ในยุคที่ภูมิทัศน์สื่อเปลี่ยนแปลงไป สื่อมวลชนในรูปแบบเดิมๆ ล้วนถูกเทคโนโลยีการสื่อสารสมัยใหม่ disrupt จนล้มหายตายจากไป การผุดขึ้นอย่างมากมายของสื่อออนไลน์ต่างๆ จึงนำมาสู่คำถามและความกังวลถึงขอบเขตจริยธรรมทางวิชาชีพที่เคยมีกลับพร่าเลือน พร้อมกับการปรากฏขึ้นของร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. … ซึ่งปัจจุบันกำลังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาก่อนจะนำเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรเพื่อประกาศใช้ต่อไปนั้น เป็นที่น่ากังวลว่า ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้จะเป็นตัวแบ่งแยกคัดกรองระหว่างสื่อน้ำดีกับสื่อน้ำไม่ดี สื่อแท้และสื่อเทียม ได้จริงแท้แค่ไหน
คำถามตัวโตๆ ที่ควรต้องถาม คือ แล้วใครคือผู้กำหนดนิยามความเป็นสื่อ
ประเด็นสำคัญที่ไม่อาจเลี่ยง ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ มีเจตจำนงเพื่อจะส่งเสริมจริยธรรมหรือขีดเส้นจำกัดเสรีภาพในการนำเสนอข้อมูลข่าวสารของสื่อมวลชนกันแน่?
เพื่อจะคลายความกังวล คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา จึงจัดให้มีงานสัมมนาภายใต้หัวข้อ ‘สื่อมวลชนไทยกับการส่งเสริมจริยธรรม’ ดำเนินงานโดย คณะอนุกรรมาธิการสิทธิเสรีภาพด้านสื่อสารมวลชนและสื่อสาธารณะ ในวันที่ 19 พฤษภาคม 2565 ณ อาคารรัฐสภา (เกียกกาย) โดยมีประเด็นชวนถกหาคำตอบตั้งแต่เรื่องเห็นด้วยหรือไม่กับร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ นิยามของคำว่าสื่อมวลชน การจำแนกสื่อ และมาตรฐานจริยธรรมที่กำหนดไว้ในมาตรา 3 ของร่าง พ.ร.บ.นั้นควรมีการกำหนดแบบไหนจึงจะเป็นการส่งเสริม มิใช่การปิดกั้นสื่อ
มาตรา 3 ในร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. … “สื่อมวลชน” หมายความว่า สื่อหรือช่องทางที่ใช้ในการสื่อสาร ภาพ เสียง ข้อความ ไม่ว่าจะอยู่ในรูปหนังสือพิมพ์ วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ สื่อออนไลน์หรือในรูปอื่นใดที่สามารถสื่อความหมายให้ประชาชนทราบได้เป็นการทั่วไป “ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน” หมายความว่า บุคคลซึ่งประกอบวิชาชีพเป็นปกติธุระในการสร้างสรรค์หรือกํากับดูแลเนื้อหาหรือดําเนินการอื่นใดที่เกี่ยวกับสื่อมวลชน “จริยธรรมสื่อมวลชน” หมายความว่า การประพฤติปฏิบัติทางวิชาชีพสื่อมวลชนที่สังคมยอมรับ ตามที่สภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติกําหนดสําหรับผู้เป็นสมาชิก หรือตามที่คณะกรรมการกําหนดตามมาตรา 26(2) “องค์กรสื่อมวลชน” หมายความว่า ผู้ประกอบกิจการสื่อมวลชนที่ได้จดแจ้งหรือได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการตามกฎหมายว่าด้วยการนั้นและรวมถึงผู้บริหารสื่อมวลชนนั้นด้วย |
ทำไมต้องมี พ.ร.บ.จริยธรรมสื่อฯ
ก่อนจะไปสู่วงสัมมนา ประธานอนุกรรมาธิการสิทธิเสรีภาพด้านสื่อสารมวลชนและสื่อสารธารณะ นิพนธ์ นาคสมภพ กล่าวตอบข้อสงสัยที่ว่าทำไมต้องมี พ.ร.บ.ส่งเสริมจริยธรรมสื่อฯ นิพนธ์ตอบว่า เนื่องจากมีองค์กรหรือบุคคลที่นิยามตัวเองว่าเป็น ‘สื่อมวลชน’ บางกลุ่มบางคนมีบทบาทหน้าที่ผิดเพี้ยนไปจากจริยธรรมของสื่อเพื่อประโยชน์สาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นการนำเสนอข่าว การติดตามคดีของเด็ก สตรี กลุ่มเปราะบาง หรือบุคคลทั่วไป มีการล่วงละเมิดต่อสิทธิของผู้เสียชีวิต ทั้งภาพ ถ้อยคำ และวิธีการนำเสนอที่ไม่เหมาะสมผ่านสื่อช่องทางต่างๆ บางกรณีมีการนำเสนอข่าวให้ผู้ร้ายกลายเป็นดี จนเกิดเป็นกระแสที่นำไปสู่การเปลี่ยนค่านิยมของสังคมไทย บางกรณีมีการละเมิดสิทธิมนุษยชน อันนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทัศนคติ ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ร่างกายและทรัพย์สิน ดังนั้น อนุกรรมาธิการสิทธิเสรีภาพด้านสื่อสารมวลชนและสื่อสาธารณะจึงมีความพยายามที่จะเร่งรัดให้มีการประกาศใช้ พ.ร.บ.ส่งเสริมจริยธรรมสื่อ ให้มีผลบังคับใช้
“การจัดสัมมนาในครั้งนี้ก็เพื่อให้เข้าใจพระราชบัญญัติฉบับนี้มากขึ้น เราจะนิยามความหมายของวิชาชีพสื่อ และคำว่ามวลชนอย่างไรในพระราชบัญญัติฉบับนี้ เราสามารถจะจำแนกสื่อแท้และสื่อเทียมได้หรือไม่ ถ้ามีคนคนเดียวเป็นทั้งกองบรรณาธิการและบรรณาธิการ จะเรียกว่าสื่อมวลชนได้หรือไม่ ผู้เผยแพร่ในฐานะวิชาชีพสื่อมวลชนควรจะต้องมีทัศนคติ ความรับผิดชอบอย่างไร ต้องมีความรู้แค่ไหน การกำหนดมาตรฐานวิชาชีพจะทำได้อย่างไร”
คำถามเหล่านี้ล้วนมีคำตอบอยู่ในทฤษฎีด้านสื่อสารมวลชนที่มาตั้งแต่ปี 2503 คำว่า New Media ไม่ใช่คำใหม่ แต่คำว่า New Media ในบริบทเมื่อ 50 กว่าปีก่อนกับวันนี้ ได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วมหาศาล คนหนึ่งคนสามารถเป็นได้ทั้งผู้ส่งสาร ผู้รับสาร ดังนั้น จึงเป็นคำถามต่อแวดวงสื่อสารมวลชนที่จะทำอย่างไรในการส่งเสริม กำกับ และดูแลกันเองภายใต้จริยธรรมของสื่อมวลชนให้เป็นที่น่าเชื่อถือและศรัทธาของมวลชน โดยนิพนธ์ได้ทิ้งท้ายไว้ว่า
“เมื่อขึ้นศาลจะได้ไม่ต้องมาถามว่าคนนี้เป็นสื่อหรือไม่เป็นสื่อ งานสัมมนาในวันนี้คงจะให้นิยามได้ เราจะทำอย่างไรให้ผู้รับสารเชื่อมั่นในความเป็นนักวิชาชีพ”
จริยธรรมที่สูงส่งกว่ากฎหมาย
“ถ้าถามว่าเห็นด้วยหรือไม่ ผมเห็นด้วยนะครับ” อย่างไม่อ้อมค้อม และตรงไปตรงมา วสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ตอบว่าตนเห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ เนื่องจากมีความพยายามจะออกกฎหมายเพื่อส่งเสริมจริยธรรมสื่อมาตั้งแต่รัฐบาลยุค คสช. ภายใต้สภาปฏิรูปแห่งชาติที่ต้องการหยิบยกประเด็นการส่งเสริมจริยธรรมสื่อขึ้นมา เนื่องจากมองเห็นว่าการกำกับดูแลกันเองของสื่อมวลชนยังมีปัญหา มีอุปสรรค และยังมีผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบจากการนำเสนอของสื่อ
“ดังนั้น การมีกฎหมายออกมาเพื่อจะส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานทางวิชาชีพจะทำให้การทำหน้าที่ของสื่อมวลชนสมบูรณ์ขึ้น การละเมิดหรือการไปกระทบกับผู้อ่าน ผู้ฟัง หรือประชาชนทั่วไป จะเป็นแหล่งข่าวหรือไม่ก็แล้วแต่ น่าจะลดลง ขณะเดียวกันก็ทำให้การกำกับดูแลกันเองเข้มแข็งขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น เนื่องจากสมัยก่อนการกำกับดูแลกันเองเป็นเรื่องของความสมัครใจ การกำกับจึงไม่ทั่วถึง การมีกฎหมายตรงนี้ขึ้นจึงเท่ากับเป็นการส่งเสริมการดูแลกันเองให้เข้มแข็งขึ้น และสามารถบังคับได้มากขึ้น”
วสันต์ยังกล่าวเสริมต่ออีกว่า ด้วยสภาพปัจจุบันที่มีสื่อเกิดขึ้นมากมายจากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี การมี พ.ร.บ.ฉบับนี้จึงไม่เพียงแต่เป็นการกำกับ และก่อให้เกิดสภาพบังคับผ่านกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับแวดวงสื่อสารมวลชนเท่านั้น แต่ยังคุ้มครองและให้เสรีภาพสื่ออีกด้วย
“ดังนั้น โดยหลักการนะครับ การที่มีกฎหมายตรงนี้ออกมา โดยกฎหมายบอกว่า สมควรกำหนดให้มีองค์กรเพื่อทำหน้าที่คุ้มครองเสรีภาพของบุคคล ซึ่งประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติรับรอง และกำหนดให้มีการกำกับส่งเสริมจริยธรรมของสื่อมวลชน เพื่อให้การทำหน้าที่ตามมาตรฐานวิชาชีพเป็นไปอย่างเหมาะสม จึงต้องตราพระราชบัญญัติฉบับนี้ขึ้น”
เมื่อโลกของสื่อเปลี่ยน คำถามต่อมาภายใต้ พ.ร.บ.ฉบับนี้ คือ สิ่งที่ มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ จากคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย มองว่า ประเด็นเรื่องจริยธรรมที่กำลังพูดกันอยู่นี้คือขั้นที่สูงกว่ากฎหมาย หมายความว่าในการนำเสนอของสื่อบางเรื่อง บางประเด็น แม้จะไม่ผิดกฎหมาย แต่ก็อาจหมิ่นเหม่ต่อมาตรฐานทางจริยธรรมของสังคม ดังนั้น สื่อจึงควรกำกับและดูแลกันเอง กระทั่งตั้งคำถามว่าการนำเสนอในแต่ละเรื่องนั้นเหมาะสมหรือไม่เพียงไร รวมไปถึงการตั้งคำถามต่อแหล่งข่าวในรายการทีวีอีกด้วย ในแง่นี้มานะกำลังตอบข้อสงสัยทั้งในประเด็นจริยธรรมของสื่อมวลชนและบทบาทของสื่อภายใต้นิยามของคำว่าจริยธรรมสื่อมวลชน
อีกประเด็น มานะมองในเรื่องของการรู้เท่าทันการทำงานของสื่อเอง ว่าผิดหรือเกินขอบเขตมาตรฐานทางจริยธรรมของสังคมหรือประชาชนส่วนใหญ่อย่างไร
“นั่นหมายความว่าสิ่งที่จะขยับในเรื่องจริยธรรมสื่อ ไม่ใช่เรื่องของกฎหมาย ไม่ใช่เรื่องของการสั่ง แต่เป็นเรื่องของการรู้เท่าทันทั้งจากตัวคนทำงานสื่อเอง และที่สำคัญคือ การรู้เท่าทันของผู้บริโภคสื่อ ถ้าผู้บริโภคสื่อไม่เอา ผู้บริโภคเห็นว่าตรงนี้ล้ำเส้น คนทำงานสื่อก็ต้องถอยครับ”
มานะยังกล่าวต่อว่า โดยส่วนตัวเห็นด้วยหากร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนจริยธรรมสื่อ แต่หากกฎหมายฉบับนี้ออกมาเพื่อกำกับและดูแลจริยธรรม ตรงส่วนนี้มีหน่วยงานที่ทำหน้าที่อยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็น กสทช. หรือหน่วยงานตามกฎหมายอื่นๆ กระทั่งในตัวองค์กรสื่อก็มีการกำกับดูแลกันเองอยู่แล้ว สิ่งที่น่าตั้งคำถามต่อคือ หากกฎหมายออกมาเพื่อสนับสนุนสื่อแล้ว คำว่าสนับสนุนนี้เป็นการสนับสนุน ‘ใคร’ กันแน่ ซึ่งคำถามนี้โยงกลับไปยังตัวสื่อในการกำหนดนิยามของสื่อเอง
คำถามต่อมาคือ ในแง่การรับรู้ของสาธารณชนและคนในแวดวงสื่อเอง กระทั่งนักศึกษาในชั้นเรียนยังไม่รับรู้เลยว่าจะมีการตรากฎหมายฉบับนี้ เมื่อสาธารณชนและแวดวงสื่อยังไม่รับรู้แล้ว หากกฎหมายฉบับนี้ประกาศใช้ออกมา มานะเชื่อว่าความขัดแย้งจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน จากการตั้งคำถาม จากการไม่ไว้วางใจ และจากการมองว่ารัฐจะมาควบคุมเสรีภาพสื่อ
“เพราะฉะนั้นแล้วการส่งเสริมจริยธรรมสื่อควรจะต้องทำความเข้าใจกับคนทำงานสื่อ กับภาคประชาชน กับส่วนอื่นๆ ให้กว้างขวางและหลากหลายมากกว่านี้ ถ้าออกกฎหมายมาอย่างเร่งด่วน รวบรัด ความขัดแย้งใหม่ๆ ย่อมจะเกิดขึ้น”
ปัญหานิยามคำว่า ‘สื่อ’
ด้าน วริษฐ์ ลิ้มทองกุล ผู้อำนวยการเว็บไซต์ Manager Online ระบุว่าเบื้องต้นในฐานะสื่อรู้สึกค่อนข้างกังวลเช่นกัน อีกทั้งยังไม่ได้รับทราบที่มาที่ไปของร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ตั้งแต่ต้น แต่ก็ทราบปัญหาภายในแวดวงสื่อและพยายามพูดคุยกับผู้รู้มาตลอด วริษฐ์มองว่า แทนที่จะมุ่งเน้นเรื่องการประกาศใช้กฎหมาย ควรจะหันกลับไปมองปัญหาของสื่อมวลชนในปัจจุบันก่อน เนื่องจากเมื่อได้พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ทั้งฉบับแล้ว มีข้อกังวลอยู่หลายเรื่อง หนึ่งในข้อกังวลนั้นคือการนิยามคำว่า ‘สื่อแท้’ กับ ‘สื่อเทียม’
ในความเห็นของวริษฐ์มองว่า สื่อเทียมที่ถูกนิยามไว้ในร่าง พ.ร.บ. อาจจะไม่ใช่สื่อเทียมที่ตรงตามกรอบที่สังคมรับรู้และเข้าใจ แต่เป็นสื่อที่ผลิต content ขึ้นมาเอง หรือที่เรียกว่า User Journalist Content หรือสื่อภาคประชาชน ซึ่งสื่อภาคประชาชนอาจจะมีจำนวนมากกว่าสื่อแท้เสียด้วยซ้ำ ดังนั้น ควรจะนิยามให้ชัดเจน ไม่เช่นนั้นจะเกิดแรงต้านจากบรรดาสื่อภาคประชาชน เนื่องจากกฎหมายฉบับนี้ออกมาเพื่อกำกับและจำกัดเสรีภาพพวกเขามากกว่าจะเป็นการกำกับดูแลสื่อในความหมายของสื่อมวลชนที่คุ้นเคยกันจริงๆ
“อันนี้เป็นโจทย์ที่ผมมองว่าเราต้องมาตีความเรื่องสื่อให้มันชัดเจนกว่านี้ มิฉะนั้นจะเกิดแรงต้านจากสังคมมาก”
ประเด็นต่อมาเป็นข้อกังวลหลักที่วริษฐ์มองในฐานะที่ตนเองมีส่วนในการก่อตั้งสื่อออนไลน์ขึ้น โดยในปัจจุบันสื่อเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว กฎหมายไม่สามารถปรับตัวได้ทันกับเทคโนโลยี ซึ่งสื่อภาคประชาชนทั้งหลายล้วนใช้ประโยชน์จากแพลตฟอร์มออนไลน์ ทั้งแพลตฟอร์ม Global และแพลต์ฟอร์ม Local ต่างๆ ในการนำเสนอสิ่งที่เรียกว่าข่าวสาร ข้อกังวลหลักของวริษฐ์อยู่ที่ว่า กฎหมายฉบับนี้จะสามารถเชื่อมโยงระหว่างแพลตฟอร์มทั้ง Global และ Local ได้มากน้อยแค่ไหน
“ถ้ากฎหมายฉบับนี้ออกมาแล้วยังไม่สามารถบังคับใช้ได้ หรือเปิดช่องให้กับคนกระทำความผิดสามารถที่จะมีช่องเล็ดลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งสามารถที่จะสร้างรายได้จากการนำเสนอข่าวที่เรียกว่าเฟคนิวส์ ทำไมเฟคนิวส์ถึงเป็นปัญหาทั่วโลก และเป็นปัญหาในประเทศไทย ก็เพราะว่าเราไม่สามารถคุยกับทั้ง Global และ Local ได้”
ประเด็นต่อมา วริษฐ์มองว่ากฎหมายฉบับนี้ควรจะมีบทบาทในการส่งเสริมมากกว่าการกำกับดูแล ยิ่งเมื่อมาพิจารณาข้อเท็จจริงของสถานการณ์สื่อแท้ แทบจะเรียกได้ว่าล่มสลายไปเกือบหมดแล้ว ไม่ว่าจะเป็น อสมท ไม่ว่าจะเป็นสื่อโทรทัศน์ วิทยุ ซึ่งแทบจะไม่มีใครประมูลแล้ว เนื่องจากโมเดลธุรกิจได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว ดังนั้นจึงจำเป็นต้องพิจารณาความเหมาะสมของกฎหมาย
ด้วยเหตุนี้ วริษฐ์จึงมองว่าไม่ควรรีบเร่งผลักดันให้กฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้ เนื่องจากข้อกังวลในเรื่องจริยธรรมสื่อ
“จริงๆ ไม่ต้องเป็นกฎหมายฉบับนี้ก็ได้ ผมเคยคุยกับภาคเอกชนและองค์กรด้านสื่อออนไลน์ จริงๆ แล้วกระทรวงศึกษาธิการต้องเปิดหลักสูตรนี้ตั้งแต่ประถมด้วยซ้ำ อย่างลูกผมอายุ 7 ขวบ ตอนนี้ไม่ดูสื่อทีวีแล้ว ดูแต่ยูทูบ สื่อกระแสหลักที่เรากำลังคุยกันอยู่นี้ไม่ใช่สื่อกระแสหลักสำหรับเด็กในยุคต่อไปนะครับ เพราะฉะนั้นในเรื่องนี้จะต้องให้ความสำคัญพอสมควรในเรื่องนิยาม ถ้าเรากำหนดนิยามผิด ทุกอย่างก็ผิดหมดเลย อันนี้ผมคิดว่าสำคัญ”
กฎหมายกับจริยธรรมไม่ได้แยกจากกัน
ด้าน ไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ นักวิชาการด้านกฎหมายเทคโนโลยี มองว่ากฎหมายกับจริยธรรมไม่ได้เป็นสิ่งที่แยกจากกัน แม้ว่าการนิยาม พ.ร.บ.ฉบับนี้อาจจะทำให้เกิดคำถามว่ารัฐกำลังนำเอาคำว่า ‘จริยธรรม’ มาใช้ควบคุมกำกับสื่อผ่านคณะกรรมการชุดหนึ่งที่รัฐตั้งขึ้นมา แล้วบอกว่าอะไรทำได้ ทำไม่ได้
ไพบูลย์พาย้อนกลับไปพิจารณานิยามคำว่าสื่อ ควบคู่ไปกับกฎหมาย 4 ฉบับ โดยฉบับแรก คือ กฎหมายที่ให้สิทธิพิเศษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329 หรือความผิดฐานหมิ่นประมาท กฎหมายมาตรานี้ให้สื่อมวลชนได้รับการยกเว้น เพราะมองว่าเสรีภาพสื่อเป็นสิ่งสำคัญ กฎหมายฉบับที่ 2 กฎหมายละเมิดลิขสิทธิ์ กฎหมายนี้ยกเว้นให้สื่อมวลชนในการนำภาพและเนื้อหาต่างๆ มานำเสนอได้ หากภาพและเนื้อหาเหล่านั้นมีประโยชน์ต่อสาธารณชน
กฎหมายฉบับที่ 3 กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล มาตรา 4 ซึ่งระบุไว้ว่า พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลให้ยกเว้นกับสื่อมวลชน และกฎหมายฉบับที่ 4 พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เป็นกฎหมายที่ให้การคุ้มครองในกรณีที่สื่อมวลชนอาจพาดหัวที่รุนแรงเช่นเดียวกัน
“ดังนั้นจะเห็นได้ว่าในกฎหมายทั้ง 4 ฉบับนี้ เป็นสิ่งที่พี่ๆ น้องๆ สื่อมวลชนถูกฟ้องประจำ สิ่งที่ผมจะชวนคิดก็คือถ้าเราลงรูปใครคนหนึ่งที่ไปกินข้าว แล้วทำให้เขาเสียหาย เอา Public Interest มาเป็นตัวตัดสิน มองในแง่นี้จริยธรรมสื่อคือการไปลอกภาพของเขามา แต่ถ้าเป็นสื่อมวลชนลอกได้นะ ถ้ามันจำเป็นต้องนำเสนอ ตัว พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล บอกว่าต้องขออนุญาตเขาก่อน ไม่อย่างนั้นจะถูกปรับ แต่ถ้าเป็นสื่อมวลชนยกเว้นได้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ก็บอกว่าถ้าคุณบิดเบือนข้อมูลถือว่าผิด ยกเว้นเป็นสื่อมวลชน”
การที่ศาลยกเว้นให้กับสื่อมวลชนตามเงื่อนไขของกฎหมายทั้ง 4 ฉบับข้างต้นนั้น ต้องอยู่ภายใต้ 3 องค์ประกอบ หนึ่ง-มีการขึ้นทะเบียนสื่อ สอง-มีกองบรรณาธิการในการเซ็นเซอร์ และสาม-ใช้ประมวลจริยธรรมมาเป็นคู่มือในการนำเสนอข่าวต่อสาธารณชน ทั้ง 3 องค์ประกอบนี้ถูกนำมานิยามความหมายของ ‘วิชาชีพสื่อ’ ว่าจะต้องมีหน้าที่ในการคัดกรอง ซึ่งการที่กฎหมายยกเว้นให้สื่อที่เข้าองค์ประกอบดังกล่าว เมื่อเกิดข้อพิพาทแล้ว กฎหมายจะสามารถฟ้องร้องเอาผิดได้ถูกคน
การเข้าองค์ประกอบทั้งสามเพื่อให้ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายทั้ง 4 ฉบับก่อนหน้า ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่ไพบูลย์มองเห็นว่า ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ยังปัญหาเรื่องการนิยามคำว่าสื่อมวลชนที่ไม่ชัดเจน
“ทีนี้พอเป็นโซเชียลมีเดีย พอคำว่าสื่อมวลชนมันไม่เหมือนกับสื่อมวลชนก่อนหน้านี้ อันนี้เป็นปัญหาใหญ่ ผมอยากฝากให้ทุกคนคิดว่า คำว่าสื่อมวลชนดั้งเดิม หมายถึงคนที่เขามีประสบการณ์ มีกองบรรณาธิการชัดเจน ฉะนั้นเราต้องแยกความแตกต่างระหว่างสื่อกับยูทูบเบอร์ ซึ่งในวันที่ 1 มิถุนายนนี้ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล จะมีผลบังคับใช้ ถ้าท่านเป็นยูทูบเบอร์ แล้วท่านไปลงรูปคนอื่นเพื่อให้เป็นกระแสขึ้นมา ไปพาดพิงคนโน้นคนนี้ จะมีโทษปรับตามมาเลยครับ เพราะนั่นไม่ใช่สื่อมวลชนครับ
“ทีนี้ผมอยากให้พิจารณาอีกนิดหนึ่ง ถ้าเรานิยามสื่อตาม พ.ร.บ.นี้ให้กว้างมาก ใครก็เป็นได้ แต่มันก็จะกลายเป็นว่าเราเอาข้อยกเว้นทางกฎหมายไปใช้กับคนคนหนึ่งที่อาจจะเป็นนายไพบูลย์ที่มีคนติดตามเป็นสิบล้าน อันนี้เรากำลังจะเลือกแบบนั้นหรือเปล่า”
ไพบูลย์ทิ้งท้ายไว้ว่า การนิยามคำว่าสื่อมวลชนที่จะไปเข้ากรอบการยกเว้นตามกฎหมาย พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ที่กำลังจะประกาศใช้นั้น ควรจะพิจารณาให้ครบองค์ประกอบทั้งสามก่อน
ณ วันนี้ยังไม่จำเป็นเร่งด่วน
“ผมเห็นด้วยกับทุกความเห็นที่พูดมา ถือว่าเป็นหนึ่งความเห็นของผม แต่คงจะพูดแบบนั้นไม่ได้นะครับ เพราะผมก็ไม่เห็นด้วยกับบางท่าน ผมคิดว่ากฎหมายฉบับนี้เป็นกฎหมายที่มีพัฒนาการมาก่อนหน้านั้น ถ้ายังจำได้ พวกเราเคยต่อต้านกฎหมายฉบับหนึ่ง ซึ่งมีเนื้อหาที่ให้น้ำหนักกับการควบคุมบังคับให้มีการจดทะเบียนสื่อ ให้มีตัวแทนภาครัฐอยู่ในสภาการสื่อมวลชน ผมว่าจุดนั้นเป็นจุดพลิกที่ทำให้เกิดกฎหมายฉบับนี้ ซึ่งมีหลักการคือการส่งเสริมคุ้มครอง ไม่ใช่การควบคุมบังคับ ฉะนั้นถ้าอ่านกฎหมายฉบับนี้ตั้งแต่มาตรา 1 จนถึงบทเฉพาะกาล จะไม่พบเลยว่าบังคับอะไร มีแต่ส่งเสริม”
จักร์กฤษ เพิ่มพูล กรรมการนโยบายองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย ตอบประเด็นที่หนึ่งไล่เลียงมายังประเด็นต่างๆ โดยเริ่มตั้งแต่การแสดงความเห็นด้วยเนื่องจากกฎหมายฉบับนี้ไม่ได้มีข้อบังคับใดๆ ขณะที่ในด้านการส่งเสริมจะพบว่าเป็นการส่งเสริมให้องค์กรสื่อต่างๆ มีความเข้มแข็งมากขึ้น ส่งเสริมสื่อต่างๆ ที่กระจัดกระจายได้รวมกลุ่มกัน ให้มีมาตรฐานวิชาชีพ ให้มีกระบวนการในการพิจารณาเรื่องร้องเรียนจากประชาชน
ภูมิทัศน์สื่อที่เปลี่ยนแปลง กับนิยามสื่อแท้-สื่อเทียม
“ผมว่าภูมิทัศน์สื่อที่มันเปลี่ยนไปทุกวันนี้ มันมีสื่อที่หลากหลายมากขึ้น มีทั้งคนที่คิดว่าตัวเองเป็นสื่อ มีการพูดว่า ‘เราทุกคนสามารถเป็นสื่อได้’ แต่ผมคิดว่าหลายครั้งเขาอาจเป็นสื่อในแง่ของการใช้เครื่องมือสื่อสารเท่านั้นเอง เขาไม่ได้เป็นสื่อในแง่ที่ว่ามีความรับผิดชอบ มีความเข้าใจหลักการทำงาน แต่ในแง่ความเป็นจริง ควรจะต้องมีเกณฑ์บางอย่างในการชี้วัดความเป็นสื่อ
“ถ้าพูดในแง่กฎหมาย ผมคิดว่าไม่ควรนะครับที่จะไปชี้ว่าใครเป็นสื่อแท้ สื่อเทียม เป็นประเด็นที่อ่อนไหวมากนะครับ คนทั่วๆ ไปที่เขาใช้เพียงเครื่องมือสื่อ เขาก็เรียกตัวเองว่าสื่อ วันหนึ่งถ้าไปชี้หน้าว่าคุณเป็นสื่อเทียม คุณไม่ใช่สื่อแท้ ก็คงต้องมีต่อยกันนะครับ ฉะนั้นเรื่องสื่อแท้ สื่อเทียม เราเอาไว้ในใจดีกว่า แต่เราต้องมีเกณฑ์ในการชี้ว่าอะไรคือสื่อแท้ สื่อเทียม โดยที่ไม่ต้องพูดออกมา”
จักร์กฤษชี้ต่ออีกว่า ถ้าดูตามกฎหมายฉบับนี้จะพูดถึงองค์กรวิชาชีพ 2 ลักษณะด้วยกัน คือ เป็นองค์กรวิชาชีพที่มีทั้งการจดแจ้งและไม่จดแจ้งตามกฎหมายต่อสภาวิชาชีพสื่อ แต่ในความเห็นของจักร์กฤษมองว่าจะจดแจ้งหรือไม่จดแจ้งก็ตาม ทุกสื่อก็ต้องมีแนวทางและปฏิบัติตามกรอบจริยธรรมวิชาชีพ
“นี่แหละครับคือจุดสำคัญ ใครก็ตามที่เขามีแนวทางและมีการปฏิบัติตามกรอบจริยธรรม มีความรับผิดชอบ บอกได้เลยครับว่านี่เป็นสื่อที่เชื่อถือไว้วางใจได้”
ทั้งนี้ จักร์กฤษระบุถึงความจำเป็นในการมี พ.ร.บ.ฉบับนี้ว่า หนึ่ง-เป็นหลักประกันของผู้รับสาร สอง-ส่งเสริมสนับสนุนสื่อที่ดี และสาม-เป็นกลไกส่งเสริมองค์กรวิชาชีพสื่อตามจุดประสงค์ นอกจากนี้ยังสนับสนุนหลักการรวมกลุ่มและกำกับกันเองของ Media Literacy โดยมีกรอบการส่งเสริม ได้แก่ ส่งเสริมการรวมกลุ่มและกำกับดูแลกันเอง และส่งเสริมให้มีกลไกกำกับดูแลเรื่องจริยธรรม ให้ความช่วยเหลือในกรณีถูกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม หรือถูกดำเนินคดีเพราะเหตุปฏิบัติโดยมิชอบ ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการตรวจสอบสื่อมวลชนและการรอบรู้เรื่องสื่อ
และเมื่อไปดู พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ มาตรา 39 ระบุให้มีการส่งเสริมการรวมกลุ่มของผู้รับใบอนุญาต ทำหน้าที่จัดทำมาตรฐานทางจริยธรรม และตั้งคณะกรรมการควบคุมจริยธรรม
“ดังนั้นหลักการนี้จึงเป็นหลักการเดียวกันกับกฎหมายฉบับนี้ ในการที่จะให้ผู้ประกอบการวิชาชีพรวมกลุ่มกันเพื่อกำหนดมาตรฐานจริยธรรม”
จักร์กฤษมองว่า กฎหมายฉบับนี้เป็นการหลอมรวมระหว่างกฎหมายและมาตรการทางสังคมในการลงโทษผู้ที่ไม่ได้ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรม ดังเห็นได้จากกรณีการลงโทษนักข่าวในองค์กรสื่อมวลชน 6 องค์กร ซึ่งสะท้อนว่าสังคมในปัจจุบันพร้อมจะใช้มาตรการในการลงโทษสื่อต่างๆ อยู่แล้ว
“ดังนั้น โดยสรุปผมจึงไม่เห็นความจำเป็นเร่งด่วนในการประกาศใช้กฎหมายฉบับนี้ ถึงแม้ว่าจะศึกษาอย่างค่อนข้างละเอียดแล้ว แต่ว่าผมพอเห็นประโยชน์ของกฎหมายฉบับนี้อยู่บ้าง ว่าจะมีส่วนในการส่งเสริมสนับสนุนการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน โดยเฉพาะสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ กฎหมายฉบับนี้จะช่วยให้ท่านทำงานง่ายขึ้นครับ”
ประเด็นสุดท้ายในแง่ของการส่งเสริมการทำงานของสื่อมวลชนเมื่อพิจารณาจากภูมิทัศน์สื่อที่เปลี่ยนแปลงไปแล้วนั้น จากมุมมองของนักกฎหมาย ไพบูลย์ชี้ประเด็นไปที่การส่งเสริมตามวัตถุประสงค์ของ พ.ร.บ.ฉบับนี้ว่า เป็นไปเพื่อจุดประสงค์ในการเกณฑ์ให้อินฟลูเอนเซอร์ทั้งหลายที่มีผู้ติดตามจำนวนมากเข้ามาอยู่ภายใต้กฎหมายฉบับนี้ด้วยหรือไม่ ถ้าใช่ กฎหมายฉบับนี้อาจจะไม่ตอบโจทย์ แต่ถ้า พ.ร.บ.นี้ต้องการส่งเสริมให้สื่อที่มีมาตรฐานทางวิชาชีพนำเสนอสื่อ ‘น้ำดี’ เพื่อขับไล่ ‘น้ำเสีย’ ให้ออกไป มอบแรงจูงใจในการทำงานให้กับสื่อน้ำดี กฎหมายฉบับนี้จะตอบโจทย์ที่ว่ามา
“ถ้าเรียนตามตรง สื่อที่เป็นมืออาชีพกำลังจะตายแล้วครับ เพราะเขาทำตามกฎระเบียบมารยาท โฆษณาก็ไม่ได้ ตรงนั้นตรงนี้ผิดไปหมด แล้วถ้าผิดรัฐก็ดำเนินการ เพราะฉะนั้นจุดสำคัญคือในร่างกฎหมายฉบับนี้จะนิยามสื่อมวลชนอย่างไร ซึ่งส่วนตัวผมอยากให้เน้นน้ำดีมาไล่น้ำไม่ดี สิ่งหนึ่งที่ผมเน้นก็คือ ถ้าจะให้คนดีทำอะไรต้องมีสิ่งตอบแทนด้วย เพราะมันอยู่ไม่ได้ครับ”
ขณะที่จักร์กฤษมองว่า ประเด็นเรื่องการส่งเสริมการทำงานของสื่อควรจะรองรับได้ในทุกสถานการณ์ โดยไม่จำเป็นว่าจะต้องมีกฎหมายฉบับนี้หรือไม่
“ผมคิดว่าประเด็นคำถามที่เกิดขึ้นกับสังคมทุกวันนี้ คือ สื่อมวลชนมีจิตสำนึก มีความรับผิดชอบเรื่องจริยธรรมมากน้อยขนาดนั้น ถ้าเขาไม่มีจิตสำนึก เขาก็ไม่มีความคิดหรอกครับที่จะยกระดับมาตรฐาน”
จักร์กฤษยกตัวอย่างจากคำถามที่มีผู้บริหารองค์กรสื่อแห่งหนึ่งเข้ามาถามตนว่า ‘จะทำอย่างไรให้คนรุ่นใหม่เข้าใจวิธีการทำข่าว เข้าใจแนวทางปฏิบัติที่ต้องเคารพแหล่งข่าว เข้าใจว่ามารยาทในการถามแหล่งข่าวเป็นอย่างไร’ ซึ่งจักร์กฤษให้คำตอบไปว่า องค์กรสื่อจะต้องไปทบทวนว่าเป้าหมายการทำงานสื่อนั้นมุ่งไปที่ความรับผิดชอบหรือเพียงแค่เรตติ้ง ถ้าองค์กรสื่อเชื่อมั่นในความเป็นสื่อมวลชน และมีภาระรับผิดชอบต่อสังคมมากกว่าคนในอาชีพอื่น องค์กรสื่อจึงต้องทบทวนตนเอง
เขามองว่า ทุกวันนี้มาตรการทางสังคมทำให้หลายๆ องค์กรสื่อต้องออกแถลงการณ์ต่อสาธารณะว่าได้ลงโทษนักข่าวที่ปฏิบัติงานผิดพลาดอย่างไร แต่ลำพังแค่นั้นยังไม่พอ องค์กรสื่อจะต้องประกาศ Best Practice หรือมีแนวปฏิบัติที่ดีขององค์กร และองค์กรสื่อแต่ละแห่งควรจะบอกต่อสาธารณะด้วยว่ามีแนวทางที่จะดูแลเยียวยาเรื่องร้องเรียนอย่างไร
“ทั้งหมดที่เราพูดกันวันนี้ สิ่งที่มีค่าที่สุดคือ ความเชื่อถือไว้วางใจ ถ้าคุณไม่สามารถสร้างความเชื่อถือไว้วางใจได้ก็ไม่ต้องเรียกว่าเป็นสื่อมวลชนแล้วนะครับ”