อนุสรณ์แห่งศพ แผ่นฟ้า และร่างราชทัณฑ์ บันทึกการเยี่ยมชมนิทรรศการ f a l l (2)

ก่อนอื่นผมคงต้องสารภาพว่า ตนเองลังเลใจที่จะเริ่มต้นเขียนบทความนี้อยู่หลายครั้ง มันเป็นความรู้สึกที่คล้ายกับอยากจะเขียนให้เร็วที่สุดหลังจากไปดูงานเสร็จ แต่อีกใจก็พบว่ามีชุดความรู้สึกในใจบางประการที่ยังจัดการไม่ได้ กระทั่งไม่สามารถตั้งต้นเขียนได้สักที ผมกำลังพูดถึงนิทรรศการ f a l l ของนิพันธ์ โอฬารนิเวศน์ ที่จริงใจแกลเลอรี จังหวัดเชียงใหม่ โดยเฉพาะในส่วนของงานซึ่งเกี่ยวข้องกับ ‘ประตูแดง’ 

สำหรับคนที่ติดตามประวัติศาสตร์การเมืองไทยคงทราบดีว่า ประตูแดงนี้คือประตูที่คุณวิชัย เกษศรีพงศ์ษา และคุณชุมพร ทุมไมย ถูกพบเป็นศพถูกแขวนคอในพื้นที่ส่วนบุคคลแห่งหนึ่งย่านสามแยกกระบือเผือก จังหวัดนครปฐม หลังจากที่ทั้งสองออกติดโปสเตอร์ประท้วงการกลับมาไทยของเณรถนอม (จอมพลถนอม กิตติขจร) ประตูดังกล่าวถูกกัดกร่อนด้วยกาลเวลาและสนิมกัดกินจนเปลี่ยนสี และเป็นที่รู้จักในนาม ‘ประตูแดง’ 

ในเวลาต่อมา ความตายของเขาทั้งสองถูกรายงานผ่านหน้าหนังสือพิมพ์ในวันที่ 24 กันยายน 2519 และกลายเป็นต้นแบบของฉากแขวนคอในการแสดงละครการเมืองของนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในวันที่ 5 ตุลาคม 2519 การแสดงของนักแสดงหนึ่งคนในบทบาทของศพได้กลายเป็นชนวนสำคัญที่ทำให้ฝ่ายขวาจัด ณ ช่วงเวลานั้นสร้างความชอบธรรมในการใช้กำลังประหัตประหารผู้เห็นต่างทางการเมืองในวันถัดมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำภาพการแสดงเป็นศพดังกล่าวไปเชื่อมโยงความคล้ายคลึงกับใบหน้าของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร (ในช่วงเวลานั้น) 

ความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับนักศึกษาและผู้ที่อยู่ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มิได้ส่งผลให้พวกเขาเสียชีวิตเพียงอย่างเดียว ทว่า ศพของเขาและเธอยังถูกทำร้ายและทารุณด้วยการถูกแขวนคอ ถูกล่วงละเมิดทางเพศ ถูกทุบตี และถูกไม้แหลมตอกลงไปบริเวณอก (วีรพงษ์, 2018; ทศพล, 2022; Amnesty International Thailand, 2564)

จากศพที่ประตูแดงสู่ศพจำแลงในการแสดง นำไปสู่ศพของผู้คนที่มีชีวิตและเลือดเนื้ออีกมากมายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เหล่านี้เกิดขึ้นราวกับสังคมไทยคุ้นเคยกับความตายและการใช้ความรุนแรง ประหนึ่งการกระทำดังกล่าวเป็นเรื่องปกติและสามารถเกิดขึ้นได้ทันทีทันใด สถานะของศพและร่างที่ไร้ลมหายใจเหล่านั้นกลายเป็นแกนกลางของคำถามในบทความ และยึดโยงผมสู่คำถามร่วมสมัยทางมานุษยวิทยาว่าด้วยความตาย โดยเฉพาะการทำความเข้าใจเกี่ยวกับศพในมุมมองที่กว้างไกลกว่าแง่มุมเชิงพิธีกรรมหรือลักษณะเฉพาะทางวัฒนธรรมใดวัฒนธรรมหนึ่ง 

การศึกษาในแนวทางนี้พิจารณาศพในฐานะที่เป็นสัญลักษณ์อันหนักหน่วง (heavy symbols) ซึ่งยังคงมีพลังและการกระทำอย่างต่อเนื่องแม้ว่าจะเป็นร่างที่ไร้ชีพ โดยเฉพาะศพที่มีความเกี่ยวข้องกับความตายทางการเมือง ศพนั้นจะเชื่อมโยงกับปัญหาเกี่ยวกับการตีความและให้ความหมายทันที (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมใน Engelke, 2019) 

งานศึกษาการจัดแสดงศพของวลาดีมีร์ เลนิน (Vladimir Lenin) นักทฤษฏี นักปฏิวัติ และผู้นำคนแรกของโซเวียต น่าจะเป็นตัวอย่างที่พอจะคลี่ภาพให้กระจ่างได้ หลังจากที่เลนินชีวิตในปี 1924 ศพของเขาถูกจัดแสดงขึ้นโดยทำให้ผู้คนรับรู้ว่า นี่คือร่างกายของเลนิน ผู้นำที่ยิ่งใหญ่ของโซเวียต คำถามที่ตามมาคือการนำเสนอ ‘ร่างของเลนิน’ นั้นเป็นสิ่งที่กลบเกลื่อนความสลับซับซ้อนของกระบวนการจัดการศพ ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ข้อมูลทางการแพทย์ การอนุรักษ์สภาพ และการใส่สารแบบอนินทรีย์เข้าไป กระทั่งศพในเชิงอินทรีย์สภาพนั้นไกลห่างจากตอนที่เลนินยังมีชีวิตอยู่เป็นอย่างมาก 

นักวิจัยที่ศึกษาเรื่องนี้อย่างละเอียดอธิบายว่า แท้จริงแล้วศพของเลนินนั้นไม่ใช่ ‘ร่างของเขา’ แต่เพียงอย่างเดียว การจัดแสดงศพคือการสำแดงร่างแห่งองค์อธิปัตย์ (body of sovereignty) แบบหนึ่ง รวมไปถึงการพยายามเถลิงสถาปนาอำนาจของรัฐขึ้นมาเพื่อให้สถานะอำนาจยังคงอยู่ แม้ว่าเลนินจะลาโลกไปแล้วก็ตาม คำถามสำคัญที่สืบเนื่องกันคือ ใครเป็นเจ้าของร่างของผู้ตาย? เลนินอาจเป็นเพียงผู้หยิบยืมร่างนี้สำหรับการหายใจและเคลื่อนไหวทางความคิดในช่วงเวลาที่เขามีชีวิต ทว่า เมื่อเขาตายลง อำนาจอธิปัตย์ได้เข้ามาใช้และสถาปนาอำนาจรัฐผ่านร่างนี้ต่อ (Yurchak, 2015) 

หากกรณีศึกษาในสังคมโซเวียตดูไกลห่างเกินไป เราสามารถเทียบเคียงจากชุดประสบการณ์หนึ่งในสังคมไทยได้ นั่นคือ พระราชพิธีพระบรมศพ ณ ท้องสนามหลวง ท่ามกลางความวิจิตรตระการตราทางเชิงช่างนั้นมีร่างแห่งองค์อธิปัตย์ถูกจัดแสดงอยู่ร่วมกับภาวะอารมณ์หลากหลาย โดยเฉพาะความโศกเศร้าที่ต้องแสดงออกบนพื้นที่สาธารณะ

ศพในฐานะร่างทางสังคมและการเมืองจึงไม่เคยสูญสลาย ราวกับว่าความเน่าเปื่อยตามกาลเวลาไม่ได้ทำให้ความเข้มข้นของการมีชีวิตอย่างโลดแล่นน้อยลงไปเลย

งานว่าด้วยประตูแดงของนิพันธ์เป็นรูปแบบงานที่เรียบง่าย ปราศจากศพของชายหนุ่มทั้งสอง มีเพียงพวงมาลัยห้อยอยู่อย่างสงบเงียบ ภาพถ่ายที่นิพันธ์เลือก มุ่งเน้นไปที่วัตถุอย่างประตูแดงมากกว่าการคัดสรรภาพเก่าซึ่งมีศพแขวนอยู่ ธนาวิ โชติประดิษฐ์ เขียนบทความที่เกี่ยวข้องกันนี้อย่างน่าสนใจว่า ประตูแดงคือหมุดหมายสำคัญทางประวัติศาสตร์และประหนึ่งเป็นอนุสาวรีย์ที่ย้ำเตือนให้ระลึกถึงทั้งสองคนที่เสียชีวิตและถูกแขวนไว้ ‘ตรงนั้น’ ประตูแดงในฐานะวัตถุจึงผูกติดกับเรื่องเล่าว่าด้วยความตายของคุณวิชัยและคุณชุมพร (ธนาวิ, 2019) 

พิจารณาในแง่มุมนี้ แม้ประตูแดงจะเป็นเพียงวัตถุ แต่ก็เป็นวัตถุที่มีชีวิตแนบแน่นกับศพที่ตายจากความรุนแรงทางการเมือง จนผมอยากจะเรียกมันว่า ‘อนุสรณ์แห่งศพ’ ทุกครั้งที่เรามองไปยังประตูแดง เราจึงเห็นอีกหลายๆ สิ่งที่ไม่ปรากฏในภาพ และเห็นบางสิ่งที่มากกว่าเหล็กและสนิมที่กัดกร่อน ประตูที่ถูกทิ้งร้างในจังหวัดนครปฐมจึงมีสถานะเชื่อมโยงกับศพที่ถูกกระทำความรุนแรงที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอาจรวมไปถึงศพอีกมากมายที่เกิดขึ้นจากการกระทำของรัฐ 

นิพันธ์เป็นศิลปินที่เข้าใจสถานะผู้กระทำการของวัตถุเป็นอย่างดีและประณีต การจัดแสดงวัตถุที่คล้ายกับม้วนปฏิทินกระดาษในสมัยก่อน และด้วยขนาดของชิ้นงานประมาณกระดาษ A0 ซึ่ง ‘ถูกแขวน’ ไว้ในระดับสายตา ทำให้ผลงานชิ้นนี้โดดเด่นเชื้อชวนผู้ชมให้เข้าไปสู่ผลงานได้ง่าย แผ่นแรกของกระดาษยังคงเป็นภาพเวิ้งฟ้าและมวลเมฆอันเป็นจุดเด่นของนิทรรศการและมีความข้อความ “Then one morning they were found dead and hanged.” ฉลุไว้ เมื่อเราเปิดท้องฟ้าออกก็จะเห็นภาพขาวดำของประตูแดงซึ่งมีแสงลอดผ่านจากรอยฉลุของแผ่นแรกลอดลงมาตกกระทบเป็นตัวอักษรในข้อความเดียวกัน 

สำหรับผม ความเรียบง่ายนี้กระทบกับความรู้สึกเป็นอย่างมาก 

โดยทั่วไป ฟ้าหรือเวิ้งฟ้ามีผลต่อการรับรู้ถึงภาวะการดำรงอยู่ของผู้คนทั้งในโลกทางกายภาพและโลกทางสังคม ด้านหนึ่ง เรารู้สึกใกล้ชิดกับความสว่างไสวที่ส่องลงมาจากแผ่นฟ้าซึ่งมีส่วนให้เรามองเห็นและตระหนักรู้ถึงโลกใบนี้ ยังมิต้องเอ่ยถึงสีฟ้าของฟ้าและความขาวสว่างของมวลเมฆอันมีส่วนชักนำความรู้สึกและจินตนาการของผู้คนที่มีต่อตนเองและโลก ในขณะที่อีกด้าน เราก็พลันรู้สึกว่าฟ้านั้นสูงจนมิอาจเอื้อม ความสัมพันธ์ระหว่างฟ้ากับเราจึงประกอบไปด้วยความรู้สึกใกล้ชิดและไกลห่างไปพร้อมๆ กัน ลักษณะอันย้อนแย้งเช่นนี้ดำรงร่วมกับเราเสมอ ครั้นมนุษย์อย่างเราๆ อยากจะตั้งคำถามถึงสถานะการดำรงอยู่ของฟ้าก็พลันตะขิดตะขวงใจ เนื่องจากพบว่าผืนโลกที่ถูกฟ้าคลุมไว้คือพื้นที่ปลอดภัยที่สุดของตนเอง สำนวนที่ว่า ‘อย่าดึงฟ้าต่ำ’ จึงไม่ได้หมายถึงอย่าเอาของสูงมาเล่นเพียงอย่างเดียว ทว่ามันคือ ‘คำเตือน’ ว่าห้ามทำลายหรือบิดรูปชุดโครงสร้างทางสังคมและอุดมการณ์ที่ครอบงำผู้คนในสังคมอย่างปกติสุข (?) 

ในทางวิชาการ เราอาจพบว่าคำเตือนดังกล่าวมิใช่คำพูด หากเป็นการกระทำและการใช้ความรุนแรงเสมอมา ตัวอย่างที่ใกล้ตัวที่สุดและมีการศึกษาอย่างเป็นรูปธรรมก็คือ การไล่ล่าแม่มดทางการเมืองหลังจากการสวรรคตของในหลวงรัชกาลที่ 9 ของกลุ่มคนที่พยายามพิทักษ์รักษาโครงสร้างเดิมของสังคมไว้ได้กระทำต่อผู้เห็นต่างทางการเมือง (Unno, 2016; Schaffar and Naruemon, 2019) 

ทว่า ในเชิงอุปลักษณ์ เราจะตระหนักได้ทันทีว่า ความสว่างไสวใกล้ชิดและสูงเกินเอื้อมของฟ้ากลับมีส่วนปกปิดโศกนาฏกรรมและความรุนแรงทางการเมืองเอาไว้

งานของนิพันธ์ที่คล้ายกับไม่มีอะไร กลับเปิดโอกาสให้เราได้พลิกแผ่นฟ้าและพบกับความเป็นจริงอีกด้านที่ถูกซุกซ่อนอยู่ แสงที่ลอดมาจากรูฉลุยังมีส่วนสำคัญให้ผู้ชมได้ร่วมจารึกหมายเหตุทางประวัติศาสตร์ลงบนประแดง ว่าเช้าวันหนึ่งพวกเขาถูกพบเป็นศพและถูกแขวนคอ อักษรที่ถูกจารึกดังกล่าวมีสถานะของภาวะชั่วคราว (temporality) เนื่องจากเกิดขึ้นจากแสงที่ลอดลงมาจากรูรั่วของฟ้า แต่มันได้กลายเป็นพื้นฐานความสัมพันธ์ระหว่างตัวเราในฐานะผู้ชมกับเหตุการณ์ความรุนแรงในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ในห้วงขณะของการเปิดและพลิกแผ่นฟ้านั้นเกี่ยวข้องกับการสร้างประสบการณ์ชุดใหม่ๆ ของเราเป็นอย่างมาก องศาการตกกระทบของแสง ความบิดเบี้ยวของตัวอักษรที่ทาบลงไปบนประตูแดงเป็นดั่งการขยายออกไปของการตีความ การทำให้วัตถุสภาพกลายเป็นสิ่งที่มีชีวิตและความหมายของมันได้จารึกลงไปในประสบการณ์ของเรา สิ่งสำคัญคือ การย้ำให้เราตระหนักว่าหากเราไม่ออกแรงและริเริ่มเป็นผู้กระทำการ เราก็มิอาจเห็นแง่มุมอันอัปลักษณ์ที่ถูกฟ้าบดบังเอาไว้

ถึงจุดนี้ หลายคนอาจคิดว่าผมตั้งใจให้ความสวยงามของศิลปะมีความเป็นการเมืองเกินไป ซึ่งนั่นก็ขึ้นกับทัศนะของแต่ละคน จากการติดตามผลงานของนิพันธ์มาได้สักระยะ ผมค้นพบว่านิพันธ์ ‘เล่น’ กับวัตถุประเภทต่างๆ ได้อย่างแยบยล เล่นในกรณีนี้มิใช่ในความหมายของความสนุกเพลิดเพลินเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการสร้างความชำนาญการให้กับตนเองและผู้ชมผลงานอย่างเข้มข้นผ่านรูปแบบที่เรียบง่าย ประตูแดงและแผ่นฟ้าของนิพันธ์เป็นดั่งตัวบทที่สัมพันธ์กับตัวบทอื่นๆ นอกเหนือจากงานของเขาโดยตรง และแน่นอนว่าความสัมพันธ์ดังกล่าวมิใช่ดำรงในสถานะของสัมพันธบท (intertextuality) แต่เป็นการร่วมถักทอความหมายและฟั่นเกลียวกันจนไม่สามารถค้นหาเส้นแบ่งระหว่างสิ่งมีชีวิตและไม่มีชีวิตได้โดยง่าย การรับรู้ในเชิงภววิทยาเช่นนี้มีการเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องและเคลื่อนไปมาของชีวิตระหว่างรูปแบบวัตถุและรูปแบบที่เป็นอวัตถุ (immaterial form) ภายใต้บริบททางการเมืองและสังคมที่ทั้งแวดล้อมและทั้งเป็นผู้กระทำการตลอดเวลา (Mueggler, 2018) พิจารณาในแง่มุมนี้ ประตูแดง ศพ อำนาจองค์อธิปัตย์ และการกระทำความรุนแรงต่อศพ จึงถูกรับรู้อย่างเชื่อมโยงกัน เพียงครู่ที่ผมได้พลิกแผ่นฟ้าของงานชิ้นนี้ก็พลันพบว่าตนถูกดึงลงไปสู่ห้วงคิดบางประการด้วยแสงและเงาที่ตกกระทบ อยากจะอธิบายก็ไม่สามารถทำได้เต็มที่ เพราะเกรงว่าจะลดทอนความรู้สึกวูบแรกของตนเอง

ในโลกทางสังคมไทย ความสูงส่งของฟ้าและความตายมีลักษณะที่คล้ายกัน นั่นคือ การถูกทำให้เชื่อในลักษณะอนิจจัง ไม่จำเป็นต้องสงสัยหรือตั้งคำถาม ความอยากรู้อยากเห็นกลายเป็นเรื่องซุบซิบและเกิดในพื้นที่ส่วนตัว ขณะที่การสถาปนาอำนาจนำผ่านความตายกลับปรากฏบนพื้นที่สาธารณะ ทั้งในรูปแบบพิธีกรรมและการเซ่นไหว้องค์อธิปัตย์ด้วยร่างไร้ชีพของนักต่อสู้ผู้เห็นต่างทางการเมืองจากรัฐ ด้านหนึ่ง เราอาจพบว่ากรณีประตูแดงและผู้เสียชีวิตในรั้วธรรมศาสตร์ รวมถึงความตายของคุณนวมทอง ไพรวัลย์, ‘อากง’ หรือคุณอำพล ตั้งนพกุล, ไม้หนึ่ง ก. กุนที และล่าสุดคือคุณบุ้ง เนติพร ได้กลายเป็นประจักษ์พยานในความรุนแรงขององค์อธิปัตย์ที่กระทำผ่านร่างกาย ศพของพวกเขาและเธอกลายเป็น ‘ร่างราชทัณฑ์’ ซึ่งถูกใช้เป็นคำเตือนและกดหัวให้ค้อมรับอำนาจที่แนบชิดสนิทแน่นภายใต้เวิ้งฟ้าที่สุดเอื้อม แต่อีกด้าน บุคคลเหล่านี้ได้ยืนหยัดอย่างกล้าหาญถึงการใช้ร่างของตนเองเป็นพื้นที่ในการต่อสู้เพื่อยืนยันถึงการเป็นเจ้าชีวิตของตนเอง 

งานศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างร่างกายกับอำนาจองค์อธิปัตย์ร่วมสมัยมีความเห็นร่วมกันประการหนึ่งว่า การมีอธิปไตยเหนือร่างกายของตนเองเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ไม่ใช่เพียงตอนมีชีวิตอยู่เท่านั้น แต่รวมถึงสิทธิที่จะเลือกว่าตายเมื่อไหร่และอย่างไร โดยไม่ให้อำนาจรัฐมากำหนดความตายและเถลิงอำนาจผ่านศพของเรา (Buchbinder, 2018; Bernstein, 2019) ศพของพวกเขาและเธอคือ ‘ร่างแห่งราษฎร’ ที่บ่งบอกถึงเจตจำนงและการนิยามอำนาจอธิปไตยที่แตกต่างกัน

เราจะจารึกเรื่องราวของศพเหล่านี้อย่างไร? และเราจะรับรู้ศพเหล่านี้ในฐานะร่างราชทัณฑ์หรือร่างราษฎร? หัวใจของสองคำถามนี้เกี่ยวข้องกับการเชื่อมโยงตนเองกับความตายของผู้อื่น การทำงานของนิพันธ์ได้เปลี่ยนความเยียบเย็นของประตูเหล็กมาสู่ความหม่นมัว ทว่าระอุอก เชื่อมโยงกับความตายและศพอีกจำนวนมาก การจารึกแสงจากฟ้ารั่วเป็นข้อความ “Then one morning they were found dead and hanged.” บนอนุสรณ์แห่งศพจึงเป็นการเริ่มต้นของการให้ชีวิตใหม่ด้วยการคืนความจริง เป็นการปลุกให้ผู้มีชีวิตตระหนักถึงความตายใต้ฟ้ากว้าง เปลี่ยนศพผู้ตายจากราชทัณฑ์ไปสู่เสรีภาพและเจตจำนงดั้งเดิมของศพเหล่านั้น

ให้จิตวิญญาณของเราได้ร่วมเรือนร่างเดียวกัน นั่นคือการกระทำที่ย้ำเตือนว่าเขาและเธอเหล่านั้นยังมีชีวิต


อ้างอิง
  • ทศพล ชัยสัมฤทธิ์ผล (2022). 6 ตุลา: ครบ 46 ปีเหตุสังหารหมู่ผ่านภาพถ่ายที่ยังไม่เคยเผยแพร่สู่สาธารณะ. BBC News ไทย. 6 ตุลาคม. https://www.google.com/?client=safari
  • ธนาวิ โชติประดิษฐ์ (2019). ประตูแดง: การย้ายออกจากสถานที่ของความทรงจำ. The 101. World. 19 กันยายน. https://www.the101.world/relocating-the-red-gate/
  • วีรพงษ์ สุนทรฉัตราวัฒน์ (2018). 6 ตุลาคม 2560: กาลครั้งหนึ่งช่างการไฟฟ้าสองคนถูกแขวนคอที่นครปฐม. WAY. 6 ตุลาคม. https://waymagazine.org/two_brothers_and_6_october/
  • Amnesty International Thailand. (2564). สิทธิมนุษยชนถูกละเมิดอย่างไรใน 6 ตุลาคม 19. Amnesty International Thailand. https://www.amnesty.or.th/latest/blog/919/
  • Bernstein A. (2019). The Future of Immortality: Remaking Life and Death in Contemporary Russia. Princeton, NJ. Princeton Univ. Press
  • Buchbinder M. (2018). Choreographing death: a social phenomenology of medical aid-in-dying in the United States. Med. Anthropol. Q. 32(4).481-97
  • Engelke, Matthew. (2019). The Anthropology of Dead Revisited. Annual Review of Anthropology. 48. 29-44.
  • Yurchak A. (2015). Bodies of Lenin: the hidden science of communist sovereignty. Representations 129(1). 116-57.
  • Schaffar, Wolfram and Naruemon Thabchumpon. (2019). Militant far-right royalist groups on Facebook in Thailand. Methodological and ethical challenges of Internet-based research. In Emanuele Toscano (ed.). Researching Far-Right Movements: Ethics, Methodologies, and Qualitative Inquiries. Routledge. Pp. 121-139.
  • Unno, Anusorn. (2016). Thailand’s witch-hunting culture explained by sociologist. Interview by Kornkritch Somjittranukit. Prachatai English. 26 October. https://www.google.com/?client=safari
  • Mueggler E. (2018). Songs for Dead Parents: Corpse, Text, and World in Southwest China. Chicago: Univ. Chicago Press.

Author

ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
อาจารย์ด้านมานุษยวิทยาว่าด้วยสื่อ ผัสสะ และการทัศนา ประจำสาขาวิชาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีผลงานการวิจัยและตีพิมพ์เกี่ยวกับสังคมมลายูในสามจังหวัดภาคใต้และคาบสมุทรมาเลย์ รวมไปถึงผลงานเกี่ยวกับวัฒนธรรมทัศนาและจิตเวช ปัจจุบันสอนในรายวิชาที่เกี่ยวข้องกับปัญหาในเชิงสุนทรียศาสตร์กับการเมือง กวีนิพนธ์ และการนิพนธ์เรื่องราวผ่านภาพและเสียง ในสังคมไทยและอาณาบริเวณเอเซียตะวันออกเฉียงใต้

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า