สัญญาณอินเทอร์เน็ตและโทรศัพท์มือถือของผู้คนในรัฐจัมมู-แคชเมียร์ (Jammu and Kashmir) ถูกตัดขาดตั้งแต่เย็นวันอาทิตย์ที่ 4 สิงหาคม 2019 รัฐบาลออกประกาศห้ามชุมนุมเกินสี่คน และเมื่อถึงเช้าวันรุ่งขึ้น กองกำลังกึ่งทหารก็ประจำอยู่ทุกมุมถนน ถนนสายหลักถูกปิด มีข่าวมาว่ากองกำลังเสริมกำลังเดินทางเข้ามาในพื้นที่ ประชาชนที่ตื่นตระหนกหลายคนไม่กล้าออกจากบ้าน
แล้วก็มีประกาศออกมาเมื่อราว 11 โมงเช้า เฉลยถึงสาเหตุที่ต้องมีการเตรียมการปิดตายทั้งรัฐไว้ล่วงหน้า
“จะมีการบังคับใช้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับกับรัฐจัมมู-แคชเมียร์”
ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นหลังจากพรรคภารตียชนตา (Bharatiya Janata Party: BJP) รัฐบาลพรรคชาติอนุรักษ์นิยมฮินดู นำโดย นเรนทระ โมดี ประกาศยกเลิกมาตรา 370 ปิดฉากกฎหมายซึ่งเคยเป็นเสมือนเครื่องประกันสิทธิพิเศษของรัฐจัมมู-แคชเมียร์มานานกว่า 70 ปี
มาตรา 370
ในปี 1947 อินเดียและปากีสถานปลดแอกตัวเองออกจากสถานะประเทศราชของอังกฤษ ผู้ปกครองรัฐมหาราชา (รัฐพื้นเมือง) จัมมู-แคชเมียร์ ในยุคนั้นตกลงเป็นส่วนหนึ่งของอินเดีย ตอบแทนที่อินเดียช่วยป้องกันดินแดนจากการรุกรานของชนเผ่าปากีสถาน จากนั้นจัมมู-แคชเมียร์จึงกลายเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่ต้องมีทหารอยู่ประจำการมากที่สุดในโลก และเป็นศูนย์กลางความรุนแรงเรื่องการแย่งชิงดินแดนระหว่างอินเดียและปากีสถานมากกว่าหกทศวรรษ
มาตรา 370 ของรัฐธรรมนูญอินเดีย เกิดขึ้นในปี 1949 สองปีหลังจากจัมมู-แคชเมียร์ตัดสินใจเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอินเดีย แทนที่จะควบรวมกับปากีสถาน ประเทศที่มีผู้นับถือศาสนาอิสลามอยู่มากเหมือนกัน อำนาจของมาตรานี้ทำให้รัฐจัมมู-แคชเมียร์มีกฎหมายรัฐธรรมนูญและธงชาติเป็นของตัวเอง รวมถึงมีอิสรภาพและอำนาจในการปกครองตนเองอย่างสมบูรณ์ เว้นเพียงเรื่องงบประมาณ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ การป้องกันตนเอง และการสื่อสารเท่านั้นที่ยังขึ้นกับอินเดีย
นอกจากนี้ยังมีการเพิ่มเติมข้อกำหนดย่อย 35A ที่หยิบยื่นสิทธิพิเศษแก่บุคคลที่มีถิ่นพำนักถาวรในจัมมู-แคชเมียร์เท่านั้น เช่น สิทธิ์เป็นข้าราชการท้องถิ่น สิทธิ์ครอบครองอสังหาริมทรัพย์ ในขณะที่คนนอกหรือสตรีพื้นเมืองที่แต่งงานกับชายนอกรัฐจะหมดสิทธิ์นี้ เพื่อรักษาเอกลักษณ์ความเป็นมุสลิมในพื้นที่เอาไว้
สร้างความเจริญหรือกำจัดชาวอิสลาม
รัฐบาลพรรค BJP ไม่ได้เพิ่งตัดสินใจปุบปับ แต่มีการประกาศออกมาเป็นแคมเปญตั้งแต่ตอนหาเสียงเลือกตั้ง ซ้ำยังได้รับคะแนนจากประชาชนอย่างถล่มทลาย พรรค BJP อ้างว่ามาตรา 370 นี้เองเป็นตัวขัดขวางความเจริญทางเศรษฐกิจของจัมมู-แคชเมียร์ เนื่องจากไม่มีการลงทุนจากภายนอก ทำให้รัฐขาดรายได้พึงมี ลิดรอนสิทธิสตรีที่ถูกตัดสิทธิ์ในสินทรัพย์หากแต่งงานกับชาวต่างถิ่น และขัดขวางการบูรณาการร่วมกับอินเดีย
อย่างไรก็ตาม หลายฝ่ายกังวลว่าการเพิกถอนอำนาจปกครองตนเองอาจเป็นข้ออ้างปูทางไปสู่การเปิดโอกาสให้คนรัฐอื่นเข้ามาจับจองที่ดินในรัฐจัมมู-แคชเมียร์ ดินแดนเดียวในอินเดียที่ศาสนาอิสลามยังเป็นศาสนาหลัก
“พวกเขาเพียงแต่ต้องการยึดครองที่ดินของเรา และเปลี่ยนรัฐที่อุดมไปด้วยชาวมุสลิมให้เป็นเหมือนรัฐอื่นๆ ผลักให้เรากลายเป็นชนกลุ่มน้อยที่ไม่มีปากเสียง” เมห์บูบา มัฟติ (Mehbooba Mufti) อดีตมุขมนตรีของจัมมู-แคชเมียร์กล่าว เธอถูกจับกุมเมื่อคืนวันจันทร์ร่วมกับแกนนำทางการเมืองอื่นๆ ของจัมมู-แคชเมียร์
ความท้าทายทางกฎหมาย
พรรคฝ่ายค้านของอินเดียเรียกการกระทำของรัฐบาลภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี นเรนทระ โมดี (Narendra Modi) ว่า ‘ไม่เป็นประชาธิปไตย’ และแม้ว่ารัฐจัมมู-แคชเมียร์จะถูกปิดตายจากสัญญาณสื่อสารเกินกว่า 24 ชั่วโมง อดีตมุขมนตรีเมห์บูบาก็ยังคงทวีตวิจารณ์การตัดสินใจของรัฐบาลกลางว่า ‘ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ’
นอกจากนี้ ผู้สื่อข่าวจาก BBC รายงานว่า การยกเลิกกฎหมายรับรองอำนาจอธิปไตยในครั้งนี้จะพลิกความสัมพันธ์ระหว่างกรุงเดลี เมืองหลวงของอินเดีย และเขตปกครองตนเองไปอย่างถาวร
ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายรัฐธรรมนูญและทนายศาลฎีกาออกมาเตือนว่า ความพยายามของรัฐบาลอินเดียในการควบรวมดินแดนจัมมู-แคชเมียร์น่าจะเผชิญความท้าทายด้านข้อกฎหมาย เนื่องจากโดยทั่วไป การเปลี่ยนแปลงรายละเอียดในรัฐธรรมนูญจำเป็นต้องฟังความคิดเห็นจากสภานิติบัญญัติของท้องถิ่นก่อน แต่ในความเป็นจริง กฤษฎีกายกเลิกมาตรา 370 ออกมาเพียงไม่กี่ชั่วโมงหลังการปิดตายพื้นที่พิพาทเท่านั้น
หนึ่งวันหลังจากการประกาศยกเลิกมาตร 370 อามิต ชาห์ (Amit Shah) รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยของอินเดียก็เสนอร่างพระราชบัญญัติต่อสภาผู้แทนราษฎรประเทศอินเดีย หรือ ‘โลกสภา’ ให้แบ่งแยกจัมมู-แคชเมียร์ออกเป็นสองส่วน ส่วนแรกคือแคชเมียร์ รัฐมุสลิม และจัมมู รัฐฮินดู ส่วนที่สองคือลาดักห์ รัฐพุทธที่มีพื้นเพใกล้เคียงกับทิเบต และเปลี่ยนสภาพจากรัฐ ซึ่งข้าราชการท้องถิ่นมีอำนาจตัดสินใจได้เอง ให้กลายเป็นดินแดนสหภาพ (union territory) ที่ต้องขึ้นตรงกับกรุงเดลี หลังจากที่ร่างพระราชบัญญัตินี้ผ่านชั้นวุฒิสภา หรือ ‘ราชย์สภา’ แล้วเมื่อวาน ด้วยเสียงโหวต 2 ใน 3
การตัดสินใจของพรรค BJP ในครั้งนี้ทำให้คู่ขัดแย้งตลอดกาลอย่างปากีสถานออกมาประณามว่าเป็น ‘เรื่องผิดกฎหมาย’ ที่จะส่งผลกระทบมหาศาลต่อสันติภาพและความมั่นคงระดับภูมิภาค และจะ ‘ทำทุกวิถีทาง’ เพื่อตอบโต้การเพิกถอนมาตรา 370 โดยเช้านี้ได้มีการประชุมรัฐสภาที่กรุงอิสลามาบัด เมืองหลวงของประเทศปากีสถานถึงเรื่องนี้ด้วย มีรายงานว่านายทหารระดับสูงของปากีสถานก็เข้าร่วมการพูดคุยด้วยเช่นกัน
อ้างอิงข้อมูลจาก: bbc.com bbc.com aljazeera.com aljazeera.com cnbc.com indiatoday.in edition.cnn.com aljazeera.com |