เป็นความโชคดีที่ได้เกิดมาในอัฟกานิสถาน ราเบีย บัลคี (Rabia Balkhi-นามแฝง) รู้สึกแบบนั้น
แม้จะเกิดในประเทศที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานเกี่ยวกับการใช้ความรุนแรง การต่อต้าน และเลือกปฏิบัติกับ LGBTQ แต่ที่บัลคีรู้สึกแบบนั้น เพราะครอบครัวของเธอยอมรับในสิ่งที่เธอเป็น นั่นคือการเป็น ‘เลสเบี้ยน’
แต่ถึงอย่างนั้น บัลคีก็ยังคงหวาดหวั่นอยู่ เหตุเพราะการยอมรับเพศทางเลือกแทบจะไม่เกิดขึ้นเลยในสังคมส่วนใหญ่ ชีวิตของเธอและเพศทางเลือกคนอื่นๆ กำลังตกอยู่ในความเสี่ยงและอันตราย เนื่องจากผู้นำกลุ่มตาลีบันคนใหม่ใช้ความรุนแรงทั้งต่อร่างกายและจิตใจ จนประชาชนที่เป็นเกย์ เลสเบี้ยน และคนข้ามเพศในอัฟกานิสถานหวาดกลัว
ทันทีที่กลุ่มตาลีบันเข้ายึดกรุงคาบูลในเดือนสิงหาคม 2021 บัลคีเล่าว่า เธอและครอบครัวต้องหาที่หลบซ่อน อีกทั้งจากการที่เธอรวมถึงชาวอัฟกันที่เป็น LGBTQ อีก 5 คน เคยให้สัมภาษณ์กับ CNN ถึงเรื่องราวต่างๆ เหล่านี้ ทำให้เธอต้องเปลี่ยนชื่อเพื่อความปลอดภัย โดยบัลคีเลือกใช้ชื่อกวีหญิงชาวอัฟกันที่มีชื่อเสียงเรื่องความกล้าหาญ และถือเป็น ‘ฮีโร่’ สำหรับเธอ
บัลคี นักศึกษามหาวิทยาลัย อายุ 20 ปีผู้นี้ เป็นเพียงหนึ่งในคนนับร้อยของกลุ่ม LGBTQ ที่กำลังร้องขอความช่วยเหลือและสนับสนุนจากนานาประเทศ เพื่อให้พวกเธอหลุดพ้นจากระบอบตาลีบัน
“สถานการณ์เลวร้ายลงทุกวัน…ความกลัวเกิดขึ้นในทั่วทุกมุมของชีวิต และฉันก็เครียดเกินกว่าจะหลับได้ลง” บัลคีบอกกับ CNN โดยไม่เปิดเผยสถานที่
ทั้งนี้ ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่ากลุ่มตาลีบันจะบังคับใช้กฎหมายทางศาสนาที่เข้มงวดกับพลเมืองชาวอัฟกันที่เป็น LGBTQ อย่างรุนแรงเพียงใด และแม้จะยังไม่มีแถลงการณ์อย่างเป็นทางการ แต่จากคำให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ Bild ของเยอรมนีในเดือนกรกฎาคม ผู้พิพากษาของกลุ่มตาลีบันคนหนึ่งระบุว่า มีการลงโทษจากคดีรักร่วมเพศเพียง 2 ครั้งเท่านั้น โดยวิธีที่ใช้คือ การปาหินใส่หรือการบดอัดพวกเขากับกำแพง
อย่างไรก็ตาม กลุ่ม LGBTQ ในอัฟกานิสถานที่ได้พูดคุยกับ CNN เล่าว่า พวกเขาเคยได้ยินการรายงานว่า เพื่อน คนรัก หรือสมาชิกของกลุ่มบางคนถูกทำร้ายและถูกข่มขืน พวกเขายังกังวลอีกว่า กลุ่มผู้เคร่งครัดในหลักอิสลาม (Islamic Fundamentalists) และกลุ่มศาลเตี้ย (vigilante groups) ที่เติบโตขึ้นมาจากระบอบใหม่ จะกระทำเช่นเดียวกับกลุ่มตาลีบัน หรืออาจแย่กว่านั้น
LGBTQ บางคนต้องหลบซ่อนโดยมีเพื่อนคอยช่วยเหลือดูแล นำสิ่งของมาให้ บางคนต้องซ่อนตัวอยู่ในห้อง หรืออยู่ในชั้นใต้ดินหลายสัปดาห์ ทำได้เพียงจ้องมองฝาผนัง หรือดูหน้าจอโทรศัพท์อย่างไม่รู้จบ เพื่อดูว่าพอจะมีช่องทางใดที่พวกเขาจะออกไปจากที่ตรงนั้นได้บ้าง ซึ่งส่วนหนึ่งบอกกับ CNN ว่า พวกเขาต้องอยู่เพียงลำพัง โดดเดี่ยว และขาดแคลนอาหาร
ทั้งหมดกล่าวตรงกันว่า พวกเขารู้สึกถูกประชาคมระหว่างประเทศ (International Community) ทอดทิ้ง และขณะนี้เที่ยวบินอพยพผู้คนออกนอกประเทศได้จากไปแล้ว อีกทั้งกลุ่มตาลีบันก็พยายามสานสัมพันธ์กับชาติตะวันตกให้เป็นไปอย่างปกติ โดยกลุ่ม LGBTQ ที่เหลือรอดอยู่ยังต้องการความช่วยเหลือก่อนที่จะถูกพบตัวและต้องเผชิญกับกฎหมายที่โหดร้ายของระบอบการปกครองใหม่นี้
LGBTQ ชีวิตต้องห้าม
ก่อนที่กลุ่มตาลีบันจะเข้ายึดครองดินแดนในเดือนสิงหาคม 2021 ใช่ว่าชีวิตของ LGBTQ ในอัฟกานิสถานจะสวยงามและราบรื่น
จากการรายงานของกระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐอเมริกา ปี 2020 ระบุว่า กลุ่ม LGBTQ ในอัฟกานิสถานต้องเผชิญกับการถูกเลือกปฏิบัติ การทำร้ายร่างกาย การถูกข่มขืน คุกคาม และถูกจับกุม เพราะ “รักร่วมเพศถูกมองว่าเป็นข้อห้าม (taboo) และไม่เหมาะสม (indecent)”
อีกทั้งรายงานของรัฐบาลสหราชอาณาจักรที่ตีพิมพ์ในปี 2013 ระบุว่า ภายใต้การปกครองของรัฐบาลชุดก่อนหน้า ความสัมพันธ์ทางเพศระหว่างบุคคลเพศเดียวกันนั้นถือเป็นสิ่งผิดกฎหมาย มีโทษจำคุกสูงสุด 2 ปี แม้ว่ากฎหมายเหล่านี้จะไม่ถูกนำมาใช้เสมอไป แต่ก็ส่งผลให้ LGBTQ ถูกขู่เข็ญ คุกคาม และทารุณโดยเจ้าหน้าที่รัฐมาตลอด
LGBTQ ในอัฟกานิสถานบอกกับ CNN ว่า ก่อนการเข้ายึดครองของกลุ่มตาลีบัน พวกเขาและเธอต้องเผชิญกับการเลือกปฏิบัติ การข่มเหงด้วยวาจา (verbal abuse) และการทารุณกรรมทางร่างกาย (physical violence) มาโดยตลอด ทว่าก็ยังพอมีพื้นที่ทางสังคมหลงเหลือให้พวกเขาอยู่บ้าง
เนมัต ซาดัต (Nemat Sadat) นักเขียน LGBTQ ชาวอัฟกัน ผู้อาศัยอยู่ในสหรัฐอเมริกา กล่าวว่า พลเมืองที่เป็นเกย์ เลสเบี้ยน และคนข้ามเพศในอัฟกานิสถาน ช่วยให้วัฒนธรรมชีวิต (cultural life) ของประเทศเจริญงอกงามขึ้นในช่วง 20 ปี หลังจากการปกครองครั้งสุดท้ายของตาลีบัน
“คนข้ามเพศ (transgender) มีอิทธิพลต่ออุตสาหกรรมการแต่งหน้าและเครื่องสำอางมาก บางคนทำงานเป็นช่างแต่งหน้า…เมื่อมีคอนเสิร์ตและแฟชั่นโชว์ สิ่งเหล่านี้ล้วนถูกขับเคลื่อนโดยกลุ่ม LGBTQ” ซาดัตกล่าว
โทษสูงสุดคือความตาย
หลังจากที่กลุ่มตาลีบันเข้ามามีตำแหน่งทางการเมือง บัลคีกล่าวว่า การเกิดมาเป็นผู้หญิงได้จำกัดความฝันของเธอที่จะสำเร็จการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยในอัฟกานิสถานลงอย่างราบคาบ และจากการที่เธอเป็นเลสเบี้ยน ยิ่งต้องเผชิญกับภัยคุกคามที่ร้ายแรงมากขึ้น
วาฮีดุลลาห์ ฮาซีมี (Waheedullah Hashimi) หนึ่งในผู้มีอำนาจตัดสินใจสูงสุดของตาลีบัน เคยให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว Reuters ในเดือนสิงหาคมว่า แนวทางการปกครองของกลุ่มผู้ศรัทธาศาสนาอันแรงกล้า (fundamentalist) จะปกครองประเทศด้วย ‘กฎหมายชารีอะห์’ เท่านั้น ซึ่งการตีความกฎหมายชารีอะห์ของตาลีบัน รักร่วมเพศอาจถูกลงโทษด้วยความตาย
บัลคีกล่าวว่า เมื่อเธอและครอบครัวได้ยินว่ากลุ่มตาลีบันบุกเข้ามาในกรุงคาบูล ทำให้ครอบครัวของเธอต้องอพยพออกจากบ้าน หลบหนีไปในที่ที่ไม่มีใครรู้ เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกจับ
“กลุ่มตาลีบันมีข้อมูลทุกอย่างของทุกครอบครัวที่นี่” เธอกล่าว
นอกจากนี้ยังมีเรื่องเล่าของเกย์คนหนึ่งที่คอยติดต่อกับซาดัต นักเขียนผู้สนับสนุน LGBTQ ที่อยู่ในสหรัฐอเมริกา เล่าให้ซาดัตฟังว่า เขาต้องซ่อนตัวอยู่ใต้เพดาน และมองดูเพื่อนที่กำลังถูกกลุ่มตาลีบันทุบตี เพราะไม่ยอมบอกตำแหน่งของเกย์ผู้นี้ โดยซาดัตแชร์วิดีโอเหตุการณ์ดังกล่าวให้กับ CNN ได้ดูด้วย
หนุ่มเกย์อีกคนหนึ่งนามว่า ฮาซัน (Hasan) เปิดเผยว่า เขาต้องซ่อนตัวอยู่ในบ้านเพื่อนของเขาในกรุงคาบูลมานานกว่า 1 เดือน และเคยได้รับโทรศัพท์จากเลขหมายที่เขาไม่รู้จักมาก่อน โดยเสียงจากปลายสายกล่าวเพียงว่า “เราจะหาแกให้เจอ ไม่ว่าแกจะอยู่ที่ไหน”
เช่นเดียวกับ ฮีลาล (Hilal) หนุ่มเกย์วัย 25 ปี เผยว่า เขาเคยมีแฟน และเคยสนับสนุนสิทธิ LGBTQ อย่างเปิดเผยในอัฟกานิสถาน แต่ตอนนี้ทุกอย่างเปลี่ยนไป พวกเขาต้องอยู่อย่างหลบๆ ซ่อนๆ เขาเล่าว่า เคยมีกลุ่มชายฉกรรจ์บุกมาที่บ้านของครอบครัวเขา เพื่อถามว่าเขาอยู่ไหน ซึ่งเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นไม่นานหลังจากกรุงคาบูลถูกยึดครอง ทำให้เขาต้องซ่อนตัวอยู่ในชั้นใต้ดินบ้านเพื่อนเขาเป็นเวลา 3 สัปดาห์
“พวกเขาข่มขู่พี่ชายของผม และบอกกับพี่ผมว่า ถ้าผมกลับมาบ้าน พวกเขาจะฆ่าผม (เพราะผมเป็น LGBTQ)
“การเป็น LGBTQ ไม่ใช่ความผิดของผม มันถูกเขียนไว้ในโชคชะตาของผม ในจิตวิญญาณของผม…ไม่มีใครเปลี่ยนแปลงมันได้ สิ่งที่พวกเขาทำได้ ก็คือฆ่าผมเท่านั้น” ฮีลาลกล่าว
“ช่วยด้วย!” เสียงร้องที่ไม่ถูกได้ยิน
เมื่อสหรัฐอเมริกาและพันธมิตรถอนกำลังจากอัฟกานิสถาน และเร่งอพยพผู้คนหลายพันคนออกจากสนามบินนานาชาติฮามิด คาร์ไซ ในกรุงคาบูล ในวันที่ 31 สิงหาคม 2021 กลุ่ม LGBTQ ชาวอัฟกัน นักเคลื่อนไหว และ NGOs บอกกับ CNN ว่า มีเพียงคนจำนวนหนึ่งเท่านั้นที่พวกเขารู้จัก สามารถหลบหนีออกจากอัฟกานิสถานพร้อมกับเที่ยวบินเหล่านั้นได้
แต่สำหรับฮีลาล นักเคลื่อนไหว LGBTQ แสดงความเห็นว่า เขาโกรธแค้นและไม่พอใจรัฐบาลสหรัฐ และประเทศตะวันตกอื่นๆ เป็นอย่างมาก เพราะเขารู้สึกเหมือนถูกทอดทิ้ง ทั้งเขาและชาวอัฟกันคนอื่นๆ ที่เป็นเกย์ เลสเบี้ยน และคนข้ามเพศ
“นักข่าว นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิสตรี หรือคนที่ทำงานกับชาวต่างชาติ พวกเขาได้รับการช่วยเหลือ…แต่พวกเราไม่ได้อะไรเลย
“เราถูกฆ่าแน่ๆ…เราขอให้อพยพเราออกจากอัฟกานิสถานอย่างเร็วที่สุดด้วย” ฮีลาลกล่าว
ขณะที่องค์กรหลายแห่ง รวมถึงนักเคลื่อนไหวต่างๆ กำลังมองหาวิธีที่จะช่วยเหลือชาว LGBTQ ออกจากอัฟกานิสถาน แต่ขณะนี้ยังไม่พบหนทางที่ปลอดภัย
คีมาห์ลี พาวเวลล์ (Kimahli Powell) กรรมการบริหาร Rainbow Railroad องค์กรการกุศลของแคนาดาที่ช่วยเหลือ LGBTQ ทั่วโลกให้รอดพ้นจากการถูกกดขี่ข่มเหง กล่าวว่า การอพยพ LGBTQ ในอัฟกานิสถานนั้นเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยากมาก เพราะพวกเขามักอยู่คนเดียว ซ่อนตัว และไม่ติดต่อใครอื่น เนื่องด้วยบางคนกลัวว่าจะถูกกลุ่มตาลีบันสะกดรอย
แต่ถึงอย่างนั้น พาวเวลล์ก็เชื่อว่ายังมีเส้นทางที่จะพา LGBTQ ออกจากอัฟกานิสถานได้ โดย Rainbow Railroad จะมุ่งช่วยเหลือผู้ที่มีความเสี่ยงมากที่สุดก่อน
“ยังไม่มีความแน่นอนว่า การยึดครองของกลุ่มตาลีบันในพื้นที่ชายแดนและการอพยพผู้คนจะเป็นอย่างไร แต่เราสัญญาว่า เราจะพยายามค้นหาเส้นทางที่ปลอดภัย เพื่อพาทุกคนออกมาให้ได้” เขากล่าว
“เพราะพระเจ้าสร้างเรามาแบบนี้”
ขณะรอความช่วยเหลือ ชาวอัฟกันที่เป็น LGBTQ บางคน บอกกับ CNN ว่า พวกเขาต้องพยายามซ่อนตัวอย่างมิดชิดท่ามกลางสังคมที่เป็นอยู่
ริตู มาเฮนดรู (Ritu Mahendru) ผู้สนับสนุนสิทธิมนุษยชนที่มีประสบการณ์และทำงานในอัฟกานิสถานมานานกว่า 10 ปี เล่าว่า มีหญิงข้ามเพศคนหนึ่งเล่าให้ฟังว่า เธอต้องไว้หนวดไว้เคราและแต่งตัวเป็นผู้ชาย เพื่อเบี่ยงเบนความสนใจ เช่นเดียวกับเลสเบี้ยนวัย 24 ปีอีกคน บอกกับ CNN ว่า เธอต้องแต่งงานกับเพื่อนผู้ชายของเธอ เพื่อความปลอดภัย จนกว่าจะสามารถหนีออกจากประเทศได้
นอกจากนี้ยังมีเรื่องราวของชายอายุ 25 ปี ที่ไม่ระบุว่าเป็นเกย์หรือไม่ เล่าผ่าน CNN ว่า เขาและเพื่อนๆ ต้องพยายามแสดงท่าทางให้มีความเป็นชายมากขึ้น แต่กลุ่มตาลีบันกลับทุบตีพวกเขาด้วยท่อพลาสติกขณะที่กำลังเดินอยู่บนถนน โดยสาปแช่งพวกเขา และพูดกับพวกเขาว่า “แกไม่รู้วิธีเดินแบบผู้ชายเหรอ”
ทั้งนี้ การเป็นเลสเบี้ยนมีข้อได้เปรียบอย่างหนึ่งสำหรับบัลคี โดยเธอให้เหตุผลว่า เพราะผู้หญิงต้องปิดหน้าในที่สาธารณะ ทำให้พวกเธอสามารถปกปิดตัวตนภายใต้ชาดรี (chadri) ซึ่งเป็นเครื่องนุ่งห่มที่คลุมทั้งตัวและใบหน้าได้
แต่ถึงอย่างนั้น เมื่อเดือนที่แล้วเธอและครอบครัวซึ่งสวมชุดชาดรีไปที่สนามบินคาบูลเพื่อหวังจะอพยพ กลับถูกกลุ่มตาลีบันผลักออก และไม่อนุญาตให้ชาวอัฟกันเข้าไปในสนามบิน และเมื่อพวกเธอพยายามจะบอกถึงความต้องการ ก็กลับถูกขู่เข็ญด้วยการใช้แส้ฟาด
“ฉันไม่รู้ว่าฉันจะออกไปจากที่นี่ได้ไหม แต่ฉันรู้ว่า ฉันไม่สามารถอยู่ที่นี่กับสถานการณ์เช่นนี้ได้” บัลคีพูด
ในขณะที่ LGBTQ คนอื่นๆ ขาดการติดต่อ ดังที่ซาดัตเล่าว่า ทุกๆ วันเขาขาดการติดต่อกับกลุ่ม LGBTQ มากขึ้นเรื่อยๆ
“ฉันไม่แน่ใจว่าพวกเขาตาย หรือหนีออกจากประเทศแล้ว และไม่สามารถติดต่อกับฉันได้ LGBTQ ในอัฟกานิสถานหลายคนกำลังหมดหวัง บางคนต้องการอาหาร และกำลังอดอยาก”
แม้ความหวังเดียวคือการรอคอยความช่วยเหลือ แต่ก็ยังไม่มีวี่แววว่าพวกเขาต้องรออีกนานเท่าไหร่
สำหรับฮีลาล ในฐานะที่เป็นอดีตผู้สนับสนุนเพศทางเลือกอย่างเปิดเผย เขากังวลว่าจะถูกจำได้ เขาคิดว่าเป็นเรื่องยากและแทบจะเป็นไปไม่ได้ที่ LGBTQ จะใช้ชีวิตอยู่ในอัฟกานิสถานได้อย่างปลอดภัย
“เราต้องการชีวิตและประชาธิปไตย เราเป็นมนุษย์ เราต้องการชีวิตเหมือนคนอื่นๆ ที่ยังสามารถใช้ชีวิตได้ แต่ทำไมเราทำไม่ได้
“นี่ไม่ใช่ความผิดเราที่เป็น LGBTQ พระเจ้าสร้างเราแบบนี้” ฮีลาลกล่าว
ที่มา
Angry and afraid, Afghanistan’s LGBTQ community say they’re being hunted down after Taliban takeover