่อีก 10 เปอร์เซ็นต์ ก็ยังโกงเราอยู่ดี ถ้าคนดี 90 เปอร์เซ็นต์นั้นอยู่เฉย ไม่อยากมีปัญหา เขาอยู่เฉยๆ ดีกว่า แล้วก็ปล่อยให้คนโกงมันโกงไป ปัญหาก็ยังไม่ถูกแก้ 

ด้วยความที่การทุจริตคอร์รัปชันปรากฏให้เห็นในสังคมไทยเป็นเวลานาน จนบางครั้งถูกมองว่าเป็นเรื่องปกติไปแล้ว อยากฝากอะไรกับประชาชนที่ยังคิดแบบนี้บ้าง

คำถามยากนะเนี่ย ผมก็ไม่อยากไปให้ความหวังใครหรอกครับ ผมเองทุกวันนี้ยังต้องให้กำลังใจตัวเองเลย อยากจะแก้ปัญหาคอร์รัปชัน มีแต่คนสงสัยว่าจะทำไปทำไม เงินก็ไม่ได้ อะไรก็ไม่ดี มันก็ถูกนะ ไปทำธุรกิจก็รวยกว่าอยู่แล้ว คำถามคือออกไปทำธุรกิจเวลานี้เจอแบบนี้ ถ้าคุณไม่ใช่ทุนนิยมพวกพ้อง คุณไม่รู้จักใคร โอกาสที่จะเป็นไปได้มีมากแค่ไหน คุณต้องกัดก้อนเกลือกินรุนแรงมากเลยนะ โอกาสของคนรุ่นใหม่ที่จะเติบโตในสังคมที่มีคอร์รัปชันเยอะ ถามว่าจะไปโตยังไง มันไม่มีอิสระในการเติบโตเลยนะ ต้องโตตามระบบ คุณไปเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ รับราชการ ถามเพื่อนที่เข้าไปอยู่ว่าเขาสบายใจไหม ชอบใจหรือไม่ ถ้าคนธรรมดาทั่วไป ไม่ได้เก่งมาก ก็อาจจะชอบ เพราะว่าอยู่ได้ แต่ถ้าคนไหนมีความคิดเป็นของตัวเอง กล้าคิด กล้าทำ กล้าตัดสินใจ อยากทำอะไรใหม่ๆ เขาจะอึดอัดมากเลย เพราะทนกับระบบแบบนี้ไม่ไหว

เห็นได้ชัดว่าประเทศนี้ไม่ได้ต้องการคนที่ innovative หรือกระตือรือร้นที่จะทำอะไรให้ดีกว่าเดิม มันถีบคนพวกนี้ออกไปอยู่ต่างประเทศ ผมมองว่ามันสอดคล้องและส่งผลซึ่งกันและกันกับกระแสคนรุ่นใหม่อยากย้ายประเทศ เพราะเอาจริงๆ มันก็มาจากคอร์รัปชันใช่ไหมล่ะ เพราะทำให้เขาไม่มีโอกาส สมมุติผมอยากทำธุรกิจอะไรขึ้นมาแข่งกับเจ้าสัว ถามว่าวันนี้ทำได้ไหม ผมว่าไม่มีใครทำได้นะ เพราะเขาบีบบี้คุณอยู่ในโครงสร้างที่มันถูกกฎหมายด้วยซ้ำ 

ปัญหาคอร์รัปชันมันมีหลายเลเวลที่เราสามารถแก้ได้ อย่างน้อยที่สุด การคอร์รัปชันที่เกิดจากการเอางบประมาณไปใช้ มันต้องถูกป้องกันแก้ไขปัญหาตรงนี้ให้ดีเสียก่อน งบลงทุนปีหนึ่งเราก็เหลืออีกไม่เยอะ มันสะท้อนให้เห็นว่าเราต้องลุกขึ้นมาแก้ปัญหาคอร์รัปชัน จะมาบอกหมดหวังๆ มันก็หมดหวังทุกเรื่องแหละ ต้องถามตัวเองก่อน การจะทำให้หน้ามือเป็นหลังมือ จากดำเป็นขาวมันทำไม่ได้ไง เพราะเราไม่ใช่ผู้วิเศษ เราก็คนธรรมดาเหมือนกัน แต่เราต้องทำในจุดที่เราเริ่มทำได้ ทำให้เต็มที่ก่อน ส่วน outcome ของการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันจะเป็นยังไง ผมว่าจะต้องดูกัน 10 ปีต่อจากนี้ 

ทั้งนี้ทั้งนั้น มันอาจจะเร็วขึ้นก็ได้ถ้าเกิดคนที่เป็นคนรุ่นใหม่ หรือใครก็ตามที่ไม่ชอบปัญหานี้ ลุกขึ้นมาทำในมุมของตัวเอง อันนี้ก็จะช่วยได้เยอะมาก เช่น คุณไปขอใบอนุญาตก่อสร้างบ้านแล้วคุณเจอเรื่องสินบน คุณต้องฟ้องเจ้าหน้าที่เลย คุณต้องลุกขึ้นมาชน อย่าไปยอมมัน ถ้าคุณยอมก็ไม่มีใครช่วยได้ ต่อให้มี ACT อีกร้อยอีกพันองค์กรก็ช่วยไม่ได้ เพราะว่าคุณยอมจ่ายสินบน 


ACT Ai จับโกงง่ายๆ แค่ปลายนิ้ว 

ACT Ai เป็นเครื่องมือที่องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) สร้างขึ้นมาเพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับโครงการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐได้สะดวกและง่ายดายมากยิ่งขึ้น โดย ณัฐภัทร เนียวกุล ทีมงานจาก HAND Social Enterprise กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์เครื่องมือสู้โกง ให้คำแนะนำว่า ACT Ai ได้รวบรวมข้อมูลจาก 3 หน่วยงานหลัก ได้แก่ 1) ข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐของกรมบัญชีกลาง 2) คลังข้อมูลธุรกิจของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า และ 3) ศูนย์กำกับดูแลการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) 

หากผู้ใช้งานเข้าไปในเว็บไซต์ ACT Ai ก็จะพบกับโปรแกรมค้นหา (search engine) ที่มีหน้าตาคล้ายกับ Google ผู้ใช้งานสามารถพิมพ์ชื่อโครงการต่างๆ ลงไปในช่องดังกล่าว พร้อมใส่เครื่องหมายอัญประกาศ “…” โดย ACT Ai ได้มีการจัดสรร รวบรวมข้อมูลที่มาจากเว็บไซต์ govspending.data.go.th หรือที่รู้จักกันในชื่อ ‘ภาษีไปไหน’ ซึ่งจะบอกข้อมูลเกี่ยวกับโครงการคร่าวๆ ว่าโครงการนี้มีเลขโครงการอะไร มีการจัดซื้อจัดจ้างที่ไหน ใครเป็นผู้ชนะ 

จากนั้นระบบจะไปค้นหาเพิ่มเติมจากระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐด้วยอิเล็กทรอนิกส์ (e-GP) เพื่อให้ได้ข้อมูลเชิงลึกของโครงการ ไม่ว่าจะเป็นจำนวนผู้เสนอราคา รวมถึงเอกสารสำคัญต่างๆ ในขณะเดียวกันก็นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับผู้เข้าเสนอราคารายอื่นๆ ที่เป็นผู้เข้าประมูลร่วมกัน โดยจะมีการเปิดเผยชื่อบริษัท เลขนิติบุคคลของบริษัท ซึ่งตัวเลขดังกล่าวจะถูกนำไปค้นต่อในเว็บไซต์ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ซึ่งเป็นข้อมูลที่สามารถเปิดเผยได้ 

นอกจากนี้ ACT Ai ยังแสดงบทสรุปจากโครงการที่ผ่านการพิจารณา โดยแบ่งเป็นหมวดหมู่ต่างๆ ให้ดูง่ายยิ่งขึ้น เช่น หมวดเศรษฐกิจ หมวดแรงงาน หมวดเกษตร หมวดพัฒนาชุมชน ฯลฯ ว่ามีวงเงินทั้งหมดกี่ล้านบาท ซึ่งตัวเลขนี้จะสะท้อนให้เห็นว่าภาครัฐให้ความสำคัญกับภาคส่วนไหนมากสุดตามลำดับ อีกทั้งเว็บไซต์ยังมีการจัดอันดับโครงการที่ใช้งบประมาณสูงสุด 10 อันดับ โดยข้อมูลเหล่านี้ทาง ACT Ai ได้มาจากศูนย์กำกับดูแลการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐของ ป.ป.ช. และนำมาเชื่อมต่อกับโปรแกรมคำนวณ เพื่อประเมินโอกาสความเสี่ยงในการเกิดทุจริต ว่าแต่ละโครงการมีความเสี่ยงในการทุจริตอะไรบ้าง ในขั้นตอนใดบ้าง รวมถึงมูลค่าความเสียหาย 

หากสังเกตจะเห็นว่ามีแถบสีอยู่ข้างหน้าชื่อโครงการต่างๆ แถบสีเหล่านี้จะบ่งชี้ถึงความเสี่ยงในการเกิดทุจริต โดยสีแดง หมายถึง มีความเสี่ยงสูงและมีโอกาสเกิดการรั่วไหลของงบประมาณสูง สีส้ม หมายถึง มีความเสี่ยงปานกลาง สีเหลือง หมายถึง มีความเสี่ยงต่ำ อย่างไรก็ตาม หากโครงการแสดงแถบสีขาวก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีความเสี่ยงในการเกิดทุจริตแต่อย่างใด

และหากประชาชนต้องการติดตามแผนการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมจากผลกระทบของ COVID-19 ซึ่งเป็นโครงการภายใต้กรอบวงเงิน 4 แสนล้านบาท ตาม พ.ร.ก.กู้เงินฯ 1 ล้านล้านบาท (รอบที่ 1) ทาง ACT Ai ก็มีการนำเสนอข้อมูลดังกล่าวซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) โดยจะนำข้อมูลที่เปิดเผยอยู่บนเว็บไซต์ ThaiME เกี่ยวกับงบประมาณการใช้เงินกู้ 4 แสนล้านบาท มาแสดงผลในรูปแบบของ Data Visualisation เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงและเข้าใจข้อมูลในเชิงพื้นที่และเป้าหมายได้ง่ายและสะดวกมากยิ่งขึ้น 

โดยส่วนแรกจะเป็นส่วนที่ให้ผู้ใช้งานสามารถเลือกดูข้อมูลโครงการต่างๆ ผ่านเลนส์ของพื้นที่ เป้าหมาย หน่วยงาน และงบประมาณ ส่วนที่ 2 จะเปิดให้ผู้ใช้งานแสดงความคิดเห็นผ่านการโหวต ‘เห็นด้วย’ หรือ ‘ไม่เห็นด้วย’ ในแต่ละโครงการ ส่วนที่ 3 จะเป็นส่วนที่ให้ประชาชนร้องเรียน และแจ้งเบาะแสการทุจริตไปยังศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) โดยไม่จำเป็นต้องเปิดเผยตัวตน และส่วนสุดท้ายคือ การติดตามสถานะโครงการที่ผ่านเข้าสู่การจัดซื้อจัดจ้าง 

เมื่อใดที่ สศช. มีการเปิดเผยข้อมูลโครงการ ทาง ACT Ai ก็จะนำข้อมูลเหล่านี้ไปเข้าในระบบ โดยมีจุดประสงค์เพื่อส่งเสริมให้ภาคประชาชนในฐานะผู้เสียภาษี มีส่วนร่วมในการรับรู้ ติดตาม และตรวจสอบการใช้งบประมาณให้มีความโปร่งใส ลดปัญหาการทุจริต และเกิดประสิทธิภาพในการใช้งบประมาณสูงสุด 

อย่างไรก็ตาม เว็บไซต์ ACT Ai ยังอยู่ในขั้นตอนกำลังพัฒนาเครื่องมือ อาจมีบางจุดที่ดึงข้อมูลได้ไม่ครบถ้วน หากผู้ใช้งานพบเห็นความผิดปกติ ก็สามารถแจ้งเว็บมาสเตอร์ให้พัฒนาปรับปรุงข้อมูลได้

อวิกา กันยาแสงศรี
เด็กปาก(กา)แจ๋วในทวิตเตอร์ผู้ผันตัวมาเป็นนัก(อยาก)เขียน เฟมินิสต์และแพนเซ็กชวลผู้หลงใหลในบทเพลงและสนับสนุนความเท่าเทียมในทุกรูปแบบ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า